เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ลูกหนังนอกกรอบDamansky
โศกนาฏกรรมลูกหนังยุ่น ณ โดฮา
  • ความสำเร็จในด้านลูกหนังของญี่ปุ่น ณ ทุกวันนี้ ไม่มีชนชาติไหนปฏิเสธ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของขุนพลซามูไรทั้งทีมชายที่ครองเจ้าบัลลังก์แชมป์ทวีปเอเชีย 3 จาก 4 ครั้งหลังสุดในรอบ 11 ปีหลังที่ผ่านมา รวมทั้งการผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ และ 2018 ที่รัสเซีย ซึ่งเป็นการเข้ารอบที่ลึกที่สุด หากไม่นับตอนที่ตนเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2002 และในด้านของตัวผู้เล่นที่ได้ออกไปค้าแข้งในยุโรปนับไม่ถ้วน อันเป็นเครื่องยืนยันความไว้วางใจในแข้งลูกหนังปลาดิบ

    ทีมชาติญี่ปุ่นชุดคว้าสิทธิไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2014 ที่ประเทศบราซิล

    นอกจากทีมชายแล้ว ทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่น ก็ไปถึงจุดสูงสุด โดยมีถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง 2011 เป็นเครื่องยืนยัน การโค่นมหาอำนาจแข้งสาวอย่างสหรัฐอเมริกาได้ในรอบชิงชนะเลิศ ย่อมไม่ใช่เรื่องเกินฝันแน่นอน หากนับรวมกับเส้นทางของพวกเธอที่ผ่านมา ซึ่งเขี่ยทั้งเจ้าภาพเยอรมัน และสวีเดน ตกรอบมาแล้ว ทำให้สาวยุ่นได้รับสิ่งตอบแทนเป็นตำแหน่งแชมป์โลกมาครอง ชนิดที่อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่อย่างบราซิล ไม่เคยทำได้มาก่อนก้วยซ้ำ

    ทีมชาติญี่ปุ่น หญิง ชุดใหญ่ ชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2011

    ความสำเร็จเหล่านี้ ล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาขีดความสามารถของตนให้ดีพอที่จะสู้กับแดนลูกหนังอื่นๆในโลก ทว่ากว่าที่ญี่ปุ่นจะสำเร็จวิทยายุทธ์ลูกหนังมาได้ถึงเพียงนี้ พวกเขากลับมีเบื้องหลังที่น่าสะเทือนใจ และแม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วกว่า 25 ปี แต่เชื่อว่าแฟนบอลญี่ปุ่นคงลืมไม่ลง
    เหตุการณ์นั้นชาวญี่ปุ่นเรียกมันว่า โศกนาฏกรรมแห่งโดฮา (Agony of Doha)

    เรื่องราวเริ่มต้น พาเราย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1993 เป็นปีโค้งสุดท้ายของฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ที่บรรดาชาติต่างๆจะโซ้ยแข้งกัน เพื่อหาทีมที่เหลือรอดไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในปีต่อมาที่สหรัฐอเมริกา การแข่งขันรอบคัดเลือกของทุกโซน ทุกทวีปกำลังเข้มข้นให้ลุ้นกันตัวโก่งว่าใครจะได้ตั๋วไปต่อ เช่นเดียวกับในทวีปเอเชีย ที่เข้าสู่ 6 ทีมสุดท้าย เพื่อหาตั๋วสองใบสุดท้าย ซึ่งมียักษ์ใหญ่จากเอเชียในยุคนั้นที่หลุดมาได้ทั้ง ซาอุดิอารเบีย อิหร่าน อิรัก สามตัวแทนจากอาหรับ ยังมีสองเกาหลี ใต้กับเหนือ และตัวเอกของเรื่องนี้อย่าง ญี่ปุ่น


    ญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น เป็นชาติลูกหนังโนเนม ที่ไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อน ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามเหลือเกินที่จะไปตามหาความฝันในรอบสุดท้ายให้ได้ พวกเขาได้ทำอะไรหลายอย่างเพื่อสานต่อเจตนารมณ์นี้ ทั้งการจัดตั้งลีกฟุตบอลอาชีพอย่าง เจ-ลีก ในปีช่วงต้นปี 1993 การดึงผู้เล่นทักษะสูงจากบราซิลมาเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นอย่าง รุย รามอส ที่รับบทเป็นจอมทัพให้ทีมชุดลงเล่นรอบคัดเลือก นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นระดับท็อปของชาติอย่าง คาซูโยชิ มิระ ร่วมทีมด้วย จึงทำให้ญี่ปุ่น แม้จะโนเนม แต่ก็สามารถสู้กับอีกห้าทีมที่เหลือได้

