ติดละครไทกะอยู่เราเลยถือโอกาสมาพูดถึงละครไทกะของญี่ปุ่นสักหน่อยค่ะ ว่าละครไทกะคืออะไร น่าสนใจตรงไหน ต่างจากละครย้อนยุคเรื่องอื่นยังไง
ละครไทกะ (大河ドラマ-Taiga Dorama) คือ ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องยาวที่ออกอากาศทางช่อง NHK ของญี่ปุ่น เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 1963 โดยส่วนใหญ่แล้วแต่ละเรื่องจะเริ่มออกอากาศเดือนมกราคม (มีเพียงไม่กี่เรื่องที่ออกอากาศหลังเดือนมกราคมแต่ก็ล้วนเริ่มตอนต้นปี) และออกอากาศยาวไปจนจบเรื่องในช่วงเดือนธันวาคม รวมจำนวนตอนของละครไทกะหนึ่งเรื่องก็ราว 50 ตอนได้ค่ะ โดยจะออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.00 น. (JST) ความยาวประมาณ 45 นาทีต่อตอน
จุดเด่นของละครไทกะนอกจากจะเป็นละครยาวที่ฉายตลอดทั้งปีแล้ว ยังเป็นละครที่มีตัวละครเอกเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์และถ่ายทอดเรื่องราวตลอดชีวิตของเขาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงบั้นปลายชีวิต บอกเล่าชีวิตของเขาหรือเธอ คนรอบข้าง เหตุการณ์ต่างๆ ที่กินเวลายาวนานหลายสิบปี มีพัฒนาการไหลไปตามกาลเวลาและยุคสมัย แต่ถึงจะบอกว่าเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ แต่บางครั้งก็จะมีตัวละครที่เขียนเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อสร้างสีสันให้เรื่องราวอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่จับตามองเสมอคือนักแสดงนำของละครไทกะค่ะ คนที่จะได้มาแสดงนำนั้นมักได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นนักแสดงฝีมือดี เป็นนักแสดงดาวรุ่งในช่วงนั้น ซึ่งในช่วงแรกตัวละครเอกของละครไทกะมักเป็นตัวละครชาย แต่ตั้งแต่ปี 2000 มา ตัวละครเอกของละครไทกะก็เริ่มเป็นผู้หญิงมากขึ้นค่ะ
นอกจากนักแสดงนำแล้ว ละครไทกะก็มักจะขนทั้งไอดอล, นักแสดงตลก, นักแสดงฝีมือดีอีกมากมายมาร่วมแสดงด้วยอย่างคับคั่งทีเดียว
แล้วทำไมถึงเรียกว่า “ละครไทกะ” ไม่ใช่ “ละครย้อนยุค (時代劇 – Jidaigeki)” หรือ “ละครอิงประวัติศาสตร์ (歴史劇 – Rekishigeki)” ไปเลย? แล้วสามอย่างที่ว่านี่มันต่างกันยังไงนะ?
ละครไทกะถือเป็นละครย้อนยุคและละครอิงประวัติศาสตร์ค่ะ ซึ่งนอกจาก NHK แล้วยังมีละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ออกอากาศในช่องอื่นด้วย แต่จะใช้ชื่อ “ละครไทกะ” เฉพาะกับละครรายปีที่ออกอากาศทางช่อง NHK เท่านั้นค่ะ
ตอนที่ละครไทกะเรื่องแรก Hana no Shogai ออกอากาศ มันถูกเรียกว่า ละครอิงประวัติศาสตร์ฟอร์มยักษ์ หรือ 大型歴史ドラマ (Oogata Rekishi Dorama) ค่ะ
แต่ในปี 1964 ตอนที่ละครเรื่องที่สอง Ako Roshi ออกอากาศหนังสือพิมพ์โยมิอุริเปรียบเทียบผลงานละครเรื่องนี้เสมือนนวนิยายชุดขนาดยาวหรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “大河小説 (Taiga Shousetsu)” ซึ่งเป็นนวนิยายที่เขียนถึงช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งเลื่อนไหลไปตามยุคสมัยโดยข้องเกี่ยวกับสังคมและประวัติศาสตร์ จึงเรียกละครของNHKว่า “ละครไทกะ(大河ドラマ-Taiga Dorama)”
หลังจากนั้น 15 ปี ทาง NHK จัดงานครบรอบละครไทกะโดยใช้ชื่อว่า “大河ドラマの15年” ตั้งแต่นั้นเลยเรียกละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ของช่อง NHK ว่า “ละครไทกะ” ค่ะ
ถึงจะบอกว่าละครไทกะเป็นละครย้อนยุคและละครอิงประวัติศาสตร์ แต่ ละครย้อนยุค หรือ 時代劇 – Jidaigeki และ ละครอิงประวัติศาสตร์ (歴史劇 – Rekishigeki) ก็มีความต่างจากละครไทกะอยู่ค่ะ
