เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Talk / Thai / Politicsfridayokaeri
ครบรอบ 9 ปี 10 เมษา 2553 ㅡ The Unfortunately Events : ความเพิกเฉยคืออาวุธที่รุนแรงที่สุด


  • เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซีรีส์ชุด The Unfortunate Events ซีซันสุดท้ายได้ถูกปล่อยออกมาให้ได้ชมกันบน Netflix ในฐานะแฟนเดนตายของหนังสือชุดนี้ก็เลยรู้สึกว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูในทันที และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเราดูซีซัน3ครบทุกตอนจบภายในวันเดียว

    เนื้อหาของซีรีส์เรื่องนี้เล่าถึงเด็กกำพร้าสามคนที่พ่อแม่ตายในกองเพลิง ต้องระเหเร่ร่อน ไปพำนักอยู่กับญาติ ไม่ก็บรรดาเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของพ่อแม่ที่อุปการะพวกเขาไป และในขณะเดียวกัน ก็ต้องหนีจากการพยายามฮุบสมบัติของ โอลาฟ นักแสดงกักขฬะที่มักจะปรากฏตัวพร้อมกับแผนการที่ไม่รอบคอบ การปลอมตัวที่ไม่แนบเนียน และการกระทำอุกอาจที่มีช่องโหว่เสมอเพื่อให้ได้มาซึ่งสมบัติของพวกเด็กๆ เรื่องน่าแปลกคือ ' เหล่าผู้ใหญ่ ' ในเรื่องนี้ดูไม่ออกเลยสักครั้ง จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่ว่าสิ่งที่โอลาฟทำจะไม่แนบเนียนและเต็มไปด้วยช่องโหว่ขนาดไหน

    ในซีซันสุดท้าย ซีรีส์ชุดนี้สรุปให้เราว่าแท้จริงแล้ว ความรุนแรง เรื่องราวโชคร้าย และสิ่งไม่ดีต่างๆที่โอลาฟทำกับเด็กๆ ไม่ถูกจับได้ สาเหตุนั้นเกิดขึ้นก็เพราะความเพิกเฉย และขาดการเอาใจใส่อย่างแท้จริงของคนที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเด็กๆ ต่างหาก

    ถ้าให้เล่าหมดก็อาจจะกลายเป็นการสปอย แต่สิ่งที่พอจะบอกได้ก็คือ หลังจากเราได้รู้ข้อสรุปนั้น และกลับไปนอนคิดทบทวนให้ดี ตลอดเรื่อง(ทั้งในหนังสือและซีรีส์) เลโมนี สนิกเก็ตที่เดินไปเดินมาและทำหน้าที่ผู้บรรยายมักจะบอกกับเราเสมอว่า --ให้ไปหาเรื่องราวที่น่าจรรโลงใจกว่านี้่อ่าน ให้วางหนังสือลงเสีย ให้ปิดซีรีส์เรื่องนี้ลง เพราะมันก็เป็นแค่เรื่องราวโชคร้ายของเด็กกำพร้าสามคนเท่านั้น

    สิ่งที่เลโมนีทำมาตลอดเนื้อหา 13 เล่ม (หรือในซีรีส์ก็ 3 ซีซัน) คือการพยายามกล่อมให้เรา ' เพิกเฉย ' ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเลือกให้คุณค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียง ' ความโชคร้าย ' เท่านั้น



    นั่นคือซีรีส์ใช่ไหมล่ะ

    แต่ในความเป็นจริง เหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นวนเวียนในสังคม อาจจะแตกต่างในรายละเอียด แต่มีจุดเหมือนที่แทบจะไม่ขาดจากกัน คือการพยายามทำให้สังคมลืมเลือนและ 'เพิกเฉย' ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

    หนึ่งในนั้นก็คือ 'การเมืองไทย' 

    เราผ่านเหตุการณ์นองเลือดหลายต่อหลายครั้ง เป็นความรุนแรง น่าอับอาย และลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ของประชาชน 

    จากในอดีต เหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีทั้งวาทกรรม "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" โดยพระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือ‘กิตติวุฑโฒ ภิกขุ’ พระภิกษุซึ่งเป็นหนึ่งในมวลชนฝ่ายขวา ตีพิมพ์ลงในหนังสือรายสัปดาห์ ชื่อ จตุรัส ฉบับเดือนมิถุนายน 2519


     "มันไม่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา
    พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ ความตั้งใจเราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร
    ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน แม้จะบาปก็บาปเล็กน้อย แต่ได้บุญมากกว่า
    เหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา
    แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า" [1]


