เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
วิ่งตามหนัง: เก็บตก 15 เรื่องจากเทศกาลหนังลอนดอน
  • ขนลุกตั้งแต่เสียงแรกจากจอ

    ยังจำความรู้สึกเมื่อต่อแถวรอเข้าโรงชมหนังเรื่องแรกของเทศกาลได้
    11 โมงเช้าวันเสาร์ แดดลอนดอนที่อบอุ่น ตัดกับอากาศหนาวนิดๆ ต้นฤดูใบไม้ร่วง ผู้คนแห่กันมาอาบแดด ตามเก้าอี้ปิคนิคตรงกลางลานหน้าโรง 

    Embankment Garden Cinema เป็นโรงหนังเฉพาะกิจที่ทาง British Film Institute (BFI) ก่อสร้างและรื้อทิ้งเพื่อเทศกาลหนังโดยเฉพาะ ในปี 2016 ปีที่เราอยู่ลอนดอนและมีโอกาสดูหนังในเทศกาลหนังครั้งแรก เป็นปีแรกที่สร้างโรงนี้ ซึ่งตัวโรงเองมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมาก
     
    สำหรับทริปเทศกาลหนังครั้งนี้ สารภาพว่าค้นพบว่าทดสอบลิมิตตัวเองในการดูหนังจริงๆ การดูรัวๆ ถึงจะนั่งเฉยๆ แต่เพราะเป็นคน “ดู” หนัง การซึมซับ และตั้งใจ พื้นที่ความทรงจำ ความรู้สึกและความเชื่อที่มอบให้ต่อโลกของผู้กำกับในแต่ละเรื่อง ย่อมมีข้อจำกัด (และกว่าจะเดินทางกลับถึงที่พักที่ไม่มีลิฟต์อีกแต่ละคืน ก็เล่นเอาหมดแรง)

    หากไม่ว่ายังไงก็ยังยืนยันว่าเป็นประสบการณ์ครบรสที่คุ้มค่า ที่ทำตามความตั้งใจอยากจะทำสักครั้ง และทำสำเร็จตามที่อยาก เก็บหนังหายาก ความประหลาดใจ เรื่องดีๆอย่างไม่คาดคิดที่พรมแดง และความเป็น “เทศกาล” นำพาให้พบเจอ 

    เราเก็บหนังได้เพียงส่วนน้อยของเทศกาลเท่านั้น แต่ทุกเรื่องน่าจดจำในแบบของตัวเอง ด้วยความโดดเด่น มุมมอง และร่องรอยความรู้สึก ที่ทิ้งไว้ในใจผู้ชม 

    ขอต้อนรับสู่เทศกาลหนังนานาชาติลอนดอน ผ่านสายตาของคนรักหนังคนหนึ่งค่ะ


    15. Destroyer
    ดูที่ Vue Cinema Leicester Square

    โถงหน้าโรงหนัง
    เช้าวันที่ไปดูหนังสืบสวน - ฆาตกรรมของ Nicole Kidman นิโคล คิดแมน ก็ค่อนเทศกาลไปแล้ว เริ่มจะอิ่มตัวกับหนังต่างๆ และเพลียนิดๆ เลือกซื้อตั๋วดูเรื่องนี้เพียงเพราะเห็นรูป still โปรโมทหนังที่นิโคลแปลงโฉมเสียสิ้นเชิง Destroyer กล่าวถึงตำรวจวัยกลางคน ผู้มีอดีตอันมีเงื่อนงำ เหมือนเงาตามตัว และคราบถุงใต้ตา หนังเปิดเรื่องด้วยศพนิรนาม และตำรวจ 3 คน (โดยนางเอกของเราเป็น 1 ในนั้น) และเล่าเรื่องย้อนเวลา ตัดสลับไปมา พาคนดูค้นหาความจริง ทั้งของศพในฉากเปิดและเบื้องหลังของนางเอก 

    เสียงวิจารณ์โดยรวมบ่นว่า หนังยืดเยื้อและน่าเบื่อ เราเห็นด้วยอยู่กึ่งหนึ่งเพราะฝีมือการแสดงของ Nicole ผู้แบกรับเรื่องและอารมณ์ไว้เต็มๆและ Sebastian Stan เซบาสเตียน สแตน ในบทชายหนุ่มจากอดีตของเธอ (รวม Tatiana Maslany ทาเทียน่า มาสลานี่ สาวแคเนเดียนจาก Orphan Black ขวัญใจเรา) ล้วนทำให้หนังมีน้ำหนักดึงอารมณ์คนดูและสดใหม่ในแบบของมันเอง (ในสไตล์รักขมปนกลิ่นควันปืนและห้องปิดตายใต้ดินที่เปิดรับแขกครั้งแรกในรอบ 10 ปี)


    หนังร้อยเรียงเรื่องราวที่แตกเส้น สู่จุดจบที่ทำผู้ชมอ้าปากค้าง ขณะหัวใจด้านชาไปตามๆ กันกับเพลงและชอตปิดหนัง

    เรียกว่าเป็นหนังอาชญากรรมสายดาร์กที่แฟนๆ แม่นิโคลและหนุ่มเซบไม่ควรพลาด


    14. Wildlife
    ดูที่ BFI: NFT 3

    หนึ่งในตึกที่เรารักที่สุดในลอนดอนด้วยความเป็น “ศูนย์รวม” หรือ “หัวใจ” ทางด้านภาพยนตร์ของสหราชอาณาจักร  และที่ตั้งริมแม่น้ำ Thames ย่าน Southbank ขนาบข้างด้วยพิพิธภัณฑ์ Modern Art อย่าง Tate Modern และโรงละคร National Theatre 

    BFI ฉายหนังทั้งเก่าและใหม่ทุกวันและยัง premiere พรีเมียร์หนังก่อนฉายจริง โดยมี Q&A กับผู้กำกับและนักแสดงด้วย โรงสามเป็นโรงเล็กที่เราเพิ่งเคยเข้า ห้องเดี่ยวฉายหนังที่มีผู้ชมค่อนข้างมีอายุนั่งอยู่คับคั่ง เรารีบมาทันหนังเริ่มฉายพอดี 

    บรรยากาศหน้าเคาน์เตอร์ BFI

    ตามสีสันโทนเก่าแต่เก๋ของโปสเตอร์​ ชอตแรกของหนังก็สวยจับใจ

    Wildlife เป็นการเล่นคำอย่างชาญฉลาดของผู้กำกับครั้งแรกอย่างนักแสดงหนุ่ม Paul Dano พอล ดาโน่และแฟนสาว Zoe Kazan โซอี้ คาซาน ผู้ร่วมเขียนบท เราประทับใจ Paul ตั้งแต่ดูเขาครั้งแรกใหนังเสริมกำลังชีวิตเรื่องโปรด Little Miss Sunshine (2006) และชื่นชมโซอี้มาตั้งแต่ What If (2013) สาวผมทองตากลมโต ผู้เป็นเสมือนความเป็นไปได้นับล้านต่อผู้พบเห็น


    Wildlife อันหมายถึง สัตว์ป่า ยังหมายถึงมนุษย์ผู้อยู่ไม่สุข คอยจะเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง ทำเพื่อตัวเอง ในชีวิตที่พบเจอมรสุม และปัญหา เป็น Wild Life ที่กระทบต่อความสัมพันธ์ของตนเองต่อคนรอบข้าง ทั้งที่ควรดูแล ควรรับผิดชอบเยื่อใยที่สร้างมาและมีให้ 

    เรื่องราวของครอบครัวนิวเคลียร์ Nuclear Family พ่อ แม่ และลูกชาย ที่พังทลายเพราะความหยิ่งและเอาแต่ใจของพ่อ ความตามใจตัวเองของแม่ ส่งผลให้ลูกต้องเติบโตอย่างไม่ทันตั้งตัว บทหนังคมและหนักแน่น หากโฟกัสเรื่องความสัมพันธ์ที่ถูกกระทบมากกว่าสภาวะทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางปัญหา เทียบกับชีวิตจริงแล้ว มีปัจจัยรุมเร้าปัญหามากกว่านัก

    ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเมื่อมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อความรู้สึกเปลี่ยนไป ขอให้หยุดสักนิดและย้อนกลับไปคิดว่ากว่าจะรักกันได้ กว่าจะมาถึงจุดนี้ มันยากเย็นแค่ไหน


    13. Front Runner
    ดูที่: Embankment Garden Cinema

     คืนนั้นไปพรมแดงไม่ทัน เพราะติดดูหนังเรื่องก่อนหน้าพรมแดงเริ่ม รีบไปดู Front Runner รอบค่ำโดยลืมไปว่าเป็นรอบพรีเมียร์ที่ผู้กำกับและนักแสดงจะมากล่าวแนะนำหนัง
    แล้วต้องกลับตกใจเพราะผู้ที่ก้าวขึ้นเวทีมาสนทนากับพิธีกร (หญิงสาวผู้อยู่มาทุกสมัยในหนังทุกรอบเพราะเป็น Programme Director ผู้กำกับโปรแกรมของทั้งเทศกาล) คือผู้กำกับ Jason Reitman เจสัน ไรท์แมน (Juno, Thank You For Smoking, Up In the Air) ผู้เดียว

    (ผ่าง)

    “ฮิวจ์มาไม่ได้คืนนี้” เจสันกล่าว แล้วใจเราก็รู้สึกงงแบบแปลกๆ “มีปัญหาเครื่องยนต์ของเครื่องบินเขาขัดข้องที่นิวยอร์ก เขากำลังถ่ายหนังอยู่ที่นั่น 

    เขาอยากมามากๆ และเสียดายที่ไม่ได้มาแนะนำหนังและเจอพวกคุณ เขาฝากคลิปมาด้วย”


    ต่อจากคลิปก็เป็นปาร์ตี้วันเกิดฮิวจ์ในกองถ่าย ซึ่งผู้กำกับตั้งใจจะเซอร์ไพรซ์เขาในทุกพรีเมียร์ (และคืนนั้นก็ใกล้วันเกิดของฮิวจ์เสียด้วย) เจสันเลยได้แต่ถ่ายกลุ่มคนดู ส่งเสียง Happy Birthday ให้กับฮิวจ์แทน

    Front Runner เป็นเรื่องราวที่ไม่น่าแปลกใจนักในวงการการเมือง เมื่อจู่ๆ Gary Hart แกรี่ ฮาร์ท (ฮิวจ์) 'ตัวเก็ง' (Front Runner) ในการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1988 ของอเมริกา ก็ถอนตัวไปเสียดื้อๆ และสาเหตุเดียวก็คือสื่อ Miami Herald ปล่อยข่าวฉาวเรื่องชู้สาวของเขา

    โดยฮาร์ทเชื่อใน 'ความเป็นส่วนตัว' ของตนเอง แต่การปัดป้องผลพวงจากการคุกคามของสื่อ บ่ายเบี่ยงการตอบความจริงเรื่องที่มีภาพถ่ายฟ้องอยู่โต้งๆ ทำให้นักการเมืองผู้มีประวัติด้านอื่นดี ต้องถอนตัวในที่สุด

    Front Runner เรียกว่าเป็นหนังการเมือง Political Drama ที่เข้มข้น น่าติดตาม มีบทสนทนาที่เฉียบและฉลาด หากหลังจบก็ไม่ได้น่าจดจำเท่าไหร่นัก แต่ฮาร์ทของฮิวจ์เป็นสิ่งที่ดีที่สุดจากหนัง

    เจสัน ผู้กำกับถึงกับบอกผู้ชมว่า ฮิวจ์ทำงานหนักมาก และทุ่มเทกับบทและการค้นคว้าเพื่อเตรียมตัวเล่นเป็นฮาร์ท ถึงขั้นที่ฝ่ายค้นคว้า ทีมเขียนบทและทีมงานด้านการตัดต่อ หาคลิปของฮาร์ท ทุกคนได้ข้อมูลเพิ่มเติม และสื่อต่างๆจากตัวนักแสดงอย่างฮิวจ์เอง

    สมแล้วที่เป็น Front Runner ในวงการ เป็น triple threat leading man ทั้งแสดง เต้น ร้อง ในสายตาผู้ชมมาตลอด


    12. The Kindergarten Teacher
    ดูที่: Picturehouse Central

    เกือบจะข้ามหนังเรื่องนี้ เพราะเป็นรอบค่ำรอบเดียวของหนังที่เราเพิ่งมารู้หลังจองตั๋วว่าจะลง Netflix ต่างประเทศ สุดท้ายก็ลากสังขารไป

    โรง Picturehouse Central เป็นโรงหนังโรงแรกที่ดูที่ลอนดอน เรื่องที่ดูคือ Bridget Jones’ Baby (2018) อารมณ์เซอร์เรียลนิดๆที่ดูเสร็จก็ออกมาเดินเมืองในหนังเลย (เป็นสิ่งเดียวที่เพื่อนผู้ชายหนึ่งเดียวที่ถูกลากไปในกลุ่มบอกว่าชอบในหนัง) เพราะเป็นโรงหนังใจกลางเมือง ตามย่าน Picadilly ที่มีเทพีอีรอส คิวปิดแห่งความรักผู้โด่งดัง ราคาตั๋วหนังในโรงเลยพุ่งสูงเป็นพิเศษ ทำให้นักเรียนอย่างพวกเราไม่ค่อยเฉียดไปในโรงนัก


    แต่คืนนั้น ขณะขึ้นบันไดเลื่อนไปที่โรง ตาเราก็เหลือบไปเห็น Maggie Gyllenhaal แม็กกี้ จินเลนฮาลตัวเป็นๆพอดี สาวผมสั้นเฉี่ยว แก้มแดง แววตามุ่งมั่น กำลังให้สัมภาษณ์กับสื่ออยู่ และมือเราที่ถือถุงป๊อปคอร์นก็กำแน่นขึ้นมาชั่วขณะ

    แม็กกี้เดินขึ้นเวทีมากล่าวแนะนำหนังพร้อมผู้กำกับ และจะกลับมาตอบ Q&A หลังหนังจบ The Kindergarten Teacher เป็นหนังที่ยากจะนิยามประเภท (genre) เพราะไล่ตามความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของครูอนุบาลคนหนึ่ง ผู้เริ่มใกล้ชิดกับลูกศิษย์ตัวน้อยคนอัจฉริยะ 

    ยอมรับว่าเราตีตั๋วดูหนังเรื่องนี้เพราะ Gael Garcia Bernal กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล หนุ่มเม็กซิกันคนโปรดของเราร่วมแสดงด้วย แต่ประสบการณ์ที่ได้จากการดูหนังเรื่องนี้ เปรียบเหมือนรถไฟเหาะที่ยากจะคาดเดาทิศทางการเลี้ยว หักโค้งในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่ชอตสุดท้ายของหนังที่ค่อยๆ และเล็มหัวใจผู้ชมไปทีละนิด


    ไม่แปลกที่หนังจัดอยู่ในประเภท Debate โต้เถียงของเทศกาล ตัวแม็กกี้เองพูดถึงหนังว่า "คนเรามักกระหายความจริง ต้องการที่จะได้มันมาและคิดตีความด้วยตนเอง - People are hungry for truth, to take it and think for themselves."

    และพูดถึงตัวละครครูอนุบาลว่า: "คุณสามารถชอบเธอ หรือไม่ชอบเธอ แต่เรากำลังมอบอะไรที่ตรงไปตรงมาในหนัง ถ้าเทียบกับการเมืองแล้ว คุณกำลังถูกโกหกใส่ ด้านขวาก็ว่าสื่อกำลังโกหกคุณ และด้านซ้ายก็ว่าประธานาธิปดีกำลังโกหกคุณ - You can like her, or not like her, but we're offering something honest. On both sides of the political spectrum, you're being lied to. The far right is saying the media is lying to you, and the far left is saying the president is lying to you."

