เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Old School 2 ความสุขของเด็กเล็กเท่าขนมSALMONBOOKS
01 รองต๊ะแล่บแวบ
  • สิ่งที่อยู่ตรงหน้าผม เป็นรองเท้านักเรียนหนึ่งคู่ สภาพของมันเมื่อเปรียบเป็นรถยนต์มือสอง เว็บมาสเตอร์ขายรถมือสองคงไม่สามารถนำลงเว็บได้ เพราะไม่รู้จะรีทัชยังไงให้แม่งน่าซื้อ

    กันชนถลอก ประตูบุบแถมสนิมจับจนแทบไม่เหลือสีเดิม ไฟหน้าด้านขวาแตก ส่วนโคมหน้าซ้ายขุ่นขมุกขมัว ยางในอ่อน ส่วนยางนอกหลุดเป็นแผ่นแหว่งวิ่น หลังคายุบยวบยาบ ฯลฯ

    ประโยคที่น่าจะอธิบายความเป็นรถคันนี้ได้ดีที่สุดคือ อย่าเรียกมันว่ารถ เรียกว่าเศษเหล็กอาจยังหวือหวาเกินไปด้วยซ้ำ...

    มองซ้าย มองขวา ขณะนี้สี่โมงเย็น บนอาคารเรียนเริ่มร้างผู้คน มีแค่ผมคนเดียวที่บังเอิญวาดรูปเล่นอยู่ในห้องเรียนเพลินจนลืมเวลา ในระยะสายตา นอกจากกลุ่มนักเรียนหญิงสองสามคนที่กำลังจัดบอร์ดห่างไปราวสองสามห้องผมก็ไม่เห็นใครอีก

    แสงแดดส่องสะท้อนลงบนกำแพงขาว แสดงภาพเงาของเด็กหัวเกรียนคนหนึ่งกำลังสบตากับรองเท้ายี่ห้อนันยางสภาพศูนย์เปอร์เซ็นต์คู่นั้นอย่างเข้าอกเข้าใจ

    รองเท้าของกูถูก ‘เทิร์น’ ไปแล้ว...สินะ

    ...

    ผมจำไม่ได้แล้วว่านี่เป็นการถูกโจรกรรมรองเท้าครั้งที่เท่าไหร่ ทั้งที่เจอกับตัวเองหรือได้ยินจากคนอื่น

    ไม่เข้าใจว่าทั้งๆ ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงเรียนเล็กๆ แคบๆ แท้ๆ แต่ทำไมอาชญากรที่สลับรองเท้าคนอื่นอย่างอุกอาจถึงยังลอยนวลอยู่ได้? เกิดเหตุทีไรก็หายตัวเข้ากลีบเมฆไปหมด ไม่มีใครจับมือใครดมได้ จับรองเท้าดมนี่ยิ่งไม่มีเลย

    ตลอดช่วงเรียนมัธยม เรื่องโดนขโมยรองเท้าเหมือนเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม โดนกันเป็นปกติ เรียนหกปีหายกันไม่รู้กี่คู่ ขโมยไปเลยไม่เท่า ไหร่ แต่ดันมีพวกที่ทำตัวเหมือนตกลงกับเราเอาไว้ว่า เออ นาย เรามาแลกรองเท้ากันเถอะ นี่เราเอาคู่เก่าของเรามาให้ด้วย วางไว้ตรงนี้นะ ใส่สบาย เชื่อดิ ไปแล้วนะ พอดีมีธุระ บาย... พวกเชี่ยนี่น่าตีด้วยเก้าอี้พับ และถ้ามันทิ้งรองเท้าไซส์เดิมเอาไว้ให้ก็ยังพอทน เพราะยังเอารองตีนป้องกันตะปูตำ ค่อยๆ เดินกลับบ้านได้

    แต่พวกที่ทิ้งไซส์เล็กกว่าเอาไว้ให้ จิตใจมึงทำด้วยอะไร...


