เอนทรีนี้จะเริ่มเข้าสู่เรื่องราวในมหากาพย์กันแล้วค่ะ! ถึงคอร์สนี้จะบอกว่าไม่บังคับให้ไปอ่านตัวบท แต่พอเรียนๆ ไปก็จะเริ่มรู้สึกเองว่ายังไงก็ต้องอ่านแหละค่ะ 5555 เพราะอาจารย์จะวิเคราะห์ให้เราฟังเป็นประเด็นๆ โดยถือว่าเรารู้เนื้อเรื่องมาแล้ว
เพราะฉะนั้นเพื่ออรรถรสที่สมบูรณ์ เราจึงขอแนะนำให้ผู้ที่ไม่เคยรู้จักมหากาพย์เรื่องนี้มาก่อนไปหาตัวบทหรือเรื่องย่อมาอ่านกันก่อน (เพราะเราอาจจะเล่าไม่ละเอียดมาก)
สำหรับตัวบทเวอร์ชั่นแปลอังกฤษที่แนะนำจะเป็นบทแปลของคุณ Andrew George มีสรุปเรื่องย่อไว้เป็นช่วงๆ ภาษาอ่านไม่ยากมาก แต่อาจจะงงนิดหน่อยเพราะจารึกบางส่วนขาดหายไปทำให้แปลออกมาได้ไม่เป็นประโยคค่ะ
สมมุติเทพ
อาจารย์แดมโรชตั้งข้อสังเกตว่ามหากาพย์กิลกาเมชนอกจากจะเป็นเรื่องราวการผจญภัยน่าตื่นตาตื่นใจ สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์รวมถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทพแล้ว มันยังสะท้อนความคิดที่คนในยุคนั้นไม่สามารถพูดออกมาตรงๆ ต่อหน้าผู้ปกครองอาณาจักรได้
ความคิดที่ว่าคือ ประชาชนจะทำอย่างไรเมื่อถูกกษัตริย์ของตัวเองกดขี่?
แผ่นดินเหนียวที่ 1 เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความยิ่งใหญ่และการใช้อำนาจในทางมิชอบของ กิลกาเมช ราชาแห่งอูรุค ชาวเมืองอูรุคไปขอให้เทพเจ้าช่วยเหลือ ทวยเทพประชุมกันแล้วลงมติให้เทพีอารุรูสร้างสิ่งที่มีพลังทัดเทียมกิลกาเมชขึ้นมาเพื่อปราบกิลกาเมช
เทพีอารุรูใช้ดินเหนียวปั้นครึ่งคนครึ่งสัตว์ชื่อ เอนคิดู แล้วส่งไปอยู่ในป่า จุดที่น่าสนใจคือเอนคิดูนอกจากจะมีความสามารถทัดเทียมกิลกาเมชแล้ว ยังเป็นเสมือนกระจกเงาของกิลกาเมชด้วย กิลกาเมชสร้างความเดือดร้อนให้ชาวเมือง ชาวเมืองขอให้เทพช่วย คราวนี้พอเอนคิดูสร้างความเดือดร้อนให้พรานที่อาศัยอยู่ในป่าบ้าง พวกเขาจะทำอย่างไร?
