เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
NO MAN IS AN ISLANDSALMONBOOKS
DAY 0








  • — K

                ‘ละลายพฤติกรรม’
                สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ (ซึ่งไม่นานขนาดนั้น...ไม่เอาไม่นับปีนะครับ) ได้ยินคำนี้ครั้งแรกแล้วอดชื่นชมในใจไม่ได้ ไม่รู้คนเขาคิดยังไงถึงเลือกใช้คำว่า ‘ละลาย’ กับสิ่งที่ชั่งตวงวัดไม่ได้อย่าง ‘พฤติกรรม’ ซ้ำร้ายการละลายพฤติกรรมยังไม่ต้องใช้ความรู้ทางเคมี เพราะมันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่ากาสันทนาการ ซึ่งก็สลับวนไปมาระหว่างไก่ย่างที่ถูกเผา ทะเลสีคราม รถต๊กุ ต๊กุ ที่บรรทุกถ่านหรือไม่ก็การปรบมือพลันเมื่อเรากำลังสบาย     
                ในสายตาของรุ่นน้อง สันทนาการคือการเต้นแร้งเต้นกาประกอบเพลงที่มีความหมายสองแง่สามง่าม การฝ่าฟันภารกิจสุดพิสดารตามคำสั่งของรุ่นพี่ แล้วก็การลงโทษด้วยท่าประหลาดต่อหน้าสาธารณชน เมื่อโตขึ้นอีกหน่อย แว่นขยายทางวัยวุฒิก็พิสูจน์ให้เห็นว่ากิจกรรมบ้าๆ บอๆ เหล่านี้ ‘ละลาย’ ความเป็นตัวตนที่เรายึดถือไว้ ก่อนผลักไสให้ไปทำความรู้จักกับ ‘พฤติกรรม’ ของคนแปลกหน้า—คนนั้นที่นั่งข้างเราตอนแจวมาแจวจ้ำจึกคนนี้ที่ถูกจับคู่ให้เล่นเกมแม่งูเอ๋ย หรือคนทั้งหลายที่ร่วมหัวจมท้ายเวลาโดนรุ่นพี่ด่า เหล่านั้นเองที่พัฒนากลายมาเป็นคนสำคัญในชีวิตของเรา       
               แต่พอเข้าสู่วันวัยของการทำงาน สันทนาการก็ไม่ใช่การละลายพฤติกรรมที่พึงกระทำอีกต่อไป (แถมยังกลายเป็นคำที่มีความหมายสองแง่สามง่ามไปเสียอีก) คนนั้นที่นั่งทำงานข้างเราในออฟฟิศ คนนี้ที่ร่วมโปรเจกต์กับเรา หรือคนทั้งหลายที่โดนเจ้านายด่าไปพร้อมกันนั้น อาจมีสถานะเป็นเพียงคนรู้จักอย่างผิวเผิน หรือส่วนเกินที่เราไม่อยากให้มีในชีวิตก็ได้
              ความเป็นเพื่อนในวัยผู้ใหญ่ดูเป็นเรื่องยาก ยิ่งเมื่อยุคของโลกออนไลน์เดินทางมาถึง การมีตัวตน
    อยู่ได้ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนทำให้คำว่า ‘เพื่อน’ นั้นมีความหมาย ไม่ยิ่งใหญ่แต่จริงใจให้เธอ 
    (ข้ามมุกนี้ไปถ้าไม่เข้าใจครับ) มีมิติทับซ้อนกันหลายชั้นเสียจนน่าปวดหัว—เราอาจเป็นเพื่อนกัน
    ในชีวิตจริงโดยไม่ได้เป็นเพื่อนกันบนโซเชียลมีเดีย และในขณะเดียวกัน ก็อาจมีคนที่เราเรียกว่าเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์ที่ไม่เคยแม้แต่จะเจอตัวจริงก็ได้     
              ถึงอย่างนั้น ผมพบว่าแต่ละคนมีวิธีการละลายพฤติกรรมเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์จากคนแปลกหน้าให้กลายมาเป็นเพื่อนแตกต่างกันไป ส่วนตัวผมเอง วิธีที่คิดว่าใช้ได้ผลคือการลากคนแปลกหน้าคนนั้นออกไปเดินทางร่วมกันสักครั้ง จะเป็นทริปขนาดยาวหรือสั้นก็ตาม การใช้เวลาอยู่ร่วมกันทำให้เราได้รู้จักเพื่อนร่วมทางมากขึ้น ได้เห็นตัวตนที่เขาแอบซุกซ่อนไว้ ได้แชร์ความรู้สึกนึกคิดต่อสิ่งต่างๆ แล้วก็ได้เห็นปฏิกิริยาของเขาต่อปัญหาหรือความท้าทายที่ผ่านเข้ามา แล้วคนรู้จักที่แค่เคยคุ้นตา จะขยับขยายกลายมาเป็นเพื่อนที่คุ้นเคย