    รุย รามอส


    เมื่อหกยอดทีมแห่งเอเชีย ลงบู๊แข้งกัน ณ สังเวียนกลาง ที่โดฮา แบบพบกันหมด ผ่านการแข่งขันไปสี่เกม และเหลือเกมให้เล่นอีกเกมเดียว สถานการณ์ออกมาเป็นใจให้ญี่ปุ่นมาก เมื่อพวกเขาขึ้นนำเป็นจ่าฝูงที่ 5 คะแนน (สมัยนั้นยังใช้ระบบ ชนะได้ 2 คะแนนอยู่) มีแต้มเท่ากับรองจ่าฝูง ซาอุดิอารเบีย และทีมอันดับสามอย่าง เกาหลีใต้ ที่มี 4 คะแนน ตารางคะแนนที่ออกมา ช่างเป็นใจให้ญี่ปุ่นเหลือเกิน ยิ่งจากนัดที่ 4 ที่ผ่านมาพวกเขา เอชนะ เกาหลีใต้ได้ 1-0 ความมั่นใจจึงเทมาทางฝั่งญี่ปุ่นเป็นกอง และในนัดสุดท้าย ญี่ปุ่นจะลงสนามเจอกับอิรัก ที่แม้จะยังมีลุ้นเข้ารอบ แต่ดูแล้วเป็นงานไม่ยากนักสำหรับญี่ปุ่น ขณะที่อีกสองคู่ ซาอุดิอารเบีย พบ อิหร่าน และเกาหลีใต้ ลงพบกับ เกาหลีเหนือที่ ตกรอบแน่นอนแล้ว ซึ่งทุกคู่ลงแข่งพร้อมกัน

    เกมนัดสุดท้ายลงเตะในวันที่ 28 ตุลาคม 1993 ญี่ปุ่น โดยการนำทีมของกุนซือฮันส์ ออฟท์ ชาวดัตช์หมายมั่นปั้นมือจะเผด็จศึกอิรักให้ได้ เพื่อคว้าตั๋วเข้ารอบสุดท้ายโดยไม่ต้องลุ้นผลคู่อื่น และพวกเขาก็เริ่มต้นได้ดี นาทีที่ 5 คาซูโยชิ มิอูระ ดาวเด่นของทีมซัดให้ญี่ปุ่นขึ้นนำไปก่อน และญี่ปุ่นก็ยันสกอร์นี้ไว้ในครึ่งแรก แต่พอเข้าสู่ครึ่งหลัง นาทีที่ 54 ก็เป็น ซวาดี ราห์ดี กองหลังอิรัก ขึ้นมาทำประตูตีเสมอได้สำเร็จ สกอร์ที่เสมอกันปลุกให้ทัพยุ่นต้องโหมเกมบุกอีกครั้ง และความพยายามของพวกเขาก็มาสำเรจใน นาทีที่ 80 จากการยิงของ มาซาชิ นากายาม่า อีกหนึ่งตำนานศูนย์หน้าของทีมแดนปลาดิบ สกอร์ที่ออกมา 2-1 เพียงพอแล้วกับการเข้ารอบของญี่ปุ่น ถึงตอนนั้นความฝันของพวกเขาใกล้จะเป็นความจริง
    เกมในช่วงเวลาที่เหลือ ดำเนินไปเรื่อยๆ 

    จนเข้าสู่นาทีสุดท้าย อิรักซึ่งไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ทำเกมบุกขึ้นมาและจังหวะสุดท้ายบอลโดนผู้เล่นญี่ปุ่นออกไปได้เตะมุม ผู้เล่นอิรักขึ้นมาออกันในเขตโทษของญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นเองต้องกันการบุกครั้งนี้ให้ได้ และเมื่อผู้เล่นอิรัเปิดเตะมุมเข้ามา ปรากฎว่าแผงหลังญี่ปุ่นที่ยืนกันแน่นไปปล่อยให้มีช่องว่างเพียงนิดเดียว เป็นทาง จัฟฟาร์ ออมราน ซัลมาน ผู้เล่นสำรองที่เปลี่ยนตัวลงมาในช่วงพักครึ่ง กระโดดโหม่งบอลพุ่งวาบเสียบตาข่าย อิรักกลับมาตีเสมอญี่ปุ่นได้อีกครั้งเป็น 2-2

