เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
NO MAN IS AN ISLANDSALMONBOOKS
DAY1: เกาะท้องฟ้าจะสดใส



  • — N
                 สายแล้ว!
                ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก ผมนี่แหละที่มาสาย!
                เราสามคนนัดเจอกันที่สนามบินสุวรรณภูมิตอนตีสี่ครึ่งเพราะเครื่องบินจะออกประมาณหกโมงห้าสิบ (ซึ่งไฟลต์ดันเลื่อนเร็วขึ้นเป็นหกโมงครึ่งโดยที่ผมไม่รู้ล่วงหน้าเฉยเลย แม้จะแค่ยี่สิบนาที แต่มันมีผลกระทบกับจอมสายแบบผมนะ ฮืออออ) พี่ตองกับหมอเก๋อไปกันตรงเวลาดี ออกจะรอบคอบไปก่อนเวลานิดหน่อยด้วยซ้ำ ผิดกับผมที่กว่าจะไปถึงก็ปาเข้าไปตีห้าเกือบครึ่งเรียกว่าเช็คอินเสร็จก็ต้องจ้ำอ้าวไปยังเกตกันเดี๋ยวนั้นเลย ความฝันจะไปนั่งชิลในเลานจ์ จิบชาร้อน กินขนมปังรองท้องก่อนขึ้นเครื่องแบบสไลว์ไลฟ์พังทลายลงในพริบตา บ้านเราไกลเลยกะเวลาผิดไปหน่อย เราขอโทษษษษ (ไม่เป็นไรแก เราไม่โกรธ—คำตอบจากพี่ตองและหมอเก๋อที่พูดผ่านรอยยิ้มในขณะกัดฟันกรอดอยู่)

    — K
               เครื่องบินออกเดินทางตรงต่อเวลา สัญญาณแจ้งเตือนให้รัดเข็มขัดยังคงสว่างอยู่ข้างๆ สัญญาณห้ามเปิดอุปกรณ์อิเล็ก-ทรอนิกส์ ผมจึงทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งเฉยๆ แล้วปล่อยให้ความคิดล่องลอยไป
               น่าเสียดายที่มันไปได้ไม่ไกลถึงญี่ปุ่น เพราะไม่กี่นาทีผมก็มัววุ่นอยู่กับความเสียดายที่ตัดสินใจเลือกสายการบินนี้ เวลาไม่ได้สวยนัก กว่าจะถึงโตเกียวก็บ่ายแก่ๆ ไหนจะต้องต่อสายการบินในประเทศไปโอซาก้า เพื่อย่นระยะทางไปชิโกกุให้ใกล้ขึ้น แน่นอนว่าตั๋วราคาดีที่สุดตอนที่มันถูกซื้อ แต่เราก็ต้องปรับแผนให้สอดรับกับการไป-กลับสนามบินนาริตะด้วยการเพิ่มแผนเที่ยวโตเกียวในช่วงท้าย โดยมอบหมายให้พี่ตองเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วยการบอกว่า“พี่อยากพาไปไหนก็เอาเลย” ...ว่าแต่ทำไมตอนนี้ถึงรู้สึกว่าเรากำลังเอาเปรียบเฮียแกพิลึก
              “ถ้าบินสายการบินอื่นคงไม่ต้องเสียวันแบบนี้เนอะ” ผมบ่นอุบอิบถึงอีกสายการบินที่เวลาดีกว่าเป็นไหนๆ ออกจากสนามบินที่ไทยตอนค่ำ ถึงโอซาก้าตอนสาย เท่ากับไม่เสียวันไปเปล่าๆ
              “เอาน่า” เสียงตอบจากเพื่อนร่วมทางที่ส่งสารมาปลอบใจในน้ำเสียงกลายๆ ว่ามึงอย่าบ่นน่า ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้แล้ว
              สัญญาณไฟดับลง ตอนที่ผมบันทึกคำถามลงไปในสมุดว่าเราจ่ายเงินเป็นค่าอะไรใน ‘ค่าเดินทาง’ บ้าง?
              แน่นอนว่ามีค่าเชื้อเพลิง ค่าอาหาร (ที่ถึงแม้จะอยากกินบ้างไม่อยากกินบ้าง) ค่าจ้างพนักงาน แล้วก็ค่าดูแลรักษายานพาหนะแต่ถ้าเรายอมจ่ายแพงเพื่อวิธีเดินทางที่เร็วขึ้น เพื่อเวลาที่ดีกว่าหรือเพื่อนำหน้าไปก่อนคนอื่น นั่นเท่ากับเป็นการใช้เงิน ‘ซื้อเวลา’ด้วยหรือเปล่า? แปลว่าเงินซื้อเวลาได้ใช่ไหม? อืม จะว่าไป...เราใช้เงินซื้ออะไรได้บ้างนะ?

