เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เผยแพร่ (publicity)phraeread
กาแฟแม่ลัว ธุรกิจที่เปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชน
  • กาแดงดอยลัวคอฟฟี่ฟาร์ม กาแฟ (พึ่ง) เทวดาที่มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่ลัว จังหวัดแพร่



    อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณดื่มกาแฟ


    ว่ากันว่าชีวิตเราขับเคลื่อนด้วยกาแฟ – เครื่องดื่มรสขมผสมคาเฟอีนที่นิยมดื่มทั่วโลก ถ้าให้ตอบคำถามข้างต้น คำตอบก็คงเป็นเพราะตลอดชีวิตของมนุษย์เรามีกาแฟเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ ตั้งแต่วัยนักเรียน/นิสิตนักศึกษา สิ่งที่ช่วยขยายเวลาการอ่านหนังสือในตอนกลางคืนก็คือกาแฟ วัยทำงาน กาแฟแทบจะกลายเป็นยาที่ช่วยกระตุ้นให้สมองตื่นตัวในตอนเช้าของทุกวัน หรือแม้กระทั่งในวัยสูงอายุบางคนก็ดื่มกาแฟทุกวันเพื่อให้ร่างกายมีแรงต่อ เรียกได้ว่านอกจากน้ำเปล่าแล้ว เครื่องดื่มที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ก็คงจะหนีไม่พ้นกาแฟนี่แหละ


    เมื่อไม่กี่ปีมานี้ กาแฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟผุดขึ้นทั่วประเทศราวกับดอกเห็ด เทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือเปิดเหมือนเป็นร้านสะดวกซื้อชื่อดังที่ทุกซอยจะต้องมีหนึ่งร้าน อาจเพราะเป็นธุรกิจที่โตไว มั่นคง และได้กำไรสูง ก็อย่างที่บอกไป คุณบอกลากาแฟได้ไม่เกินสองสามวันหรอก


    ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านกาแฟที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ เหล่าเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้วหันมาสนใจปลูกกาแฟมากขึ้น แม้ธุรกิจร้านกาแฟจะเป็นธุรกิจที่ง่ายและเร็ว แต่การปลูกกาแฟนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะการปลูกกาแฟอย่างไรให้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งยังถูกปากผู้บริโภค


    ยามเช้าวันนี้เราได้เดินทางออกจากใจกลางอำเภอเมืองมาประมาณ 30 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปทางบ้านสวนเขื่อน ผ่านวัดพระธาตุอินแขวนจำลอง ไต่ตามไหล่เขาบนทางที่ค่อนข้างอันตรายที่หากใครไม่คุ้นทางต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ มาถึงบ้านแม่ลัวที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึงเกือบ 1,000 เมตร หมู่บ้านเล็กๆ ที่ปกคลุมด้วยไอหมอกหนาทึบและควันจากกองไฟผสมเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก ไม่นานนักก็เดินทางมาถึงบ้านไม้ขนาดกะทัดรัดของลุงเกษม กาแดง–เกษตรกรเจ้าของกาแดงดอยลัวคอฟฟี่ฟาร์ม ผู้ที่จะพาเราไปรู้จักกับกาแฟสดที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับหมู่บ้านแห่งนี้




    ผู้บุกเบิกการปลูกกาแฟ


    เมื่อ 30 กว่าปีก่อน กาแฟอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัวและมีรสนิยม ยิ่งพูดถึงชาวบ้านต่างจังหวัดธรรมดาๆ ที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรชาวไร่แล้วนั้นก็ยิ่งเป็นไปได้ยากที่พวกเขาจะรู้จัก ขณะนั้นลุงเกษมปลูกเมี่ยงขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ได้ริเริ่มการปลูกกาแฟโดยการขอแบ่งต้นกล้าจากเกษตรเพื่อมาทดลองปลูกในไร่ของตนเอง


    “ก่อนหน้านั้นทำเมี่ยง ปลูกเมี่ยง เก็บเมี่ยง คือเมื่อก่อนคนนิยมกินเยอะก็ขายดีอยู่ แต่มาช่วงหลังๆ ไม่ค่อยได้ขายเพราะว่าเขาพัฒนาไปกินอย่างอื่น เมี่ยงก็ไม่ค่อยกินแล้ว ก็เลยมาคิดดูว่ากาแฟที่เราปลูกนี่เขากินทั่วโลก เราจะทำยังไงให้ได้สู่ตลาดสากล ก็เลยไปเรียนรู้ที่เชียงใหม่กับหลาน ไปเรียนรู้จากนักวิชาการอินโดนีเซียมาให้ความรู้การทำกาแฟ ปลูกยังไง ขั้นตอนยังไง ดูแลยังไง ให้น้ำให้ปุ๋ยยังไง”



