เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Music Producer Lifecrisca
EP5 : รักแรกพบกับดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น
  • กลับจาก รพ. แล้ว นอนเป็นตาย แล้วงานพอกหางหมูไว้เยอะมาก หาเวลาเขียนต่อได้ไม่เยอะ ขอบคุณคนที่ติดตามอ่านอยู่ อาจจะอัพตอนใหม่ๆช้านิดนึงนะครับ 

    ปี 2001-2005
    อายุ 18-22 ปี
    มหาวิทยาลัย ปี 1 ถึงรับปริญญา

    playlist ประกอบการอ่าน ]

    ประมาณ ปี 2000 ปลายๆ สมัยที่ยังบ้าเพลงเบเกอรี่อยู่ มีอัลบั้มหนึ่งที่มีผลต่อชีวิตฉันค่อนข้างมาก นั่นคือ mr. z return to retro ของ พี่ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ เป็นอัลบั้มที่เปิดโลกให้ฉันได้รู้จักดนตรีอินดี้จากญี่ปุ่น

    กับด้วยความที่มี role model คนใหม่ เลยเริ่มสนใจเส้นทางของการเล่น dj และ การ remix เพลง ถึงขนาดไปเรียน และออกงาน ทำงานเป็นดีเจ อยู่พักใหญ่ๆ (4 ปีได้) ซึ่งทำให้ฉันได้เรียนรู้แนวเพลง electronic ทั้งหลายอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเริ่มเพาะบ่มความอินพวก house music และ fashion music อีกแนวหนึ่ง

    ช่วงนี้ฉันพักเรื่องการแต่งเพลงไว้ก่อน เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ฉันพยายามฝึกฝนโดยการแต่งเพลงมาเรื่อยๆ ช่วงมัธยม แต่พบว่า ทำยังไงเพลงก็ออกมาเหมือนเบเกอรี่ มีลายมือพี่บอยด์อยู่เต็มไปหมด (ก็แหงสิ บ้าเบเกอรี่ซะขนาดนั้น) ผมไม่ได้คิดว่าลายมือของพี่บอยด์ไม่ดี เพียงแต่มันไม่ใช่เพลงในอุดมคติที่ผมอยากทำเลย ทำยังไงผมก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากลายมือแบบเบเกอรี่ได้ ฉันชอบเพลงเบเกอรี่นะ แต่ฉันไม่ได้อยากทำเพลงแบบเบเกอรี่ ก็เลยคิดใช้วิธี "หลอมตัวเอง" 

    การหลอมตัวเองของผม มาจากหลักการ "input ทั้งหมดรวมกัน = output"
    เพราะฟังอะไรมาเยอะ เล่น-ร้อง เพลงแบบนั้นเยอะ พอทำเพลงตัวเองมันก็จะออกมาเป็นแบบนั้น ช่วงเวลาที่ผมอินเบเกอรี่ และเริ่มเล่นดนตรี-ร้องเพลง-แต่งเพลง ผมใส่ input แบบเบเกอรี่มากเกินไป เป็นเวลาหลายปี

    ฉันจึงตัดสินใจ หยุด ทุกอย่างที่เป็นการเพิ่ม input ที่ไม่ต้องการ

    ไม่เล่น-ไม่แกะ-ไม่ร้อง รวมไปถึง ไม่ฟัง

    ไม่ใช่แค่เพลงเบเกอรี่ แต่รวมถึงเพลงไทยแบบที่ไม่อยากทำเพลงสำเนียงแบบนั้น ฉันต้องขจัดความคุ้นชินในการใช้ตัวโน๊ตและคอร์ดสำเนียงแบบนั้นให้หมดไป และมันคงต้องใช้เวลาหลายปี กว่าที่ input ใหม่ มันจะมาสะสมทับถมของเก่าจนมันเจือจางไป

    นั่นแหละเลยเป็นสาเหตุอีกอย่าง ที่มาเป็นดีเจดู เพราะต้องการหลอมให้ตัวเองได้ซึมซับสิ่งที่เป็น electronic music , fashion music , house และค่อยๆ shave ตัวตนดนตรีในอุดมคติที่เราอยากทำทีละนิดๆ ผมเพิ่ม input พวกอินดี้ที่มีสำเนียงแตกต่างออกไป เพื่อเจือจางสำเนียงแบบเบเกอรี่ในตัวให้ได้ และหนึ่งใน input ที่สำคัญที่สุดเป็นสิ่งที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้