    — C
              ถึงนาริตะเวลาบ่ายสาม หยิบกระเป๋าออกจากสายพานเข้ามาเดินเล่นในสนามบิน เพราะยังเข้าไปเช็กอินอีกไฟลต์ไม่ได้เขาให้เช็กได้ก่อนเวลาแค่ชั่วโมงครึ่ง เครื่องออกตั้งห้าโมงครึ่งเลยต้องร่อนเร่ ดีนะที่มีช้อปปิ้งมอลล์ให้เดินเล่น เพิ่งเคยเข้ามาเดินเหมือนกัน ก็สนุกตื่นตาดี
             ตอนขึ้นเครื่องบินของสายการบินสีบานเย็นก็แปลกดีจนต้องขอบันทึกไว้ คือบนเครื่องแบ่งเป็นสองฝั่ง แถวละสามที่นั่งเอบีซี ดีอีเอฟ เขาก็เรียกให้แถวเอกับเอฟที่ติดหน้าต่างแต่ละฝั่งขึ้นก่อน แล้วก็ไล่มาแถวกลางคือบีและอี แล้วค่อยเรียกแถวติดทางเดินซีและดี ก็ดีนะ สะดวกแปลกๆ ดี แต่พวกที่มาคู่กันคงรู้สึกหวิวๆ เนอะ ต้องแยกกันขึ้น คงได้อารมณ์แบบ “ที่รักจ๊ะ เดี๋ยวเค้าตามไปนะ ดูแลตัวเองดีๆ ล่ะ อย่านอกใจเค้านะ จุ๊บๆ”
             เฮ้อ พวกแกห่างกันสักห้านาทีได้ปะ (มองด้วยหางตาแบบคนขี้อิจฉา)

    — K
              กว่าจะถึงโอซาก้าก็ราวสองทุ่ม ถึงตรงนี้เรายังต้องขึ้นรถบัสไปต่อรถไฟ เพื่อไปให้ถึงที่พักในตัวเมืองซึ่งจองไว้แถวย่านนัมบะ
             “ทำไมเราไม่นอนที่นี่กันวะ?” ผมเงยหน้ามองตึกของโรงแรมนิกโก คันไซ แอร์พอร์ตที่อยู่ตรงหน้าแล้วก็นึกได้ ถ้าเรานอนที่นี่คงประหยัดเวลาเดินทางไป-กลับในตัวเมืองโอซาก้าไปได้อีกเยอะแถมพรุ่งนี้เช้าก็ต้องกลับเข้ามารับรถเช่าที่สนามบินคันไซอยู่แล้วด้วย
             “เออ แต่ค่าโรงแรมคืนละเท่าไหร่ก็ไม่รู้เนอะ” ผมบ่นกับตัวเองก่อนลากกระเป๋าขึ้นรถบัส ในใจพยายามบวกลบเลขไปด้วยว่าค่าเดินทางในโอซาก้าของเราสามคนจะพอจ่ายค่าโรงแรมไหมแต่จะว่าไปผมก็ไม่ได้หาข้อมูลไว้ว่าโรงแรมที่นี่คืนละเท่าไหร่อยู่ดี
              เราพาตัวเองมาขึ้นรถไฟสายนันไก เข้าตัวเมืองโอซาก้าด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนล้าลงทุกที นาฬิกาบอกเวลาว่าตอนนี้ผ่านสามทุ่มมาได้ไม่นานนัก
            ถึงจะดึกแล้ว แต่รถไฟก็ยังคลาคล่ำไปด้วยผู้คนอาจเพราะนี่เป็นคืนวันเสาร์ ป้ายโฆษณาร้านอาหารตามท้องถนนจึงยังส่องสว่าง จินตนาการถึงอาหารญี่ปุ่นมื้อแรกในประเทศญี่ปุ่นของผมเลยเตลิดไปไกล






