กลับมาพบกันอีกครั้งในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย เพราะวันนี้เราไม่ได้มารีวิววิชาเรียนเหมือนทุก ๆ ครั้ง แต่จะมารีวิวการฝึกงานแทนนั่นเอง สำหรับใครที่เข้ามาอ่านเป็นครั้งแรก สวัสดีค่ะ เราเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือที่คนมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า "ไออาร์" ปกติเราใช้พื้นที่ในบล็อกนี้ในการเขียนรีวิวรายวิชาที่เรียน เพื่อเก็บเป็นบันทึกความทรงจำของตัวเอง รวมถึงเขียนเก็บเอาไว้เผื่อมันจะเป็นประโยชน์ให้กับสิงห์ดำรุ่นถัด ๆ ไปหรือผู้ที่สนใจอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะเรา โดยแม้วันนี้จะแตกต่างออกไปเล็กน้อยเพราะเป็นการรีวิวการฝึกงานแทน แต่เราก็หวังว่าโพสต์นี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยให้กับทั้งชาวสิงห์ดำและคนอื่น ๆ ที่หลงเข้ามาอ่านแล้วมีความสนใจอยากฝึกงานที่เดียวกับเรานะคะ
ในช่วงซัมเมอร์ปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี 4 ตั้งแต่ต้นเดือน 6 ไปจนถึงปลายเดือน 7 เราได้ฝึกงานกับสถานทูตสหรัฐฯ กรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ "Foreign Student (Thai) Intern Program" (FNSIP) ซึ่งเราฝึกงานกับแผนกการเมือง หรือ Political หรือที่ในสถานทูตมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า POL
ในโพสต์นี้เราจะรีวิวตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครไปจนถึงประสบการณ์ในการฝึกงาน โดยในส่วนหลังจะรีวิวเท่าที่รีวิวได้โดยไม่ลงลึกในสิ่งที่ทำมากเกินไป 5555555 ทั้งนี้ทั้งนั้น การรีวิวของเราจะพูดถึงการฝึกงานแผนกการเมือง และเป็นการฝึกงานที่สถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงเทพเป็นหลัก คิดว่าคนที่สนใจฝึกงานแผนกอื่น ๆ หรือสนใจฝึกที่เชียงใหม่ก็สามารถเข้ามาอ่านได้เช่นเดียวกันแต่ก็จะมีข้อมูลบางส่วนที่อาจไม่ตรงกับสิ่งที่กำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้ 5555555 ยังไงก็สามารถเลื่อนลงไปอ่านตามพาร์ทที่เราแบ่งไว้ได้เลยค่ะ
ขั้นตอนการสมัคร
คำถามที่เรามักได้รับบ่อย ๆ จากรุ่นน้องในคณะคือสถานทูตสหรัฐฯ เปิดรับสมัครนิสิตนักศึกษาฝึกงานช่วงไหน คำตอบคือแล้วแต่ปี 55555555 เท่าที่เราได้ยินจากรุ่นพี่ปีก่อน ๆ มา สถานทูตจะเปิดรับสมัครประมาณช่วงเดือนมกรา บางทีก็ธันวา ช่วงเดือนตุลาก็เคยเห็น แต่ของปีเรามีการแบ่งนิสิตนักศึกษาฝึกงานออกเป็น 2 session และเปิดรับสมัครทั้ง 2 session พร้อมกัน ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน (จำได้ว่าสถานทูตลงโพสต์ช่วง 20 ตุลาคมแล้วเดดไลน์ในการส่งเอกสารเพื่อสมัครคือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2021) พูดง่าย ๆ คือต้องติดตามข่าวสารอยู่เรื่อย ๆ เลยว่าทางสถานทูตจะเปิดรับสมัครช่วงไหน โดยสามารถติดตามข่าวสารจากสถานทูตได้ตามช่องทางด้านล่าง
ถามว่าคุณสมบัติในการสมัครมีอะไรบ้าง หลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 5 ข้อเหมือนกันทุกปี
(1) ต้องมีสัญชาติไทย
(2) ต้องเป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปี 3 หรือ ปี 4 ของมหาวิทยาลัยภายในไทย โดยต้องเหลืออย่างต่ำ 1 เทอมก่อนจะเรียนจบ
(3) เกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ 2.80
(4) มีความรู้ภาษาอังกฤษที่ใช้งานได้ในระดับที่ดี
(5) ต้องผ่าน security clearance (หลังสัมภาษณ์ผ่านแล้ว)
โดยสิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับการฝึกงานที่สถานทูตสหรัฐฯ คือ
(1) การฝึกงานที่นี่เป็น unpaid internship คือจะไม่มีเงินตอบแทนให้ (ณ ตอนนี้นะ ไม่รู้จะมีการปรับเปลี่ยนในอนาคตมั้ย คิดว่าสถานทูตคงอยากทำให้โครงการมัน inclusive มากขึ้นแหละ)
(2) หากเป็นนิสิตนักศึกษาจากต่างจังหวัด ทางสถานทูตไม่มีการจัดที่พักอาศัยหรือมีค่าใช้จ่ายให้
(3) ที่นี่เข้างาน 7:00-16:00 รวมเวลาการทำงานราว 40 ชั่วโมง/สัปดาห์
(4) หลังผ่านรอบสัมภาษณ์แล้ว จะต้องผ่านการตรวจ security clearance ก่อน หากไม่ผ่าน security clearance ก็จะไม่ได้ฝึกงาน และผู้สมัครจำเป็นต้องอยู่ในไทยเพื่อมาเดินเรื่อง security clearance ที่สถานทูตที่กรุงเทพฯ
ในส่วนของวิธีการสมัคร อันนี้เราคิดว่าน่าจะเหมือนกันทุกปี คือ
(1) กรอก FNSIP application form (ข้อมูลเบื้องต้นของผู้สมัคร และตอบข้อเขียนขนาดสั้น)
(2) ส่ง ใบรับรองสถานะนิสิต/นักศึกษา, ใบ transcript, บัตรประชาชน (รวม 3 อย่าง) ในรูปแบบ .pdf ไปที่อีเมลที่สถานทูตระบุให้ส่งไป
* สิ่งที่สำคัญคือ เวลาส่งอย่าลืมเช็คด้วยนะว่าพิมพ์ email address ถูกไหม นอกจากนี้ สถานทูตจะระบุไว้ว่าจะให้ตั้งชื่อ subject line ว่าอะไรด้วย ดังนั้นก็ตรวจทานดี ๆ ก่อนส่งด้วยนะคะ
อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือตำแหน่งที่จะสมัคร คือในทุก ๆ ปี แผนกภายในสถานทูตที่เปิดรับนิสิตนักศึกษาฝึกงานจะมีเยอะมากกกก แบบเยอะมาก ๆๆๆ โดยทางสถานทูตก็ให้เราเลือกสมัครได้มากสุด 3 อันดับ เรียง 1-2-3 ว่าเราอยากฝึกงานกับแผนกไหน ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว แผนกที่เราระบุและอันดับที่เราเรียงไป มีผลต่อการฝึกงาน ขอเล่าก่อนว่าตอนสมัคร เราเลืือกและเรียงไปตามนี้
(1) แผนกการเมือง (POL)
(2) แผนกพิธีทางการทูต (PROT)
(3) แผนกกงสุล ด้าน American Citizen Services (CONS/ACS)
โดยหลังเราได้มาฝึกงานแล้วลองคุยกับพี่ ๆ ในสถานทูต ก็ค้นพบว่าหลายฝ่ายเขาก็ดูนะว่าผู้สมัครเลือกฝ่ายเขาเป็นอันดับที่เท่าไร เนื่องจากมันสะท้อนความสนใจว่าผู้สมัครสนใจจะทำฝ่ายนั้นมากน้อยขนาดไหน เพราะแน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ในฝ่ายเขาก็อยากได้คนที่สนใจในเนื้องานของฝ่ายนั้นจริง ๆ ไปทำงานและเขาก็อยากให้ผู้สมัครที่จะไปทำงานกับเขาได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จากฝ่ายเขากลับไปด้วย อย่างตัวเราคือถูกเรียกสัมภาษณ์จากแค่ 2 ฝ่ายแรกคือ POL กับ PROT ส่วนฝ่ายสุดท้ายถึงแม้ว่าโปรไฟล์เราจะตรงกับ job description และ skills required ที่ทาง CONS/ACS ลิสต์เอาไว้ แต่เราก็ไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ อันนี้ไม่ได้จะบอกว่ามีฝ่ายที่ไม่เรียกสัมฯ เพราะผู้สมัครเลือกฝ่ายเขาอันดับท้าย ๆ แต่อยากแนะนำว่าให้ตัดสินใจดี ๆ เพราะแค่การเรียงลำดับมันก็มีผลไม่มากก็น้อย