  • — N

                 ผมเป็นคนรักการเดินทาง
                 แต่ไม่ค่อยรักเพื่อนร่วมทางเท่าไหร่
                 ฟังดูเหมือนเป็นคนร้ายๆ ไม่น่าคบอย่างไรชอบกล แต่ก็ไม่รู้จะหยิบยกคำไหนมาอธิบายได้ดีกว่า ผมลองมองย้อนถึงการเดินทางที่ผ่านมา พบว่ามักจะประทับใจและมีความทรงจำกับการไปไหนมาไหนคนเดียวมากกว่าทริปที่มีสมาชิกติดสอยห้อยตามไปด้วย    
                ไม่ได้หมายความว่าผมจะรังเกียจทริปท่องเที่ยวกับเพื่อนจนไม่อยากจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นสักอย่าง กลับกัน ผมจำแทบทุกทริปที่ออกเดินทางร่วมกับเพื่อนทุกกลุ่มได้ชัดเจนเกินไปต่างหากและนั่นคือสิ่งที่ผมกลัวตัวเอง           
                ผมมันเป็นพวกใส่ใจคนรอบข้างมากเกินไป           
                ทุกครั้งที่ออกเดินทางไปกับเพื่อนๆ ผมจะต้องคอยห่วงว่าใครจะเป็นอย่างไร มีความสุขระหว่างเที่ยวด้วยกันไหม แผนที่วางไว้เหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ต้องการอะไรเพิ่มไหม หรือมีอะไรขาดตกบกพร่องหรือเปล่า ไปจนถึงได้เรียนรู้นิสัยของเพื่อนบางคนมากขึ้นไอ้แมนชอบอย่างนั้น ไอ้กอล์ฟไม่ชอบอย่างนี้ สุดท้ายเมื่อกลับบ้านไอ้นัทก็รู้จักเพื่อนมากขึ้น แต่ไม่รู้จักประเทศหรือสถานที่ที่เพิ่งจากมาเลย...                ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเลือกเดินทางคนเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ไม่ไปทริปไกลๆ กับเพื่อนหรือคนรู้จักมากนัก ขอลองไปเหยียบย่ำพูดคุย และทำความรู้จักกับผู้คนท้องถิ่น ละลายตัวเองลงไปกับแต่ละสถานที่ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนที่จะหลอมร่างนั้นกลับขึ้นมาใหม่ เป็นร่างเดิมที่มีมุมมองและความรู้สึกเปลี่ยนไป เพราะเข้าใจและเรียนรู้ถึงพฤติกรรม วัฒนธรรม และชีวิตบนพื้นที่ที่เพิ่งได้แวะเวียนมามากขึ้น                            แต่แล้วอยู่ๆ การเดินทางแบบที่ผมพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดก็เกิดขึ้น จากที่ชอบทำตัวติสท์แตกอยู่คนเดียว (ซึ่งเป็นคำอ้างของคนไม่ค่อยมีใครคบอย่างผม) ก็ดันมีสิงห์เหนือเสือใต้สองหน่อเข้ามพัวพันในชีวิต

