เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
สังคมศึกษาทะลุกะลา By คณะนักเขียน
  • รีวิวเว้ย (1394) ย้อนกลับไปเมื่อหลาย 10 ปีก่อน ในห้องเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ที่เด็กนักเรียนทั้งห้องถูกเรียกขานว่า "ห้องโครงการวิทยาศาสตร์" วันหนึ่งในคาบเรียนวิชาสังคมเด็กวิทย์ต่างพากันตั้งคำถามว่า "ห้องโครงการวิทย์-คณิต แบบพวกเราจะเรียนวิชาสังคมไปทำไม ?" คำตอบของคำถามมีหลากหลายกระทั่งเมื่อถึงตอนท้ายของบทสนทนาคำตอบมุ่งไปในเส้นทางเดียวกันว่า "เพื่อให้คะแนนสังคมเป็นตัวตัดคณะที่พวกเราจะได้เรียน เพราะเด็กวิทย์ส่วนมากจะอ่อนสังคม" เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เราอยากชวนทุกคนมองย้อนกลับไปในวันที่ตัวเองนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียน เรามองวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ไปในแนวเดียวกันรึเปล่า เพราะสำหรับเด็กสายวิทย์แล้ววิชาสังคมเป็นเพียงองค์ประกอบในการช่วยหรือตัดคะแนนในตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เท่านั้น โดยส่วนตัวเราในฐานของเด็กห้องโครงการวิทยาศาสตร์ที่ดันเอาดีทางสังคมศาสตร์ ในช่วงเวลาหลาย 10 ปีที่แล้ว ก็มองวิชาสังคมในห้องเรียนของโรงเรียนไทยไม่ต่างกัน กระทั่งเมื่อเข้าเรียนในคณะสายสังคมศาสตร์ ในระดับมหาวิทยาลัย เราเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า "ทำไมโรงเรียนถึงไม่สอนเนื้อหาแบบที่เขาสอนกันในมหาวิทยาลัย" ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ววิชาสังคมศาสตร์ในโรงเรียน อาจจะไปได้ไกลกว่าแค่การท่องจำว่า พ.ศ. ไหนใครทำอะไร วันนี้เป็นวันของใคร และมือที่มองไม่เห็นทำไมถึงมองไม่เห็น ทั้งที่ในความเป็นจริงวิชาสังคมศาสตร์ในโรงเรียนควรที่จะถูกวางในฐายะวิชาพื้นฐานเพื่อให้ผู้เรียนนำไปต่อยอดใช้งานในอนาคต มากกว่าการสอนให้ท่องและจำ จนผู้เรียนหลายคนเกิดข้อสงสัยว่าเราจะรู้เรื่องนี้ไปทำไมกัน
    หนังสือ : สังคมศึกษาทะลุกะลา
    โดย : คณะนักเขียน
    จำนวน : 376 หน้า
    .
    หลายวันก่อนเห็นคนรีวิวหนังสือเล่มนี้เอาไว้สั้น ๆ แต่น่าสนใจว่า "หน้าปกนานมี แต่เนื้อหาฟ้าเดียวกัน" ข้อความนั้นทำให้เราเกิดคำถามในใจว่า "จริงหรอ" และเมื่อได้อ่าน "สังคมศึกษาทะลุกะลา" ทำให้เราพบว่าอันที่จริงหนังสือ "สังคมศึกษาทะลุกะลา" อาจจะมีหน้าปกแบบนานมี แต่เนื้อหาอาจจะไม่ใช่ฟ้าเดียวกันเสียทีเดียว เพราะในหลายหนหนังสือหลายเล่มของฟ้าเดียวกันคือการชี้ให้เห็นเหตุการณ์ ผลสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์และการวิพากษ์สังคม ซึ่ง "สังคมศึกษาทะลุกะลา" มีเนื้อหาในลักษณะนั้นจริงอยู่ หากแต่ความแตกต่างของ "สังคมศึกษาทะลุกะลา" คือการนำเสนอทางออกของปัญหาและความหวังของการปรับปรุงรูปแบบของการศึกษาในวิชาสังคมศึกษาไว้ด้วยในคราเดียวกัน
    .