    ใช่ค่ะ ไม่ใช่หนังที่ดูง่าย หรือสรุปความคิดหลังจบได้ง่ายๆเลย


    11. The Man Who Killed Don Quixote
    ดูที่: Embankment Garden Cinema

    หนึ่งในประโยคคำคมความเชื่อของคนรุ่นใหม่เชิงตะวันตก ที่ผู้ใหญ่มักเบ้ปาก มองแรงใส่คือความคิดที่ว่า “Your life is yours- life is what you make of it. - ชีวิตเป็นของคุณเอง.”

    ก็ชีวิตมีปัจจัย มีอะไรรายล้อมมากกว่าแค่ ‘ตัวคุณ’ นี่นา

    แต่ดอน ฆีโฮเต้ เรื่องราวคลาสสิกของมิเกล เดอ เซอร์วานเตส (Miguel de Cervantes) ที่เราเคยได้ยิน ก็ยังยืนยันคำเดิม ในโลกฝันเฟื่องเบาสมองแฟนตาซีของ Terry Gilliam

    เราเคยผิดหวังตอนมอ. 1 ที่จับฉลากการทำโปรเจคคนดังสมัย Renaissance ได้เป็นมิเกล แทน Shakespeare เซ็คสเปียร์ (ทั้งๆที่คนอยากได้นักเขียนก็มีแค่เรากับเพื่อนอีกคน) แต่นักเขียนคนนั้นคือคนที่เราไม่รู้จักและแอบหวั่นใจว่าจะหาข้อมูลยากต่างหาก

    กลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับนักเขียนเม็กซิโกผู้นี้เพิ่มเติม ได้รู้เรื่องนิยายเสียดสี Satire คนช่างฝันของ ดอน ฆีโฮเต้ และ พานโช ผู้ติดตามผู้ซื่อสัตย์ของเขา ที่หนังนำมาขยี้อย่างสนุกและเฮฮา


    Jonathan Pryce โจนาธาน ไพรซ์ คนที่เราติดตาจากบทพ่อของอลิซาเบธ ใน Pirates of the Caribbean (2003) รับบทเป็นชายแก่ ผู้ยึดติดกับอดีต วันวานที่เขาเคยเป็น ‘มากกว่า’ ช่างซ่อมรองเท้า วันวาน ที่เขาเคยแสดงในหนังนักศึกษาที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับสิบปีให้หลังอย่าง โทบี้ (Adam Driver อดัม ไดร์เวอร์ ย้ำอีกทีว่าแฟนๆพี่อดัมไม่ควรพลาดเรื่องนี้ ใครคิดว่าเขาเป็น Kyle Ren หน้าตึงจาก Star Wars จะเปลี่ยนใจ เรื่องนี้พี่แกเล่นตลกมากๆ ทั้งร้องเพลง ทั้งเล่นใหญ่รัชดาลัย เราถึงกับหลุดขำเสียงดังไปหลายที)

    เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า โทบี้กลับพบเจอเทปหนังนักเรียนที่ตัวเองเคยถ่ายทำ และรู้สึกตัวว่ากองหนังที่กำลังตัดต่ออยู่ใกล้กับหมู่บ้านของชายแก่ผู้นั้น จึงหนีภาวะ 'ขาดแคลนไอเดียและอารมณ์สร้างสรรค์' ของตัวเอง ขับมอเตอร์ไซค์หวนกลับอดีต จนเรื่องวุ่นๆ กับชายแก่ที่ไม่เคยละความเป็น 'ดอน ฆีโฮเต้' และยังมองว่า โทบี้เป็น 'พานโช' ของเขา จึงเกิดขึ้น

    หนังร่วมด้วยนางเอกบอนด์เก่า Olga Kurylenkoโอลก้า คูรีเล็นโก้  (Quantum of Solace, 2008) ผู้มารับบท 'ภรรยานายทุนกองถ่าย' เป็นนางร้ายแบบแสบสันต์ ขึ้อ่อย และใส่จริตเต็มเม็ดแบบที่ไม่เคยเห็นนางแสดงมาก่อน (แต่เป็นการแสดงตามสไตล์ผู้หญิงของ Gilliam) และนางเอกใหม่ Joanna Ribeiro โจฮานน่า รีเบยโร่ รับบท Angelica แองเจลลิก้า หญิงผู้ติดตาและใจของโทบี้ ตั้งแต่หนังนักศึกษาของเขา ซึ่งเธอทั้งสวยหวานและเติมเต็มสีสันให้กับหนังทุกฉากที่ปรากฏตัว

    ขอหวีดนางเอกที นางสวยเหลือเกิน

    "You must be really naive, or really crazy - คุณไม่โลกสวย ก็บ้ามาก" แองเจลลิก้ากล่าวกับโทบี้ สมัยที่เขาเป็นนักศึกษาผู้มีแววตาเต็มไปด้วยความฝัน และเธอเป็นสาวเสริฟ์ในบาร์ของพ่อ

    "I must be. I am an artist - ผมควรจะเป็นสิ ผมมันศิลปิน" โทบี้ตอบ เป็นประโยคที่ทำให้เราอมยิ้ม เพราะความตรงใจนี้ เพราะใช่เลย ความติสต์จะหนีคุณไปไหน ก็เล่นตอบเผยความเป็นศิลปินในสายเลือดแบบนี้

    เราก็เป็นเหมือนคุณ โทบี้  (Me too, Toby. Me too.)


    หากประโยคที่เรารักที่สุดของหนังมาจากชายแก่ เขาพูดกับโทบี้ระหว่างเชื่อเต็มอกว่าตัวเองยังเป็น ดอน ฆีโฮเต้ อยู่ เนื้อความของประโยคกลับทำให้เราฉุกคิดถึงชีวิตตัวเอง ถึงคนพูดจะเป็นชายแก่ที่หลอกตัวเอง อยู่ในโลกแฟนตาซีที่อดีตสร้างไว้ ถ้อยคำง่ายๆ กลับสะกิดหัวใจจริง:

    "You must never give up on your own story, for it is yours. - นายต้องไม่ยอมแพ้ต่อเรื่องของตัวเอง เพราะมันเป็นของนาย"



    10. The Favourite
    ดูที่: Embankment Garden Cinema

    เราคาดหวังกับหนังเรื่องนี้ไว้สูง ด้วยความรักเต็มเปี่ยมที่มีต่อ ‘พ่อ’ ผู้อยู่เบื้องหลังบทความแรกของเพจนี้ พอเดินออกจากโรงแล้ว ต้องบอกด้วยเสียงเรียบๆว่าเฉยมาก

    พรีเมียร์ของหนัง
    ความเป็นยอร์กอสยังอยู่ครบ ทั้งตลกร้ายหน้าตาย ตัวละครตกในที่นั่งลำบากและสถานการณ์กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ที่ทั้งสัปดน ทั้งรุนแรง ทั้งทำให้ผู้ชมไม่รู้จะขำหรือถอนหายใจดี แต่โดยรวมเราไม่รู้สึกเชื่อมโยง relate กับหนังเท่าที่ควร 

    The Favorite ตีแผ่การแก่งแย่งชิงดีเพื่อเป็นนางสนองพระโอษฐ์คนโปรดของราชินีแอนน์ Queen Anne ระหว่าง ซาร่าห์ Sarah Churchill ผู้มาก่อน และอบิเกล Abigail Masham ลูกพี่ลูกน้องของซาร่าห์ผู้ตกระกำลำบากและทำทุกวิถีทางเพื่อไต่เต้าเพิ่มอำนาจในราชสำนักให้ตนเอง

