กลับมาพบกันอีกเช่นเคยกับโพสต์รีวิวชีวิตมหาลัย เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา ถ้าทุกคนได้อ่านโพสต์นี้แปลว่าเกรดทุกวิชาของเราได้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเนอะ สำหรับใครที่แวะเข้ามาอ่านโพสต์นี้เป็นครั้งแรก สวัสดีค่ะ เราเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "ไออาร์" เราเริ่มเขียนรีวิวรายวิชาที่เรียนตั้งแต่ปี 1 เทอม 1 ไม่ใช่เพราะมีคนขอมา แต่เพราะอยากเขียนเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำเผื่อวันไหนอยากกลับมาอ่าน และหวังว่าสิ่งที่เราเขียนจะช่วยเป็นแนวทางและเป็นประโยชน์ให้กับรุ่นถัด ๆ ไปที่อยากหาข้อมูลหรือใครสักคนที่หลงเข้ามาอ่านไม่มากก็น้อย ยังไงถ้าใครอยากย้อนอ่านของเทอมก่อน ๆ สามารถจิ้มได้จากลิงก์ด้านล่างนี้เลยนะคะ
สำหรับปี 3 เทอม 1 เราขอสรุปเทอมนี้สั้น ๆ ว่า "ภาควิชาที่ชอบคือนรกที่ใช่" เพราะเป็นคำพูดที่เราใช้พูดมาตลอดทั้งเทอม ถามว่าตัวเองอยากเรียนภาคนี้เองไหม? ใช่ ถามว่าชอบสิ่งที่เรียนไหม? ใช่ แต่ถามว่าเหมือนอยู่ในนรกไหม? บอกเลยว่ามาก 555555555 (ขำทั้งน้ำตา) อารมณ์เดียวกับตอนสมัยมัธยมที่ทุกคนบอกว่าปีก่อนเรียนจบ (ม.5) คือปีที่หนักที่สุดอะ สำหรับเราคือมันความรู้สึกประมาณนั้นเลย
ความพิเศษของเทอมนี้คือเป็นเทอมแรกที่เราไม่ต้องเรียนวิชาบังคับคณะหรือวิชาบังคับคูลี่แล้ว จะเจอแต่วิชาภาคตัวเองเพียว ๆ ส่วนอีก 10 หน่วยกิตที่เหลือสามารถนำไปลงอะไรก็ได้ ซึ่งเราเอาไปลงวิชาโท (เกาหลี) 2 ตัว กับเสรีอีก 1 ตัว แต่อยากเล่าที่มาที่ไปนิดนึง คือจริง ๆ แล้วเทอมนี้เราตั้งใจว่าจะเก็บวิชาโท 1 เจนเอดมนุษย์ 1 และเสรี 1 แต่เจนเอดมนุษย์ตัวที่มองไว้เป็นวิชาที่เรียนหลัง 4 โมงและมันไม่เต็มอยู่แล้ว เลยเอาหน่วยกิตที่ว่างไปลงวิชาโท 2 ตัวก่อน เพราะเรามองว่าโทเกาหลีพักหลังลงเรียนติดยากมาก ยิ่งวิชาที่เราเลือกลงไปมันเป็นตัวแมส โอกาสติด 1 ตัวยังต่ำ ส่วนโอกาส 2 ตัวเรียกว่าแทบไม่มี... แต่! ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นเมื่อเราลงเกาหลีติดทั้ง 2 ตัวที่ลงไป 5555555555 แล้วพอมันลงติดทั้งทีก็เสียดายถ้าจะลด เลยตัดสินใจเรียนพร้อมกันไปเลย 55555555 ทำให้พอเรียนจบเทอมนี้เราจะเก็บวิชาโทจบไปแล้ว 5 ตัว เหลือลงอีกแค่ 1 ตัวก็จะครบ
ส่วนวิชาเสรีเราเลือกลงวิชานโยบายต่างประเทศตะวันออกกลาง เป็นวิชาภาคเราเอง ซึ่งเป็นเสรีตัวสุดท้ายที่เราสามารถลงได้ เท่ากับว่าพอเรียนจบเทอมนี้ เราจะเก็บเสรีครบแล้ว 2 ตัว วิชาโท 5 ตัว (ขาด 1) วิชาเลือกภาค 2 ตัว (ขาดสัมมนารอลงปี 4) เจนเอด 3 ตัว (ขาดมนุษย์) เจนแลง 1 ตัว (ขาดเยอรมัน 2) และวิชาเลือกคูลี่ 2 ตัวที่ค่อยไปลงทีหลังได้ไม่รีบ
สรุปคือเทอมนี้ก็เป็นอีกเทอมที่เราลงเรียน 7 ตัว ซึ่งมันดูเยอะนะสำหรับปี 3 เราเห็นเพื่อนหลายคนก็ตั้งใจลง 6 ตัวตั้งแต่แรกเพราะกลัวมันจะหนักเกินไป แต่ของเราจริง ๆ มันหนักแค่ 5 ตัว เพราะวิชาโทเราเป็นเหมือนคาบให้พักผ่อนหย่อนใจมาโดยตลอดอยู่แล้ว เลยไม่ได้ซัฟเฟอร์มาก 555555555 แต่หารู้ไม่ว่า 5 ตัวเนี่ยแหละที่ทำเอาเกือบกระอักเลือด (ล้อเล่น ไม่ขนาดนั้น) โดยวิชาที่เราลงเรียนมีดังนี้
- วิชาบังคับภาค 4 ตัว
(1) Reading in International Relations Series I
(2) Political Theory and International Relations
(3) International Organisation
(4) Southeast Asia in World Politics
- วิชาที่ลงเพิ่มเอง 3 ตัว
(1) Korean Listening and Speaking I (วิชาโท)
(2) Korean Culture (วิชาโท)
(3) Foreign Policies of the Middle East States (เสรี)
ตามธรรมเนียมในการรีวิวรายวิชาของเราจะเริ่มรีวิวจากวิชาที่เลือกเรียนเองก่อนวิชาบังคับ เพราะวิชาที่เลือกเองมักสนุกกว่าวิชาบังคับเสมอ แต่ด้วยความเทอมนี้วิชาบังคับมันก็มีแต่วิชาภาคตัวเอง ส่วนที่เลือกเองก็มีแค่วิชาภาคตัวเองกับวิชาโท ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราชอบเรียนทั้งหมดอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็จะเรียงตามที่ลิสต์ด้านบนเลย ไม่ได้รีวิวตามความชอบละเทอมนี้ 555555555
1) 2402401 RDG IR I (Reading in International Relations Series I) *เซค 2
- อาจารย์ผู้สอน: อ.สรวิศ ชัยนาม (SJN)
- ช่วงเวลาเรียน: วันจันทร์, 9:00-12:00 น.
- การตัดเกรด: อิงกลุ่ม
- การเก็บคะแนน:
Participation 20%
Midterm Paper 40%
Final Paper 40%
- ความยากง่าย: ไม่ยากมากถ้าเคยเจออาจารย์กัลยากับอาจารย์กรพินธุ์มาแล้ว
- สังกัด: สังกัดภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เงื่อนไข: ไม่มี (แต่มีคำแนะนำ อ่านต่อด้านล่าง)
วิชานี้เด็กไออาร์เรียกกันว่า "วิชารี้ด" และถ้าสังเกตชื่อรายวิชาจะเห็นว่ามีตัวเลขกำกับ นั่นเพราะว่าในเซทวิชารี้ดมีทั้งหมด 3 ตัว โดยความพิเศษของวิชารี้ดคือจะเป็นวิชาที่บังคับให้เขียนเปเปอร์เป็นภาษาอังกฤษ และวิชารี้ดแต่ละตัวเราสามารถเลือกเซคที่อยากเรียนได้ ซึ่งอาจารย์บางคนจะสอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย (ได้ยินมาว่ารี้ด 2 เซคอ.กษิรมี Presentation ภาษาอังกฤษ) นอกจากนี้ รี้ด 1-2-3 แต่ละตัวต่างมีหัวข้อที่โฟกัสแตกต่างกันออกไป ตามชื่อเต็มภาษาไทยของเซทวิชานี้เลย ซึ่งก็คือวรรณกรรมคัดสรรด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยอ้างอิงจากหลักสูตรปี 61 (ที่เราเรียนอยู่)
- RDG IR I (เรียนปี 3 เทอม 1) เกี่ยวกับไออาร์มุมมองวิพากษ์/ไม่ใช่กระแสหลัก
- RDG IR II (เรียนปี 3 เทอม 2) เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประเด็นในการเมืองโลก
- RDG IR III (เรียนปี 4 เทอม 1) เกี่ยวกับสาขาย่อยภายในไออาร์
สำหรับวิชารี้ด 1 ของปีเรา มีเปิด 2 เซค ได้อ.ภาณุภัทร กับ อ.สรวิศมาสอน โดยอ.ภาณุภัทรถ้าเราเข้าใจไม่ผิดเหมือนเขาสอนแนว ๆ International Development Studies เพราะตอนเรียนป.โทเขาจบด้าน International Development Studies มาโดยตรง ส่วนอ.สรวิศ ที่ลาพักไป 1 ปีก็กลับมาสอนแล้ว ซึ่งเซคนี้จะสอนเป็น Critical IR ที่โฟกัสเกี่ยวกับการวิพากษ์ทุนนิยมโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนตัวเราเลือกเรียนกับอ.สรวิศ เพราะเคยเรียนไออาร์กระแสรอง/วิพากษ์มาตั้งแต่ Intro IR แล้ว และเคยอ่านงานเขียนของอ.สรวิศมาก่อนอยู่แล้วด้วย (เอฟซีงานเขียนอาจารย์ 5555555) เลยตัดสินใจลงเซคนี้ตั้งแต่แรกเลย
คำแนะนำ: อย่างที่เกริ่นไปว่าเซทวิชารี้ดแต่ละตัวจะมีธีมหลัก และประเด็นย่อยที่จะเรียนก็ขึ้นอยู่กับอาจารย์แต่ละคนที่สอนประจำเซคนั้น ๆ เนอะ ซึ่งเซทวิชานี้ โดยเฉพาะรี้ด 1 มักมีการเปลี่ยนอาจารย์บ่อย (ไม่ได้มีปัญหาอะไร เหมือนเป็นเรื่องความสะดวก/ไม่สะดวกของอาจารย์เฉย ๆ แบบติดสอนวิชาอื่นงี้) เลยอยากแนะนำให้ก่อนจะลงเรียนไปศึกษาความสนใจของอาจารย์ประจำเซค หรือถ้าเป็นไปได้ให้ลองอีเมลไปถามเนื้อหาคร่าว ๆ ว่าอาจารย์จะสอนประเด็นประมาณไหนก่อนเลือกลง คือส่วนตัวเราว่าปัจจัยทางด้านอาจารย์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก (สไตล์การสอน/การวัดผล) แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเนื้อหาที่เราจะต้องเลือกเรียน อย่างเราคือเรารู้ว่าอ.ภาณุภัทรเก่งมาก ๆๆ ไม่ต่างจากอ.สรวิศเลย เคยไปฟังเขาพูดในงานเสวนามาก่อนด้วย แต่ที่ไม่ได้ลงเซคเขาเพราะเราสนใจเนื้อหาเซคอ.สรวิศมากกว่า และเรามั่นใจว่าเราสามารถอยู่กับมันได้จนจบเทอมแบบไม่ถอนรายวิชาออกไปก่อน สรุปคืออยากให้เช็คว่าอ.เซคนั้น ๆ จะสอนเรื่องไหน ใช่เรื่องที่เราสนใจ/อยากเรียน/สามารถอยู่กับมันได้จนจบไหม เพราะปี 3 ก็ขึ้นชื่อเรื่องความซัฟเฟอร์ อย่างน้อยถ้าเราได้ซัฟเฟอร์กับสิ่งที่สนใจ ก็ยังดีกว่าซัฟเฟอร์กับสิ่งที่เราไม่มีใจให้มันขนาดนั้นนะทุกคน 5555555
กลับเข้าสู่เรื่องการรีวิววิชา เนื่องจากเราเรียนกับอ.สรวิศ เราก็จะรีวิวแค่การเรียนในเซคนี้เนอะ ยังไงถ้าใครสนใจเซคอ.ภาณุภัทรแนะนำให้ลองถามรุ่นพี่ที่รู้จักและเคยเรียนเซคนั้นดูได้ (เราได้ยินมาแค่ว่าเซคนั้นตอนเรียนมี breakout room ดูมีพูดคุยกันบ่อย มิดเทอมกับไฟนอลเร็วกว่าเซคเรามาก เห็นไฟนอลเป็นงานคู่ ต่างจากเซคเราที่ลุยเดี่ยวทั้งหมด และ word limit ในการเขียนงานน้อยกว่าเซคเราพอตัว)
เอาเรื่องการวัดผลก่อนคืออ.สรวิศแบ่งเป็น Participation 20% Midterm Paper 40% Final Paper 40% ซึ่งถ้าไม่โอเคอะไรอย่างไรตรงไหน สามารถต่อรองกับอาจารย์ได้ ของปีเราอาจารย์ก็ถามว่าจะปรับคะแนน Participation ไหม พอไปคุยในกลุ่มภาคแยก เพื่อนหลายคนอยากลดเหลือ 10% ก็เลยลองคุยกับอาจารย์ (แต่ผลคืออาจารย์บอกเขาตรวจ Paper ยากอยู่นะ Participation 20% คือช่วยเพิ่มคะแนนให้อยู่ 55555555) สุดท้ายอาจารย์เลยบอกจะยึด 20% เป็นหลัก แต่ถ้าใครอยากได้ 10% ก็ให้อีเมลไปบอกแยกเอง แต่ใด ๆ คือท้ายที่สุดตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม ถ้าได้เรียนกับอาจารย์ก็ลองดูว่าจะยังไง
สำหรับการเรียนกับอ.สรวิศ เราว่า Participation เป็นส่วนเพิ่มคะแนนได้ดีอย่างที่อาจารย์ว่าจริง ๆ และมันช่วยให้เรากล้าแสดงออกในคาบเรียนมากยิ่งขึ้นด้วย คือตอนเรียนอ.สรวิศจะหย่อนคำถามให้เรื่อย ๆ ตลอดคาบ แบบเลคเชอร์ไปถามไปอะ แล้วพอนิสิตคนไหนตอบเขาก็จะจดชื่อเก็บไว้เพื่อเพิ่มคะแนน ตอบผิดตอบถูกไม่เป็นไรเลย แค่ช่วย contribute เล็กน้อยให้กับบทสนทนาก็โอเคแล้ว และอาจารย์เขาดูรับฟังมาก ๆ อะ ถ้ามีความเห็นที่ต่างออกไปก็ลองพูดดูได้ เพิ่มเติมคืออาจารย์เคยบอกว่าถ้าสามารถเปิดไมค์ตอบทุกคาบ คาบละ 2 ครั้งได้แค่นี้ก็มีโอกาสได้ Participation เต็มแล้ว 55555555 ส่วนตัวเราพยายามเปิดไมค์ทุกคาบ บางคาบตอบ 2 ครั้ง บางคาบตอบแค่ 1 แต่ก็พยายามมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด เอาจริง ๆ จำได้เลยว่าตอนต้นเทอมยังแอบสั่น ๆ กลัวเล็กน้อย แต่ท้ายเทอมคือกดเปิดไมค์แบบไม่คิดเลยถ้าอันไหนอยากตอบ คือคิดว่าคงมีคนแอบคิดว่าคะแนน Participation เยอะคือน่ากลัว แต่อยากให้ลองดูอะ อาจารย์เขาพร้อมรับฟังเสมอ สุดท้ายจะเป็นเราเองที่ได้ฝึกสกิลด้วย
