เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บางส่วนของอารมณ์ ...และหัวใจfayfena
5 เสน่ห์ของการวาดรูปสีน้ำที่ Digital Art ไม่มี
  • เราอยู่ในยุคที่กระดิกนิ้วคลิ๊กเดียวก็เปลี่ยนภาพถ่ายให้กลายเป็นภาพสไตล์สีน้ำได้ จะใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ทหรือโทรศัพท์มือถือวาดรูปก็สบาย ใครๆ ก็สามารถวาดภาพสีสันสวยงามได้โดยไม่ต้องยุ่งยากไปซื้อสี กระดาษ หรือพู่กันให้สิ้นเปลือง พกก็ง่าย ใช้ก็ง่าย จะลบ แก้ไขปรับปรุงงานก็ทำได้สะดวกรวดเร็ว  แล้วเราจะยังวาดรูปสีน้ำกันไปทำไม?


    เรื่องแบบนี้คนที่ยังไม่ได้ลองอาจจะยังไม่รู้ขอโอกาสให้คนลองแล้วได้เมาท์ให้ฟังละกันนะคะ ว่าเสน่ห์ของการวาดรูปสีน้ำที่ดิจิตัลอาร์ทไม่มีคืออะไรบ้าง


    1. สัมผัสของกระดาษและพู่กัน

    ความสนุกของสีน้ำไม่ได้เริ่มต้นที่การวาด แต่เริ่มตั้งแต่การคิด 

    เมื่อเราคิดจะวาดภาพสักภาพหนึ่งเราจะต้องคิดละว่าจะใช้กระดาษแบบไหนดี หนาหรือบาง ผิวเรียบ ผิวหยาบ หรือผิวกึ่งหยาบดีเพราะผิวกระดาษที่ต่างกัน ก็ให้อารมณ์ของรูปที่ต่างกัน ความอุ้มน้ำต่างกัน การกระจายของสีก็ต่างกันไปด้วย

    ถึงดิจิตัลอาร์ทจะเพิ่ม texture ผิวกระดาษให้งานได้เหมือนกันแต่ความเพลิดเพลินของการเลี้ยงน้ำบนผิวกระดาษจริงๆ เนี่ยเมาส์ปากกาสัมผัสไม่ได้หรอกนะคะ

    ภาพที่ถ่ายไว้ตอนลงสีชั้นแรกของรูปปลาคาร์ฟในบ่อค่ะ



    2. Undo ไม่ได้!

    เสียใจด้วยนะคะ ที่สีน้ำไม่มีปุ่ม Ctrl+Z (ฮา) 

    นั่นแปลว่าหากเราทำงานชิ้นนี้พลาด ก็มีแค่สองทาง คือเริ่มทำใหม่ตั้งแต่หนึ่งหรือพยายามแก้ไขมันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

    ดังนั้นการจะวาดรูปสีน้ำ เราต้องมีสติค่ะ ต้องมีการวางแผนที่ดีต้องคิดไว้ก่อนว่าตรงไหนจะลงสีอ่อนหรือเข้ม จะลงสีใดก่อนหรือหลัง ลำดับงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ได้ภาพอย่างที่ต้องการ

    แน่นอนว่าความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นในจังหวะใดจังหวะหนึ่งก็ได้ และการแก้ไขภาพให้ออกมาดูสวย (และเนียน) ที่สุดก็นับเป็นความเมามันส์อย่างหนึ่งของการวาดรูปสีน้ำค่ะ เป็นการช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีนะคะ 

    เรารู้สึกว่า นี่แหละ! เสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์แบบ

    รูปนี้หัดลงสีทับทิมแล้วพังค่ะ สยองมาก ก็เลยแต่งรูปให้เฮียทับทิมดูโมโหเข้ากับฟิลลิ่งของสีไปเลย


    3. ระบายสีอย่างตื่นเต้นเร้าใจ

    เรื่องความตื่นเต้นเร้าใจนี่ขอบอกเลยว่าการวาดแบบดิจิตัลสู้ไม่ได้เลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะการวาดรูปสีน้ำคือความสัมพันธ์ของน้ำและสีที่เลื่อนไหลไปมาบนผิวกระดาษ  การจะทำให้เกิดชั้นสีเรียบหรือด่าง คราบหรือรอยต่างๆ เราอาจมีเวลาเพียงชั่วอึดใจเดียวในการแต่งเติมให้เกิดขึ้นค่ะ  สิ่งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วนยิ่งทดลองมากก็ยิ่งเข้าใจมาก ไม่มีทางลัดค่ะ

    พอเราเปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนรุ่น หรือเปลี่ยนความหนาของกระดาษปุ๊บก็จะทำให้ช่วงเวลาอึดใจนี้เปลี่ยนไปค่ะ สีที่เข้มข้นมากหรือเข้มข้นน้อยก็จะทำให้การกระจายสีเปลี่ยนไป เมื่อเราเปลี่ยนสียี่ห้อใหม่ มันก็มักสร้างความตกใจให้กับเราได้อีก

