เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ใต้เงาปฏิวัติฯ By ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์
  • รีวิวเว้ย (1316) ในยุคปัจจุบันเรารู้จัก "ภาษีมรดก" (Inheritance Tax) ในฐานะของเครื่องมือทางภาษีของรัฐไทยที่เพิ่งจะเริ่มมีการขยับอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีมานี้ (พ.ร.บ. ภาษีมรดก 2558) แต่ในคยามเป็นจริงแนวคิดเรื่องของ "ภาษีมรดก" (Death Tax) มีปรากฏขึ้นในสังคมตั้งแต่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียงไม่กี่เดือน (กันยายน 2475) ที่มาจากจดหมายของราษฎรที่ส่งถึงคณะราษฎรที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความใฝ่ฝันและความคาดหวังของราษฎรในช่วงเวลานั้นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งนอกเหนือไปจากเรื่องของการเก็บ "ภาษีมรดก" (Death Tax) ในช่วงเวลาหลังจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นราษฎรยังมีความคาดหวังและความใฝ่ฝันอีกหลายประการที่สะท้อนผ่านสิ่งที่ราษฎรส่งสารถึงคณะราษฎร ดังที่ปรากฏในรูปของจดหมายและอีกหลากหลายการแสดงออกซึ่งแสดงถึงความคาดหวังของราษฎรต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครานั้น
    หนังสือ : ใต้เงาปฏิวัติ: การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475
    โดย : ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์
    จำนวน : 296 หน้า
    .
    "ใต้เงาปฏิวัติ: การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475" หนังสือที่ปรับปรุงมาจากงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง "ความหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบการเมืองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475" ที่ว่าด้วยเรื่องของการศึกษา "ความหวัง" ของราษฎรที่มีต่อเหตุการณ์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นเมื่อ 91 ปีก่อน (2566) ซึ่งงาน "ใต้เงาปฏิวัติ: การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475" ชิ้นนี้อาจจะไม่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพของความหวังของ "ราษฎรทั้งหมด" ในช่วงเวลานั่น หากแต่เนื้อหาที่ปรากฏอยู่ใน "ใต้เงาปฏิวัติ: การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475" ก็ช่วยเปิดเผยให้เห็นว่าในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมิไดเป็นเพียงความหวังของแค่คณะราษฎรเท่านั้น หากแต่ยังมีราษฎรอีกมากที่มีความหวังและความฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสยาม
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "ใต้เงาปฏิวัติ: การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475" ให้ความสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านการศึกษาบันทึกและจดหมายที่ว่าด้วยเรื่องของผู้คนผ่านจุดเน้นใน 2 ประการได้แก่ (1) เรื่องของการสืบราชการลับ และ (2) เรื่องราวของความหวังและความฝันของราษฎรในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่เนื้อหาของ "ใต้เงาปฏิวัติ: การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475" แบ่งออกเป็น 4 บทหลัก 1 บทนำและ 1 บทสรุป ดังนี้
    .
    บทนำ
    .
    01 ก่อนรุ่งสางของวันปฏิวัติสยาม กล่าวถึงบริบทของสังคมสยามก่อนหน้าการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลง 2475 โดยบอกเล่าถึงบริบทต่าง ๆ ใรช่วงก่อนการปฏิวัติ ระหว่างปฏิวัติและหลังการปฏิวัติที่มุ่งเน้นไปที่การเล่าเรื่องของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติและตัวแสดงที่ข้องเกี่ยวกับการปฏิวัติเป็นสำคัญ 
    .
    02 จากวังไกลกังวลสู่หนทางอันยาวไกลของราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในบทนี้กล่าวถึงเรื่องเหตุการณ์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากมุมมองและบริบทภายนอกของตัวแสดงที่โคตรอยู่รายล้อมเหตุการณ์แห่งการปฏิวัติที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยในบทนี้ได้กล่าวถึงกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง การประณีประนอมกันของกลุ่มต่าง ไปจนถึงการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
    .
    03 สายลับ ข่าวลือ เขม่าปืน และความหวาดระแวง ในบทนี้ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมีกิจกรรมอย่างการสอดรู้สอดเห็นผ่านการสืบข่าว เล่าเรื่อง ทั้งในช่วงก่อน ระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในบทนี้ได้แสดงให้เห็นถึง "นาตาชา โรมานอฟฟ์" ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ที่ทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายเจ้าต่างก็มีทั้งนาตาชาและนิค ฟิวรี่ เป็นของตัวเอง
    .
    04 ความหวังนี้ฝากไว้กับระบอบการเมืองใหม่ ความในบทนี้ได้ทำหน้าที่ในการบอกเล่ากล่าวถึง ความหวัง ความฝัน และความต้องการของราษฎรที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรผ่าน "จดหมาย" ที่ราษฎรส่งถึงคณะราษฎรที่สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวัง ความฝันและความต้องการทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคมการเมือง
    .
    บทสรุป
    .
    สำหรับเราในฐานะผู้อ่าน บทที่ 04 ของหนังสือ "ใต้เงาปฏิวัติ: การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475" เป็นบทที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ (ถึงแม้ว่าเราจะชอบเรื่องลับ ๆ ของชาวบ้านแบบในบท 03 ด้วยก็ตามที) เพราะสำหรับเราแล้วบทที่ 04 "ความหวังนี้ฝากไว้กับระบอบการเมืองใหม่" ช่วยสะท้อนให้เราเห็นถึงความหวังและความฝันของราษฎรในสังคมที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเป็นแต่เพียงผู้ใต้ปกครองที่ต้องรอรับการปันผลจากสิ่งที่คนอื่นคิดว่าดีและลงมือกระทำให้ โดยที่พวกเขาไม่มีแม้กระมั่งสิทธิที่จะนำเสนอความเห็น ความหวังหรือความฝันของพวกเขา แม้ว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ความหวัง ความฝันและความต้องการของราษฎรที่ส่งสารมาถึงคณะราษฎรอาจจะไม่ได้สำเร็จเป็นดังหวังในทุกประการ หากแต่สำหรับเราแล้วบทที่ 04 เป็นหลักฐานชั้นดีที่บอกว่าในหลายหนการหล่อเลี้ยงความหวังและความฝันเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่าคือการได้แชร์ความหวังและความฝันเหล่านั้นให้ใครสักคนได้ร่วมรับรู้ และจะดียิ่ง ๆ ขึ้นไปหากความหวัง ความฝันและความต้องการที่แชร์ออกไปนั้นมีใครตัดสินใจร่วมเดินไปสู่เส้นทางนั้นด้วยกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in