    Olivia Colman (โอลิเวีย โคลแมน)
    นักแสดงหญิงทั้งสามยอดเยี่ยมมาก เรารัก Rachel Weisz เรเชล ไวซ์  ในความราชินีน้ำแข็ง เย็นชาของเธอ เมื่อเทียบกับ Emma Stone เอ็มม่า สโตน ผู้มาใหม่ในราชสำนัก และใช้เล่ห์กลเพื่อล่อลวงราชินีมาเป็นฝ่ายตน
    ส่วนราชินีตัวจริง ควีนแอนน์ อย่าง Olivia Colman โอลิเวีย โคลแมน ควรคู่กับรางวัลสักสำนักมาก ออสการ์ต้องมาแล้วค่ะ! (ชอบนางตั้งแต่สมัย Doctor Who แล้ว)

    คาดว่าบทคงแผ่วลงในความรู้สึกเราเพราะคนเขียนบทไม่ใช่คนเดิมคู่ขวัญของยอร์กอสแล้ว

    หนังยังเสริมด้วย Nicholas Hoult นิโคลัส โฮลท์ ผู้ใส่วิกและแต่งหน้าตามสไตล์ขุนนางสมัยนั้น แต่เล่นร้ายลึกและตลกหน้าตายได้ดีเลิศจนน่าปรบมือให้ทุกฉาก

    แถม: 
    พรมแดงของ The Favourite ย้ายจากที่ปกติ Cineworld Leicester Square ไปจัดที่ British Film Institute ตรง Southbank เราเองก็เกือบเดินไปไม่ทัน แต่ยังโชคดีได้ wristband ไปต่อคิวรอ และโชคดีได้อยู่บริเวณเดียวกันกับก๊วนที่เจอตอนพรมแดง Suspiria อีก

    (คุณจะต้องอยู่กับคนร่วมบริเวณพรมแดงระหว่างรอพรมแดงประมาณ 3 ชม. ถ้าได้เพื่อนบ้าน(มารยาท)ดีก็ถือว่าโชคดีไปกว่าครึ่ง แน่ใจได้ว่าเขาจะไม่เบียดคุณรุนแรงเมื่อนักแสดงหรือผู้กำกับมาถึง)


    09. Out of Blue
    ดูที่: Cineworld Leicester Square

    เรารู้จักคนข้างๆเราดีแค่ไหนกัน
    ประโยคหนึ่งใน Out of Blue กระแทกความรู้สึกเข้าตรงเผง

    "Take a look at the person next to you. Do you really know who they are? They’re both a mystery and a miracle to happen to you. - มองคนข้างๆ คุณ คุณรู้จริงๆหรือเปล่าว่าเขาเป็นใคร เขาเป็นทั้งความลึกลับและปฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับคุณ" 

    หนังสืบสวนฆาตกรรมฟิลม์นัวร์ของผู้กำกับหญิง Carol Morley แครอล มอร์ลีย์ เริ่มต้นด้วยแสงสีฟ้า และพาผู้ชมดำดิ่งสู่สภาวจิตใจและอดีตสีน้ำเงินของ Detective ตำรวจหญิง ไมค์ ฮูลิฮาน Mike Hoolihan (Patricia Clarkson แพทริเซีย คล๊ากสัน จะว่าประทับใจเธอใน Sharp Objects ในฐานะบทแม่อดอร่า ที่ตรงตามภาพในหัวเราตอนอ่านหนังสือเป๊ะๆ เจอบทนำในหนังเรื่องนี้เข้าไป ก็รักเธอมากขึ้นอีก)

    จากซ้าย: ผู้กำกับ Carol Morley แครอล มอร์ลีย์, Yolanda Ross โยลานด้า รอสส, และPatricia Clarkson แพทริเซีย คล๊ากสัน

    หนังซับซ้อน ด้วยลากเอาคอนเซ็ปท์ฟิสิกส์มาเชื่อมกับความเป็นอยู่ ความเป็นไป อดีต ความจริง ความเท็จ ตัดสลับกับเพลงประกอบที่ทำให้นั่งไม่ติด และแสงยามโพล้เพล้ ที่ผู้กำกับบอกเองว่าชอบ 'that sort of mood that people don't have a day day or night night - อารมณ์ที่ผู้คนไม่มีวันหรือคืนชัดเจน'

    Patricia แพทริเซียใน Out of Blue

    เรารักประโยคที่หัวหน้าของตำรวจเหน็บเธอว่า "So you detect the hell out of other people's lives, but your own remain a mystery. - เธอสืบสวนชีวิตคนอื่นจะเป็นจะตาย แล้วทิ้งเรื่องตัวเองเป็นความลับ" คล้ายๆ Destroyer ตำรวจนางนี้มีปมในอดีตที่ต้องปลดล็อก

    หนังโฟกัสตัวนางเอกมาก และให้ความสำคัญต่อ 'การมองโลกผ่านมุมมองเชิงอัตนัยของเฟมินิสต์ - female subjectivity' และแอนตี้ฮีโร่คนเฟมินิสต์ ถือเป็นหนังที่ทั้งท้าทายผู้ชมและทำเราหันมองโลกสีน้ำเงินรอบตัวในเวลาเดียวกัน


    08. A Private War
    ดูที่:​ Embankment Garden Cinema

    คำสดุดีแด่หญิงแกร่ง

    A Private War เป็นหนังที่ 'หนัก' แต่ต้นจนจบ โดยกล่าวถึงชีวิตจริงของนักข่าวเชิงสงครามและการเมืองมารี โคลวิน Marie Colvin ชาวอังกฤษ (Rosamund Pike โรซามุนด์ ไพค์) และคู่หูนักถ่ายภาพ พอล คอนรอย (Jamie Dornan เจมี่ ดอร์แนน) ชาวสก๊อตติชของเธอ หนังเล่าเรื่องถึงความใส่ใจ และ passion แรงกล้าที่มารีมีต่องานของเธอ ต่อหน้าที่ในฐานะสื่อที่ต้องเปิดเผยความจริงให้ผู้อ่านและโลกรับรู้ ความทุ่มเทที่บ่อยครั้งมารีเสี่ยงชีวิตตัวเองโดยไม่คิดถึงอย่างอื่น

    จากซ้ายคนที่สาม: Tom Hollander ทอม ฮอลแลนเดอร์, Stanley Tucci สแตนลี่ย์ ทุชชี่, Jamie Dornan เจมี่ ดอร์แนน, Paul Conroy พอล คอนรอย, Rosamund Pike โรซามุนด์ ไพค์ 

    โรสซามุนด์ สวมบทเป็นมารีอย่างน่าเกรงขาม เด็ดขาดและเด็ดเดี่ยว หากเป็นมนุษย์ เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ต้องการความรัก และห่วงใยจากคนรอบข้าง ขณะที่เธอทรมานกับอาการข้างเคียงอย่าง Trauma อาการทางจิตจากการอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงและทำร้ายจิตใจในพื้นที่สงครามต่างๆ ทั่วโลก

    เรียกว่าทุกคนทุ่มเทกับบทที่ได้รับมา รวมทั้งเจมี่ ดอร์แนนในผลงานที่ดีที่สุดที่เราเคยเห็นเขาแสดงมา (อาจเป็นเพราะพอลตัวจริงเป็นที่ปรึกษาในกอง) และStanley Tucci สแตนลี่ ทุชชี่ ในบทคนรักคนสุดท้ายของมารี ผู้เข้าใจความเป็นเธอและสนับสนุนเธออย่างไร้เงื่อนไข


    (เราเคยกล่าวถึงเรื่องระยะห่าง และคำอ้างเรื่อง 'ไม่มีเวลา' หรือต้องการ 'เวลาส่วนตัว' มากมายไปแล้วในบทความ Phantom Thread (2017) แต่ฉากหนึ่งในหนังยังสะกิดปมเรื่องนี้อยู่ดี กับคนรักคนสุดท้ายของเธอ มารียังนั่งพิมพ์อีเมล์สั้นๆ หาเขาเพื่ออัพเดตความเป็นไปของเธอ ให้เขารู้ว่าเธอยังมีชีวิตดีอยู่ ขณะหลบกองระเบิดอยู่ในถ้ำที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตอ่อนมากในซีเรีย

