เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทาสหนัง...Sleeping Slave
Watchmen (2019) 34 ปีให้หลัง กับคำถามเดิม "Who Watches the Watchmen?"
  • [ไม่มีการสปอยล์เนื้อหาสำคัญใดๆครับ ท่านใดยังไม่ได้ชมก็อ่านได้]

    การมีซีรีส์แบบ Watchmen มาลงจอในช่วงปลายปี ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปีที่ยอดเยี่ยมมาก สำหรับทั้งคนดูที่ต้องการชมซีรีส์น้ำดีระดับคุณภาพ และทั้งเหล่าเนิร์ดคอมิคซุปเปอร์ฮีโร่ โดยเฉพาะคนที่ชอบใน กราฟิกโนเวล (Graphic Novel หรือ นิยายภาพ) ดั้งเดิม ...ที่ถ้าไม่ชอบมากๆ ก็อาจจะเกลียดมากๆ ได้เหมือนกัน (ฮาา)


    Watchmen ฉบับซีรีส์นี้ เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ เดมอน ลินเดลอฟ โชว์รันเนอร์ที่ได้ชื่อว่ามีฝีมือในด้านการเล่าเรื่องอีกคนของวงการโทรทัศน์อเมริกา การันตีได้จากผลงานอย่าง Lost และ The Leftovers ...และทันทีที่ทุกคนรู้ว่า ลินเดลอฟ จะเข้ามาดัดแปลง Watchmen กราฟิกโนเวลสุดคลาสสิคของ อลัน มัวร์ และ เดฟ กิบบอนส์ เรื่องนี้ เป็นซีรีส์ทางทีวี หลังจากที่ แซ็ค สไนเดอร์ เคยดัดแปลงให้กลายเป็นภาพยนต์ฟอร์มใหญ่ไปแล้วเมื่อปี 2009 มันก็กลายเป็นที่จับตามองทันที

    แต่สิ่งที่ลินเดลอฟเลือกทำ ถือว่า เหนือความคาดหมายของทุกๆคน เพราะแทนที่เขาจะเอากราฟิกโนเวลมาดัดแปลงให้ตรงเป๊ะแทบทุกตัวอักษร แบบในเวอร์ชันหนังของสไนเดอร์ เขากลับเลือกที่จะ "ขยาย" "ต่อยอด" เรื่องราวจากต้นฉบับแทน

    ซึ่งถือเป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยครับ เพราะ Watchmen เป็นกราฟิกโนเวลที่คลาสสิคขึ้นหิ้งในระดับ "วรรณกรรมยอดเยี่ยมตลอดกาลของอเมริกา" จนแทบจะกลายเป็นไบเบิล สำหรับคนที่รักมันจริงๆ ทำให้ที่ผ่านมา เลยไม่มีใครกล้าพอที่จะต่อยอดเรื่องราวจากต้นฉบับอย่างจริงจัง (มีเพียงคอมิคชุด Before Watchmen ที่เป็นเรื่องราวต้นกำเนิดของเหล่าตัวละครในเรื่อง, เกม The End is Nigh ที่เล่าเรื่องในสมัยที่ รอร์ชาช กับ ไนท์ อาวล์ ยังเป็นคู่หูปราบอธรรมด้วยกัน และ Doomsday Clock ที่เป็นการครอสโอเวอร์ จับเอาตัวละครจาก Watchmen ไปเจอกับเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ในจักรวาล DC ซึ่งก็ควรนับเป็นโลกคู่ขนาน มากกว่าจะเป็นภาคต่อ)

    การตัดสินใจเล่าเรื่องใหม่ที่ต่อเนื่องจากเรื่องเดิม จึงเป็นงานที่ท้าทาย ต่อทั้งผู้สร้างและคนดูเลย


    Watchmen ซีรีส์ เป็นเรื่องราวใน 34 ปีต่อมา หลังจากเรื่องราวในคอมิคต้นฉบับจบลง (ขอยึดคอมิคเป็นหลักนะครับ เพราะซีรีส์สานต่อมาจากคอมิคโดยตรง โดยไม่ได้ยึดเอาจุดที่ถูกเปลี่ยนในหนังของสไนเดอร์ มาใช้เลย) หลังจากโลกผ่านเหตุการณ์ 'Squid Attack' ปลาหมึกยักษ์ถล่มนิวยอร์ค จากแผนการของชายผู้ฉลาดที่สุดในโลก เอเดรียน ไวดท์ หรือ ออสซีแมนเดียส (เจเรมี ไอออนส์) ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายหลายล้านชีวิต แต่ก็สามารถทำให้โลกกลับมารวมกันเป็นหนึ่ง และหยุดยั้งสงครามนิวเคลียร์ไว้ได้

    ปัจจุบัน โลกเข้าสู่ความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง เวียดนาม กลายเป็นหนึ่งในรัฐของอเมริกา, การสื่อสารของผู้คนถูกจำกัด ไม่มีอินเตอร์เน็ต การค้นหาข้อมูลทำได้เพียงข้อมูลที่ถูกจัดเอาไว้ให้, ดอกเตอร์แมนฮัตตัน ชายผู้ทรงพลังดุจพระเจ้า ย้ายจากโลกไปอยู่บนดาวอังคารอย่างถาวร และที่ดูจะแย่ที่สุด "บันทึกการสืบสวนของรอร์ชาช" ที่บันทึกทุกความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 34 ปีก่อน มันได้ถูกเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนแล้ว..

