เหมือนอย่างเช่น คุณแม่ที่ดูแลเรามาตั้งแต่เด็ก เรามักจะเห็นและได้รับความใส่ใจและความรักที่คุณแม่มอบให้เสมอมาจนเกิดความเคยชิน รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่ถ้าหากวันหนึ่ง คุณแม่ลุกขึ้นมาดุเราสักเรื่องหรือสองเรื่อง เรากลับจดจำสีหน้าโกรธและถ้อยคำขึงขังของคุณแม่ได้เป็นอย่างดี เพราะนั่นคือเหตุการณ์ที่ผิดแปลกไปจากทุกวัน แต่ความจำพวกเราก็ดันดีเกินไป กลายเป็นว่าเรากลับจดจำคุณแม่ในภาพของคุณแม่ที่เข้มงวดเพียงเพราะเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์เดียว ทั้งที่ที่ผ่านมาคุณแม่เป็นคนที่อ่อนโยนและใจดีกับเรามาตลอด
คำถาม: แล้วเราจะทำอย่างไรให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มองเห็นแต่เฉพาะปัญหาล่ะ?
เราต้องเข้าใจ Self-concept ของตัวเองก่อนว่าเป็นเช่นไร
การค้นหา Self-concept ของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ลองสังเกตตัวเองง่ายๆ เวลาเจอเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แล้วลองจับความคิดของตัวเองดูว่าตัวเองมีปฏิกิริยาแรกเริ่มต่อสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเกิดเจ้านายของเราเดินมาที่โต๊ะทำงานของเราตอนสี่โมงเย็น แล้วนำงานชิ้นใหม่มาวางไว้ที่โต๊ะพร้อมบอกว่า "งานด่วน ผมขอก่อนเลิกงานนะครับ" และเดินจากไปโดยไม่ฟังคำท้วงติงใดๆ จากเรา ในตอนนั้น หัวของเราคิดอะไรอยู่???
ถ้าหากเราคิดว่า "สบาย งานแค่นี้เอง ครึ่งชม.ก็เสร็จแล้ว" แสดงว่าเราเป็นคนมองโลกในแง่ดี และมีกำลังใจพร้อมที่จะต่อกรกับทุกปัญหาทุกความเครียด แต่ถ้าเราคิดว่า "อะไรว้า ทำไมต้องตรูอีกแล้วววว" แสดงว่า เราเป็นคนมองเห็นแต่ปัญหา ทั้งที่ที่ผ่านมา นานๆ ครั้งเจ้านายถึงจะรบกวนเราแบบนี้
เค้าเรียกความคิดแวบแรกที่โพล่งเข้ามาในหัวเราว่า Automatic thoughts
ซึ่งมันจะแสดงความเป็นตัวตนของเราพอสมควร
และยากที่จะแก้ไขความคิดแวบแรกที่เร็วแสง
แต่ก็ใช่จะฝึกหรือเปลี่ยนแปลงกันไม่ได้ :)
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ ความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผล (Irrational beliefs) เป็นความเชื่อที่ไม่มีความยืดหยุ่น คิดอะไรตามใจตัวเองเสมอ เพราะความเชื่อที่ผ่านการรับข้อมูลฝ่ายเดียว (ฝ่ายเดียวที่ว่า ก็คือ เราคิดของเราไปเองนั่นแหละจ้าาา) จนก่อให้เกิดความคิดที่สุดโต่ง และเกิดการตีความสถานการณ์ที่ไม่เป็นกลางตามมา หรือแม้แต่บางครั้ง เราก็หลงเชื่อถึงขั้นว่าสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล/ตรรกะถูกต้องอยู่แล้ว โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่า "คนเรามักจะหาเหตุผลมาเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของเราที่มีอารมณ์เป็นที่ตั้ง" หรือที่เรียกว่า การหาเหตุผลมาเพื่อสร้างความสบายใจให้เรานั่นแหละ
เพราะฉะนั้น เพื่อขจัดปัญหาความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลออกไปซะ เราเลยต้องยึดเอา หลักความถูกต้อง และ หลักอรรถประโยชน์นิยม ในการแก้ปัญหาความเชื่อพวกนี้
โดยเริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรานั้นสามารถตีความได้กี่แบบ หากตีความได้หลายแบบ ก็แสดงว่าความเชื่อของเราอาจจะไม่ถูกต้อง เช่น หากเราไหว้สวัสดีอาจารย์ก่อนเข้าชั้นเรียน แต่อาจารย์ไม่รับไหว้เรา แถมเดินเข้าห้องเรียนไปเลย เราก็ต้องมาคิดว่า เพราะเหตุใดอาจารย์ถึงไม่รับไหว้เรา (= เหตุการณ์) ซึ่งมันก็จะมองได้หลายสาเหตุ (= ตีความได้หลายแบบ) เช่น อาจารย์รีบเข้าสอน อาจารย์มองไม่เห็น หรือแม้แต่อาจารย์เกลียดขี้หน้าเราก็เป็นไปได้เหมือนกัน และเมื่อหนึ่งเหตุการณ์สามารถตีความได้หลายแบบ ถ้าเราเลือกเชื่อเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว และหากมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการฟันธงว่าทำไมอาจารย์ไม่รับไหว้ เราก็ไม่ควรสงสัยเพิ่มหรือคิดต่อไปเอง อย่าเติมเต็มความไม่รู้ด้วยตนเอง เพราะมันไม่ถูกต้อง (= หลักความถูกต้อง) และต่อให้เรามีข้อมูลชัดเจน ชนิดที่ว่าไม่สามารถเดาเป็นอื่นไปได้ อาจารย์ต้องเกลียดขี้หน้าเราแน่ๆ!! แล้วการเชื่อว่าอาจารย์เกลียดขี้หน้าเราไปมันจะมีประโยชน์อะไรกับเราเหรอ? (= หลักอรรถประโยชน์นิยม) ถ้าไม่มีประโยชน์อะไร เราก็ควรปล่อยผ่าน เข้าไปนั่งเรียนกับอาจารย์สวยๆ รับความรู้เหมือนทุกครั้งราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ หากมันจะส่งผลต่องานที่เราต้องทำส่งอาจารย์ในอนาคตหรือส่งผลต่อการประเมินคะแนนสอบ อันนี้อาจจะต้องแก้ปัญหากันต่อไปอ่ะนะ
คำถาม: หากเราหมดแรงจูงใจในการเรียนต่อล่ะ? จะทำยังไงดี?
การหาแรงจูงใจในการเรียนหรือการทำงานไม่ใช่เรื่องยาก แรงจูงใจสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกหรือภายใน
หากเราไม่มีแรงจูงใจจริงๆ เราอาจจะหามันได้จากการตั้งคำถามกับตัวเองง่ายๆ เช่น เราเรียนไปเพราะอะไร? เราเรียนแล้วได้อะไร? คุณค่าของสิ่งที่เราทำอยู่ที่ไหน? คุณค่าของตัวเราอยู่ที่ไหน? สังคมได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำรึเปล่า? และความหมายของการมีชีิวิตอยู่ของเราคืออะไร? (เริ่มปรัชญาขึ้นไปเรื่อยๆ ฮ่าาาา)
หรือต่อให้เราหาคำตอบจากคำถามพวกนี้ไม่ได้จริงๆ ว่าเราเรียนหรือทำงานทุกอย่างไปเพื่ออะไร ให้สังเกตง่ายๆ จาก "คนอื่น" หมายความว่า การกระทำหรือพฤติกรรมของคนอื่น รวมไปถึงสถานการณ์รอบตัวเราจะสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเราให้เรารู้เองว่าเราเรียนหรือทำงานไปเพื่ออะไร :)
คำถาม: ทำไมจู่ๆ ก็ป่วยอย่างไร้สาเหตุขึ้นมาล่ะ? ความเครียดทำให้เราป่วยได้จริงๆ เหรอ?
ความจริงแล้ว ความรู้สึก ความคิด พฤติกรรม และสุขภาพของเรา มันมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นวงจรอยู่นะ พอเกิดสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง มันก็เป็นเหมือนตัวกระตุ้นที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกและแสดงออกทางอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ อาจนำไปสู่ความเครียด และสุดท้ายก็ทำให้ร่างกายเจ็บปวดตามไปด้วย
เพราะงั้น หากเราเริ่มจมดิ่งหรือจมอยู่กับความทุกข์หรือความเครียดเมื่อไหร่ สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ หาอะไรก็ได้ที่ช่วยดึงดูดความสนใจของเราไปที่สิ่งอื่น เพื่อไม่ให้เราจมกับความรู้สึกแย่ๆ นานเกินไป ที่สำคัญ เราต้องรู้ทันความคิดของเราด้วย ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ หากเราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังคิดอะไร หนทางในการกำจัดความเครียดก็คงยาก กว่าจะรู้ตัวอีกที อาจจะจมดิ่งจนกู่ไม่กลับแล้วก็ได้
"อย่าให้อารมณ์เป็นตัวนำทางเรา จงให้แผนที่เราวางไว้นำทางเราจะดีกว่า"
คำถาม: รู้ตัวแล้วว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่ แล้วเราจะขจัดความเครียดได้ยังไง?