  • พฤติกรรมดังกล่าว คนในแวดวงนักฉกจะไม่เรียกกันว่าขโมยครับ (อืม ไปเอารองเท้าคนอื่นมาโดยพลการ มึงไม่ขโมยเลยเนอะ) แต่เรียกกันว่าเอารองเท้าไป ‘เทิร์น’

    ปกติแล้วการเทิร์น อย่างเอามือถือไปเทิร์นเนี่ย เราต้องเอาเครื่องเก่าไปแลกพร้อมกับเพิ่มเงินให้อีกฝ่ายด้วย มันถึงจะเรียกว่า เทิร์น ซึ่งที่จริงพวกอาชญากรมักง่ายมันก็จ่าย แต่จ่ายเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจให้เราแทน สงสัยเป็นสกุลเงินบ้านมัน (โมโห)

    ผมยังไม่เคยเห็นผู้ลงสมัครเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียนพรรคไหนออกนโยบายดูแลรักษารองเท้าของเพื่อนร่วมสถาบัน มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย ประกันความมั่นคงในทรัพย์สินชนิดนี้ ชูจุดยืนปราบปรามโจรขโมยรองเท้าให้หมดสิ้นไปจากอาณาเขตของสถาบัน ผมมั่นใจว่าถ้าใครมีวิสัยทัศน์ออกแคมเปญนี้มาหาเสียง รับรองว่าได้เก้าอี้สมใจ

    ทุกทีที่รองเท้าหายแล้วไม่สามารถเอาผิดใครกับใครได้ ผมจะโยนความผิดให้รองเท้ายี่ห้อนันยางนี่แหละ ที่ดันทำตัวเหมือนได้รับสัมปทานจากกระทรวงศึกษา อนุญาตให้เป็นเครื่องแบบสากลของนักเรียนชายทั่วประเทศไทย!

    นันยางสมัยนี้เป็นยังไง สมัยก่อนก็เป็นยังงั้น ผ่านไปเป็นสิบปีไม่มีเปลี่ยนโฉม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้าที่ใช้หรือรูปทรง พื้นรองเท้ายังเป็นตราช้างดาวบนยางสีเขียวเหมือนเดิม เป็นรองเท้าที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีชื่อรุ่นว่า 205S และที่สำคัญ...มันไม่ได้มีแค่รุ่นเดียว! แถมบริษัทนันยางก็พัฒนารุ่นใหม่อยู่ตลอด แค่เราไม่รู้เรื่องเท่านั้น เช่น รุ่น 121N ที่เวลาใครเจอก็ด่าว่าเป็นนันยางปลอม เขาก็เลยหมดกำลังใจจะโปรโมตสิวะ ยิ่งพอออกรองเท้าแตะมาแล้วแทนที่จะถูกเรียกว่ารองเท้าแตะนันยาง ก็ดันถูกเรียกว่ายี่ห้อช้างดาว ไม่มีสกุลรุนชาติเลย

    เมื่อไม่โฆษณา ก็ทำให้เราไม่รู้ข่าวเกี่ยวกับบริษัทนันยาง คิดไปว่าบริษัทนี้คงจะขายรองเท้าอยู่รุ่นเดียวไปตลอดกาลแล้วสินะ

    ซึ่งน่าจะจริง เพราะผ่านมาสิบกว่าปี ตอนนี้นันยางก็ยังครองตลาดรองเท้าที่นักเรียนชายนิยมมากที่สุดอยู่ ดูจากโฆษณาหน้าร้านขายเครื่องแบบนักเรียนหรือโทรทัศน์ช่วงเปิดเทอม ที่เนื้อหาของโฆษณาเน้นไปเรื่องความ ‘คลาสสิก’ ของนันยางที่ใช้กันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อ

    ส่วนตัวผมไม่ค่อยแน่ใจว่าพอเอาความคลาสสิกมาเป็นจุดขายเด็กยุคนี้จะอินไปด้วยหรือเปล่า แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าสิบกว่าปีก่อนนันยางยังไม่มีการโฆษณาแบบนี้ มันคลาสสิกอยู่ในตัวเองและเราพร้อมใจใส่กันเอง ใส่กันจนเป็นวัฒนธรรม