ส่วนในแง่ของการสอน คือเราเคยได้ยินรุ่นพี่หลายคนแนะนำตั้งแต่วิชา Intro IR ตอนปี 2 เทอม 1 ว่าให้ลงเรียนกับอ.สรวิศ จำไม่ได้ว่าตอนเขียนรีวิวเทอมนั้นได้บอกไหม แต่เราไม่ได้ตั้งแต่จะเรียนกับอ.กัลยาตั้งแต่แรก เซคที่เราตั้งใจจะเรียนจริง ๆ คือเซคของอ.สรวิศ 5555555555 พอรู้ว่าเขาไม่สอนก็ไปลงเซคอ.กัลยา แล้วกดลดเพื่อไปลงเซคอ.ธีวินท์ แต่สุดท้ายก็หนีอ.กัลยาไม่พ้น 55555555 (ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ดีแล้วแหละ ย้อนเวลากลับไปได้เราไม่อยากเปลี่ยนอะไรเลย หนูหัวใจอาจารย์กัลยา) ประเด็นคือรุ่นพี่บางส่วนก็จะพูดไปอีกทางนึงว่าเรียนกับอ.สรวิศไม่ค่อยรู้เรื่อง (?) ซึ่งเราจะมาเล่าให้ฟังว่าเขาสอนรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องยังไง! ความจริงคือเขาสอนรู้เรื่องนะทุกคน เหมือนอาจารย์คนอื่นอะ 555555555 เราคิดว่าที่เกิดคำพูดแนวว่าอ.สรวิศเขาสอนไม่รู้เรื่องน่าจะมาจากที่ว่าตอนต้องเรียน Intro IR คือก็ยังอยู่แค่ปี 2 เทอม 1 ยังไม่ได้มีความรู้มาก แถมอาจารย์เขาสอนไออาร์กระแสรองอีก ทำให้พอเจอศัพท์เฉพาะที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยเกิดความคิดว่าอาจารย์เขาสอนไม่รู้เรื่องขึ้นมา หรือไม่ก็อีกทางนึงคือตอนนั้นเรากับเพื่อน ๆ ไปปรึกษาเปเปอร์กับอาจารย์ แล้วอาจารย์บอกว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่เตรียมการสอน แบบไม่ได้มีสคริปต์เป๊ะ ๆ อะว่าจะพูดอะไรบ้างในแต่ละคาบ เขาก็มีโครงคร่าว ๆ แล้วก็บรรยายไปเรื่อย ๆ ตามเนื้อหาในคาบนั้น ๆ เลย ทำให้บางครั้งอาจพูดข้ามไปมาบ้าง หรือฟังความคิดเห็นของนิสิตแล้วก็เลยพูดต่อยอดออกไปงี้ ตอนเราเรียนคาบแรกเราก็มีมึนบ้างนะ แต่พอผ่านไปสัก 3-4 คาบมันก็เริ่มชินกับวิธีการสอนแบบนี้ของอาจารย์ไปเองอะ เพื่อนเราคนอื่น ๆ ก็ดูไม่มีปัญหาอะไรนะ แถมอาจารย์เขาเลคเชอร์มันส์ดีด้วย 55555555 แต่ก็สามารถเข้าใจว่าบางคนอาจจะไม่ชอบถนัดกับสไตล์การสอนแบบนี้เท่าไรเลยอาจจะเรียนแล้วมึนงง
เสริมเรื่องเลคเชอร์นิดนึง อยากบอกว่าอาจารย์เขาสอนสนุกมากกกกกกกกกก แบบ ก.ไก่ล้านตัว ถ้าอาจารย์หลงเข้ามาอ่านยังไงขอให้รู้ว่ามีนิสิตคนนี้ประทับใจมาก 555555555 คือแน่นอนว่าเราได้ความรู้ แต่นอกจากความรู้คือเราได้ความบันเทิงไปด้วยพร้อม ๆ กัน ถึงแม้จะเรียนวิพากษ์ทุนนิยมแต่แทบทุกคาบเราจะได้ Quote ปัง ๆ จากอาจารย์กลับมา (ซึ่งก็เกี่ยวกับที่เรียนอะแหละ) บางครั้งอาจารย์เขาก็ชอบโยงเรื่องทุนนิยมกับความรักให้ฟัง (อ.สรวิศเขียนหนังสือชื่อ "ทำไมต้องตกหลุมรัก?: Alain Badiou ความรัก และ The Lobster" ใครสนใจลองตามไปอ่านได้) บางครั้งก็จะมีคำพูดเหน็บทุนนิยมแบบถ้าเป็นนายทุนคงฟังแล้วเจ็บแสบมาก คือถึงวิชานี้จะเรียนตอนเช้าวันจันทร์ที่เราขี้เกียจตื่นมาเรียน แต่พอได้เรียนแล้วคือไม่เบื่อเลยอะ เป็นหนึ่งในคาบที่ตั้งตารอเรียนในทุก ๆ สัปดาห์
อันนี้ขอยกตัวอย่าง Quote ว้าว ๆ จากอ.สรวิศให้ลองได้อ่านกัน (ขอใส่แบบ Unfiltered ขออภัยหากมีคำไม่สุภาพบ้าง แต่บอกเลยว่าตอนนั่งเรียนคือได้อรรถรสมาก 555555555)
"ไม่ต้องรักงานตัวเองก็ได้ แต่ต้องส่งตรงเวลา"
(สรวิศ ชัยนาม, 9 สิงหาคม 2564)
"ความสัมพันธ์มันต้องใช้เวลา เป็นสิ่งที่เจริญงอกงามตามเวลา แต่ในบริบทที่คนไม่มีเวลา ชีวิตเปราะบางไม่มั่นคงในระบบทุนนิยม ความรักกลายเป็นภาระในชีวิตที่คนไม่ต้องการ เป็นความเสี่ยงที่คนไม่กล้ายอมรับ"
(สรวิศ ชัยนาม, 23 สิงหาคม 2564)
"พูดกันอยู่นั่นว่า what doesn’t kill you makes you stronger มันไม่ฆ่ากู กูก็ปางตายอะ กูไม่ตายไม่ได้หมายความว่ากูเข้มแข็งหรือเปล่าวะ สิ่งที่จะฆ่ามึงไม่ได้ทำให้มึงแข็งแกร่งขึ้น แต่สิ่งที่แข็งแกร่งขึ้นคือสิ่งที่กำลังจะฆ่ามึงเองหรือเปล่า"
(สรวิศ ชัยนาม, 30 สิงหาคม 2564)
กลับมาเรื่องเนื้อหาที่เรียน อย่างที่เกริ่นไปว่าเซคนี้จะเรียนวิพากษ์ทุนนิยม ซึ่งหลายคนที่เคยเรียน Intro IR เซค 2/3 มาแล้วก็อาจจะคิดในใจว่าเนื้อหามันคงซ้ำหรือเปล่า แต่บอกเลยว่าไม่ ไม่ซ้ำ ห่างไกลจากคำว่าซ้ำมากด้วย เพราะตอนที่เราเรียน Intro IR คือมันออกแนวแบบ General critique of capitalism(?) อะ สิ่งที่เราเรียนหลายอย่างตอนนั้นมันออกโทน ๆ Classical Marxism แต่สิ่งที่อยู่ในวิชารี้ดมันไต่ขึ้นมาอีกระดับหนึ่งเลย มันเป็น Contemporary critique of capitalism อะ (หลาย ๆ คนก็จะเรียกว่าเนื้อหาออกแนว Neo-Marxism แต่ไม่มั่นใจว่าอาจารย์เขาอยากให้เรียกแบบนี้ไหม) คือเนื้อหาร่วมสมัยมาก รี้ดดิ้งที่ใช้อ่านในวิชานี้เก่าสุดคือตีพิมพ์ปี 2018 ใหม่สุดคือ 2021 แบบ 2-3 เดือนก่อนเปิดเทอม Argument ที่วิพากษ์ทุนนิยมมันออกไปคนละแนวกับ Marxism แบบดั้งเดิมมาก เราได้เรียนเกี่ยวกับ Psychoanalysis, Labour of love, Apocalypse, Resistance, Revolution, Human rights, Freedom, Identity Politics, Covid-19 และอีกมากมายจากมุมมองของการวิพากษ์ทุนนิยม
ถามว่ายากไหม? ช่วงแรก ๆ เราว่าแอบยากอยู่ เพราะมันกระโดดมาเนื้อหาร่วมสมัยมากโดยไม่ทันได้ตั้งตัว แต่เรียนไปเรื่อย ๆ มันจะเริ่มจับจุดได้เองอะ สุดท้ายเลยไม่ได้รู้สึกว่ายากขนาดนั้น และข้อได้เปรียบของการเรียนอะไรที่มันร่วมสมัยคือเราสามารถหาตัวอย่างได้จากในชีวิตประจำวัน หรือแค่เงยหน้าจากหนังสือก็สามารถสังเกตได้แล้วว่าสิ่งที่เรียนมันคือสิ่งที่เราเจออยู่ทุกวันนี้
อันนี้เสริมนิดนึง อ้างอิงจากเพื่อนเราที่เคยลองถามอ.กัลยาว่ามีอาจารย์คนไหนในคณะที่สนใจเนื้อหาแนว ๆ เดียวกับอาจารย์อีกไหม (ไออาร์กระแสรอง/วิพากษ์) อาจารย์ก็ตอบว่ามีอ.สรวิศกับอ.กรพินธุ์ ซึ่งเราเคยเจออ.กรพินธุ์มาแล้วในเทอมที่แล้วและเจออีกครั้งในเทอมนี้ และพอได้มาเจออ.สรวิศเองถึงรู้สึกว่าแบบ จริง สามคนนี้เขาเหมือน Holy Trinity ในการวิพากษ์ทุนนิยมประจำคณะเราเลยอะ 5555555 แถมการสอน/การเก็บคะแนนก็สไตล์คล้าย ๆ กัน ทำให้เราไม่รู้สึกว่าต้องปรับตัวเยอะถ้าเคยเจออ.กัลยากับอ.กรพินธุ์มาก่อน สิ่งที่อยากบอกคือถ้าใครไม่แน่ใจว่าตัวเองจะลงเซคอ.สรวิศดีไหม ถ้าเคยเจออ.กัลยาหรืออ.กรพินธุ์มาก่อนแล้ว และรู้สึกชอบเนื้อหากับสไตล์การสอนเขา คิดว่าก็คงจะแฮปปี้กับการเรียนกับอ.สรวิศไม่มากก็น้อยอะ เพราะสามคนนี้เขามาแนวเดียวกันเลย แถมถ้าเคยเจออ.กัลยากับอ.กรพินธุ์มาก่อนก็เหมือนเป็นการอุ่นเครื่องที่ดีก่อนมาเจอกับอ.สรวิศอะ
มาในส่วนของการทำเปเปอร์ วิธีการกับเปเปอร์กับอ.สรวิศไม่หนีจากอ.กัลยามากเลย ต่างกันแค่นิด ๆ หน่อย ๆ คือให้ใช้รีดดิ้งที่อ่านในคาบเรียนเท่านั้นมาใช้ทำเปเปอร์ ไม่ต้องหาจากข้างนอก และตอนทำเปเปอร์ต้องเลือกใช้ขั้นต่ำ 3/4 รีดดิ้ง นอกจากนี้ตัวโจทย์ยังมีมาให้หลากหลายข้อ ทั้ง Quote, รูป, ซีรีส์/ภาพยนตร์/โฆษณา สามารถเลือกได้ตามสะดวก ส่วนความต่างระหว่างอาจารย์สองคนนี้คือ อ.สรวิศจะไม่รับอ่าน 2 พารากราฟเหมือนกับอ.กัลยา (อ.สรวิศเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเคยทำเหมือนกัน แต่บางครั้งพอให้คำแนะนำกลับไปแก้แล้วเปเปอร์ตัวจริงยังกลับมาเหมือนเดิมเลยรู้สึกเฟลหน่อย ๆ เขาเลยบอกถ้าไม่คาดหวังตั้งแต่แรกจะได้ไม่ต้องผิดหวัง เลยตัดสินใจไม่รับอ่านแล้ว 55555555) ทั้งนี้ยังสามารถปรึกษาเกี่ยวกับการเขียนเปเปอร์ได้เหมือนกัน แบบรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ แล้วอีเมลไปนัดวันเวลากับอาจารย์เพื่อขอ Zoom สามารถถามได้หมดเลยตั้งแต่เนื้อหาที่เรียนยันความคาดหวังในการทำเปเปอร์ข้อนั้น ๆ และพารากราฟอินโทรของอ.สรวิศไม่จำเป็นต้องเขียนปูพื้นฐานทุกอย่างเหมือนเปเปอร์อ.กัลยา แค่อารัมภบทสั้น ๆ แล้วโยงเข้า Argument ได้เลย เพราะ word limit ของอ.สรวิศอยู่แค่ประมาณ 1,500-2,000 คำ (3 ถึง 3 หน้าครึ่ง) เท่านั้น
และอีกสิ่งที่ต่างมาก ๆ และเป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวเยอะมากกับการเรียนกับอ.สรวิศคือ อาจารย์เขาให้เสรีภาพเราในการทำเปเปอร์เยอะมากอะ(?) แบบโจทย์เขาจะกว้างมาก ให้มาแค่ Statement สั้น ๆ แล้วปิดด้วยคำว่า "Discuss." ซึ่งต่างจากวิชา Intro IR ของอ.กัลยาตอนสมัยปี 2 ที่โจทย์จะระบุคำถามชัดเจนว่าอยากให้เราตอบกี่คำถาม มีคำถามอะไรบ้าง และเราต้องตอบให้ครบ พูดง่าย ๆ คือในการทำเปเปอร์กับอ.สรวิศเขาจะให้เรามาแค่ Quote/รูป/ซีรีส์/ภาพยนตร์/โฆษณาตั้งต้น ส่วนคำถามในการทำเปเปอร์เราต้องตั้งเอง และตอบเอง ฟังดูเหมือนง่ายนะ แบบจะตั้งคำถามอะไรก็ได้งี้ แต่จริง ๆ ไม่เลย 5555555 เราต้องตั้งคำถามให้สอดคล้องกับโจทย์ และสอดคล้องกับ Reading materials ที่เรามีในการใช้ตอบ นอกจากนี้ ตอนทำเปเปอร์กับอ.กัลยาเขายังเน้นให้เรานำสิ่งที่อยู่ในรีดดิ้งมาเชื่อมโยงกันแล้วตอบคำถาม แบบเน้นเช็คความเข้าใจของเราเฉย ๆ อะ แต่การทำเปเปอร์กับอ.สรวิศเขา Expect ให้เราคิดต่อไปจากรีดดิ้ง ว่าเราเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย/คิดยังไงกับความคิดในรีดดิ้งนั้น ๆ ด้วย ซึ่งมันก็ยากอะแหละ แต่เพราะด้วยความที่เราเรียนสิ่งที่มันร่วมสมัย คำแนะนำคือให้ลองมองดูโลกรอบตัวเราเยอะ ๆ พยายามเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสิ่งที่เห็นในความเป็นจริงดู อาจจะช่วยในการทำเปเปอร์ได้ไม่มากก็น้อย
เราว่าการทำเปเปอร์กับอ.สรวิศเป็นอะไรที่ท้าทายมาก เป็นการทดสอบความรู้และสกิลการวิพากษ์ของตัวเองสุด ๆ 55555555 ซึ่งมันเป็นอะไรที่เหนื่อยพอสมควร ตอนมิดเทอมเราว่าไม่เท่าไร แต่ตอนไฟนอลคือเปเปอร์วิชานี้ส่งตัวสุดท้าย เดดไลน์ 27 ธันวาคมทั้ง ๆ ที่คณะอื่น ภาควิชาอื่นเขาปิดเทอมกันไปตั้งแต่ปลายพฤศจิกายน-ต้นธันวาคมแล้ว 555555555 ทำไปท้อไปมาก เครียดจนอยากอ้วกเลยบางวัน แต่สุดท้ายก็ผ่านมันมาได้ เห็นฟีดแบกแล้วมีตัว A- โผล่มาก็หายเหนื่อยแล้วเอาจริง 55555555 วิชานี้เราได้เกรด A มา (โล่งอกไป จากทุกวิชาที่เรียนเทอมนี้ไม่กล้าให้ตัวนี้หลุด A สุดเลย 55555555)
2) 2402309 POL THEO/IR (Political Theory and International Relations)
- อาจารย์ผู้สอน: อ.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ (KPW)
- ช่วงเวลาเรียน: วันอังคาร, 13:00-16:00 น.