    กลับมาที่อัลบั้มนั้นของ mr.z ความรู้สึกแรกที่ได้ฟัง "sweet soul revue" หรือ "สงสัย" ที่ นาเดีย ร้อง มันคือความสดใหม่ของบรรยากาศตอนเช้า เป็นกลิ่นและรสชาติที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเพลง ไทย สากล และญี่ปุ่น ฉันหลงรักมันตั้งแต่แรกพบ 

    ช่วงนั้นในการโปรโมท พี่สมเกียรตินิยามแนวดนตรีนี้ว่า lounge music ด้วยความเนิร์ดของผมก็เลยพยายามไปค้นหาข้อมูลต่อ ว่ามันคืออะไร มีศิลปินแนวๆไหนที่ใกล้เคียงแบบนี้อีก แม้จะถามป้าโดเรมีเองก็ยังไม่รู้ ขนาดเราคิดว่าฟังเพลงมาเยอะหลากหลายแนว ฟังเพลงแปลกๆมามากแล้ว ทำไมยังเพิ่งเคยเจอสำเนียงแบบนี้

    หลังจากผจญภัย และค้นหาในดนตรีแนวนี้มาสักพัก และทำให้พบว่า ต่อให้ไป search หา คำว่า lounge music ก็ไม่เห็นจะเจอดนตรีแบบนี้เท่าไรเลย ทำไมมันหายากนัก แต่โชคดียังดีที่ mr.z เอง ทิ้ง hint ไว้ให้เนิร์ดอย่างผม โดยการเขียนเครดิตไว้ในปกอัลบั้มแบบตรงไปตรงมา ว่า เพลง sweet soul revue มันคือเพลงของวง pizzicato five จากญี่ปุ่น ที่นำมาแปลเป็นเนื้อไทย 

    ผมใช้เวลาค้นหามันอยู่ระยะหนึ่งในอินเตอร์เน็ตที่ค่อนข้างมีข้อมูลน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับสมัยนี้ มักจะต้องตามจาก เวบขายแผ่น hmv ของญี่ปุ่นและ link ไปยังศิลปินใกล้เคียงมาแทน และแล้วด้วยความหมกมุ่น จู่ๆวันนึงผมก็เจอคีย์เวิร์ดแปลกๆคำนึง

    "Shibuya-kei"

    "ชิบุยะ-เคย์"

    คืออะไรวะ?

    wiki ตอนนั้นยังไม่มีคำนี้เลย แต่มีฝรั่งที่คลั่งแนวนี้ได้ทำบทความไว้ และอธิบายไว้ประมาณว่า มันคือ scene ดนตรีของญี่ปุ่น scene นึง ที่เกิดขึ้นที่ย่าน ชิบุย่า มีกลุ่มก้อนศิลปิน ที่ซาวด์ดนตรีใกล้เคียงกัน ประมาณนี้ ( ใครอยากรู้เรื่อง shibuya-kei เต็มๆ ผมเคยเขียนเอาไว้ใน blog นี้ ลองตามเอาดูนะครับ http://verycatsound.com/shibuya-kei01 ) ( บางคนอาจจะเคยได้ยินในชื่อ ชิบูยาเกะ มันคืออันเดียวกันน่ะแหละ พอแปลงเป็นภาษาไทยแล้วออกเสียงคนละแบบเฉยๆ ) 

    โป๊ะเชะ!

    ตั้งแต่เจอคำนี้ search ง่ายขึ้นอีกเยอะ ทีนี้ลื่นเลย ผมค้นเจอศิลปินอินดี้ญี่ปุ่นอีกมากมาย ที่เป็นแนวนี้ แต่เจอแต่ชื่อนะ เพลงหาฟังยากมากๆ ไม่มีแผ่นขายในไทยอยู่แล้ว และยุคนั้นก็ยังไม่มี youtube หรือ streaming ใดๆทั้งสิ้่น วิธีหาฟังมีอยู่แค่สองอย่าง 1. สั่งแผ่นจาก hmv japan มา 2. หาโหลดเอาตามห้องเฉพาะแนวนี้ ที่พวกโปรแกรมโหลดเพลงเถื่อนอย่าง napster , soulseek 

    Shibuya-kei เหมือนเป็นเรื่องลึกลับแฟนตาซี เป็นตำนาน เพราะกว่า 99% ของคนที่ฉันรู้เพิ่งรู้จักในชีวิต แทบไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักมันมาก่อน หรือเคยได้ยินว่ามันมีตัวตนอยู่เลย ยิ่งลึกลับฉันยิ่งอยากรู้ ยิ่งค้นหามันมากขึ้นๆไปอีก

