เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
คลองถมโทเปีย By ทิตยา ลิม
  • รีวิวเว้ย (1404) "คลองถม" เป็นย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่เรียกได้ว่าเป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ที่อาจจะย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงต้นยุคนัตนโกสินทร์และทวีบทบาทมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการตัดถนน รวมถึงการอพยพเข้ามาของคนจีนที่มีจำนวนมากขึ้นกระทั่งมีการขยับขยายออกมาจากย่านเยาวราช คลองถมจึงกลายเป็นหนึ่งในย่านสำคัญมาตั้งแต่ครั้งอดีตกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในย่านสำคัญที่มีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งเรื่องของการประกอบธุรกิจและเรื่องของพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์ที่ทาบทับอยู่บนพื้นที่ย่านคลองถม
    หนังสือ : คลองถมโทเปีย
    โดย : ทิตยา ลิม
    จำนวน : 224 หน้า
    .
    หลายคนน่าจะพอได้ยินคำว่า "โทเปีย (topia)" ผ่านหูผ่านตามาบ้างจากหนังสือ Utopia ของ ทอมัส มอร์ หรือบางคนอาจจะเคยได้ยินมาจาก Zooptopia ของดีสนีย์ หรือชนิดของหนังหรือหนังสือนิยายที่ว่าด้วยเรื่องของ Distopia อย่างหนังวันสิ้นโลกหรือซอมบี้บุกโลก หากแต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณารากขอคำว่า "topia" เราจะพบว่ามันมาจากรากของคำว่า tópos ในภาษากรีกซึ่งหมายคงามถึง "สถานที่" ดังนั้นโทเปียคือคำที่ขยายให้เห็นสถานที่ ย่าน หรือสังคมหนึ่ง ๆ
    .
    "คลองถมโทเปีย" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ "สถานที่" อย่าง "คลองถม" ผ่านวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัย กิน อยู่ หลับ นอน อยู่ในพื้นที่ย่านคลองถม ย่านการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยการบอกเล่าผ่านเรื่องของ "บุคคล" ที่อาศัยอยู่โดยรอบย่านคลองถม ทั้งคนค้าขาย แรงงานแบกหาม คนจีนอพยพ ร้านค้า และอีกหลากหลายผู้คนที่ล้วนประกอบสร้างให้คลองถมกลายมาเป็น "คลองถมโทเปีย"
    .
    โดยเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่ปรากฏใน "คลองถมโทเปีย" นั้นเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนผ่านความทรงจำ หากเรียกในแบบของนักมนุษยวิทยาคงเรียกได้ว่า "คลองถมโทเปีย" เป็นบันทึกภาคสนามที่มาจากประสบการณ์จริงของผู้ศึกษา เพราะเรื่องเล่าต่าง ๆ ในเล่ม ล้วนเป็นผลจากการจุ่มตัวของผู้เขียนแทบทั้งสิ้น ทั้งการพาตัวเองไปอยู่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากการบันทึกปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์และทั้งจากการ "สอดส่อง" อย่างเอาใจใส่ของผู้เขียนที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในย่าน "คลองถมโทเปีย"
    .
    "คลองถมโทเปีย" มิใช่หนังสือวิชาการทางด้านมนุษยวิทยา สังคมวิทยา แต่ประการใด หากแต่ "คลองถมโทเปีย" ทำหน้าที่ในการบอกเล่าและบันทึกเรื่องราวของผู้คนในย่านคลองถม ณ ช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างดีและบันทึกได้อย่างน่าสนใจ เพราะเมื่อเราตั้งใจอ่านเอาความจาก "คลองถมโทเปีย" เราจะพบว่าเนื้อหาในหนังสือคือการบอกเล่าเรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมหนึ่ง ๆ ที่ยากที่เรื่องราวและเรื่องเล่าของพวกเขาจะปรากฏในงานศึกษาทางวิชาการที่มีขนบประเพณีและระเบียบวิธีวิจัยกำกับ หากแต่สิ่งที่ปรากฏใน "คลองถมโทเปีย" คือการบอกเล่าเรื่องราวของคนและย่านได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งช่วยให้คนที่สนใจในเรื่องของเมืองและเรื่องของ "คนอื่น" ได้ประโยชน์ 2 ต่อในเวลาเดียวกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in