เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Read-Out-Loudpoeticalization
Read-Out-Loud :: สมุทรโฆษคำฉันท์ : ประณามพจน์
  • Disclaimer: งานเขียนนี้เป็นบันทึกการอ่านส่วนตัว เขียนเพื่อบันทึกความคิดความรู้สึกชั่ววูบในขณะที่อ่านวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่อนุญาตให้อ้างอิงในทางวิชาการหรืองานเขียนอื่นใด แต่ชวนให้ไปอ่านด้วยกัน คิดด้วยกัน เพื่อให้วรรณคดีมีความหมายในใจเรา ต่อใจเรา ในแบบของเรา. :)


    ___________________________________________________________________________________________



    อา...สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นวรรณคดี 1 ใน 4 เรื่องที่เรารักที่สุดเลยล่ะ อีก 3 เรื่องคือ ทวาทศมาส ลิลิตพระลอ และขุนช้างขุนแผน แต่ถ้าให้เทียบแบบคำต่อคำ อารมณ์ต่ออารมณ์ ยังขอยกให้สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นที่หนึ่งเสมอ



    ถ้าจะให้สรุปเนื้อเรื่องสั้น ๆ ของสมุทรโฆษคำฉันท์  ขอให้นึกถึงหนังที่สร้างจากตำนานวีรบุรุษครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพของกรีก แบบธีซิอุส เพอร์ซิอุส เฮราเคลส ประมาณนั้น โครงเรื่องหลัก ๆ ว่าด้วยวีรกรรมของพระสมุทรโฆษ เจ้าชายผู้ทรงฤทธิ์ รอบรู้ศิลปศาสตร์ ออกท่องเที่ยวป่าเพื่อจับช้างตามขนบกษัตริย์โบราณ  ด้วยความเป็นผู้มีบุญ เมื่อพักค้างแรมในป่าก็มีเทพอุ้มเหาะพาไปสมรักกับเจ้าหญิงผู้มีรูปโฉมงดงามนามว่า พินทุมดี แต่ก่อนจะได้รักกันดีก็ต้องรบกับกษัตริย์เมืองอื่น ๆ ที่ปรารถนานางเช่นกัน ซึ่งพระเอกของเราก็เอาชนะได้โดยง่ายเพราะความเป็นคนเก่งคนมีบุญนั่นแหละ หลังจากนั้นยังมีเหตุการณ์ที่พระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดีต้องพลัดพรากกันอย่างน่ารันทดอีก แต่จะเว้นไว้ ยังไม่พูดถึง (เพราะยาว เหนื่อย 5555)



    วันนี้จะเริ่มต้นด้วยการอ่านส่วนที่เรียกว่า "ประณามพจน์" คำว่า ประณาม นี่เห็นแวบแรกอาจเข้าใจว่าแปลว่าการด่า แบบประณามหยามเหยียด แต่คำนี้ยังมีความหมายอีกอย่างคือการไหว้ น้อมไหว้ ในพจนานุกรมราชบัณฑิต (ต่อไปจะเขียนว่า รบฑ.) ให้อีกคำที่รูปเขียนใกล้ ๆ กันคือ ประณม ซึ่งก็คือไหว้นั่นแหละ ประณามพจน์ จึงน่าจะแปลได้ว่า ถ้อยคำที่แสดงการน้อมไหว้ หรือถ้อยคำที่แสดงความเคารพ ซึ่งเนื้อความก็เริ่มต้นตั้งแต่การไหว้พระพุทธเจ้าตามคติการไหว้ครูไทย (จริง ๆ มีเยอะกว่าที่ยกมา แต่เอาแค่นี้ก่อน) ดังนี้ 

    [ตัวบทจากเว็บไซต์ออนไลน์ ห้องสมุดวชิรญาณ ดูได้ที่ลิ้งนี้ สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนที่ 1 ]