    ผมเคยพยายามนอกกรอบ เพราะรู้สึกว่าใครๆ ก็ใส่นันยาง เกร่อจังว่ะ ก็เลยทุบกระปุกไปซื้อยี่ห้อ FILA คู่ละเกือบพันบาท แต่ใส่ได้แค่เกือบวันมันก็หายตัวไป... และทั้งที่มั่นใจว่าทั้งโรงเรียนไม่มีใครซื้อเหมือน ถึงเหมือนมันก็ไม่บังเอิญไซส์เดียวกันหรอกเจอเมื่อไหร่โดนกูรวบแน่มึงไอ้หัวขโมย ฮ่า ฮ่า ...แต่สุดท้ายก็ตามหามันไม่เจอตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนถูกเทพเจ้านันยางลงโทษที่ทำตัวออกนอกลู่นอกทาง ขบถดีนักใช่ไหม เดินตีนเปล่ากลับบ้านไปเลยมึง

  • รองเท้านันยางเป็นต้นแบบของสังคมไร้ชนชั้น เพราะในยุคนั้น ไม่ว่าจะลูกรัฐมนตรี หรือลูกแม่ค้าขายไข่หงส์ก็ใส่นันยางกันหมด เป็นความเท่ระดับมาตรฐาน ถ้าใส่—คือเสมอตัว ถูกต้องตามวัฒนธรรม แต่ถ้าไม่ใส่ และบังอาจคิดนอกกรอบก็จะถูกจับตามอง โดนเขม่นจากเพื่อน ถูกตราหน้าว่าเนิร์ด เพราะรองเท้าทางเลือกแต่ละยี่ห้อรูปลักษณ์มันชวนเครียดมาก อย่าง
    บีเอ็มเทอร์โบ ที่ดังสมัยประถม ขึ้นมัธยมก็มีคนใส่อยู่บ้าง แต่ด้วยความใหญ่เทอะทะและดูเป็นเด็กเรียนสุดๆ เพื่อนคนไหนใส่ก็รู้สึกไม่อยากคบหา เพราะกลัวจะทำให้เราเสียบุคลิกไปด้วยนี่แค่ไปขอให้ป้าคนขายหยิบลงมาให้ดูรัศมีเด็กเนิร์ดก็เปล่งประกายออกมาแล้ว! (ที่จริงอี FILA ที่ผมโดนฉกไปนั่นก็เข้าข่ายเนิร์ดนะ แฮะ แฮะ)

    ความดีของการเป็นเครื่องแบบระดับมาตรฐาน คือทำให้นักเรียนไม่ต้องแข่งกันตามเทรนด์ แถมราคานันยางก็ไม่แพง แค่สองร้อยกว่าบาท ทำให้นักเรียนแทบทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เดือดร้อนทุนทรัพย์ครอบครัว พ่อแม่ก็เก็บเงินมาจ่ายค่าเทอม หรือไม่ก็สำรองเอาไว้จ่ายค่าเสียหายที่ลูกชายเตะบอลไปโดนกระจกบ้านใครแตกจะดีกว่า

    ถึงจะใส่เหมือนกันหมด แต่นักเรียนชายบางคนก็พยายามจะทำให้นันยางของตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ด้วยการทำสัญลักษณ์ออกแบบวิธีการสวมใส่สารพัด เอาไปมิกซ์แอนด์แมตช์กับถุงเท้าแบบต่างๆ จนกลายเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือพูดง่ายๆ ว่า—ไปกันใหญ่แล้วนะพวกมึง—นั่นเอง