    และสิ่งนี้ก็นำพาไปสู่การก่อการร้ายแบบใหม่ ณ ทัลซา โอกลาโฮมา ...คนจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันกลายเป็นผู้ก่อการร้ายกลุ่มใหม่ ที่ใช้หน้ากากของรอร์ชาชเป็นสัญลักษณ์ ในชื่อ "เดอะ เซเวนท์ คาลวารี (The Seventh Kalvary)" พวกมันได้ทำการร้าย บุกเข้าไปในบ้านของเหล่าตำรวจทัลซาในยามค่ำคืน ทำร้ายและฆ่าอย่างไม่ปราณี กลายเป็นค่ำคืนหฤโหดที่เรียกว่า "ไวท์ ไนท์ (White Night)" 


    ตำรวจทัลซาตัดสินใจจึงที่จะใช้ไม้แข็งแบบเดียวกัน ในเมื่อผู้ร้ายใส่หน้ากาก ตำรวจก็ต้องใส่บ้าง.. หลังจากเหตุการณ์ไวท์ไนท์ ตำรวจทัลซาทุกคนต้องใช้หน้ากากปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตน และดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อการกระทำผิดทุกชนิด โดยเล่าเรื่องผ่านตัวเอกของเรื่องคือ แองเจลา เอบาร์ หรือ ซิสเตอร์ ไนท์ (เรจิน่า คิง) ตำรวจสาวที่รอดชีวิตมาจากเหตุไวท์ไนท์

    ที่เล่าไปทั้งหมด เป็นแค่พล็อตในส่วนผิวเผินเท่านั้น ยังมีอะไรอีกเยอะครับที่รอการค้นหาในซีรีส์นี้ที่ผมไม่ควรเล่า อยากให้ทุกคนลองไปค้นพบมันด้วยตัวเองมากกว่า ..เช่นเดียวกับในกราฟิกโนเวลต้นฉบับ ในเรื่องราวฉาบนอก มันอาจจะเป็นแค่หนังสือการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่อีกเรื่อง แต่ความจริงแล้ว Watchemen ไม่ใช่เรื่องของซุปเปอร์ฮีโร่ซะทีเดียว มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเป็นผู้ตรวจตรา (Watchman) ผู้ทำการตัดสินใจที่จะทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง ในบริบทต่างๆ ทั้ง ตำรวจ รัฐบาล กฏหมาย และแน่นอน ...กลุ่มคนใส่หน้ากาก ก็เป็นหนึ่งในบริบทนั้น

    อันเป็นที่มาของประโยคสุดคลาสสิค ที่กราฟิกโนเวลหยิบมาใช้คือ "ใครกันจะเป็นผู้เฝ้าดูเหล่าผู้ตรวจตรา (Who Watches the Watchmen?) หากเขาเหล่านั้นมีอำนาจที่ "กระทำ" แล้วใครกันที่จะเป็นคนสอดส่องดูแลการกระทำของพวกเขา.. นี่คือหัวใจสำคัญของ Watchmen


    Watchmen คือโลก อลัน มัวร์ เขียนขึ้นมา โดยสมมติว่า "จะเป็นเช่นไรหากโลกนี้มีซุปเปอร์ฮีโร่อยู่จริงๆ" โดยอิงผ่านยุคสมัย ตั้งแต่ช่วงยุค '30 ไปจนถึงยุค '80 ...จะเป็นอย่างไรหากมีคนใส่หน้ากากออกมาปราบอธรรม จะเป็นอย่างไรหากโลกนี้มียอดมนุษย์ ผู้มีพลังมหาศาลดุจพระเจ้า เขาจะถูกความคาดหวังของมนุษย์ใช้งานอย่างไร และมันจะนำไปสู่อะไรในอนาคต.. นี่คือคำถามที่ Watchmen ฉบับกราฟิกโนเวลตั้งขึ้นมา และซีรีส์ก็นำเอาหัวใจนี้ไปสานต่อ ในยุคปัจจุบันของเรา ได้อย่างดีเยี่ยม โดยการเอาคำถามที่ว่า Who Watched the Watchmen? กลับมาถามใหม่ ในสังคมปัจจุบัน ยุคที่ทั้งตำรวจและผู้ร้ายต่างก็ใส่หน้ากาก