- การตัดเกรด: อิงเกณฑ์ (A 85)
- การเก็บคะแนน:
Attendance and Participation 10%
Quiz 30%
Midterm Exam 25%
Final Paper 30%
- ความยากง่าย: ไม่ยากแต่ก็ไม่ได้ชิว
- สังกัด: สังกัดภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เงื่อนไข: ไม่มี
วิชา Global Politics Through Film ที่เราเรียนกับอ.กรพินธุ์เทอมที่แล้วเป็นวิชาเลือกเนอะ ส่วนวิชานี้กลับมาเจออาจารย์อีกครั้งในฐานะวิชาบังคับ เรายังจำได้อยู่เลยว่าตอนนั้นเรียนวิชาฟิล์มแล้วอาจารย์เดินเข้ามาถามเรากับเพื่อนว่าอยู่ปี 2 ไออาร์ใช่ไหม ทฤษฎีการเมืองเคยเรียนอะไรกันมาแล้วบ้าง พอดีอาจารย์เขาต้องมาสอนวิชานี้ตอนเราอยู่ปี 3 เทอม 1 (แทนอาจารย์ไชยันต์)
อันนี้นอกเรื่อง แต่ช่วงเปิดเทอมใหม่ ๆ เรามีโอกาสเข้าไปฟังงานล้อมโต๊ะเสวนาที่จัดสำหรับนิสิตใหม่ปี 1 รุ่น 74 ที่เชิญอ.กรพินธุ์ อ.วิมลมาศ อ.กนกรัตน์ และอ.จักรกริช ที่ต่างก็เป็นศิษย์เก่าคณะเรามาพูดคุยกัน เราเพิ่งได้รู้ตอนนั้นว่าจริง ๆ แล้วอ.กรพินธุ์แม้จะเรียนภาคไออาร์ตอนป.ตรี แต่ป.เอกเขาไปเรียนแนว ๆ ภาคปกครอง พวกทฤษฎีการเมือง การเมืองเปรียบเทียบงี้ เขาบอกเขายังตกใจอยู่เลยที่ได้มาเป็นอาจารย์ประจำภาคไออาร์ 55555555 แต่พอเรารู้แบบนี้แล้วเห็นอาจารย์เขาได้มาสอนวิชานี้ก็เลยไม่แปลกใจเลย เพราะมันคือสิ่งที่เขาถนัดจริง ๆ
วิชานี้ก็ตรงตัวเลย เราเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัน ซึ่งเอาจริง ๆ มันสานฝันเรามาก อันนี้น่าจะไม่เคยบอกใคร แต่เราเคยมีความคิดอยากโทภาคปกครองด้วย เพราะเราอยากเรียนพวกปรัชญาการเมืองกับทฤษฎีการเมือง แต่สุดท้ายก็ได้มาเรียนในวิชานี้ แถมได้เรียนกับอาจารย์ที่ชอบอีก บอกเลยว่าบิงโกมาก 555555555 เราได้เรียนเกี่ยวกับแนวคิดของนักคิดตั้งแต่ยุคกรีกมาถึงยุคสมัยใหม่เลย เช่น โสเครติส, เพลโต, อริสโตเติล, มาร์ติน ลูเธอร์, แม็คคีอาเวลลี, โธมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อค, รุสโซ, โธมัส เพนน์, เอ็ดมุนด์ เบิร์ก, และแน่นอนว่าต้องมีขาประจำอย่างคาร์ล มาร์กซ์ กับมิเชล ฟูโกต์ ความพิเศษคืออาจารย์กรพินธุ์ยังเพิ่มเนื้อหานักคิดเฟมินิสต์เข้ามาให้อีก เช่น คริสเตียน เดอ ปิซาน, แมรี่ วอลสโตนคาร์ฟท์, โรซา ลุคเซ็มบวร์ก บอกได้เลยว่าเนื้อหาอัดแน่นมาก เลิกเลทเกือบทุกคาบ แต่เราว่าคุ้มนะ เรียนจบคืออิ่มความรู้เลยอะ 5555555
เข้าสู่โหมดอวยอาจารย์อีกแล้ว แต่เราชอบวิชานี้มาก ๆ ตรงที่อ.กรพินธุ์ไม่ได้สอนแค่แนวคิดของนักคิดนั้น ๆ เฉย ๆ อะ แต่อาจารย์ทำให้เราได้รู้จักพื้นเพและชีวิตของนักคิดคนนั้น ๆ ด้วย ซึ่งคาบแรก ๆ เราก็งงอะว่าอาจารย์จะสอนทำไม แต่พอเรียนไปเรื่อย ๆ มันรู้เลยว่าปัจจัยพื้นหลังพวกนี้มันส่งผลต่อแนวคิดของนักคิดคนนั้น ๆ มาก นักคิดบางคนเกิดและใช้ชีวิตในช่วงสงครามทำให้แนวคิดเขาสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้ายมาก นักคิดบางคนเกิดและโตขึ้นมาในครอบครัวฐานะปานกลาง ไม่ได้รวยมากมาย ไม่มีเชื้อสายเจ้า ทำให้แนวคิดของเขาสะท้อนเรื่องความเท่าเทียม นักคิดบางคนใช้ชีวิตอยู่ในช่วงที่ศาสนาและระบอบปิตาธิปไตยเป็นใหญ่ ส่งผลให้แนวคิดของเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมของสตรีท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว เป็นต้น
เช่นเดียวกับวิชาอื่น ๆ ของภาคไออาร์ วิชานี้มีรีดดิ้งให้อ่านอีกเช่นเคย และเยอะมาก ๆ อีกเช่นเคย 5555555 ความยากของวิชานี้อยู่ที่รีดดิ้งเนี่ยแหละเราว่า ยิ่งคาบแรก ๆ ที่เรียนแนวคิดของนักคิดยุคกรีกโบราณแบบหลายพันปีก่อนคืออ่านแล้วกุมขมับเพราะภาษาเขายากมาก ช่วงยุคกลางก็ไม่แผ่วเลย คนท้าย ๆ แบบมาร์กซ์กับฟูโกต์ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น 55555555 แต่อ่านไม่เข้าใจยังไงเดี๋ยวตอนมาเรียนในคาบอาจารย์เขาจะ Recap ให้เราอีกทีอะ ตรงไหนสงสัยก็ถามแยกนอกรอบได้ตลอด แถมตรงไหนเป็นวรรคทองของนักคิดคนนั้น ๆ ตอนสอนอ.กรพินธุ์เขาจะเน้นให้เป็นพิเศษเลย ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าอ่านรีดดิ้งไม่เข้าใจเพราะภาษามันยากแล้วจะตกหล่นตรงไหน
การวัดผลก็ไม่หนีจากวิชาฟิล์มเลย มีคะแนนเข้าเรียนกับมีส่วนร่วมในคาบ 10% ซึ่งถ้าเข้าเรียนเฉย ๆ แบบไม่เปิดไมค์ตอบเลยก็ทำได้นะ มันก็ได้คะแนน แต่จะไม่เยอะเท่าเปิดไมค์ตอบหรือมีส่วนร่วมในคาบ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสนับสนุนให้ทุกคนเปิดไมค์นะถ้าสะดวก อ.กรพินธุ์เขาสอนจบบางสไลด์แล้วเขาจะหยุดถามความเห็นเราเป็นช่วง ๆ อะ มีอะไรก็ลองพูดดูได้เลย แถมวิชานี้ตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ A 85 อีก ดังนั้นถ้าอยากได้ A ก็แนะนำว่าให้พยายามเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุดนะ คะแนนการมีส่วนร่วมนี่จะช่วยเราได้เยอะเลยถ้าคะแนนเปเปอร์หรือควิซเราไม่ค่อยดีเท่าไร ส่วนในเรื่องการควิซ จะมีควิซถี่อยู่พอสมควร ตีว่าทั้งวิชามีควิซอยู่ประมาณ 5-6 ครั้งอะ ไม่มีการบอกล่วงหน้า บางครั้งให้เวลากลับไปทำ 1 วัน แต่ส่วนมากให้ทำให้จบภายในคาบเลย มีเวลาให้ประมาณ 15-20 นาทีในการตอบ แปลว่าเราต้องตั้งใจเรียนในคาบเพราะอาจารย์สามารถจับควิซท้ายคาบไหนก็ได้ 55555555 แต่ควิซไม่ยากนะ แค่ตอบให้ครบคำถาม แสดงให้อาจารย์เห็นว่าเราเข้าใจเนื้อหา จับจุดสำคัญ ๆ ของนักคิดคนนั้น ๆ ได้ มีเหตุผลสนับสนุนคำพูดของตัวเองในการตอบ เพียงแค่นี้โอกาสได้ควิซเต็มก็สูงแล้ว
ส่วนมิดเทอมวิชานี้จะเป็นการสอบ ในขณะที่ไฟนอลจะเป็นการทำเปเปอร์ สำหรับมิดเทอมบอกได้เลยว่าตำนานมาก เป็นที่ฮือฮาอยู่ช่วงนึงเลยว่าภาคไออาร์ทำข้อสอบ 30 ชั่วโมง 555555 คืออาจารย์ให้ทำเป็นข้อสอบ Take-home อะ ให้เวลาในการทำ 30 ชั่วโมง แจกโจทย์เช้าวันนึง เดดไลน์ช่วงบ่ายของวันถัดมา สามารถค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ เป็นข้อสอบ Open book ด้วย ให้โจทย์มา 6 ข้อเลือกทำแค่ 3 ข้อ ตกข้อละ 500-900 คำ (แต่เราเขียนทะลุ 1,000 คำทุกข้อ ถ้าอาจารย์อ่านอยู่ ขอให้รู้ว่าหนูรู้สึกผิดกับอาจารย์ตลอด แต่มันอยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ word limit ที่กำหนดมามันไม่พอจริง ๆ 5555555) สำหรับเรา เราว่ามิดเทอมไม่ยากนะ โจทย์บางข้อแอบท้าทาย แต่ด้วยความเขามีมาให้หลายข้อ เราก็ต้องจิ้มให้มันถูกข้อไง 55555555 ข้อไหนดูทรงแล้วไม่ถนัดก็จงหนีไป ข้อไหนดูทรงแล้วทำได้ก็จงทำค่ะ มีทั้งโจทย์แบบถามทฤษฎีเป๊ะ ๆ กับแบบให้บูรณาการกับสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน มีข้อนึงเราภูมิใจมาก โจทย์ให้เปรียบเทียบบุคคลในทางประวัติศาสตร์คนใดก็ได้กับแนวคิดของแม็คคิอาเวลลีใน The Prince ซึ่งเราเคยแวะไปอ่านหนังสือเล่มนี้คร่าว ๆ แล้วตั้งแต่ตอนเรียนกับอ.สุรัตน์วิชา C19-20 แล้วอาจารย์แนะนำให้ลองไปดูสารคดีเกี่ยวกับ Machiavelli ของ BBC ประเด็นคือในสารคดีเขาพูดว่านโปเลียนก็เป็นหนึ่งในผู้นำที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ ตอนเราเห็นโจทย์เราเลยเคาะได้เร็วมากเลยว่าจะทำข้อนี้ และจะหยิบนโปเลียนมาใช้ตอบ สุดท้ายข้อนี้ได้คะแนนเต็มอะ คือมีความสุขมาก 5555555
ส่วนไฟนอลที่เป็นเปเปอร์ก็เหมือนวิชาฟิล์มเป๊ะ อาจารย์ให้เอาแนวคิดที่เรียนในห้องมาวิเคราะห์ภาพยนตร์ ความต่างคือรอบนี้อาจารย์ลิสต์ภาพยนตร์มาให้เลย 12 เรื่อง แล้วเลือกทำแค่ 1 เรื่อง นอกจากนี้คำถามที่ต้องตอบในเปเปอร์ก็ถูก Scope ลงมาแล้วระดับนึง ซึ่งเราว่าช่วยในการกำหนด Argument ได้มาก ๆ แต่ให้เขียนอยู่ที่ประมาณ 10 หน้าเหมือนเดิม มากสุดได้ 13 หน้า และแน่นอนว่าเราเขียนไป 13 หน้า 5555555555 นอกจากนี้ยังสามารถปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับ Argument เปเปอร์ได้เสมอ ซึ่งเราแนะนำให้ทุกคนทักไปปรึกษาอาจารย์นะ เราได้คำแนะนำดี ๆ จากอาจารย์ที่ช่วยให้เขียนเปเปอร์ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเสมอเลย
ในส่วนของเรา เราเลือกทำเรื่อง V for Vendetta (2005) ซึ่งสารภาพเลยว่าเป็นหนังที่เคยได้ยินชื่อมานานมาก ๆ แล้ว แต่ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับอะไร ไม่เคยหาเวลาว่างมานั่งดูได้ แล้วด้วยความที่อ.กรพินธุ์ลง Syllabus วิชานี้ก่อนเปิดเทอมประมาณ 2 อาทิตย์ เราเลยถือโอกาสดีไปนั่งดูหนังก่อนเปิดเทอมเลย ก็คือนั่งดูหนังเพื่อทำไฟนอลเปเปอร์ตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอมอะ ดูความทุ่มเท 555555555 ซึ่งเราไปดูหนังมา 2 เรื่อง ได้แก่ Nomadland กับ V for Vendetta นี่แหละ คือ Nomadland นี่ไปดูไม่ใช่เพราะกะทำเปเปอร์นะ แต่เพราะได้ยินคนชมเยอะมากเลยหาเรื่องดู ส่วน V for Vendetta คือลึก ๆ ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้ดู ยังไม่รู้เนื้อหา แค่เห็นมันอยู่ในลิสต์ 12 เรื่องเราก็แทบกระโจนอยากทำเรื่องนี้แล้วอะ ฟีลแบบตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบมาก แล้วพอดูเสร็จบอกเลยว่าปักเรื่องนี้แบบไม่คิดเลย เราบอกตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นว่าให้ตายยังไงต้องได้ทำเปเปอร์เรื่องนี้ ถึงแม้ว่าเรียน ๆ ไปแล้วเนื้อหาจะยากยังไงเราก็จะทำ 555555555 สุดท้ายพอเคลียร์เปเปอร์มิดเทอมทุกตัวจบปุ๊บเราก็เริ่มทำไฟนอลตัวนี้เป็นตัวแรกเลย ใช้เวลาร่วม 1 เดือนเต็มในการวางโครง คิด Argument ปรึกษาอาจารย์ แล้วเริ่มเขียนจนเสร็จสมบูรณ์ได้ แต่เปเปอร์นี้เป็นอีกเปเปอร์ที่เราภูมิใจมากพอ ๆ กับเปเปอร์ Train to Busan จากวิชาฟิล์มเลยถ้าใครจำได้ มันเป็นเปเปอร์ที่เหนื่อย เครียด ปวดหัวมาก ๆ แต่ที่เรากดดันตัวเองขนาดนี้เพราะเรารักหนังเรื่องนี้มาก ๆ และอยากทำมันออกมาให้ได้ดีอะ ท้ายที่สุดก็เขียนออกมาได้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งถ้าใครสนใจอยากอ่าน สามารถตามไปอ่านได้ที่
ภาพรวมวิชานี้ เราได้คะแนนเข้าเรียน/มีส่วนร่วม 7/10 ควิซ 30/30 มิดเทอม 23.5/25 ไฟนอล 32/35 รวม 92.5/100 สุดท้ายได้เกรด A มา ส่วนตัวเราว่าอ.กรพินธุ์ไม่ได้ให้คะแนนยากนะ เผลอ ๆ น่าจะให้คะแนนสมเหตุสมผลและง่ายที่สุดจากบรรดาวิชาภาคเราในเทอมนี้แล้วด้วย 55555555 แต่เห็นเพื่อนบางคนบอกอาจารย์แอบกดคะแนนอยู่เหมือนกัน ดังนั้นคำแนะนำคือทำให้เต็มที่นะ พยายามทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ ส่วนจะได้ไม่รู้สึกเสียดายทีหลัง
3) 2402315 INTL ORG (International Organisation)
- อาจารย์ผู้สอน: อ.กษิร ชีพเป็นสุข (KCS)
- ช่วงเวลาเรียน: วันพฤหัสบดี, 13:00-16:00 น.
