เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Album ReviewEARWAXED
[Album Review #10] Lily Allen - No Shame (2018) "ชีวิตพัง ช่างมัน ฉันไม่อาย"
  • สิ้นสุดการรอคอยซักที หลังจากหนึ่งในตัวแม่แห่งวงการเพลงจากเกาะอังกฤษอย่าง Lily Allen ได้กลับมาสู่สปอตไลท์อีกครั้งกับสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 No Shame

    เป็นเวลากว่าสี่ปีหลังจากปล่อย Sheezus ออกมา ซึ่งในอัลบั้มชุดดังกล่าว ลิลี่ก็ถูกสับเละจากเหล่านักวิจารณ์จากการทำเพลงที่มีสีสันฉูดฉาดและดูมาตรฐานตกฮวบจากอัลบั้มสองชุดแรก บวกกับมรสุมชีวิตที่ถาโถมมาใส่ตัวลิลี่ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหย่าร้างจากสามี Sam Cooper หรือการต่อสู้กับอาการติดสุราและสารเสพติดต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาเรื่องของ 'identity crisis' ที่ตัวลิลี่เองก็ออกมายอมรับ เรื่องราวที่ผ่านมาจึงส่งผลให้เกิด No Shame อัลบั้มที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวนักร้องสาวอย่างไม่มีกั๊ก เปิดโปงทุกมุมของชีวิตของเธออย่างโจ่งแจ้งไร้การเซ็นเซอร์


    Genre: pop, electropop, hip-hop, reggae, dancehall
    Release Date: June 8, 2018

    Album Overview

    หลังจากการฟังอัลบั้มมาหลายรอบตั้งแต่วันปล่อย บอกได้เลยว่า No Shame คืองานที่ดีที่สุดในชีวิตของการเป็นนักร้องของลิลี่ อัลบั้มนี้ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซของเธอทั้งในด้านของดนตรีที่มีมิติ ผสมกับการแต่งเนื้อร้องที่ไม่ได้ทิ้งความเป็นลิลี่แบบที่ทุกคนรู้จักกัน แต่กลับมีพัฒนาการในการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ธรรมดาวัยกลางคนที่ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบได้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ

    สำหรับภาคดนตรี อัลบั้มชุดนี้เป็นเหมือนการผสมผสานซาวน์จากความเรกเก้และสกาใน Alright, Still (2006) กับอิเลคโทรพ็อพใน It's Not Me, It's You (2009) ออกมาเป็นอัลบั้มที่ยืนพื้นด้วยดนตรีพ็อพที่มีความ stripped-down ฟังเอาชิลล์ ๆ สบาย ๆ

    แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือเนื้อร้อง การฟัง No Shame ให้ความรู้สึกเหมือนกับตอนฟัง Melodrama (2017) ของพระแม่น้องหลอด หรือ Lemonade (2016) ของควีนบีเลย เพราะผู้ฟังจะได้บรรยากาศการจำลองการเดี่ยวไมโครโฟนของลิลี่ที่มานั่งเล่าความพังของชีวิตของเธอที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเศร้าเหงาสุขตลก และมุมมองความรักแบบน่ารัก ๆ รวมไปถึงไฮไลท์ของการเล่าชีวิตความเป็นแม่ หรือชีวิตแต่งงานที่ล่มสลาย อีกทั้งการยอมรับถึงชีวิตด้านมืดของการใช้สารเสพติดและของมึนเมา ในฉบับที่คนทั่วไปน่าจะรู้เคอะเขินที่จะพูดถึง แต่สำหรับลิลี่แล้ว เรื่องพวกนี้ เธอไม่ได้รู้อับอายแต่อย่างไร


    Track-by-Track Review

    1. Come On Then

    "I am a bad mother, I am a bad wife
    You saw me on the socials, you read it online
    If you go on record saying that you know me
    Then why am I so lonely?
    'Cause nobody fuckin' phones me"