    ถ้าให้อธิบายว่า เพลงแนวชิบุย่า มันเป็นยังไง? ฉันขอใช้สักสามถึงห้าบรรทัด
    "มันคือดนตรีที่เกิดจากการผสมผสานดนตรีหลายแนว อย่างต่ำสามแนวด้วยกัน ( pop , jazz และ electronic สามแนวนี้เป็นหลักส่วนใหญ่ ) โดยมีคาแรกเตอร์ cute - innocent แบบ dojocity แต่ power up แบบขั้นสุด ทั้งในแง่ composition , arrangement และ sound ซึ่งมันฟังดูเหมือนติงต๊อง แต่มีการแต่งที่ซับซ้อนและเหนือชั้น มีรสนิยมแบบกลิ่นอาย jazz และมีความรู้สึกสดชื่น energetic ปนกับความ positive dramatic bitter sweet แบบญี่ปุ่น และมักจะผสม element ที่มีความ retro แรดๆ แฟชั่นๆ เข้าไปให้เก๋ๆ"

    งงแน่นอน... ฉันอ่านเองยัง งง เอาเป็นว่า ฟังและเข้าใจด้วยหูตัวเองที่ playlist ดีกว่า

    เป็นช่วงเวลาที่โคตรสนุก ตื่นเต้น ฟินสุดๆ เวลาได้ค้นเจอเพลงใหม่ๆ แนวๆนี้ ฉันหลงรักดนตรีแนวนี้อย่างโงหัวไม่ขึ้น และฉันมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นไปอีกแล้วล่ะว่า วันนึงฉันอยากทำดนตรีแนวนี้ให้ได้ มันดูยากและซับซ้อนเกินกว่าความรู้และสกิลดนตรีที่ฉันมีตอนนั้น ตอนนั้นฉันยังไม่เข้าใจเรื่อง jazz หรือ harmony อะไรทั้งสิ้น 

    สกิลที่ฉันมีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก คือการวิเคราะห์ Analyze ข้อมูล (น่าจะมาเพราะมาจากการเป็นเด็กเรียนเก่ง และเป็นเนิร์ดบ้าเกม ชอบเล่นเกม RPG)

    ฉันเริ่มวิเคราะห์ว่าทำยังไงจะทำดนตรีแนวนี้ได้
    และพบว่า ต้องมีความรู้หลักๆ 3 อย่าง
    1. pop - อันนี้สามารถฝึกฝนเองได้
    2. electronic - พยายามฝึกฝนอยู่แบบงูๆปลาๆ ด้วยการเริ่มเข้าสู่วงการ dj นี่แหละ
    3. jazz - ทำไงดีวะ.... ยาก

    ฉันค่อยๆเริ่มต่อจิ๊กซอว์เพื่อนำไปสู่การประกอบองค์ประกอบต่างๆเพื่อจะทำดนตรีแนวนี้ให้ได้ 

    แผนของฉันยังดำเนินตามเดิม คือ เรียนให้จบๆ มีงานทำ แล้วจะได้เอาเวลาไปเรียนดนตรีเพิ่มเติม เพื่อทำเพลงในอุดมคติให้ได้ ส่วนตอนนี้ก็เป็นดีเจเพื่อเพิ่ม input แนว electronic ไปก่อน

    ปี 2002 ฉันได้ค้นพบวงที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากที่สุด คือ Capsule ของ Yasutaka Nakata เป็นครั้งแรก ที่บ้านเพื่อน ตอนแกะ CD ที่ส่งมาจาก HMV ออกมาเปิดฟัง และฉันถวายหัวเป็นสาวกของนากาตะนับแต่วันนั้น... มันคืออัลบั้มที่สอง ที่ชื่อ "Cutie Cinema Replay" 
    สำหรับฉัน งานของ นากาตะ มีอิทธิพลมากกว่า Pizzicato Five เพราะฉันเพิ่งมาค้นพบแนวนี้ ตอนปีที่ Pizzicato Five แยกวงแล้ว แต่ฉันค้นพบและตามเสพย์งานของนากาตะตั้งแต่อัลบั้มแรกๆ มาจนจะ 20 ปี เลยผูกพันมากกว่า

    ฉันเริ่มจินตนาการถึงดนตรีในอุดมคติที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ความคิดในการทำค่ายเพลงแบบ dojocity ก่อกำเนิดขึ้นมา แต่ไอเดียของฉันคือ อยากทำค่าย pop ที่มี idol แบบ dojocity แต่ดนตรีต้องเหนือชั้น เป็น shibuya-kei 