    สายสัมพันธ์ที่ดี ที่จริง ที่มั่นคง ไม่ว่าสถานการณ์ไหน อย่างไร ก็ตัดไม่ขาดหรอก)


    เพิ่มเติม: เนื่องจากเป็นพรีเมียร์ นักแสดงและผู้กำกับ รวมถึงพอล ตัวจริง ต่างขึ้นมาแนะนำและตอบคำถามเกี่ยวกับหนังหลังจากจบ ที่เราชอบมากที่สุดก็คือคำขอบคุณจากปากโรสซามุนด์ ที่กล่าวขอบคุณเหล่านักแสดงชาย ผู้กล้ารับบท 'สนับสนุน / Supporting' ตัวเอกหญิง ในท้องตลาดหนังที่ยังคงขายตัวเอกชายควบคู่นักแสดงสนับสนุนหญิงเป็นส่วนใหญ่

    ปรบมือให้ดังๆเลยค่ะ


    07. The Little Drummer Girl
    ดูที่:​ Embankment Garden Cinema

    สปายสายละคร

    ซีรีส์แรกจาก Park Chan-Wook ปาร์ค ชาน วุคในคราบสไตล์งานศิลปะสีสันฉูดฉาดของยุค 1980 และเส้นเรื่องการสืบสวนเข้มๆของจอห์น เลอ คาร์ (John Le Carre, นักเขียนนิยาย Tinker Tailor Soldier Spy) จากนิยายชื่อเดียวกัน


    ละคร(ซึ่งฉายจบหกตอนหลังจากพรีเมียร์ที่เทศกาลหนัง) กล่าวถึงนัก(อยาก)แสดงสาวชาร์ลี ผู้เข้าไปพัวพันกับโลกสายลับและองค์กรลับเพื่อสืบข้อมูลทางการเมือง เพียงเพราะทำความรู้จักกับหนุ่มร่างสูงลึกลับคนหนึ่ง ณ เกาะกรีซ

    ทุกฉากสวยงามและฉูดฉาดเหมือนภาพวาด งานศิลปะที่ประณีตทุกรายละเอียดอย่างที่คุณคาดหวังจากปาร์ค ชาน วุค และเปี่ยมด้วยสาระ ความตึงเครียด และการหักมุม จากงานของเลอ คารร์ ผู้ที่ปาร์ค กล่าวว่าเป็นฮีโร่ด้านวรรณกรรมของเขา (a literary hero)

    จากซ้ายคนที่สอง: Park Chan-Wook ปาร์ค ชาน วุค, Michael Shannon ไมเคิล แชนนอน, Florence Pugh ฟลอเรนซ์​ พิว, Alexander Skaarsgard อเล็กซานเดอร์​ สการ์กาด
    Florence Pugh ฟลอเรนซ์​ พิว กับเสียงทุ้มเข้ม และสายตาสาวมั่นของเธอ ขโมยหัวใจเราไปอีกแล้ว กับบทชาร์ลี ร่วมด้วย Alexander Skaarsgard อเล็กซานเดอร์​ สการ์กาด ผู้ส่งบทหนุ่มสายลับกับอดีตขมุกขมัวตามบทหนักๆจาก Little White Lies ซีรีส์ดราม่า HBO ปีก่อน

    ซีรีส์น่าติดตามเอามากๆ และฉายครบหกตอนทางช่อง AMC แล้ว

    หวีดดด
    หลังดูตัวอย่างซีรีส์สองตอนจบ เรารีบไปรอผู้กำกับพร้อมๆกับสาวเกาหลีสองคน และได้โอกาสบอกปาร์ค ชาน วุคว่า “เราชอบ The Handmaiden มากๆ กับตัว (ด้วยมือสั่นๆ) แต่ยืนยันว่าผู้กำกับเกาหลีคนนี้น่ารักจริงจัง


    06. Colette
    ดูที่:​ Cine Lumière

    ความรัก ตัวตน และอิสรภาพทางการสื่อสาร

    โรงหนังเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฝรั่งเศส French Institute ที่ลอนดอน อยู่ย่าน Kensington ทางด้านตะวันตกของเมือง ต้องเผื่อเวลาการเดินทางจากใจกลางเมืองมา เป็นตึกที่สวยงามและแปลกใหม่ เพิ่งได้มาเพราะเทศกาลหนังนี่เอง ปกติทางโรงจะฉายหนัง New Wave หนังฝรั่งเศสใหม่ๆ และคลาสสิก

    Colette เป็นหนึ่งหญิงกล้ารุ่นแรกที่เลือกเดินตามเส้นทางของตนเองและเป็นนายชีวิตตัวเอง


    จากเด็กสาวลูกทหารไร้เดียงสา อยู่บ้านนอกเมืองแถบชนบทในฝรั่งเศส สู่ภรรยานักเขียนผู้แก่กว่ามาก คนที่ฝึกฝนเธอให้เริ่มแต่งนิยาย ช่วยปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับจนออกมาเป็นนิยายเล่มแรก เกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ของเธอ

    จนวันหนึ่งโคเล็ทท์ลุกขึ้นมาควบคุมชีวิตตัวเอง ประกาศตัวเองเป็นเจ้าของนิยายและเป็นอิสระจากสามี

    แน่นอนว่า Keira Knightley เคียร่า ไนท์ลีย์แต่งตัวแนวย้อนยุคได้งดงาม และแค่ความเป็นเธอก็ทำให้เราหลงรัก เด็กสาวผู้เติบโตเป็นหญิงแกร่ง คนที่บอกโลกว่า กว่าฉันจะรู้ว่ามีชีวิตของตัวเองได้ ก็แทบสายไป แต่มันคุ้มค่ามากๆ

    หากการกำกับนั้นเรียบง่าย และหนังไม่เป็นที่โดดเด่นในความทรงจำเท่าไหร่นัก


    05. Green Book
    ดูที่:​ Embankment Garden Cinema

    ความเปลี่ยนแปลงที่อาศัยมากกว่าความกล้า

    เป็นหนัง Surprise Film หนังสุ่มของเทศกาลที่เราเข้าไปด้วยความลุ้น ใจเต้นตุ๊มๆต่อมๆว่าจะเป็นหนังเรื่องอะไร สุดท้ายก็อิ่มเอม ดูเพลิน จนเกือบไปพรีเมียร์ A Beautiful Boy ที่จัดหลังจากหนังจบไม่ทัน

    หนังเล่าเรื่องราวจากประวัติศาสตร์จริงระหว่างคู่หูต่างสุดขั้ว ดอน เชอร์ลี่ย์ (Mahershala Ali มาเฮอร์ชาลา อาลี จาก Moonlight เราหายใจเข้าเฮือกดัง ครั้งแรกที่เห็นเข้าในหนัง จนคนข้างๆหันมามอง ก็เราไม่คิดว่าจะได้เห็นเขาในบทนี้ หรือหนังเรืื่องนี้นี่นา...) นักเปียโนคลาสสิกผิวสีชื่อดัง และโทนี่ วาเลอร์ลองก้า คนขับรถและผู้รักษาความปลอดภัยส่วนตัวในทัวร์คอนเสิร์ตของเขา (Viggo Mortensen วิกโก้ มอร์เตนเซ่น จาก The Lord of The Rings ผู้แปลงโฉมตัวเองเป็นนิวยอร์กเกอร์เชื้อสายอิตาเลียนลงพุง โผงผาง พูดมาก และตรงไปตรงมา จนเราแทบจำไม่ได้)


    แน่นอนว่าเสน่ห์ของเรื่องอยู่ที่เคมีและการรับส่งบทของนักแสดงทั้งสอง จากพื้นเพ นิสัย ความคิด และการแสดงออกของเชอร์ลี่ย์​ และวาเลอร์ลองก้าเอง แต่ละคนต่างมีปมในใจที่ค่อยๆเปิดเผยต่อกัน เมื่อใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ผ่านอุปสรรค ผ่านเหตุการณ์ทั้งชวนขำ ไม่คาดฝัน และการทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้างมาด้วยกัน 