    ๏ พระศรีศรีสรศาสดา...............มีพระมหิมา
    นุภาพพ้นตยาคี

    ๏ เนืองนาคอสุรกษัตรีย์.............โอนมณีโมลี
    บำบวงในบาทกมล

    ๏ โปรดโลกทั้งภูวมณฑล............ท่าวพรหมบดล
    ก็ถึงแก่สรณบคลา
      
    ๏ ข้านบน้อมด้วยใจสา-..............ทรทูลบาทา
    รพินทุพระมุนีวร



    มา...มาอ่านด้วยกันทีละบท

    ๏ พระศรีศรีสรศาสดา...............มีพระมหิมา
    นุภาพพ้นตยาคี

    1) ตรงนี้แต่งเป็นกาพย์ยานี 16 แบ่งเป็น 3 วรรค วรรคละ 6 คำ 4 คำ 6 คำ ตามลำดับ 


    2) เริ่มต้นบทแรก วรรคแรก ออกคำเรียกพระพุทธเจ้าว่า พระศรีศรี นึกถึงบทสวดพระเวทของพราหมณ์ภาษาสันสกฤตที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ศรี"  เรื่องสมุทรโฆษนี้มีร่องรอยแสดงให้เห็นอิทธิพลทั้งวรรณคดีบาลีและสันสกฤต เลยคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย และแล้วก็จะได้ประมาณว่า ขออัญเชิญศรีแห่งพระศาสดา(มาอำนวยพรให้แก่กวีหรือให้แก่วรรณคดีเรื่องนี้) 

    เอาจริง ๆ วรรคนี้ขึ้นต้นมาแล้วนึกถึงรู้ไรปะ นึกถึงวรรคแรกของมหากาพย์ Iliad ของ Homer เลย วรรคแรกของอิเลียดขึ้นต้นว่า:

    'Sing, O muse, of the rage of Achilles, son of Peleus,
    that brought countless ills upon the Achaeans.'

    แปลง่าย ๆ ได้ว่า โอ เทพธิดามิวส์ (เทวีแห่งศิลปวิทยาการ) ขอจงขับขานบทเพลงแห่งความโกรธาของอคิลีส บุตรของเพเลอัส ที่นำพาโรคร้ายและหายนะมาสู่ชาวอาเคียน (ชาวกรีก) นั้นเทอญ หรือแปลเป็นกาพย์อย่างสมุทรโฆษได้ว่า:

    ศรีศรีมิวเส็สเทพธิดา.
    ความแค้นโกรธา
    แห่งอคีลิส, บุตรหาญ

    แห่งเจ้าเพเลอัสตระการ
    เชิญนางครวญขาน
    ความพิโรธฟาดโทษอาเคียน.

    จะเห็นได้ว่ามนุษย์ที่อยู่ต่างวัฒนธรรมกลับมีร่องรอยความคิดในการเล่าเรื่องราวของวีรบุรุษคล้าย ๆ กันอยู่นะ


    3) วรรคที่สองกับสามต่อกัน เป็นว่า มีพระมหิมานุภาพพ้นตยาคี มหิมานุภาพ ก็คือ มหิมา (ไทยเขียน มหึมา) + อานุภาพ หมายถึ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีอานุภาพมาก มากแล้วยังไง? ก็มากพ้นตยาคี คือมีอานุภาพมากกว่าตยาคี คำว่า ตยาคี นี้ รบฑ. ให้ความหมายว่า ผู้บริจาค วีรบุรุษ หรือนักพรต ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีพระสูตรที่ยกย่องพระพุทธเจ้าว่าทรงเหนือกว่านักพรตหรือนักบวชที่เผยแพร่หลักธรรมแข่งกันในสมัยพุทธกาล (ตยาคี ต+ย [t+y] แผลงมาจาก จ [c] ประเด็นการแผลงเสียงซับซ้อนในทางสัทศาสตร์สันสกกฤต อธิบายไปก็ยืดยาว เอาเป็นว่ามันแผลงได้ เหมือน สัจจะ แผลงเป็น สัตยะ)

    โดยสรุป บทนี้จึงน่าจะแปลได้ว่ขออัญเชิญศิริหรือความเป็นมงคลแห่งพระศาสดา พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีอานุภาพยิ่งใหญ่ เหนือนักบวชทั้งปวง

    แต่ตรงวรรคท้ายนี้เรามีความเห็นต่างนิด ๆ คือ เราคิดว่ากวีอยุธยาคนแต่งสมุทรโฆษคำฉันท์มีนิสัยอย่างนึงคือ ชอบใช้คำหลายความหมาย ตีความได้หลายระดับหลายแบบ โดยเฉพาะการใช้คำสันสกฤต ซึ่งตีความได้หลายความหมาย เกิดจากการแยกสมาสของคำได้หลายแบบ คำว่า ตยาคี นอกจากจะหมายถึงนักบวชแล้ว รูปศัพท์อาจถอดเป็น ติ (สาม) + อัคคี (ไฟ) แปลว่า ไฟสามกอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ซึ่งแนวคิดเปรียบเทียบของไม่ได้สามอย่างนี้ว่าเป็นไฟสามกอง มีอยู่ในอัคคิสูตรในคัมภีร์อิตติวุตกะ ชั้นพระไตรปิฎก ระบุว่า ผู้ถึงนิพพานคือผู้ที่ดับไฟทั้งสามกองได้ 