    อย่างแรกเลยที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับซีรีส์ แน่นอนว่าต้องเป็น ทักษะในการเล่าเรื่องของลินเดลอฟเอง การเล่าเรื่อง การวางปมให้คนดูรู้สึกอยากรู้ สงสัย จนต้องติดพันดูยาวจนจบ การสร้างโลกที่ดูพิลึกพิลั่นอย่างน่าสนใจ เป็นสิ่งที่ลินเดลอฟเก่งฉกาจมาตั้งแต่สมัย Lost แล้ว ด้วยความที่เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ แม้แต่คนที่อ่านกราฟิกโนเวลต้นฉบับมาจนทะลุแค่ไหน ก็ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ง่ายๆ เพราะตัวซีรีส์เองก็เปิดปมใหม่ที่น่าสนใจ และมีความลึกน่าค้นหา ในแบบของตัวเอง

    ตัวละครที่ซีรีส์สร้างสรรค์ขึ้นมา ก็ล้วนแต่มีความน่าค้นหาในแบบของตัวเองพอๆกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวละครใหม่ และตัวละครเก่าๆจาก Watchmen ต้นฉบับ ที่กลับมาในเวอร์ชันที่มีอายุกันแล้ว เราก็จะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ จากเขา หลังจากเหตุการณ์เมื่อ 34 ปีก่อน


    นอกจาก ซิสเตอร์ไนท์ ซึ่งเป็นตัวเอก ก็ยังมี เว้ด ทิลแมน หรือ ลุคคิงกลาส (ทิม เบลค เนลสัน) ตัวละครใหม่อีกตัว ที่โดดเด่นทั้งบุคลิก ภูมิหลัง และ หน้ากากที่เขาใช้ (ที่ทำให้เขาดูเหมือนเป็นรอร์ชาชอีกเวอร์ชันนึง ใครชอบตัวละครแนวๆนี้ น่าจะชอบมาดของลุคคิงกลาสได้ไม่ยาก), วิลล์ รีฟส์ (ลูอิส กอสเซสท์ จูเนียร์) ชายแก่อายุร้อยกว่าปี ผู้มาพร้อมกับปริศนาอันดำมืด, เลดี้ ทรู (ฮง เชา) หญิงสาวสุดลึกลับที่คาดเดาการกระทำไม่ได้, ลอรี่ เบลค หรือ ลอรี่ จูสเปคซิส อดีตนักปราบอธรรม ซิลค์ สเปคเตอร์ (จีน สมาร์ท) ที่ตอนนี้มาในมาดใหม่ที่เก๋าขึ้น แกร่งขึ้น และแน่นอน เอเดรียน ไวดท์ 'ออสซีแมนเดียส' กับการสวมบทเป็นไวดท์ในวัยชราของ เจเรมี ไอออนส์ ที่โดดเด่นจนไม่มีทางลืมลงอย่างแน่นอน

    และอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือปมสำคัญที่ตัวซีรีส์นำมาใช้ และกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกอินเตอร์เน็ตอยู่ช่วงนึง จนพาลให้มีคนกระหน่ำเทถังป๊อปคอร์นกันในเว็บ Rotten Tomatoes คือ การจับเอาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุดของอเมริกาอย่าง "การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่ทัลซา (The Tulsa Massacre)" เหตุการณ์ที่คนขาวไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธ์คนผิวสีอย่างโหดเหี้ยม ในช่วงยุค '20 มาใช้ (ส่วนตัวเพิ่งรู้จักเหตุการณ์นี้ก็เพราะซีรีส์เลย ซึ่งก็ทำให้ช็อคไปไม่น้อยเหมืินกัน) มันเลยเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนจะมองว่า ซีรีส์กำลังทำตัวเองเป็น SJW อวยคนดำ ด่าคนขาว ชูพลังหญิง ตามสมัยนิยม อยู่หรือเปล่า


    แต่หากถอยออกมามองกว้างๆ ภาพรวมที่ Watchmen ซีรีส์ ต้องการเล่า มันไม่ได้มีแค่เรื่องของการ ชูคนดำ ด่าคนเหยียด อะไรนะครับ สิ่งที่เขาตั้งใจสื่อมันกว้างกว่านั้นเยอะ.. Watchmen ซีรีส์ ต้องการนำเสนอในแง่ของ "จะเป็นยังไง หากโลกนี้มีเพียงแค่ ขาว และ ดำ?" หากเราเชื่อว่าโลกนี้เป็นสีเทา คนดีก็มีมุมที่เลวได้ หรือคนเลวก็มีมุมดีๆได้ นั่นคือโลกในแบบที่เราคุ้นเคยในชีวิตจริง แต่หากมนุษย์แบ่งแยกอย่างชัดเจนล่ะ? หาก ขาว กับ ดำ อยู่กันคนละฝั่ง ด้วยอุดมการณ์ที่สุดโต่งเกินกว่าที่ใครๆจะควบคุมได้ โลกของเราจะเป็นเช่นไร?