    เรียกได้ว่าทุกๆ ครั้งของการวาดสีน้ำจึงเป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นไม่ซ้ำแบบกันเลยค่ะ  เล่าแบบนี้แล้วไม่คิดว่าการจิ้มแต่สีบน palate คอมพิวเตอร์ที่แสนจะมั่นคงและแน่นอนดูน่าเบื่อไปหน่อยเหรอคะ (ฮา)

    การปล่อยสีไหลๆ ปนกันนี่ตื่นเต้นมากค่ะ โดยเฉพาะสีคู่ตรงข้าม



    4. ความสวยงามที่เกิดจากความบังเอิญและโชคชะตา

    เทคนิคที่เราชอบมากที่สุดของการวาดรูปสีน้ำคือการลงสีเปียกบนเปียก (wet on wet) ค่ะ การลงน้ำบนผิวกระดาษชุ่มๆ แล้วหย่อนสีลงไป หนึ่งสีบ้าง สองสีบ้างสามสีบ้าง จากนั้นก็นั่งรอโชคชะตาค่ะ (หัวเราะ)

    เปียกบนเปียกนี่เป็นเทคนิคที่เรารู้สึกว่าควบคุมแทบไม่ได้เลย  ก่อนจะป้ายสีลงไปเราอาจจินตนาการได้ในระดับหนึ่งว่าสีน่าจะออกมาประมาณนี้ แต่จริงๆ จะออกมาเป็นแบบไหนก็ยังต้องนั่งลุ้นไปแบบใจเย็นๆ ค่ะ รอจนกว่ามันจะแห้งเรียบร้อยถึงจะเห็นผลลัพธ์ว่าจะออกมาเป็นยังไง  ซึ่งโมเมนต์การนั่งรอโชคชะตานี้ไม่มีในงานภาพแบบดิจิตอลเลยค่ะ งานเพ้นท์ภาพบนโปรแกรมวาดรูปทั้งหลายเป็นความสวยงามที่ถูกประดิษฐ์ประดอยขึ้นอย่างตั้งใจในทุกรายละเอียดไม่สามารถบังเอิญได้

    แต่ในการวาดรูปสีน้ำนี่ เราสามารถนั่งเฉยๆ ดูสีสองสีไหลเข้าหากันแล้วนับเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งได้นะคะ  คุณอาจจะพบว่าความงามนี้เกิดขึ้นโดยที่คุณไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้~

    เวทมนตร์ฟรุ้งฟริ้งที่เกิดจากการลงสีเปียกบนเปียกและโรยเกลือเล็กน้อย

    5. คราบน้ำ รอยด่างที่มีเสน่ห์

    เอกลักษณ์ของงานสีน้ำอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหลงรักก็คือคราบน้ำนี่แหละค่ะ  รอยพวกนี้เป็นสิ่งที่คุณจะพบเฉพาะในรูปสีน้ำ แต่ไม่มีทางเจอในรูปสีน้ำมัน สีโปสเตอร์ สีไม้ หรือ digital art แบบอื่นๆ นอกจากจงใจทำขึ้นเลียนแบบเอกลักษณ์ของสีน้ำ

    คราบของสีน้ำนี่ มีทั้งที่ผู้วาดตั้งใจสร้างขึ้นและที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสีเอง การเล่นกับน้ำและสีที่ยังไม่แห้งนับเป็นความสนุกที่เมาท์แยกไปได้อีกเรื่องเลยค่ะเช่น การโรยเกลือ การแตะแอลกอฮอล์ การใช้ทิชชู่ซับผิวกระดาษการขูดกระดาษเพื่อสร้างลวดลาย การหยดน้ำหรือสีแทรกเพื่อตกแต่งภาพ เทคนิคพวกนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้จังหวะของน้ำและสีเหมือนกันค่ะ



    ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกว่า “สีน้ำดีเลิศที่สุดในปฐพี” นะคะ แค่อยากจะบอกว่านี่แหละ "เสน่ห์ของการวาดรูปสีน้ำ" ที่ทำให้เราตกหลุมรัก 

    ถ้าหากคุณยังไม่เคยได้ลองสักครั้งล่ะก็ ออกไปหาซื้อกระดาษ พู่กัน กับสีชุดเล็กๆ สักชุดมาลองดูสิคะ  บางทีคุณอาจจะตกหลุมรักอย่างเราก็ได้



    Fayfena นักหัดวาดสีน้ำ
    ติดตามผลงานได้ที่แฟนเพจ fayfena
    หรือสนับสนุนผลงานของเราได้ที่เว็บนี้ค่ะ  www.myrakoko.com

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in