    แค่เปิดมาแทรคแรกความพีคของ No Shame ก็พลุ่งพล่านแล้ว "Come On Then" จัดว่าเป็น opening track ที่สมบูรณ์แบบมาก ด้วยดนตรีคล้าย ๆ กับ trap music และ electronic ที่ทำให้เหมือนกับนั่งอยู่ในห้องมืด ๆ แล้วเปิดสปอตไลท์รัวแสงให้คนฟังได้เตรียมตัวเข้าสู่โชว์ของลิลี่

    เช่นเดียวกับ opening track ของหลายอัลบั้ม "Come On Then" ทำหน้าที่เล่าธีมคร่าว ๆ ของอัลบั้มนี้ให้กับคนฟัง อารมณ์ว่าตัวลิลี่เปิดด้วยการยอมรับถึงข่าวฉาวต่าง ๆ ที่เธอถูกสื่อประณามด้วยคำพูดแย่ ๆ ต่าง ๆ แต่ในทางกลับกันเธอมองว่าข่าวเหล่านั้นกลับไปใช่ความจริง และเรื่องราวที่จะได้ฟังในอัลบั้มนี้นี่แหละคือความจริงที่เธออยากจะบอกให้ทุกคนฟัง เพราะฉะนั้น จงเข้ามา เปิดใจ และฟังสิ่งที่เธอจะเล่า

    ไม่ใช่แค่การตอกหน้าเหล่าสื่อที่ว่าเธอแบบนั้น ใน "Come On Then" ผู้ฟังก็ยังสามารถรับรู้ถึงความเศร้าของความโดดเดี่ยวที่เธอรู้สึกทั้ง ๆ ที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้คน แฟนเพลง หรือสื่อต่าง ๆ แทรคนี้จึงจัดว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของ No Shame เลยทีเดียว

    2. Trigger Bang (feat. Giggs)

    "And it fuels my addictions
    Hanging out in this whirlwind
    If you cool my ambitions
    I’m gonna cut you out"

    หลังจาก intro สู่โชว์ของเธอ ลิลี่ก็นำคนฟังเข้าสู่เรื่องราวชีวิตของเธอจริง ๆ กับแทรคที่สองและซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้ม "Trigger Bang"

    "Trigger Bang" ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรี hip-hop ที่ผสมกับความพ็อพจนออกมาเป็น urban pop ฟังสบาย ๆ ที่พาคนฟังย้อนดูชีวิตของลิลี่ตั้งแต่ยุคแรกของเธอ เสริมด้วยมิวสิควิดีโอที่พาคนฟังกลับไปดูช่วงชีวิตต่าง ๆ ของลิลี่ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และในเอ็มวียังมีการซ่อน easter eggs ที่เป็นสิ่งของ signature ของตัวศิลปินสาวอยู่ตามฉากต่าง ๆ ให้เราได้จ้องหากัน

    ธีมหลักในเพลงพูดถึงการวางมือจากเหล่าสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตเธอพัง ไม่ว่าจะเป็นการมั่วเซ็กซ์ เหล้ายา ปาร์ตี้และผู้คนที่เป็นอิทธิพลไม่ดีต่อชีวิตเธอ ลิลี่ใช้เพลงนี้เพื่อเป็นการบอกกับคนฟังของเธอว่า ตอนนี้เธอได้เป็นคนใหม่ที่ได้ล้างมือจากสิ่งไม่ดีเหล่านั้น และขอกำจัดเหล่า toxic people ออกไปจากชีวิตของเธอให้หมด

    ถึงแม้ว่าเพลงนี้จะได้แรปเปอร์หน้าใหม่ดาวรุ่งอย่าง Giggs มาช่วยเสริมสีสันให้กับเพลง ซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้มนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับซิงเกิ้ลแรก ๆ ของอัลบั้มก่อน ๆ ของเธอ ส่งผลให้กระแสของอัลบั้มนี้กลับเงียบตามกันไป จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่งานดี ๆ แบบนี้ไม่ได้รับความสนใจมากพอจากคนฟังในยุคนี้

    3. What You Waiting For?

    "I turned a strong man weak
    I threw him down, brought him to his knees
    I'm hoping somehow he'll forgive me
    I think to myself"

    จบจากการประกาศกร้าวถึงชีวิตที่ต้องเดินไปข้าง ลิลี่พาคนฟังย้อนกลับไปส่องดูชีวิตสมรสที่ล้มเหลวกับ "What You Waiting For?"

