เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Mirai's Reviews | อ่านวนไปMirai
[Book Review: 212] ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป | ฮิงาชิโนะ เคโงะ
  • ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป
    ผู้เขียน: ฮิงาชิโนะ เคโงะ
    ผู้แปล: เจ้าของผ้าพันคอลายแมว
    สำนักพิมพ์เจคลาส

    "แต่พอถูกถามว่า ถ้างั้นมีตอนจบแบบอื่นแบบไหนล่ะ ผมคงได้แต่เงียบ ไม่พูดอะไร หาคำตอบไม่เจอ เพราะฉะนั้นต่อให้พูดสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็จะถึงทางตันอยู่ดีครับ" (หน้า 142) 

    เกิดเหตุโจรขึ้นบ้าน ทำให้ "นากาฮาระ" และ "โซโยโกะ" ต้องสูญเสีย "มานามิ" ลูกสาวผู้เป็นที่รักไปตลอดกาลจากการสังหารของโจรคนนั้น แม้จุดจบของคนร้ายจะต้องโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจทำให้ครอบครัวที่แสนอบอุ่นกลับมาเป็นเช่นเดิมได้ สองสามีภรรยาจึงตัดสินใจหย่าขาดจากกัน และต่างคนต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิต แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นซ้ำสอง เมื่อนากาฮาระได้ข่าวจากตำรวจว่า โซโยโกะ ถูกคนร้ายชิงทรัพย์ระหว่างทางกลับบ้าน และเธอก็โดนแทงเสียชีวิต ส่วนคนร้ายก็มอบตัวกับตำรวจพร้อมคำสารภาพเสร็จสรรพ แม้ว่าเหยื่อคราวนี้จะเป็นอดีตภรรยา แต่นากาฮาระก็ถูกดึงกลับเข้ามาพัวพันกับการดำเนินคดีอีกครั้ง พร้อมกับค้นพบบันทึกบางอย่างที่โซโยโกะเขียนเอาไว้ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต...

    ขอสารภาพตามตรงว่า ตอนที่ซื้อเล่มนี้มาอ่าน ดูแค่ชื่อคนเขียนกับหน้าปกหนังสือเท่านั้น และคิดว่าน่าจะเป็นแนวสยองขวัญ ลี้ลับ มีีผีเด็กแน่นอน แต่เปล่าเลยค่ะ เป็นแค่การเข้าใจผิดล้วนๆ 5555555

    หนังสือเล่มนี้เป็นแนว.. อ่า บอกไม่ถูก 5555 มันเป็นแนวที่ดราม่าที่มีกลิ่นอายสืบสวนแทรกซึมอยู่นิดหน่อย แต่จะเน้นหนักไปในเชิงการวิจารณ์กระบวนการพิจารณาคดีอาญาของศาล โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดโทษแก่ผู้กระทำผิดและการเยียวยาผู้เสียหายอย่างแท้จริง

    ประเด็นที่เด่นชัดในเรื่องก็คือ "โทษประหารชีวิตอาจจะไม่เหมาะกับทุกคดีและไม่เหมาะกับทุกคน"
    คือ ผู้เขียนนำเสนอประเด็นกฎหมายอันนี้โดยการเล่าเรื่องครอบครัวนึงที่สูญเสียลูกสาวจากโจรที่บุกรุกเข้าไปในบ้านเพื่อขโมยทรัพย์สิน ก่อนที่ครอบครัวเดิมจะต้องมาสูญเสียแบบเดิมด้วยสาเหตุเดิมๆ อีก แต่ในการสูญเสียทั้งสองครั้งทำให้ครอบครัวนี้ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างขึ้นมา และนั่นนำไปสู่บันทึกของโซโยโกะ และการค้นหาความจริงของนากาฮาระ

