เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม By Peter A. Jackson
  • รีวิวเว้ย (1311) สมัยเข้าเรียนมหาลัยเมื่อ 10 ปีก่อน ในวิชากเรียนวิชาหนึ่งได้มีการระบุบให้อ่านเอกสารประกอบการเรียนชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า "ลัทธิบูชาเสด็จพ่อ ร.5" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เนื้อหาของหนังสือได้พาผู้อ่านไปดูปรากฏการณ์ของการบูชารัชกาลที่ 5 ที่พัฒนาไปสู่การบูชาในเรื่องของความมั่งคั่ง การค้าขายและขยายตัวออกไปในอีกหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งหนังสือเล่มดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจทั้งในเรื่องของการตีความ การสร้างความรับรู้และการตั้งคำะามต่อพัฒนาการของชุดความเชื่อหนึ่งของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้บริบทของสังคมที่ไม่มั่นคงกระทั่งนำมาสู่การสร้างภาพแทนหรือสัญญะของสิ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงให้กับตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล สำหรับในงานชิ้นดังกล่าวก็คือการเกิดขึ้นของลัทธิบูชาเสด็จพ่อ ร.5 และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเราจะเห็นได้ว่าในสังคมไทยยังมีลัทธิความเชื่อของการบูชาเกิดขึ้นมาใหม่หลายรูปแบบ อาทิ วัดท่าไม้ ศิษย์หลวงพ่อรวย มีกูไว้มึงไม่จน กูให้มึงรวย และอีกหลายรูปแบบของชุดความเชื่อที่พัฒนาต่อ ๆ มาให้หนหลัง กระทั่งเรื่องของการ "มูเต" อย่างภาพพื้นหลังโทรศัพท์ เคสโทรศัพท์ กำไร เครื่องประดับ และอีกสารพัดอย่างที่เป็นพัฒนาการของชุดความเชื่อเรื่องความมั่นคงและมั่งคั่งในสังคมไทยที่มาจากรากฐานของความเชื่อทางศาสนาที่ผูกโยงเข้ากับปัญหาความไม่มั่นคงของสังคม ที่ส่งผลให้หลายคนต้องหันไปหาที่พึ่งพิงทางใจผ่านความเชื่อ วัตถุมงคล ฯลฯ ที่ก็พัฒนาขึ้นมาจากปัญหาของสังคมที่ผนวกรวมเข้ากับการพัฒนาของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
    หนังสือ : เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม
    โดย : Peter A. Jackson แปล วิราวรรณ นฤปิติ
    จำนวน : 528 หน้า
    .
    "เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม" หนังสือที่แปลมาจาก "Capitalism Magic Thailand" ที่บอกเล่าเรื่องของธุรกิจไสยศาสตร์สมัยใหม่ของไทยผ่านแนวคิดเรื่องของ "ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง (Cults of Wealth)" ที่ได้อธิบายถึงไสยศาสตร์ไทยที่มาตากจากศาสนาไทย ที่เดิมเป็นรากฐานจากศาสนาผี ผสมรวมเข้ากับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ มาสู่รูปแบบของ "ศาสนาประชานิยม" ที่ได้ควบรวมเอาศาสนาไทย รวมเข้ากับลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื่อ ผ่านแนวคิดเรื่องของลัทธิบูชาความมั่งคั่งที่ทำให้ไสยศาสตร์ ศาสนาประชานิยมกลายมาเป็นสินค้าทางความเชื่อที่ทรงพลังและทรงมูลค่ายิ่งอีกรายการสินค้าหนึ่งของไทย
    .
    หนังสือ "เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม" เล่มนี้ได้มีการพูดถึงความสำคัญของเนื้อหาเอาไว้ดังนี้ "...หนังสือเล่มนี้มีภารกิจทางทฤษฎีที่เกาะเกี่ยวกัน 2 ประการ (1) ประการแรกคือเพื่อเสนอชุดมโนทัศน์ที่จะช่วยให้เราเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของลัทธิบูชาความมั่งคั่งในศาสนาของไทยและศาสนาพุทธโดยกว้าง (2) ประการที่สอง คือ การทำความเข้าใจว่าลัทธิพิธีหลากหลายเหล่านี้เป็นตัวอย่างของขบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์สมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในระดับโลกอย่างไร (น.19-20) ด้วยวิธีการเล่าเรื่องผ่านพัฒนาการของความเป็นสมัยใหม่ของแนวคิดทางด้านศาสนาและความเชื่อในสังคมไทย กระทั่งถึงช่วงเวลาของการพลิกกลับของค่านิยมการบูชาไสยศาสตร์ที่เกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายปัจจัยภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของบริบทต่าง ๆ ในสังคมไทยกระทั่งการกระจายตัวของชุดความเชื่อผ่านลัทธิบูชาความมั่งคั่งที่ขยายตัวออกไปไกลกว่าเส้นเขตแดนของรัฐดังที่ปรากฏอยู่ในยุคปัจจุบัน
    .