แล้วถามว่าจะเลือกฝ่ายอย่างไร กรณีของเราอาจจะต่างจากคนอื่นนิดนึง คือ 2 ฝ่ายแรกที่เราเลือกไป อันแรกคืออาจารย์ที่คณะที่รู้จักเราดีแนะนำมาเพราะเขามองว่าเนื้องานมันเหมาะกับทักษะที่เรามี ส่วนอันที่สองคือพี่ในสายรหัสของเราเคยเป็นอินเทิร์นของฝ่ายนี้ พูดง่าย ๆ คือจิ้มได้เพราะมีคนแนะนำมาและคนใกล้ตัวเคยทำ (แต่จิ้มเสร็จแล้วก็ต้องหาข้อมูลต่อด้วยนะ ไม่ใช่จิ้ม ๆ ใส่ ๆ ไปเฉย ๆ) 555555555 แต่ให้พูดแบบมีสาระคือเราก็ควรเลือกฝ่ายที่เราสนใจ แต่สนใจอย่างเดียวไม่พอ เราควรมีทักษะ, ประสบการณ์การทำกิจกรรม, วิชาที่เคยลงเรียน ฯลฯ หรือะไรก็ตามที่ทำให้เรา qualify ที่จะเป็นอินเทิร์นในฝ่ายนั้น ๆ ด้วยอะ นี่เลยเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ว่าทำไมเราควรดู job description กับ skills required ที่ลิสต์ในใบสมัครของสถานทูตดี ๆ ว่าแต่ละฝ่ายทำอะไรบ้าง มีหน้าที่อะไร เราทำหน้าที่เหล่านั้นได้ไหม แล้วทักษะที่เขาต้องการมันตรงกับสิ่งที่เรามี/เป็น/ทำได้ไหม ประสบการณ์ที่ผ่าน ๆ มาของเรามันช่วยเสริมให้เราทำงานในฝ่ายนั้น ๆ ได้ดีขึ้นหรือเปล่า ไม่ใช่เพียงแค่ดูผ่าน ๆ แล้วรู้สึกว่าฝ่ายนี้น่าทำเลยสมัคร
อีกอย่างคืออยากแนะนำให้เลือกฝ่ายที่คิดว่าจะสอดคล้องกับอาชีพที่เราอยากทำในอนาคตอะ ยังไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าอยากทำอะไรเป๊ะ ๆ แต่อย่างน้อยเป็น scope คร่าว ๆ ก็ได้ เช่น อยากทำสายกราฟิก อยากทำสายข่าว อยากรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ อยากทำ NGO เราคิดว่าถ้าพอรู้สายงานที่ตัวเองอยากทำงานในอนาคตอยู่แล้ว แล้วเลือกฝึกงานในฝ่ายที่มันสอดคล้องกัน นอกจากจะมันจะดูดีใน portfolio ของเราแล้ว มันยังทำให้เราได้รู้ด้วยว่าสายงานที่เราคิดว่าจะทำนี่เหมาะกับเราจริง ๆ ไหม ถ้าเหมาะก็ถือว่าโชคดีมาก แต่ถ้าไม่เหมาะก็ดีที่ได้รู้ตัวเร็วจะได้ไปค้นหาตัวเองต่อ ทั้งนี้ทั้งนั้น การฝึกงานก็ยังไม่ใช่การทำงานจริง ๆ อยู่ดี ถ้าใครยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ก็อยากให้ลองดูว่าทักษะที่เรามีมันพอจะทำงานในฝ่ายไหนได้บ้าง ก็ถือว่าการมาฝึกงานในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดี ๆ ให้เราได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ เพื่อค้นหาตัวเองก็ได้นะ
โดยประโยคที่เราได้ยินจากหลาย ๆ คน (ที่แปลว่าทุกคน) หลังจากเราบอกว่าเราสมัครฝ่ายการเมืองเป็นอันดับ 1 ไปคือประโยคที่ว่า "เออ เหมาะแล้ว" 555555555555 อย่างที่เล่าไปว่ามันเริ่มจากที่อาจารย์แนะนำว่าฝ่ายนี้ดูเหมาะกับเราที่สุด แต่นอกเหนือจากนั้นก็มีเหตุผลส่วนตัวด้วยเหมือนกัน คือเราเป็นคนชอบการเมืองมาก ทั้งการเมืองภายในประเทศและต่างประเทศ และเราเป็นคนชอบเขียนมากกกกกกกก (ดูได้จากการเขียนบล็อก 55555555) ถ้าเป็นคนใกล้ตัวเราจะรู้เลยว่าทักษะที่เรามั่นใจมากที่สุดคือทักษะการเขียน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพราะเขียนเปเปอร์ภาษาอังกฤษเทอมละหลายชิ้น ชิ้นละ 5 หน้าอย่างต่ำ รวมทั้งปีการศึกษาคือเป็น 10 ชิ้น นอกจากนี้ยังเคยทำฝ่ายวิชาการของสโมฯ ที่คณะ ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องทันข่าวสารบ้านเมืองด้วย แล้วพูดในเรื่องของสายงานที่อยากทำ คือการเป็นนักการทูตก็ยังเป็นหนึ่งในช้อยส์ที่เรายังไม่ตัดออกไป ทั้งหมดทั้งมวลมันเลยทำให้เราอยากฝึกฝ่ายนี้ และคิดว่าคงได้อะไรกลับมาเยอะพอสมควร (แล้วก็จริง ๆ สามารถตามอ่านได้ในพาร์ทถัด ๆ ไปค่ะ 5555555)
พูดถึงเรื่องการเขียนทั้งที งั้นก็ขอแนะนำการกรอก FNSIP application form สักหน่อยแล้วกัน อย่างที่เกริ่นไปสั้น ๆ ว่าเราต้องใส่ข้อมูลส่วนตัวกับเขียนตอบสั้น ๆ ในฟอร์มนี้เนอะ ซึ่งเอาจริง ๆ มันฟังดูธรรมดามาก แต่อยากแนะนำให้ทุกคนใส่ใจกับการกรอกฟอร์มนี้เป็นพิเศษ เพราะนอกจากใบรับรองสถานะนิสิต/นักศึกษา ใบเกรด และบัตรประชาชนแล้ว นี่จะเป็นอีกสิ่ง (รวมทั้งหมดแค่ 4 อย่าง) ที่ทางสถานทูตเขาจะได้จากเราไปในตอนสมัคร สิ่งที่จะบอกคือ ด้วยจำนวนเอกสารไม่กี่ชิ้นของเราที่พี่ ๆ ที่สถานทูตจะได้ดู ก็อยากแนะนำให้ทุกคนโชว์ความเป็นตัวเอง ขายตัวเองให้ได้มากที่สุดอะ ซึ่งจุดที่เอื้อให้เราทำอย่างนั้นได้มากที่สุดก็คือตัว application form นี่แหละ นอกจากข้อมูลพวกชื่อนามสกุล มหาวิทยาลัยที่เรียน สาขาแล้ว เขาจะมีส่วนที่ให้กรอกภาษาที่พูดได้ ทักษะที่มี การอบรมที่เคยเข้า ประสบการณ์การทำงานต่าง ๆ ซึ่งถ้าเรามีความรู้หลายภาษา มีทักษะความสามารถพิเศษที่มันเกี่ยวข้องกับทั้งสามฝ่ายที่เราสมัครก็ใส่ไปเถอะ หรือถ้าไม่เกี่ยวโดยตรงแต่คิดว่าสิ่งที่เรามีสามารถ contribute อะไรที่น่าสนใจให้กับฝ่ายที่เลือกสมัครได้ก็ใส่ไปด้วยก็ดี (แต่ต้องกรอกตามความจริงทั้งหมดนะ)
อีกส่วนหนึ่งของ application form คือข้อเขียนสั้น ๆ ไม่กี่ร้อยคำที่ทุกคนต้องตอบ คำถามมันก็จะประมาณว่าเราสนใจแผนกไหน ทำไมอยากฝึกงานที่นี่ แล้วความรู้ประสบการณ์ที่เรามีจะช่วยส่งเสริมเราในการฝึกงานได้ัอย่างไร พูดง่าย ๆ คือเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ขายตัวเองว่าฉันมีดีอย่างไรและทำไมคุณต้องเลือกฉัน 55555555 เราไม่มีทริกอะไรเป็นพิเศษในการเขียน แต่อยากแนะนำให้ทุกคนลองวางโครงก่อนเขียนดี ๆ ว่าเราอยากบอกอะไรเขา ลองดูว่าสิ่งที่เรามีกับสิ่งที่ฝ่ายนั้น ๆ ต้องการมันมีอะไรที่ in common บ้าง แล้วพยายามเน้นให้เขาเห็นถึงแง่มุมนั้น ๆ อีกอย่างคืออย่าเขียนยาว เอาแบบสั้น (ไม่เกิน 1/4 ของ A4 ก็พอแล้ว) กระชับ ได้ใจความ และสามารถ hook คนอ่านได้ตั้งแต่ประโยคแรก เพราะลองมองมุมกลับปรับมุมมองว่าถ้าเราเป็นคนเลือกอินเทิร์นแล้วต้องอ่านใบสมัครเป็นสิบเป็นร้อยแผ่น อันไหนที่มันเด่นเตะตาออกมามันก็น่าหยิบมาอ่านอยู่แล้ว จริงไหม
