หลังจากที่ได้แนวทางการ close listening มาแล้ว คราวนี้เราก็ได้รับ assignment ให้ลองวิเคราะห์บทร้องจาก Act 1 และ 2 ที่อาจารย์ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งเราจะลองวิเคราะห์ดูสัก 2 บทค่ะ
1. La vendetta VIDEO
solo ในฉากเปิดตัวบาร์โทโลและมาร์เชลลินา บาร์โทโลมีความแค้นต่อฟิกาโร เนื่องจากเขาต้องการแต่งงานกับโรซินา
(เคาน์เทสอัลมาวิวาในปัจจุบัน) แต่ฟิกาโรช่วยเหลือโรซินาให้แต่งงานกับเคานท์อัลมาวิวาได้สำเร็จ ส่วนมาร์เชลลินาแม่บ้านของบาร์โทโลต้องการแต่งงานกับฟิกาโรตามสัญญา จึงขอให้บาร์โทโลซึ่งเป็นทั้งหมอและนักกฎหมายช่วยจัดการเรื่องนี้ให้
ความหมายโดยรวมของเนื้อเพลงคือบาร์โทโลต้องการใช้ข้อกฎหมายมาเล่นงานฟิกาโร ซึ่งเป้าหมายจริงๆ ก็เพื่อแก้แค้นส่วนตัวนั่นแหละ (บทร้องนี้ชื่อ La vendetta แปลว่าการแก้แค้น) แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้มาร์เชลลินาซึ่งเป็นลูกความด้วย (แต่ถ้าดูถึง Act 3 จะพบว่าคู่นี้มีความสัมพันธ์ซับซ้อนกว่าที่เห็น)
บาร์โทโลเริ่มร้องโดยกล่าวว่าแค้นนี้ที่มีต่อฟิกาโรต้องได้รับการชำระ
ดนตรีท่อนแรกตั้งแต่ "La vendetta..." จนถึง "...è ognor viltà" 4 บาร์แรกมีโน้ทไม่มาก และยังมีการเพิ่มทรัมเป็ตและทิมพานีจากบทร้องก่อนหน้าที่เป็นการพูดคุยมุ้งมิ้งแบบคู่รักหนุ่มสาว ทำให้ดนตรีในช่วงนี้ฟังดูหนักแน่นมั่นคง สื่อถึงความมั่นใจในตัวเองของบาร์โทโล ตั้งแต่บาร์ที่ 5 เป็นต้นไป ออร์เคสตรา มีความ melodious ขึ้น โดยใช้เครื่องสายบรรเลงโน้ท semiquaver เป็นหลัก ตรงนี้อาจจะสื่อถึงลักษณะของบาร์โทโลซึ่งเป็นนักกฎหมายว่านอกจากจะต้องมีความหนักแน่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกความแล้ว ยังต้องมีวาทศิลป์ลื่นไหลน่าฟังเพื่อโน้มน้าวคนด้วย ลักษณะที่แตกต่างกันตรงนี้ปรากฏซ้ำหลายครั้งในบทร้อง ความแตกต่างของโน้ทในบาร์ที่ 1-4 กับบาร์ที่ 5ต่อมาบาร์โทโลก็ขอให้มาร์เชลลินาเชื่อเขาว่าเขามีความสามารถพอที่จะเอาชนะฟิกาโรให้ได้ ซึ่งดนตรีตรงนี้ก็บอกเป็นนัยๆ ว่าความสามารถที่บาร์โทโลจะเอามาใช้คืออะไร
ท่อน "Coll'astuzia, coll'arguzia, col giudizio, col criterio" (นาทีที่ 0:53) เป็นการจับคู่คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันแต่มี nuance ต่างกัน และสื่อสารผ่านดนตรีที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง คำว่า "coll'astuzia" (ไปเปิดพจนานุกรมมาแปลว่า with cunning ความฉลาดแบบมีเล่ห์เหลี่ยม?) ออร์เคสตราทั้งวงบรรเลงโดยใช้ block chord ไดนามิกส์ forte ฟังดูแข็งกร้าว แต่พอเป็นคำว่า "coll'arguzia" (พจนานุกรมแปลว่า with wit น่าจะหมายถึงสติปัญญาในแง่บวก) มีแค่เครื่องสายบรรเลงโน้ทเดี่ยวๆ เป็น semibreve ไดนามิกส์ piano ซึ่งฟังดูนุ่มนวลกว่า สื่อถึงการพลิกแพลงคำแบบนักกฎหมายจอมเจ้าเล่ห์ (รายได้กับรายรับเป็นต้น ) ลักษณะดนตรีที่แตกต่างกันระหว่างคำว่า coll'astuzia (บาร์ที่ 1-2 ในภาพ) กับ coll'arguzia (บาร์ที่ 3-4 ในภาพ)ท่อน "il fatto è serio..." (นาทีที่ 1:22) บาร์โทโลบอกมาร์เชลลินาว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ ออร์เคสตราทั้งวงรวมถึงทิมพานีบรรเลงอย่างหนักแน่น แต่ประโยคถัดจากนั้น "...ma credete si farà" (นาทีที่ 1:30) บาร์โทโลขอให้มาร์เชลลินาเชื่อใจตน ดนตรีตรงนี้ใช้แค่เครื่องสายกับเครื่องเป่าลมไม้บรรเลงเป็นทำนองที่ฟังดู melodious ขึ้น ให้บรรยากาศนุ่มนวลอ่อนหวานต่างจากประโยคก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ลักษณะดนตรีที่แตกต่างกันตรงนี้คล้ายกับช่วงแรกของบทร้อง เป็นการเน้นย้ำถึงความหนักแน่นและวาทศิลป์ของบาร์โทโลอีกครั้ง จากนั้นบาร์โทโลก็บอกเราว่าเขาจะทำอย่างไรเพื่อเอาชนะฟิกาโร
ท่อน "Se tutto il codice..." จนถึง "...si troverà" (นาทีที่ 1:44) บาร์โทโลบอกว่าจะอ่านประมวลกฎหมายทั้งหมดและใช้ความกำกวมของภาษากฎหมายมาเอาชนะฟิกาโรให้ได้ บทร้องตรงนี้เป็น triplet quavers ทั้งหมด และยังมีความโมโนโทนเหมือนเป็น recitative (บทพูด) มากกว่า aria (บทร้อง) ออร์เคสตราก็เล่นโน้ทซ้ำๆ เป็นจังหวะเท่าๆ กันตลอดทั้งท่อน ซึ่งเราคิดว่าน่าจะสื่อถึงลักษณะของประมวลกฎหมายที่เขียนเป็นภาษาตรงๆ ทื่อๆ แบบทางการ ไม่ emotional ดนตรีท่อนที่กล่าวถึงการอ่านประมวลกฎหมายและสุดท้ายบาร์โทโลก็ย้ำอีกครั้งว่าเจ้าฟิกาโรต้องพ่ายแพ้ให้กับบาร์โทโลผู้เลื่องลือแห่งเซบีญ่าแน่นอน
ในช่วงสุดท้ายของบทร้อง (นาทีที่ 2:58) รูปแบบดนตรีในตอนต้นกลับมาอีกครั้ง คราวนี้เครื่องสายบรรเลงโน้ท semiquaver ต่อเนื่องแล้วจบที่ทั้งวงเล่น block chord ปิดท้าย เรารู้สึกว่า solo นี้แสดงถึงคาแรกเตอร์และความเป็นนักกฎหมายของบาร์โทโลออกมาได้ชัดเจนมากๆ คลิปที่เราเลือกมาแปะเป็นคลิปที่นักร้องไม่ได้ acting อะไรมากมายเทียบกับเวอร์ชั่นอื่นๆ เพราะอยากให้ลองฟังแค่ดนตรีดูค่ะว่ามันเล่าเรื่องได้ยังไง
2. Chain finale, Act 2 สำหรับบท finale ของ Act 2 นี้ อาจารย์ได้ให้ clue ในการวิเคราะห์มาเล็กน้อยค่ะ เริ่มจากความพิเศษของมันก่อนเลย finale นี้พิเศษตรงที่เป็น chain finale หมายถึง finale ที่เล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องโดยแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ ได้หลายส่วน มีหลายทำนอง หลายจังหวะ ตัวละครที่ร้องก็สับเปลี่ยนกันเข้าออกระหว่างที่เรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ
ที่บอกว่า finale รูปแบบนี้พิเศษก็เพราะมันเป็นแนวคิดใหม่ในศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้านั้นโอเปร่าส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาจริงจัง โอเปร่าแนวตลกเพิ่งเริ่มบูมในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 และ chain finale ก็เกิดขึ้นพร้อมโอเปร่าแนวตลกนั่นเอง
VIDEO
เราจะขอวิเคราะห์แบบคร่าวๆ ไม่ลงรายละเอียดมากนะคะ เนื่องจากเป็นบทร้องต่อเนื่องที่ยาวมากและเราเปิดสกอร์ตามไม่ค่อยถูก
*แหะๆ* ในฉากนี้ ท่านเคานท์สงสัยว่าเคาน์เทสซ่อนใครไว้ในห้องแต่งตัว เคาน์เทสไม่รู้ว่าซูซานนาเข้ามาสลับตัวโดยให้เครูบิโนหนีไปทางหน้าต่างแล้ว จึงสารภาพว่าคนที่อยู่ในห้องคือเครูบิโน แต่พอเปิดประตูออกมาจริงๆ ทั้งสองก็ต้องประหลาดใจเมื่อคนที่เดินออกมาคือซูซานนา เคาน์เทสจึงแสร้งทำเป็นโมโหกลบเกลื่อนจนท่านเคานท์ต้องตามง้อ
ช่วงแรกสุด ออร์เคสตราช่วงที่เคานท์ร้องจะใช้ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้ในไดนามิกส์ forte มี block chord เป็นช่วงๆ แสดงให้เห็นถึงความเกรี้ยวกราด ส่วนดนตรีช่วงที่เคาน์เทสร้องจะใช้ไดนามิกส์ piano และบรรเลงด้วยเครื่องสายเป็นหลัก ฟังดูนุ่มนวล สื่อว่าเคาน์เทสพยายามอ้อนวอนให้สามีใจเย็นลง ตอนที่ซูซานนาออกจากห้องแต่งตัวและเริ่มร้อง ดนตรีเปลี่ยนจังหวะจาก allegro เป็น molto andante เคานท์และเคาน์เทสก็ร้องตามจังหวะและทำนองของซูซานนา สื่อว่าซูซานนาทำให้ทั้งสองเชื่อได้สำเร็จ ตอนที่เคาน์เทสเริ่มตัดพ้อและเคานท์ต้องไปตามง้อ ดนตรีจะสลับกับ duet ช่วงแรกสุด คือเคาน์เทสร้องกับเครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้ด้วยไดนามิกส์ forte มี block chord เป็นระยะ ส่วนช่วงที่เคานท์ร้องจะใช้เครื่องสายเป็นหลักและดนตรีมีความนุ่มนวลกว่า
จากนั้นฟิกาโรก็เข้ามาบอกว่าทุกคนเตรียมพร้อมฉลองงานแต่งงานของเขากับซูซานนาแล้ว เคานท์พยายามคิดหาหนทางถ่วงเวลา จึงหยิบจดหมายขู่เรื่องที่เขามีชู้ออกมาถามฟิกาโรว่าเขาเป็นคนเขียนหรือไม่
ช่วงแรกที่ฟิกาโรร้อง จังหวะเปลี่ยนจาก 4/4 เป็น 3/8 ออร์เคสตราเล่นโน้ท crotchet ติดๆ กันเป็นส่วนใหญ่ ดนตรีช่วงนี้ฟังดูมีชีวิตชีวาขึ้นเหมือนเพลงเต้นรำจังหวะเร็ว แต่พอเคานท์เริ่มร้อง ออร์เคสตราจะเล่นโน้ทค้างเป็นจังหวะยาวๆ ด้วยไดนามิกส์ที่เบาลง จากนั้นทุกคนรวมถึงฟิกาโรก็เปลี่ยนมาร้องด้วยจังหวะและทำนองแบบเดียวเคานท์ ตรงนี้น่าจะสื่อว่าเคานท์ยังควบคุมทุกคนไว้ได้
