เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย By ลดาวัลย์ ไข่คำ
  • รีวิวเว้ย (1348) "พวกคุณขโมยความฝันและวัยเด็กของฉันไปด้วยคำพูดที่เลื่อนลอย แต่ฉันก็ยังถือว่าโชคดี...ผู้คนกำลังเผชิญความทุกข์ยาก ผู้คนกำลังล้มตาย ระบบนิเวศกำลังล่มสลาย" -- เกรียตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ในวันที่เกรียตา ประกาศข้อความดังกล่าวเธอมีอายุเพียง 16 ปี (2019) น่าแปลกใจที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมและความล่มสลายของระบบนิเวศที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจาก "มนุษย์" ที่ได้สร้างนวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ สร้างความสะดวกสบายและอีกสารพัดการอ้างเพื่อการกระทำภายใต้คำว่า "การพัฒนา" หากย้อนกลับไปมองในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เราจะพบว่าการพัฒนาของมนุษย์ได้สร้างหายนะ ทิ้งเศษซากของการพัฒนาผ่านอารยธรรม และได้ทำลายหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้ความเจริญก้าวหน้าเกิดขึ้น หากพิจารณาแค่การสูญสิ้นสายพันธุ์ของพืชและสัตว์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 18 สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์จากการกระทำของมนุษย์ และมีรายงานว่าในระยะใกล้จะมีอย่างน้อยอีก 8 สายพันธุ์ (สัตว์) ที่จะต้องพบกับกาลอวสานจากฝีมือของมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน มนุษย์สร้างสรรค์ พัฒนา และยกระดับสังคมมนุษย์ขึ้นมาจนกระทั่งในโลกยุคปัจจุบัน (2023) ถูกขนานนามอย่างเป็นทางการว่า "Anthropocene" หรือ "ยุคสมัยที่มนุษย์เป็นใหญ่"
    หนังสือ : การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย
    โดย : ลดาวัลย์ ไข่คำ
    จำนวน : 180 หน้า
    .
    "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" ในชื่อภาษาอังกฤษว่า "Eco-Politics in the Anthropocene" หนังสือที่เราขอนานนามแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ การเมือง-สิ่งแวดล้อม ในกาลสมัยที่มนุษย์ครองโลก เพราะหนังสือมุ่งเน้นไปที่เรื่องของความเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศและสิ่งแวดล้อมที้เกิดขึ้นอันเป็นผลโดยตรงจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งจากการพัฒนา การขยายตัวของขนสดประชากร การเพิ่มขึ้นของเมือง การเกิดขึ้นของภัยพิบัติ และรวมไปถึงความพยายามในการเข้าแทรกแซงแก้ไขความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกทางการเมือง ทั้งกลไกเชิงสถาบัน กลไกระหว่างประเทศ และกลไกของมนุษย์ที่ตระหนักในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังทวีปัญหาและความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งในยุคสมัยที่มนุษยครองโลก
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" ถูกแบ่งออกเป็น 1 บทนำที่ว่าด้วยเรื่องของการบอกเล่าให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่า "การเมืองเชิงนิเวศ" คืออะไร สำคัญและจำเป็นอย่างไรที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ และอีก 1 บทสรุปที่ว่าด้วยเรื่องของ "การเมืองเชิงนิเวศ" ที่ผู้เขียนตั้งใจที่จะขมวดเอาความรู้ ความสำคัญและความจำเป็นของการเมืองเชิงนิเวศดังที่ได้ปรากฏมาในหลายบทก่อนหน้ามาย้ำให้ผู้อ่านได้เห็นและเข้าใจในความสำคัญของเรื่องดังกล่าว อีกทั้ง "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" ยังประกอบไปด้วยบทต่าง ๆ อีก 10 บท ที่เนื้อหาในแต่ละบทนั้นมีความชัดเจนและมีการขมวดปมเพื่อสรุปความเข้าใจให้กับผู้อ่านในตอนท้ายของแต่ละบท เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในเรื่องราวและเนื้อหาในแต่ละบท โดยที่เนื้อหาของ "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" แบ่งได้ดังนี้
    .
    บทนำ การเมืองเชิงนิเวศ
    .
    บทที่ 1 สถาบันในการเมืองเชิงนิเวศ
    .
    บทที่ 2 มนุษยสมัย
    .
    บทที่ 3 การเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม
    .
    บทที่ 4 การเมืองเชิงนิเวศระดับโลก
    .
    บทที่ 5 การเมืองเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    .
    บทที่ 6 การเมืองเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ
    .
    บทที่ 7 การเมืองเรื่องน้ำ
    .
    บทที่ 8 การเมืองเรื่องมลพิษทางอากาศ
    .
    บทที่ 9 การเมืองเรื่องขยะ
    .
    บทที่ 10 การพัฒนาที่ยั่งยืน
    .
    บทที่สรุป การเมืองเชิงนิเวศ
    .
    "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" ช่วยย้ำเตือนกับเราในฐานะผู้อ่านอยู่ 2 เรื่องสำคัญ คือ (1) หากผู้อ่านเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ เราจะพบว่าแท้จริงแล้วการถามว่า "ขอบเขต" ของเนื้อหาของวิชารัฐศาสตร์หยุดอยู่ที่ตรงไหน "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าขอบเขตและพรมแดนความรู้ของรัฐศาสตร์ขยายและปรับตัวอยู่เสมอตราบใดที่มนุษย์ยังคงมีกิจกรรมและสร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งอื่น ๆ ในจักรวาลนี้ พรมแดนความรู้จะขยายตัวต่อไปและต่อไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่เผชิญการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (sixth mass extinction) และ (2) "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" กระตุ้นเตือนให้เรากลับไปมองดูเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในเรื่อของธรรมชาติ นิเวศวิทยา และโครงสร้างทางการเมือง สถาบัน กฏระเบียบ การเมืองโลกแลพอื่น ๆ ว่าที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการเมืองเชิงนิเวศ และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือสิ่งที่ "การเมืองเชิงนิเวศในมนุษยสมัย" คือการตั้งคำถามตัวโต ๆ ว่าแล้วรัฐไทยจัดการในเรื่องของการเมืองเชิงนิเวศอย่างไร และจะทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ และหากเอาการเมืองเชิงนิเวศมาผูกโยงเข้ากับบริบทอื่น ๆ อาทิ การกระจายอำนาจ การเมืองเชิงนิเวศจะทำให้รัฐไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและในอนาคตการเมืองเชิงนิเวศก็จะยิ่งท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in