คำตอบก็คือ ไปขอให้กิลกาเมช (ซึ่งอยู่ฐานะสมมุติเทพ) ช่วยค่ะ
กิลกาเมชส่ง ชัมฮัท โสเภณีประจำวิหารไปล่อลวงเอนคิดู แล้วเรื่องก็วนลูปอีกครั้ง เอนคิดูถูกชัมฮัทล่อลวงเข้ามาอยู่ในสังคมมนุษย์โดยที่ไม่รู้ว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร สะท้อนให้เห็นว่ากิลกาเมชเองก็ไม่รู้เช่นกันว่าการที่ตัวเองส่งชัมฮัทไปปราบเอนคิดู คือสิ่งที่เป็นเงาสะท้อนแผนการของทวยเทพที่ส่งเอนคิดูมาเพื่อปราบกิลกาเมชนั่นเอง (เธอคือฉัน ฉันคือเธอ อินเซปชั่นเหลือเกิน)
เมืองกับป่า
วรรณกรรมมักเขียนขึ้นโดยคนที่รู้หนังสือและอาศัยอยู่ในเมือง เรื่องราวในแผ่นดินเหนียวที่ 1 จึงมีส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่คนในยุคนั้นมีต่อเมืองกับป่า
เมืองคือความศิวิไลซ์ ป่าคือความป่าเถื่อน เอนคิดูเป็นคนป่าดุร้าย สะท้อนภาพกิลกาเมชผู้ใช้อำนาจกดขี่ชาวเมือง ชัมฮัททำให้เอนคิดูหลุดพ้นจากความเป็นคนป่าด้วยการสอนเรื่องเพศ พาเข้ามาอยู่ในเมือง สอนให้ใช้ชีวิตอย่างคนเมือง สอนเหตุผลและความรู้สึกแบบมนุษย์
และก็อย่างที่ได้กล่าวไปว่าเอนคิดูคือกระจกสะท้อนตัวกิลกาเมช เมื่อเอนคิดูเปลี่ยนจากคนป่ามาเป็นคนเมืองด้วยการชักจูงของชัมฮัท ราชาผู้โหดร้าย (แทนภาพด้วยคนป่า) ก็จะเปลี่ยนเป็นราชาผู้ทรงธรรม (แทนภาพด้วยคนเมือง) ด้วยการชักจูงของเอนคิดูในภายภาคหน้าค่ะ
ฮุมบาบาแห่งป่าซีดาร์
เรื่องราวของกิลกาเมชที่คนรู้จักกันมากที่สุดน่าจะเป็นช่วงปราบ ฮุมบาบา อสูรทรงพลังแห่งป่าซีดาร์ ถ้าไปอ่านตัวบทจะพบว่าเนื้อเรื่องช่วงนี้ใช้พื้นที่มากพอสมควร คือกิลกาเมชพูดถึงฮุมบาบาตั้งแต่ในแผ่นดินเหนียวที่ 2 จนไปสู้กันจริงๆ ในแผ่นดินเหนียวที่ 5
เนื้อเรื่องในแผ่นดินเหนียวที่ 2 มีอยู่ว่า เอนคิดูเข้าเมืองมาและได้รู้ว่ากิลกาเมชออกกฎว่าราชาจะได้นอนกับเจ้าสาวในคืนแต่งงานก่อนสามีของเธอ เอนคิดูรับไม่ได้จึงไปขัดขวางกิลกาเมช ทั้งสองต่อสู้กัน แต่เนื่องจากเทพีอารุรูสร้างให้เอนคิดูมีพลังทัดเทียมกิลกาเมช การต่อสู้ครั้งนี้จึงไม่มีผู้แพ้ชนะ กลายเป็นว่ากิลกาเมชกับเอนคิดูต่างก็ยอมรับกันและกัน เกิดเป็นมิตรภาพลูกผู้ชาย (?) ขึ้น
กิลกาเมชบอกเพื่อนใหม่ของเขาว่าอยากเข้าป่าซีดาร์ไปสังหารฮุมบาบา แม้จะถูกบรรดาที่ปรึกษาทัดทาน แต่กิลกาเมชก็ยืนยันว่าจะไป
แผ่นดินเหนียวที่ 3 เป็นเรื่องการเตรียมตัวออกเดินทางสู่ป่าซีดาร์ กิลกาเมชพาเอนคิดูไปฝากตัวกับ เทพีนินซุน ซึ่งเป็นแม่ เทพีนินซุนจึงรับเอนคิดูเป็นลูกบุญธรรม และไปขอให้ ชามาช เทพแห่งดวงอาทิตย์ช่วยคุ้มครองลูกชายทั้งสองของตนด้วย
