เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เขียนจีนให้เป็นไทย By สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์
  • รีวิวเว้ย (1314) "ลูกจีนรักชาติ" เป็นสำนวนที่กลายเป็นที่นิยมและกลายเป็นสินค้าทางการเมือง ทั้งที่ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้า ปรากฏอยู่บนผ้าโพกหัว และปรากฏอยู่ในสินค้าอีกหลายชิ้นที่เป็นสินค้าทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการต่อสู้ทางการเมืองที่นำพาโดย "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือกลุ่มพันธมิตร หรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยในช่วง พ.ศ. 2548 และนับจากการเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สำนวนอย่าง "ลูกจีนรักชาติ" ได้กลายมาเป็นสำนวนสำคัญในการเชื่อมร้อยคน (เคย) นอก ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่แนบชิดยิ่งขึ้นในแง่ของความรู้สึกของผู้คน และนับจากนั้นมาคำว่าลูกจีนรักชาติยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องในการต่อสู้ทางการเมืองและหลายเหตุการณ์ทางการเมือง ในปัจจุบันคงมีน้อยคนที่จะตั่งคำถามต่อความเป็นอื่นของ "คนไทยเชื้อสายจีน" หรือ "คนจีนในไทย" หากแต่ย้อนกลับไปในครั้งอดีตความเป็นจีนคือสิ่งที่ถูกกีดกันออกไปให้อยู่ในอีกมุมหนึ่งของสังคม กระทั่งในครั้งอดีตการละทิ้งตีนเพื่อเป็นไทยจึงเกิดขึ้นอย่างจริงจัง
    หนังสือ : เขียนจีนให้เป็นไทย
    โดย : สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์
    จำนวน : 356 หน้า
    .
    "เขียนจีนให้เป็นไทย" หนังสือที่ช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นถึงการสร้างการเปลี่ยนผ่านทางความรู้สึก และในทางปฏิบัติ (กายภาพ) จาก "จีนสู่ไทย"  ที่แต่เดิมความเป็นจีนคือความเป็นอื่นในสังคมไทยแต่ครั้งอดีต มาสู่ความเป็นจีนไทย และมาสู่ความเป็นไทยในท้ายที่สุดที่ทาบทับลงไปในความเป็นจีน
    .
    "เขียนจีนให้เป็นไทย" แบ่งการบอกเล่าเนื้อหาออกเป็น 6 บทที่ทำหน้าที่ในการไล่เรียงประเด็นการศึกษาเรื่องของจีนในสังคมไทยผ่านการก่อตัวของชุดความรู้ทางวิชาการในภาษาไทยและในไทยที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องจีน ทั้งเรื่องของความเปลี่ยนแปลง ความรู้สึก ที่ถูกกำกับด้วยชุดความเชื่อรูปแบบหนึ่งในกลไกการศึกษาความเป็นจีนผ่านกรอบคิดของวงวิชาการไทยศึกษา โดยเนื้อหาของ "เขียนจีนให้เป็นไทย" แบ่งออกเป็น 6 บทดังนี้
    .
    (1) นวภูมิทัศน์วิชาการ : สังคมศาสตร์สงครามเย็น ไทยศึกษา และคนจีน
    .
    (2) การเดินทางของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ และหนังสือ 1 เล่ม
    .
    (3) วงวิชาการไทยที่เพิ่งสร้างในยุคสงครามเย็น : สังคมศาสตร์ไทยและการศึกษาเกี่ยวกับคนจีนในไทย
    .
    (4) และแล้ว “ชาตินิยมวิชาการ” ก็ปรากฏ : การก่อตัวของ “ชาตินิยมวิชาการ” กับการศึกษาคนจีนในประเทศไทย
    .
    (5) เมื่อชาตินิยมวิชาการมาบรรจบ : ประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการทูตวิชาการในความสัมพันธ์ไทย-จีน กับการเขียนจีนให้เป็นไทย
    .
    (6) เมื่อวัตถุวิจัยพูดกลับ : มองไปให้พ้นชาติไทยเพื่อศึกษาชาติไทย
    .
    เมื่ออ่าน "เขียนจีนให้เป็นไทย" จบลง มันชวนให้เราย้อนกลับไปคิดถึงข้อความอย่าง "ลูกจีนรักชาติ" อีกครั้งหนึ่ง เพราะ "เขียนจีนให้เป็นไทย" ได้ช่วยฉายให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความเป็นไทย และกลับไปตั้งคำถามต่อความเป็นจีนในครั้งอดีตที่ผ่านมา น่าสนใจว่าหากวงการไทยศึกษามิได้มองจีน หรือทำกับจีนดันที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของ "เขียนจีนให้เป็นไทย" น่าสนใจว่าความเป็นจีนในสังคมไทยดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันจะดำเนินไปบนเส้นทางไหนกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in