อันนี้นอกเรื่องนิดหน่อยแต่อยากเล่าให้ฟัง คือตอนปีเราตัว application form ทางสถานทูตเขาทำเป็นแบบ form ออนไลน์อะ คือปีก่อน ๆ ที่เราเคยลองย้อนกลับไปดูเอกสารมันเป็นแบบให้พิมพ์ เป็น .docx งี้ ประเด็นคือพอเป็นฟอร์มออนไลน์มันอาจเกิดเหตุขัดข้องได้ และมันไม่ใช่แค่อาจ เพราะมันเกิดขึ้นจริง ๆ 5555555555 เราจำได้ว่าเราเข้าไปดูฟอร์มตั้งแต่วันแรกที่สถานทูตเปิดรับสมัคร ตอนนั้นก็ยังเข้าได้ พอไม่กี่วันถัดมากดเข้าไปใหม่ ปรากฏว่าฟอร์มพัง! 5555555555 เราก็เลยแบบ อะ รอวันนึง เผื่อมันจะกลับมาเป็นปกติ แต่สรุปรอไปก็ยังเข้าไม่ได้เหมือนเดิม เลยตัดสินใจส่งอีเมลบอกสถานทูตว่าฟอร์มพังจ้า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เขาก็จัดการแก้ให้เสร็จเรียบร้อย 555555555 อันนี้เป็นบทเรียนสำคัญเหมือนกันนะ อยากบอกว่าถ้าตอนสมัครฝึกงานแล้วมันเกิดเหตุขัดข้อง เกิดอะไรใด ๆ ก็ตามขึ้น เราสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตได้เลย จะส่งอีเมลหรือจะโทรไปก็ได้ เขาจะมีแปะเอาไว้ให้ในโพสต์รับสมัคร
หลังจากส่งเอกสารสมัครฝึกงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถามว่าเราต้องรอนานขนาดไหนถึงจะรู้ว่าเราผ่านรอบแรกและเข้าไปรอบสัมภาษณ์ คำตอบคือ รอจนเริ่มคิดว่าเราไม่ผ่านรอบแรกหรือเปล่านะ 5555555 รอนานมากจริง กว่าเจ้าหน้าที่จะติดต่อเรากลับมาคือก็กลางเดือนธันวาคมแล้วอะ จากที่ปิดรับสมัครไปต้นเดือนพฤศจิกายน ตีว่ารออยู่เดือนกว่า ๆ โดยเนื่องจากรอบที่ 2 เป็นการสัมภาษณ์ ตอนนี้เอกสารทั้งหมดของเราจะไม่ได้อยู่ที่ HR แล้ว แต่กระจายไปอยู่ตามฝ่ายที่เราเลือกสมัครไปแทน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่จะติดต่อกลับมาในรอบนี้ ก็คือเจ้าหน้าที่ของฝ่ายนั้น ๆ เองแล้ว สิ่งที่จะบอกคือ ด้วยความที่เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายแยกกันติดต่อ มันเลยทำให้ต่างฝ่ายต่างติดต่อในช่วงเวลาที่ต่างกันอะ อย่างฝ่ายการเมืองของเราคือโทรมานัดสัมภาษณ์ค่อนข้างไวพอสมควร เพื่อนเราบางคนที่สมัครฝ่ายอื่นยังเงียบกันอยู่เลย บางฝ่ายก็ใช้วิธีส่งอีเมลมาแทน มีบางฝ่ายกว่าจะโทรนัดสัมภาษณ์ก็ต้นมกราคมนู่นเลย มันเลยจะเป็นช่วง 1-2 เดือนที่เราต้องคอยรับสายแปลกหน้าตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าจะเป็นสายจากเจ้าหน้าที่สถานทูตหรือเปล่า 555555555
แต่ในกรณีของเรา ด้วยความที่พี่เขา (ที่จะกลายมาเป็นพี่ supervisor เราเองนี่แหละ) โทรมาหลังจากที่เราเพิ่งรับสายคนโทรมาขายประกันได้ไม่นานนัก เราเลยรับสายด้วยเสียงนิ่ง ๆ เหวี่ยง ๆ เพราะคิดว่าประกันโทรมาอีกแล้วแน่ ๆ ก่อนจะได้ยินปลายสายพูดว่า "สวัสดีค่ะ ชื่อ xxx ติดต่อจากสถานทูตสหรัฐฯ แผนกการเมืองนะคะ" 55555555555555555555555555
ขั้นตอนการสัมภาษณ์
เราคิดว่าแล้วแต่ฝ่ายนะว่าเขาจะติดต่อเรามาผ่านช่องทางไหน อาจจะโทรหรืออีเมลมา แต่ของเราที่มี 2 ฝ่ายที่สมัครไปติดต่อกลับมา ใช้วิธีการโทรมาทั้งคู่เลย แต่เราก็มีเพื่อนหลายคนที่ได้รับการติดต่อผ่านอีเมลอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าเขาจะติดต่อมายังไง สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะทำเหมือนกันคือการนัดวันสัมภาษณ์กับเรา ตอนนั้นของฝ่ายการเมืองเราเลือกสัมภาษณ์ช่วงต้นปีมกราคมไป เป็นวันทำงานวันแรกของปีเลย (4 มกราคม) เพราะจริง ๆ พี่เขาเริ่มสัมภาษณ์ candidate ตั้งแต่ปลายธันวาแล้ว แต่เรายังสอบและยังส่งเปเปอร์ไม่เสร็จเลยขอเป็นช่วงต้นปีแทน แล้วหลังจากสัมภาษณ์ฝ่ายการเมืองเสร็จสัปดาห์เดียว ฝ่ายโปรโตคอลที่สมัครไปเป็นอันดับ 2 ก็โทรมานัดสัมภาษณ์ ซึ่งเราประทับใจฝ่ายการเมืองตั้งแต่ตอนวันที่เข้าไปสัมภาษณ์แล้วอะ เลยรู้สึกว่าถึงได้ฝ่ายโปรโตคอลเราคงเลือกฝ่ายการเมืองอยู่ดี แถมไม่อยากตัดโอกาสเพื่อนคนอื่น ๆ ที่เขาอยากได้ฝ่ายโปรโตคอลมากกว่า ไม่อยากให้พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโปรโตคอลเสียเวลาด้วย เลยตัดสินใจปฏิเสธพี่เจ้าหน้าที่ที่โทรมาว่าขอไม่สัมภาษณ์ (ที่สุดท้ายก็วนมาเจอกันที่สถานทูตอยู่ดีเพราะออฟฟิศ POL กับ PROT อยู่ข้างกันเลย 555555555) มีแต่คนถามเราว่าทำแบบนี้มันตัดโอกาสตัวเองไม่ใช่เหรอ แต่เราว่าเราคิดมาดีแล้วแหละ ผลลัพธ์ก็ออกมาในรูปแบบที่เราพึงพอใจนะ และฝ่ายโปรโตคอลก็ได้อินเทิร์นสองคนซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนที่น่ารักมาก ๆ ของเราตลอดการฝึกงานด้วย
ถามว่ารูปแบบการสัมภาษณ์เป็นอย่างไร เอาจริง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่เรียกสัมภาษณ์ อย่างฝ่ายการเมืองคือเรียกให้เข้าไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตเลย คือเราได้เข้าไปนั่งในออฟฟิศของฝ่าย เจอพี่เจ้าหน้าที่ในฝ่ายแบบ in person เลย 555555555 (เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราประทับใจมาก ๆ ด้วยแหละ เพราะได้เจอพี่ ๆ แล้วรู้สึกคนในฝ่ายเฟรนด์ลี่กันมาก ๆ สภาพแวดล้อมดูน่าทำงาน) ส่วนฝ่ายโปรโตคอลกับ CSC เหมือนว่าจะสัมภาษณ์แบบออนไลน์ผ่าน Zoom เราเห็นเพื่อนที่สัมภาษณ์ของ USAID ก็เป็นออนไลน์ผ่าน Google Meet ได้ยินว่า RSO ก็เป็นอีกฝ่ายที่เรียกเข้ามาสัมภาษณ์ที่สถานทูตเหมือนกัน แต่เพราะปีเราเป็นช่วงที่ยังมีโควิดด้วยแหละ เหมือนว่าพี่ ๆ ปีก่อนหน้าตอนที่โควิดยังไม่มาก็มีเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตกันเยอะกว่านี้นะ คิดว่าหลังจากนี้ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้นก็อาจจะกลับไปใช้วิธีสัมภาษณ์ที่สถานทูตทั้งหมดเหมือนเดิม (มั้ง)
