เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ปิยกษัตริย์ By ไชยันต์ ไชยพร
  • รีวิวเว้ย (337) คำคำหนึ่งที่นักเรียนรัฐศาสตร์อย่างเราได้ยินแล้วมักจะเอาหัวคิ้วชนกันเสมอ คือคำว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" ที่กลายเป็นคำนิยมของใครหลายคนทั้งคนทั่วไป นักวิชาการ นักวิจัย นักอยากวิชาการ รวมถึงนักอยากวิจัย ที่ในหลายปีมานี้เลือกใช้คำคำนี้มาตลอด ในเวลาที่ต้องอธิบายถึงเรื่องของการเมืองไทย ไม้ตายสุดท้ายคือการขมวดปมจบด้วยคำว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งเราพยายามตามอ่านนิยาม ความหมาย และการจำกัดความของหลาย ๆ คนที่พูดถึง "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" ผลสรุปที่ได้ คือ หลายคนพูดไม่ตรงกัน สรุปต่างกันหรือแม้กระทั่งหลายครั้งคำนิยามของหลาย ๆ คนก็ขัดกันเอง เมื่อการกำหนดนิยามศัพท์ยังขาดความชัดเจน เอาจริงเราจะสามารถหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง หรือปัญหาที่ถูกเรียกว่า "ปัญหาประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" ได้อย่างไร หลายคนบอกก็ต้องแก้ด้วย "วิธีการแบบไทย" นั่นงงเข้าไปใหญ่ !!! และถ้าหยิบเอาคำตอบว่าต้องแก้ปัญหาแบบไทยมาคิดต่อในฐานะของนักเรียนรัฐศาสตร์ นั่นเท่ากับว่าวิธีการแก้ปัญหาการเมืองแบบไทย คือ "การรัฐประหาร" !!! ใช่รึเปล่า ? เพราะในช่วงเวลา 80 กว่าปีของประชาธิปไตยในประเทศไทย (สยาม) เราจะเห็นว่า "การรัฐประหาร" เป็นทางออกที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้แก้ปัญหาตลอดเวลา พร้อมทั้งรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกและเขียนขึ้นใหม่ในแทบทุกครั้ง (แปลว่าไม่ใช่ทุกครั้ง) ก็มักจะเขียนขึ้นเพื่อแก้เกมของปัญหาการเมืองที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งในท้ายที่สุดการเขียนกติการทางการเมืองแบบตายตัวเพื่อป้องกันปัญหาอีกครั้ง มันมักนำมาซึ่งปัญหาและความฉิบหายใหม่แทบจะตลอดเวลา ถ้าไม่เชื่อก็ลองย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยดูก็น่าจะเห็นคำตอบ 
    หนังสือ : ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849
    โดย : ไชยันต์ ไชยพร
    จำนวน : 357 หน้า
    ราคา : 370 บาท

    และวิธีการแบบไหนกันที่เหมาะควรที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการเมืองไทย และแก้ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ หนังสือ "ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849" ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ผนงานวิจัยของอาจารย์ภายใต้ชื่อหัวข้อเดียวกันกับชื่อหนังสือ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัล ผลงานวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภชประจำปี 2560 ประเภทอาจารย์และนักวิจัย (ผลงานวิจัยดีมาก)

    โดยเนื้อหาของงานวิจัยชิ้นนี้ ว่าด้วยเรื่องของการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในประทศเดนมาร์ก จากระบอบกษัตริย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อศึกษาถึงแนวทางและวิธีการในการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์เดนมาร์กสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นโดยสงบ ปราศจากความรุนแรงและการนองเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในยุโรปที่มีการเปลี่ยนแปลงจากกษัตริย์สู่ประชาธิปไตยเช่นกัน

    ความน่าสนใจของหนังสือ "ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849" อยู่ที่การนำเสนอถึงกลไกและวิธีการในการปรับตัวของระบอบกษัตริย์สู่ระบอบประชาธิปไตยที่ถือได้ว่านุ่มนวนที่สุดในโลก ณ เวลานั้น เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นผู้จัดการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะถูกเปลี่ยนโดยผู้อื่น ถ้าให้เทียบกับปัจจุบันก็คงคล้ายกับการปรับตัวของสถาบันเพื่อสู่กับการ Disruptive อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับหลางวงการในปัจจุบัน

    "ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849" บอกเล่าเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าสนใจ โดยวางฐายคิดของแนวทางการศึกษาการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ที่ รูปแบบการปกครองแบบผสม (a mixed constitution/regime) ที่ตัวสถาบันกษัตริย์และการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากการปรับตัวของตัวแสดงทั้ง 3 ในเดนมาร์ก (กษัตริย์: The One, ขุนนาง: The Few, ประชาชน: The Many) มาสู่รูปแบบการปกครองแบบผสมเพื่อหาจุดดุลยภาพทางการเมืองของตัวแสดงทั้ง 3 ซึ่งนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเดนมาร์กเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ละมุนและนุ่มนวล

    นอกจากนี้ในส่วนท้ายของ "ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849" ยังมีการหยิบเอาส่วนของการแลกเปลี่ยนในวงวิจัยมาขยายความต่อ โดยมีการตอบคำถามถึงความ "เฉพาะตัวของระบอบการเมือง" อย่าง "ประชาธิปไตยแบบไทย" ว่าแท้จริงแล้วระบอบการเมืองของแต่ละประเทศไม่ได้มีความเฉพาะตัวของตัวเองในลักษณะที่จะไม่วามารถอธิบายด้วยทฤษฎีการเมืองอื่น ๆ ได้ อย่างกรณีของไทยเอง "ประชาธิปไตยแบบไทย" เมื่อถูกอธิบายด้วยทฤษฎีรูปแบบการปกครองแบบผสม มันก็แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลา 80 กว่าปีที่ผ่านมานั้นในการเมืองไทยโครงสร้างอำนาจของ The One, The Few และ The Many มีการแกว่างตัวไปมาและแย่งชิงซึ่งอำนาจที่เหนือกว่าของกลุ่มของตนอยู่ตลอดเวลา (The One ในที่นี้ไม่ได้มีคสามหมายเพียงแค่สถาบันพระมหากษัตรย์อย่างเดียว ถ้าอยากเข้าใจเพิ่มเติมให้หาอ่านเพื่อลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง) ในงานชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่า The One The Few The Many ในไทยมีการต่อสู่แย่งชิงกันอยู่ตลอด โดยที่ต่างฝ่ายต่างไร้ซึ่งความอดทนอดกลันต่อกัน และไม่มีความคิดที่จะหาจุดดุลยภาพของทั้ง 3 ตัวแสดงร่วมกันแต่อย่างใด นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เหตุใดการเมืองไทยถึงวนอยู่ที่เดิมซ้ำ ๆ แทบจะตลอดเวลา ผ่านกรอบทฤษฎีของการปกครองแบบผสม ที่วิเคราะห์ผ่านหนังสือ "ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849" อีกทีหนึ่ง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in