เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บางส่วนของอารมณ์ ...และหัวใจfayfena
อคติ : บทเรียนสำคัญของการรู้จักมนุษย์
  • การบ้านชิ้นที่เราประทับใจมากที่สุดในชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยคือการบ้านชิ้นนี้ค่ะ

    "ลองไปแอบสังเกตคนแปลกหน้าที่ทานอาหารในโรงอาหารดูนะครับ ระวังอย่าให้เขารู้ตัว เพราะเราจะไม่เห็นพฤติกรรมจริงๆ ของเขา สังเกตแล้วจดบันทึกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"


    ไม่มีขั้นต่ำ ไม่มีกำหนดความยาว บอกแค่ว่ายิ่งทำมากยิ่งดี
    ถ้าเทียบกับการบ้านสมัยมัธยม นี่ก็น่าตื่นเต้นกว่าเยอะเลยล่ะ

    เรามีเวลา 1 สัปดาห์ในการทำการบ้านชิ้นนี้ ดูเหมือนมีเวลาเหลือเฟือทีเดียวล่ะ แล้วก็ดูง่ายด้วย อันที่จริงทุกคนจะไปลองทำดูก็ได้นะคะ มันสนุกดี


    ถ้าใครอยากลองทำด้วยตัวเองก่อน 

    เพื่อไม่ให้มีอคติจากเรามาแทรกอย่าเพิ่งอ่านข้างล่างนี้นะคะ


    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .
    .

    .

    แต่ถ้าใครไม่อยากลองทำ มาอ่านต่อกันเลยค่ะ
    เราบันทึกกลับมาได้ประมาณนี้ (อันนี้เป็นข้อมูลจากความจำนะ เรียนจบมาหลายปีแล้ว สมุดการบ้านหายไปนานแล้วค่ะ)

    ----- บันทึกการสังเกต-----

    เพศหญิง เรียนปี 1 
    มัดผมหางม้าสูง ดูสุภาพเรียบร้อย
    มาทานอาหารคนเดียว สั่งกับข้าวสองอย่าง 
    ท่าทางไม่รีบร้อน ทานอาหารไปดูทีวีไป

    ตักข้าวคำเล็ก เคี้ยวไปคำหนึ่งจนหมด ถึงจะเริ่มตักข้าวอีกคำ
    ระหว่างเคี้ยวดูทีวี เคี้ยวหมดถึงตักข้าวอีกคำ

    เป็นคนไม่ทานเผ็ด เพราะทุก 2-3 คำจะดูดน้ำหวาน 1 ที 

    โทรศัพท์ห้อยพวงกุญแจพวงใหญ่
    ใช้เวลากินข้าวทั้งหมด 33 นาที 

    ----------------------------



  • ตอนเขียนเสร็จนี่เข้าขั้นห่อเหี่ยว นั่งอยู่ตั้งเกือบชั่วโมง ได้มาไม่กี่บรรทัดแค่เนี้ย 


    แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความยาวหรอกค่ะ ในคาบถัดไปอาจารย์สั่งให้เราทุกคนหยิบการบ้านขึ้นมา แล้วถามว่า


    "อะไรคืออคติ"


    อึ้งสิคะ! รออะไร?

    หยิบกระดาษขึ้นมาดูก็แล้ว แลกกับเพื่อนดูก็แล้ว อคติตรงไหน? นี่น่ะตั้งใจสังเกตมาอย่างดิบดีเลยนะ

    วันนั้นอาจารย์หยิบบันทึกของพวกเราคนหนึ่งขึ้นมาค่ะ แล้วก็อ่านให้ฟังว่าตรงไหนคืออคติบ้าง
    ฟังแล้วรู้สึกแปลกใจเข้าขั้นมหัศจรรย์เลยค่ะ

    มาเฉลยกันดีกว่า เราจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วอคติเกิดได้ง่ายขนาดไหน โดยดูจากบันทึกของเราเป็นตัวอย่างค่ะ เดี๋ยวเราจะขีดเส้นใต้ให้ดูนะคะว่าตรงไหนบ้างที่เรียกว่าเป็นอคติ


    ----- แยกอคติ ออกจากข้อเท็จจริง -----


    เพศหญิง เรียนปี 1
    มัดผมหางม้าสูง ดูสุภาพเรียบร้อย
    มาทานอาหารคนเดียว สั่งกับข้าวสองอย่าง
    ท่าทางไม่รีบร้อน ทานอาหารไปดูทีวีไป

    ตักข้าวคำเล็ก เคี้ยวไปคำหนึ่งจนหมด ถึงจะเริ่มตักข้าวอีกคำ
    ระหว่างเคี้ยวดูทีวี เคี้ยวหมดถึงตักข้าวอีกคำ

    เป็นคนไม่ทานเผ็ด เพราะทุก 2-3 คำจะดูดน้ำหวาน 1 ที 

    โทรศัพท์ห้อยพวงกุญแจพวงใหญ่
    ใช้เวลากินข้าวทั้งหมด 33 นาที 

    -----------------------------------


    อคติยังไง? อะไรเรียกข้อเท็จจริง? อะไรเรียกอคติ?