แล้วตอนสัมภาษณ์ถามอะไรบ้าง อันนี้ขอโฟกัสแค่ฝ่ายการเมืองแล้วเนอะเพราะเราก็ไม่ได้รู้วิธีการสัมภาษณ์ของฝ่ายอื่นแบบละเอียด แต่ของฝ่ายเราใช้เวลารวม ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง คำถามก็มีตั้งแต่คำถามทั่วไปที่ถามเกี่ยวกับตัวเรา ให้แนะนำตัว เรียนอะไร ทำไมเรียนอันนั้นอันนี้ ทำไมถึงมาสมัครฝึกงานที่นี่ ความคาดหวังต่าง ๆ ไปจนถึงคำถามวัดความรู้ เพราะการจะเป็นอินเทิร์นฝ่ายการเมืองมันก็ควรมีความรู้ด้านการเมืองเนอะ 555555555 ขอไม่ลงรายละเอียดว่าเจอคำถามอะไรบ้าง แต่เป็นคำถามทั้งการเมืองไทยและระหว่างประเทศ แต่ 90% เน้นไปที่การเมืองไทย เพราะหน้าที่ของฝ่ายเราจะมอนิเตอร์ข่าวการเมืองไทยเป็นหลัก แนะนำว่าหลังจากที่รู้วันสัมภาษณ์แล้วให้ย้อนอ่านข่าวการเมืองในช่วงนั้นหรือก่อนหน้านั้นเยอะ ๆ เน้นดูพัฒนาการของเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มันเป็นประเด็นสำคัญในช่วงนั้น ๆ โดยเราควรรู้ที่มาที่ไป สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว รู้ว่าผู้คนกำลังถกเถียงประเด็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อยู่ และรู้แนวโน้มสถานการณ์ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ขอยกคำพูดของพี่ supervisor ฝ่ายการเมืองเลยว่าการทำงานฝ่ายนี้เราควรรู้ทั้ง past, present, future ซึ่งการเตรียมตัวสัมภาษณ์ฝ่ายนี้ก็คือการเตรียมความพร้อมตัวเองให้รู้ทั้ง past, present, future นี่แหละ 55555555
ถามว่าเตรียมตัวนานไหม เราจำไม่ได้เป๊ะ ๆ แต่คิดว่าน่าจะอ่านข่าวไปเรื่อย ๆ อยู่ 3-4 วันนะ คือถ้าเป็นคนตามข่าวการเมืองเป็นประจำอยู่แล้วมันก็ไม่ได้ใช้เวลาเยอะมากอะ เน้นเก็บรายละเอียดลึก ๆ ที่เราพลาดไปเวลาอ่านข่าวเร็ว ๆ มากกว่า อีกอย่างคือเนื่องจากเราจะมาเป็นอินเทิร์นในสถานทูตสหรัฐฯ แปลว่ามันต้องใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นตอนเตรียมตัวสัมภาษณ์ เราแนะนำให้เตรียมตัวเรื่องศัพท์การเมืองภาษาอังกฤษไปด้วย พวกศัพท์เฉพาะในสภา การเลือกตั้ง การชุมนุม เป็นต้น
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดคือเรื่องความเห็นทางการเมือง หลายปีก่อนเราเคยไปสัมภาษณ์ที่ ๆ หนึ่งมาซึ่งเราจำได้ว่าตอนนั้นเราตอบคำถามไปแบบตรง ๆ แสดงความเห็นทางการเมืองของเราแบบตรงไปตรงมาเลยว่าเราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร สุดท้ายก็ตกรอบสัมภาษณ์โดยที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคำตอบเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่ถูกเลือกหรือเปล่า 555555555 (สภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีการถกเถียงแบบเป็นวงกว้าง ยังไม่มี political awareness กันมากเท่าทุกวันนี้ด้วยแหละ) แต่ตอนเราสัมภาษณ์ที่สถานทูตสหรัฐฯ เราเจอคำถามคล้าย ๆ เดิม ซึ่งรอบนี้เราก็ตอบแบบตรงไปตรงมาเหมือนเดิมว่าความเห็นของเราคืออะไร เราไม่เห็นด้วยกับอะไร สิ่งไหนควรถูกปฏิรูป โดยที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ที่นั่งฟังเราอยู่เขามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ได้รับเลือก และหลังจากเข้ามาเป็นอินเทิร์นในฝ่ายนี้ เราว่าพี่ ๆ ทุกคนคงไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองตรงกันหมด 100% ทุกคนหรอก แต่ทุกคนพร้อมรับฟังมาก ๆ ถ้ามีเรื่องไหนที่คิดไม่ตรงกันก็คุยกันด้วยเหตุผลอะ ดังนั้นคำแนะนำของเราคือ ตอบไปเถอะ เป็นตัวเอง คิดหรือเชื่ออะไรก็ตอบไปตามที่เราคิด ถือคติถ้าเขาจะเลือกหรือไม่เลือกก็ขอให้เขาดูจากเราที่เป็นเราจริง ๆ ไม่ใช่ได้รับเลือกเพราะเราไปทำตัวเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเอง *พับไมค์*
โดยหลังจากสัมภาษณ์เสร็จ พี่เจ้าหน้าที่ก็บอกเราว่าหลังจากนี้จะเป็นฝ่าย HR ที่ติดต่อกับอินเทิร์น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายแล้ว ให้รอการตอบกลับจาก HR ซึ่งเราก็รออยู่ประมาณเดือนนิด ๆ ทาง HR ก็ติดต่อกลับมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ว่าเราได้รับเลือกให้เป็นอินเทิร์นฝ่ายการเมืองแล้ว และเขาจะส่งอีเมลมาบอกว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างและให้ส่งกลับมาตามนั้นเพื่อดำเนินการขั้น security clearance ต่อไป
ขั้นตอน Security Clearance
ขอพูดเรื่องเอกสารก่อน คือหลัง HR โทรมาบอกว่าเราได้รับเลือกและทางสถานทูตส่งอีเมลที่ลิสต์เอกสารที่ต้องการมาให้แล้ว เราจะต้องเตรียมทุกอย่าง สแกนเป็นไฟล์ .pdf แล้วตอบกลับผ่านอีเมลภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเขาให้เวลาเราพอสมควรอยู่แหละไม่ต้องกังวล ในขั้นตอนนี้ถ้ามีคำถามอะไร เราแนะนำว่าให้โทรถาม HR ได้เลย เขาจะใส่เบอร์โทรมาให้อยู่ ตอนนั้นเราจำได้ว่าเราต้องไปถ่ายรูปใหม่เพราะเราไม่เคยมีรูปไซส์ที่ทางสถานทูตกำหนดมา ต้องไปทำพาสปอร์ดที่กงสุลใหม่ด้วยเพราะอันเดิมหมดอายุ แล้วเขาจะขอเอกสารเยอะแบบเยอะมาก ๆๆๆๆ นะ แต่เอาเป็นว่าทั้งหมดทั้งมวลมันเพื่อความปลอดภัยอะ เพราะเขาต้องสกรีนทุกคนก่อนที่จะเข้าไปทำงานในสถานทูตได้
แล้วหลังจากส่งเอกสารทั้งหมดกลับไปแล้ว ก็จะมีฝ่าย RSO ติดต่อเรามาเพื่อให้เข้าไปสัมภาษณ์ที่สถานทูต โดยสัมภาษณ์รอบนี้ก็จะเป็นการถามเกี่ยวกับตัวเราเองนี่แหละ ไม่ได้วัดความรู้อะไรแล้วไม่ต้องห่วง 555555555 พี่เจ้าหน้าที่ RSO ที่เป็นคนสัมภาษณ์เราก็น่ารักมาก ๆ คือตอนพี่เขาโทรมาเราเรียนอยู่พอดี พี่ก็ถามว่าคุยได้ไหม เรียนอยู่หรือเปล่า เราก็บอกพี่เขาว่าคุยได้ค่ะไม่เป็นไร ๆๆๆ *กดเบาเสียงคอม* (ดีนะวิชานี้อาจารย์อัดเทปไว้ให้ย้อนดูได้) แล้วตอนแรกเขาจะให้เข้าไปสัปดาห์นั้นเลย แต่มันเป็นสัปดาห์สอบมิดเทอมของเราพอดี เราเลยขอเลื่อนไปอีกสัปดาห์ ซึ่งพี่เขาเข้าใจมาก ๆ แล้วก็ตกลงวันกันเสร็จสรรพ หลังจากนั้นก็เข้าไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตตามวันนัด (ถ้าพี่เจ้าหน้าที่ให้ติดเอกสารอะไรไปเพิ่มเติมก็อย่าลืมติดไปด้วยนะ)
พอสัมภาษณ์กับฝ่าย RSO เสร็จก็รอทางสถานทูตติดต่อกลับ ซึ่งอันนี้เป็นช่วงที่รอนานมากกกกกก นานจนสงสัยว่าสถานทูตลืมไปแล้วหรือเปล่าเอ่ย 55555555 คือติดต่อมาอีกทีช่วงกลาง ๆ เดือนพฤษภาคมเลย (รอไปสามเดือน) ซึ่งรอบนี้ทางสถานทูตนัดให้เข้าไปทำบัตรพนักงาน วันที่ไปทำบัตรก็ได้เจอเพื่อน ๆ อินเทิร์นเยอะแยะเลยแหละ หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ก็เป็นวันแรกของการฝึกงานที่รอคอยแล้ว!