    แนวดนตรีนี้มันทำยาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่ฟังยาก และมันสามารถนำเสนอให้ pop ได้ โดยที่คนส่วนใหญ่น่าจะชื่นชอบ มันเป็นเหมือนการทำลูกกวาดที่ดูไร้สาระ แต่เป็นลูกกวาดพรีเมี่ยม ที่เราตั้งใจ craft มันอย่างดี ฉันคิดว่า สิ่งที่ฉันจินตนาการไว้ ต้องเป็นจริงได้สักวัน มันกลายเป็นเป้าหมายชีวิตที่ฉันไล่ตามอยู่ตลอด

    ต่อมาความเนิร์ด ความหมกมุ่นในสิ่งที่ชอบ มันนำพาไปให้รู้จักคนที่ชอบอะไรแบบนี้เหมือนๆกัน บางส่วน ในอินเตอร์เน็ต ตามโปรแกรมแชท หรือโปรแกรมโหลดเพลงพวกนี้ บางคนก็เป็นคนในวงการเพลงอินดี้ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนี่แหละ

    ช่วงเวลานี้ของผมจึงเป็นเวลาที่ สนุกกับชีวิตมหาลัย มีแฟน ทำกิจกรรมคณะ รับน้งรับน้อง แล้วก็บ้าเพลงชิบุย่า เล่นดีเจ ออกไปเปิดแผ่น สนุกกับเพื่อนๆ เป็นช่วงนึงของชีวิตของเด็กแนวธรรมดาๆคนนึง ที่อิน และมีความสุข ช่างแตกต่างกับมัธยมเสียจริงๆ 

    ที่นั่น ความสามารถด้านเกี่ยวกับดนตรีและซาวด์ของฉัน แม้จะยังทำแบบงูๆปลาๆ แต่ก็มีคนเห็นค่า และมีตัวตนในสังคมคณะนิเทศ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกว่า ฉันเป็นส่วนนึงของสังคม มากกว่าช่วงมัธยมแบบลิบลับ ชีวิตพ้นช่วงเป็นแกะดำเสียที เพราะที่คณะที่ฉันเรียน มีแกะทุกสีเลย ฉันกลายเป็นคนทำซาวด์ประจำของคณะ ทุกครั้งที่มีงานหรือการแสดง

    ในยุคนั้น มีการเกิดขึ้นของคำว่า เด็กแนว และวงการอินดี้เป็นกลุ่มก้อนแบบชัดเจน ด้วยแกนนำคือ Fat Radio ซึ่งฉันและเพื่อนในคณะส่วนใหญ่ก็เป็นประชากรเด็กแนว ที่ไปงาน Fat Festival มันทุกปีน่ะแหละ 

    ฉันมีฟังเพลงอินดี้ไทยบ้าง ส่วนมากจำพวก smallroom กำลังมาแรงมากๆในช่วงนั้น แต่ไม่บ้ามากเท่าเพลงอินดี้ญี่ปุ่น ส่วนเพลงเบเกอรี่ ผมเริ่มหมดความสนใจไปแล้ว (เพลงไทยเมนสตรีมไม่ต้องพูดถึง เลิกฟังไปนานมากๆแล้ว ตั้งแต่ ม.ต้น)

    ฉันคิดว่า ด้วยความที่มีพื้นฐานชอบสิ่งที่เป็นญี่ปุ่นอยู่ในตัวอยู่แล้ว บวกกับความชอบในดนตรีนอกกระแส นั่นคือส่วนผสมที่ทำให้บ้าดนตรีแนวนี้ พอดีเป๊ะ

    ใน Fat Festival ปีที่ 3 หรือ 4 เนี่ยแหละ เป็นปีที่ฉันตื่นเต้นและสนุกที่สุด เพราะเป็นปีที่มีศิลปิน Shibuya-kei อย่าง ymck , kiiiiiii และ (FPM) Fantastic Plastic Machine มา
    ฉันได้ลายเซ็นของ DJ Tomoyuki Tanaka บนแผ่น CD ว่าแล้วรูปที่ถ่ายมันอยู่ไหนวะ T-T หาไม่เจอแล้ว เสียดาย ตอนนั้นโลกยังไม่มีสมาร์ทโฟน

    ในปีนี้ ฉันทำแผ่น mix เพลงไปขายเล่นๆ กับเพื่อนๆ ในชื่อ "Introduction to Shibuya-kei" โดยเป็นการรวมเพลงแนวนี้ เอามา mix ต่อกัน ใน 4 theme ย่อย มี 
    1. guitar pop - พวกแนวๆ Hideki Kaji , Pizzicato five , Cornelius
    2. lounge bossanova - Sunaga t Experience , Bebel Gilberto
    3. cute bubble gum - Serani poji , Capsule , Nomoto Karia
    4. electro house - FPM , Towa Tei 