    ลุงเกษมกล่าวว่าก่อนหน้านั้นไม่รู้จักว่ากาแฟสดคืออะไร เพราะตนเคยดื่มแค่กาแฟซอง ซึ่งทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ กาแฟซองที่ขายตามร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตจะผสมพวกครีมเทียมและน้ำตาลงไปเพื่อให้ได้รสชาติที่อร่อย ในขณะที่กาแฟสดจะไม่ผสมสิ่งเหล่านั้น เมื่อลุงเกษมได้ดื่มกาแฟสดก็รู้สึกว่ากาแฟที่แท้จริงต้องเป็นแบบนี้ หลังจากนั้นก็หันมาดื่มกาแฟสดเพื่อสุขภาพที่ดีของตน


    เมื่อถามถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ได้ลองดื่มกาแฟสด “ตอนนั้นจะรู้ด้วยตัวของเราเอง กินแบบนี้มันเป็นแบบนี้ กินกาแฟซองถ้าวันไหนเราไม่ได้กินใจเราจะสั่น แตกต่างกันตรงนี้ แต่ถ้ากาแฟสดเราจะกินก็ได้ไม่กินก็ได้ กาแฟสดมันทำให้สุขภาพเรากระชุ่มกระชวยแต่ไม่ถึงกับติดงอมแงม” ลุงเกษมตอบ


    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กาแฟก็สร้างรายได้ให้ลุงเกษมมาตลอด 30 ปี แต่อะไรที่ทำให้กาแฟแม่ลัวแห่งนี้แตกต่างจากที่อื่น ลุงเกษมก็พร้อมตอบคำถามนี้อยู่แล้ว



    กาแฟแม่ลัว กาแฟจากธรรมชาติแท้ 100%


    ณ กาแดงดอยลัวคอฟฟี่ฟาร์มแห่งนี้ ลุงเกษมใช้พื้นที่ร่วม 6-7 ไร่ในการปลูก โดยปลูกทั้งพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า อย่างไรก็ตามลุงเกษมเพิ่มเติมว่าหากพูดถึงความอร่อยแล้วต้องเอนไปทางอาราบิก้ามากกว่าเพราะมีความนุ่มและหอม อาจเพราะเป็นพันธุ์ที่ขึ้นกับความสูงของพื้นที่จึงทำให้บอดี้ของกาแฟออกมาอร่อย ในขณะที่โรบัสต้าปลูกได้ทุกพื้นที่แต่รสชาติอาจจะยังสู้อีกฝ่ายไม่ได้นัก



    สิ่งที่ทำให้กาแฟแม่ลัวแตกต่างจากกาแฟที่อื่น “คือปลอดสารเคมี จะบอกว่าออร์แกนิกจริงๆ ก็ไม่ใช่ แต่แตกต่างกันตรงกาแฟแม่ลัวส่วนมากจะไม่ใช้ปุ๋ย พื้นที่แม่ลัวจะไม่มีสารเคมี ไม่มียาฆ่าหญ้า ไม่มีปุ๋ยเคมี หมุนเวียนธรรมชาติ จะมีแค่ปุ๋ยธรรมชาติ อย่างมากก็ใส่ขี้วัว เพราะฉะนั้นรสชาติที่กินก็คือรสชาติธรรมชาติ ไปที่อื่นเขาจะเล่นปุ๋ย เล่นยาพืช การสุกจะต้องมีสารเร่งให้สุกพร้อมกัน บ้านเราอาศัยเทวดาคือธรรมชาติ ถ้าอากาศเอื้ออำนวยก็ติดเยอะ ถ้าไม่เอื้ออำนวยก็ติดน้อย แค่ดูแลไม่ให้รกแค่นั้น”


    นอกจากนั้น รสชาติของกาแฟที่ได้ก็แตกต่างจากที่อื่นตรงความเข้มของบอดี้ ในขณะที่กาแฟอื่นเน้นความหนักแน่น แต่ที่แม่ลัวจะได้รสสัมผัสที่เบาบางจากการไม่ใช้สารเคมีกับต้นกาแฟ ลุงเกษมถือว่าเป็นรสชาติของธรรมชาติที่ชูกาแฟแม่ลัวได้เป็นอย่างดี