    หรือเพลง #หนักแผ่นดิน ที่บิ๊กแดงเคยไล่ให้ไปหาฟัง[2] ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความเกลียดชังที่ฝ่ายขวาใช้เพื่อยัดเยียด 'ความเป็นอื่น' ให้กับเหล่าขบวนการนักศึกษาและกลุ่มชาวนากรรมกรชนชั้นล่างมาแล้ว

    เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลาคมถูกมองข้ามและปฏิบัติราวกับว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นเพียงเนื้อหาย่อหน้าเดียวในตำราเรียนที่ถูกละเลยและบิดพลิ้ว เป็นประวัติศาสตร์ติดๆ ดับๆ ที่ไม่ชัดเจน[3]

    เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน สำหรับเหตุการณ์สงครามสีเสื้อเมื่อปี 2553 และการสลายผู้ชุมนุมที่มีคนตายมากถึง 94 ศพ [4][5]

    การยัดเยียดอัตลักษณ์ความเป็นอื่นให้ฝ่ายตรงข้ามยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนเสื้อแดงถูกจดจำในฐานะคนที่เผาบ้านเผาเมือง ควายแดง เป็นศัตรูของชาติ และดำเนินไปสู่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่ยาวนานและความรุนแรงต่อเนื่องในปี 2557 เหตุการณ์ชัทดาวน์กรุงเทพของกลุ่มกปปส. ซึ่งพฤติกรรมการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอื่นให้ฝ่ายตรงข้ามยิ่งรุนแรงขึ้น โดยมิติที่มักถูกหยิบยกมาพูดคือเรื่องความดี/เลว โง่/ฉลาด หรือแม้แต่การออกมาชุมนุมก็ถูกกล่าวว่าเป็นการชุมนุมที่ทำไปด้วยความเป็นเสรีชน เป็นการชุมนุมของคนดี แต่ในทางกลับกันก็มีการกล่าวอ้างว่าการชุมนุมของอีกฝ่ายคือการถูกจ้างมา เป็นสมุนบริวาร หรือขี้ข้าของทักษิณ นอกจากนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามยังถูกปฏิบัติราวกับเป็นเรื่องขำขันประจำเวทีปราศรัยของกลุ่มคนไม่เอาทักษิณ-ปู [6]

    กลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ถูกจดจำในฐานะคนที่สร้างความวุ่นวายจากการเผาทำลาย ก่อม็อบ และทำให้เกิดความไม่สงบขึ้น แต่น้อยนักที่จะถูกมองลึกไปกว่านั้นว่าสาเหตุการออกมาชุมนุมของพวกเขาคืออะไร สิ่งใดคือข้อเรียกร้องของพวกเขา 

    การชุมนุมประท้วงในครั้งนั้นเกิดจากการต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ถึงการขึ้นเป็นนายกโดยไม่ชอบธรรม 

    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเนื่องจากผลการพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชาชน สื่อต่างประเทศมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นการรัฐประหารเงียบ (Silent Coup) กล่าวคือมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่โปร่งใสนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และมีกองทัพ(ทหาร)อยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้สส.ที่เหลือในสภาเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน มีการริดรอนและแทรกแซงสื่อมวลชน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนซึ่งเป็นฐานเสียงของฝั่งพรรคพลังประชาชน จึงเกิดการรวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องให้มีการยุบสภา [7]

    เหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเมษายนปี 2553 เริ่มจากการเสียชีวิตของหนึ่งในผู้ชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ในช่วงบ่ายของวันที่10เมษายน ข้อมูลจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) ระบุว่าเขาถูกยิงที่สะโพกด้วยอาวุธสงคราม มีกระสุนฝังในช่องท้อง โดยในปี 2557 ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการตายว่ากระสุนดังกล่าวมาจากฝั่งทหาร [8] 

    มีการเข้าใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมครั้งใหญ่สามครั้งจากคำสั่งของรัฐบาล มีการใช้อาวุธสงคราม แก๊สน้ำตา และกระสุนทั้งแบบยางและกระสุนจริงเพื่อสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 90 ราย รวมถึงผู้ที่บาดเจ็บนับพันราย และบางส่วนกลายเป็นผู้ทุพพลภาพตลอดชีวิต [9]