    คนที่ทำสัญลักษณ์เอาไว้บนรองเท้า ส่วนใหญ่ทำเพื่อป้องกันการสูญหาย ลักษณะสัญลักษณ์มีตั้งแต่ระดับพิการสมองส่วนสร้างสรรค์ กลุ่มนี้มักใช้ปากกาตราม้าเขียนพื้นรองเท้าด้านในดื้อๆ ลงนามไปเลยว่าของใคร ณั-ฐ-ช-น-น ม-ห-า-อิ-ท-ธิ-ด-ล พอเลิกเรียนก็ต้องมาหยิบจากชั้นวางรองเท้าหน้าห้องมาดูทีละคู่ ไม่เห็นจะหาง่ายขึ้นเลย

    พอใช้ปากกาเขียน คุณแม่จะเซ็งจัดเพราะถุงเท้าลูกจะเปื้อนหมึกปากกาทุกวัน มันซักยากนะคะลูก นี่ต้องแยกมาซักอีกเพราะกลัวสีจะตกไปเปื้อนกับคู่อื่นเนี่ย กลายเป็นความข้องใจที่แม่ไม่เคยปริปากบอกกับใครมาก่อน รำพึงรำพันทำไมลูกกูโง่ขนาดนี้

    บางคนที่สร้างสรรค์หน่อย ก็หันมาทำสัญลักษณ์ด้วยลิควิด-เปเปอร์ เขียนลงบนผิวรองเท้าเลยสิ! จะได้ไม่เปื้อนไงล่ะ! (แม่:โง่อยู่ดีค่ะลูก) เขียนชื่อ เขียนห้องเอาไว้เรียบร้อย เด่น ชัด หาไม่ยาก แต่ส่วนใหญ่ผ่านไปไม่ถึงอาทิตย์ก็หลุดจนหมด เป็นความสร้างสรรค์ที่คุณภาพต่ำสุดๆ

    บางคนมีหัวด้านศิลปะ ก็ผลิตงานศิลปะบนรองเท้าด้วยปากกาแดง-น้ำเงิน ละเลงลงบนลิ้นและผิวรองเท้า กลายเป็นไฟน์อาร์ตแขนงใหม่ และแค่เขียนชื่อตัวเองมัน is too mainstream แล้วมึงเข้าใจมั้ย! มันไม่พอแล้ว! จะต้องคัดชื่อแก๊งลงไปด้วย โ-อ-ร-ส / ข-น-ม-ห-ว-า-น / กิ้-ง-กื-อ-สี-ช-ม-พู ฯลฯ อะไรก็ว่าไป

    แต่บางคนไม่อยากให้รองเท้าเปื้อน ดูผิวเผินเหมือนจะโชว์ว่ากระผมหาได้ตื่นตูมกับขโมยขโจรเลย พวกคุณจะตื่นเต้นไปทำไม... อืม ไม่ขีดไม่เขียนอะไรแม้แต่นิดเดียวจริงๆ แต่พี่เล่นเอาคัตเตอร์กรีดเลย! เฉือนตรงนั้น หั่นตรงนี้ ตัดลิ้นรองเท้าออกไปเป็นนิ้ว เห็นแล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำแบบนี้แล้วถ้ารองเท้าหายไปจริงๆ จะทำยังไง ถามเพื่อน เพื่อนมันบอกว่ากูก็สังเกตจากลิ้นรองเท้าที่กรีดเอาไว้สิวะ / ผม: อ๋อ แค่สังเกตก็เห็น? / มัน: ปัญญาอ่อน ใครจะมองทัน มึงนี่เขลาจริงๆ ถ้าหายก็เดินไปขอดูทีละคู่เลยสิวะ ชัวร์กว่า / ผม: ...

  • แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ทำสัญลักษณ์อะไรเลย พวกเขาเหมือนมีฌานระดับสูงที่สามารถแยกแยะความแตกต่างอันน้อยนิดได้ เสมือนเป็นนักพรตบรรลุลักขณูปนิชฌานขั้นลึกซึ้ง แยกได้ทันทีว่าหินก้อนไหนคือกรวดก้อนไหนคือเพชร มองปราดเดียวก็รู้ว่านั่นคือนันยางของอาตมา