    สำหรับคนฟังที่ตกหลุมรักกับศิลปินสาวคนนี้ตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกคงจะดีใจที่จะได้ฟังเพลงแบบ old Lily บ้าง นั่นก็คือซาวน์ของเรกเก้และสกาแบบสบาย ๆ ชวนโยกได้เบา ๆ ในส่วนของเนื้อหา คำถาม "what are you waiting for?" คือคำถามที่ลิลี่ได้ถามตัวเธอเกี่ยวกับการนั่งคิดถึงความรักที่เธอทำพังไป แล้วได้แต่คิดว่ารออะไร ทำไมไม่กลับไปขอโทษและเรียกให้คนรักของเธอกลับมา

    ที่ผ่านมา คนฟังจะคุ้นกับเพลงอกหักแบบเกี้ยวกราดจากตัวลิลี่ แต่ในแทรคนี้ คนฟังจะได้สัมผัสถึงการโทษตัวเองที่เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในความรัก ซึ่งธีมของ self-blame หรือการโทษตัวเองนั้นจะถูกพูดถึงอยู่อีกหลายครั้งในอัลบั้มนี้

    4. Your Choice (feat. Burna Boy)

    "Stop crying every time I get a text
    Every time my phone rings
    Don't be upset, baby
    I've always said that no man can own me"

    ความเรกเก้และสกาของ No Shame ยังดำเนินต่อไปกับแทรคที่สี่ "Your Choice" ที่รอบนี้ก็ได้ศิลปินสายเรกเก้ Burna Boy มาร่วมแจมด้วย

    ในแทรคนี้ นอกจากภาคของดนตรี ธีมเพลงอกหักก็ยังถูกต่ออีกหนึ่งครั้งและวิธีการเล่าเรื่องก็คล้ายกับเพลงที่แล้วอีกด้วย "Your Choice" เป็นเหมือนเสียงในหัวของตัวลิลี่ที่พูดกับตัวเองในช่วงเวลาที่เหตุการณ์เศร้าโศกต่าง ๆ ได้จบลงไปแล้ว และความรู้สึกที่ดีก็เริ่มสร้างตัวขึ้น แต่ก็เป็นเหมือนกันทุกคนที่เวลาเศร้านั้น คนเราก็มักจะเกิดความคิดบ้า ๆ เด้งขึ้นมาตลอด ลิลี่ร่างในหัวและเสียงของ Burna Boy จึงเหมือนเป็นการเตือนสติประมาณว่า เธอดีขึ้นแล้ว แต่ถ้าจะกลับไปจมปรักกับความเศร้าเหล่านั้นมันก็เรื่องของเธอแล้ว นอกจาก self-blame แล้ว self-realization หรือการรู้ตัว ก็เป็นอีกหนึ่งธีมที่ลิลี่หยิบยกมาพูดถึงหลายครั้งในอัลบั้มนี้เหมือนกัน

    5. Lost My Mind

    "Now I'm stuck in a rut, kicking stones
    Looking at my phone all night
    Maybe I've lost my mind"

    เพลงอกหักยังคงเดินหน้าต่อไม่หยุดจนมาถึงแทรคที่ห้าและซิงเกิ้ลที่สอง "Lost My Mind" ที่ลิลี่ออกแบบดนตรีด้วยเทคนิค juxtaposition หรือการผสมผสานระหว่างดนตรีสนุก ๆ แต่เนื้อหากลับกระชากจิตคนฟังให้จมกับความเศร้านั่นเอง