  • — C
            
              ช่วงปี 2015 ตอนนั้นผม หมอเก๋อ และนัทยังไม่รู้จักกันแต่ตอนไปแจกลายเซ็นที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พวกเราดันมีเวลาคาบเกี่ยวเจอกันหลายครั้ง อยู่ๆ ก็คุยกันรู้เรื่อง ถูกโฉลกกันขึ้นมา เลยนัดเสวนากันตามประสาคนที่ชอบอ่านและวิจารณ์หนังสือชาวบ้าน ส่งต่อแลกกันอ่านแล้วเอามานั่งคุยนั่งแขวะกัน ไปที่เชียงใหม่บ้าง หัวหินบ้าง เพราะเชียงใหม่เป็นฐานที่มั่นของหมอเก๋อ ผู้มีภูมิลำเนาและทำงานเป็นแพทย์ฉุกเฉินอยู่ที่นั่น (และรับจ๊อบไปเป็นแพทย์ฉุกเฉินที่เกาะช้างเป็นพักๆ) ส่วนหัวหิน นัทก็ชำนาญทางและคุ้นเคยพื้นที่ดี เพราะทำห้องพักให้นักท่องเที่ยวเช่านัทก็เลยแอบพาเพื่อนๆ ไปนอนเล่นได้บ่อยๆ ไอ้เราเลยรู้สึกกระดากขึ้นมา เพราะไม่มีโอกาสได้ทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีกับเขาบ้าง จะชวนสองคนนั้นไปสมุยไปภูเก็ตบ้านพ่อบ้านแม่ก็ไม่ได้ชำนาญอะไรเลยพาเที่ยวได้ที่ไหน มาอยู่เมืองนนท์ตั้งแต่อนุบาล จะให้เขามาเที่ยวจังหวัดนนทบุรีมันก็ดูจะไม่ตื่นเต้นน่ะ ก็เลยมักจะหาเรื่องเป็นตัวกลาง นัดเจอกันคุยกันบ่อยๆ ให้เหมือนตัวเองมีประโยชน์กับระบบนิเวศบ้างผมไม่เคยรู้สึกว่าการเดินทางไปที่ไหนสักแห่งจะได้พบสิ่งสุดพิเศษรอท่าอยู่ที่นั่นผมเพียงแค่ต้องไปที่อื่น ที่ไหนก็ได้

    ผมไม่เคยรู้สึกว่าการเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง
    จะได้พบสิ่งสุดพิเศษรอท่าอยู่ที่นั่น
    ผมเพียงแค่ต้องไปที่อื่น ที่ไหนก็ได้



    — N

                วันหนึ่ง ไลน์กลุ่มที่เราสามคนสร้างขึ้นเพื่อใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน (หรือเรียกง่ายๆ ว่าไลน์กลุ่มสำหรับปล่อยมุกแป้กและเม้าท์มอยชาวบ้านไปวันๆ) ดังขึ้นเหมือนทุกครั้งแต่ข้อความที่ปรากฏนั้นไม่ได้เป็นมุกห่วยๆ หรือบ่นเรื่องไร้สาระเหมือนทุกที
               chonnapat: “นี่ๆ ไปต่างประเทศกันมั้ย มีตั๋วโปรฯ ถูกมานำเสนอ”
               kamphee: “ที่ไหนอะ”
               chonnapat: “ญี่ปุ่น”
               kamphee: “ไป”
               ด...เดี๋ยวก่อน ทำไมตอบตกลงง่ายจังวะไอ้หมอ!
               ผมเห็นอย่างนั้นเลยรูดหน้าจอเข้าแอพพลิเคชันไลน์ร่วมวงสนทนาด้วยทันที
              nat: “จะไปช่วงไหนกัน?”
              chonnapat: “ว่างช่วงไหนกันบ้างล่ะ นี่ว่างช่วงเดือนกันยาฯที่จะถึงเนี่ยแหละ”
              kamphee: “อีกไม่กี่วีคก็กันยาแล้วไหมลุง”
              kamphee: “ได้หมดนะถ้าบอกล่วงหน้า ไปกี่วันอะ สองวีคเลยไหวมะ”
              chonnapat: “นานไป ลางานไม่ได้ว้อย”
              nat: “ไปสักเจ็ดวันสิบวันก็ได้ กำลังดี”
             
              อ้าวเฮ้ย นี่ไปตอบอย่างนั้นก็เหมือนว่าตกลงไปแล้วสิวะ!...