    บางคนไม่ต้องพึ่งฌาน แต่อาศัยจำระดับความโทรมของรองเท้า ของเราโทรมระดับเจ็ด คู่นี้มันใหม่เกินไป ไม่ใช่ของเรา คู่นั้นก็โทรมระดับเก้า สงสัยเจ้าของแม่งไปรบที่ซีเรียมา ก็ไม่ใช่ของเราอีก แล้วของเราอยู่ไหน อ๋อ โดนเทิร์นไปแล้ว ฟัฆญู

    จะเห็นได้ว่าตอนเด็กนี่ความจำเราดีเหมือนกันนะ แต่ลองดูตอนนี้ แค่ไปวัดแล้วถอดรองเท้าไว้หน้าอุโบสถ เข้าไปกราบหลวงพ่อแค่สามป้าบออกมาก็หาไม่เจอแล้ว กูถอดไว้ประตูไหนวะ ลืมเรื่องความโทรมของนันยางเป็นเรื่องที่จะข้ามไปไม่ได้ เพราะนันยางใช้หลักการเดียวกับกางเกงยีนส์ลีวายส์ที่ไม่นิยมใส่ของใหม่ ถึงซื้อใหม่ก็ต้องเอาไปย้อมให้เก่า ไปกัดให้สีมันซีดๆ จางๆ เอาหินทุบให้เกิดรอย เพราะเขาถือว่าในเชิงชีวภาพ มนุษย์ต่างมียีนเป็นของตัวเอง แล้วในเชิงสังคม เรื่องอะไรจะให้กางเกงยีนส์ของเราไปซ้ำกับคนอื่น? อืม มีเหตุผลฉิบหายเลย

    นันยางก็เช่นกัน ใครเพิ่งแกะกล่องแล้วใส่ออกไปเดินข้างนอกทันทีจะรู้สึกไม่มั่นใจ หัวรองเท้ายิ่งเงายิ่งมีผลต่อจิตใจ บางคนต้องเอาไปขูดฟุตปาธ เดินลากเท้าให้เกิดรอย ดูเผินๆ เหมือนหมาขี้ติดตูด บางคนต้องเชิญให้เพื่อนทั้งห้องมารุมเหยียบ ช่วยให้รองเท้าดูผ่านโลกมาหน่อย บางคนเอาไปฟาดพื้น ตีกำแพงอย่างโหดเหี้ยม นี่ถ้ามีองค์กรพิทักษ์รองเท้าสากล รับรองว่าเด็กไทยถูกจับติดคุกกันทั้งประเทศ

    พอมีเรื่องของการสร้างอัตลักษณ์ นอกจากขีดขูดทำตำหนิ ความอยากมีตัวตนของตัวเองก็พัฒนาไปถึงวิธีการสวมใส่รองเท้า ซึ่งมีขั้นตอนวุ่นวายชนิดต้องสงสัยเลยว่ากะอีแค่รองเท้าคู่เดียวทำไมต้องไปเรื่องมากกับมันขนาดนี้?

    เช่น เวลาจะออกจากบ้านแต่ละหน ใช่ว่าใส่เสร็จแล้วก็เสร็จกัน จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องจัดลิ้นรองเท้าให้เข้ารูป ต้องพับให้ด้านขาวหันออก แค่หันออกไม่พอ ยังต้องปรับความโค้งด้วย!โค้งมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบและความคิดว่าจะเท่ บางคนถึงขั้นเอาตัวหนีบมาหนีบดามไว้ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมเพื่อให้มันอยู่ตัว หมกมุ่นประหนึ่งว่าถ้าลิ้นรองเท้าไม่ถูกต้องแล้วจะกินอะไรไม่รู้รส

    กระทั่งการร้อยเชือกก็ยังมีความหมายมากกว่าการทำให้รองเท้ากระชับกับเท้า เพราะการร้อยแบบอเมริกันสแตนดาร์ดมันดาษดื่นเกินไป ดูนี่! นักสร้างสรรค์มันต้องร้อยยังงี้! ว่าแล้วมันก็โชว์การร้อยเชือกรองเท้าระดับสูงที่กูดูยังไงมึงก็ร้อยผิดชัวร์ เพราะแม่งไม่มีหลักการใดให้เชื่อถือได้เลย