ประสบการณ์ในการฝึกงาน
ก่อนที่จะเข้าสู่การบอกเล่าประสบการณ์ ขออนุญาตลิสต์ job description, skills required, education ตามที่ระบุไว้ในเอกสารการสมัครของแผนกการเมืองไว้ให้ดูกันก่อน จะได้เห็นภาพกันมากยิ่งขึ้น
Job description:
- Monitor traditional and social media for developments on Thai political situation, security issues, foreign relations, social problems, and human rights issues; report, translate, or summarise those into English as assigned
- Conduct research and prepare summaries on key political and social issues
- Prepare or update briefing materials for meetings as well as visitors and perform as an interpreter in meetings as assigned
- Provide logistical and administrative support as assigned
Skills required:
- Candidate must be proficient in Microsoft Word, Excel, and Internet search skills
- Candidate must be well versed with Thai social media
- Candidate must be fluent in written and spoken English
- Candidate must possess strong interpersonal relations, have the ability to work independently, and be able to travel if needed
Education:
- Candidate should have educational background in Political Science, Law, or related fields
ถามว่าตอนทำงานจริง ๆ มันตรงตาม job description ทั้งหมดไหม บอกเลยว่าไม่ 5555555 ขาดเหรอ? เปล่าจ้า เกิน job description มาอีก 555555555 แต่เอาจริง ๆ มันเป็นเพราะพี่ ๆ เจ้าหน้าที่อยากให้อินเทิร์นได้เรียนรู้งานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปให้ได้มากที่สุดอะ ซึ่งเรารู้สึกขอบคุณพี่ ๆ มาก ๆ ที่ให้โอกาสเราได้ลองหลายสิ่งหลายอย่างขนาดนี้ รวมถึงตัวเราเองก็ชอบเดินไปถามพี่ ๆ ว่ามีอะไรให้ช่วยบ้างไหม อยากให้เราตามเรื่องนั้นเรื่องนี้ไหม บางทีเราเจอบางประเด็นที่แบบอ่านผ่าน ๆ แล้วเจอ เลยกะเอาไปคุยกับพี่ ๆ แบบขำ ๆ สรุปดันได้เป็น assignment กลับมา ก็สนุกดีไปอีกแบบ 55555555 หรือวันดีคืนดีไม่มีงานของฝ่าย (ด้วยความไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ) เราก็เดินไปของานจากเพื่อนอินเทิร์นฝ่ายโปรโตคอลมาช่วยทำก็มี เพื่อนก็ให้เพราะเห็นเราอยากลองทำ รู้สึกขอบคุณมาก ๆ 555555555 (พี่ฝ่ายโปรโตคอลก็บอกเหมือนกันนะว่าถ้าอยากเรียนรู้งานโปรโตคอลให้บอกได้เลย เขาเต็มใจที่จะสอน T_T) และวันดีคืนดีที่งานฝ่ายตัวเองยังไม่เข้า เราก็แวะไปช่วยงานพี่ฝ่าย DAO นิด ๆ หน่อย ๆ ด้วยเหมือนกัน 555555555 คือแน่นอนว่ามันมีบางเรื่องที่จัดเป็นประเด็น classified มากระดับที่ไม่สามารถให้อินเทิร์นทำได้ แต่อะไรที่มันยังอยู่ในขอบเขต ถึงแม้มันเกินจาก job description มา พี่ ๆ ทุกคนเขาก็อยากให้เราได้ลองลงมือทำดูแหละ แล้วมันไม่ได้ดีต่อแค่พี่ ๆ เขาที่มีคนช่วยทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน อินเทิร์นอย่างเรา ๆ ก็ได้ลองงานใหม่ ๆ อยู่ทุกวัน ซึ่งเราเต็มใจทำทุกอย่างเลยนะ และมันเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่จะช่วยเราสำหรับการทำงานในอนาคตอย่างแน่นอนด้วย
และสำหรับประสบการณ์ส่วนตัวที่เราได้รับจากการฝึกงานแผนกการเมือง เราจะขอแบ่งเป็นออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามทักษะที่ได้ฝึกฝนแล้วอธิบายสิ่งที่เราได้ทำตามนั้นแล้วกัน เพื่อความง่ายในการอ่านและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 555555555
การใช้ภาษา
อย่างแรกสุดที่ไม่พูดไม่ได้เลยคือการมาฝึกงานที่นี่ทำให้เราได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งด้านฟัง พูด อ่าน เขียน ถ้าให้พูดจากประสบการณ์ส่วนตัว คือเราเรียน english programme มาตั้งแต่ประถมและมัธยมต้น พอมัธยมปลายก็อยู่ห้อง gifted english พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เรียนสาขาที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นว่าเล่น เขียนเปเปอร์ภาษาอังกฤษบ่อยพอ ๆ กับภาษาไทย ถามว่าถึงเรามี background ขนาดนี้แล้วเรายังได้พัฒนาการใช้ภาษาอีกเหรอ คำตอบคือได้ และได้เยอะด้วย
ถามว่าทำไม คือภาษาอังกฤษที่เราใช้ในห้องเรียนกับในชีวิตประจำวัน (academic english, conversational english) และภาษาอังกฤษที่เราใช้ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงมันต่างกันมาก อันนี้คือประเด็นแรก ทำให้การได้มาฝึกงานที่นี่ช่วยให้เราได้ฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษแบบ professional english จริง ๆ อะ แล้วเราได้ทำงานหรือพูดคุยกับคนที่ตำแหน่งสูง ๆ ในสถานทูต เช่น chargé d'affaires, acting deputy chief of mission, acting political counsellor, etc. ทำให้เราควรใช้ภาษาให้ถูกระดับและถูกกาลเทศะอะ ถึงแม้วัฒนธรรมอเมริกันจะไม่ได้มีลักษณะ hierarchical อะไรขนาดนั้นหรอก เลยเป็นเหตุว่าทำไมภาษาอังกฤษที่ใช้ในการทำงานจริง ๆ กับภาษาอังกฤษที่เราใช้ในรั้วมหาวิทยาลัยกับในชีวิตประจำวันมันถึงต่างกันและเราถึงยังรู้สึกว่าตัวเองได้พัฒนาทักษะการใช้ภาษา
ประเด็นที่สอง นอกจากที่จะเป็นภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างทางการแล้ว การฝึกงานในสถานทูตยังทำให้เราได้รู้จักศัพท์ทางการทูต เยอะ มากกกกกกกกกกก สารภาพตามตรงว่าถึงเรียนไออาร์ที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ศัพท์ใหม่แทบทุกคำที่เราเจอที่นี่ ไม่ได้เป็นคำที่ถูกสอนในวิชาไหนเลย 555555555 ไม่รู้ว่าไออาร์ที่มหาวิทยาลัยอื่นเป็นอย่างไร แต่ที่จุฬาฯ อาจจะเป็นเพราะหลักสูตรปัจจุบันที่เราเรียนอยู่ไม่ได้มีวิชาแนว diplomacy หรืออะไรเทือก ๆ นี้เปิดสอนด้วยแหละมั้ง รวมถึงที่คณะก็สอนในเชิงวิชาการมากกว่าเชิงปฏิบัติมาโดยตลอดอยู่แล้ว เลยทำให้เหมือนมีความ culture shock เล็ก ๆ ที่เราได้มาเจอศัพท์ใหม่ ๆ เยอะมาก เรียกได้ว่ามีศัพท์ใหม่ให้ได้เรียนรู้ในทุก ๆ วัน 555555555 แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการฝึกงานที่นี่นะ เพราะเราเองก็รู้สึกสนุกกับการได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ทุกวันเหมือนกัน
แล้วอย่างที่บอกว่าเราได้พัฒนาทักษะทั้งด้านฟัง พูด อ่าน เขียนเลย โดยถ้าฝึกงานฝ่ายการเมือง ด้านที่เด่นที่สุดก็ด้านการเขียนนี่แหละ เพราะเราต้องเขียนสรุปข่าวการเมืองรายวันอยู่เป็นประจำ รวมถึงเขียนสรุปสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายมา แล้วก็ต้องเขียนอธิบายบางประเด็นที่ american officers อยากรู้ให้เขาเข้าใจ (พี่เจ้าหน้าที่ในฝ่ายคนนึงอธิบายงานของฝ่ายเราสั้น ๆ ไว้เลยว่า หน้าที่ของเราคือการอธิบายสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมืองให้ american officers เข้าใจให้ได้) คือเราเองถนัดการเขียนภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แต่การได้มาฝึกงานที่นี่ยิ่งทำให้เราใช้เวลาน้อยลง เขียนได้คมชัดมากขึ้น พูดง่าย ๆ คือ practice makes perfect อะ ยิ่งใช้บ่อย ๆ ก็ยิ่งได้พัฒนาทักษะ เราเลยรู้สึกว่าเราได้พัฒนาทักษะการเขียนมากพอสมควรแม้มันจะเป็นสิ่งที่เราถนัดมากอยู่แล้วก็ตาม ส่วนด้านการอ่าน เรามองว่ามันมาควบคู่กับการเขียน คือถึงแม้เราจะเน้นอ่านข่าวหรือข้อมูลต่าง ๆ ในภาษาไทยเป็นหลักเพื่อนำไปสื่อสารต่อกับ american officers แต่อีเมลและข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกกระจายกันภายในสถานทูตก็เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดอยู่ดี เราเลยเหมือนได้พัฒนาทักษะด้านนี้ไปในตัว
ต่อมาด้านการฟังกับพูด คือฝ่ายเราจะมีประชุมบ่อยมากถึงมากที่สุด 5555555555 มีทั้ง weekly meeting, bi-weekly meeting มีทั้งประชุมรวมฝ่ายแบบรวมฝ่ายย่อยด้วย มีประชุมแบบเอาแค่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และมีประชุมแบบแค่เจ้าหน้าที่คนไทยกับ political counsellor แล้วทุกอย่างจะถูกดำเนินเป็นภาษาอังกฤษ เลยทำให้เราได้พัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษแน่นอน นี่ยังไม่รวมที่ american officers จะชอบเดินมาคุยที่ออฟฟิศอีกด้วย บางทีก็เรื่องงาน บางทีก็เรื่องสัพเพเหระ เรียกได้ว่าต้องได้ฟังและพูดภาษาอังกฤษอยู่ทุกวัน 555555555