    เราชอบที่ผู้เขียนสามารถนำเสนอประเด็น "โทษประหารชีิวิต" ได้ในทุกแง่มุมอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมา เรามักได้ยินสังคมกล่าวถึงบทลงโทษนี้อยู่สองประการเท่านั้น ก็คือ อยากให้ยกเลิกหรือผ่อนปรนโทษประหารชีวิต เพราะมันขัดต่อสิทธิมนุษย์ กับ อยากให้ศาลลงโทษคนร้ายในบางคดีที่ไม่อาจให้อภัยด้วยโทษประหารชีวิต แต่หนังสือเล่มนี้มองไกลและลึกไปมากกว่านั้น มองตั้งแต่ความร้ายแรงของการกระทำความผิดว่าสมควรได้รับโทษประการชีวิตมั้ย พยานหลักฐานหรือข้อต่อสู้ใดที่สามารถโน้มน้าวให้ศาลตัดสินประหารชีวิตหรือไม่ตัดสินแบบนั้นได้ โทษประหารชีวิตช่วยลดปัญหาอาชญกรรมและเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายได้จริงเหรอ หรือแม้แต่โทษประหารชีวิตสามารถทำให้จำเลยคดีเหล่านั้นสำนึกในความผิดได้หรือไม่ ไปจนถึงการตั้งคำถามกับตัวเองว่า แท้จริงแล้ว กระบวนการยุติธรรมที่นำเอาคนกระทำความผิดมารับโทษนั้น เป็นทางออกของทุกปัญหาแล้วจริงๆ เหรอ?

    ตัวละครในเรื่องก็ไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของครอบครัวผู้เสียหายอย่างเดียว เพราะงั้นไม่มีทางที่เล่มนี้จะทำให้เรากลายเป็นคน "ฟังความข้างเดียว" แน่ๆ เพราะเนื้อเรื่องอีกเกือบครึ่งเป็นการเล่าผ่านมุมมองของครอบครัวคนร้าย และการเล่าเรื่องผ่านสองครอบครัวนี่แหละที่ทำให้คนอ่านอย่างเราเกิดความสับสนในความคิด ไม่สามารถให้คำตอบกับตัวเองได้ว่า กระบวนการยุติธรรมนี่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันตอบโจทย์ทุกปัญหาแล้วจริงๆ ใช่มั้ย..? 

    อีกนึงเรื่องที่ไม่กล่าวถึงเลยคงไม่ได้ ก็คือ ชื่อเรื่อง "ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป"
    ตอนแรกก็งงๆ ว่าทำไมต้องเป็นชื่อเรื่องแบบนี้ ยิ่งเจอคำนำของผู้แปลด้วย ก็ยิ่งสนใจใคร่รู้เข้าไปอีกว่าเพราะอะไร แต่พออ่านจบก็ถึงบางอ้อเลยค่ะ.. เส้นทางบาปก็คือเส้นทางของผู้ที่กระทำความผิด ส่วนไม้กางเขนก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการไถ่บาปให้บรรดาผู้กระทำความผิดเหล่านั้น และประเด็นมันอยู่ที่ว่า "ใคร" ควรจะเป็นคนปักไว้กางเขนบนเส้นทางนั้น ศาล? ทนายหรืออัยการ? ครอบครัวผู้เสียหาย? หรือผู้ที่กระทำความผิดนั้นเอง?

    สรุปคือ เล่มนี้ดีค่ะ ทั้งนำเสนอทั้งวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมได้อย่างลึกซึ้งมาก รู้สึกทึ่งมากๆ กับความคิดเห็นทุกอย่างที่ปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เหมือนเป็นหนังสือเชิงปรัชญากฎหมายที่ชวนเรามาถกเถียงมาขบคิดถึงข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดี และการเยียวยาผู้เสียหาย ประทับใจเล่มนี้มากเลยถึงขั้นต้องแนะนำเพื่อนต่ออ 5555

    อ่าาา ฟังดูเหมือนเล่มนี้จะหมกหมุ่นแต่เรื่องกฎหมายๆ ศาลๆ ชวนเครียดอะไรแบบนั้นใช่มั้ย?
    สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย เล่มนี้อ่านเข้าใจง่ายค่ะ ผู้เขียนเค้าค่อยๆ อธิบายถึงกระบวนการพิจารณาคดีที่ประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งมีบางส่วนต่างจากไทย) ไม่งงไม่สับสน ส่วนคนที่เรียนกฎหมาย เล่มนี้เหมาะมากที่จะต่อยอดความคิดจากในห้องเรียน และไม่ต้องกังวลเรื่องภาษาในเล่มนะ เพราะผู้แปลเค้าแปลภาษากฎหมายได้อย่างสละสลวยไม่รู้สึกติดขัดเลยค่ะ :)

    รีวิวโดย มิราอิ
    ____________________
    สามารถติดตามการรีวิวหนังสือของเราและเพื่อนๆ ได้ที่ แฟนเพจ Rook a Bead
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in