ต่อมาในแผ่นดินเหนียวที่ 4 ทั้งสองก็ออกเดินทาง (ฮันนีมูน) เข้าป่า ระหว่างทางกิลกาเมชฝันร้าย เอนคิดูก็คอยปลอบว่าฝันของกิลกาเมชเป็นลางดี สุดท้ายทั้งสองปราบฮุมบาบาลงได้ในแผ่นดินเหนียวที่ 5
ภาพสลักกิลกาเมชและเอนคิดูปราบฮุมบาบา
การเดินทางปราบฮุมบาบาของกิลกาเมชและเอนคิดูในครั้งนี้สื่อถึงอะไร? เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงทางประวัติศาตร์ค่ะ
ว่ากันว่ากิลกาเมชตัวจริงในประวัติศาสตร์นั้นมีผลงานเด่นๆ อยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ การสร้างกำแพงเมืองกับการขุดบ่อน้ำทำชลประทาน พูดง่ายๆ คือการพัฒนาเมืองนั่นเอง
แต่สภาพภูมิประเทศในแถบนั้นค่อนข้างแห้งแล้ง อารยธรรมเมโสโปเตเมียสร้างขึ้นจากดินเหนียว แต่ถ้าต้องการสร้างเมืองที่ยิ่งใหญ่ขึ้นก็ต้องการทรัพยากรที่ดินแดนแถบนั้นไม่มี ซึ่งคือไม้ซีดาร์
เป้าหมายแรกในการตามหาไม้ซีดาร์คือเปอร์เซีย แต่หลังจากที่ชาวเมโสโปเตเมียตัดป่าในเปอร์เซียจนเหี้ยนแล้วก็ต้องมุ่งหน้าต่อไปยังเลบานอน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของกิลกาเมชตามมหากาพย์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวการเดินทางครั้งนี้จริงๆ แล้วคือการออกตามหาไม้ซีดาร์มาสร้างเมืองค่ะ
ตำนานของชาวเมโสโปเตเมียมักเขียนให้ราชาผู้ยิ่งใหญ่ออกเดินทางตามหาทรัพยากรหายากเช่นทองหรือไม้ซีดาร์ ในกรณีของทองนั้นได้มาไม่ยากเท่า เนื่องจากแค่โจมตีเมืองให้ชนะก็กวาดทองมาได้แล้ว ขณะที่ไม้ซีดาร์ต้องมีแรงงานในการตัดและแปรรูปไม้ แถมยังต้องลำเลียงไม้กลับทางแม่น้ำยูเฟรติสโดยรักษาคุณภาพไม้ไม่ให้เสียไปเพราะความชื้นด้วย
หมายความว่าการจะได้มาซึ่งไม้ซีดาร์ไม่ใช่แค่โจมตีเมืองแล้วจบ แต่ต้องทำให้ชาวเมืองยอมศิโรราบจริงๆ ด้วย (ไม่งั้นก็ตัดไม้ไม่ได้เพราะมันต้องใช้เวลาและแรงงาน)
เพราะฉะนั้นสิ่งที่กิลกาเมชควรทำในการเดินทางครั้งนี้คือทำให้ฮุมบาบาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนชาวเมืองที่ไปรุกรานกลายมาเป็นบริวารของตน ส่วนเอนคิดูก็ควรแนะนำให้กิลกาเมชทำแบบนั้น แต่กลายเป็นว่าเอนคิดูกลับกลายเป็นกองเชียร์ให้กิลกาเมชสังหารฮุมบาบาซะอย่างนั้น
การตัดสินใจที่ผิดพลาดของทั้งสองในครั้งนี้ทำให้ฮุมบาบาสาปแช่งเอนคิดู ขอให้ไม่ตายดี ซึ่งคำสาปนี้ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมของเอนคิดูในเวลาต่อมานั่นเอง
เราขอจบเอนทรีนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ครึ่งหลังของมหากาพย์กิลกาเมชจะมีประเด็นอะไรให้เราวิเคราะห์กันอีก โปรดติดตามในเอนทรีถัดไปค่ะ!
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in