    ถึงแม้ว่าตัวเพลงจะเป็น dancehall ที่เดินบีทด้วยเสียงดีดนิ้วน่ารัก ๆ "Lost My Mind" กลับเป็นการพาคนฟังไปสำรวจจิตใจของลิลี่ในช่วงที่ต้องผ่านการเลิกลากับสามีของเธอ หลาย ๆ คนที่มีประสบการณ์อกหักจะสามารถเข้าถึงเพลงนี้ได้อย่างง่ายดาย ด้วยการที่ตัวลิลี่สามารถบรรยายความรู้สึกของคนที่สัมผัสถึงจุดจบของความรักที่คลืบคลานเข้ามาเรื่อย ๆ และทำให้สติแตก พารานอยด์กับความเศร้าที่กำลังจะเกิดขึ้น

    ในส่วนของเอ็มวีก็ถือว่าทำได้ดี เพราะมันช่วยเสริมเนื้อหาของคนสติแตกที่ความคิดมันหมุนไปมาไม่อยู่กับที่ แต่ก็ดันไปมีความคล้ายกับเพลง "No Tears Left to Cry" ของสาว Ariana Grande อยู่

    6. Higher

    "I can take this down to the wire
    Soon see if I fight fire with fire
    Dig that grave
    You're such a bad liar
    Stakes gettin' higher"

    ถ้าหากหวังว่าลิลี่จะหยุดเล่าเรื่องอกหักรักคุดแล้วล่ะก็ คุณคิดผิด เพราะแทรคที่หก ธีมอกหักก็ยังพูดถึงต่อจนทำให้ No Shame แทบจะกลายเป็น break-up album ซะแล้ว

    อย่าให้ความชิลล์ของเพลงนี้มาหลอกความเดือดของเนื้อเพลงที่จะได้ฟังนะ "Higher" จัดว่าเป็นเพลงที่ฟังสบายมากเป็นอันดับต้น ๆ ของ No Shame แต่เนื้อหากลับดาร์กเหมือนกับเพลงอกหักเพลงก่อน ๆ เลย แต่ความแตกต่างคือ เราจะได้สัมผัสถึงร่างหัวร้อนของลิลี่กันบ้าง

    ฟังดูผิวเผิน เพลงนี้เป็นเหมือนเพลงที่เธอออกมาต่อว่าคนรักเก่าของเธอที่ได้หักหลังและไม่ซื่อสัตย์กับความรักที่เธอมีให้ แต่ในบทสัมภาษณ์ของลิลี่กับ Vulture เธอได้บอกว่าจริง ๆ แล้วเพลงนี้ไม่ได้พูดถึงคนรักเก่าของเธอ แต่กลับเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์เชิง "business" ที่เธอไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร เพราะอาจเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกันได้ คนฟังอย่างเรา ๆ ก็คงได้แต่เอ็นจอยนั่งชิลล์กับ "Higher" กันต่อไปละกัน

    7. Family Man

    "I am more than selfish
    I am tired, I'm helpless
    If I had the time of day
    I might give all my days to you"

    หลายสำนักยกให้ No Shame เป็นงานเพลงที่มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก ซึ่ง "Family Man" ก็มักถูกยกมาเป็นตัวอย่างของคำพูดดังกล่าว

    เปียโนบัลลาร์ดช้า ๆ สุดเศร้านี้ถ่ายทอดเรื่องราวของการขอร้องให้คนรักของเธอกลับมา หลายคนคาดว่าเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงปี 2015 ก่อนที่ข่าวการหย่าร้างระหว่างลิลี่และแซมจะถูกเผยแพร่ออกสื่อ และเพลงนี้ยังเป็นเพลงแรก ๆ ที่ถูกเขียนขึ้นสำหรับ No Shame ความเรียลของ "Family Man" คือการที่คนฟังจะได้นั่งขมวดคิ้วอึดอัดไปกับการกราบขอร้องให้คนรักเธอกลับมาหลังจากไตร่ตรองได้ว่าตัวเธอนั่นแหละคือต้นเหตุของจุดจบที่เกิดขึ้น