    และจากการสัมภาษณ์ของสำนักข่าว BBC อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้คำอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการสลายการชุมนุม เพียงแค่ตั้งจุดตรวจเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดจากคนที่ติดอาวุธซึ่งแทรกตัวอยู่และพยายามทำร้ายประชาชน จุดตรวจเหล่านั้นถูกโจมตีจึงเกิดการต่อสู้ขึ้น และโชคไม่ดีที่มีบางคนตาย และแม้ BBC จะยืนยันว่า Human Rights Watch ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์นี้และพบว่าผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนของทหาร อภิสิทธิ์ก็ยังคงปฏิเสธและไม่ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น  เขากล่าวอ้างว่ามีปืนบางส่วนของทหารถูกขโมยเอาไป และพูดซ้ำเป็นหนที่สองเพียงว่าผู้เสียชีวิต 'โชคร้าย' ที่ถูกยิง [10]


    วันที่ 10 เมษายน 2562 บรรยากาศการจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 53 จัดขึ้นที่ถนนดินสอเป็นไปอย่างโศกเศร้า มีการนำเสนอข่าวรำลึกถึงในบางสื่อเท่านั้น ดูเหมือนเหตุการณ์เหล่านี้จะค่อยๆ กลายเป็นความทรงจำที่เลือนราง เป็นประวัติศาสตร์ติดๆ ดับๆ ที่คนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยจดจำได้เพียงคำว่า เสื้อแดงเผาเมือง ตามวาทกรรมที่ถูกส่งต่อกันมา เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในอดีตอื่นๆ ที่ถูกบิดพลิ้วและพยายามทำให้จางหายไปตามวันเวลา


    ____________________________


    ประวัติศาสตร์ถูกจดจำเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าของสังคมช่วงเวลานั้น เมื่อเวลาเดินทางไปข้างหน้า ความทรงจำที่สังคมมีต่อเหตุการณ์ใดๆ ในสังคมก็ถูกเปลี่ยนแปลง จัดวางไปตามที่ผู้ครองอำนาจในสังคมขณะนั้นให้คุณค่า การระลึกถึงและคิดทบทวนถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น

    แม้เรื่องราวการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 จะมีมิติหลากหลายรอให้ผู้มาใหม่ได้เริ่มทำความเข้าใจ แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกเชื่อหรือยึดถือชุดข้อมูลไหนเป็นประวัติศาสตร์ผ่านสายตาตน 

    สิ่งสำคัญที่อยากให้พึงระลึกมากที่สุด คือการมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน อย่าละเลยหรือมองข้ามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศที่บอบช้ำของพวกเรา อย่ามองว่ามันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ สาสมเพียงเพราะคนที่ตายเป็นฝ่ายตรงข้ามทางความคิด 

    อย่ามองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไกลตัว และเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดกับ 'คนโชคร้าย' เหล่านั้นเลย


     ____________________________

    อุทิศแด่ทุกความสูญเสียจากสงครามทางการเมือง
    writen by ㅡ ?????????????? (@skipmetofriday)
    พิสูจน์อักษรโดย คุณฟาง @fatfarng จ้ะ :-)

    __________________________________



    อ้างอิง
    [1] บทสัมภาษณ์กิตติวุฑโฒ ใน จตุรัส ฉบับที่ 51 (29 มิถุนายน 2519)
    [2] คำพูดของ อภิรัชต์ คงสมพงศ์(บิ๊กแดง) ผบ.ทบ. ตอบคำถามถึงนโยบายตัดลดงบกระทรวงกลาโหมและยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคการเมืองที่นำมาหาเสียงในช่วงการเลือกตั้ง มีนาคม 2562 ; https://www.matichon.co.th/politics/news_1368310
    [3] บทความ 'ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา : สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562' จากประชาไท ; https://prachatai.com/journal/2019/01/80694 
    [4] รายชื่อผู้เสียชีวิต กรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 ; https://prachatai.com/journal/2017/05/71545
    [5] ข้อมูลการเสียชีวิตของ 94 ศพ กรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 ; http://www.pic2010.org/category/report/
    [6] บทความทัศนวิพากย์ โดยประจักษ์ ก้องกีรติ การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรมและความรุนแรง จาก"ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป"ถึง"กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน" ฟ้าเดียวกัน ปีที่14 ฉบับ 2 พฤษภาคม-ธันวาคม 2559
    [7] https://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/thailand/3831672/Thai-army-to-help-voters-love-the-government.html
    [8] ศาลสั่งคดีชันสูตร 'เกรียงไกร คำน้อย' ตายเพราะเสียเลือดมาก วิถีกระสุนมาจากทหาร ; https://prachatai.com/journal/2014/07/54421 
    [9] ดู 5 และ 6
    [10] บทสัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  BBC World News วันที่ 10 ธันวาคม 2557 กรณีสลายการสั่งใช้กระสุนจริงในการสลายชุมนุมในปี 2553
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in