    ซึ่งในความเป็นจริงในประวัติศาสตร์โลก มันก็อธิบายตัวเองได้ชัดเจนดีอยู่แล้วว่า สงคราม ความขัดแย้ง เกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่ง่ายนิดเดียว นั่นคือ "การแบ่งข้าง"

    ฝั่งนึงยึดอีกอุดมการณ์นึง อีกฝั่งก็ยึดอีกแบบ และในเมื่อทั้งสองฝั่งไม่อาจจะทำความเข้าใจกันได้ สุดท้าย มันก็ต้องเกิดการขัดแย้งและฆ่าฟันกันไปในที่สุด ...มันเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ ฉะนั้น การเอาเหตุ Tulsa Massacre มาใช้ จึงเป็นสิ่งที่สามารถใช้อธิบายธรรมชาติของมนุษย์ได้ดีที่สุดแล้ว มันก็แค่เรื่องง่ายๆว่า "เพราะเรานั้นเห็นต่างกัน" (ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการเหยียดผิวเท่านั้น)


    แต่ตัวซีรีส์เอง ก็ไม่ได้เพอเฟ็คไปซะทุกจุดครับ จุดที่รู้สึกว่ามันอ่อนหรือเล่าน้อยไปหน่อย ก็มีเช่นกัน ด้วยความที่ซีรีส์มีแค่ 9 ตอน แต่เรื่องที่จะเล่าและชวนให้ค้นหา มันช่างเยอะแยะมากมายเหลือเกิน จนรู้สึกว่าการบริหารเรื่องราวของซีรีส์ มันยังไม่เต็มอิ่มในบางจุด ตรงนี้เล่าเยอะไปหน่อย ตรงนี้เล่าน้อยไปนิด และยังทำให้บทสรุปในช่วงท้าย มันดูรีบรวบ รีบรัด ให้จบ ยังไงชอบกล

    ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นการวางปมเอาไว้เผื่อจะสามารถเอาไปเล่าต่อในซีซัน 2 ได้ (ถ้าเขาทำนะ XD) ทำให้แม้โดยภาพรวม ทั้ง 9 ตอนจะเป็นเรื่องราวที่สนุกเข้มข้นและลงตัว และปมบางอย่างในเรื่อง มันก็รู้สึกเสียดายไม่น้อย ที่เขาเลือกจะเล่าแค่นั้น

    อีกอย่างที่ ไม่ใช่ข้อเสีย แต่เป็นจุดที่ทำให้หลายคน อาจจะไม่สามารถเอนจอยกับซีรีส์ได้มาก ไม่ใช่เพราะมันดูยากหรือเข้าใจยาก แต่เพราะซีรีส์เล่าเรื่องต่อมาจากกราฟิกโนเวลต้นฉบับ และพยายามอย่างมากที่จะให้ทุกอย่างมันมีความเชื่อมโยงกับต้นฉบับได้อย่างเนียนสนิท เพื่อให้รู้สึกว่า มันคือโลกเดียวกันกับในกราฟิกโนเวลจริงๆ ซึ่งจุดนี้เองที่อาจจะทำให้หลายๆท่าน ที่ไม่ได้รู้จัก ไม่ได้เคยอ่าน Watchmen ต้นฉบับ หรือไม่แม้แต่จะเคยดูหนังของสไนเดอร์มาก่อน ก็จะรู้สึกต่อไม่ติดกับซีรีส์ ไม่สามารถอิน หรือทำความเข้าใจกับเรื่องที่เขาเล่าได้เลย ...ฉะนั้น Watchmen จึงไม่ใช่ซีรีส์สำหรับทุกคนแน่นอน อันนี้ก็ต้องลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง

    สังเกตได้นะครับว่าผมใช้ประโยคคำถามบ่อยมาก.. จะเป็นยังไง ถ้า.. คำถาม What if มันคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ อลัน มัวร์ สร้าง Watchmen ขึ้นมา ...เราสามารถตั้งคำถามต่อโลก ต่อสังคมมนุษย์ได้หลายคำถาม จะเป็นยังไง ถ้าสิ่งนี้ดีกว่านี้? หรือ จะเป็นยังไง ถ้าสิ่งดีๆเลวร้ายลง? 

    ส่วนหนึ่งมันเกิดจาก "ความกลัว" กลัวที่ชีวิตของเราจะไม่มั่นคงอีกต่อไป หากโลกที่เราอยู่ต้องพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเข้าซักวัน... แต่คำตอบของคำถามเหล่านี้จะคืออะไร ก็คงไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้จริงๆ อย่างแน่นอน


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in