  •           หมอเก๋อขอสำเนาพาสปอร์ตของผมและพี่ตองก่อนที่จะหายไปสักพัก แล้วกลับมาพร้อมคำตอบว่าตั๋วเครื่องบินของเราทั้งสามคนถูกจองเรียบร้อยแล้ว (ถ้าเป็นเรื่องเที่ยว หมอเก๋อจะเร็วเป็นพิเศษ) และการเดินทางสู่ประเทศญี่ปุ่นก็กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า        
              ยอมรับว่าทีแรกผมสับสนอยู่ไม่น้อยว่าควรตอบตกลงหรือไม่เพราะกับเพื่อนที่สนิทกันตั้งแต่สมัยมัธยมยังเคยไปต่างประเทศด้วยกันเพียงครั้งสองครั้ง นอกจากนี้ ผมคิดว่าเราทั้งสามคนยังไม่รู้นิสัยใจคอกันมากถึงขนาดไปไหนมาไหนด้วยกันนานๆ ได้ความสนิทของเราที่มีต่อกันนั้นช่างรวบรัดเหลือเกิน คือสนิทกันเร็วเกินไป เหมือนหนังสือที่ถูกกรีดหน้าไล่อ่านไวๆ จนจบเล่มในชั่วพริบตา ให้เล่าเรื่องราวของหนังสือก็เล่าได้แบบจำกัดความแต่รายละเอียดเชิงลึกแบบบรรทัดต่อบรรทัดนั้นยังไม่มี          
              แต่ตอนนั้นผมลองมองมุมกลับ แล้วคิดว่าการเดินทางครั้งนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทำความรู้จักกับเพื่อนสองคนนี้ให้มากขึ้นช่วงที่อยู่ญี่ปุ่นด้วยกันก็น่าจะเหมือนหนังสืออีกเล่มที่เราสามารถพลิกอ่านนิสัยใจคอของทั้งคู่ได้อย่างช้าๆ อาจเป็นหนึ่งเหตุการณ์ในห้วงทรงจำที่ดีอีกรูปแบบนอกจากการไปเที่ยวคนเดียว แล้วเราก็น่าจะรู้จักตัวเขาที่เป็นเขาจริงๆ ก็เมื่อตอนที่ออกมาตรากตรำด้วยกันในต่างแดนนี่แหละ
              อีกอย่าง เพื่อนของผมทั้งสองคนตอบตกลงไปขนาดนี้แล้วผมจะไม่ไปได้อย่างไรกันล่ะ


    — C
            ครั้งนี้ผมอยากทำตัวเป็นเจ้าบ้านพาสองคนนั้นเที่ยวบ้างพาทัวร์โตเกียวน่าจะเป็นการดีสำหรับอดีตนักเรียนญี่ปุ่นอย่างผมมากไปกว่านั้นคืออยากจะชวนมาเขียนหนังสือร่วมกันสักหนึ่งเล่มหนังสือที่เขียนจากมุมมองของแต่ละคน อยากทดสอบการมองโลกของเพื่อนๆ เพราะรูปภาพบางรูป แต่ละคนยังตีความกันไปได้ตั้งหลายแบบหลายแง่ เลยอยากรู้เหมือนกันว่าการเดินทางหนึ่งทริปนี้มันจะทำให้เรามองเห็นความแตกต่างในความเหมือนได้ยังไงบ้าง น่าสนุก
            แต่มานึกได้ทีหลังว่าโตเกียวนี่มันถูกเอามาเขียนจนช้ำแสนช้ำแล้ว กระทู้ตามเว็บบอร์ดก็รีวิวหมดทุกซอก คงยากที่จะเอาอะไรมาเขียนได้อีก
           พอคิดว่าไม่เอาโตเกียว ลองนึกถึงจังหวัดอื่นๆ ก็ดันมีหนังสือเที่ยวญี่ปุ่นบนแผงเยอะแยะไม่ต่างกัน นอกจากโตเกียวแล้วที่เห็นไล่ๆ มาก็จะเป็นคิวชู โอซาก้า เกียวโต ฮอกไกโด โอ้เยก็ไปกันทั่วแล้วไม่ใช่
    เรอะ ยังจะเหลืออะไรอีกมั้ยเนี่ย
           แล้วก็นึกขึ้นได้ เออ ชิโกกุไงล่ะ เกาะเล็กที่สุดในจำนวนเกาะใหญ่ทั้งสี่ของญี่ปุ่น ไม่เห็นจะมีใครเขาสนใจไปเที่ยวกันเลยทั้งๆ ที่อยู่ห่างโอซาก้าแค่นิดเดียว แต่ส่วนหนึ่งคงเพราะการเดินทางบนเกาะที่มีอยู่
    สี่จังหวัด (คางาวะ โทกูชิมะ เอฮิเมะ และโคจิ) นั้นค่อนข้างยาก ด้วยความเป็นเกาะที่มีป่าสมบูรณ์ การเดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งเลยแสนลำบาก ถ้าไม่ขับรถเองเพื่อความสะดวก ก็มักจะต้องอาศัยรถบัสซะส่วนใหญ่ นี่แหละมั้งเหตุผลที่ทำให้ชิโกกุยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่คนไทย
           แต่ที่จริงคนญี่ปุ่นก็ไม่ฮิตที่จะไปที่นั่นเหมือนกันนะ เพราะรถไฟยังเข้าไม่ถึงตามภูเขาสักเท่าไหร่
    ฮิตจริงๆ ก็แค่ทากามัตสึ(จังหวัดคางาวะ) เมืองแห่งอูด้งเท่านั้น ที่หลายๆ คนคงจะพอคุ้นชื่อ (อ้าว ไม่คุ้นเหรอ) แล้วก็เป็นชื่อสถานที่หลักของหนังสือคาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore) ของคุณลุง
    มูราคามิ