    เพศหญิง >> ชัดขนาดนี้ยังอคติอีกเหรอ?  คือเขาอาจจะเป็นชายแต่งหญิงก็ได้นะ คิดไปเองแบบนี้เรียกอคติค่ะ

    เรียนปี 1 >> บอกด้วยอะไร? เขาใส่รองเท้าขาว ? ปีอื่นก็ใส่รองเท้าขาวได้นะ ตีความไปเองเรียกอคติค่ะ

    มัดผมหางม้าสูง >> แม้คำบรรยายจะดูเห็นภาพได้ชัด แต่ลองสุ่มเพื่อนออกมาสักสามสี่คน ถามแยกกันทีละคนว่าลองมัดผมหางม้าสูงให้ดูหน่อย แต่ละคนจะมัดสูงไม่เท่ากันค่ะ  ดังนั้น "สูง" จึงเป็นอคติ

    ดูสุภาพเรียบร้อย >> อะไรคือสุภาพเรียบร้อย? กระโปรงพลีทยาว? กระโปรงเสมอเข่า กระโปรงสอบเหนือเข่าเล็กน้อย? เสื้อพอดีตัว? เสื้อตัวโคร่ง? เสื้อตามสมัยนิยม? ใส่เสื้อซับใน? หรือบราเซียร์ไม่ฉูดฉาด? หากสามารถแปรความหมายได้มากกว่า 1 ทาง แปลว่านั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อคิดเห็น 

    ข้อคิดเห็นนั้นเกิดจากความรู้สึกส่วนบุคคล เป็นการประเมินโดยใช้ตัวเองเป็นเกณฑ์ มันจะเจือปนด้วยอคติเสมอค่ะ

    ท่าทางไม่รีบร้อน >> เหตุผลเดียวกับดูสุภาพเรียบร้อยค่ะ คือเขาอาจจะไม่รีบจริงๆ หรือกินช้าเป็นปกติก็ได้ (ซึ่งช้าหรือเร็วก็นับเป็นอคติเช่นกัน)

    ตักข้าวคำเล็ก >> เล็กของใคร? เล็กแค่ไหน? นี่นับเป็นข้อคิดเห็นค่ะ

    เป็นคนไม่ทานเผ็ด >> คิดเอาเองค่ะ จริงๆ เราประเมินจากการเห็นเขาทานน้ำแดงบ่อยๆ เลยคิดเอาเองว่าเขาเผ็ด เขาอาจจะแค่ชอบทานน้ำสลับกับข้าวก็ได้

    น้ำหวาน >> เราเห็นแค่สีแดงค่ะ เราไม่ได้ชิมว่ามันหวานไหม จริงๆ มันอาจจะไม่หวาน มีแต่สีแดงเฉยๆ ก็ได้ ยกเว้นเรามั่นใจว่าเราไปซื้อมาจากร้านเดียวกันจากโถเดียวกัน ...แต่แบบนั้นก็ยังอคตินะคะ เพราะเราชิม และเรา "รู้สึก" หวาน

    พวงกุญแจพวงใหญ่ >> เช่นเดียวกับน้ำหวานค่ะ เรารู้สึกว่าใหญ่ คนอื่นอาจจะว่าปกติก็ได้

    33 นาที >> เป๊ะขนาดนี้อคติได้ไง?  อันที่จริงต้องนับว่าเป็นข้อมูลไม่ชัดเจนอาจคลาดเคลื่อนได้ ก็เราไม่ได้บอกนี่คะว่าเราเริ่มนับนาทีแรกตอนไหน ตอนเขาวางจานข้าว หรือตอนจับช้อน หรือตอนข้าวเข้าปากคำแรก แบบนี้ต่อให้เพื่อเราสังเกตพร้อมกัน ก็อาจจะวัดค่าออกมาได้ไม่เท่ากันก็ได้ค่ะ 


  • สังเกตยังไงให้เป็นข้อเท็จจริง?