  • มาญี่ปุ่นทั้งที อาหารมื้อแรกต้องดีต้องจัดหนักให้สมกับที่รอคอยสิน่า อาหารญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่นมันต้องอร่อยกว่าที่ไทย (เหมือนอาหารไทยอร่อยที่สุดที่ไทย ...ว่าแต่นี่ตรรกะอะไรของแก อาหาร อะไรก็อาจจะอร่อยที่สุดที่ไทยก็ได้ ใครจะรู้) ถ้าเงินจะซื้อเวลาได้ทำไมมันจะซื้อความสุขด้วยไม่ได้
                “เออ จริงๆ เราน่าจะลองไปนอนวัดไทยที่โอซาก้ากันนะ”นัทพูดขึ้นตอนที่ผมกำลังนึกถึงข้าวหน้าปลาไหล หรือไม่ก็ซูชิคำโตๆตามด้วยซุปมิโสะร้อนๆ อีกสักถ้วย (เริ่มหลอกล่อให้คนอ่านหิวตามไปด้วย ฮ่าๆ)
                “วัดไทยเนี่ยนะ?” ผมถาม ถึงหูได้ยินว่าวัดไทย แต่ภาพที่คิดเป็นสวนหิน ประตูกระดาษ แล้วก็น้ำพุกระบอกไม้ไผ่ ...สงสัยจะอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมากไปแฮะเรา
             “ก็เผื่อเจอผีญี่ปุ่นหลอก จะได้มีอะไรมาเขียนเล่าไง” พี่ตองตอบทีเล่นทีจริง แต่สิ่งที่ทำให้ผมสงสัยตามหลังคำถามว่าวัดไทยในญี่ปุ่นจะมีผีไทยหรือผีญี่ปุ่น คือต้องใส่ซองบริจาควัดเป็นค่านอนวัดเท่าไหร่ มันจะแพงกว่านอนโรงแรมที่สนามบินไหมหรือเผลอๆ จะถูกกว่าค่ารถไฟนันไกของเราสามคนรวมกัน?
                คำถามในสมุดบันทึกยังคงนอนแน่นิ่งอยู่ที่เดิมเมื่อผมเปิดไปเจอมัน—เราจ่ายเงินเป็นค่าอะไรใน ‘ค่าเดินทาง’ บ้าง? เวลาความสะดวกสบาย ความสุข ประสบการณ์ที่ควรได้ รวมอยู่ในเงินที่เสียไปไหม? แล้วเป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถ ‘ซื้อ’ อะไรได้มากกว่านั้น?
                เครื่องบินที่มีอาหารให้กินสองมื้อ มีจอทีวีส่วนตัวพร้อมเพลงให้ฟังและหนังให้ดู แถมให้โหลดกระเป๋าอีกสองใบรวมอยู่ในเงื่อนไข ใช้ทดแทนเวลาที่ ‘ซื้อ’ มาไม่ได้หรือเปล่า? การใช้บริการสายการบินในประเทศ การเลือกที่จะไม่นอนโรงแรมของสนามบิน  การกินอาหารญี่ปุ่นง่ายๆ ที่ไม่อลังการ ถือเป็นประสบการณ์ที่‘ซื้อ’ ได้ด้วยเงินใช่ไหม? ถ้าใช่ ต้องใช้เงินสกุลไหนซื้อถึงจะดี?(ตอนนี้ก็มีแต่เงินเยนเสียด้วยสิ ลองเอาไปอุ่นในไมโครเวฟแล้วก็ยังเป็นเงินเยนอยู่ดี ...ไม่ขำ) แล้วถ้าไม่พอใจ เราสามารถขอเงินคืนได้หรือเปล่า?
                ผมไม่มีคำตอบสำหรับคำถามมากมายที่เริ่มจะล้นเต็มพื้นที่หน้ากระดาษ แถมยังไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไรดีที่อาหารมื้อแรกในญี่ปุ่นเป็นข้าวหน้าเนื้อที่มีอยู่ทุกหัวมุมเมือง ไม่ใช่ร้านหรูสุดฟินจัดหนักจัดเต็มสมกับการรอคอย แต่ในร้านอาหารที่เปิดไฟนีออนสีขาวสว่าง เพื่อนร่วมทางสองคนข้างๆ กำลังตั้งหน้าตั้งตาคีบข้าวกินอย่างมีความสุข ผมก็ได้ข้อสรุปว่าการเดินทางคือการลงทุนและไม่ว่าเงินที่จ่ายไปเป็นค่าเดินทางจะใช้ซื้อเวลา ซื้อความสุขหรือซื้อประสบการณ์ได้หรือไม่ก็ช่างปะไร สิ่งที่เราควรมีไว้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ คือความพอใจในสิ่งที่เราได้รับกลับมา
                อ้อ...แล้วก็เพื่อนร่วมเดินทางบ้าๆ ที่ชอบกินข้าวหน้าเนื้ออีกสักสองคน