ความเครียดแสดงออกได้หลายรูปแบบ เราต้องจัดการให้ถูกต้องและถูกวิธี
(1) ความเครียดที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เราควรผ่อนคลายตามร่างกาย หรือยืดเส้นยืดสายตามส่วนต่างๆ ตามอินเตอร์เน็ตก็มีวิธีผ่อนคลายเนื่องจากความเครียดมากมาย สามารถไปสืบค้นได้ค่ะ
(2) ความเครียดทางอารมณ์
เมื่อเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเครียด อย่างแรกคือ เราต้องรู้จักการ Imaginary คือ การนั่งหลับตาแล้วจินตนาการถึงภาพที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข อาจจะเป็นภาพในอินเตอร์เน็ต หรือรูปถ่ายที่เราเคยถ่ายที่ไหนก็ได้ ที่ทำให้เรารู้สึกดีและยิ้มได้ พอรู้สึกแย่เมื่อไหร่ ก็ให้นึกถึงภาพนั้นเอาไว้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ทำให้ชินและติดตา เหมือนเราจะพกความสุขติดกายไปตลอดเวลา และต้อง Positive self-talk คือ การบอกตัวเองเสมอๆ ว่าตัวเองมีดีอย่างไร เก่งเรื่องไหน แล้วเราจะเกิดความภูมิใจและมีกำลังใจเพื่อรับมือกับปัญหาและความเครียดเพิ่มมากขึ้น
(3) ความเครียดด้านสมาธิ - คือความรู้สึกตึงและมึน คิดอะไรไม่ออก ทำงานหรือเรียนต่อไม่ได้ สมาธิไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทางแก้ก็คือ การนั่งสมาธิ ฮั่นแน่!.. ใช่แล้วค่ะ การฝึกตั้งจิตหรือการนั่งสมาธิตามหลักการของพระพุทธศาสนานั่นแหละค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนกันหน่อย เพื่อให้ใจเรานิ่ง พอเกิดความเงียบขึ้นในใจ เราก็จะถูกดึงออกมาจากสถานการณ์วุ่นวายรอบตัว และทำให้เราได้อยู่กับตัวเองในที่สุด
โดยสรุปแล้ว..
การต่อกรกับความเครียด มีหลักการและเทคนิคง่ายๆ ดังนี้...
(1) Rethink - ทบทวนความคิดที่เกิดจากการมีเหตุการณ์มากระตุ้นว่ามีความถูกต้อง/น่าเชื่อถือมั้ย?
(2) Reduce - ลดความคิดลบๆ ในชีวิตออกไปซะ!
(3) Relax - พอเริ่มเครียด ก็ลองหยุดพักหายใจ ลองจินตนาการ และลองผ่อนคลายดูบ้าง
(4) Release - หาวิธีปลดปล่อยตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย
(5) Reorganize - ลองปรับตัวเพื่อให้ตัวเองสามารถเข้ากับสถานการณ์เครียดๆ ได้มากขึ้น
[ช่วง] : ก่อนจากลา
หลังจากฟังอบรมครั้งนี้เสร็จ ก็รู้สึกว่า เออ เราตัดสินใจถูกแล้วที่ยอมแหกขี้ตามาร่วมฟังงานอบรมในครั้งนี้ ฮ่าๆๆ ได้อะไรกลับไปเยอะเหมือนกัน ถึงแม้ว่าหัวข้อจะออกแนวการจัดการกับความเครียดในกรณีทั่วๆ ไปมากกว่า ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแต่การศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา แต่ได้เทคนิคการปรับความคิดและปรับพฤติกรรมตัวเองเพื่อให้ใช้กับทุกสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้ เราก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วล่ะ :)
และสุดท้ายนี้ ท่านวิทยากรก็ได้ฝากข้อความทิ้งท้ายที่เราประทับใจเอาไว้ว่า...
"Feel better or get better"
"เมื่อเจอความเครียด เราพอจะเปลี่ยนสถานการณ์ได้มั้ย?
แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ เราพอจะปรับตัวเพื่อให้คุ้นชินกับสถานการณ์เครียดๆ ได้รึเปล่า?
และหากตัดสินใจอันใดไปแล้ว เราก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาให้ได้ด้วย
แม้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึงก็ตาม"
ช่วยได้เยอะเลย :)