- การตัดเกรด: อิงกลุ่ม
- การเก็บคะแนน:
Midterm Paper 20%
Final Paper 35%
Forum Discussion 45%
- ความยากง่าย: ไม่ยากมากแต่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ
- สังกัด: สังกัดภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เงื่อนไข: ไม่มี
และแล้วก็มาถึงวิชาที่สอนโดยรองคณบดีของพวกเราเอง 55555555 วิชานี้ขึ้นชื่อเรื่องการเล่น Simulation ให้นิสิตจับกลุ่มเป็นตัวแทนประเทศต่าง ๆ มาพูดคุยกันในเวทีสหประชาชาติ แต่ความพิเศษใส่ไข่ของปีเราคือไม่ได้เล่นซิม 55555555555 เพราะมันเรียนออนไลน์ 100% แล้วอ.กษิรเกรงว่าถ้าให้เล่นซิมอาจจะลำบาก บวกกับการทำเปเปอร์ที่ตอนแรกมีแค่ไฟนอลเปเปอร์ตัวเดียว 55% แต่รุ่นเรากลัวทำออกมาไม่ดีแล้วคะแนนหายฮวบเลยตัดสินใจขออาจารย์หั่นเป็น 2 รอบ คือมิดเทอมกับไฟนอล ทำให้การวัดผลรุ่นเราอาจจะต่างจากรุ่นที่ผ่านมาและรุ่นหลังจากนี้ (ของรุ่น 71 ไม่มีเปเปอร์ มีแต่สอบ แล้วสอบรอบเดียวแค่ตอนไฟนอล) ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่อยากบอกคือเราสามารถต่อรองกับอาจารย์เรื่องการวัดผลได้นะ เช่นที่เราขอเขาให้แบ่งเปเปอร์เป็น 2 รอบ ที่เอาจริง ๆ ก็หาทำมากแต่อย่างน้อยก็ช่วยให้พอดูแนวในการเขียนงานกับอาจารย์เขา
ในส่วนของเนื้อหาที่เรียน เอาจริง ๆ มันตรงตัวตามชื่อวิชาเลยนะ องค์การระหว่างประเทศอะ (เรากับเพื่อนชอบเรียกกันว่าไอโอ/ไโ) เราจะได้เรียนแบบอิงทฤษฎีมากพอสมควร ทั้งเรื่องทฤษฎีไออาร์กับไอโอ ไอโอในฐานะแขนงย่อยของไออาร์ สหประชาชาติ อาเซียน การดูแลรักษาสันติภาพ กฎหมายระหว่างประเทศ และอีกมากมาย ส่วนตัวเราว่าเป็นวิชาที่ได้ความรู้เยอะมากนะ เพราะอ.กษิรเขาเนื้อหาแน่นมากอะ สอนแบบรัวมาก 3 ชั่วโมง เลคเชอร์ได้ยาว ๆ แบบดูไม่เหนื่อย (นิสิตเหนื่อยแทน) 55555555 แล้วถึงแม้เนื้อหาที่เรียนมันจะอิงทฤษฎี/รีดดิ้งที่ให้อ่านหนักมาก แต่อาจารย์เขาจะคอยยกตัวอย่างประปรายให้เรื่อย ๆ ตลอดคาบเลย ก็คือเป็นอีกหนึ่งวิชาที่เรียนแล้วอิ่มความรู้มาก นอกจากนี้ก็จะมีวิทยากรข้างนอกมาช่วยเลคเชอร์ตลอดทั้งเทอม ซึ่งอ.กษิรเขามี Connection กว้างไกลมาก เราได้รุ่นพี่คณะที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ม.อื่นมาเลคเชอร์ ยังมีคนไทยที่ทำงานใน IMF อาจารย์คนไทยที่สอนอยู่ Oxford ไหนจะอ.เอนกชัยหรือพี่ฟิล์มผู้เซียนประเทศพม่าที่เราเจอมาตั้งแต่ปี 2 เทอม 2 และเจอในวิชา SEA WRLD POL ก็มาช่วยสอนด้วย (และเลคเชอร์พี่ฟิล์มนี่แหละที่ทำให้เราผ่านไฟนอลเปเปอร์วิชานี้มาได้ทั้ง ๆ ที่มีเวลาทำน้อยมากกกก รู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ 5555555555)
ส่วนรีดดิ้งวิชานี้บอกเลยว่าเยอะแบบ เยอะที่สุดของที่สุด เราว่าจาก 7 วิชาที่เรียนในเทอมนี้และจากบรรดาวิชาทั้งหมดที่เคยเรียนมาในคณะ วิชานี้มีรีดดิ้งเยอะที่สุดแล้วอะ ตกสัปดาห์ละ 2-3 ชิ้น ชิ้นละ 30+ หน้า รวม ๆ กันคือสัปดาห์ละ 100 หน้าได้ ช่วงครึ่งแรกของเทอมเราก็ตามอ่านครบทุกชิ้นอะ แต่พอครึ่งหลังคือต้องดองไว้ แล้วค่อยมาตามอ่านอันที่ต้องใช้ทำเปเปอร์ส่งแทน ไม่งั้นน่าจะต้องนอนตี 4 ทุกวันเพื่อเคลียร์งานวิชาอื่นให้จบแล้วยังต้องอ่านรีดดิ้งวิชานี้ให้ครบก่อนเรียน 55555555 ใด ๆ คืออ.กษิรเขาบอกตอนคาบแรกนะว่าอ่านรีดดิ้งเอาเพลิน ๆ ได้ ค่อย ๆ อ่านเก็บ ส่วนตัวเราว่าถ้ามีเวลามากพอมันคงตามอ่านทันแหละ แค่เราไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้นมันเลยออกมาเป็นแบบนี้ 555555555 ทั้งนี้ทั้งนั้น สุดท้ายเรายังมองว่าถ้าเราได้อ่านรีดดิ้งเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาก่อนเรียนมันดีกว่าการเข้าเรียนแบบสมองโล่ง แต่ก็อยากให้เอาที่ตัวเองไหวนะ ไม่อยากให้กดดันตัวเองมากเกินไปอยู่ดี
สำหรับ Forum discussion ที่งอกมาใหม่ในปีนี้ (มาแทนซิม) เป็นลูกเล่นที่อยู่ใน Blackboard อะ คืออ.กษิรเขาใช้ Blackboard เป็นช่องทางหลักในการแชร์รีดดิ้ง/ประกาศ/บอกคะแนนกับนิสิตอยู่แล้ว และอันนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง Function ที่ถูกใช้เพื่อเก็บคะแนนวัดผล ถามว่า Forum discussion คืออะไร ให้นึกสภาพห้องกระทู้พันทิป แบบเราสามารถตั้งกระทู้ของเราเองได้ เราสามารถไปตอบคนอื่น ๆ ได้ และคนอื่นสามารถมาตอบเราได้เช่นกัน ส่วนท้อปปิคที่เราต้องพูดคุยกันก็เกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียนเลย มีตั้งแต่ให้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ รับบทตัวแสดงต่าง ๆ ในวงการองค์การระหว่างประเทศ ไปจนออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างขององค์การระหว่างประเทศ ส่วนตัวเราแอบอยากเล่นซิมมากกว่า แต่ Forum ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น มันแค่เหนื่อยนิดหน่อยที่มีงานเข้ามาให้ทำตลอดทั้งเทอม แบบก่อนมิดเทอมก็มีฟอรั่มตัวนึง ต่อมาก็มิดเทอมเปเปอร์ ต่อมาก็ฟอรั่มอีกตัว แล้วก็ฟอรั่มอีกตัว แล้วก็ไฟนอลเปเปอร์งี้ แต่เราว่าข้อดีของฟอรั่มคือมันทำให้เราได้รู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศ คือด้านหนึ่งมันทำให้เราต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมข้างนอกเพื่อนำมาตั้งกระทู้อะ ตอนทำมันเหนื่อยจริงเรายอมรับ แต่ส่วนตัวเราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากระหว่างทำฟอรั่ม บางเหตุการณ์ที่เคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยรู้ว่าเกิดอะไรก็ได้ไปหาข้อมูลมาเขียน และข้อมูลบางส่วนที่เคยหาไว้ตอนทำฟอรั่มก็มาช่วยในการทำเปเปอร์ด้วยเหมือนกัน
ส่วนเปเปอร์สองตัวไม่ได้ยากขนาดนั้น (ถ้าเทียบกับวิชาอื่นในเทอมนี้) เท่าที่เราพยายามสังเกตดู อ.กษิรเขาดูเน้นเป็นแนวแบบ สอนเนื้อหาพื้นฐานในห้อง ส่วนเปเปอร์จะมีโจทย์หลายข้อมาให้เลือก แต่ทุกข้อนั้นเราต้องเอาสิ่งที่เรียนในคาบไปต่อยอดเองและหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกห้องเรียนอีกที นอกจากนี้ถ้าสามารถดึงรีดดิ้งที่ใช้อ่านในคาบมาใส่ในเปเปอร์ได้ก็จะยิ่งดี (เลยเป็นเหตุว่าทำไมถึงแม้เราจะไม่มีเวลาอ่านรีดดิ้งครึ่งหลัง เรายังต้องกลับมาตามอ่านรีดดิ้งที่จะใช้ในเปเปอร์ของตัวเอง 5555555) ส่วนการเขียนเปเปอร์อ.กษิรให้ดี ก็ไม่ต่างจากอาจารย์คนอื่น ๆ มากนะ คือเน้น Argument ชัด แบ่ง Outline ชัด สิ่งที่พูดต้องมีหลักฐานมาช่วยสนับสนุนให้มันหนักแน่นมากยิ่งขึ้น ให้ Argument ของเรา Strong ขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งตัวฟอรั่มและเปเปอร์ จริง ๆ อ.กษิรเขาจะมี Rubric มาให้ชัดเจนตลอดว่าเขาอยากได้อะไร ถ้าเขียนงานออกมาแบบนี้แล้วจะได้คะแนนประมาณไหน ซึ่งมันสะท้อนความคาดหวังของผู้สอนชัดเจนและจับต้องได้มาก และช่วยให้เราเขียนงานได้ง่ายขึ้น ดังนั้นก็อยากให้ทุกคนเช็ค Rubric ดี ๆ นะว่าอาจารย์เขาต้องการอะไร ถึงแม้มันดูเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่เราเห็นเพื่อนหลายคนก็พลาดตรงนี้ที่ไม่ได้ทำตาม Rubric ทำให้ได้คะแนนน้อยลงทั้งที่เขาควรได้มากกว่านี้
ถามว่าวิชานี้ในภาพรวมยากไหม อย่างที่บอกไปว่าถ้าฟังอาจารย์ในคาบ ทำตาม Rubric เก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ดี ๆ คะแนนก็ลอยมาแล้วอะ เราเลยไม่ได้รู้สึกว่ามันยากมากขนาดนั้น เพียงแต่เราต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษหน่อย แต่ความยากกับความเหนื่อยมันคนละเรื่องเนอะ เพราะถึงวิชานี้ไม่ยากมาก แต่เหนื่อยมากกกกกกกก ยกให้เป็นวิชาที่เหนื่อยที่สุดจากทั้งเทอม 555555555 แต่เราเข้าใจว่ามันเป็นความหวังดีของอาจารย์นะที่อยากให้เราได้อะไรกลับไปเยอะ ๆ และเขาก็พยายามหากิจกรรมอย่างอื่นมาแทนการเล่นซิมที่อาจไม่ค่อยสะดวกสำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งเราก็ไม่ปฏิเสธเลยว่าเราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ๆ จริง ๆ จากวิชานี้
ปีเราอ.กษิรเขาประกาศคะแนนให้เกือบทุกตัวนะ แต่อาจจะได้ช้าหน่อย (ประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเทอม ก่อนไฟนอล) เพราะอาจารย์เขาเป็นรองคณบดีอะ เห็นจะติดประชุม ติดงานอยู่เรื่อย ๆ เลย คงงานหนักมากพอสมควร ซึ่งคะแนนเราที่ได้คือ ฟอรั่มหนึ่ง 13/15 ฟอรั่มสอง 14/15 ฟอรั่มสาม 13/15 มิดเทอมเปเปอร์ 17/20 ไฟนอลเปเปอร์ xx/35 (ไฟนอลเป็นตัวเดียวที่อาจารย์ไม่บอกคะแนน ไม่รู้เหมือนกัน 5555555) รวมทั้งหมด 57 + xx และวิชานี้ตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้คะแนนมากน้อยขนาดไหนถ้าเทียบกับเพื่อน ๆ ในเซค ส่วนของเราเองได้ A กลับมา (และเป็นวิชาที่ออกเกรดท้ายสุดของเทอมนี้เลย 15 กุมภาพันธ์ค่ะทุกคน ในที่สุดดด 555555555)
4) 2402224 SEA WRLD POL (Southeast Asia in World Politics)
- อาจารย์ผู้สอน: อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ (PPP)
- ช่วงเวลาเรียน: วันอังคาร, 9:00-12:00 น.
