อยู่กับก๋งเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เราได้เป็นของขวัญจากพ่อและแม่เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน
พ่อเคยเล่าให้ฟังว่ามันเป็นหนังสือที่ดีมากๆ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ประสีประสาก็แค่เออออไป จนเราได้หยิบมันมาอ่านนั่นแหละ
เฮ้ย....มันดีมากเลยอะ ไม่ได้อ่านหนังสือที่มีกลิ่น มีรูป มีทุกอย่างขึ้นมาในหัวมานานแล้ว บรรยากาศสร้างได้ในความคิดเลย
หนังสือบางเล่มถ้าเราอ่านไม่ถูกเวลา ให้ตายยังไงก็ไม่มีวันเข้าใจจริงๆนะคะ ตอนเด็กเราคงไม่รู้สึกอะไร พอเวลาผ่านไป ได้จับเล่มนึงมาอ่านแล้วถึงรู้ซึ้งในรสพระธรรม--
หนังสือเรื่อง อยู่กับก๋ง เป็นหนังสือที่เขียนโดยคุณ หยก บูรพา (นามปากกาเท่มากเลยค่ะ ชอบ)
เล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองตอนเป็นเด็ก ย้อนไปในช่วงที่ประเทศไทยมีคนจีนเริ่มมาตั้งรกรากในไทย เราก็นั่งคำนวณอยู่ค่ะ อาจจะประมาณ 50-60 ปีได้แล้ว ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะตัวคุณหยกบูรพาตอนนี้ ก็อายุ 70 ปีแล้วค่ะ
โดยปกติแล้วไม่ค่อยได้เขียนรีวิวหนังสือ เพราะเป็นคนอ่านหนังสือไม่กว้างมาก และอ่านไม่ค่อยเยอะ แต่ถ้าเล่มไหนชอบมากๆ ก็อ่านซ้ำเกือบ 10 รอบได้ค่ะ อยู่กับก๋งเป็นเล่มที่เราอ่านมาจนนับไม่ถ้วนเลย จะพยายามเขียนให้ดีที่สุดค่ะ แฮ่ หนังสือเล่มนี้ก็เก่ามากแล้วค่ะ หลายคนคงเคยอ่าน แต่คนที่ไม่เคยอ่าน เราก็อยากจะแนะนำให้ลองอ่านสักครั้งค่ะ
เรื่องย่อคร่าวๆ ก็คือ หยกเป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในห้องแถวกับก๋ง ที่เป็นคนจีนแบบมาประเทศไทยด้วยเสื่อผืนหมอนใบ เข้าใจคนไทย และรักคนไทยมาตลอดชีวิตของก๋ง ตัวละครของหยกจะเป็นคนเล่าเรื่อง ความเป็นไปในชีวิต วิถีชีวิตของคนไทย คนจีน ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองประเทศนี้ ขนบธรรมเนียมต่างๆ โรงเรียน สังคมชนชั้นต่างๆ
เราชอบสำนวนการเขียนและคำสอนในเรื่องนี้มากค่ะ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเก่าๆ แต่ข้อคิด คำสอนของก๋งที่ให้กับหยก หรือตัวละครของครูบรรยงค์(ครูประจำชั้นของหยก) มันสามารถเอามาปรับใช้ได้ตลอด
เช่น อย่างที่ก๋งพูดกับหยกในบทแรก "ไม่ต้องอายที่เป็นคนจน แต่ควรอายที่เป็นคนเลว เพราะความจนความรวยเราเลือกไม่ได้ แต่ความดีความเลวเราเลือกทำเลือกเว้นได้"
หรือจะที่ครูบรรยงค์พูดในฉากที่หยกทะเลาะกับลูกชายของท่านศึกษา (คนใหญ่คนโตในสมัยก่อน)
"คนไม่ผิดผมลงโทษไม่ได้ แต่คนผิดผมไม่ลงโทษให้ได้"