ระหว่างนั้นเอง อันโตนิโอคนสวนก็ผลุนผลันเข้ามาบอกว่ามีเด็กหนุ่มกระโดดจากหน้าต่างลงมาทับกระถางต้นไม้ของเขา และยังทำกระดาษแผ่นหนึ่งหล่นไว้ด้วย ฟิกาโรบอกว่าเป็นตัวเขาเองที่กระโดดลงไป เคานท์จึงให้เขาพิสูจน์ด้วยการตอบว่ากระดาษที่ทำหล่นไว้เขียนอะไรอยู่ในนั้น เคาน์เทสและซูซานนาช่วยกันบอกใบ้จนฟิกาโรตอบถูกว่าเป็นเอกสารแต่งตั้งเครูบิโนเข้ากองทัพ
เมื่ออันโตนิโอเข้าฉากมา ดนตรีก็ฟังดูรีบเร่งขึ้น สื่อว่าขณะนี้ความวุ่นวายกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ตอนที่ฟิกาโรบอกว่าตัวเองกระโดดลงไปทำให้ขาแพลง ดนตรีบรรเลงช้าลงและเบาลง (จังหวะเปลี่ยนจาก 4/4 allegro molto เป็น 6/8 andante) สื่อว่าฟิกาโรเดินเหินได้ไม่สะดวก ซึ่งทุกคนก็ร้องตามจังหวะนี้รวมถึงเคานท์ด้วย
เคานท์กำลังจะจนแต้ม แต่แล้วมาร์เชลลินา บาร์โทโล และบาซิลิโอซึ่งเป็นครูสอนดนตรีก็เข้ามาทวงสัญญาที่ฟิกาโรเคยบอกว่าจะแต่งงานกับมาร์เชลลินาถ้าเขาหาเงินมาใช้หนี้เธอไม่ได้
มาร์เชลลินา บาร์โทโล และบาซิลิโอเปิดตัวในฉากนี้พร้อมกับดนตรีที่ฟังดูหนักแน่นมั่นคง จังหวะเปลี่ยนกลับไปเป็น 4/4 allegro assai ช่วงที่ทั้งสามพูดถึงสัญญาที่ฟิกาโรทำไว้กับมาร์เชลลินา ดนตรีที่บรรเลงเป็นลักษณะเดียวกับที่ใช้พูดถึงประมวลกฎหมายในบทร้อง La vendetta คือโน้ทออร์เคสตราเป็นระเบียบ จังหวะเท่าๆ กัน เล่นตัวเดิมซ้ำๆ ส่วนคนร้องก็ร้องโมโนโทนเหมือนเป็น recitative
ช่วงท้ายสุดของ finale นี้ ตัวละครที่ปรากฏในฉากแบ่งเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน ได้แก่ฝ่ายของฟิกาโร ซูซานนา เคาน์เทส กับฝ่ายของมาร์เชลลินา บาร์โทโล บาซิลิโอ และเคานท์ เมื่อมีเหตุการณ์นี้แทรกเข้ามาเป็นตัวช่วย เคานท์จึงขอเลื่อนงานแต่งงานของฟิกาโรกับซูซานนาออกไปก่อนเพื่อตัดสินเรื่องนี้
ดนตรีช่วงที่ฝ่ายฟิกาโรร้องใช้ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้ เล่นในไดนามิกส์ forte แสดงถึงความร้อนรนของทั้งสาม ฝ่ายมาร์เชลลินาจะร้องกับเครื่องเป่าลมไม้ในไดนามิกส์ piano ดนตรีฟังดูสบายๆ ไม่รีบร้อน บ่งบอกว่าพวกเขามั่นใจว่าตัวเองจะชนะคดีและบรรลุจุดประสงค์ส่วนตัวของแต่ละคนได้แน่
จบแล้วค่ะ! *ปาดเหงื่อ* สำหรับการทำความรู้จักโอเปร่าเรื่องแรกก็คงปิดฉากลงแต่เพียงเท่านี้ สัปดาห์ต่อๆ ไปเราต้องนำทักษะ close listening ที่ได้ฝึกในสัปดาห์นี้ไปใช้ต่อด้วย ในเอนทรีถัดไปเราจะมารีวิวสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดในสัปดาห์นี้กันค่ะ!
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in