  • ด้วยนะ เอาจริงๆ ผมรู้จักเกาะนี้เพราะอ่านหนังสือเล่มนี้นี่แหละมันก็เลยเป็นส่วนหนึ่งให้ผมอยากตามรอยหนังสือลุงมูฯ ดูบ้าง
            พูดถึงความมูราคามิ น่าจะมีหลายคนที่ได้อ่านผ่านสายตาและรู้กิตติศัพท์ความเหวอความแหว่งของเรื่องราวและตัวละครจากหนังสือของมูราคามิมาบ้างแล้ว คนที่ชอบก็มักจะชอบไปเลยเสพติดตั้งแต่อ่านเล่มแรก อยากตามหามาอ่านอีกเรื่อยๆ ส่วนคนที่ไม่อินก็อึนกันไป “ลุงเขียนอะไรของลุงครับ ” อะไรแบบนี้ ส่วนผมคือคนในกลุ่มแรกที่บังเอิญจูนกับลุงได้ คิดว่าพอเข้าใจเรื่องราวในหนังสือ จึงพยายามเติมเต็มประสบการณ์ทางการอ่าน ด้วยการหาเพลงแจ๊ซที่ถูกเขียนถึงในหนังสือมาฟัง ลองทำสปาเกตตีตามที่ตัวเอกทำกิน พิจารณาเสื้อผ้าของหญิงสาวที่เดินผ่านหน้าไปลอบมองใบหูของพวกเธอว่าสวยงามอย่างในนิยายเหล่านั้นไหมหรือเวลาได้ไปญี่ปุ่นก็มักจะหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนโลเกชันที่ถูกเขียนถึงในหนังสือเสมอๆ

             เรื่องราวในหนังสือหลายๆ เล่มของลุงมักเกิดขึ้นที่โตเกียวอาจมีแฉลบออกต่างจังหวัดต่าประเทศไปบ้าง มีสถานที่อ้างอิงที่มีอยู่จริงหลายแห่ง แต่หลายแห่งก็ประกอบขึ้นจากจินตนาการของลุงแก และเมื่อการเดินทางคราวนี้มีการทับซ้อนกับ คาฟกาวิฬาร์ นาคาตะ ผมเลยลองเสิร์ชดูว่าที่ไหนบ้างนะที่เราควรไปเยี่ยมเยือน ปรากฏว่าโลเกชันหลักของเรื่องมีสองที่ คือห้องสมุดโคมูระอนุสรณ์และบ้านกลางป่า ที่ดันไม่มีอยู่จริง ลุงประกอบมันขึ้นมาใหม่ แต่ไม่รู้เพราะลุงร่ายมนตร์อะไรใส่หนังสือเอาไว้ แค่ป่าไม้เขียวชอุ่มหรือหุบเขาที่ถูกโอบอุ้มด้วยเมฆฝนงั้นเหรอที่ดึงดูดใจผมก็ไม่รู้หรอก ถึงแม้จะไม่มีร่องรอยของลุงให้ตาม แต่ยังไงๆ มันก็ยังน่าไปอยู่ดี เอาสิ ไปก็ไป

    ชิโกกุ ผมตัดสินใจแล้ว ผมจะเดินทางไปที่นั่น
    ไม่มีเหตุผลพิเศษว่าจะต้องเป็นชิโกกุ
    ผมตรวจหาในแผนที่ เกิดความรู้สึกว่าต้องมุ่งหน้าไปที่นั่น
    ยิ่งดูแผนที่บ่อยแค่ไหน จะว่าไปแล้ว ทุกคราวที่ดูแผนที่
    ผมยิ่งรู้สึกว่าชิโกกุยื่นมือออกมาลากให้ผมเดินตรงเข้าไปหา
    ชิโกกุอยู่ทางตอนใต้ของโตเกียว
    ห่างไกลแยกห่างจากเกาะใหญ่ด้วยผืนน้ำ อากาศอุ่นสบาย
    ผมไม่เคยไปที่นั่น ไม่มีเพื่อน ไม่มีญาติมิตร
    หากจะมีใครตามหาตัว ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่าจะมี
    ชิโกกุคงเป็นแหล่งสุดท้ายที่จะนึกถึง