    เพลงนี้จึงเป็นเหมือนการเขียนเพื่อขอโทษและยอมรับผิดสำหรับความงี่เง่าและนิสัยเสียต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ชายดี ๆ คนหนึ่งต้องหน่ายและเลิกลากันไป ถ้าหาก No Shame เป็นละครเวที "Family Man" ก็น่าจะเป็นฉากที่มีความดราม่าเบอร์ใหญ่เห็นภาพนักแสดงลงไปกองที่พื้นจมอยู่กับความมืดและสป็อตไลท์เดี่ยว ๆ ฉายมาที่ัตัวเธอ

    8. Apples

    "Four years and you've given me my beautiful babies
    But it was all too much for me
    Now I'm exactly where I didn't want to be
    I'm just like my mummy and my daddy"

    เห็นชื่อเพลงทีแรก ต้องคิดกันหลายคนแน่ ๆ ว่าเป็นเพลงน่ารัก ๆ อร่อย ๆ แต่เปล่าเลย ลิลี่กำลังเอาสำนวนอย่าง "The apple doesn't fall far from the tree." หรือ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น มาเล่นกับเพลงของเธอ

    จากสำนวนดังกล่าว เราก็รู้ได้เลยว่าประเด็นของ No Shame คงไม่ได้วนอยู่แค่อกหักรักคุดหรือชีวิตเสเพลในอดีตของลิลี่ แต่ใน "Apples" เธอได้เล่ายาวไปจนถึงพ่อแม่ของเธอเลย ในครึ่งแรกของ "Apples" ลิลี่พาเราย้อนกลับไปดูอดีตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขกับคนรักเก่าของเธอที่ได้ใช้เวลาด้วย เธอโหยหาเวลาที่ได้จบไปแล้วและขอร้องให้คนรักเธอกลับมาเหมือนในเพลง "Family Man" ในครึ่งหลังนั้น ลิลี่ได้เปรียบเทียบจุดจบของการสมรสของเธอเหมือนกับพ่อแม่ของตัวเธอที่ได้เลิกรากันไปตั้งแต่เธอยังเด็ก เธอจึงมองว่าลูกไม้ก็คงหล่นไม่ไกลต้น พ่อแม่ของฉันไม่ประสบความสำเร็จเรื่องความรักฉันใด ตัวฉันก็ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ต่างกันฉันนั้น

    แทรคอะคูสติกที่เดินดนตรีด้วยความ minimal จากเสียงกีต้าร์และเปียโนนี้ก็ถือว่าเป็นเพลงชิลล์สบาย ๆ ที่มีเนื้อหาหนักอึ้งไม่ต่างจากเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มเลย

    9. Three

    "This afternoon I made a papier maché fish, mum
    I made it just for you"

    หลังจากเพลงครึ่งแรกที่ลิลี่เน้นไปที่เรื่องของชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลวและความเศร้าต่าง ๆ ที่เธอต้องเจอในช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา "Three" เป็นแทรคที่พาเราได้ลิ้มลองกับเรื่องราวใหม่ ๆ ใน No Shame

    "Three" ถูกเขียนขึ้นผ่านมุมมองของลูกสาววัยละอ่อนของเธอ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่น่ารักมากเพราะปกติลิลี่จะขึ้นชื่อในเรื่องของการทำเพลงแบบแสบสันต์กัดจิกชาวบ้าน ใน "Three" คนฟังจะได้สัมผัสชีวิตในด้านความเป็นแม่ที่รักและใส่ใจลูกของเธออย่างหมดใจ มุมมองของลูกสาวของลิลี่ที่ถูกถ่ายทอดออกมาก็ยังมีตลกขบขันฟังแล้วชวนยิ้มได้ดีมาก