    เราเคยนำความหมายไฟสามกองนี้ปรึกษากับพี่ที่เรียนวรรณคดีด้วยกัน ได้ข้อสรุปว่า ตยาคี ในที่นี้น่าจะสื่อความได้ทั้งสองอย่าง และน่าจะเป็นสิ่งที่กวีจงใจด้วย แล้วก็ไม่เป็นปัญหาต้องเถียงกันว่าจะถอดความว่าอย่างไร เพราะเมื่อมองในมุมของกวี นี่ก็เป็นแสดงความ proud ได้อย่างหนึ่งเลยนะว่า เนี่ย ฉันสามารถเอาความหมายสองแบบมาใส่ไว้ในคำเดียว แม้แปลไปทั้งสองทางแล้วก็ยังเป็นการสรรเสริญพระพุทธเจ้าอยู่ (ค่ดเท่)


    ๏ เนืองนาคอสุรกษัตรีย์.............โอนมณีโมลี
    บำบวงในบาทกมล

    4) บทนี้ขยายความต่อจากบทแรกว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีอานุภาพยิ่งใหญ่นั้น เป็นที่เคารพของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งในโลกมนุษย์และโลกศักดิ์สิทธิ์ 

    กวีเริ่มต้นด้วยคำว่า เนือง ซึ่งเราน่าจะคุ้นเคยจากคำว่า เนืองนอง อ่านแล้วนอกจากจะเห็นภาพความหนาแน่น ก็ยังเห็นการเคลื่อนไหวของกระแสน้ำที่ไหลมาไม่สิ้นสุด หรือกระแสผู้คนหนาแน่นแบบในงานหนังสือหรืองานลดราคาอะไรแบบนั้น เนือง นี้อาจแปลว่า เหล่า ก็ได้มั้ง ใช้ขยาย นาคอสุรกษัตรีย์ อาจแปลว่เหล่าเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ คือนาค อสูร และกษัตริย์แว่นแคว้นต่าง ๆ ต่างมากันอย่างเนืองนอง

    5) วรรคถัดมาบรรยายต่อว่าแล้ว เนืองนาคอสุรกษัตรีย์ มาทำอะไร? 

    ก็มา--โอนมณีโมลี--เอามณีที่ประดับบนยอดมวยผมมา--บำบวงในบาทกมล--มาบวงสรวงบูชาที่เท้าที่เหมือนกับดอกบัว(ของพระพุทธเจ้า) การใช้คำว่า โอน นี่น่าสนใจ เพราะ โอน ในเบื้องต้นนี่แปลว่า ให้ เหมือนที่เราโอนเงิน โอนที่ดินอะ แต่เรายังนึกถึงคำว่า โอนอ่อน คือ ยินยอม หรือผ่อนตาม การเลือกใช้คำว่าโอนก็ยิ่งแสดง manner หรือกริยาของเหล่านาค อสูร และกษัตริย์ ที่ดูสงบเสงี่ยมมากเมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า 

    ส่วน มณีโมลี นี่ก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญ คือน่าจะหมายถึงเครื่องประดับอันแสดงฐานะของผู้ปกครองหรือชนชั้นสูง (นึกภาพเพชรยอดมงกุฎนะ) การที่เผ่าต่าง ๆ ยอมถอดอัญมณีที่ประดับส่วนที่สูงสุดของตน ไปบูชาเท้าที่เป็นส่วนต่ำสุดของพระพุทธเจ้า จึงเป็นการแสดงความอ่อนน้อมอย่างที่สุด