    แม้แต่ปมของเชือก จะโชว์ให้คนอื่นเห็นก็ไม่ได้นะครับ คนใส่นันยางถือคติว่า ‘รักจะใส่นันยางห้ามก้มผูกเชือก’ กรุณาซ่อนมันไว้อย่าให้ใครเห็น มิฉะนั้นบ้านจะบึ้ม

    ข้อดีของการซ่อนปมก็คือ เราสามารถถอดรองเท้าได้ภายใน 0.3 วินาที เวลาใส่ก็แค่ดึงส้น เดินย่ำจนมันเข้าที่ ซึ่ง...ทียังงี้มึงไม่อายใครจะด่าว่าทำท่าทางเหมือนม้าลายกำลังหัดเดิน

  • ตอนถอดไม่ต้องคลาย ตอนใส่ไม่ต้องผูก มันก็ยังสบายไม่พอ เรายังชอบใส่นันยาง ‘เหยียบส้น’ กันอีกด้วย เหยียบเหมือนเป็นรองเท้าแตะนั่นล่ะครับ เป็นเรื่องที่ครูฝ่ายปกครองเหนื่อยใจเสมอ (ผมเข้าห้องปกครองด้วยเรื่องนี้บ่อย แถมยังไม่ยอมเชื่อฟังตอนนี้คิดแล้วก็รู้สึกว่าเมื่อก่อนกูก็ว่างเนอะ อุตส่าห์ต่อสู้เพื่ออิสรภาพในการเหยียบส้นรองเท้าด้วย ทุกวันนี้จึงถูกสาปด้วยการซื้อรองเท้ากี่คู่ เชือกก็หลุดโคตรง่ายทุกคู่ ต้องก้มผูกประมาณยี่สิบครั้งต่อวัน เออ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง)

    นอกจากจะวุ่นวายกับรองเท้า แฟชั่นนันยางยังลามไปถึงถุงเท้า กลายเป็นของคู่กันอย่างขาดไม่ได้

    จากเดิมที่ถุงเท้ามีหน้าที่แค่เพียงแสดงความมีระเบียบวินัย หรือใส่เพื่อป้องกันกลิ่นอับ แต่เกมมันเปลี่ยนไปแล้ว ยุคที่ถุงเท้าจะต้อง ‘ตึง’ มันสิ้นสุดลงแล้ว เดี๋ยวนี้จะใส่ถุงเท้ามันต้อง ‘ย่น!’

    การย่นก็อุตส่าห์มีศิลปะ ย่นแต่ละชั้นจะต้องเรียงกันอย่างประณีต หนาเท่ากันทุกชั้น และจบชั้นบนสุดด้วยการม้วนลงอย่างงดงาม จัดทั้งสองข้างให้สมมาตรกันก่อนออกจากบ้าน และทุกครั้งที่เริ่มไม่มั่นใจในตัวเอง โดยไม่เคยคิดเลยว่าคนสติดีที่ไหนเขาจะมาชอบมึงเพราะย่นถุงเท้า...

    ถ้าไม่ย่นถุงเท้าแต่พับแทนจะได้ไหม?—ได้ แต่จะถูกตราหน้าว่าเป็นนักเลงหรือเด็กวัดทันที เพราะจากสถิติ โรงเรียนที่คู่อริเยอะ ต่อยกันบ่อยกว่าเช็กชื่อโฮมรูม (อาจกล่าวว่าเป็นเด็กยุคพรีแว้น) ส่วนใหญ่จะพับถุงเท้าสั้นติดตาตุ่ม ไม่รู้ว่าเท่ตรงไหนหล่อยังไง แต่รู้ว่าถ้าไปแซวนี่โดนต่อยจมูกพัง (ต่อมา ถุงเท้าข้อสั้นแบบนี้เป็นที่นิยมมากๆ สงสัยว่าพรีแว้นเนี่ยนเหล่านั้นอาจจะเล็งเห็นแล้วก็เป็นได้)