    — K

               chonnapat: “ไปชิโกกุกันไหม?”
               พี่ตองเสนอเข้ามาในกรุ๊ปไลน์ ถ้าจำไม่ผิดนี่คือเกาะขนาดไม่ใหญ่ นอนแน่นิ่งอยู่ใต้เกาะใหญ่ฮอนชู
               kamphee: “ชิโกกุมีอะไรเที่ยว?”
               ผมถามกลับไป ไม่รู้ทำไมได้ยินชื่อชิโกกุทีไรในหัวผมมีแต่ชิกูวะ1
               chonnapat: “ไม่รู้สิ”
               คือคำตอบเรียบๆ ที่ได้กลับมา แต่ไม่ทันขาดคำก็ตามติดมาด้วยเหตุผลแหวกแนวตามประสาฮิปสเตอร์ผู้มาก่อนกาลว่าชิโกกุเป็นเมืองในฉากหลังของ คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ผลงานเล่มโตของฮารูกิ มูราคามิที่อีกสองคนเคยอ่านแล้ว

    1 ลูกชิ้นปลาแบบญี่ปุ่น ของโปรดของชิชิมารุ สุนัขคู่กายพี่นินจาฮาโตริ




  •             kamphee: “เล่มนี้ไม่เคยอ่านอะ”
                ตามประสานักอ่านผู้กำลังพยายามขยายจักรวาลหมวดหมู่หนังสือที่ตัวเองสนใจ หนังสือเหนือจริงที่ต้องใช้จินตนาการกับพลังงานพิเศษในการอ่านอย่างหนังสือของคุณมูราคามิก็เริ่มผ่านตาเข้ามาบ้าง
                แต่เล่มนี้ยังเดินทางมาไม่ถึงลิสต์ของผม
                chonnapat: “งั้นเดี๋ยวเราให้หมอยืมอ่าน แล้วไปตามรอยคาฟกาฯ กัน”
                พี่ตองสรุปหน้าตาเฉยว่าเป้าหมายของการไปนั่งๆ นอนๆที่ญี่ปุ่นของเราครั้งนี้คือเกาะชิโกกุ …เดี๋ยวสิ แบบนี้ก็ได้เหรอ
              