การค้นคว้า การติดตามข้อมูลข่าวสาร
แต่ก่อนจะเขียนสรุปข่าวหรือเข้าร่วมประชุมหรือทำงานอะไรใด ๆ ในแผนกการเมืองได้ แน่นอนว่าเราต้องมีข้อมูลก่อน จริงไหม 555555555 ดังนั้นการฝึกงานในฝ่ายนี้ทำให้เราได้ใช้ทักษะการค้นคว้าและการมอนิเตอร์สิ่งต่าง ๆ เยอะมากกกกกก เอาเรื่องการค้นคว้าก่อน คือเวลาจะเขียนสรุปข่าวเราก็ต้องไปหา original source ของข่าวมาเขียนเนอะ เราก็ต้องรู้ว่ามีแหล่งข่าวอะไรบ้าง ไปตามหาค้นคว้าข้อมูลมาเพื่อเขียน หรือถ้าไม่ใช่ข่าวแต่เป็นประเด็นการเมืองที่ american officers อยากรู้เพิ่มเติม เราก็ต้องค้นคว้าข้อมูล (และใช้ทักษะการสรุปความ) อีก
ฟังดูเหมือนง่ายไหมนะ แบบ คนรุ่นใหม่ใช้อินเทอร์เน็ตเก่งอยู่แล้ว ค้นคว้าแค่นี้ชิว ๆ หรือเปล่า แต่เอาเข้าจริง ๆ มันไม่ง่ายขนาดนั้น 55555555 แน่นอนว่ามันมีบางข่าวที่ทุกสำนักข่าวจะรายงานแหละ แต่มันก็จะมีบางข่าวที่ไม่ใช่ทุกสำนักข่าวจะเล่น นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าสำนักข่าวนั้น ๆ อยู่ฝ่ายไหนอีก ซ้าย ขวา หรือโปรอะไร บางข่าวไม่ได้มาจากสำนักข่าวแต่กลับมาจากเฟสบุ๊กบุคคลสำคัญทางการเมืองงี้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการค้นคว้าเหล่านี้นี่แหละที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากพี่ ๆ ในฝ่าย คือของแบบนี้มันต้องมาเรียนรู้จากการลงมือทำจริง ๆ
นอกจากเรื่องค้นคว้าก็ยังมีเรื่องการติดตามข้อมูลข่าวสารหรือประเด็นต่าง ๆ เรียกง่าย ๆ ก็คือการมอนิเตอร์ข่าว อันนี้ก็ฟังดูเหมือนจะง่ายอีกเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงก็ยากไม่แพ้กันเลยสักนิด 5555555555 หลาย ๆ ครั้งมันจะมีบางประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือการตามมอนิเตอร์พัฒนาการของประเด็นนั้น ๆ ในแง่มุมต่าง ๆ เราว่างานในแง่นี้ก็เป็นหนึ่งในงานที่เราชอบมาก ๆ เหมือนกัน เพราะมันท้าทายทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตของเราดี 555555555 และพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ในฝ่ายก็พร้อมช่วยเหลือเราอยู่เสมอเลยด้วย ซึ่งพี่ ๆ ทำให้เราได้รู้จักแหล่งข่าวน่าสนใจ ๆ ในประเด็นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาก ๆ เลยแหละถ้าเทียบกับตอนก่อนฝึกงาน
การคิดวิเคราะห์
หลังจากพูดมาสองประเด็น บางคนอาจจะคิดไหมว่างานแผนกการเมืองนี่เหมือนแค่ report เฉย ๆ หรือเปล่าว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ก็แค่อธิบายให้ american officers เข้าใจการเมืองไทยก็เท่านั้น แต่จะบอกเลยว่า มันไม่ใช่แค่นั้น 55555555555 นอกจากการรายงานที่ดูเหมือนจะใช้เพียงทักษะด้านภาษาและการค้นคว้าแล้ว งานในฝ่ายนี้ยังต้องใช้การคิดวิเคราะห์ สูง! มาก! เหมือนกัน
อย่างที่เราได้เกริ่นไปก่อนหน้าว่าพี่ supervisor ของฝ่ายเราบอกว่าการทำงานฝ่ายนี้ต้องรู้ทั้ง past, present, future คือในส่วนของ past และ present มันใช้ทักษะการค้นคว้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้วมารายงานได้แหละ แต่ในส่วนของ future นี่สิที่มันไม่ได้ใช้แค่การนั่งหาข้อมูลแล้วไปอธิบายให้ american officers ฟังจากไทยเป็นอังกฤษเฉย ๆ การจะรู้ทิศทางการเมืองว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ หรือประเด็นหนึ่ง ๆ จะมีพัฒนาการไปอย่างไรต่อมันอาศัยการมีคลังข้อมูลเป็นพื้นฐาน แล้วเราต้องอ่านสถานการณ์ให้ออก เอาข้อมูลที่มีมาคิดวิเคราะห์ต่อเองว่าแล้วในอนาคตสิ่งต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วสหรัฐฯ จะอยากรู้อนาคตไปทำไม อันนี้ตอบได้ในฐานะคนเรียนไออาร์ว่า ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ หรอก แต่ทุกประเทศเขาก็อยากรู้เท่าทัน (ที่แปลว่า รู้แนวโน้มในอนาคต) ว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศอื่น ๆ จะเป็นอย่างไร เพราะมันส่งผลกระทบต่อการวางและดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อกัน เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่อยากรู้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในระยะยาว เขาจะได้เลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศในแง่มุมต่าง ๆ กับไทยถูก เพราะถ้าเลือกเดินช้าหรือเลือกเดินผิดเพราะข้อมูลไม่มากเพียงพอ มันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีรวมถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในไทยและในภูมิภาคนี้แน่นอน
แล้วบางที การคิดวิเคราะห์ที่ว่าก็มาในรูปแบบที่กดดันเพราะมีเวลาที่จำกัดด้วย 555555555 พยายามจะไม่เล่าแบบลงรายละเอียดมาก แต่มีการประชุม bi-weekly กับ acting deputy chief of mission (ที่จริง ๆ เป็น political counsellor ฝ่ายเราเอง) รอบนึงที่เขาให้ประเด็นที่อยากพูดคุยมาก่อนจะประชุมหนึ่งวัน ซึ่งมันเป็นประเด็นที่เราถนัดและสนใจเป็นการส่วนตัว แต่มันก็แอบกดดันเพราะมันเป็นการพูดถึงอะไรที่อยู่ในอนาคตมาก พูดง่าย ๆ คือเราต้องใช้ข้อมูลในมีอยู่ในมือตอนนี้ วิเคราะห์แล้วหาคำตอบให้เขาให้ได้ภายในระยะเวลาอันจำกัด บวกกับแรงกดดันจากตัวเองอีกที่อยากทำออกมาให้ดีเพราะมันเป็นสิ่งที่ตัวเองถนัด (ถ้าคนที่สนิทกับเราอ่านมาถึงประโยคนี้คงนั่งถอนหายใจอยู่) 555555555 ซึ่งสุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีและเป็นที่น่าพอใจจริง ๆ นะ และก็เป็นตัวอย่างชัดเจนด้วยว่า ฝ่ายการเมืองไม่ได้ค้นคว้า สรุป แปล และรายงานข้อมูลเฉย ๆ แต่ต้องคิดวิเคราะห์ (เยอะมาก ๆๆๆๆๆ) ด้วย 5555555555
การติดต่อ การสร้างเครือข่ายกับผู้คน
มาถึงตรงนี้บางคนคงคิดแหละว่างานแผนกนี้อยู่แต่หน้าจอคอมกับห้องประชุมอย่างเดียวเลยหรือเปล่า คำตอบคือไม่ เพราะฝ่ายการเมืองเองก็ต้องติดต่อกับผู้คนเยอะมากกกกกก เหมือนกัน คือสถานทูตสหรัฐฯ ๆ ก็มักจะจัดกิจกรรมอยู่บ่อย ๆ เช่น งานวันชาติ งาน pride หรือหากมีเจ้าหน้าที่/คนตำแหน่งสำคัญ ๆ ในสถานทูตหมดวาระก็จะมีจัดงาน farewell ด้วย ซึ่งแต่ละฝ่ายรวมถึงฝ่ายการเมืองก็มีหน้าที่ที่จะต้องติดต่อกับแขกของฝ่ายตัวเอง ว่าแขกจะมาเข้าร่วมงานหรือไม่ จะมีผู้ติดตามมาด้วยหรือไม่ จะเอารถมาด้วยหรือไม่ ฯลฯ โดยงานในส่วนนี้นี่แหละที่เราในฐานะอินเทิร์นได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้วย เราได้ติดต่อกับแขกของฝ่ายการเมืองทั้งตอนที่สถานทูตจัดงาน pride กับงานวันชาติ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และท้าทายมาก เพราะเราไม่เคยทำงานที่ต้องติดต่อกับคนแปลกหน้ามาก่อน (ถึงแม้แขกในฝ่ายเราจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่าง ๆ แต่คือก็ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวอยู่ดี) รวมถึงช่องทางการติดต่อบางส่วนที่ได้มาก็เป็นข้อมูลเก่า ทำให้เราต้องโทรหาต้นสังกัด ตามหาช่องทางการติดต่อของแขกบางคนเองอีกงี้ เรียกได้ว่ามือข้างนึงจับโทรศัพท์ อีกข้างนึงพิมพ์คีย์บอร์ดกันเลยทีเดียว 555555555 แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี พร้อมกับทักษะการติดต่อคนของตัวเองที่พัฒนามากยิ่งขึ้น
แต่มันยังไม่จบที่การติดต่อกับแขกก่อนเริ่มงานเท่านั้น เพราะเรายังต้องคอยอำนวยความสะดวกให้กับแขกของเราระหว่างการจัดงานด้วยเหมือนกัน พยายาม facilitate ให้เขามีความสุขและสะดวกสบายกับการเข้าร่วมงาน รวมถึงชวนแขกคุย มีปฏิสัมพันธ์กับแขกด้วยเหมือนกัน ซึ่งจากประสบการณ์ของเราเอง เราก็มีโอกาสได้คุยกับแขกบางคนของฝ่ายเหมือนกันนะ เป็นนักวิชาการท่านหนึ่งและเจ้าหน้าที่จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนท่านหนึ่ง 55555555555 ทั้งสองคนไนซ์มากกก ชวนเราคุยเกี่ยวกับการฝึกงานและเกี่ยวกับงานที่จัดพวกเขามาเข้าร่วม ก็ถือเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้รับจากการฝึกงานที่นี่
งานธุรการ งานใช้แรงงาน(?)
นอกเหนือจากงานประเภทอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ฝ่ายการเมืองเองก็ยังมีงานแนว ๆ งานธุรการหรือที่เรียกกันว่างาน admin รวมถึงงานใช้แรงงานด้วยเหมือนกัน 55555555 คือกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เขาจะมีระบบในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแขกเวลาจัดงาน โดยสถานทูตสหรัฐฯ ในไทยเองก็ใช้เหมือนกัน ซึ่งเราก็ได้ไปเข้าอบรมการใช้เจ้าระบบนี้มา เลยรับบทแอดมินในการแก้ไขหรืออัพเดตข้อมูลของแขกของฝ่าย เพราะแขกหลาย ๆ คนก็เปลี่ยนตำแหน่ง บางคนอาจจะไม่ได้ทำงานสถานที่เดิมแล้ว บางคนอาจจะหมดวาระแล้ว มันก็ต้องมีการอัพเดตข้อมูลอยู่เรื่อย ๆ เนอะ
นอกจากนี้ ก็มีงานรวบรวมรายชื่อแขก ทำตารางข้อมูล อีดิทเอกสาร รวมถึงงานใช้แรงงานก็คือการวิ่งลงไปเอาหนังสือพิมพ์ทุกเช้า 5555555 แต่เราว่างานประเภทนี้ก็สนุุกไปอีกแบบนะ คือพอทำงานที่ต้องใช้สมองหนัก ๆ มาเยอะแล้ว บางทีเราก็อยากพักด้วยการทำอะไรที่ไม่ต้องใช้สมองเยอะขนาดนั้นบ้าง แต่เน้นใช้ทักษะเรื่องความรอบคอบ ความเป๊ะ ความแม่นยำ แต่ในขณะเดียวกันต้องเร็วแทนงี้ ส่วนการไปเอาหนังสือพิมพ์ทุกเช้าก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดี ๆ ของการฝึกงานเหมือนกัน เพราะเราได้ทำความรู้จักกับพี่ ๆ ห้อง mailroom ของสถานทูต ซึ่งน่ารักมากกกกก แล้วเช้าไหนที่งานยังไม่เข้าก็หยิบหนังสือพิมพ์มานั่งอ่านเอง ได้เจอบางข่าวที่น่าสนใจ ได้เรียนรู้แนวทางการเขียน news headlines ได้อ่านบางคอลัมน์ที่ไม่ได้ถูกนำเสนอในสื่อออนไลน์แต่มีแค่ในหนังสือพิมพ์พวกนี้ด้วยเหมือนกัน
ประสบการณ์สุด exclusive?!
อีกสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่เราได้รับจากการฝึกงานที่นี่คือการได้มีโอกาสเข้าร่วมงานที่ถ้าไม่ได้มาฝึกที่นี่ก็ไม่ได้เข้าร่วมอย่างแน่นอน 5555555555 เช่น งานวันชาติสหรัฐฯ งาน pride งานต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (Antony J. Blinken) ตอนมาเยือนไทย งานมอบรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูต เป็นต้น ซึ่งเรามองว่าประสบการณ์ที่เราได้รับจากการเข้าร่วมงานเหล่านี้มันสำคัญมาก ๆ เพราะเราได้เห็นพิธีทางการทูต ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ หน้าที่ภายในงาน การปฏิบัติตัวของผู้คนภายในงาน ไปจนถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากข้างนอกหรือแม้แต่ในห้องเรียนเองก็ตาม แล้วอินเทิร์นรุ่นเราเป็นรุ่นแรกในรอบหลายปีที่งานเหล่านี้ได้กลับมาจัดอีกครั้งหลังหยุดจัด/ลดสเกลงานลงไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเยือนไทยของ Secretary Blinken ที่เรียกได้ว่านานทีมีหนมาก เพราะเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสูง ๆ ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของแต่ละประเทศก็ไม่ได้จะมาเยือนกันและกันบ่อย นี่ถือเป็นครั้งแรกของ Blinken เลยด้วยซ้ำที่เยือนไทยหลัง Joe Biden ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เพราะแพลนโดนเลือนจากปลายปี 2021 ที่มีหนึ่งใน crew ตรวจเจอว่าติดโควิด-19 เลยยิ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าและถูกจังหวะมากจริง ๆ ที่ได้มาฝึกงานที่นี่และตอนนี้
นอกจากนี้ ทางสถานทูตเองก็มีกิจกรรมให้อินเทิร์นเข้าร่วมอยู่เรื่อย ๆ เช่น กิจกรรม brown bag lunch กับ chargé Heath, กิจกรรม guest speakers, กิจกรรมที่ส่งเสริม diversity and inclusion เป็นต้น แล้วเรายังรู้สึกว่าทางสถานทูตเขาให้ authority กับอินเทิร์นมากพอสมควร คือเราได้มี email address ที่เป็น @state.gov ของตัวเอง ได้ทำบัตรของตัวเอง รวมถึงในฝ่ายการเมืองที่พี่ ๆ เปิดโอกาสให้เราได้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เอง มีอำนาจความรับผิดชอบในงานของตัวเองเต็มที่ มันเลยเหมือนเราได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานทูตคนนึงเลย ซึ่งต่างจากที่เราเคยได้ยินจากคนอื่น ๆ ที่เคยฝึกงานบางที่ว่าพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้อินเทิร์นมี authority ในงานของตัวเองขนาดนั้น
ตัวอย่างภาพจากการฝึกงาน
Reflection
มองย้อนกลับไป ถามว่าเรารู้สึกอย่างไรกับการมาฝึกงานที่แผนกการเมือง สถานทูตสหรัฐฯ บ้าง เราพูดกับหลายคนแล้วแหละอันนี้ แต่ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ fulfilling มาก ๆ พูดกันตามตรง คือเรามีสถานที่ฝึกงานหลายตัวเลือกที่มองเอาไว้ ทั้งสถานทูตต่างประเทศในไทยและสถานทูตไทยในต่างประเทศ ตอนที่ตัดสินใจไม่ยื่นสถานทูตไทยในต่างประเทศแม้เขายังเปิดรับสมัครอยู่แล้วตัดสินใจเลือกที่นี่ก็คิดนะว่าตัดสินใจถูกหรือผิด ถ้าไปต่างประเทศเราจะได้อะไรกลับมามากกว่าไหม เราจะมีความสุขกับงานตรงนี้จริง ๆ ใช่ไหม แต่พอฝึกงานจบ เราขอบคุณตัวเองแล้วที่ไม่เปลี่ยนใจไปที่อื่น
เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น อย่างที่ได้เกริ่นไปคือเรามองว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบการเมืองมาก ๆ ตามการเมืองอยู่เป็นประจำทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ แต่การมาฝึกงานที่นี่ มันชัดตั้งแต่สัปดาห์แรกเลยว่าเราชอบงานที่มันข้องเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศมากกว่าการเมืองภายในไทยโดยตรง ไม่ใช่ว่าไม่ชอบนะ เราก็ยังชอบการเมืองภายในอยู่ และสามารถทำงานเกี่ยวกับการเมืองภายในได้ตามปกติ เพียงแค่ว่ามันเห็นความต่างชัดเจนระหว่างสิ่งที่ "ชอบ" กับสิ่งที่ "รัก" อะ คือถ้าชอบมันก็จะทำแล้วแฮปปี้ดี แต่ถ้าเป็นสิ่งที่รัก เวลาได้ทำมันจะรู้สึกเหมือนอะดรีนาลีนหลั่งอยู่ตลอด พอจะเข้าใจไหม 555555555 ซึ่งการเมืองระหว่างประเทศสำหรับเรามันคือสิ่งหลัง และถ้าเราไม่มาฝึกงานที่นี่เราก็คงไม่รู้ตัวจริง ๆ นะ อีกอย่างนึงคืออาชีพที่อยากทำในอนาคต เรายังจำได้อยู่เลยว่าตอนสัมภาษณ์ พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ในฝ่ายถามเราว่าเราอยากทำอะไรในอนาคต แล้วเราตอบเขาไปตรง ๆ ว่าเรายังไม่รู้ เราอยากฝึกงานที่นี่เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ถูกว่าจะไปทำงานสายวิชาการ หรือสายการทูต ซึ่งหลังฝึกงานจบ ตอนนี้เรารู้ตัวแล้วว่าเราอยากทำงานในสายการทูตมากกว่า