時代劇 หรือ ละครย้อนยุค จะเป็นคำที่ใช้เรียกทั้งละครเวที, ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ที่มีฉากหลังอยู่ในสมัยก่อนทั้งหมดค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วก็ตั้งแต่สมัยเฮอันมาจนถึงช่วงก่อนการปฏิรูปเมจิค่ะ (ละครไทกะมีบางเรื่องที่ยาวต่อไปถึงยุคเมจิด้วยแต่ละครย้อนยุคไม่มี)
เรื่องราวในละครแบบนี้ก็จะมีทั้งที่ใช้เหตุการณ์หรือคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์มาแต่งใหม่แล้วผลิตละครและเรื่องที่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องแต่งค่ะ อย่าง “JIN หมอทะลุศตวรรษ” อันนี้ถือเป็น 時代劇 ไม่ใช่ละครไทกะค่ะ
ส่วน 歴史劇 – Rekishigeki หรือ 史劇 – Shigeki นั้นคล้ายกันกับ Jidaigeki ค่ะ เพียงแต่เน้นว่าเป็นการนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาสร้าง
ซึ่งทั้ง 時代劇 – Jidaigeki และ 歴史劇 – Rekishigeki มีจุดร่วมอยู่ที่เล่าเรื่องราวผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนละครทั่วไปค่ะ ไม่ได้เล่าชีวิตทั้งชีวิตของตัวละครเอกค่ะ
สรุปคือ
大河ドラマ (Taiga Drama) = ละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์รายปีออกอากาศทาง NHK เท่านั้น
時代劇 (じだいげき - period drama) = ละครย้อนยุค / ละครพีเรียด
歴史劇 (れきしげき - historical drama) = ละครอิงประวัติศาสตร์ (ย่อว่า 史劇-しげき ก็ได้)
ส่วนละครไทกะเรื่องล่าสุดประจำปี 2021 ที่กำลังจะออกอากาศอยู่ เรื่อง “Seiten wo Tsuke” เป็นเรื่องราวชีวิตของ ชิบุซาวะ เออิจิ (รับบบทโดย โยชิซาวะ เรียว) บิดาแห่งลัทธิทุนนิยมญี่ปุ่น นักอุตสาหกรรมชาวญี่ปุ่น หนึ่งในคนแรกๆ ที่นำระบบทุนนิยมตะวันตกเข้ามาใช้ในญี่ปุ่นหลังจากการฟื้นฟูในสมัยเมจิ ผู้อยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจของญี่ปุ่นสมัยใหม่และธุรกิจมากมาย
ที่สำคัญคือเป็นคนที่จะปรากฏบนธนบัตร 10,000 เยนของญี่ปุ่นที่จะเปลี่ยนใหม่และเริ่มหมุนเวียนในระบบภายในปี 2024 ด้วยค่ะ
ตอนที่เราเขียนเรื่องนี้ลงที่นี่เราดู Seiten wo Tsuke มาได้หลายตอนแล้วค่ะ เล่าเรื่องสนุกและน่าติดตาม เข้าใจง่าย และตัวละครมีเสน่ห์มากด้วย โปรดักชั่นสวยงามและดนตรีประกอบดีมาก รู้สึกว่าดนตรีจะได้ทีมเดียวกับที่ทำดนตรีให้ภาพยนตร์เรื่อง Always: Sunset on Third Street มาทำค่ะ
.
คำว่า 大河 (Taiga-ไทกะ) แปลตรงตัวได้ว่า “แม่น้ำสายใหญ่” ค่ะ ดังนั้นละครไทกะจึงเปรียบเปรยเหมือนเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของตัวละครเอกนั่นล่ะค่ะ เริ่มต้นตรงไหน ไหลผ่านอะไรมาบ้าง แล้วสุดท้ายสายน้ำนี้ไหลไปถึงจุดไหน
สายน้ำที่ไหลไปไม่มีวันหวนกลับ ชีวิตเริ่มต้นแล้วถึงจุดสิ้นสุดอย่างไม่มีวันหวนคืน
แต่สายน้ำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ไหลผ่านเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ทิ้งร่องรอยไว้ และแม้จะจากไปแล้วยังคงหล่อเลี้ยงเรื่องราวหรือชีวิตของผู้คนอยู่
เรื่องราวชีวิตของตัวละครเอกในละครไทกะเป็นเช่นนั้น
.
– พอดีช่วงนี้หนุ่มๆ สาวๆ ที่ชอบทยอยได้แสดงละครไทกะบ้างละครจิไดเกกิบ้าง เวลาแปลสัมภาษณ์เราเลยหาข้อมูลคำศัพท์พอดีเลยเอามาเล่าสู่กันฟังค่ะ เพราะมันมีความแตกต่างกันอยู่ คนอ่านจะได้นึกภาพตามออก (และคนแปลอย่างเราจะไม่สับสนด้วยค่ะ)
– ข้อมูลนี้เราอ่านแล้วรวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ มาเรียบเรียงค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in