เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การเดินทางของไตPanPark Pannaros
เช็คสภาพก่อนออกเดินทาง 1
  • เวลาเราจะเดินทางไกล การเช็คสภาพเครื่องยนต์เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ 

    การบริจาคอวัยวะก็เช่นกัน

    เดือนกุมภาพันธ์ 2558 /เดือนแห่งความรัก / เดือนที่ต้องต่อสู้กับความกลัว

    ถ้าถามว่ากลัวอะไรที่สุดในชีวิตและตัดตัวเลือกจิ้งจกออกไป  ก็คงเป็น“เข็มฉีดยา” นี่แหละ

    แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ามันก็ต้องสู้ สู้ดิวะ

    “เบามือหน่อยนะคะคุณพยาบาล  พอดีกลัวเข็มมาก”  บอกไปแบบตรงๆ เผื่อเขาจะเห็นใจ


    หลังจากเขียนใบสมัครผู้บริจาคและยื่นเอกสารแบบไทยๆเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนเช็คสภาพร่างกายแบบคอมโบ หมายถึง เช็คแบบครั้งใหญ่สุดในชีวิต  (มากกว่า “หายใจเข้าและกลั้นใจอึ๊บ” แน่นอน) ใช้เวลายาวนานเพราะคิวโรงพยาบาลแน่นยิ่งกว่าเครปป้าเฉื่อย  กว่าจะเช็คครบก็ปาเข้าไป 6 เดือน แถมยังต้องเจอกับเข็มฉีดยาที่ไม่ค่อยจะญาติดีกันเท่าไหร่    สิ่งที่เราเจอในเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมี


    1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจ  หาความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ  พยาบาลจะสั่งให้เรานอนนิ่งๆ ห้ามพูดแล้วก็เอาขั้วไฟฟ้ามาติดตรงช่วงหน้าอก  ไม่มีความเจ็บปวดจากการตรวจนี้   

    ผลการตรวจ ผ่าน


    2. เอกซเรย์ทรวงอก  ก็เช็คสภาพปอดตามปกติ  วิธีการคือ  หายใจเข้าและกลั้นใจอึ๊บอยู่หน้าเครื่องเอกซเรย์ ใช้เวลาตรวจสั้นกว่าตอนเปลี่ยนเสื้อผ้าและนั่งรอตรวจ 

    ผลการตรวจ ผ่าน


    3. ตรวจเลือด  เดือนนี้เก็บเลือดไป 4 หลอด  เพื่อตรวจหาเชื้อ HIV   ไวรัสตับอักเสบ และอื่นๆ (จำไม่ได้แล้วว่าตรวจหาอะไรบ้าง)   เป็นการเจาะเลือดแบบจริงจังครั้งแรก  การคาเข็มไว้แล้วเปลี่ยนหลอดสุญญากาศ 4 ครั้ง สำหรับคนที่กลัวเข็มขึ้นสมองเป็นอะไรที่อธิบายได้ยาก  มันจะมีจังหวะเอาหลอดออกและดันหลอดเข้า  ปลายเข็มก็จะจึ๊กๆ อยู่ในแขน  แต่ด้วยพลังการขอร้องที่บอกไปข้างบน  จึงไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น  

    ผลการตรวจ ผ่าน


    4. ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง  เพื่อตรวจดูโปรตีนที่ออกมากับปัสสาวะและเช็คความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ  เป็นการตรวจที่เพิ่งเคยพบเคยเห็น  งงมากตอนที่เจ้าหน้าที่ยื่นแกลลอนจุ 1 ลิตรมาให้  พร้อมกำชับว่า “เก็บฉี่ใส่ในนี้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตื่นมาฉี่ทิ้งไปก่อนครั้งนึง  อย่าลืมเขียนด้วยว่ากี่โมงบ้าง  แล้วเอามาส่งตรงวันนัดนะ”  (ในแกลลอนจะมีน้ำยาป้องกันปัสสาวะบูดด้วย  กลิ่นฉุนๆ) ซึ่งเราได้ 2 แกลลอน เท่ากับต้องเก็บ 2 วัน  ถ้าผู้ชายมันก็ง่ายอ่ะเนอะ เลยต้องหานวัตกรรมการเก็บกรอกเอาเอง (ละไว้ให้จินตนาการเองแล้วกัน) 

    ผลการตรวจ  ผ่าน


    5. ตรวจสภาพจิต  เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้บกพร่องทางจิต  มีทัศนคติที่ดีต่อการบริจาค  ไม่ได้ถูกบังคับหรือกดดัน   ก่อนพบจิตแพทย์  จะมีแบบสอบถามเกี่ยวกับทัศนคติ  ความเครียด ชีวิตประจำวัน และอื่นๆ  ทั้งแบบตัวเลือกและเขียนตอบ  พอถึงวันนัดก็เอามาส่งและเข้าพบหมอ หมอก็จะชวนคุยเรื่องชีวิตประจำวัน ความเครียด นิสัยการดื่ม (ก็ตอบแบบอ้อมแอ้ม เพราะดื่มบ้างเวลาครึ้ม)  ทัศนคติเกี่ยวกับการบริจาค  ซึ่งการตรวจสภาพจิตทั้งผู้รับและผู้บริจาคควรจะมาตรวจพร้อมกันและพบหมอคนเดียวกัน  จะทำให้ซักถามและประเมินได้ง่ายขึ้น  

    ผลการตรวจ ผ่าน


    การเช็คสภาพผ่านไปครึ่งทาง  ยังเหลืออีกครึ่งทางที่ต้องทำให้ผลการตรวจ  ผ่าน! ผ่าน! ผ่าน! 

      

    ปล.  วิธีขจัดความกลัวเข็มฉีดยาของเรา  คือ มองมันซะ จะได้รู้ว่ามันกำลังจะเข้าไปในแขนเราแล้วนะ เลือดกำลังจะถูกดูดขึ้นมาแล้ว  พยาบาลกำลังจะเอาเข็มออกแล้วโว้ย มันให้ผลดีกว่าหลับตาแล้วจินตนาการมากๆ  จริงๆก็ยังกลัวอยู่แหละแต่ไม่มากเท่าเดิม



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in