    วาเลอร์ลองก้านั้นเหยียดคนผิวสีแต่แรก หากกลับต้องมารับบทเป็นคนขับรถของดอน เชอร์ลี่ย์ คนที่ทำให้ภรรยาของเขาเองออกปากว่า 'มีหมอ 'ด๊อกเตอร์' แห่งการดนตรีเช่นนี้ด้วยหรอ' ส่วนดอน เชอร์ลี่ย์ก็ดิ้นรนในความ 'กึ่งกลางและแปลกแยก'  ของตัวเอง ความเป็นคนผิวสี ที่รู้จักแต่เพลงคนขาว เพลงคลาสสิก เพลงที่คน 'ผิวอย่างเขา' รู้สึกว่า 'สูงส่ง' เกินจะฟัง 

    มีฉากน่ารักๆ หลายฉากในหนัง (ที่การโปรโมทหนังในไทยสปอยล์เรื่องไก่ทอดไปแล้ว ... ขอบอกว่าออกจากโรงแล้วอยากพุ่งไปที่ร้านมากๆ) ระหว่างคู่นี้ จึงอยากอุบไว้ก่อน แต่เรารักความสัมพันธ์ของคู่นี้ในทุกด้าน เพื่อนต่างขั้วที่ยังสนิทกัน เติมเต็มกันในด้านที่แต่ละคนขาดหาย ช่วยเหลือและพึ่งพา ดูแลกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียม และไม่ใช่แค่เจ้านายและลูกน้องจำเป็น

    แพ้ฉากนี้มากๆ แต่จะไม่สปอยล์
    ต่างก็เรียนรู้อะไรๆ จากอีกฝ่ายตลอดเส้นทางการเดินทางและเวลาที่อยู่ด้วยกัน

    หนังดูได้เพลินๆ อมยิ้ม และเอาใจช่วยคนทั้งคู่ไปตลอดเรื่อง เหมือนอาหารคริสมาสต์มื้อพิเศษที่ทำให้ใจอุ่นในหน้าหนาว (พยายามสร้างบรรยากาศเอานิด)

    ประโยคที่เราชอบมากที่สุด คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นหัวใจของหนัง: "Genius is not enough. It takes courage to change hearts - แค่ความอัจฉริยะนั้นไม่เพียงพอ ต้องมีความกล้าหาญเพื่อเปลี่ยนแปลงหัวใจคน"

    ดอน เชอร์ลี่ย์จงใจทัวร์คอนเสิร์ตในพื้นที่ๆทราบว่าตัวเองจะตกอยู่ในอันตราย ก็เพราะเขาต้องการ 'เป็นตัวอย่าง' ต้องการให้ 'อีกฝ่าย' รับรู้ว่า 'คนผิวสี' ก็เป็นอย่างเขาได้ 

    แค่ความคิด แค่ความฝัน ยังไม่พอที่จะทำให้คนรู้สึก คนเห็น คนเชื่อ ตามสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรารัก ถึงจะขัดกับกรอบและกฏเกณฑ์ที่สังคมวางไว้ ความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง อย่างที่เราเป็นให้ถึงที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่จะค่อยๆหล่อหลอมและจูน 'หัวใจ' ของสังคมและคนรอบข้าง มาตรงคลื่นความรู้สึกและความคิดแห่งความเป็นเรา


    04. The White Crow
    ดูที่:​ Embankment Garden Cinema

    ประโยคเดียวที่เปลี่ยนทั้งชีวิต

    เป็นหนังม้ามืดที่เราจองไว้ตอนช่วงสายของวันค่อนเทศกาล เพียงเพราะ Ralph Fiennes ราลฟ์ ไฟนน์ (นักแสดงในตำนาแห่ง The English Patient กำกับและร่วมแสดง) แต่ตราตรึงใจเราระดับหนึ่งเลยทีเดียว

    หนังเล่าเรื่องจริงของ รูดอล์ฟ นูเรเยฟ Rudolf Nureyev นักบัลเล่ต์โซเวียต (Soviet Union) คนที่แปรพักตร์จากประเทศบ้านเกิดไปสู่ยุโรปตะวันตก (รับบทโดย Oleg Ivenko โอเล็ก อิเว็นโกะ นักแสดงรัสเซียหน้าใหม่ที่หล่อคมและมากฝีมือ) เราเฝ้ามองการเติบโตของรูดอล์ฟ จากเด็กน้อยยากจนสู่นักบัลเล่ต์หัวแข็งผู้มุ่งมั่น เดินทางเข้าเมืองใหญ่มาพบเจอผู้คนที่ทั้งเข้าใจ จับตามอง และกีดกันเขาจากความฝันระหว่างทาง

    จากซ้าย: Oleg Ivenko โอเล็ก อิเว็นโกะและ Ralph Fiennes ราลฟ์ ไฟนน์

    ต้องยอมใจกับบทหนังและหลายประโยคที่เฉือนใจเรา ทึ่งไปอีกเมื่อรู้ว่า David Hare เดวิด แฮร์ นักเขียนบทละครคนดัง (The Reader, Denial) เป็นเจ้าของถ้อยคำเหล่านี้ การนำเรื่องราวชีวิตซับซ้อนของนักบัลเล่ต์คนนี้มานำเสนอได้อย่างสวยงาม เรียกได้ว่าหากคุณหลงรักความเป็นศิลป์ ประวัติศาสตร์ และมีความติสต์อยู่ในตัวละก็​ จะเข้าถึงและหลงรักหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยากเย็น

    ในฉากหนึ่งรูดอล์ฟกล่าวว่าเขารักรูปวาดรูปหนึ่งเพราะ 'Beauty in Ugliness - ความสวยงามในความอัปลักษณ์" ซึ่งเป็นความขัดแย้งในตัว (paradox) ที่สะท้อนได้หลายอย่างในชีวิต และในตัวตนของรูดอล์ฟเอง คนที่ต้องผ่านพ้นอะไรมามากมายกว่าจะมาถึงจุดที่เขาอยู่ สูงสุดในอาชีพของตน 

    หนังเปรียบเทียบการเต้นรำเป็นเรื่องราวที่แต่ละท่าเกี่ยวข้องพ้องกันและคงอยู่ - "The dance has a logic: interconnected - they belong, and stay." พร้อมตัดสลับไปมากับภาพชีวิตและการเต้นของรูดอล์ฟ เป็นท่วงท่าที่น่าติดตามจริงๆ 

    จากซ้าย: Ralph Fiennes ราลฟ์ ไฟนน์, Adele Exarchopoulos อเดลล์​ เอ็กซ์อาโชพูโล, Oleg Ivenko โอเล็ก อิเว็นโกะ, และขวาสุด David Hare เดวิด แฮร์
    (และ Adele Exarchopoulos อเดลล์​ เอ็กซ์อาโชพูโล ครึ่งหนึ่งของ Blue Is the Warmest Color ก็กลับมาทวงพื้นที่ในใจเราจากบทสาวเศร้าผู้ช่วยเหลือรูดอล์ฟ 

    แปลกใจที่ได้เห็นเธอในหนัง แต่ปลื้มยิ่งกว่าเมื่อได้เห็นตัวจริงกับตา... แอบกรี๊ดเบาๆกับตัวเอง)


    03. Suspiria
    ดูที่:​ Embankment Garden Cinema

    ความสะอิดสะเอียนและเสียวใจที่ไม่อาจละสายตาได้

    จากกลัว เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่าลูก้าและคุณสยมภูจะมาแนวไหนกับหนังสยองขวัญ​ กลายเป็นอึดอัด เพราะลมหายใจของคนป่วยใกล้ตายในระหว่างไตเติ้ลเปิดเรื่อง หนังคุมโทนเหมือน 'เงา' ตามตัวที่สร้างความหวาดระแวงให้ผู้ชมตลอดเวลา เพราะคาดเดาไม่ได้ ภาพสยิดสยองตัดต่ออย่างรวดเร็วทำเราจิกเบาะ

