เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ (พิมพ์ 2) By ประจักษ์ ก้องกีรติ
  • รีวิวเว้ย (1354) หลายปีมานี้นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2562 กระทั่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เราจะพบเห็นได้จนชินตาและชินหู คือ เรื่องของการฉวยใช้ ช่วงชิง บิดเบือน ผ่านการสร้างความชอบธรรมบางประการผ่านการสร้างคำใหม่หรือสร้างคำที่มีความหมายใหม่ขึ้นมา อาทิ "เผด็จการประชาธิปไตย" หรืออย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือการช่วงชิงความหมายในกรณีของการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่จะมีที่มาจากการเลือกตั้ง 100% นั้นเทียบได้และเท่ากับ "เผด็จการเสียงข้างมาก" ฐานะของนักเรียนรัฐศาสตร์หลายปีมานี้การตามข่าวการเมือง การติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ของการ "บิดผันความหมาย" ของคำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่ถือครองหรือยึดกุมความหมายของคำเหล่านั้น ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะถ้าย้อนกลับไปอ่านงานเก่า ๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของคำ ภาษาและความหมาย เราจะเห็นการช่วงชิงการแปลความจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่หนหลังนี้เองที่การช่วงชิงความหมายจากไทยเป็นไทยดูจะหนักข้อขึ้นทุกวัน ดังนั้นการมีความรู้เอาไว้บ้างว่ารากฐาน ที่มา ความหมายของคำต่าง ๆ คืออะไร จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะอย่างน้อย ๆ มันจะช่วยให้เราเข้าใจในความหมายของสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ มันจะได้ไม่ผิดฝาผิดตัวแบบ "เผด็จการประชาธิปไตย"
    หนังสือ : ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ (พิมพ์ 2)
    โดย : ประจักษ์ ก้องกีรติ
    จำนวน : 200 หน้า
    .
    "ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ (พิมพ์ 2)" หนังสือที่บอกเล่าและว่าด้วยเรื่องราวของ ปรากฏการณ์ "ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์ (Democracy with Adjective)" ซึ่งประชาธิปไตยแบบมีคุณศัพท์นั้นคือการขยายเขตแดนความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่ถูกฉวยใช้ออกไปกระทั่งประชาธิปไตยมีหลากความหมายและหลายรูปแบบ เสียจนในบางคำคุณศัพท์เรากลับไม่แน่ใจเสียด้วยซ้ำว่าคำเหล่านั้นยังคงความหมายของคำที่เชื่อมโยงกับคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่เป็นต้นธารของความหมายของคำได้อยู่อีกหรือไม่
    .
    สำหรับการจัดหมวดหมู่ในการนำเสนอเนื้อหาของ "ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ (พิมพ์ 2)" ในหนังสือเล่มนี้ มีการแบ่งหมวดหมู่ของการบอกเล่าเนื้อหาเอาไว้ใน 2 ส่วนหลัก อันได้แก่ (1) การกล่าวถึงความหลากหลายของ "ระชาธิปไตย" ในโลกสมัยใหม่ ผ่านคำบรรยายสั้น ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตของเรื่องดังกล่าว ได้แก่ การเมืองและความหลากหลายของคำนิยามประชาธิปไตย และ การอธิบายถึง "ประชาธิปไตยที่มีคุฯศัพท์" ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของคำคุณศัพท์ (2) ในส่วนนี้มีการรวบรวมและบอกเล่าเรื่องของคำ "ประชาธิปไตย" ที่มีคำคุณศัพท์ ตามท้าย บ้างก็ห้อยไว้ก่อนหน้า จำนวนกว่า 50 คำ อาทิ ประชาธิปไตยแบบไทย ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ประชาธิปไตยท้องถิ่น และอื่น ๆ
    .
    "ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ (พิมพ์ 2)" ทำให้เราในฐานะของผู้อ่านได้ทำความเข้าใจในเรื่องของ "รูปแบบ" และ "ความหลากหลาย" ของคำว่าประชาธิปไตยที่ในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ "ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์ (Democracy with Adjective)" กำลังทวีความหลากหลายขึ้นในทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่าตัวอย่างของคำที่ปรากฏใน "ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ (พิมพ์ 2)" ไม่สามารถครอบคลุมความมีพลวัตของคำที่เกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา หากแต่หนังสือเล่มนี้ก็บอกกับเราโดยนัยว่าประชาธิปไตยต่อให้มีคุณศัพท์ตามท้าย มันก็จะมีอะไรบางอย่างในรากของคำที่ยังยึดโยงอยู่กับ "ประชา" และ "อธิปไตย" 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in