    ข้อจำกัดของการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่มากก็คือ "เครื่องมือวัด" หรือตัวเราเองค่ะ
    มนุษย์เป็นเครื่องมือวัดที่ไม่เที่ยงตรงที่สุด เราทุกคนต่างกัน มีความรักชอบชังเกลียดต่างกัน 
    และเรามองคนอื่นด้วยเลนส์ที่ไม่ใสสะอาดเสมอ

    ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตอคติของตัวเรา และระลึกไว้เสมอว่าตัวเราไม่เที่ยงตรงค่ะ

    หากจะบันทึกอะไร ควรมองมัน บันทึกมัน ในสิ่งที่เป็นจริงๆ ตัดอคติออกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

    เห็นน้ำเป็นสีแดง ควรเขียนว่าสีแดง ไม่ใช่น้ำหวาน

    ตักข้าวคำเล็ก อาจจะสังเกตว่า ข้าวในช้อนมีเท่าไหร่ 1/2 ช้อน หรือ 1/3  หรือเต็มช้อน (หลังจากนั้นจะวิ่งไปวัดขนาดช้อนด้วยก็ได้ ถ้ามันเป็นข้อมูลสำคัญมาก)

    ใส่เสื้อสีขาว ก็เขียนสีขาว เสื้อทรงไหน กระโปรงอย่างไร มองมันในลักษณะวัตถุ โดยพยายามตีความให้น้อยที่สุดค่ะ  

    เราตีความทีหลังได้เสมอ แต่ถ้าเราตีความก่อน เราจะพลาดข้อเท็จจริงบางอย่างได้ เพราะเราตัดสินเขาไปแล้วค่ะ เช่นกลับมาอ่านทีหลังก็บอกไม่ได้แล้วว่าใส่เสื้อแบบไหน หรือกระโปรงทรงอะไร เป็นต้น


    ทำไมต้องแยกอคติออกจากข้อเท็จจริง?


    อันนี้คิดว่าพอทุกคนได้อ่านตัวอย่างคงเก็ทแล้วล่ะ ว่ามันสำคัญยังไง
    บันทึกการสังเกตครั้งนี้ เราตั้งใจอย่างมากค่ะ เราไม่ได้มองผ่านๆ แต่มันเกิดจากการตั้งใจพิจารณา และพยายามเป็นกลางแล้วด้วย

    ยังเกิดอคติตั้งกองพะเนินขนาดนี้

    ชีวิตจริงที่เราเดินผ่านไปผ่านมา พูดคุยกับเพื่อน คนรู้จัก คนแปลกหน้า แบบไม่ได้ระมัดระวังตัวเลยจะมีอคติมากขนาดไหนคงไม่ต้องพูดถึง

    เราตีความการนิ่งเงียบของเพื่อนร่วมงานเป็น "ความหยิ่ง" "ความเพิกเฉย" "ความกวนตีน" "ความอารมณ์ไม่ดี" "ความไม่ใส่ใจ" 
    เราตีความการปฏิเสธนัดหมายเป็น "ความไม่เป็นมิตร" "ไม่ให้ความร่วมมือ" "ไม่รัก" "ไม่เห็นความสำคัญ"
    เราอาจตีความคำตอบรับ "อาฮะ" คำเดียว เป็นการเห็นด้วย กำลังฟังอยู่ หรือ ไม่สนใจจะฟังก็ได้ 

    เราสามารถตีความการกระทำเพียงอย่าเดียวได้หลากหลายมาก ขึ้นกับตัวบุคคล สถานการณ์ สถานที่ บริบทแวดล้อม โดยที่อาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไร 

    หลายครั้งอคติเล็กๆ น้อยๆ พอรวมกันแล้วก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นความไม่พอใจที่พูดไม่ได้อธิบายไม่ถูก พูดไปก็เหมือนเรื่องเล็ก แต่ถ้าเริ่มพูดแล้วก็ไหลออกมาได้เรื่อยๆ ไม่มีหยุด บางทีก็ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งไป 


    อคติทำให้เรามองคน ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง 

    อาจจะดีกว่าความจริง

    หรืออาจจะเลวกว่าความจริง


    ตราบใดที่เป็นมนุษย์ เราจะมีอคติเสมอ ไม่ด้านบวกก็ลบ

    สำคัญที่ว่าเรารู้ตัวไหมว่าอะไรคืออคติ

    เรารู้ตัวไหมว่าเรามีอคติ

    อย่าให้อคติทำให้เราตาบอด

    อย่าให้อคติทำให้เราไม่รู้จักให้อภัย

    อย่าให้อคติทำลายความเป็นมนุษย์ของใคร ...แม้แต่ตัวเราเอง





เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in