                เท่าที่จำความได้จากการหาข้อมูลเพื่อจัดทริปไปญี่ปุ่นครั้งก่อน ชิโกกุไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็นเกาะแห่งนักแสวงบุญที่โด่งดังเรื่องการเดินทางตามรอยพระชื่อ โคโบ ไดชิ ไปกราบนมัสการวัดและศาลเจ้าสำคัญทั่วเกาะให้ได้ 88 แห่ง เพื่อขอให้มีสุขภาพดี ค้นพบตนเอง มีโชคลาภ และมีชีวิตคู่ที่ราบรื่น นอกนั้นก็มีสะพานไม้เถาวัลย์แห่งหุบเขาอิยะ (Iya Kazurabashi) ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร เกาะนี้เลยถูกผมมองด้วยหางตาแล้วตัดออกไปแบบไร้เยื่อใย ก่อนลงเอยด้วยการวางแผนไปเที่ยวรอบเกาะคิวชู
                แต่สุดท้ายความหวังที่ฝากไว้กับแมว คาฟกา และนาคาตะก็มาพังทลายลงเมื่อผมอ่านหนังสือจบแล้วพบว่า คาฟกา วิฬาร์นาคาตะ ‘ไม่เห็นมีอะไรเลย’ (ใช่ครับ นี่คือคำตอบที่ผมให้กับพี่ตองเมื่ออ่านจบ)
                เดี๋ยวก่อนครับ ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลยแบบนั้น ผมหมายถึงว่า คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ไม่มีอะไรให้ไปตามรอยเลยต่างหาก
                เรื่องราวในหนังสือเล่าถึงการเดินทางของตัวละครชื่อ คาฟกา ทามูระ กับนาคาตะ ที่ออกเดินทางจากโตเกียวไปยังเกาะชิโกกุเหมือนกัน แต่คาฟกา ทามูระนั่งรถบัสไป ส่วนนาคาตะโบกรถบรรทุก และการเดินทางของทั้งคู่ก็พาเราไปพบตัวละครอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดชื่อโอชิมะหัวหน้าห้องสมุดสุดสวยสง่าชื่อมิสซาเอกิ แล้วก็คนขับรถบรรทุกชื่อโฮชิโนะ
               ถ้าคุณเคยอ่านผลงานของคุณมูราคามิมาบ้าง น่าจะพอเดาได้ว่าหนังสือมีพื้นที่ให้จินตนาการเยอะมาก ตัวละครแต่ละตัวมีความคิด การกระทำที่แปลกประหลาด เหตุการณ์ในเรื่องก็ดำเนินไปอย่างพิลึกพิลั่น มีกลิ่นของอภินิหารลอยละล่องอื้ออึงปนอยู่กับความหม่นเศร้าอะไรสักอย่างที่อธิบายไม่ได้แต่ก็ชัดเจนเหลือเกินในความรู้สึก แน่นอนว่าเล่มนี้ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ และถ้าจะให้นับจริงๆ ก็มีแค่ท่ารถที่เมืองชื่อทากามัตสึเท่านั้นแหละที่พอจะมีอยู่จริง ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดที่ชื่อโคมูระอนุสรณ์บ้านในป่าลึกของตัวละครชื่อโอชิมะ หรือศาลเจ้าที่หนังสือเล่าว่ามีศิลาเบิกทวารอยู่ ล้วนเป็นสถานที่สมมติที่ถูกสร้างขึ้น
               “ไม่เป็นไร งั้นก็ไปนาโอชิมะกัน”
               เกาะแห่งศิลปะที่อยู่ไม่ไกลจากชิโกกุถูกนัทเสนอเข้ามาแทนที่ในวันที่เรานัดพบกันได้ครบทั้งสามคนราวสองสามสัปดาห์หลังจากจองตั๋วเครื่องบิน พี่ตองที่เคยไปนอนค้างมาแล้วพยักหน้าเห็นด้วย บอกว่าสวยดี
               “เออ แถวนั้นมีเกาะกระต่ายด้วย” พี่ตองเปรยออกมาก่อนหยิบมือถือขึ้นมาสไลด์หาข้อมูลยกใหญ่ แล้วพูดต่อท้ายเข้าไปอีกว่า “อูด้งแถวทากามัตสึก็ดัง”
               “มีเกาะแมวด้วยนะ ถ้าจำไม่ผิด” นัทออกความเห็นเพิ่มเติมส่วนผมที่เริ่มงงว่าการตามรอย 
    คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ มันลอยหายไปไหนแล้ว (หรือเกาะแมวคือ ‘วิฬาร์’ ใน คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ วะ ผมอ่านบทไหนพลาดไปหรือเปล่า?) เลยได้แต่นั่งมองกูเกิลแมพส์ตรงหน้าด้วยสายตาว่างเปล่า
               “แล้วก็มีหมู่บ้านที่มีตุ๊กตาตัวเท่าคนจริงเยอะๆ ด้วย” พี่ตองปิดท้าย พร้อมยื่นมือถือมาให้ดูบทความออนไลน์เกี่ยวกับหมู่บ้านเร้นลับบนเกาะชิโกกุ ซึ่งมีตุ๊กตาวางเรียงรายนับจำนวนได้มากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่จริง
               ผมถอนหายใจช้าๆ ก่อนค่อยๆ หาข้อมูลและตำแหน่งของแต่ละสถานที่—เกาะศิลปะนาโอชิมะสามารถไปได้จากท่าเรือในเมืองทากามัตสึ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดคางาวะทางตะวันออก-เฉียงเหนือ เกาะกระต่ายอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ แต่เหมือนจะต้องไปขึ้นเรือจากเมืองทาดาโนอูมิบนเกาะฮอนชู ส่วนเกาะแมวอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ในเขตจังหวัดเอฮิเมะ และหมู่บ้านแห่งตุ๊กตาที่ชื่อนาโกโระ อยู่ค่อนไปทางตะวันออก ซึ่งเป็นเขตจังหวัดโทกูชิมะ