- การตัดเกรด: อิงเกณฑ์ (A 85)
- การเก็บคะแนน:
Quiz 10%
Midterm Paper 40%
Final Paper 50%
- ความยากง่าย: ไม่ยากมากแต่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ
- สังกัด: สังกัดภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เงื่อนไข: ไม่มี
ส่วนวิชานี้จะเป็นของใครถ้าไม่ใช่ของอาจารย์ที่ปรึกษาเรา! 555555555 กลับมาเจอกับอ.พวงทองอีกแล้ว ทำเป็นเล่นไปแต่จากบรรดาอาจารย์ทั้งคณะ อาจารย์ที่เราเจอมากที่สุดตอนนี้คืออ.พวงทองอะ ตั้งแต่ล็อครี ปี 1 เทอม 1 (B ตัวแรกในมหาลัย ตราตรึงมาก 555555555) มาเจออีกรอบตอนวิชาการต่างประเทศไทย ปี 2 เทอม 2 แล้วก็มาเจออีกครั้งวิชานี้ ปี 3 เทอม 1
วิชานี้ก็ตามชื่อเลยนะ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเมืองโลก (ที่เพื่อนเราชอบเรียกว่าวิชาท่องโลกทะเลเพราะมันเรียกย่อว่า SEA 555555555555) คือเราก็จะได้เรียนเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนร่วมใจ ซึ่งถ้าใครจำได้จากวิชาการต่างประเทศไทยในเทอมที่แล้ว วิชานั้นมันแบ่งออกเป็น 2 เซคเนอะ มีของอ.ปณิธานกับอ.พวงทอง โดยเซคอ.พวงทองนี่แหละที่ได้อ่านหนังสือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็นที่เขียนโดยอาจารย์เขาเอง และเป็นเนื้อหาพื้นฐานที่จำเป็นต้องรู้เพื่อนำมาต่อยอดในวิชานี้ พูดง่าย ๆ คือ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นนิสิตไออาร์ ตอนเรียนวิชาการต่างประเทศไทยให้ลงเซคอ.พวงทอง เพราะต้องใช้ความรู้วิชานั้นมาต่อยอดในวิชาบังคับภาคตัวนี้ (ลงเซคอ.ปณิธานก็ได้ แต่อาจจะเหนื่อยหน่อยที่ต้องมาตามเก็บเนื้อหาปริมาณเยอะเอาเรื่อง)
โดยความพิเศษของวิชานี้คือ ตอนที่เราเรียนวิชาการต่างประเทศไทย แม้จะได้เรียนกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเยอะมาก โดยเฉพาะกัมพูชา เวียดนาม พม่า แต่ตอนนั้นเราทำเปเปอร์เกี่ยวกับประเทศไทยตามชื่อรายวิชา ส่วนในวิชานี้ อาจารย์จะไม่ให้เราทำเปเปอร์เกี่ยวกับประเทศตัวเองค่ะ ต้องเลือกทำประเทศอื่นในภูมิภาคแทน 555555555
ขอพูดถึงเรื่องรีดดิ้งวิชานี้ก่อนดีกว่า วิชานี้เป็นอีกหนึ่งวิชาที่รีดดิ้ง เยอะ มากกกกกกก น้อยกว่าวิชาไอโอนิดนึงแต่ก็คู่คี่สูสีกันเลย แบบสัปดาห์ละหลายตัว ตัวละหลายสิบหน้า 555555555 ซึ่งช่วงสัปดาห์แรก ๆ เราตามอ่านให้จบทุกตัวของทุกสัปดาห์เลยนะ แล้วบางครั้งพอไปฟังเลคเชอร์ก็รู้สึกว่าแบบ เอ้า ทำไมสิ่งที่เราอ่านดันไม่ปรากฏในที่อาจารย์สอนเลยนะ? เพิ่งมารู้เอาตอนอาจารย์สั่งเปเปอร์มิดเทอมว่ารีดดิ้งที่ใส่ให้ค่อยไปตามอ่านตอนทำเปเปอร์ เพราะเขาจะให้รีดดิ้งแยกประเทศมาเลยอะ แบบมีสัปดาห์นึงมีทั้งเวียดนาม พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เรานั่งมองรีดดิ้งลิสต์แล้วแบบเอ่อ... จะอ่านทั้งหมดนี่ยังไงทัน 55555555 สรุปคือไปตามอ่านเอาตอนทำเปเปอร์ได้ ยกเว้น จะมีบางสัปดาห์ที่อาจารย์เขาจะระบุชัดเจนเลยว่าให้ไปอ่านรีดดิ้งมาก่อนเรียน อันนั้นแหละต้องไปอ่านจริง ๆ ไม่อ่านไม่ได้ แต่ถ้าอาจารย์ไม่ได้พูดอะไร ถ้าไม่มีเวลาจริง ๆ ก็ไม่ต้องรีบอ่านก็ได้ เอาไว้ว่าง ๆ ค่อยตามอ่าน หรือถ้าไม่มีเวลาจริง ๆ ก็ไปเลือกอ่านเอาตอนทำเปเปอร์ก็ได้เหมือนกัน (ทั้งนี้ไม่ได้จะสนับสนุนว่าไม่ต้องอ่านรีดดิ้งนะค้าทู้กคน แค่จะบอกเฉย ๆ ว่าเออมันไม่ต้องบังคับตัวเองให้อ่านให้ทันทุกตัวของทุกสัปดาห์ก่อนเรียน ถ้าอยากอ่านและมีเวลาอ่านก็ลุยเลย แต่ถ้าภาระงานหนักมากแล้วไม่มีเวลาก็ไม่เป็นไร เว้นแต่อันที่อาจารย์ให้อ่านก่อนเริ่มเรียน อันนั้นควรไปอ่านนะ จำเป็นมาก)
ส่วนเรื่องควิซ 10 คะแนนคือจะเป็นควิซก่อนมิดเทอมประมาณ 2-3 สัปดาห์ มีทั้งหมด 20 ข้อ ควิซแค่รอบเดียว ตอนเรียนคาบแรกอาจารย์เกริ่นว่าครึ่งหลังอาจจะมีควิซอีกรอบ แต่สุดท้ายก็ไม่มี คือเราว่าอันนี้สามารถลองต่อรองกับอาจารย์ได้อะ ถ้าถึงรุ่นตัวเองแล้วเพื่อน ๆ อยากควิซกัน 2 รอบก็ลองคุยกับเขาดู เพราะอ.พวงทองเขาไม่ได้อะไรอยู่ได้ อยากควิซเดี๋ยวจัดให้ 555555555 ถามว่าควิซยากไหม คือไม่หนีกันกับวิชาการต่างประเทศไทยเลย โจทย์ Tricky มาก เน้นความรอบคอบ อ่านโจทย์ผิดชีวิตเปลี่ยน คำถามลงดีเทลมาก ไม่ถามอะไรผิวเผิน ไม่ถามอะไรที่มันกูเกิลแล้วคำตอบออกอะ พูดง่าย ๆ คือคาบแรก ๆ ก่อนควิซได้โปรดตั้งใจเรียนเพื่อความง่ายของชีวิตตอนควิซ
สิ่งที่เราจะได้เรียนในวิชานี้มีทั้งประวัติศาสตร์พื้นฐานของภูมิภาค ภูมิรัฐศาสตร์ บทบาทของจีนกับสหรัฐในภูมิภาค โดยเฉพาะในเวียดนาม กัมพูชา พม่า ฟิลิปปนส์ ส่วนครึ่งหลังจะเน้นเรื่องที่เป็นประเด็นในบางประเทศที่อาจารย์หยิบมาสอน เช่น กองทัพกับการรัฐประหารในพม่า โรฮิงญาในพม่า ภูมิรัฐศาสตร์ของสิงคโปร์ บทบาทของศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ส่วนประเทศที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเลยจะเป็นบรูไน เพราะอาจารย์บอกไม่ค่อยชอบสอนบรูไนเท่าไร 55555555
เปเปอร์มิดเทอมกับไฟนอลคือเหมือนวิชาการต่างประเทศไทยเลยอะ อาจารย์มีโจทย์มาให้หลายข้อ เราเลือกทำ เลือกประเทศ แล้วอาจารย์จะมีรีดดิ้งแนะนำมาให้อ่าน สิ่งที่ต้องทำคือไปอ่านรีดดิ้งที่อาจารย์แนะนำมาแล้วไปหาอ่านข้างนอกเองเพิ่มเติมเพื่อมาเขียนเปเปอร์ จุดเน้นของเปเปอร์อ.พวงทองคือเขาอยากเห็นเราวิเคราะห์ แต่ที่หลายคนพลาดบ่อยคือวิเคราะห์แบบมองอะไรขาวดำมากเกินไป ซึ่งอาจารย์เขาย้ำบ่อยมากว่าเวลาเราวิเคราะห์อะไร โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ ให้มองให้มันเป็นพื้นที่สีเทา ๆ เป็น sphere of influence ที่มีหลายอย่างผสม ๆ กัน ไม่ใช่แบบดำสุดหรือขาวสุดสักทีเดียว นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความถูกต้องของข้อมูล และการเลือกสรรข้อมูลมาใช้ในเปเปอร์ เช่น ข้อมูลบางอย่างถ้าเรานำไม่ใช้มันไม่ได้ช่วยทำให้ Argument ของเราหนักแน่นขึ้นขนาดนั้น อาจารย์ก็จะถามว่าใส่มาทำไม 555555555 เราแนะนำให้ทรีตเปเปอร์วิชาอ.พวงทองเหมือนทำเปเปอร์รีเสิร์ชอะ เราไม่สามารถอ่านเปเปอร์หาข้อมูลแค่นิดเดียวแล้วเริ่มเขียนได้ แต่เราต้องหาข้อมูลให้จบตั้งแต่ต้น อ่านจนเข้าใจแบบถ่องแท้ทะลุปรุโปร่งในหัวข้อนั้น ๆ แล้วค่อยเริ่มเขียน อีกอย่างคืออย่าเวิ่น เขียนแค่สิ่งที่โจทย์ถาม อะไรที่โจทย์ไม่ได้ถามหรืออะไรที่เป็นน้ำไม่ต้องใส่เข้าไป เพราะ word limit อาจารย์ให้น้อยมาก ให้พอแค่สำหรับการตอบคำถามเฉย ๆ อะ และสำคัญที่สุดคืออินโทรห้ามยาว 555555555 ใครยังติดการเขียนเปเปอร์แบบอ.กัลยาที่ต้องเล่าทุกอย่างใน 2 พารากราฟแรกคือเปลี่ยน mindset ทันที เนื้อหาค่อยไปใส่ในบอดี้ ส่วนอินโทรคือแค่เกริ่นให้สั้น เอาแบบแค่เท่าที่จำเป็นที่สุด ดึงเข้า Argument แล้วต่อด้วย Outline และเข้าบอดี้ได้เลยทันที
ส่วนตอนมิดเทอมเราเลือกทำกัมพูชา โจทย์ข้อที่ให้วิเคราะห์ประเทศที่เลือกกับแนวคิดเรื่อง Chinese economic statecraft และไฟนอลทำอินโดนีเซียที่ให้วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของเขาที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยกับอิสลามทางสายกลาง สาเหตุที่เลือกเพราะมีเพื่อนคนอินโดเยอะ 555555555 แต่สิ่งที่อยากบอกคือ พอเราขึ้นปีสามมา เปเปอร์ทุกวิชาจะใช้วิธีแบบอาจารย์ให้โจทย์มาเยอะ ๆ แล้วเราต้องเลือกทำเองอะ ซึ่งมันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัว ข้อดีคือเรามีตัวเลือกในการทำเปเปอร์มากขึ้น ข้อเสียคือถ้าเราเลือกผิดข้อ ดันไปเลือกข้อที่เราไม่ถนัด หรือข้อมูลน้อย หรือเขียนยาก ชีวิตก็อาจจะเปลี่ยนได้เลยทันที ดังนั้นมันไม่ใช่แค่ว่าเราต้องเขียนเปเปอร์ให้ดีเฉย ๆ แต่มันสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกข้อก่อนเริ่มลงมือเขียนแล้วด้วยซ้ำ คำแนะนำคือก็เลือกดี ๆ ลองหาข้อมูลเยอะ ๆ แล้วพยายามตั้งใจเรียนในคาบทุกคาบอะ ถ้าคาบไหนเราเรียนแล้วเรารู้สึกเราเข้าใจมากที่สุด แล้วมันกลายมาเป็นโจทย์ ก็พยายามเลือกทำข้อนั้น ชีวิตดีกว่าการที่เรา have no idea กับโจทย์ทุกข้อแล้วเล่นจ้ำจี้สุ่มหยิบมาทำข้อนึงแบบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเด็นนั้น ๆ มาก
อันนี้น่าจะเคยพูดไปในโพสต์ที่แล้วแล้ว แต่พูดอีกก็ได้ สไตล์การสอนของอ.พวงทองคือเขาเลคเชอร์ยาว ๆ เกือบทั้งคาบแบบมีพักเบรก ไม่ต้องหวังให้เลิกเร็ว เพราะข้อมูลอัดแน่นมาก (เทอมนี้นึกไม่ออกเลยว่าวิชาบังคับตัวไหนเลิกเร็วบ้าง เหมือนจะไม่มีสักตัว) ไม่ต้องหวังพึ่งสไลด์อะ เราว่าเรียนแบบฟังอาจารย์แล้วจดเองดีกว่า สไลด์เขาบางทีมันไม่มีอะไรมาก อ่านสไลด์เพียว ๆ แบบไม่เคยฟังเลคเชอร์ก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี บางคาบเขาก็บอกว่าไม่มีสไลด์นะ จดเอาเอง 555555555 อีกอย่างคือพยายามอย่าหลุดอะ อาจารย์เขาค่อนข้างไปเร็ว ถ้าหลุดทีแล้วกลับมาฟังคือมึนมาก เหมือนตามไม่ทัน 55555555 ดังนั้นก็พยายามตั้งสติตอนเรียน พยายามอย่าหลุดถ้าเป็นไปได้นะ
วิชานี้ควิซเราได้ 7.5/10 มิดเทอม 38/40 ไฟนอล 40/50 สุดท้ายรวมกันได้ 85.5 ก็ได้ A มาแบบเฉียดฉิวเพราะเขาตัดอิงเกณฑ์ เรารู้สึกว่าวิชานี้คนได้ A เยอะนะ สัดส่วนเยอะกว่าการต่างประเทศไทยอะ แต่คนได้ B/B+ ก็เยอะพอสมควรเหมือนกัน คำแนะนำไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากว่าวิชาอ.พวงทองไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่เราต้องตั้งใจและใส่ใจให้มาก ๆ และพยายามอย่าชะล่าใจ ทำให้เต็มที่กับคะแนนทุก ๆ จุด พูดง่าย ๆ คือวิชาอ.พวงทอง A ไม่ยากถ้าเราใส่ใจจริง ๆ อะ 555555555
5) 2225211 KR LIST/SPK I (Korean Listening and Speaking I) *เซค 2
- อาจารย์ผู้สอน: อ.จู ยองอึน
- ช่วงเวลาเรียน: วันจันทร์, 13:00-16:00 น.