    เปียโนบัลลาร์ดที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เหมือนกับเพลงกล่อมเด็กนี้จึงเหมือนเป็นโมเม้นต์เล็ก ๆ ใน No Shame ที่ช่วยตัดมู้ดเศร้า ๆ ที่ลิลี่ขว้างปาใส่คนฟังมารัว ๆ ได้ดีทีเดียว

    10. Everything to Feel Something

    "From up and down, and down to up
    Sex, alcohol and drugs
    It's a long way off amazing
    But I can't ever see it changing"

    ต่อกันที่แทรคที่สิบ "Everything to Feel Something" ที่นับว่าเป็นแทรคที่มีความ personal สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของ No Shame เลย

    ในเพลงนี้ ลิลี่ยกประเด็นเรื่องของการใช้ยาเสพติดมาเป็นธีมหลักในการขับเคลื่อนเพลงบัลลาร์ดสายอิเล็กทรอพ็อพที่ใช้เปียโนช่วยเสริมมิติของเพลง ตัวลิลี่เป็นศิลปินที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำตัวสํามะเลเทเมาและเพลงในอัลบั้มชุดที่สองก็มีอยู่หลายเพลงที่หยิบประเด็นเรื่องการใช้ยาของตัวเธอมาเล่าให้ฟัง แต่ในเพลงนี้เป็นเหมือนครั้งแรกที่ตัวศิลปินสาวยอมรับถึงด้านมืดของการเสพติดสารเหล่านั้น หลังจากช่วงที่ต้องผ่านการเลิกราไป ลิลี่ได้หันไปพึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เธอได้กลับมามีความรู้สึกเหมือนคนปกติอีกครั้ง แต่ในเพลงนี้ เธอบอกให้คนฟังรู้ว่า ไม่ว่าเธอจะพยายามแค่ไหน ยา เหล้า หรือเซ็กซ์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเธอได้เลย

    "Everything to Feel Something" จึงเป็นอีกแทรคสำคัญของอัลบั้มที่ช่วยให้หลายคนได้รู้จักตัวตนของเธอได้มากขึ้น และอาจจะช่วยให้หลายคนที่กำลังต่อสู้กับการเสพติดเหล้ายาได้รู้ดีขึ้นอีกด้วย

    11. Waste (feat. Lady Chann)

    "You've changed
    You used to be my friend
    But I don’t know you, no"

    ความปากร้ายเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของตัวลิลี่ที่ทำให้เธอได้มีชื่อเสียงอยู่ทุกวันนี้ และหลายคนที่เป็นแฟนเพลงของเธออาจจะโหยโมเมนต์ร้าย ๆ ที่ได้ฟังกันมาตลอดสามอัลบั้มที่ผ่านมา และ "Waste" นี่แหละคือออริจินอลลิลี่ที่เรารออยู่

    "Waste" เป็น diss track หรือแทรคด่าคนแทรคเดียวที่เราจะได้ฟังกันใน No Shame เพลงนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยดนตรีเรกเก้จ๋า ๆ พร้อมด้วย Lady Chann ศิลปิน dancehall มาช่วยเสริมความโจ๊ะให้กับเพลงนี้

    ในด้านเนื้อหาก็ไม่ต้องปีนบันไดตีความหรือค้นบทสัมภาษณ์ฟังให้เหนื่อย เธอแค่มานั่งด่าพวกทำชีวิตเสียเวลาว่าเป็นขยะสกปรก ๆ ในชีวิตเธอ "Waste" จึงเป็นเพลงที่ไม่ได้ฟังเอาสนุกโยกโจ๊ะ ๆ อย่างเดียว ใครที่กำลังหัวร้อนเกลียดพวกคนสร้างพลังงานลบใส่ชีวิตก็ฟังเพลงนี้ระบายอารมณ์ได้เหมือนกัน

