เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
The Last Hero By วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
  • รีวิวเว้ย (1360) "ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษาแม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้" (สืบ นาคะเสถียร) ทำไมการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในสังคมมนุษย์ในหลายครั้งหลายหนมันถึงต้องแลกมาด้วยชีวิตของใครบางคนเสมอ (หรือสิ่งมีชีวิตบางอย่าง) เคยมีคนบอกเอาไว้ว่าเพราะความดราม่าและความสะเทือนใจจากการสูญเสียไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กในหลายหนมันส่งผลต่อความรู้สึกให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คำถามคือหากเป็นเช่นนั้นจริงจะต้องมีชีวิตอีกกี่ชีวิตที่ต้องถูกสังเวยให้กับการเรียกร้องการเปงี่ยนแปลง ทำไมสังคมมนุษย์มันถึงจำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนไปด้วยเหตุการณ์เลวร้ายเพื่อให้ผลสุดทเายตอนปลายเป็นเรื่องที่ดี ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ อย่างการตายของ "สืบ นาคะเสถียร" ที่เกิดขึ้นเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 1 กันยายน 2533 อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (ในครั้งนั้น) ไม่ผลักภาระด้วยการบอกกับสือว่า "คุณต้องทำงานให้หนักกว่านี้" การตายของสืบส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่จะดีกว่าไหมถ้าสังคมเปลี่ยนไปได้โดยที่ยังมีคนที่มีพลัง มีความสามารถและมีใจรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ได้อยู่เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องที่พวกเขาเหล่านั้นให้ความสำคัญ ความตายในผืนป่าเมื่อ 33 ปีก่อน (2566) ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอย่างยิ่งใหญ่ก็จริงอยู่ แต่ในเช้าวันเดียวกันนั้นความสูญเสียที่ใหญ่ยิ่งและสำคัญก็ได้เกิดขึ้นกับครอบครัว ครอบครัวหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน และสังคมไทยเองก็สูญเสียกำลังสำคัญไปในย่ำรุ่งของวันนั้นด้วยเหมือนกัน
    หนังสือ : The Last Hero
    โดย : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
    จำนวน : 180 หน้า
    .
    "The Last Hero" หรือชื่อรองในภาษาไทยว่า "ชีวิตและความตายของลูกผู้ชายชื่อ สืบ นาคะเสถียร" หากจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ก็ไม่ผิด เพราะก่อนหน้า "The Last Hero" เคยถูกพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่งโดยสำนักพิมพ์ a book และในครั้งนี้ "The Last Hero" ถูกนำกลับมาพิมพ์อีกครั้งโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
    .
    สำหรับเนื้อหาของหนังสือ "The Last Hero" แบ่งออกเป็น 9 บทที่ร้อยเรียงและบอกเล่าประวัติชีวิต ความคิด การทำงานของสืบ นับตั้งแต่ก่อนที่เขาจะกลายมาเป็นนักอนุรักษ์ จนถึงวันที่ลมหายใจสุดท้ายถูกดับลงเพื่อส่งเสียงให้ดังก้องไปทั่วประเทศ และในส่วนท้ายของหนังสือยังได้มีการถอดเอาข้อเขีบนของสืบ ที่ผลักดันให้ห้วยขาแข่งได้ยกฐานะขึ้นเป็นมรดกโลกมารวมไว้ในส่วนท้าย โดยใช้ชื่อบทว่า "มรดกทางธรรมชาติของโลก พินัยกรรมชิ้นสุดท้าย สืบ นาคะเสถียร"
    .
    "The Last Hero" ย้ำเตือนกับเราทุกครั้งที่เปิดอ่านว่า "คนธรรมดาเปลี่ยนโลกได้" แต่ในหลายหนมันแลกมาด้วยทุกสิ่งทุกอย่างของคนธรรมดา ๆ คนหนึ่งของสังคม หากแต่จะดีกว่ามากถ้าความเปลี่ยนแปลงในสังคมหนึ่ง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการสูญเสีย หากเราให้ความสำคัญ ให้ความสนใจและใส่ใจต่อการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยเฉพาะในประเด็นที่ทุกคนควรร่วมรับผิดชอบไปด้วยกัน ความตายของสืบ คงไม่เกิดขึ้นถ้าในเวลานั้นมีใครเห็นความสำคัญและให้ความสนใจในสิ่งที่สืบพูดตลอดมา "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า เพราะพวกเขาพูดเพื่อปกป้องตัวเองไม่ได้" เพราะเหตุนั้นความตายจึงส่งเสียงพูดสุดท้ายแทนสืบและสิ่งที่เขารัก
    .
    "ความตายเป็นเพียงสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อหลุดพ้นจากความเจ็บปวด ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเจ็บปวดทางร่างกายอาจเป็นความรู้สึกภายในใจ แล้วเราก็ หยิบสิ่งที่ธรรมชาติให้มา ดำเนินการหยุดยั้งความเจ็บปวดนั้น อะไรคือความเจ็บปวดของผู้ชาย ชื่อ สืบ นาคะเสถียร ?" (น. 34) 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in