    สุดท้าย คำว่า บาทกมล ตรงนี้เป็นขนบแบบวรรณคดีพุทธศาสนา และส่งทอดมาถึงวรรณคดีไทยด้วย คือเปรียบเทียบเท้าของผู้มีบุญหรือคนที่มีรูปโฉมงดงามว่าเหมือนดอกบัว---อันนี้เราเองไม่แน่ใจว่าเปรียบในลักษณะไหน มองได้หลายมุมมาก เช่น นึกภาพเท้าเรายืนบนพื้น ฝ่าเท้าเราก็จะราบไปกับพื้น ถ้าเรามองจากด้านบน ช่วงส้นเท้าเราจะแคบ แล้วกว้างออกตรงกลางเท้า แล้วพอถึงช่วงนิ้ว มันก็กลับแคบลง ลักษณะเหมือนดอกบัวหนึ่งกลีบที่วางคว่ำ (ใครนึกไม่ออกลองเสิชภาพ กลีบดอกบัว ดู) หรือถ้ามองจากด้านข้าง ตรงหลังเท้าจะงุ้ม ๆ เหมือนดอกบัวตูม ---แต่ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบในมุมใด ก็มีนัยยะว่าเท้าของพระพุทธเจ้านั้นงดงามและบริสุทธิ์ (นึกภาพกลีบบัวขาว มีฝนตกลงมาจับ แต่ไม่ซีมเข้า แค่ไหลไปตามกลีบ)

     


    ๏ โปรดโลกทั้งภูวมณฑล............ท่าวพรหมบดล
    ก็ถึงแก่สรณบคลา
      

    6) บทนี้เป็นบทที่เราว่าเก๋มาก น่าสนใจมาก แสดงความแกรนด์ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้ามาก ๆ เริ่มต้นจากบอกว่าพระพุทธเจ้า โปรดโลก  แล้วขยายว่าทั้ง ภูวมณฑล มาจาก ภูว+มณฑล 

    ตรงนี้ขออธิบายคำว่า มณฑล ก่อน ทั่วไปเราอาจคุ้นคำว่า มณฑล ที่เป็นคำเรียกเขตการปกครองของจีน เช่น มณฑลเสฉวน  แต่ในทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในคัมภีร์มหายาน  มณฑล มีความหมายถึงขอบเขตหรือภพภูมิต่าง ๆ  ถ้าคุณเสิชคำว่า mandala ในกูเกิล (คือคำว่า มณฑล เขียนด้วยอักษรโรมันนั่นแหละ) คุณจะเห็นรูปภาพสีสันหลากหลาย ซึ่งเขาจะอธิบายว่าเป็นภาพตารางของทิเบต ซึ่งรูปทรงเลขาคณิตต่าง ๆ ในภาพเหล่านั้นแสดง "มณฑล" หรือภพภูมิของสรรพสิ่งต่าง ๆ  

    ส่วนคำว่า ภูว- ซึ่งเราอาจเคยเห็นจากคำว่า ภูวนัย ภูวนาถ ที่แปลว่าพระราชา ภูว- ก็จะแปลว่าแผ่นดิน (รบฑ.) แต่ความหมายดั้งเดิมของ ภูว- ในสันสกฤต มาจากธาตุ ภู /bhu แปลว่า มีหรือเป็น ซึ่งเป็นรากเดียวกับคำว่า ภาวะ หรือภาพ [ถ้าอังกฤษก็สัมพันธ์กับกริยา be]

    โดยรวมแล้วอาจแปลได้ว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีอานุภาพมาก ได้ทรงแสดงธรรมโปรดโลกทั่วทุกภพภูมิต่าง ๆ ตรงนี้ก็จะสอดรับกับ นาคอสุรกษัตรีย์ ด้วย [อาจจะตีความว่าทุกภพภูมิในที่นี้ เป็นภพภูมิทางจิตก็ได้ ว่าฉลาดน้อยฉลาดมาก เข้าใจธรรมได้มากแค่ไหน หรืออาจจะเป็นภพภูมิของสายพันธุ์ต่าง ๆ จริง ๆ ก็ได้]

    7) ส่วน ท่าวพรหมบดล นี่ต้องอธิบายก่อนว่าในพระพุทธศาสนามีเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงความยิ่งใหญ่ในการสั่งสอนสัตว์โลกของพระพุทธเจ้าอยู่มาก เรื่องที่ทุกคนน่าจะเคยผ่านหู แต่อ่านไม่รู้เรื่องคือเรื่องท้าวพกาพรหม ซึ่งอยู่ในบทสวดชัยมงคลคาถา หรือบทพาหุงว่าด้วย ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า 8 ครั้ง ซึ่งการปราบพยศของท้าวพกาพรหมอยู่ในบทที่ 8 ขึ้นต้นว่า "ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ" เรื่องมีว่าท้าวพกาพรหมเป็นผู้มีทิฏฐิมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงฤทธิ์ปราบพยศพระพรหมองค์นั้น สุดท้ายท้าวพกาพรหมเลยยอมนับถือพระพุทธเจ้าและพระรัตนตรัย