    12. My One

    "Baby
    I fucked half the boys in Paris
    And in New York, so embarrassed
    Cos I need my one"

    ถ้าหากจะบอกว่า No Shame เป็น break-up album ก็คงจะไม่ถูก เพราะ "My One" กลับเป็นหนึ่งในสองแทรคที่สุดแสนจะน่ารักและมีเนื้อหาในด้านบวก

    เพลงนี้ใช้ทีมโปรดิวเซอร์ทีมเดียวกับ "Perfect Illusion" ของ Lady Gaga เลย ซึ่งนั่นคือ Mark Ronson และ BloodPop® แต่เพลงนี้ไม่ได้มีความเป็นพ็อพร็อคเหมือนเพลงที่กล่าวไปแต่อย่างใด "My One" เป็นงานเพลงพ็อพเพียว ๆ ที่มีดนตรีกรุ๊งกริ๊งบอกเล่าถึงการที่ลิลี่พยายามตามหารักแท้ในชีวิตของเธอ

    ถึงแม้จะเป็นเพลงน่ารัก ๆ เนื้อหาสดใส แต่ลิลี่ก็ยังไม่ลืมที่จะมีการกัดตัวเองเหมือนเพลงก่อน ๆ ด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ one night stand ตามที่ต่าง ๆ ที่เธอเคยไป แต่ก็ไม่มีชายใดเลยที่เหมาะจะมาเป็น 'the one' ของเธอ

    13. Pushing Up Daisies

    "Will you stay with me till there's nothing left?
    When we've lost our teeth, sleep in separate beds
    When we're just a strain on the NHS
    Will you stay with me?"

    เมื่อข้างต้นได้กล่าวไปว่ามีเพลงเนื้อหาดี ๆ ด้านความรักอยู่สองเพลง แทรคที่สิบสาม "Pushing Up Daisies" นี่แหละคือเพลงรักที่สองของอัลบั้ม

    'Pushing up the daisies' เป็นคำสุภาพที่ใช้ในความหมายว่า 'ตาย' นั่นเอง ซึ่งเพลงนี้เธอก็ใช้สำนวนนี้มาใช้บอกเป็นเพลงรักที่ต้องการบอกให้คนรักของเธอว่าเราจะรักกันไปจนวันตายนั่นเอง ความน่ารักของเพลงนี้ก็มาจากเสียงแบ๊ว ๆ ของตัวลิลี่บวกกับการเขียนเนื้อที่สัมผัสได้ถึงความเคอะเขินของคนที่ไม่กล้าบอกรักกับใคร จึงใช้ความสำบัดสำนวนมาบอกเป็นนัยอีกฝ่ายให้อยู่รักกันไปจนแก่เถ้านะ

    "Pushing Up Daisies" เป็นอีกแทรคที่ได้รับกระแสที่ดีจากนักฟังเพลงมากมายที่ชอบความ tongue-in-cheek (ความขี้เล่น) ในการแต่งเพลงของลิลี่ บวกกับดนตรีที่ใช้บีทอาร์แอนด์บีและเสียงสังเคราะห์มากมายใส่ให้เพลงนี้มีลูกเล่นมากมาย

    14. Cake

    "Who's to say, you are not that one?
    Maybe it's, sleepless nights
    Eventually you'll get a piece of that patriarchy pie"

    และ No Shame ก็มาถึงแทรคสุดท้าย "Cake" ซึ่งต่างจากขนบของการปิดอัลบั้มของหลาย ๆ ศิลปิน เพราะเพลงนี้กลับเป็นเพลงพ็อพผสมกับ dancehall เบา ๆ ที่มีจังหวะสนุก ๆ และเนื้อหาโทนบวกมากที่สุดในอัลบั้ม