หรือในบางฉากที่ตัวละครของก๋ง ซึ่งทุกคนเคารพก๋งในฐานะที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน และอายุอาวุโสที่สุด มาตั้งรกรากที่นี่ในตลาดแห่งนี้เป็นคนแรกๆ ก๋งก็จะกลายเป็นคนที่ให้คำแนะนำต่างๆ ให้กับคนในละแวกบ้านเดียวกัน ซึ่งจุดนี้ทำให้เราเองก็ได้เห็นบางส่วนของขนบประเพณีของคนจีนค่ะ
เช่น ในฉากหนึ่ง ลูกชายของป้าเง็กจูจะแต่งงานกับคนไทย ป้าแกเป็นคนเคร่งในขนมประเพณีมากค่ะ แกเลยไปโวยวายกับก๋งค่ะ เพราะไม่ยอมรับลูกสะใภ้คนไทย ก๋งก็สอนเทศนาแกไปชุดใหญ่
"ระวังนะเง็กจู...ลื้อจะผิดหวังถ้าบังคับลูกในทางที่ผิดๆ เอาแต่ความพอใจของตัวเองเป็นใหญ่ ..ลื้อจะเสียทั้งธรรมเนียมทั้งลูกชาย จะเตือนไว้"
หื้มมมมมมมมม ถ้าเราเจอประโยคนี้เราก็มีสั่นค่ะ
ในเรื่องมันมีอีกเยอะมากค่ะ เราคงยกมาทั้งหมดไม่ได้
นอกจากนี้ก็มีฉากต่างๆระหว่างหยกกับคุณนายทองห่อ ลำดวน เพื่อนสนิทของหยก คุณครู ป้าข้างบ้านอย่างป้าเง็กจู เฮียเพ้ง พี่นวล คนที่ตลาด ป้าจำเรียง โอย เยอะค่ะ
ฉากบรรยากาศต่างๆมันทำให้เรานึกถึงภาพในฉากเหล่านั้นได้ชัดเจนเลยค่ะ กลิ่นอายเก่าๆมันลอยออกมาเลย
เวลาบรรยายกลิ่นควันไฟหลังบ้าน บรรยากาศตอนเดินเท้าเปล่าไปโรงเรียนบนถนนลูกรัง หรือจะวันที่ฝนตก การบรรยายความงามของคุณนายสุดเสียงสังข์ (คุณนายทองห่อ) ริมฝั่งคลอง ผู้คนเดินขวักไขว่ในตลาด อ่านจบแล้วเรารู้สึกเหมือนเราได้ไปนั่งดูอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆอ่ะ
บางช่วงก็มีแทรกมุกตลกแบบหน้าตายมาบ้าง
เช่น มีฉากนึงที่หยกได้เข้าไปในบ้านคุณนายทองห่อ แล้วเห็นที่นอนเลยไปลองนั่ง แล้วมันนุ่มจนแทบตัวจะฝังเข้าไปในเตียง ในหัวก็พลันนึกถึงประโยคของคนขับสามล้อถีบแถวตลาด
"ฉันนึกฉุกใจ สงสัยขึ้นมาว่า ทำไมคุณปลัดกับคุณนายยังต้องนอนฟูกหนาๆนุ่มๆอย่างนี้อีกหนอ ในเมื่อฉันเคยได้ยินพวกหนุ่มๆถีบสามล้อที่ตลาดพูดกันว่า 'ใครได้คุณนายทองห่อเป็นเมียล่ะก็ นอนสบายไม่ต้องใช้ฟูก..' ฉันก็ได้แต่สงสัย แต่ก็ยังไม่กล้าถามคุณนายทองห่อ"
โอยหยกลูก 55555555555555555555555555555555555555
มันกำลังลงตัว ไม่ยาวไม่มากเกินไป อารมณ์ก็มีทั้งความสุข สนุกตามวัยเด็ก มีข้อคิด เรื่องเศร้าดราม่าไม่ค่อยมีมาก แนวๆอ่านเพลินในวันหยุดค่ะ
ไม่พูดไปมากกว่านี้ละค่ะ เพราะนึกไม่ออกแล้วจะเขียนอะไร #อ้าวนังนี่
ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังมีขายตามร้านหนังสือมั้ยนะคะ อาจจะเปลี่ยนปกเปลี่ยนอะไรไปแล้ว แต่สำหรับเรา เราว่ามันเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การไปหาอ่านจริงๆค่ะ
อยากจะถ่ายรูปหนังสือมาให้ดู แต่ปกหนังสือเรามันเก่าจนเป็นรอยขยึกขยึยยุกยิกไปหมดแล้วค่ะ 55555555
ไปละ บ๊ายบายยยยยยยยยย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in