    ที่ว่า พรหมบดล ในบทนี้ เราว่าน่าจะหมายถึงท้าวพกาพรหม เพราะคำว่า ดล รบฑ. อธิบายว่า บันดาลให้มี หรืออาจแปลว่า "ถึง" ซึ่งความหมาย "ถึง" นี่แหละ ที่แปลว่าสยบยอม เพราะในบท ไตรสรณคมน์ ที่ว่า พุทธัง/ธัมมัง/สังฆัง สรณัง คัจฉามิ  สำนวนบทสวดมนต์แปลก็จะว่า ข้าพเจ้าขอ "ถึง" ซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพราะคำว่า คัจจามิ มาจากธาตุ คมฺ แปลว่า ไป หรือ มา (เช่น มีนาคม ก็แปลว่า การมาถึงของกลุ่มดาวมีน) แล้วในวรรคถัดมาก็พูดต่อด้วยว่า ก็ถึงแก่สรณบคลา  แปลว่า ได้ถือเอา (พระพระพุทธเจ้า) เป็นสรณะ ไม่เคลื่อนไปไหน ด้วยเหตุนี้ เราอาจตีความได้ว่า พรหมบดล แปลว่าพระพรหมซึ่งไม่ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย นั่นเอง 

    8) ทีนี้มาถึงคำว่า ท่าว ในรบฑ. ให้ความหมายว่า ล้ม ยอบ ทบ มีตัวอย่างใน ลิลิตพระลอ ว่า พระลอมีความทุกข์ในใจเปรียบเหมือนกับ ถนัดดั่งไม้ร้อยอ้อม ท่าวท้าว ทับทรวง คือเหมือนต้นไม้ที่มีขนาดร้อยคนโอบล้มทับ แต่ถ้าเป็นความหมายนี้ ท่าวจะมีลักษณะเป็นกริยาที่ไม่ต้องการกรรม คือ ประธาน (something) + ท่าว (ล้ม/ยอบ/ทบ) แต่เราว่าในบริบทนี้ ท่าว มีลักษณะเป็นกริยาแบบ causative เหมือนคำว่า interest ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า ทำให้สนใจ เวลาเขียนว่าเราสนใจอะไร อังกฤษจะต้องเขียนเป็น I'm interested. แปลตรงตัวว่า เรา(ถูกทำให้)สนใจ  

    เหตุผลที่ทำให้เราคิดว่า ท่าว นี้เป็น causative เพราะเชื่อว่ามาจากอิทธิพลภาษาเขมรในสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะในภาษาเขมรมีคำจำนวนมากที่เมื่อเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของคำเล็กน้อย ก็จะเปลี่ยนหน้าที่ทางไวยากรณ์ เช่น คำว่า เกิด เป็นกริยา แปลว่า เกิด แต่ กำเนิด เป็นคำนาม แปลว่า การเกิด เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ น่าจะส่งผลต่อการใช้คำของกวีผู้แต่งสมุทรโฆษด้วย เพราะในเรื่องนี้ก็มีคำเขมรอยู่เยอะมากและมีการใช้คำต่างรูปเยอะ และแน่นอนว่าในบริบทของวรรณคดีที่กวีมีสิทธิ์ยิ่งกว่าเทพเจ้า การจะมีวิธีการใช้คำแบบใหม่ ๆ ให้เกิดความหมายใหม่ ๆ ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร (มั้ง? 5555)

    *(เรื่องยุคสมัยของสมุทรโฆษคำฉันท์ และลักษณะคำเขมร ดูในรายชื่อหนังสืออ่านต่อด้านล่าง)

    โดยรวม เราอาจแปลบทนี้ได้ว่า พระพุทธเจ้าผู้แสดงธรรมโปรดโลกทุกภพภูมิ (ได้ทรงทำให้) พระพรหมผู้ไม่ยอมรับในพระรัตนตรัย ให้มานับถือพระองค์ ไม่เคลื่อนคลาไปไหน


