เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Read-Out-Loudpoeticalization
คำนำ-คำนึง
  • นี่คืออะไร?

    บันทึกการอ่าน แบบที่เขาบังคับให้เขียนตอน ม.ปลายอะ แต่เฉพาะเจาะจงว่าจะเขียนถึงการอ่านวรรณคดีก่อนนอนของเรา.



    เขียนทำไม?

    เป็นคนขี้ลืม เวลาอ่านอะไรจะชอบคิดเรื่อยเปื่อยประกอบไปด้วย บางทีก็เดาความหมายของศัพท์บ้าง ตีความสิ่งที่อ่านบ้าง หรือนึกเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นที่มีอยู่ในหัว หลายครั้งสนุกไปกับการคิดขณะอ่าน หลายครั้งก็อยากนำมาเล่าต่อ แต่พอวางหนังสือปุ๊บ ไม่นานก็ลืม

    นิสัยอีกอย่างคือชอบอ่านหนังสือก่อนนอน โดยเฉพาะพวกวรรณคดี ไม่ใช่อ่านแล้วง่วงหรอกนะ แต่เพราะอ่านแล้วเพลิน ชอบเสียงคำ ชอบภาพ ทำให้รู้สึกเหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่ง เป็นการรีเซ็ตสมองตัวเอง ห้ลืมสิ่งรบกวนจิตใจในแต่ละวัน จะหลับง่ายขึ้น แต่ปัญหาของการอ่านก่อนนอนคือ พอตื่นมาก็ลืมความคิดก่อนนอน ครั้นจะหากระดาษมาไว้ใกล้ ๆ จด ก็ต้องลุกมาเปิดไฟ นั่งเขียนเป็นจริงเป็นจัง สมองตื่นตัว กลายเป็นไม่ง่วงไปซะอย่างนั้น

    สุดท้ายเลยตกลงใจเปิดแฟ้มบันทึกใหม่ขึ้นมา เพื่อตั้งใจเขียนอย่างจริงจัง เพราะเสียดายความคิดสนุก ๆ เหล่านั้น.

     

    เขียนให้ใครอ่าน?

    ตั้งใจเขียนเป็นบันทึกให้ตัวเองอ่าน เพราะคิดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต ทำให้เห็นว่าเราเคยอ่าน เคยคิด เคยเขียนอะไรมาแล้ว เอาไปต่อยอดได้เป็นจริงเป็นจัง แต่สิ่งที่เราอ่านและคิดค่อนข้างจะเป็นเรื่องเฉพาะทาง ถ้าเอามาแชร์ให้คนอื่นอ่านด้วย เขาก็อาจสนุกไปกับเราด้วย และจะมีความสุขมากถ้าสิ่งที่เราคิดเป็นประโยชน์ให้คนอื่นได้ต่อไป

    อีกอย่าง เรารักวรรณคดีไทย และอยากให้คนอ่านวรรณคดีไทยด้วย spirit แบบที่ฝรั่งอาจ Shakespeare กันได้ แต่เราก็เข้าใจธรรมชาติวรรณคดีไทยที่แตกต่างจากบทละครอังกฤษ แล้วก็มีกติกาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ทำให้คนไม่อยากอ่าน หรืออ่านแล้วไม่อยากอ่านต่อ เราจะคอยแต่เชียร์ว่า "มาอ่านกันเถอะ มาอ่านกันเถอะ" ก็คงไม่เวิร์ก เอาเป็นว่าเรามาอ่านแบบมะงุมมะงาหราไปพร้อมกันดีกว่านะ.



    ควรอ่านบันทึกนี้ยังไง?

    ไม่มีอะไรมาก เราจะตัดตอนวรรณคดีหรือตัวบทที่เราชอบมาแปะ แล้วอาจจะเขียนความคิดที่เกิดขึ้นขณะอ่านให้ดู บางครั้งอาจเป็นการอธิบาย บางครั้งอาจคาดเดาความหมายของคำหรือข้อความ บางครั้งพรรณนาความประทับใจ หรือชวนสนทนาไปเรื่องอื่น ดังนั้นบันทึกนี้จึงไม่มีรูปแบบแน่นอนตายตัว บางทีอาจถอดความ เพราะอยากบันทึกความเข้าใจของตัวเอง บางครั้งอาจพร่ำเพ้อไปบ้าง เพราะชอบมาก รักมาก 

    แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่บทความวิชาการ เราอาจเล่าเรื่องวรรณคดีจากมุมมองของเรา เพราะเราอยากให้วรรณคดีมีความหมายในใจเรา ต่อใจเรา ในแบบของเราเอง



    อยากฝากอะไรถึงคนที่หลงเข้ามาอ่าน

    ตั้งใจให้เป็นบันทึกความคิดที่เกิดขึ้นชั่วขณะที่อ่าน ไม่ใช่บทความวิชาการที่เน้นความถูกต้อง จึงไม่แนะนำให้อ้างอิง เพราะสิ่งที่เขียนอาจจะไม่ถูก บางเรื่องบางประเด็น เรามีหนังสือใกล้มือ พอค้นได้ ก็จะอ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเดา หรือบางทีเราอาจได้เรียนอะไรมาจากห้องเรียน แต่ลืมไปแล้วว่าวิชาอะไร มาจากครูท่านไหน เลยเน้นอธิบายความคิดความรู้สึกหรือจินตภาพที่เราเห็นขณะอ่านมากกว่า หรือไม่ก็บอกว่า อา...ชอบบทนี้จัง สวยมาก เพราะ... แบบนี้เป็นต้น 

    ดังนั้น ย้ำอีกครั้งว่า **ไม่ควรอ้างอิง** แต่อ่านแล้วคิดต่อ จะคิดแย้งก็ได้  หรือตามไปอ่านเหมือนเราก็ได้ หรือหากใครมีคอมเม้นต์ อยากให้อ่านเรื่องไหน อยากให้พูดถึงอะไรก็ฝากทิ้งไว้ได้

    สุดท้าย เนื่องจากเป็นบันทึกตามใจ จึงไม่มีกำหนดอะไรแน่นอน แต่ละเรื่องอาจมีจำนวนตอนไม่เท่ากัน ยกตัวบทมาไม่เท่ากัน วันไหนเราอยากอ่านก็อ่าน หมดแรงก็หยุด ไม่มีทางรู้ได้ล่วงหน้า เหมือนกับชีวิตนั่นแหละ.




    Yours,
    มะเขือ.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in