    Dakota Johnson ดาโกต้า จอห์นสัน และ Tilda Swinton ทิลด้า สวินตัน
    ฉากหลักที่หนังเผยความสยองขวัญและร้ายลึกของตัวเองออกมา คือฉากเต้นเปิดตัวของซูซี่ (นางเอกนักเต้นหรือ Dakota Johnson ดาโกต้า จอห์นสัน) ตัดสลับกับฉากทรมานเพื่อนร่วมโรงเรียนเต้น ที่ทั้งสะอิดสะเอียน แต่งดงาม จนไม่อาจหยุดดู หรือปิดตาได้ เหมือนเราต้องมนต์สะกดทีเดียว

    หลังจากฉากนั้น ที่สัมผัสได้ว่าโทนของหนังเปลี่ยนไป หนังก็ทวีความรุนแรง ทั้งในความรู้สึกและภาพที่เห็น จนถึงฉากพีคปิดเรื่อง ซึ่งสุดในทุกทาง และเป็นความรุนแรงที่น่าประทับใจ ดุจหนังคลาสสิกและงานศิลปะที่อยากจำติดตา แต่ก็อยากลบไปจากภาพที่ผ่านตาในเวลาเดียวกัน

    จากซ้าย: Luca Guadagnino ลูก้า กัวดานีโญ่, Mia Goth มีอา กอธ, 
    Dakota Johnson ดาโกต้า จอห์นสัน และ Tilda Swinton ทิลด้า สวินตัน

    เป็นประสบการณ์ที่ควรคู่แก่การดูในโรง เสียดายว่ารอบในไทยน้อยจนน่าตกใจ และมักเป็นรอบค่ำๆด้วย


    02. If Beale Street Could Talk
    ดูที่:​ Embankment Garden Cinema

    รักในโลกจริง

    หากเราต้องพูดถึงหนังสือนิยายขนาดพกพาที่หลงรักตั้งแต่คำแรก ทั้งที่ซื้อมาโดยไม่คิดอะไร เราอยากยก Giovanni's Room (1956) ของ James Baldwin ให้เป็นที่หนึ่ง 

    ถ้อยคำ ประโยค และเรื่องราวมรสุมชีวิตจากปากกานักเขียนผิวสีคนนี้กระตุกอะไรบางอย่างในใจเรา บาลวินสามารถเข้าถึง 'ส่วนลึก' ของมนุษย์ ใช้คำง่ายๆ แต่ต่อยหนัก กับอารมณ์ ความรัก โลภ โกรธ หลง ความผิดพลาด หลายสิ่งอย่างที่มนุษย์พึงกระทำลงไปโดยขาดสติและเพราะเห็นแก่ตัว 

    (ถือไมค์): Barry Jenkins แบร์รี่ เจนกินส์ 

    Barry Jenkins แบร์รี่ เจนกินส์ ผู้กำกับ Moonlight (2016) กล่าวกับผู้ชม If Beale Street Could Talk ไว้ว่าเพื่อนของเขาแนะนำให้อ่านบาลวิน เพราะบาลวิน จะสอนให้คุณรู้จักชีวิต

    และไม่ว่าจะเป็นเรื่องชายเห็นแก่ตัวผู้คบกับชายอีกคนระหว่างห่างแฟนสาวไป โดยปล่อยให้เรื่องทุกอย่างที่เคยเกิดระหว่างเขาและคู่นอนปิดกั้นอยู่ในห้องๆเล็กห้องนั้น ใน Giovanni's Room หรือเรื่องคู่รักสองคนที่ต้องฝ่าฟันสังคมเหยียดผิวสี ในยุคที่การเมืองระอุเป็นไฟใน If Beale Street Could Talk บาลวินก็ทำให้เราย้อนกลับมามองชีวิต การตัดสินใจ ความรู้สึก คนรอบข้าง และความทรงจำของเราอย่างมีความหมาย หลายประโยคตอกย้ำสะเก็ดแผลในใจหรือความทรงจำที่เคยมีเหลือเกิน

    James Laxton เจมส์ แลกซ์ตัน ผู้กำกับภาพ Cinematographer เดิมจาก Moonlight อาบหนังด้วยแสงแดดอันอบอุ่น ทุกฉากอุดมด้วยสีสันแห่งความรู้สึก เคมีของพระ-นางก็ชวนฝันและทำให้เขินตาม ให้รักในความรักของพวกเขาและรู้สึกตามทุกอารมณ์ ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า

    ที่เราเซอร์ไพรซ์คือบทเล็กๆของ Diego Luna ดิเอโก้ ลูน่า (หนุ่มนักสู้จาก Rogue One) ที่มาร่วมเป็นพยานในความรักด้วย


    ความรักระหว่างพระ-นาง เป็นความรักหนุ่มสาวที่สดใหม่ หากมั่นคง เพราะทั้งสองรู้จักกันมาแต่เด็ก เล่นด้วยกันมา เคมีระหว่างทั้งสองนั้นสัมผัสได้ และเอ่อล้นเพียงมองตากัน เราติดตามตั้งแต่ความรักเริ่มต้น เติบโต และเบ่งบาน จนกระทั่งฟอนนี่ (Stephen James) พระเอก โดนกล่าวหาข้อหาข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่งและถูกลากเข้าคุก เมื่อทิช (Kiki Layne) พบว่าตัวเองตั้งท้อง ระหว่างวางแผนกำลังจะแต่งงานกับฟอนนี่ ทางบ้านของทิช ต้องวิ่งเต้นพร้อมบ้านฟอนนี่เพื่อช่วยเขาออกมา ท่ามกลางกฏหมายและการเหยียดสีของคนนิวยอร์ก


    อยากบอกอีกว่าตัวละครทุกตัวสร้างสีสันให้กับหนัง และเราดีใจมากที่ได้เห็น Regina King เรจิน่า คิง นักแสดงสาวผิวสีเจ้าบทบาทในบทแม่ของทิช ผู้รับภาระหนักในการแบกรับดูแลลูกและความรักของลูก เธอเป็นคนกล่าวประโยคเด็ดกินใจที่สุดของหนังที่ติดในความคิดเราทุกวันนี้:

    "I don't want to sound foolish. But love got you here. Don't panic, but trust. That love will get you all the way - แม่ไม่อยากพูดแล้วฟังดูโง่หรอกนะ แต่ความรักทำให้ลูกมาถึงจุดนี้ จงอย่าหวาดกลัว แต่ลองเชื่อใจ ว่าความรักจะทำให้ลูกปลอดภัยตลอดรอดฝั่ง"


    01. Beautiful Boy
    ดูที่:​ Embankment Garden Cinema

    เราสองคนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

    เช่นเดียวกับความสัมพันธ์แนบแน่นของแม่และลูก ใน Lady Bird ความสัมพันธ์พ่อและลูกชาย เป็นสายใยที่ตัดไม่ขาด

    จะมีใครสักกี่คนที่เฝ้าดูคุณเติบโตตั้งแต่เริ่มหัดเดิน เริ่มสนใจในงานอดิเรกแรกและ เริ่มไปโรงเรียน ใครสักกี่คนที่รักคุณอย่างไร้เงื่อนไข หากพอโตขึ้น คุณเองกลับเป็นฝ่ายที่ตีตัวห่างออกไป

    ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเราโตขึ้น เขาก็แก่ตัวลง และดังใน Mommy (2014) ของ Xavier Dolan ซาเวียร์​​ โดแลน ฝ่ายลูกนั้นเหมือนจะรักพ่อแม่น้อยลงๆทุกวัน เมื่อเริ่มห่างกันไป ในขณะที่รักของพ่อแม่นั้นยังคงเท่าเดิม


    Beautiful Boy สร้างจากเรื่องจริงของ Nic Sheff นิค เชฟฟ์  ลูกชายของนักเขียนหนังสือพิมพ์ New York Times David Sheff เดวิด เชฟฟ์  โดยบทหนังดัดแปลงจากหนังสือของนิค (Tweak: Growing up on Methamphetamines) และเดวิด (Beautiful Boy: A Father's Journey Through His Son's Addiction)

    ฉากที่สะเทือนใจเราคือตอนที่เดวิดพบว่านิคเสพยามาได้สักระยะแล้ว คนเป็นพ่อได้แต่โวยวายในห้องโรงพยาบาล ด้วยประโยคที่ใครได้ยินเข้าก็ใจร้าว: "I thought we were close. Closer than most fathers and sons. And you’ve been doing all sorts of drugs and hiding it. This isn’t who we are. This isn’t us! Why? - พ่อเคยคิดว่าเราสนิทกัน สนิทกันมากกว่าพ่อลูกคู่อื่น แต่ลูกเสพและใช้ยาและแอบพ่อมาตลอด นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเลย ทำไมละ!"