    ในวันนั้น ผมได้รู้จักศิลปินไทยที่ทำแนวนี้อย่าง พี่ขวัญ Groovy Airline และ ดีเจหัวก้าวหน้า อย่าง พี่นอ DJ Nor จาก Fat Radio (ช่วง Sonny and Nor น่ะแหละ) ได้มาซื้อแผ่นไป และชอบใจ ต่อมาได้ติดต่อผมไปเปิดเพลงแนวนี้ที่ร้าน spoon แถวสีลม ซึ่งผมทำงานนั้นได้อยู่พักนึง ก่อนร้านจะปิดตัว (แหงล่ะ ใครจะมาสนใจแนวนี้ในไทย เห็นใจร้านอยู่)

    ความบ้าในการเสพย์ดนตรีชิบุย่าในช่วงนั้น มันมา peak สุดเอาช่วง ราวๆ ปี 2005 ที่ Cornelius มาแสดงสดที่ไทยเป็นครั้งแรก ที่โรงหนัง house (ตอนนั้นอยู่ RCA) เป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่ผมไม่มีวันลืม หนึ่งในคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดในชีวิต ทึ่งมาก ผมดูทั้งสองรอบเลย ทั้งๆที่เหมือนกันเป๊ะ

    นี่พูดเรื่องเพลงอย่างเดียวเลย เชื่อยังว่าคลั่งขนาดไหน 555 ขอคั่นด้วยเรื่องอื่นในช่วงนั้นๆบ้าง

    มีแฟน ชีวิตมีความสุขดี ส่วนเรื่องเรียนก็เรื่อยๆ ไม่แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีมาก ผ่านมันมาได้ตลอด ก็เรียนไปตามจุดประสงค์ที่วางไว้แต่แรก คือเรียนให้ผ่านจบไปให้ได้ แต่ในระหว่างนั้นก็แสวงหาสิ่งที่เป็นความฝันของเราไปเรื่อยๆด้วย

    ที่คณะ มีเพลงประจำคณะชื่อ "วันฝันส่องฟ้า" เนื้อหาพูดถึงการไล่ตามความฝันอย่างไม่ลดละ เพื่อที่มันจะผลิบานสักวันหนึ่ง 
    นั่นก็แสดงว่า คณะนี้มันรวมแต่คนแบบนี้น่ะสิ...  ละเดี๋ยวนะ เรื่องเรียนล่ะ? วิชาโฆษณาล่ะ?

    หลังจบ thesis ในปี 4 ผมยังเหลือวิชาที่เป็นเศษต้องเก็บอยู่อีกนิดหน่อย เลยต้องต่ออีก 1 ปี ในระหว่างนั้นวิชาเรียนที่ค่อนข้างน้อย และรอรับปริญญา ประกอบกับฟุ้งซ่านจากการเลิกกับแฟน ผมจึงมีเวลาว่างมาเข้าชมรม ทำกิจกรรมชมรมมากๆ เจอคน เจอสังคมเยอะๆ เพื่อให้ลืมเรื่องแย่ๆ 

    และผมไม่อยากปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ จึงคิดว่าควรทำอะไรสักอย่าง เพื่ออนาคต ระหว่างช่วง gap นี้ เลยใช้เวลานี้ทำโปรเจคต่างๆ ส่งประกวด อาทิ โฆษณา , หนังสั้น

    ผลคือ... ได้รางวัลมาประมาณ 4 ตัว... ในเวลาปีกว่าๆ
    แอบชะล่าใจไปนิดหน่อย ว่า เราเองก็เก่งพอตัวนะ ได้รางวัลมาประมาณนึง น่าจะไปสายครีเอทีฟได้ ช่วงนั้นก็เลยตั้งเป้าว่า อาจจะไปทางสายครีเอทีฟโฆษณา น่าจะมีเส้นทางที่ดีรออยู่ ก็เหมือนที่หลายๆคนคิดวาดฝันไว้ก่อนจะเรียนจบน่ะแหละ 

    และเมื่อหลังรับปริญญาจบลง ฉันก็พบว่า มันไม่จริงเลย...


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
peace (@peace)
สวัสดีครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่หนีมาจาก facebook เหมือนกันครับ ไม่อยากอ่านอะไรสั้นๆ สบถนู่นนี่นั่น ก็เลยมาอันนี้ ผมชอบที่พี่ถ่ายทอดเรื่องราวนะครับ นึงถึงสมัยเมื่อผมยังเด็กเหมือนกัน ติดตาม EP ต่อๆไปนะครับ