    — C
               ห้องพักคืนนี้เป็นแบบ Airbnb เป็นการนำห้องพักหรือบ้านมาแบ่งให้นักท่องเที่ยวเช่าอยู่ บางครั้งก็มีเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องพักอยู่ด้วย บางทีก็เป็นห้องว่างอยู่กันเฉพาะผู้ที่ติดต่อมาพักแอร์บีเอ็นบีสะดวกแก่ทั้งผู้ที่มาพัก คือมักจะได้ห้องที่ราคาถูกกว่าโรงแรมและได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่จริงๆ ของคนที่นั่น(ในกรณีที่มีเจ้าของห้องอาศัยอยู่ด้วย) เจ้าของห้องเองก็แอบมีรายได้ลับๆ ไม่ต้องไปเสียภาษี
               แต่ตอนนี้ระบบแอร์บีเอ็นบีที่ญี่ปุ่นกำลังมีปัญหา เริ่มมีการร้องเรียนกันมากขึ้นจากเพื่อนบ้านข้างห้อง เพราะหลายครั้ผู้เข้าพักที่เป็นชาวต่างชาติมักทำเสียงดังรบกวน ไอ้การจะไปห้ามปรามก็ดันไม่ถนัดภาษาอังกฤษ จะไปเถียงอะไรคงไม่ทันได้แต่วิ่งร้องไห้กลับเข้าห้องไปต่อยกำแพง จนถึงกับมีรายการทีวี

    มาทำสกู๊ปแอบถ่ายห้องที่มีคนมาพักแบบนี้ ผลออกมาคือ คนจีนกับคนเกาหลีจะล้งเล้งมากราวกับเป็นบ้านของตัวเอง โชคดีที่คนไทยไม่ติดอันดับความน่ารำคาญ เขามีการถามถึงเรื่องอันดับมารยาทชาวต่างชาติกับคนญี่ปุ่นด้วยนะ ผลคือชาวไทยเราอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สุภาพ เขาประทับใจเรานะ ก็อยากให้เรารักษาอันดับดีๆแบบนี้ต่อไป แต่ก็คงต้องดูกันต่อว่าสุดท้ายแล้วไอ้ระบบห้องพักแบบนี้มันจะไปรอดในญี่ปุ่นหรือเปล่า

    ทั้งสองขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นสาม โฮชิโนะพบกุญแจห้องอยู่ใต้ที่เก็บร่ม
    อพาร์ตเมนต์สองห้องนอน ครัวเล็ก ห้องนั่งเล่น และ
    ห้องน้ำห้องใหม่เอี่ยม เครื่องเรือนไม่มีร่องรอยการใช้งาน

                