    ในบทสัมภาษณ์ของลิลี่กับ Rolling Stone เธอได้เล่าที่มาของ "Cake" ว่า ในช่วงที่เธอทำ No Shame นั้น เธอมีความรู้สึกขึ้นมาว่า เออว่ะ ชั้นต้องมีเพลงเนื้อหาดี ๆ มายัดใส่อัลบั้มบ้างนะ เธอจึงโทรหาโปรดิวเซอร์และบอกถึงเพลง "Cake"

    ในส่วนของเนื้อหา "Cake" เป็นเพลงสำหรับ feminism ที่ต้องการบอกให้สาว ๆ ทุกคนอย่ายอมจำนนต่อความคาดหวังของสังคม อยากเป็นอะไร เป็น! อยากทำอะไร ทำ! อยากกินเค้ก กิน! เพลงให้กำลังใจต่อสาว ๆ (และอาจจะรวมไปถึงคนฟังทุกเพศที่รู้สึกถึงแรงกดจากสังคม) เพลงนี้สำหรับลิลี่จึงเป็นเหมือนแสงปลายอุโมงที่โผล่มาหลังจากเดินทางผ่านความมืดและความซึมเศร้าต่าง ๆ ในชีวิตซะที


    Conclusion

    เทรนด์ของการทำอัลบั้มที่มีความเป็นส่วนตัวและกล้าที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองอย่างไม่มีกั๊กไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับวงการเพลงในยุคนี้แล้ว ซึ่ง Lily Allen ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ทำการคัมแบ็คพร้อมใช้คอนเสปต์ดังกล่าวมาสร้าง No Shame อัลบั้มที่ดีที่สุดในการเป็นศิลปินของเธอ

    หลังจากผ่านเรื่องราวพัง ๆ ในชีวิต บวกกับการรู้สึกไม่เป็นตัวเองกับการสร้างสรรค์งานเพลง No Shame คืองานเพลงที่ตัวลิลี่บอกว่าเธอรู้สึกภูมิใจที่สุดและมีความเป็นตัวเองที่สุด สิบสี่แทรคในอัลบั้มจึงเป็นงานเพลงที่ผ่านการขัดเกลาอย่างรอบคอบและมีความละเอียดอ่อนอย่างที่คนฟังทุกคนสัมผัสได้

    หลายครั้งที่สังคมมักออกมาประณามเหล่าผู้หญิงที่มีความกล้าในการแสดงความเป็นตัวตนด้วยคำด่าอย่าง "ไร้ยางอาย" No Shame เป็นอีกหนึ่งเสียงของสังคมสมัยใหม่ที่พิสูจน์ว่าผู้หญิงคนหนึ่งก็มีสิทธิ์มีเสียงที่จะบอกเล่าเรื่องของตัวเอง เพราะชีวิตของเราคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีแต่ความสวยงาม เราทุกคนมีข้อเสีย และงานเพลงชุดนี้ก็เป็นวิธีการของลิลี่ที่จะยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ต้องรู้สึกอับอาย


    ขอบคุณทุกคนที่กดเข้ามาอ่านนะครับ หากใครเป็นแฟนเพลงของ Lily Allen หรืออยากพูดคุยอะไรก็ตามเกี่ยวกับเพลง คอมเม้นต์พูดคุยกันได้เหมือนเดิมนะครับ อยากรู้ว่าในนี้มีใครรักลิลี่เหมือนเราบ้าง :)
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
noturtype98 (@noturtype98)
เราว่าเพลง Three มันไม่ได้สดใดขนาดนั้นนะ เนื้อเพลงเป็นมุมมองของลูกที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทิ้งลูกเพื่อออกไปทำงาน เราฟังแล้วเศร้ามาก อย่างท่อน please don’t go, stay here with me. it’s not my fault, I’m on three. เราว่าลิิลี่เขียนถึงลูกตัวเองรวมถึงมุมมองของตัวเองตอนเด็กที่ลิลี่เคยเจอด้วยนะ