    การปลูกแบบอิงธรรมชาตินี้เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะนอกจากที่จะเป็นตัวชูรสชาติของกาแฟแม่ลัวแล้ว การไม่ใช้สารเคมีดังกล่าวก็นำปัญหามาให้เกษตรเช่นกัน “ปัญหาคือมอดและศัตรูธรรมชาติ พวกนก ค้างคาว จะมีรบกวนบ้างลุงก็เอาตาข่ายไปขึงกันไว้ ปัญหามอดคือเพราะไม่ใช้สารเคมี แต่มีวิธีที่เขาแนะนำว่าให้ร่วมกันกำจัดเมล็ดกาแฟที่ตกค้างต้น คือมอดที่แห้งคาต้นเรียกว่ากาแฟมอด บางทีมอดจะฟักตัวอยู่ในนั้น เรามาประมวลดูแล้วว่าชาวบ้านไม่ได้สนใจว่ามอดเป็นอะไรยังไง ก็แค่ดูแลไม่ให้รกเพื่อเก็บเชอร์รี่แค่นั้น เขาไม่ได้มุ่งประเด็นแบบที่ลุงทำ”


    จากเนื้อที่ 6-7 ไร่สำหรับปลูกกาแฟ ลุงเกษมไม่ได้จ้างชาวบ้านคนอื่นให้มาช่วยเลยสักคนเนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าแรงที่ค่อนข้างสูง จึงปลูกและเก็บกาแฟกับภรรยาเพียงลำพัง



    แปรรูปสร้างรายได้


    ในช่วงแรกลุงเกษมยังไม่รู้จักวิธีการนำไปแปรรูป รวมถึงตนทำกับภรรยาแค่สองคน ทำให้ทำได้แค่เพียงเก็บผลเชอร์รี่ขาย “แต่ก่อนเราเก็บเมล็ดเชอร์รี่ขายเพราะไม่รู้วิธีทำ ไม่รู้กรรมวิธีการทำ เก็บเชอร์รี่ขาย เขาให้สิบบาทก็จำเป็นต้องขาย”


    แต่เมื่อได้คุยกับลูกชายที่กำลังเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็ได้ลงความเห็นว่าให้ลุงแปรรูปจากเชอร์รี่เป็นเมล็ดกาแฟบรรจุซองจากนั้นก็ส่งขายตามโซเชียลมีเดีย ทำให้ราคาของเชอร์รี่ถุงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และนอกจากราคาที่เพิ่มขึ้น ปริมาณผลเชอร์รี่ที่ใช้ผลิตก็น้อยลง นับว่าเป็นความเฉลียวฉลาดในการสร้างกลยุทธ์การตลาดเป็นอย่างมาก



    เมื่อชาวบ้านเห็นการสร้างรายได้จากเมล็ดกาแฟก็เริ่มทำตาม ซึ่งลุงเกษมก็มิได้ปิดกั้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามลุงเกษมมองว่าการปลูกตามดังกล่าวยัง “เลียนแบบไม่จบ” เพราะนอกจากการไม่จัดการกับกาแฟมอดแล้ว สิ่งสำคัญที่ถูกมองข้ามคือกระบวนการดีเฟกต์กาแฟ (Coffee Defects) ที่เรียกได้ว่ามีเฉพาะไร่ลุงแห่งเดียวในหมู่บ้านที่ทำกระบวนการนี้ “คัดดีเฟกต์นี่ลุงจะต้องมานั่งคัดเอง ไม่มีเครื่อง เสียอยู่อย่างตรงที่ลุงไม่ได้คัดเกรด คือเป็นกาแฟเกรดรวม เกรดเอ เอเอ เอบี เราไม่ได้ทำ เราเกรดรวมไปเลย เพราะเครื่องมือไม่พร้อม เราจะมาคัดแบบนี้ก็ไม่ไหว ต้องมีเครื่องมีร่อนเป็นเกรดๆ”


    แม้ว่าตอนนี้ลุงเกษมจะยังทำได้แค่กระบวนการดีเฟกต์กาแฟด้วยเหตุที่เครื่องมือไม่พร้อม แต่ในอนาคตลุงก็ต้องการคัดเกรดกาแฟเช่นกัน เพื่อให้กาแฟแม่ลัวมีคุณภาพและสู่สากลยิ่งขึ้นไปอีก ตลอดจนวางแผนที่จะสร้างโดมตากกาแฟเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมความชื้นมากยิ่งขึ้น



    จาก ‘หมู่บ้านเมี่ยง’ สู่ ‘หมู่บ้านกาแฟ’