                ห้องที่เราพักเป็นห้องในอพาร์ตเมนต์ ไม่มีเจ้าของห้องมาอยู่ด้วย ข้างนอกไฮโซมาก มองจากข้างนอกเป็นตึกสูงประมาณหกชั้น ผนังปูด้วยแผ่นแกรนิตสีดำสะท้อนแสงไฟจากถนนยามค่ำคืนวิบวับดูหรูหรา ราวเหล็กทางเดิน เสาไฟ ประตูลิฟต์ที่เป็นโลหะก็แวววาวเหมือนมีคนมาเช็ดทำความสะอาดทุกครึ่งชั่วโมง แล้วยังมีการจัดสวนหย่อมหน้าอาคารแบบไม่เสียดายพื้นที่อีก (ปกติที่ดินญี่ปุ่นราคาแพง ต้องใช้สอยอย่างคุ้มค่า) จนตอนแรกไม่กล้าเข้าไปในอาคาร นึกว่าจดที่อยู่มาผิด แต่ดูจากแผนที่มันก็ใช่ที่นี่แหละ




  • เจ้าของห้องเมลบอกให้เราเอากุญแจห้องได้เองที่จักรยานคันที่สามในที่จอดจักรยานของคอนโดฯ เพราะเรามาเช็กอินดึก เขาต้องกลับบ้านแล้ว
              ระหว่างเดินทางมา เราก็ตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่า เฮ้ย กุญแจจะไม่หายเหรอ หรือมันจะมีจริงเปล่าวะ ล้อเล่นมั้ย ถ้าไปถึงแล้วไม่มีขึ้นมาจะทำไง แต่พอถึงจักรยานคันที่สาม มีจริงด้วย!
              มันเป็นกล่องรหัสล็อกคล้ายๆ แม่กุญแจสายยูแบบหมุนรหัสแต่เป็นกล่องเหล็กขนาดเท่าฝ่ามือที่มีที่หมุนรหัสแขวนเอาไว้ที่จักรยาน เขาส่งรหัสมาให้ในเมลแล้ว หมุนเปิดกล่อง เจอกุญแจข้างในกล่องอีกที จบ (นอกจากกล่องกุญแจของเราที่ห้อยอยู่ก็มีกล่องอื่นๆ แขวนอยู่ที่คันเดียวกันด้วย สงสัยเจ้าของห้องคนนี้น่าจะรวย ซื้อไว้หลายห้องเอาไว้ปล่อยเช่ามั้ง)
              แต่ในห้องเนี่ย มันเล็กมาก ผิดจากความอลังการของรูปลักษณ์ตึกด้านนอก เปิดประตูเข้ามาเจอครัวเลย ห้องน้ำอยู่ข้างๆทางเดินหน้าห้องน้ำกว้างเท่ากับคนเดินได้หนึ่งคน แล้วก็จบด้วยห้องนอน ซึ่งปูที่นอนสามที่ก็เต็มห้องพอดี เข้าใจแหละว่ามันคือมาตรฐานห้องในเมืองใหญ่ แต่มันก็ผิดคาดเล็กน้อย เพราะหน้าตึกโคตรไฮโซอะนะ นึกว่าอย่างน้อยๆ ข้างในต้องมีโต๊ะปิงปองน่ะ(อะไรทำให้แกคิดว่ามันต้องมีโต๊ะปิงปองวะ) แต่ก็ช่างเถอะ ห้องก็สะอาดดี นอนคืนเดียว พรุ่งนี้ก็ต้องเดินทางแต่เช้าด้วย
               ตื่นเต้น พรุ่งนี้ทริปชาวเกาะกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว!
                …เอ๊ะ หรือแบบนี้ควรเรียกว่าเริ่มไปแล้ว?






    หมายเหตุ: ช่วงหลังๆ ข่าวของห้องพักแบบแอร์บีเอ็นบีที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ไม่ใช่ว่าจะถูกยกเลิกหรือเขารับกับพฤติกรรมคนเช่าห้อง
    ไม่ได้ แต่เป็นคนญี่ปุ่นซะเองที่ตุกติกเรื่องการให้เช่า บางคนก็เจอว่าห้องที่จองไปทางเว็บไซต์กับห้องจริงไม่เหมือนกันเลย บางห้องก็ซอมซ่อ
    บางคนก็ถูกเทดื้อๆ มาถึงญี่ปุ่นแล้วติดต่อเจ้าของห้องไม่ได้ก็มี กลายเป็นไม่มีที่พักให้อยู่ โชคดีที่เราได้ห้องตรงตามภาพ แต่ก็โดนเลนส์ไวด์หลอกตาเล็กน้อย


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in