    ๏ ข้านบน้อมด้วยใจสา-..............ทรทูลบาทา
    รพินทุพระมุนีวร

    9) สุดท้าย ก็มาถึงตัวกวีเอง บอกเลยว่า ขอนบน้อมด้วยใจอัน "สาทร" รบฑ. ให้ความหมาย "สาทร" ว่า เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ ในที่นี้น่าจะหมายถึง กวีสยบยอม ขอถึงพระพุทธเจ้าอย่างเอาใจใส่ อย่างตั้งใจ อย่างมั่นคง  แล้วตำแหน่งที่กวีเอาใจไปวางนั้นที่ไหนเหรอ ก็เป็นที่เท้าของพระพุทธเจ้าอีกนั่นแหละ เหมือนกรณีของนาค อสูร กษัตริย์เอามณีโมลี ไปวางไว้ที่พระบาทอะ แปลว่ากวีนับถือใจตัวเองว่าเป็นของสูงนะ--อันนี้ต้องเข้าใจว่า "ใจ" ในบริบทโบราณรวมเอาทั้งความรู้สึกและความคิด เพราะความเข้าใจเรื่องสมองอะไรนี้ยังไม่มีหรอก แปลว่ากวีต้องยกย่องใจตัวเอง [ความรู้สึก+ปัญญา] สูงสุดไม่ต่างจากอัญมณีประดับเครื่องศิราภรณ์ของกษัตริย์เลย 

    10) วรรคสุดท้ายนี้เราต้องอ่านต่อเป็น  (บาทา)รพินทุพระมุนีวร คำว่า "รพินทุ" นี้ รุ่นพี่ที่มีความรู้ทางบาลีกรุณาแปลให้ว่า หมายถึง รวิ (หรือ รพิ แปลว่าพระอาทิตย์) + อินทุ (พระจันทร์) แปลโดยรวมคือ ฝ่าพระบาทที่มีรอยรูปพระจันทร์และพระอาทิตย์แต้มอยู่ ซึ่งเป็น 2 รูปในรูปมงคล 108 ประการที่เชื่อว่าปรากฎอยู่บนฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า ส่วนเหตุที่เลือกรูปพระจันทร์กับพระอาทิตย์นี้มากล่าวถึง ยังไม่แน่ใจนัก เราเดามั่ว ๆ ว่าจะเป็นการข่มจันทรวงศ์กับสุริยวงศ์ซึ่งเป็นคติของผู้มีบุญในวรรณคดีสันสกฤตไหม เพราะจันทรวงศ์คือวงศ์ของพระรามในรามเกียรติ์ ส่วนสุริยวงศ์คือวงศ์ของพี่น้องปาณฑพในมหาภารตะ แต่เรื่องนี้ต้องการจะชูพระสมุทรโฆษซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ให้เด่นเป็น Hero หรือเปล่า แต่ก็นั่นแหละ นี่คือเดามั่ว ไม่มีหลักฐานสนับสนุนใด ๆ



    ******



    วันนี้ขอจบเท่านี้ก่อน ตอนแรกตั้งใจว่าจะเขียนจนจบบทประณามพจน์ ไหว้เทพเจ้าจนเสร็จถึงแถลงที่มาของเรื่อง ประมาณ 16 บท เพราะชอบมาก ชอบจนท่องได้ แต่สุดท้ายไหว้พระพุทธเจ้าอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว 5555 ถ้ามีแรงต่อ จะกลับมาเขียนต่อนะครับ สวัสดี



    ยัวรส์,
    มะเขือ.



    Further Reading - หนังสือแนะนำอ่าน
    - ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. 2547. วรรณคดีอยุธยาตอนต้น : ลักษณะร่วมและอิทธิพล.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

    - ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. 2552. ปัญหา "กัมพุชภากย์" บางคำในเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์. วารสารศิลปศาสตร์.  10, 1(มกราคม-มิถุนายน): 1-24. ต้นฉบับออนไลน์เข้าถึงได้ ที่นี่ 

    - สุมาลี กียะกูล. 2519. สมุทรโฆษคำฉันท์ส่วนที่แต่งสมัยกรุงศรีอยุธยา : การวิเคราะห์และวิจารณ์เชิงประวัติ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ต้นฉบับออนไลน์เข้าถึงได้ ที่นี่

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
nningr (@nningr)
สุดยอดเลยค่ะ มีประโยชน์ต่อการศึกษามาก ขอบคุณค่ะ