นอกจากนี้ เรายังได้ทบทวนหลักคุณค่าหรืออุดมการณ์ต่าง ๆ ที่ตัวเราเองยึดถือ โดยเฉพาะในฐานะคนที่เรียนไออาร์และอยากทำงานในแวดวงนี้ต่อไป คือการทำงานที่มันดีลกับการรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมันจะต้องมีเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศเข้ามาเอี่ยวอยู่แล้วเนอะ ในช่วงการฝึกงานของเรามันก็มีหลาย ๆ งานที่ได้รับมอบหมายที่ทำให้ต้องวนกลับมาคิดถึงประเด็นนี้บ่อย ๆ เพราะการทำงานสถานทูตสหรัฐฯ มันอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นคนไทย แล้วอย่างที่บอกว่าในการฝึกงานฝ่ายนี้ เรามีอำนาจความรับผิดชอบในงานของตัวเอง มันเลยยิ่งต้องวนกลับมาคิดเรื่องนี้อยู่เรื่อย ซึ่งหลังการประชุมรอบหนึ่งกับ A/DCM ที่เราว่าเราก็ใส่ความเห็นของตัวเองไปพอสมควรตามสิ่งที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น พี่ supervisor ของฝ่ายก็บอกกับเราว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นคำตอบนะว่าเจ้าหน้าที่หลาย ๆ คนเลือกมาทำงานที่นี่ทำไม ซึ่งในขณะเดียวกัน เราว่าเราก็ได้คำตอบกับตัวเองด้วยเหมือนกันว่าทำไมเราถึงอยากทำงานในสายการทูตหรือต้องข้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองหรือหลายประเทศ
เราได้มีโอกาสเอาความรู้ที่ได้เรียนมาใช้ในการทำงานจริง ได้เจอสภาพแวดล้อมการทำงานที่จริงจังจริง ๆ ได้เรียนรู้ว่าโลกในห้องเรียนมันแคบมากกกกกก และมีอีกเรื่องอีกเยอะแยะมากมายที่มหาวิทยาลัยไม่เคยได้สอนเรา ได้เรียนรู้เกร็ดการปฏิบัติตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการทำงาน เช่น การให้เครดิตคนอื่น และการแสดงความรับผิดชอบ ได้เรียนรู้ที่จะพยายามรักษา work-life balance พอสี่โมงปุ๊บ พี่ ๆ เจ้าหน้าที่บอกให้กลับไปเลยค่อยมาทำงานต่อพรุ่งนี้ ได้เรียนรู้ที่จะพยายามจัดสรรเวลาให้งาน ให้ตัวเอง ให้ครอบครัว ให้คนรอบข้าง และตรัสรู้ว่ามันยากอยู่เหมือนกันนะที่จะรักษาการทำงานและการใช้ชีวิตให้มันสมดุลกันได้ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำไม่ได้ จริงไหม) ได้รู้ว่าการทำงานก็เหนื่อยไม่แพ้การเรียนเลย (เผลอ ๆ เหนื่อยกว่ามาก) เพราะก่อนหน้าที่เราจะฝึกงานเราสงสัยมากว่าชีวิตคนทำงานมันเหนื่อยขนาดนั้นเลยเหรอ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากประสบการณ์ตรงแล้วว่าเหนื่อยจริง 55555555555 ได้พัฒนาทักษะในการคุย small talk กับคนอื่น ๆ แบบแวะทักทายเวลาเจอกันตามโถงทางเดิน จากเดิมที่ปกติเป็นคนไม่ถนัด small talk เลย และได้คำแนะนำดี ๆ สำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงความดูแลเอาใจใส่และความช่วยเหลือจากพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนมาโดยตลอดระยะเวลาสองเดือน ไม่เกินจริงเลยถ้าจะบอกว่า หลังจากการฝึกงานถ้าเราพูดขึ้นมาว่าเราคิดถึงสถานทูตสหรัฐฯ เราจะไม่ได้หมายถึงตึกหรือสถานที่ต่าง ๆ ภายในสถานทูต แต่หมายถึงผู้คนเหล่านี้ต่างหาก
อีกอย่างที่สำคัญมาก ๆ คือ ประสบการณ์การฝึกงานในครั้งนี้ช่วยเราในการจัดวิชาเรียนปีสุดท้ายของชีวิตป.ตรีของเราได้มากพอสมควร พอได้มาทำงานจริง ๆ เราได้เรียนรู้ว่าประเด็นไหนที่เป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้ อะไรที่ควรรู้เพื่อให้ตามทันโลก อะไรที่รู้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในสายที่เราอยากทำในอนาคต รวมถึงได้เรียนรู้ด้วยว่าตัวเองอยากเรียนด้านไหนต่อตอนป.โท ถึงแม้จะยังไม่ finalise อย่างชัดเจน แต่ทรงมันก็มาแล้วแหละว่าตัวเองอยากเรียนแนว ๆ ไหน 555555555
อีกประเด็นที่อยากเล่าขำ ๆ คือเราโตมากับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบ british english สะกดแบบ british มาทั้งชีวิต พอได้มาฝึกงานที่สถานทูตสหรัฐฯ ในฝ่ายที่ต้องเขียนเยอะมาก ๆ คือเราต้องกดปรับภาษาในสมองอยู่ทุกวัน 55555555 จริง ๆ acting political counsellor ทักเราตั้งแต่ตอนเราไป pay courtesy call ในสัปดาห์แรกของการฝึกงานแล้วนะว่าเรียนต่อที่อังกฤษหรือออสเตรเลียมาก่อนหรือเปล่า เพราะมันชัดมากตั้งแต่สำเนียงการพูดภาษาอังกฤษ (แต่ก็ตอบเขาไปว่าไม่ได้ไปเรียนต่อ แค่เรียนในโรงเรียนที่ดึงครูมาจากประเทศเครือ commonwealth ตั้งแต่เล็กเฉย ๆ) แต่ถึงเขารู้แบบนี้แล้วเราก็มองว่ามันควรใช้ american english อยู่ดีอะ ถือว่าให้เกียรติเขา เพราะเราก็ทำงานอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ เนอะ แต่สุดท้ายมันก็เป็นอะไรที่สนุกดีนะ ทำให้ก่อนจะกดส่งอะไรเราต้อง triple check (ไม่ใช่แค่ double check) เพราะนอกจากจะต้องดูว่าพิมพ์เนื้อหาถูกต้องครบถ้วนไหม พิมพ์รู้เรื่องไหม ยังต้องดูด้วยว่าสะกดแบบ american english หรือเปล่า หรือมี british english ติดไปด้วย 5555555555
กล่าวโดยสรุปคือ ประสบการณ์ฝึกงานที่สถานทูตสหรัฐฯ แผนกการเมืองทำให้เราเติบโตขึ้น both as a human being who still has so much to learn about the world, and as a soon-to-be IR graduate who has always been dreaming of being part of something bigger than herself
สุดท้ายนี้ อยากขอบคุณทุก ๆ คนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์และความทรงจำในการฝึกงานของเราที่นี่ ตั้งแต่อาจารย์ที่ได้ทักไปปรึกษาก่อนการสมัคร พี่ ๆ อดีตอินเทิร์นพระคุณที่สี่และคนกันเองทั้งนั้นที่ได้ทักไปปรึกษาก่อนการสัมภาษณ์ จนได้รับเลือกและทักไปปรึกษาเกี่ยวกับการส่งเอกสาร รวมถึงพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ในสถานทูตทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะพี่ ๆ POL, PROT, DAO รวมถึงพี่ล่าม และเพื่อน ๆ อินเทิร์นเองก็ด้วยเหมือนกัน ทั้งชาวชั้นสาม, ชาว NOB, และประชากรตึกอื่น ๆ ขอบคุณครอบครัวและผู้คนรอบตัวด้วยที่คอยเป็นกำลังใจให้ตลอดการฝึกงาน และขอบคุณตัวเอง for believing in my own instinct and just went for it
หวังว่าทุกคนจะได้อะไรไม่มากก็น้อยจากการอ่านรีวิวนี้ และถ้าใครสนใจจะสมัครฝึกงานกับสถานทูตสหรัฐฯ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองในปีถัด ๆ ไป ก็ขอให้โชคดีนะคะ ขอให้เป็นวันที่ดีค่ะ
sincerely,
themoonograph
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in