    พอถุงเท้ามีอิทธิพล ก็ร้อนถึงพ่อแม่ที่ต้องซื้อถุงเท้าใหม่ให้บ่อยๆ ยิ่งพวกใส่รองเท้าเหยียบส้น ก็ขูดจนส้นถุงเท้าขาด พอขาดก็ไม่เท่ ดูอัตคัดยากจน กลายเป็นคนไม่มั่นใจ พ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูกก็รีบซื้อมาประเคนให้ กลัวลูกใส่ถุงเท้าขาดๆ แล้วจะเรียนไม่จบ...

    กลับมาที่นันยาง สาเหตุที่ผมชอบใส่ก็เพราะมัน ‘หนึบ’ ดี เวลาเล่นบาสฯ วิ่งกันดังเอี๊ยดอ๊าด จนกลายเป็นอีกจุดขายหนึ่งของรองเท้ายี่ห้อนี้

    ตอนอยู่มัธยม เวลาไปแข่งบาสฯ ผมเห็นแทบทุกทีมใส่นันยางลงแข่งกันสลอน บางคนถึงขั้นซื้อสีขาวมาใส่แข่งโดยเฉพาะ ถึงจะมีรองเท้ากีฬาดีๆ ยี่ห้อดังๆ ที่ออกแบบมาเพื่อนักกีฬา แต่ทุกคนก็ไม่ใส่ เขิน เพราะดูเหมือนเอาแต่แต่งตัว เดี๋ยวแพ้แล้วจะเสียหมา นันยางนี่แหละปลอดภัยดี คนดูจะได้คิดว่าเรามาแข่งเอาฮา ไม่ได้กดดันอะไรเลย ถึงชนะก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ดีใจหรอก (แต่ที่จริงบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียนไว้อย่างใจป้ำ)

    เพื่อเพิ่มความหนึบ ก่อนจะแข่งนักกีฬาบางคนจะเอาน้ำแดงเฮลซ์บลูบอยทาพื้นรองเท้า และถ้าใครเคยดูการแข่งบาสฯ มัธยมจะเห็นพิธีกรรมประหลาด ผู้เล่นแข่งกันอยู่ดีๆ พี่แกก็เอามือไปลูบใต้พื้นรองเท้า ไม่ใช่เพราะมันหิวน้ำแดงนะครับแต่มันเชื่อว่าสามารถเพิ่มความหนึบของรองเท้าได้...นี่ถ้ามันเอารองเท้าผสมพันธุ์กับตุ๊กแกได้ก็คงทำไปแล้ว

  • ไม่ใช่แค่บาสเกตบอล แต่นันยางยังถูกนิยมไปทั่วทุกกีฬา ยกเว้นก็แต่ว่ายน้ำ จนสามารถจำแนกได้เลยว่าคนไหนเล่นกีฬาอะไรโดยดูจากรอยขาดบนรองเท้า

    ถ้าขาดตรงนิ้วก้อย สันนิษฐานไปเลยว่าเล่นบาสเกตบอล เพราะเวลาวิ่งซิกแซกหลอกล่อคู่ต่อสู้ส่วนใหญ่แล้วน้ำหนักจะตกไปอยู่บริเวณนั้น ถ้าขาดตรงนิ้วโป้งก็ฟุตบอล เพราะเวลาเตะ แป ส่ง ก็ใช้เท้าด้านใน ถ้าเจอรองเท้าใครขาดทั้งสองข้างก็สันนิษฐานไปเลยว่าถ้าพี่เขาไม่ใช่ยอดนักกีฬา ที่บ้านคงมีหนูเป็นฝูง ถึงขาดเป็นรูเละขนาดนั้น เลี้ยงแมวเหอะมึง