    โดยเนื้อหาของ "เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม" แบ่งออกเป็น 3 ภาค 1 บทนำ, 1 บทสรุป และ 7 บทของเนื้อหา ที่จะพาผู้อ่านย้อนไปทำความเข้าใจไสยศาสตร์กับทุนนิยมในสังคมไทยภายใต้กรอบวิธีคิดของลัทธิบูชาความมั่งคั่ง สำหรับเนื้อหาของ "เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับความเชื่อเรื่องความร่ำรวยในประเทศไทย
    .
    [ภาคที่ 1 ทำไมศาสนาสมัยใหม่มุ่งไปสู่ 2 ทิศทางที่ขัดกัน]
    .
    บทที่ 1 รากฐานนิยมทางศาสนาต่อต้านไสยศาสตร์ : ความขัดแย้งในความเป็นสมัยใหม่ทางศาสนา
    .
    บทที่ 2 นับถือพุทธในที่แจ้ง นับถือผีในที่ลับ : ความเป็นสมัยใหม่แบบกึ่งอาณานิคม (Semicolonial Modernity) และความเปลี่ยนแปลงของอาณาบริเวณศาสนาไทย
    .
    [ภาคที่ 2 ลัทธิบูชาความมั่งคั่งของไทย]
    .
    บทที่ 3 บริบท ลำดับชั้น และพิธีกรรม : การสร้างทฤษฎีศึกษาพื้นที่ศาสนาไทยอย่างเป็นองค์รวม
    .
    บทที่ 4 ลัทธิบูชาความมั่งคั่งของไทย : พระวิญญาณเจ้า พระเกจิอาจารย์ เทพเจ้าจีน และเทพเจ้าฮินดู
    .
    บทที่ 5 เครื่องรางปลุกเสกและการทรงเจ้า : มิติทางวัตถุและพิธีกรรมในลัทธิบูชาความมั่งคั่งไทย
    .
    บทที่ 6 โครงสร้างทางสัญญะของลัทธิบูชาความมั่งคั่งไทย
    .
    [ภาคที่ 3 สภาวะสมัยใหม่สร้างไสยศาสตร์อย่างไร]
    .
    บทที่ 7 ทุนนิยม สื่อมวลชน และลัทธิพิธี ในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของไทยสมัยใหม่
    .
    บทสรุป : ลัทธิบูชาความมั่งคั่งไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 21
    .
    "เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม" แสดงให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของการฉวยเอาศาสนาและความเชื่อให้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนความมั่งคั่งผ่านกลยุทธ์ในเรื่องของความเชื่อที่จับต้องได้ยาก แต่ถูกสร้างให้คนเข้าใจและรู้สึกได้ว่าสิ่งเหล่านี้นั้นมีอยู่จริงผ่านวิธีการอันแยกคายที่สังคมไทยนิยมใช้มาเนิ่นนานอย่าง "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ด้วยการขยายตัวของสังคม การพัฒนาของเทคโนโลยีและการเติบโตของวิถีของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ผสานส่งเสริมระบบทุนนิยม ยังผลให้คำว่าไม่เชื่อย่าลบหลู่ถูกใช้ในการสร้างความ "มั่นคงทางจิตใจ" ให้กับกลุ่มบุคคลผู้มุ่งหวังความมั่งคั่งที่ต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ "เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม" ช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นว่าการขึ้นมาของกระแสนิยมในพระเครื่อง เครื่องราง เทพ เทวาไม่ใช่สิ่งที่ลอยลงมาจากฟ้า หากแต่มาจากคลื่นสัญญาณของการพัฒนาในโลกยุคใหม่ ซึ่งอาจจะลอยลงมาจากฟ้าหรืออาจจะมาจากสาย Fiber Optic (ไฟเบอร์ออปติก) ก็ได้เช่นเดียวกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in