    ลองคิดดูว่าสักวันคนที่รักคุณที่สุดกลับพบอีกด้านหนึ่งของชีวิตคุณที่เขาไม่รู้ว่ามีซ่อนอยู่ ทั้งๆที่คิดมาตลอดว่าสนิทกัน


    หนังพาเราตามการเดินทางตามถนนคดเคี้ยวและขรุขระของนิคเพื่อบำบัดจากการติดยา ครั้งหนึ่งเดวิดพบเขาในร้านกาแฟประจำของทั้งคู่ และนิคก็เริ่มอาละวาดเมื่อเดวิดปฎิเสธที่จะให้เงินสดเขาเพิ่ม

    "You're suffocating me! ... You're controlling me. You're doing it again. - พ่อทำให้ผมอึดอัด พ่อกำลังควบคุมผม พ่อทำอีกแล้วนะ!" 

    ฟังแล้วก็สะอึก ใครบ้างละจะไม่มีช่วงเวลา มีความรู้สึกอึดอัดกับที่บ้าน กับความต้องการดื้อรั้นของเด็กคนหนึ่งที่พยายามจะใช้ชีวิตของตัวเอง และในกรณีของนิคกลับซ้ำร้ายยิ่งกว่า เพราะเขากำลังถลำลงสู่การเสพติดยาอย่างที่คนเป็นพ่อได้แต่เฝ้าดูและทำอะไรไม่ได้


    "I’m attracted to craziness. I was this amazing, beautiful thing and now you can’t stand who I am. You can’t stand this. - ผมรู้สึกดึงดูดกับความบ้าคลั่ง ผมเคยเป็นสิ่งที่สวยงาม น่าทึ่ง และตอนนี้พ่อรับในสิ่งที่ผมเป็นไม่ได้ พ่อรับผมอย่างนี่้ไม่ได้"

    เป็นประโยคที่สื่อถึงแก่นหนัง ชื่อเรื่อง Beautiful Boy หมายถึงเด็กชายผู้เป็นที่รัก สิ่งสวยงามในความคิดของพ่อ ต้องแปรเปลี่ยนเป็นอะไรที่เขาก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ จากอิทธิพลภายนอก

    หนังตัดสลับไปมาระหว่างปัจจุบันและอดีตระหว่างเด็กชายนิคเติบโตขึ้นกับพ่อ ซ้ำยังจงใจเล่นเพลง Sunrise, Sunset จากเกี่ยวกับลูกหลานที่เติบโตไปต่อหน้าต่อตาและเวลาที่หลุดมือ จาก Fiddler on the Roof ละครเวทีเกี่ยวกับครอบครัวใหญ่ชาวยิว ("Is this the little boy I carried? When did he grow to be so tall? นี่หรือเด็กชายที่เราอุ้มชู เขาเติบโตขึ้นสูงใหญ่เช่นนี้แต่เมื่อไหร่”) และ Heart of Gold (“Keep me searching for a heart of gold, and I'm getting old. ปล่อยฉันเสาะหาหัวใจทองคำ และฉันเองก็แก่ตัวลงทุกวัน”) แค่นี้ต่อมน้ำตาเราก็แตกไปสองรอบ

    สะอื้นไปก็คิดถึงพ่อแม่ไป

    พ่อลูกคู่นี้ยังชอบบอกลากันด้วยคำว่า "Everything. / Everything - ทุกสิ่งอย่าง" ที่หนังเฉลยภายหลังว่ามาจากการบอกลาครั้งแรกก่อนนิคบินไปค้างที่บ้านแม่ในเมืองอื่น

    "If you put together all the words in the English language, I love you more than everything - ถ้าลูกหาคำทุกคำในภาษาอังกฤษมารวมกัน พ่อรักลูกมากกว่าทุกสิ่งเลย" เดวิดคุกเข่าพูดกับลูกชาย

    "Everything - ทุกสิ่งอย่าง" นิคตัวน้อยพูดซ้ำ และสองคนก็กอดกัน

    (เราเองก็มีประโยคอย่างนี้กับพ่อเหมือนกัน)


    ส่วนชื่อเรื่อง Beautiful Boy มาจากเพลง Beautiful Boy (Darling Boy) ของจอห์น เลนนอน เกี่ยวกับพ่อผู้เฝ้ามองลูกเติบโตและห่างไกลเขาไปทุกวัน

    ท่อนที่เราชอบที่สุด (ขนลุกขณะดูหนัง และน้ำตายังอาบแก้มอยู่)คือ:

    Life is what happens when you’re busy making other plans
    Beautiful boy, hold my hand. Cross the stream

    ชีวิตคือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างคุณยุ่งวางแผนเรื่องอื่นๆ
    เด็กชายผู้งดงาม จับมือฉันไว้ แล้วก้าวข้ามลำธาร

    เพิ่มเติม:
    เรารีบวิ่งมาหลัง Green Book จบ มาต่อท้ายๆแถวของกลุ่มคนที่รอพรีเมียร์ A Beautiful Boy พอดี (เขามารองานหกโมงกันตั้งแต่บ่ายสอง) เกือบกลัวว่าจะหมดหวังในการพบทิมมี่ เพราะอยู่ปลายแถวมาก พลาดสตีฟ คาเรลไป เพราะเขาเดินมาไม่ถึง แต่โชคดีที่ทิมมี่มีพลังล้นเหลือ และเดินครอบคลุมเกือบทั้งงาน


    พอทิมมี่เดินมาฝั่งเรา เขาก็เริ่มตรงเราก่อน มือสั่นและตกใจ แต่ต้องเก็บใจไว้กรี๊ดทีหลัง ตอนนี้เวลาเหลือน้อยนิด "Can we do a selfie? เราถ่ายเซลฟี่กันได้ไหม" เรารีบถามน้อง และหยิบมือถือขึ้นมา "Yea, let's do it - ได้ ทำเลย" เขาตอบ และทำท่าชูสองนิ้วประจำตัว



    เราขอให้น้องเซ็นสมุดที่เตรียมไป และเขาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วหลังเซ็นเสร็จ กำลังลังเลว่าจะถ่ายรูปเขาจากด้านข้าง ชนิดที่ใกล้มากๆ (มากๆ) ขณะเขากำลังเซ็นให้คนถัดไปทางด้านขวาอีกสองสามคนไหม แต่ก็หยุดจ้องโหนกแก้ม และหน้าด้านข้างของเขาในระดับความชัดเกินโทรทัศน์ HD ใดๆ ไม่ได้ 

    พอยกมือถือขึ้นอีกที น้องก็เดินไกลออกไปแล้ว

    กุมใจอย่างแรงมาก

    (ทิมมี่เป็นคนแรกในสมุดของเรา แต่ก็ถือว่าคุ้มแล้วนะทริปนี้ในตอนนั้น)


    .

    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3

    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ

     
    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 

    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ




    ขอบคุณค่า

    x

    ข้าวเอง.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in