    เหมือนฟ้าจะถล่ม ผู้เล่นญี่ปุ่นถึงกับช็อคต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เชื่อว่าจะต้องมาเสียประตูในเวลาที่แทบจะไม่เหลือให้ทำอะไรแล้ว ญี่ปุ่นพยายามนำบอลไปเขี่ยตรงกลางสนามเพื่อทำทุกวิถีทางที่จะทำประตู แต่เวลาไม่พอแล้ว ผู้ตัดสินเป่านกหวีดหมดเวลา ญี่ปุ่นทำได้แค่เสมออิรัก 2-2 เมื่อจบการแข่งขัน ผลการแข่งขัน ณ สนามอื่น โผล่ขึ้นมาที่สกอร์บอร์ด ได้ใจความว่า ซาอุดิอารเบีย เฉือนขนะอิหร่าน 4-3 ทำให้ซาอุฯมี 7 คะแนน เข้ารอบแน่ๆแล้วหนึ่งทีม ส่วนอิหร่านตกรอบแน่นอนเพราะมีแค่ 4 คะแนน แต่ผลอีกคู่หนึ่งซึ่งจะทรมาณใจชาวญี่ปุ่นไปชั่วชีวิตก็คือ เกาหลีใต้ชนะเกาหลีเหนือ 3-0 ทำให้เกาหลีใต้มีคะแนนเท่ากับญี่ปุ่นที่ 5 คะแนน แต่เมื่อเทียบลูกได้เสียแล้ว

    เกาหลีใต้ยิงได้มากกว่าญี่ปุ่น 2 ลูก เกาหลีใต้จึงผ่านเข้ารอบไป



    โศกนาฏกรรมแห่งโดฮา ได้ทำให้เกิดความเศร้าเสียใจไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ฮันส์ ออฟท์ ถูกไล่ออกในหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ผู้เล่นในทีมชุดนั้นส่วนใหญ่หมดอาลัยตายอยากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทว่าในความสูญเสียครั้งนั้นได้เกิดเป็นแรงบรรดาลใจให้ทีมชาติญี่ปุ่นลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง สื่อต่างๆในประเทศรวมทั้งแฟนบอลได้นำโศกนาฏกรรมนี้มาเป็นเครื่องปลุกเร้าอารมณ์ให้ทีมชาติเค้นฟอร์มที่ยอดเยี่ยมออกมาเพื่อเป้าหมายในการผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกให้ได้ และพวกเขาไม่ต้อรอนาน เมื่อในอีก 4 ปีต่อมา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 1997 รอบเพลย์ออฟที่ ยะโฮร์ บารู ประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่นในฐานะทีมอันดับ 3 จากโซนเอเชีย สามารถหักด่าน ออสเตรเลียทีมแชมป์โซนโอเชียเนีย ในรอบคัดเลือกรอบเพลย์ออฟได้ จากการชนะในช่วงต่อเวลา 3-2 หลังในเวลาเสมอกัน 2-2 และเป็นฝ่ายญี่ปุ่นที่ตีเสมอได้ด้วย คว้าสิทธิ์ไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สมใจอยากเสียที และชาวญี่ปุ่นก็ไม่ลืมที่จะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "ความยินดีแห่งยะโฮร์ บารู (joy of Johor Bahru)"  เคียงคู่กับโศกนาฏกรรมแห่งโดฮา


    ทีมชาติญี่ปุ่นชุดโอลิมปิก 1996 ที่แอตแลนต้า 
    หนึ่งในรากฐานของทีมชุดคัดเลือกบอลโลก 1998 
    ซึ่งสุดท้ายก็สามารถคว้าสิทธิไปแข่งได้ตามเป้าหมายเสียที


    ความล้มเหลวและความสำเร็จในระยะเวลาห่างกัน 4 ปีนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าหากเรามองความล้มเหลวเป็นแค่ความล้มเหลวและไม่ทำอะไรให้กว่าที่เคยล้มเหลว เราก็คงล้มเหลวตลอดไป แต่หากนำมันมาประยุกต์เป็นบทเรียนเตือนใจให้เรามุ่งมั่นทำให้ดีกว่าที่เคยล้มเหลว เมื่อประกอบกับความพยายามแล้ว เชื่อว่าความสำเร็จจะตามมาในไม่ช้าเหมือนที่ญี่ปุ่นได้เคยพิสูจน์และกำลังประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดและยั่งยืน ดั่งเช่นปัจจุบันนี้   

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in