- การตัดเกรด: อิงเกณฑ์ (A 80)
- การเก็บคะแนน:
Attendance 10%
Quiz 10%
Speaking Test 15%
Midterm Exam 30%
Final Exam 35%
- ความยากง่าย: ง่ายแต่ได้ความรู้และได้พัฒนาสกิล
- สังกัด: สังกัดสาขาวิชาภาษาเกาหลี
- เงื่อนไข: ไม่มี
วิชานี้เราตัดสินใจลงเพราะคิดว่าลงไปยังไงก็ไม่ติด แต่จะลงไปเฉย ๆ เผื่อฟลุ๊ค และลงเพราะวิชาเกาหลีตัวอื่นที่อยากเรียนมันชนวิชาบังคับหมด แต่กลับกลายเป็นวิชาที่เราชอบมาก และทำให้สกิลภาษาเกาหลีเราพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากอย่างไม่น่าเชื่อ 555555555
ตามชื่อวิชาเลยคือเราจะเรียนภาษาเกาหลีแบบเน้นไปที่การฟังและการพูด หนังสือที่ใช้เป็นของม.คยองฮี ต่างจากรายวิชาเซทเกาหลี 1-8 ที่จะใช้หนังสือของม.อีฮวา เดิมทีวิชานี้ซอนแซงนิมที่จะสอนคือมุนยองฮา แซมเจ้าเก่าเจ้าเดิมที่เราเรียนกับเขามาแล้วสองตัว แต่เหมือนเขาหมดสัญญากับทางจุฬาฯ แล้วหรืออะไรทำนองนี้ และสาขาได้ซอนแซงนิมชาวเกาหลีคนใหม่มาพอดีเลยเข้ามารับผิดชอบวิชานี้ต่อ ก็คือซอนแซงนิมชื่อจูยองอึน ซึ่งใจดีมากกกกก แบบมากกกกก ไม่ใช่ในแง่ของการตามใจนิสิตนะ แต่เขาใจเย็นเวลาสอน ใส่ใจนิสิตมาก มีคำถามอะไรเขาพร้อมตอบหรือไม่ก็จะไปหาคำตอบมาให้ ข้อสอบยากเกินไปก็ช่วยปรับ แถมเขาจะเรียกทุกคนตอบตลอดคาบ แต่ไม่ได้เรียกแบบน่ากลัวอะ คือถ้าตอบไม่ได้หรือตอบผิดเขาก็ช่วยแก้แบบซอฟ ๆ เลยทำให้ทุกคนกล้าที่จะพูดภาษาเกาหลีมากขึ้น ไม่รู้สึกเกร็งเวลาต้องตอบคำถามในคาบ นอกจากนี้ช่วงคาบแรก ๆ เขายังถามนิสิตด้วยว่าชอบศิลปิน/ดาราชาวเกาหลีคนไหนกัน หลังจากนั้นเขาก็จะทำสไลด์แล้วเอาศิลปิน/ดาราคนนั้น ๆ มาใส่ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะท้อนความใส่ใจของผู้สอนมากอะ เพราะมันทำให้คนเรียนอย่างเรา ๆ รู้สึกมีแรงกระตุ้นให้อยากเรียนมากยิ่งขึ้น (และซอนแซงนิมยังแอบสอนซาทูรีบ้านเกิดเขาให้ด้วย เราชอบมาก 55555555)
ถามว่าเนื้อหายากไหม คือเราว่าไม่ยากนะ มันเป็นแกรมม่าตัวที่เราเคยเห็นกันมาก่อนหมดแล้วอะ แต่อย่างที่บอกว่าวิชานี้คือวิชาการฟังกับการพูด ทำให้ตอนเรียนซอนแซงนิมจะไม่เน้นไปที่การสอนแกรมม่าเหมือนวิชาอื่น แต่จะเป็นการฝึกให้เราแต่งประโยคแล้วพูดออกมา นอกจากนี้ยังสอนความต่างระหว่างแกรมม่าที่คล้าย ๆ กัน บริบทไหนควรใช้ตัวไหน ปกติคนเกาหลีชอบใช้ตัวไหนเวลาพูด เป็นต้น ซึ่งมันช่วยให้สกิลการพูดภาษาเกาหลีของเราฟังดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น แล้วอยากที่พูดเกริ่นไปคือวิชานี้จะได้เปิดไมค์พูดแทบทั้งคาบ ทั้งจากที่ซอนแซงนิมเรียกตอบรายบุคคล กับที่ให้เปิดไมค์พูดพร้อมกันทั้งเซค แต่อยากย้ำอีกทีว่ามันไม่น่ากลัวเลย ไม่ต้องกลัวตอบผิด คือเราก็เป็นหนึ่งในคนที่แอบกลัวตอนคาบแรก ๆ ว่าจะพูดผิดไหม เพราะเราเรียนเกาหลีเองมานานมาก ไม่ได้เรียนในโรงเรียนหรือเรียนในสถาบันใหญ่ ๆ แบบคนอื่น ๆ เขา ทำให้ไม่เคยได้ฝึกการพูดเยอะ ๆ มาก่อน สกิลเกาหลีที่มั่นใจมากที่สุดคือการฟังกับการอ่าน ซึ่งมันเป็น Passive skills (ตรงข้ามกับการพูดและการเขียนที่เป็น Active skills) แต่คือถ้าไม่เริ่มฝึกพูดตอนนี้ เราจะกล้าพูดตอนไหนอะ จริงไหม? ดังนั้นก็ไม่ต้องกลัว สำเนียงไม่เหมือนคนเกาหลีแล้วไง พูดแล้วใช้แกรมม่าผิดแล้วไง ลองกล้าเริ่มพูดออกมาก่อนแล้วที่เหลือมันค่อย ๆ ปรับกันเอาได้อยู่แล้ว ส่วนการฟังคือเขาก็จะมีเทปเปิดให้เราฟัง (และฝึกพูดตาม) อยู่เรื่อย ๆ ทั้งคาบ
ในส่วนของการควิซ จะมีควิซ 2 ครั้ง ก่อนมิดเทอมกับก่อนไฟนอล ครั้งละ 10 ข้อ ครั้งละ 5 คะแนน แล้วเอามาบวกกันให้ได้ 10 คะแนน ให้เวลาประมาณครั้งละ 20 นาทีสั้น ๆ ส่วนตัวเราว่าควิซไม่ยาก มันไม่หนีจากสิ่งที่เราเรียนมาเลย แต่ตอนควิซรอบแรกเห็นหลายคนคะแนนไม่ค่อยดีกันแล้วซอนแซงนิมบอกว่าที่หลายคนพลาดเพราะแบบ รู้นะว่าแกรมม่าตัวไหนแปลว่าอะไร แต่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจบริบทของการใช้มันอะ ซึ่งมันเป็นหัวใจสำคัญของการพูดที่เราต้องรู้ว่าแกรมม่าตัวไหนควรใช้พูดในบริบทไหน แต่พอควิซรอบหลังคะแนนก็ดีขึ้นกันเพราะได้เตรียมตัวในส่วนนี้มาก่อนควิซกันแล้ว
สำหรับมิดเทอมกับไฟนอล ไม่มีการสอบพูดเพราะเดี๋ยวมีสอบพูดแยก แต่มิดเทอมกับไฟนอลจะเน้นการฟังและการอ่าน/การเขียน คือจะมีพาร์ทฟัง 10 ข้อ และพาร์ทอ่าน/เขียน 20-25 ข้อ ให้ทำใส่กูเกิลฟอร์ม ตอนสอบต้องเปิดกล้อง แต่ถ้าใครไม่สะดวกพิมพ์ อยากเขียนแล้วถ่ายส่งให้ซอนแซงนิมก็ทักหลังไมค์ไปบอกได้ พาร์ทฟังรอบมิดเทอมพูดไวแบบไฟแลบมาก ซึ่งส่วนตัวเราฟังทันเลยไม่มีปัญหาอะไร แต่ลองคุยกับเพื่อนอีกหลายคนแล้วเขาว่ามันไวไปจริง ๆ พอคะแนนมิดเทอมออกมาแล้วค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ซอนแซงนิมเลยปรับเกณฑ์จาก A 85 ลงเหลือ A 80 และปรับข้อสอบไฟนอลให้ง่ายขึ้น ส่วนพาร์ทอ่าน/เขียนเป็นการตอบแบบสั้น ๆ ไม่ใช่ตอบยาวเป็นพารากราฟ มิดเทอมเราว่ายากกว่าไฟนอลนิดนึงเหมือนพาร์ทฟังเลย แต่ก็ไม่ได้ยากมากมาย วิธีการเตรียมตัวสอบวิชานี้คือทวนสิ่งที่เรียน ทวนบริบทการใช้แกรมม่าตัวต่าง ๆ ความต่างแบบ Nuance เล็ก ๆ ของมันกับแกรมม่าตัวอื่น ๆ แล้วก็ท่องศัพท์ที่เรียนไป ประมาณนี้ก็โอเคแล้ว
ส่วนการสอบพูด ตอนแรกเราแพนิคมากเพราะอย่างที่บอกว่าสกิลการพูดไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดเลย 555555 แถมตอนคาบแรกซอนแซงนิมให้จับคู่กับเพื่อนในเซค เพื่อให้เพื่อนคนนั้น ๆ เป็นคู่ในการเรียน (เขาจะมี Breakout room session คาบละ 2 ครั้งให้เราไปฝึกพูดกับเพื่อนทุกคาบ) และเป็นคู่ในการสอบพูด แต่เรามาเรียนแบบตัวคนเดียว คือมันมีเพื่อนที่รู้จัก แต่เขาก็มากับเพื่อนเขาอีกที เลยไม่รู้จะไปคู่กับใคร ซอนแซงนิมบอกว่าถ้าหาคู่ไม่ได้ให้ส่งอีเมลไปบอก เดี๋ยวเขาจัดการให้ สุดท้ายเราก็ส่งอีเมลไปและได้จับคู่กับเพื่อนปี 3 เหมือนกันจากครุฯ ซึ่งเขาน่ารักมากกกก ทุกครั้งที่เข้า Breakout room แล้วฝึกพูดกันเสร็จก็จะนั่งเม้ามอยกันไปเรื่อย ๆ อะ เรียนจบวิชานี้คือได้เพื่อนที่ดีมาก ๆ กลับมาเพิ่มคนนึง 55555555 กลับมาที่การสอบพูดคือเขาก็จะให้เรากับเพื่อนร่างสคริปพูดกันเอง โดยใช้แกรมม่า/ศัพท์/เนื้อหาที่ได้เรียนมาแต่งเป็นสคริป ยาวกว่า 1 นาที ใช้แกรมม่าที่ได้เรียนมากกว่า 10 ตัว ต้องสลับกันพูดไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง (แต่ละคนต้องพูดขั้นต่ำคนละ 10 ครั้ง รวมกันแล้วมากกว่า 20) ซึ่งสคริปมีคะแนน 3% แล้วต้องส่งให้ซอนแซงนิมเช็คและเกลากลับมาให้ หลังจากนั้นก็ต้องไปซ้อมกัน แล้วสอบพูดในคาบ 1 สัปดาห์ก่อนการสอบไฟนอล สอบพูดนี่ห้ามดูสคริปนะ คือต้องไปจำกันมาแล้วพูดออกมาให้เป็นธรรมชาติ ใด ๆ ก็ตามคือซอนแซงนิมให้เราขอสอบพูดใหม่ได้ถ้ารู้สึกพูดจบแล้วยังไม่พอใจ ดังนั้นก็ไม่ต้องกลัวเลยว่ามันจะยากและคะแนนจะออกมาไม่ดี เพราะเขาให้เวลาเราเตรียมตัวเยอะและสามารถแก้ตัวได้
ภาพรวมวิชานี้เราได้ควิซ 9.5/10 มิดเทอม 27/30 ไฟนอล 34/35 สอบพูด 13/15 คะแนนการเข้าเรียน 10/10 รวมออกมาเป็น 93.5/100 ก็คือได้ A กลับมา เราว่าวิชานี้ไม่ยากอะ เข้าข่ายง่ายเลย แต่เป็นความง่ายแบบที่เราได้พัฒนาสกิลตัวเองและก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเองมากยิ่งขึ้นในด้านการพูดภาษาเกาหลี หลังเรียนจบคือเราเห็นชัดเลยว่าเราพัฒนามาไกลขนาดไหน ตอนต้นเทอมเรายังเป็นคนไม่กล้าพูดเกาหลีอยู่เลย ตอนนี้กล้าพูดมากขึ้น แล้วไปโหลดแอพ Tandem มาคุยกับคนเกาหลี เราก็ได้รับคำชมจากเจ้าของภาษาว่าเกาหลีโอเคเลย คือมันได้อะไรกลับมาเยอะมาก ๆ จริง ๆ อะ ดังนั้นใครยังลังเลอยู่ว่าจะลงวิชานี้ดีไหม แนะนำว่าลงเลย แล้วจะไม่ผิดหวัง 555555555
6) 2225206 KOREAN CULTURE (Korean Culture)
- อาจารย์ผู้สอน: อ.สุรางค์ศรี (STS)
- ช่วงเวลาเรียน: วันพุธ, 13:00-16:00 น.
- การตัดเกรด: - (ไม่ทราบ)
- การเก็บคะแนน:
Participation 10% (ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกไหม อาจจะเป็น Final Paper 100%)
Final Paper 90%
- ความยากง่าย: ไม่ยากแต่อาจจะเหนื่อยช่วงทำรายงาน
- สังกัด: สังกัดสาขาวิชาภาษาเกาหลี
- เงื่อนไข: ไม่มี (แต่อาจารย์แนะนำให้มีความรู้ประมาณเกาหลี 1 ขึ้นไป)
เราลงเรียนวิชานี้แบบไม่เคยหาข้อมูล ไม่ได้เช็ครีวิวอะไรมาก่อนเลย ซึ่งถามว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้เราจะหาข้อมูลไหม บอกเลยว่าหา และอาจจะไม่ได้ลงเรียนวิชานี้ตั้งแต่แรก 5555555555
เรื่องของเรื่องคือเราสอบเข้ามหาลัยมาด้วยคะแนน PAT เกาหลี (ขอเล่า เป็น Top 10 ประเทศตอนนั้น แต่ตอนนี้เด็ก ๆ เก่งเยอะมาก สถิติโดนโค่นไปละ บ๊ายบาย 555555555) ทำให้เราต้องอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ การเมืองเกาหลีมาก่อนแล้ว เพราะมันมี 10 จาก 100 ข้อในข้อสอบแพทที่จะถามเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ บวกกับส่วนตัวเคยทำเปเปอร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมในเกาหลีมาก่อนแล้วในระดับมหาลัย (เปเปอร์คณะเราเนี่ยแหละ 55555555) ทำให้พอมาเจอเนื้อหาในวิชานี้เราเลยรู้สึกเหมือนตัวเองมาเรียนซ้ำ...