  •              ถ้าไปเกาะศิลปะก่อนแล้ววนทวนเข็มนาฬิกาไปเกาะกระต่ายลงมาเกาะแมว แล้วค่อยวนกลับไปแวะหมู่บ้านตุ๊กตาก็น่าจะเป็นไปได้ ให้เวลาแต่ละที่อย่างละวัน เพราะมันอยู่ห่างกันเยอะพอสมควร เผื่อถ้าใครอยากไปไหนเพิ่มเติมจะได้แทรกเข้าไปได้
                 ดูจากลู่ทางแล้วการนั่งรถไฟคงไม่เหมาะ เพราะหลายที่ที่จะไป รถไฟเข้าไม่ถึง แผนผังทางรถไฟบนเกาะก็ดูไม่ครอบคลุมเท่าไหร่ เพราะอย่างนี้ใช่ไหมถึงไม่ค่อยเห็นใครไปเที่ยวชิโกกุกัน...
                “สงสัยต้องเช่ารถขับนะ หมู่บ้านตุ๊กตาไม่มีรถไฟไปถึงนั่งรถไฟต่อรถบัสน่าจะลำบาก ไหนจะต้องลงเรืออีกตั้งหลายรอบขับรถสะดวกกว่าเยอะ” ผมสรุป แปลกใจนิดหน่อยที่ทั้งสองคนเออออโดยไม่งอแง แต่ไม่ทันไรก็รู้เหตุผลเบื้องหลังว่าพี่ตองขับรถไม่เป็น ส่วนใบขับขี่ของนัทหายลับไปกับกระเป๋าสตางค์
    เมื่อหลายเดือนก่อน ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ไปทำใหม่ นั่นแปลว่าผมต้องรับหน้าที่เป็นพลขับเพียงคนเดียวตลอดทริปนี้
                 “งั้นก็ตามนี้ เช่ารถห้าวันน่าจะพอดี แต่อาจจะต้องกินข้าวบนรถบางมื้อนะ จอดรถซื้อข้าวปั้นร้านสะดวกซื้อแล้วไปต่อเลยงี้”ผมเตือนเพื่อนร่วมทาง เพราะดูจากระยะห่างของแต่ละสถานที่แล้วน่าจะได้อยู่บนรถกันจนเบื่อ จากท่าเรือหนึ่งไปยังอีกท่าเรือหนึ่งก็กินเวลาราวสามถึงสี่ชั่วโมง หมู่บ้านนาโกโระก็ต้องขับรถขึ้นเขาสามชั่วโมงกว่า นี่ยังไม่นับว่าจะต้องขับรถลงเขาอีกสามชั่วโมงกว่าเพื่อกลับเข้ามาสู่ความศิวิไลซ์ให้ได้อีก แต่ทั้งคู่ก็ดูไม่มีปัญหาอะไร
                 เราสามคนแยกย้ายกันไปหลังได้แผนคร่าวๆ ผมรับหน้าที่จองรถเช่า หารายละเอียดเรื่องที่จอดรถ การใช้ทางด่วน แล้วก็สรุปเส้นทาง น่าตลกดีที่แผนการตามรอย คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะกลายมาเป็นการขับรถรอบๆ เกาะชิโกกุเพื่อผ่านไปยังเกาะอื่นๆ (จะบอกว่าเป็นทริปหมู่เกาะก็คงได้…เอ แต่จะว่าไป ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีแต่เกาะอยู่แล้วนี่ ฮ่าๆ) แต่อย่างน้อยเราก็จะได้เข้าสู่เกาะชิโกกุด้วยวิธีการที่ใกล้เคียงกับคาฟกาและนาคาตะมากที่สุดการขับรถขึ้นเขาเพื่อไปยังหมู่บ้านนาโกโระก็น่าจะทำให้เราเห็นภาพป่าไม้เขียวขจีของชิโกกุที่โอชิมะพาคาฟกาไปพำนักอยู่ และการขังตัวเองไว้กับคนแปลกหน้าสองคนนี้ก็น่าจะทำให้ผมรู้จักกับพวกเขาได้ดีขึ้น
                  ติดอยู่ที่ปัญหาข้อเดียว
                  ตอนนี้วางแผนจะไปเที่ยวชิโกกุเสียดิบดี แต่ดันตีตั๋วไป-กลับกรุงเทพฯ-โตเกียวไว้น่ะสิ! (คนละทางเลยจ้าพี่น้อง~)



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in