เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมฯ (พิมพ์ III) By ชาตรี ประกิตนนทการ
  • รีวิวเว้ย (1331) ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน สมัยที่เราเข้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สอนวิชาดังกล่าวคือ "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" การเรียนวิชานั้นทำให้เราได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจหลาย ๆ เล่มโดยเฉพาะเล่มหนึ่งมนรายการหนังสือต้องอ่านมีงานเรื่อง "ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ของ ชาตรี ประกิตนทการ ประกอบอยู่ในนั้นด้วย ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้อ่านงานที่ทำเรื่องของสถาปัตยกรรมกับการเมืองไทย และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเราไม่เคยมองเห็นสถาปัตยกรรมเป็นเพียงสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียวที่ยืนโดดเดี่ยวโดยปราศจากวิธีคิดและอุดมการณ์ใด ๆ อีกเลย หากแต่งานเขียนของชาตรี ประกิตนทการ ได้เปลี่ยนวิธีในการมองสถาปัตยกรรม การรับรู้และการสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
    หนังสือ : การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ III
    โดย : ชาตรี ประกิตนนทการ
    จำนวน : 544 หน้า
    .
    "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ III" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของอุดมการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมของสยาม-ไทย ที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 และเราอาจจะเรียกงานชิ้นนี้ในฐานะของงานวิชาการชิ้นแรก ๆ ที่ทำเรื่องสถาปัตยกรรมกับความเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์ทางการเมืองของสยาม-ไทย และอาจจะเรียกได้ว่างานชิ้นนี้เป็นต้นทางของหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร และหนังสืออีกหลาย ๆ เล่มที่ตามมาในหนหลัง ข้อสำคัญของ "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ III" คือการบอกเล่าเรื่องของ (1) การเปลี่ยนผ่านจากสยามเก่าเข้าสู่สยามใหม่ นับแต่แต่ช่วงเวลาในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 กระทั่งถึงช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และอีช่วงเงลาหนึ่ง (2) นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทั่งถึง พ.ศ. 2500 โดยที่ในหนังสือเล่มนี้เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงจากสยามใหม่มาสู่ไทยใหม่
    .
    โดยวิธีการนำเสนอของ "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ III" ได้แบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมสยามสมัย ออกเป็น 5 ช่วงเวลา นับตั้งแต่ช่วงที่คติวิธีแบบไตรภูมิยังครอบทับวิธีคิดทางสถาปัตยกรรมเอาไว้อย่างชัดเจนไปจนถึงช่วงเวลาของประเทศไทยภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเนื้อหาของ "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ III" แบ่งออกเป็น 5 บทหลัก 1 บทนำ ดังต่อไปนี้
    .
    บทนำ การศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมผ่านมุมมองทางสังคมและการเมือง
    .
    (1) จากจักรวาลทัศน์แบบไตรภูมิสู่จักรวาลทัศน์สมัยใหม่แบบวิทยาศาสตร์ในสถาปัตยกรรม
    .
    (2) ความหมายทางสังคมและการเมืองในงานสถาปัตยกรรมยุคสยามใหม่
    .
    (3) รูปแบบแลพสถาปัตยกรรมเมื่อยามสนธยาของงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2453-2475)
    .
    (4) ความหมายทางสังคมและการเมืองในงานสถาปัตยกรรมภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยม (พ.ศ. 2475-2490)
    .
    (5) ความหมายทางสังคมและการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับการรื้อฟื้นรูปแบบจารีตและรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ (พ.ศ. 2490-2500)
    .
    ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของ "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ III" ที่ปรากฏอยู่ในส่วนของ "คำนำในการจัดพิมพ์ครั้งที่ III" ที่ผู้เขียนได้พูดถึงประเด็นที่ขาดหายไป หรือเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2547 ที่ในหลายบทของหนังสือที่เมื่อมาอ่านในกาลปัจจุบันแล้วอาจจะมีข้อจำกัดหรือมีหลักฐานงานศึกษาใหม่ ๆ ที่ทำออกมาเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ในมุมนี้สำหรับเราในฐานะของผู้อ่าน ต้องยอมรับผู้เขียวว่ามีความซื่อสัตย์ทางวิชาการอย่างสูงยิ่ง เพราะชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อจำกัดของงานของตนเองอย่างชัดเจน ขมวดประเด็นและช่วยบอกให้ผู้อ่านลองหางานศึกษาในหนหลังมาอ่านควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้เห็นพัฒนาและพลวัตของงานศึกษา
    .
    แน่นอนว่าการกระทำของผู้เขียนนั้นซื่อสัตย์ต่อผลงานของตนเอง เสียยิ่งกว่าอดีตนักวิชาการบางคนที่เคยสอนในห้องเรียนเอาไว้ว่า "พรรคการเมืองต้องยุบยาก" แต่ในปัจจุบันตัวของอดีตนักวิชาการคนนั้นทั้งยุบพรรค สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่และตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองหลาย ๆ คนเป็นว่าเล่น จนอดีตนักศึกษาแทบไม่มีใครกล้าเรียนคนผู้นั้นว่า "อาจารย์" ของตนอีกแล้ว หากท่านไม่ซื่อสัตย์ต่ออดีตของความเป็นนักวิชาการ อย่างน้อย ๆ ท่านควรกระดากอายต่อผลงานทางวิชาการหลาย ๆ ชิ้นที่ท่านเคยฝากเอาไว้บ้างก็ยังดี








เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in