Disclaimer ไว้ก่อนว่าอันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวแบบส่วนตัวมาก ๆ เราเห็นหลายคนที่เรียนวิชานี้เขาก็ได้เรียนอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนเหมือนกัน แค่ว่าตัวเราเคยเจอเนื้อหาเกือบทั้งหมดของวิชานี้มาแล้ว ตอนเรียนเลยเหมือนนั่งฟังเพื่อทวนความรู้เก่าเฉย ๆ อะ ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของอาจารย์เลยนะ มันความผิดของเราเองที่มาลงเรียนวิชานี้โดยไม่ได้หาข้อมูลก่อน แต่จะให้ลดเพื่อไปลงเกาหลีตัวอื่นก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะในเทอมนี้มีแค่เกาหลีฟังพูด 1 กับวัฒนธรรมเกาหลีแค่สองตัวที่ตารางคณะเราเอื้อให้เราลงเรียนได้ (ตัวที่เหลือชนแหลก) ครั้นจะให้รอไปหาลงในเทอมถัด ๆ ไปเราก็กลัวเกิดเหตุไม่คาดคิดอีก สู้เก็บตัวนี้ไปเลยดีกว่า แล้วถามว่าคุณคนที่อ่านอยู่และกำลังเล็งว่าจะลงวิชานี้ควรทำอย่างไร คำตอบคือแนะนำยากเหมือนกัน เพราะแต่ละคนความรู้ก็ไม่เท่ากันอีก แต่ส่วนตัวเราแอบรู้สึกว่าวิชานี้ (ย้ำว่าที่สอนโดยอ.สุรางค์ศรีด้วยนะ เราเห็นเทอมสองอ.เกิดสิริจะสอนวิชานี้เหมือนกัน คิดว่าเนื้อหาน่าจะต่างกัน) เหมาะกับคนที่ยังไม่ค่อยรู้จักประเทศเกาหลีมาก และอยากทำความรู้จักเกาหลีมากขึ้น แต่ไม่เหมาะกับคนที่รู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สารพัดสิ่งเกี่ยวกับเกาหลีอยู่แล้ว (In case ว่าอยากเรียนอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน แต่ถ้าไม่ซีเรียสกับการเจอเนื้อหาซ้ำหรืออยากมาเก็บเกรดเฉย ๆ ก็ลงได้นะ) เพราะเนื้อหามันระดับ Beginner แบบ Get to know Korean Culture จริง ๆ อะ
แต่ถามว่าเราได้เรียนอะไรใหม่ ๆ จากวิชานี้ไหม คือมันก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี แค่มันเป็นส่วนน้อยเฉย ๆ ของปีเราอาจารย์เขาเชิญวิทยากรสองคนมาช่วยเลคเชอร์ให้ มีประเด็นเรื่องมารยาทการทานอาหาร กับ Break down ที่มาที่ไปของสุภาษิตเกาหลี ซึ่งเราได้เรียนอะไรว้าว ๆ จากเลคเชอร์พิเศษเยอะมากโดยเฉพาะอันหลัง นอกจากนี้จริง ๆ อ.สุรางค์ศรีบอกว่าเขาเตรียมพู่กันเกาหลีเอาไว้ให้นิสิตได้ฝึกเขียน Calligraphy ด้วย แต่เพราะมันติดโควิดต้องเรียนออนไลน์เลยไม่สามารถเอามาให้ฝึกกันได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสิ่งที่เราไม่เคยทำและน่าเสียดายมากที่ไม่ได้ทำในวิชานี้
และเนื่องจากตอนเราเรียนมันเป็นการเรียนออนไลน์ 100% และอ.สุรางค์ศรีเขาก็อายุเยอะมากแล้ว น่าจะเกษียณไปแล้วด้วย ทำให้อาจารย์ประสบปัญหาเยอะพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องเทคนิค เช่น เปิดห้องซูม กดรับนิสิต ซูมหมดเวลา การแชร์หน้าจอ เป็นต้น ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความผิดอาจารย์อีกที่เขาใช้เวลาในการทำความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอาจารย์ก็ทำให้เห็นด้วยว่าเขาพยายามทำความเข้าใจมันอยู่ แต่เราเรียน ๆ แล้วก็รู้สึกแย่แทนอาจารย์ แบบสอน ๆ อยู่ก็ต้องหยุดสอนเพราะซูมมีปัญหา เป็นแบบนี้อยู่หลายครั้งเลยตลอดทั้งเทอม คิดว่าถ้าเรียนวิชานี้แบบออนไซต์คงไม่เจอปัญหาแบบนี้หรอก รุ่นเรามันแจ็กพ็อตเจอออนไลน์ 100% ด้วยอะ แต่ใด ๆ คือเขียนใน CUCAS ไปแล้วว่าอยากให้คณะอักษรฯ ช่วยหา TA ให้อาจารย์ อย่างน้อยก็จะช่วยแบ่งเบาภาระอาจารย์ในด้านเทคนิคไปเยอะมาก ก็หวังว่าทางสาขาจะช่วยแก้ไขตรงจุดนี้สำหรับปีถัด ๆ ไปด้วย
ในแง่ของการวัดผล อาจารย์บอกว่าจะไม่มีการสอบเพราะถ้าให้จัดสอบจะดำเนินการยากมากในช่วงโควิด เลยเปลี่ยนเป็นการทำเปเปอร์ส่งแทน ซึ่งตอนแรกเราเข้าใจว่าเป็นคะแนนไฟนอลเปเปอร์ 100% แต่เห็นบางครั้งอาจารย์เอ่ยถึงคะแนนการมีส่วนร่วมด้วย อันนี้เลยไม่มั่นใจเท่าไรว่าการวัดผลวิชานี้เป็นยังไง อาจจะเป็นคะแนนมีส่วนร่วม 10% กับคะแนนไฟนอลเปเปอร์ 90% หรืออาจจะเป็นไฟนอลเปเปอร์ 100% ก็เป็นได้
แต่ในส่วนของไฟนอลเปเปอร์นี้จะเป็นงานกลุ่ม ตกกลุ่มละ 3-5 คน ซึ่งอาจารย์จะให้จับกลุ่มตั้งแต่คาบแรก ๆ ของเทอม ถ้าใครลงเรียนกับเพื่อนก็โชคดีไป สามารถจับกลุ่มกันได้เลย แต่ถ้าใครมาลงคนเดียวแบบเรา ก็ต้องหากลุ่มเอง 5555555 ซึ่งความโชคดีคือวิชาอักษรฯ จะมีให้กดเข้ากลุ่มในเฟสบุ๊ก แล้วพอเราไปดูสมาชิกกลุ่มเราจะเห็นเลยว่าใครลงเรียนวิชานี้บ้าง ประเด็นคือเราเจอพี่ เพื่อน น้องในคณะที่เราเคยคุยมาก่อนบ้างแล้ว เลยลองทักเขาไปแล้วพบว่าทุกคนยังไม่มีกลุ่มเหมือนกัน เลยรวมออกมาเป็นกลุ่ม 4 คนชาวรัฐศาสตร์ 5555555 และหัวข้อในการทำเปเปอร์คืออาจารย์เปิดโอกาสให้เราทำเรื่องอะไรก็ได้ที่สนใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเสนอหัวข้อให้อาจารย์ฟังก่อน สามารถปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับหัวข้อและโครงเปเปอร์ได้ และสุดท้ายจะมีการนำเสนอเปเปอร์ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเทอม (ปีเรานำเสนอสัปดาห์เดียวเสร็จ เลยปิดคอร์สเร็วขึ้น 1 สัปดาห์) ส่วนเปเปอร์ตัวเต็มค่อยตามส่งหลังนำเสนอเสร็จประมาณเกือบ ๆ 2 อาทิตย์
กลุ่มเราทำเรื่อง Comfort Women หรือหญิงบำเรอขวัญของเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเจาะเรื่องการชดเชยเยียวยาของญี่ปุ่นต่อหญิงบำเรอขวัญโดยเฉพาะ ซึ่งโชคดีมาก ๆ ที่สมาชิกในกลุ่มเป็นคนคณะเดียวกัน เพราะประเด็นนี้มันเกี่ยวข้องกับการเมืองสูงมาก ทำให้ตอนทำงานคือคุยกันรู้เรื่องอะ แล้วแอบรู้สึกว่า Work ethic ก็คล้าย ๆ กัน (เพราะถูก Shape มาแบบเดียวกันด้วยวิชาคณะ 555555555) ทำให้ทำงานราบรื่นมากพอสมควร ไม่ต้องปวดหัวเหมือนเวลาทำงานกลุ่มทั่ว ๆ ไป การนำเสนอก็ผ่านไปได้ด้วยดี เสร็จส่งก่อนเวลา และที่สำคัญคือได้เกรด A กลับมา
7) 2402352 FGN POLI MIDEAST (Foreign Policies of the Middle East States)
- อาจารย์ผู้สอน: อ.ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์ (CPS)
- ช่วงเวลาเรียน: วันศุกร์, 13:00-16:00 น.
- การตัดเกรด: อิงเกณฑ์ (A 85)
- การเก็บคะแนน:
Participation 10%
Midterm Exam 40%
Final Exam 50%
- ความยากง่าย: ยาก 555555555555 แต่สนุก
- สังกัด: สังกัดภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เงื่อนไข: ไม่มี
กลับมาเจออ.ชูเกียรติอีกครั้งในวิชานี้ หลังจากเรียนวิชาความมั่นคงกับเขาตอนปี 2 เทอม 1 แล้วรู้สึกติดใจ อาจารย์เล่าให้ฟังว่าเขาสอนวิชานี้มานานมากแล้ว ก่อนเกิดเหตุ 9/11 เมื่อค.ศ. 2001 ด้วยซ้ำ แต่พอหลังเหตุ 9/11 นิสิตก็มาลงเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอยากรู้เกี่ยวกับตะวันออกกลาง (อาจารย์บอกปีหลังเกิดเหตุแล้วเดินเข้าห้องมาสอนคือตกใจคิดว่าเข้าห้องเรียนผิด เพราะปกติวิชานี้ไม่เคยมีนิสิตมาลงเรียนเยอะขนาดนี้มาก่อน) จนตอนนี้ผ่านมาแล้ว 20 ปี รุ่นเราในค.ศ. 2021 ลงเรียนวิชานโยบายต่างประเทศของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางจนเต็ม บางคนต้องอีเมลไปหาอาจารย์เพื่อขอลงเพิ่ม
ส่วนสาเหตุที่ตัวเรามาลงวิชานี้ ไม่แน่ใจว่าเคยเขียนไปหรือยัง แต่จริง ๆ แล้วเราเกิดวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 วันเดียวกับเหตุ 9/11 พอดี เราโตมากับการที่โดนทุกคนทักว่ารู้ไหมว่าตัวเองเกิดวันอะไร รู้ไหมว่าวันที่ตัวเองเกิดมีคนจำนวนมากที่อยู่อีกซีกโลกตาย หนักสุดคือเคยโดนเพื่อนล้อว่าเป็นตัวซวยหรือเปล่า เกิดวันที่มีเหตุวินาศกรรมแบบนี้ (แต่ไม่ได้เคืองอะไรเขาหรอก มองย้อนกลับไปก็พอเข้าใจได้ว่าตอนนั้นยังเด็กกันมาก) มันเลยเป็นความสงสัยส่วนตัวเรามาโดยตลอดว่าเหตุการณ์วันนี้มันมีที่มาที่ไปยังไง เรารู้ว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายไฮแจ็คเครื่องบินแล้วพุ่งชนตึกในสหรัฐฯ แต่ตอนเรายังเป็นเด็ก เราไม่เข้าใจการเมือง การต่างประเทศ ไม่รู้ว่าทำไมเขาต้องก่อเหตุแบบนั้น ส่วนหนึ่งที่เลือกเรียนไออาร์ก็เพราะเราอยากรู้เกี่ยวกับวันเกิดตัวเองมากขึ้นด้วย และที่เลือกเรียนวิชานี้โดยเฉพาะ ก็เพราะเราอยากทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเนี่ยแหละ ซึ่งถามว่าการเรียนวิชานี้ช่วยให้เราได้คำตอบไหม ตอบแบบไม่คิดเลยว่าเราได้อะไรกลับมามากกว่านั้นเยอะ
ก่อนลงเรียนวิชานี้ ภูมิภาคตะวันออกกลางสำหรับเราเป็นภูมิภาคที่มีแต่ความซับซ้อน ปัญหาทุกอย่างดูเกี่ยวพันกันไปหมด เราเคยพยายามลองหาข้อมูลอ่านดูแล้วเราก็ยัง-งง ยิ่งอ่านแทนที่จะได้คำตอบกลับได้คำถามเพิ่ม แต่หลังเรียนวิชานี้จบ ภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงเป็นภูมิภาคที่แสนซับซ้อนสำหรับเรา แต่เราเข้าใจมันมากขึ้น เราเห็นที่มาที่ไปของความซับซ้อนนี้ เห็นตัวแสดงที่มีบทบาทในความขัดแย้งต่าง ๆ เห็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้น และมีโอกาสเกิดขึ้น เราได้เรียนทั้งประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ย้อนไปตั้งแต่ผู้คนยังใช้ชีวิตเป็นชนเผ่าเร่ร่อน เรื่อยมาจนมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทภายในภูมิภาค เกิดการค้นพบน้ำมัน เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาณาจักรออตโตมันแตกเป็นเสี่ยง ๆ ทำให้ดินแดนในตะวันออกกลางต้องตกเป็นอาณานิคม ถัดมาถึงสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็น เหตุ 9/11 อาหรับสปริง และมาจนถึงปัจจุบัน
เราไม่ได้เรียนเจาะนโยบายต่างประเทศของทีละประเทศ แต่เราเห็นภาพกว้างว่าประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนมากดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยอะไรและอย่างไร เราไม่ได้เรียนเจาะทุกความขัดแย้งแบบลงรายละเอียด แต่เราได้ทำความเข้าใจว่าต้นตอความขัดแย้งหรือชนวนก่อเหตุคืออะไร และมันส่งกระทบถึงเหตุการณ์ไหนต่อไป และเราไม่ได้เรียนรู้ว่าตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่เข้าใจง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก เพราะอาจารย์ย้ำอยู่เสมอว่าตะวันออกกลางเป็น "Unfinished region" แต่สิ่งที่เราทำคือพยายามเรียนรู้ว่าทำไมมันถึงเป็น Unfinished region มากกว่า
สไตล์การสอนของอาจารย์ไม่ต่างจากวิชาความมั่นคงเลย เป็นการเน้นเลคเชอร์แบบไม่นาน อาจารย์สอนประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าก็เลิกคลาส อาจมีเรียกตอบคำถามบ้างแต่ตอบผิดตอบถูกไม่เป็นปัญหา เพราะถึงตอบผิดอาจารย์ก็จะช่วยอธิบายให้ฟังอย่างใจเย็นอยู่ดี แต่สิ่งที่เราสังเกตได้ว่าต่างจากวิชาความมั่นคงคือวิชานี้รีดดิ้งเยอะขึ้นมาก ตอนนั้นเราจำได้ว่าครึ่งแรกของวิชาความมั่นคงมีรีดดิ้งแค่ 1-2 ตัว ครึ่งหลังก็มีประมาณ 3-4 ตัว แต่วิชานี้เรารู้สึกว่าเรามีอะไรต้องอ่านทุกสัปดาห์ รวมทั้งหมดจากทั้งเทอมคือเราต้องอ่านหนังสือ (ของอ.ชูเกียรติเอง ที่เขียนเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของภูมิภาคตะวันออกกลาง) รวมประมาณ 11 บท บทละ 20 หน้าขึ้นไป บางบทมีแตะ 60 หน้าด้วย แต่อาจารย์จะย้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ว่าจำเป็นต้องอ่านรีดดิ้ง เพราะสิ่งที่อาจารย์เลคเชอร์จะเป็นสิ่งที่อยากเสริมหรืออยากเน้นเฉย ๆ พวกข้อมูลพื้นฐานอย่างอื่นอยู่ในรีดดิ้งหมดแล้ว ดังนั้นถามว่าเรียนวิชานี้แล้วฟังแค่เลคเชอร์สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงนิด ๆ เพื่อไปสอบมันทำได้ไหม คำตอบคือได้ แต่คะแนนไม่ดีแน่นอน เพราะเราจะขาดข้อมูลที่สำคัญไปอีกจำนวนมากที่ต้องไปอ่านและทำความเข้าใจในรีดดิ้ง
จริง ๆ ตอนวิชาความมั่นคงอาจารย์ให้นิสิตไปตกลงกันเองว่าอยากให้วัดผลยังไง แต่เพราะในวิชานี้เราเรียนตอนที่จุฬาฯ ประกาศให้เรียนออนไลน์ 100% ด้วย ทำให้อาจารย์ก็กำหนดการวัดผลมาตั้งแต่เริ่มแล้ว (ซึ่งต่างจากวิชาความมั่นคงมาก รอบนี้เป็นคะแนนสอบไปแล้ว 90% ตอนนั้นคะแนนสอบ 70%) แต่อาจารย์ยังคงตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ A 85 อยู่ แปลว่าต้องทำคะแนนให้ได้สูงมาก ๆ ถึงจะได้ A