    ณ ตอนนี้ กาแดงดอยลัวคอฟฟี่ฟาร์มของลุงเกษมก็ได้ขยายตลาดออกไปสู่ชาวต่างชาติดังที่ตั้งใจไว้ ลุงเล่าว่าเป็นเพราะลูกชายที่นำกาแฟไปให้ชาวสวิตเซอร์แลนด์ชิมที่พัทยาจนติดใจ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด–19 ทำให้การติดต่อค่อนข้างลำบาก และชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ที่แพร่ก็ชื่นชอบกาแฟลุงเช่นกัน “อย่างฝรั่งที่มาได้แฟนที่แพร่ก็สั่งประจำเลย เขามาเห็นกระบวนการทำของลุงแล้วเขาชอบธรรมชาติๆ แบบนี้ พวกฝรั่งชอบ กินแล้วผิดไปจากดอยอื่น มันแตกต่างออกไป ที่นี่ธรรมชาติ” ลุงเกษมเล่าพร้อมยิ้มอย่างภูมิใจ



    ถึงแม้การปลูกกาแฟจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนและชาวบ้านที่นี่ แต่ทุกคนก็ยังไม่ทิ้งการปลูกเมี่ยงที่เคยเป็นรายได้หลักของชุมชน “ตั้งแต่มาจับกาแฟเงินหมุนเวียนก็ดี เมี่ยงเป็นตัวประกอบกัน เมี่ยงนานๆ เขาสั่งมาทีเราก็จะเอาไปที กาแฟนี่จะบอกว่ามาแทบทุกวันก็ได้ เงินหมุนเวียนเราได้จากกาแฟมาเราก็มาซื้อเชอร์รี่ ช่วยชาวบ้านกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้น จากแต่ก่อนเขาเคยเก็บแบบรูด เก็บสุกเก็บดิบปนกันมา โดนพ่อค้าคนกลางกดราคา เขาให้ห้าบาท สิบบาท แปดบาท ก็จำเป็นต้องขายเพราะเสียดายของ ตอนนี้ลุงมาทำแบบนี้ กระตุ้นให้ชาวบ้านเก็บแบบนี้ เก็บเชอร์รี่ให้สุกตามที่ตลาดขอ เลยกระตุ้นให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วย เราช่วยเขาทางอ้อม พอเราได้เงินจากการขายกาแฟเราก็มาหมุน เดี๋ยวนี้เขาก็กระตือรือร้นมาแล้ว ชาวบ้านก็ไปเก็บดีๆ มา เรื่องอะไรเขาจะขาย 7-8 บาท ได้เงินเข้ากระเป๋า เงินหมุนเวียน เป็นการกระตุ้นชาวบ้าน ช่วยชาวบ้าน”


    ปัญหาที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันที่ลุงเกษมตั้งข้อสังเกตคือการไม่เอาแน่เอานอนของชาวบ้านว่าจะปลูกสิ่งใดดี ลุงเกษมเล่าว่าในตอนแรกที่ปลูกเมี่ยงลดลงก็เพราะชาวบ้านขี้เกียจขึ้นดอย และด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป สบายๆ ไม่เร่งรีบ ทำให้เมื่อมีสิ่งใหม่เสนอมาให้ก็ยังรู้สึกไม่ต้องการปลูกอีก “แต่ลุงอยู่เฉยๆ ไม่เป็น ทำของเรา ได้เท่าไรก็เป็นของเราหมด ทำไว้เผื่อลูก ในสวนลุงมีเยอะแยะเลย ปลูกไว้หมดทุกอย่าง” ลุงเกษมเห็นว่าปัญหานี้ควรแก้ไขโดยเร็วที่สุด



    ลุงเกษมหวังใจไว้ว่าอนาคตกาแฟของตนจะสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านและจังหวัดแพร่แห่งนี้ ออกสู่ตลาดสากลและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแบบกาแฟชื่อดังในตลาด ตลอดจนหวังว่าหมู่บ้านแม่ลัวจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์นี้เช่นกัน


    ตราบใดที่กาแฟยังมีบทบาทสำคัญในชีวิตของมนุษย์ กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ก็ย่อมมีหวังในการสร้างรายได้จากกาแฟเช่นกัน เมื่อชีวิตเราขับเคลื่อนด้วยกาแฟ กาแฟก็ขับเคลื่อนชีวิตเขาไปพร้อมๆ กัน



    ข้อมูลกาแดงดอยลัวคอฟฟี่ฟาร์ม
    บ้านแม่ลัว 8 หมู่ 4 ตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 54000
    เปิดทุกวัน
    จันทร์ - ศุกร์ 08:00 - 14:00 น.
    เสาร์ - อาทิตย์ 06:00 - 17:00 น.
    เบอร์ติดต่อ (+66) 97 125 0827, (+66) 088 232 2879
    เว็บไซต์ Kadange Doi Lua Coffee Farm
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in