    นันยางสนิทสนมกับเรามากกว่าเพื่อนบางคน อยู่ด้วยกันวันละไม่ต่ำกว่าสิบชั่วโมง คิดเป็นปีก็เป็นพันชั่วโมง มันถูกใช้งานอย่างสมบุกสมบัน ไม่ว่าเล่นกีฬา ต่อยกับเพื่อน โดดเรียน เดินกลับบ้าน ถูกไถเงิน ฯลฯ แน่นอนว่าเมื่อถึงคราวสิ้นอายุขัย หมดวาระไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ ทำให้เราต้องหาคู่ใหม่มาทดแทน

    แต่แทนที่จะบอกแม่ให้พาไปซื้อคู่ใหม่ บางคนก็แบ่งเบาภาระทางบ้านด้วยการเทิร์น...

    ครั้งหนึ่ง ผมติดตามเพื่อนไปลงพื้นที่เทิร์นรองเท้าเพราะอยากเห็นการปฏิบัติการจริง ถามถึงวิธีการเลือกเพราะคิดว่าคงเลือกยาก ทุกคู่มันคล้ายกันหมด ละลานตาอย่างกับตลาดปลาซึคิจิ แต่มันก็เลือกหาอย่างพิถีพิถันประหนึ่งเป็นชาวประมงแก่ประสบการณ์

    หลักในการเลือกคือ—ห้ามเป็นรองเท้าใหม่ เพราะจะเป็นจุดสังเกต ทำให้เหยื่อตามจับได้ง่าย จากนั้นค่อยดูไซส์รองเท้า เล็กกว่าสักเบอร์ไม่ใช่ปัญหา ใหญ่กว่านิดนึงก็ไม่เป็นไร ยังไงก็เอาไปใส่เหยียบส้นอยู่แล้ว จากนั้นก็สังเกตตำหนิ อย่าให้เห็นชัดเกินไป เมื่อทุกอย่างโอเค ก็จอดรองเท้าคู่เดิมเอาไว้หน้าห้องของเหยื่อที่กำลังตั้งใจเรียนเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่อยู่ แล้วสลับของมันไปเลย จบ อำมหิตมาก...

    และนี่เองที่เป็นปมของสงคราม

    เมื่อเหยื่อที่ถูกเทิร์นรองเท้าไปแล้ว ความเคียดแค้นที่สุมอยู่ในใจ มักจะระเบิดออกด้วยการเทิร์นของคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ เป็นวิบากวัฏฏะ

    วันที่ผมพบว่านันยางของตัวเองอันตรธานหายไป และเจอนันยางสภาพศูนย์เปอร์เซ็นต์คู่นั้นมองตาละห้อยอยู่ที่หน้าห้อง

    ไม่พลิกล็อก มันไม่มีชีวิตขึ้นมาเหมือนอย่างเจ้าดุ๊กดิ๊กในหนังเรื่อง รองต๊ะแล่บแปล๊บ และนันยางคู่เดิมของผมก็แล่บแวบหายไป เดินหาที่ไหนก็ไม่เจอ สุดท้ายผมก็ตัดสินใจใส่รองเท้าเน่าๆ กลับบ้าน

    แปลกดีที่ไซส์ของมันเข้ากับเท้าผมได้พอดิบพอดี พื้นรองเท้าก็นุ่มอย่างประหลาด ถึงรอยขาดมันจะแหว่งวิ่นเหวอะหวะไปหน่อย แต่มันก็ดูเป็นหมาแก่ที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูไปอีกแบบ

    เย็นวันนั้นผมจำได้ดี โรงเรียนตอนนั้นร้างไร้ผู้คน แสงแดดอ่อนแรงแสดงได้สมบทบาทความเป็นห้าโมงเย็น รปภ.ปั่นจักรยานตรวจตราอย่างอารมณ์ดี สนามฟุตบอลเหลือนักเรียนแค่หยิบมือที่ยังลงเล่นอยู่ในสนาม สายลมโชยเย็นสบาย

    ผมมองรองเท้าชราคู่นี้ แล้วคิดถึงเจ้าของเก่าของมัน อมยิ้ม พลางนึกในใจ

    “อย่าให้กูเจอนะมึง”

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in