ข้อสอบอ.ชูเกียรติวิชานี้เป็นอะไรที่คาดเดาได้ยากมาก ตอนมิดเทอมเรากับเพื่อนอีกหลายคนมั่นใจมากว่าอาจารย์ต้องออกเรื่อง xxx เลยเตรียมมาอย่างดิบดี (สอบออนไลน์เป็น Open book มีเวลาทำ 2 ชั่วโมงครึ่ง) สรุปข้อสอบจริงพลิกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นโจทย์แล้วนั่งเหม่ออยู่หลายวิจนต้องตั้งสติแล้วรีบทำ ซึ่งมิดเทอมเรารู้เลยว่าตัวเองทำได้ไม่ดีเลย แบบรู้ตัวว่ามันไม่ผ่าน QC ตัวเองอะ คะแนนออกมาคือ 30/40 คะแนนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 28-30 สูงสุด 34 ซึ่งอาจารย์บอกว่าพอมันสอบออนไลน์แล้วเราเปิดหนังสือดูได้ ค้นอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เขาคาดหวังมากกว่าการสอบในห้องมาก คะแนนที่ออกมาก็สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้ให้คะแนนง่ายเลยพอเป็นการสอบออนไลน์แบบนี้ ตอนไฟนอลเราก็ฮึบใหม่ พยายามอ่านทวนดี ๆ เก็บทุกเรื่อง ไม่ไปโฟกัสเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (ไม่อยากพลาดแบบมิดเทอมแล้ว คนที่ไว้ใจ ร้ายที่สุด 55555555) ซึ่งตอนรอบไฟนอลมีโจทย์มาให้ทำหลายข้อ และเราเลือกข้อที่มั่นใจว่าถนัดที่สุด สุดท้ายออกมาได้คะแนนเท่าไรไม่แน่ใจ แต่รวมกับคะแนนมิดเทอม และคะแนนการมีส่วนร่วมที่อาจารย์ให้ทุกคนเต็ม 10 เพราะอาจารย์ไม่รู้เหมือนกันว่าจะวัดยังไงในเมื่อสอนออนไลน์ ออกมาได้เกรด B+ แปลว่าไฟนอลได้น้อยกว่า 45/50 (คือถ้าได้ 44 จะโกรธตัวเองมาก 5555555555) ซึ่งเราไม่ได้รู้สึกแย่อะไร เพราะมิดเทอมพลาดจริง แค่เซ็งที่ไฟนอลมันตีกลับขึ้นมาไม่ได้ 55555555
สิ่งที่พอจะแนะนำได้เกี่ยวกับข้อสอบอ.ชูเกียรติคืออาจารย์เขาชอบออกเป็นแบบให้ Statement สั้น ๆ มาแล้วให้เราอภิปราย ซึ่งมันเป็น Statement เกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียนนั่นแหละ ที่เราเจอมาคือเป็นสิ่งที่อาจารย์เคยพูดไปแล้วในห้องทั้งหมดเลย คำถามไม่ถามตรงตัว ไม่ใช่คำถามที่ตอบง่าย ๆ แล้วจบ แต่เป็นคำถามกว้าง ๆ แบบกว้างมาก ที่ต้องเอาสิ่งที่เรียนมาคิดวิเคราะห์และพยายามบูรณาการให้ได้มากที่สุด พูดง่าย ๆ คือเราต้องพยายามแสดงให้อาจารย์เห็นผ่านคำตอบของเราว่า 1) เราเข้าใจในสิ่งที่เรียน 2) เราจำรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สำคัญได้ 3) เราเอาสิ่งที่เรียนมามาบูรณาการให้ออกมาเป็นคำตอบที่ logical + organised + concise + comprehensive ได้ ดูเหมือนไม่ยากเท่าไร แต่จริง ๆ ยากมากอะ 55555555 ที่สำคัญคือถ้าอาจารย์ให้อ่านรีดดิ้งไหนเป็นพิเศษ แบบอยู่ดี ๆ อาจารย์ส่งมาให้อ่านเพิ่มเติมจากรีดดิ้งตัวบังคับแล้ว จงไปอ่าน และพยายามหาทางใส่มันลงในคำตอบให้ได้ ถ้าทำได้ บอกเลยว่าคะแนนดีแน่นอน เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าเราเข้าใจเนื้อหาที่เรียนและเราสามารถเอามันไปต่อยอด จับไปผสมกับสิ่งอื่นต่อได้
ใด ๆ ก็ตาม นอกจากเรื่องเกรด สิ่งที่ได้กลับมาก็คือความรู้อันมหาศาลเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางนี่แหละ บางคนอาจจะกลัวไหมว่าอาจารย์เขาแอบตัดเกรดโหดวิชานี้ แต่ถ้าเทียบกับสิ่งที่ได้รับเราว่ามันคุ้มที่จะลงเรียนนะ วิชานี้ไม่ใช่วิชาบังคับ ลงเรียนเป็นวิชาเลือกภาคหรือวิชาเสรีก็ได้ ยังไงถ้าใครสนใจเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางเราก็อยากให้ลองดู อีกไม่นานอ.ชูเกียรติที่เชี่ยวชาญตะวันออกกลางมาก ๆ ก็จะเกษียณอายุ (รอบที่ 2 = รอบสุดท้าย) แล้ว ถ้ายังเรียนกับเขาทันเราก็อยากให้ลองนะ
- - - - - -
สรุปเกรดเทอมนี้คือเรียน 7 ตัว เป็น A 6 ตัว กับ B+ อีก 1 ตัว รวมออกมาเป็นเกรดเฉลี่ย 3.93 และรวมเป็นเกรดเฉลี่ยสะสม 3.91 (เท่าเดิมเลย ไม่ขยับขึ้นหรือลงจากเทอมก่อนหน้า 55555555) (ซึ่งดีแล้ว)
ไหน ๆ จบจากการรีวิวเรียงตามแต่ละวิชาแล้วขอรีวิวภาพรวมบ้าง คือถึงแม้ที่เราพูด ๆ มาทั้งหมดข้างบนเราจะดูมีความสุขกับสิ่งที่เรียนดี แต่ลองนึกสภาพต้องเรียนทั้งหมด 7 วิชาพร้อมกัน แต่ละวิชาต่างก็มีภาระงานหนักและมีรีดดิ้งที่ต้องอ่านเยอะมาก ๆ อยู่แล้ว พอเจอพร้อมกันทั้งหมดคือมันเหนื่อยมากนะ 55555555 สัปดาห์แรกของการเปิดเทอมเราจำได้เลยว่ามีรีดดิ้ง 150+ หน้าต่อสัปดาห์ แล้วเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนจบเทอม ภายในหนึ่งสัปดาห์เราทั้งต้องอ่านรีดดิ้งของทุกวิชาก่อนเริ่มเรียน เข้าฟังเลคเชอร์ บางวิชามีการบ้าน มีฟอรั่ม มีควิซ บางวิชาต้องเตรียมตัวสำหรับการมีส่วนร่วมในคลาส ในขณะเดียวกันเทอมนี้เราทำงานฝ่ายวิชาการของสโมฯ คณะและต้องเตรียมตัวเรื่องฝึกงานอีก พูดง่าย ๆ คือแทบต้องแยกร่าง
เราจำได้เลยว่าตลอดทั้งเทอมตั้งแต่เปิดเทอมมาเราเคยนอนก่อนเที่ยงคืนแค่ครั้งเดียวเพราะวันนั้นไมเกรนมาและตัวร้อน นอกเหนือจากนั้นนอนตีสองตีสามประจำ แล้วเป็นอย่างนี้จนร่างกายมันล้าไปหมด แต่ถ้าให้รีบเข้านอนและพักผ่อนให้เพียงพอมันก็ทำงานไม่ทัน นอกจากนี้เรายังรู้สึกเหมือนไม่เคยได้พักตั้งแต่มิดเทอมเป็นต้นมา เพราะคณะเรายิ่งปีสูง ๆ ยิ่งสอบน้อยลงเรื่อย ๆ เหลือแต่เปเปอร์หมด (ทั้งเทอมเปเปอร์ 8 ตัว) ทำให้มิดเทอมเราเริ่มเร็วสุดวันที่ 27 กันยายน ก็มีสอบต่อ 30 ชั่วโมง 28-29 กันยายน ต่อด้วยสอบวันที่ 1 ตุลาคม แล้วหลังจากนั้นก็เป็นเปเปอร์ยาว ๆ ที่ส่ง 11 ตุลาคม ตัวถัดมา 17 ตุลาคม ตัวสุดท้ายของมิดเทอมวันที่ 28 ตุลาคม แต่มิดเทอมจบเราก็ต้องเริ่มทำไฟนอลเปเปอร์ต่อเลย นอกจากนี้ยังมีสอบวันที่ 22 พฤศจิกายน เปเปอร์ตัวแรกส่ง 1 ธันวาคม สลับกลับมาสอบ 3 ธันวาคม และกลับมาเปเปอร์ส่ง 9 ธันวาคม ต่อด้วย 14 ธันวาคม 21 ธันวาคม และปิดท้ายตัวสุดท้ายที่ 27 ธันวาคม จนเกิดเป็นคำพูดที่เรากับเพื่อนพูดกันบ่อย ๆ ว่า "ทำเปเปอร์ให้เสร็จเพื่อไปทำเปเปอร์ตัวถัดไป" เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นแบบนี้จริง ๆ
แต่ท่ามกลางความเหนื่อยล้าทั้งหมดถามว่าเรายังรักในสิ่งที่เรียนอยู่ไหม ก็ยังตอบเลยว่ามาก 5555555 เรายังรู้สึกตื่นเต้นเวลาได้เรียนอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เรายังรู้สึกว่าภาควิชานี้มีอะไรว้าว ๆ ให้ได้เรียนอยู่เหมือนเดิม และถึงเราจะตัดพ้อเกี่ยวกับการเขียนเปเปอร์มากแค่ไหน ท้ายที่สุดเราก็ยังภูมิใจในสิ่งที่เราได้เขียนออกมาในทุก ๆ ครั้ง... แต่มันเหนื่อยมากกกกกกกกกกกก เหนื่อยปางตายอะ เหนื่อยจนบางทีก็ตั้งคำถามว่าชีวิตคนเรามันต้องเหนื่อยขนาดนี้เลยเหรอ เหนื่อยจนบางวันนั่งเหม่อหน้าคอมแล้วก็รู้สึกอยากเข้าถึงนิพพานแล้ว (ซีเรียสนะอันนี้ ยิ่งคิดว่าเรียนจบไปต้องไปทำงานรับใช้ทุนนิยมอีกคือปลง) อย่างไรก็ตาม เรายอมรับความโชคดีของตัวเองที่ได้เรียนในสิ่งที่รัก (แต่ขนาดได้เรียนในสิ่งที่รักแล้วยังสะบักสะบอมขนาดนี้...) เพราะยังมีเพื่อนในภาคอีกหลายคนที่เขาเริ่มหมดไฟกับไออาร์แล้ว สิ่งที่เรียนอยู่ไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบแล้ว ซึ่งเราเองก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากช่วย ๆ แบกกันไปให้จบเทอม
คำแนะนำสำหรับสิงห์ดำรุ่นถัด ๆ ไปที่กำลังจะขึ้นปีสามก็คงไม่มีอะไรนอกจากบอกว่าให้รู้ลิมิตของตัวเอง เรายอมรับว่าสิ่งที่เราเขียนมาทั้งหมดมันเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ Unhealthy ต่อร่างกายและจิตใจทั้งในระยะสั้นและยาวมาก แต่สุดท้ายเรารู้ลิมิตตัวเองอะว่าดันไปได้จนสุดขนาดไหน เราไม่เคยโต้รุ่งแบบทำงานตั้งแต่เย็นของอีกวันจนพระอาทิตย์ขึ้น อย่างช้าสุดเราก็จบที่ตีสามตลอด แม้วันนั้นจะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ก็ตาม เราไม่เคยฝืนทำงานต่อถ้าไมเกรนมา เช่นมีวันนึงต้องนอนก่อนเที่ยงคืนเพราะมันรู้ว่าไม่ไหวจริง ๆ หรืออีกหลาย ๆ วันที่หนีไปนอนตอนตีหนึ่งเพราะง่วงเกิน ถึงอยู่ต่อไปงานก็ไม่เดิน สู้เอาเวลาไปนอนดีกว่า ไม่ได้จะบอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันดี เพราะแน่นอนว่ามันไม่ดี และถ้าเลือกได้เราก็ไม่อยากให้มีใครต้องมาเหนื่อยแบบนี้ ไม่อยากให้ทุกคนต้องมานอนดึกบ่อย ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยด้วย แต่ดูแล้วคงห้ามไม่ได้ใช่ไหมล่ะ เราเข้าใจว่ามีอีกหลาย ๆ คนที่เป็นเหมือนเราที่ยังไงมันก็เทเกรดไม่ได้ เทเรื่องเรียนไม่ได้ ดังนั้นเราก็ขอให้ทุกคนช่วยรู้ลิมิตว่าตอนไหนควรพอ ตอนไหนควรพัก เพราะปีสามมันตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อนเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน เกรดสำคัญ และสุขภาพกายและใจของเราก็สำคัญมากพอ ๆ กับเกรดเช่นเดียวกันนะ
พูดเรื่องเครียด ๆ มาเยอะแล้ว อยากทิ้งท้ายด้วยเรื่องราวดี ๆ บ้าง เทอมนี้เราหันมาติดหนังสือแนวท่องเที่ยวมาก ตลอดทั้งเทอมคือซื้อเก็บเรื่อย ๆ จนตอนนี้มี 10+ เล่มแล้ว และถึงแทบไม่มีเวลาแต่ก็พยายามเจียดเวลาประมาณ 5-10 นาทีก่อนนอนมานั่งอ่านวันละบท ซึ่งมันกลายมาเป็นหนึ่งในงานอดิเรกของเราเลย ถือคติว่าไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ก็ให้หนังสือพาไปก่อนก็แล้วกัน 5555555 แถมยังมาติดดูกีฬาซึ่งช่วยทำให้เรามีอะไรให้ตั้งตารอในทุก ๆ สัปดาห์ และกระตุ้นตัวเองให้ไปทำงาน และแอบขออ.กัลยาไปนั่งเรียนวิชา Intro IR กับปีสองมาด้วย 55555555 เอาจริง ๆ มันเป็นความตั้งใจของเราเลยว่าอยากกลับไปนั่ง Sit in วิชา Intro IR ถึงแม้ตัวเองจะอยู่ปีสาม แต่ประเด็นคือมันดันเรียนตรงกับวิชาบังคับปีสาม โชคดีที่อ.กรพินธุ์ยกคลาสบางครั้งแล้วเปลี่ยนไปอัพวิดีโอให้เรียนแทน เลยมีบางสัปดาห์ที่เราแอบไปนั่งเรียนด้วยได้ อีกอย่างนึงคือกลับมาเรียนภาษาเยอรมันด้วยตัวเอง เพราะกลัวว่าตอนกลับไปเก็บวิชาเยอรมัน 2 จะลืมหมด เลยต้องรีบฟื้นฟูความรู้ในสมองก่อน 555555
แล้วเราก็สมัครฝึกงานกับสถานทูตสหรัฐฯ กรุงเทพฯ ในโครงการ Foreign National Student Intern Programme (FNSIP) ไป ซึ่งเราได้รับการติดต่อให้ไปสัมภาษณ์ 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายการเมือง (Political Office) กับฝ่ายพิธีการทูต (Protocol Office) แต่เนื่องจากเราอยากทำฝ่ายการเมืองมากกว่า และได้ไปสัมภาษณ์กับพี่ ๆ ฝ่ายการเมืองก่อนเลยได้รู้ว่าบรรยากาศการทำงานกับลักษณะหน้าที่ตนเองเป็นยังไง ซึ่งเรารู้สึกว่าเราอยู่ตรงนี้ได้อะ แบบเนื้องานมันเข้ากับตัวเราดี พอหลังสัมภาษณ์ฝ่ายการเมืองเสร็จไม่กี่วันแล้วฝ่ายพิธีการทูตติดต่อมาก็เลยปฏิเสธสัมภาษณ์ไป ตอนแรกมีคนถามเราว่ามันเป็นการปิดโอกาสตัวเองไปไหม ทำไมไม่ลองสัมภาษณ์ไปก่อนเผื่อเลือก แต่คือถึงเราไม่รู้ว่าสัมภาษณ์ไปเราจะได้ฝ่ายพิธีการทูตหรือไม่ แต่เราอยากให้คนที่เขามีใจอยากทำฝ่ายนี้มากกว่าเราได้ทำอะ ก็เลยปฏิเสธไปตั้งแต่ต้น (พูดง่าย ๆ คือระหว่าง Political v. Protocol ใจไปอยู่ Political แล้ว) สุดท้ายก็ได้รับการติดต่อกลับจากสถานทูตว่าเราได้รับเลือกให้เป็นอินเทิร์นของฝ่ายการเมือง ตอนนี้ที่กำลังเขียนโพสต์นี้อยู่ก็อยู่ในขั้นตอนการส่งเอกสารต่าง ๆ กว่าจะฝึกงานก็ช่วงเดือน 6-7 นู่นเลย ไว้ยังไงเดี๋ยวเรามาเขียนโพสต์แยกเกี่ยวกับการฝึกงานอีกทีหลังเราฝึกงานเสร็จเรียบร้อยแล้วนะ (~ ต้นเดือนสิงหาคม) เผื่อจะเป็นประโยชน์กับใครหลาย ๆ คนที่วางแผนอยากฝึกงานที่นี่เหมือนกัน
สุดท้ายนี้ก็อยากขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคน (Y'all know who you are ❤️) ที่คอยแบกกันมาจนจบปี 3 เทอม 1 ได้ ขอบคุณกำลังใจและคำแนะนำดี ๆ จากน้อง ๆ และพี่ ๆ ทุกคน ขอบคุณอาจารย์ทุกคนด้วยที่เต็มที่กับการสอนเสมอเพราะเราเข้าใจดีว่าการสอนในช่วงโควิดก็เป็นอะไรที่ยากสำหรับพวกเขาเหมือนกัน ที่สำคัญคือขอบคุณอ.กัลยาที่แม้จะไม่ได้เรียนกับเขาในเทอมนี้แต่ก็ส่งข้อความมาให้กำลังใจ (ทำเอาร้องไห้ไปหนึ่งยก) และช่วยเหลือเราในหลาย ๆ เรื่อง even when she has too much on her plate already และที่ขาดไปไม่ได้คือขอบคุณตัวเอง ขอบคุณที่ผ่านทุกอย่างมาได้จนถึงตอนนี้ ขอบคุณที่พยายามทำเต็มที่อยู่เสมอ ขอบคุณที่อยู่กับปัจจุบันและก้าวข้ามเรื่องราวในอดีตมาได้
และขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่าน หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย และขอให้เป็นวันที่ดีค่ะ
sincerely,
themoonograph
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in