    "สังคมศึกษาทะลุกะลา" มุ่งนำเสนอความคิด ข้อเท็จจริง และวิางที่เกิดขึ้นกับการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาในโรงเรียนไทย ที่หลักสูตรแกนกลางให้ความสำคัญกับบางเรื่องและละเลยในหลาย ๆ เรื่องที่ผู้เรียนสมควรจะได้เรียนรู้ โดยที่ความพยายามของ "สังคมศึกษาทะลุกะลา" คือการชี้ให้เห็นช่องวางและช่องโหว่ ผ่านสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ขาดหาย และช่วยอุดช่องว่างเหล่านั้นด้วยสิ่งที่สมควรต้องมีในหลักสูตรสังคมศึกษาในระบบการศึกษาแบบไทย
    .
    โดยเนื้อหาของ "สังคมศึกษาทะลุกะลา" แบ่งออกเป็น 3 ภาค ซึ่งในแต่ละภาคจะนำเสนอบทความที่เชื่อมโยงกันเอาไว้ตามหัวข้อหลักของภาคต่าง ๆ ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และเป็นไป สิ่งที่สากลโลกมีและระบบการศึกษาวิชาสังคมของรัฐไทยจำเป็นต้องไปให้ถึง และทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยความหวังและความท้าทายที่มีให้กับระบบการศึกษาวิชาสังคมในโรงเรียนไทย สำหรับเนื้อหาของ "สังคมศึกษาทะลุกะลา" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ
    .
    [ภาค 1 ชำแหละกะลา]
    .
    สังคมศึกษาในยุคเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน: การสอนเพื่อช่วงชิงความหมายจากเส้นเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่เส้นทางประชาธิปไตย -- อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล
    .
    กษัตริย์นิยมในสังคมศึกษา พระราชอำนาจนำในหลักสูตรและข้อสอบโอเน็ต -- ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
    .
    ทบทวนการสอนกฎหมายในวิชาสังคมศึกษาผ่านม่านนิติ (อ) ธรรม -- รพีพรรณ จักร์สาน
    .
    [ภาค 2 ส่องนอกกะลา]
    .
    แนวคิดหลังอาณานิคมกับการสอนสังคมศึกษา: กรอบแนวคิดและแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพลเมืองโลก -- ออมสิน จตุพร
    .
    การสืบสอบเชิงปรัชญาในฐานะ "ทางเลือก" และ "ทางออก" ของชั้นเรียนสังคมศึกษา -- ภี อาภรณ์เอี่ยม
    .
    ที่ใดมีเรื่องเล่า ที่นั่นมีสังคมศึกษา -- อรรถพล ประภาสโนบล
    .
    [ภาค 3 ทะลุกะลา]
    .
    สังคมศึกษาเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม -- ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
    .
    เปลี่ยนยาขมให้อมหวาน: สอนวิชาศาสนาด้วยการถกเรื่องความเป็นธรรมและพลเมืองโลก -- ธนัญญา ต่อชีพ
    .
    สังคมศึกษาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่ -- ปาริชาต ชัยวงษ์
    .
    สู่ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต -- ภาคิน นิมมานนรวงศ์
    .
    ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน หากรัฐไทยตื่นตัวในด้านวิชาสังคมศึกษา อย่างที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน คำถามที่เราถาม ๆ กันว่า "พวกเราเรียนสังคมไปทำไม" อาจจะไม่ถูกถามขึ้นในห้องเรียนเหมือนครั้งอดีต และน่าสนใจว่าหากรากฐานของการศึกษาสังคมศึกษาในโรงเรียนไทย ดำเนินไปตามแนวทางในหลายบทที่ปรากฏอยู่ใน "สังคมศึกษาทะลุกะลา" ไม่แน่ว่าในตอนนั้นเราอาจจะได้บุคลากรสายสังคมศาสตร์เพิ่มขึ้น เพราะเด็กทุกคนจะได้รับรู้ในความหลากหลายของสังคม รับรู้ในความหลากหลายของโลก และรับรู้ในความหลากหลายของความเป็นมนุษย์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in