จังหวัดเกียวโต หรือ 'นครพันปีเกียวโต' เป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 8 เกียวโตเป็นเมืองทางตะวันตกของเกาะฮอนชูที่เจริญรุ่งเรืองมากในฐานะศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เกียวโตได้สืบทอดประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 1,100 ปี ก่อนที่ญี่ปุ่นจะย้ายเมืองหลวงไปที่เอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน หลังจากการล่มสลายทางอำนาจของ 'โทคุกาวะ โยชิโนบุ' โชกุนคนสุดท้าย และเข้าสู่ยุคเมจิหรือยุคที่จักรพรรดิกลับมามีอำนาจอีกครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
นอกจากนี้ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 'จังหวัดเกียวโต' กับจังหวัดโยโกฮาม่าก็อยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ที่อเมริกาจะทิ้งระเบิดปรมาณูใส่! แต่ด้วยเหตุผลหรือสิ่งศักดิ์สิทธ์ประการใดก็ไม่รู้ อเมริกากลับเปลี่ยนใจไปทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่าแทนซะงั้น!
(ความจริงแล้วสาเหตุที่ไม่ทิ้งระเบิดลงที่โยโกฮาม่านั้น เป็นเพราะว่าเมืองนี้ได้รับความเสียหายมามากพอแล้วจากการทำสงครามภาคปกติ อเมริกาเลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปทิ้งระเบิดที่นี่ให้เสียเวลาหรอก ก็มันไม่อิมแพคนี่ ส่วนที่ตัดเกียวโตออกไปเป็นเพราะว่าเมืองนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางของจักรพรรดิอยู่ หลังสงครามจบก็กลัวจะไม่ได้รับความนิยมจากคนญี่ปุ่นถ้าทิ้งระเบิดลงที่นี่)
ถ้าพูดถึง 'จังหวัดเกียวโต' ภาพในหัวของทุกคนก็คงจะเป็นวัดหรือศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงใช่ไหมล่ะ เพราะนอกจากจะมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ถึง 17 แห่งแล้ว เกียวโตยังเป็นเมืองที่เปรียบเสมือนต้นกำเนิดของวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ศาสนา การปกครอง และอื่นๆอีกมากมาย
นี่ยังไม่รวมถึงมรดกโลกอย่างวัดคิโยมิสึและปราสาทนิโจด้วยนะ ไหนจะเทศกาลหลักทั้ง 3 ของเกียวโตที่ทั่วโลกต่างรู้จัก คือ เทศกาลอาโออิที่จัดขึ้นช่วงต้นฤดูร้อน เทศกาลกิองที่จัดขึ้นกลางฤดูร้อน และเทศกาลจิไดที่จัดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง นอกจากนั้นยังมี โกซัง โนะ โอคุริบิ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อไดมอนจิ-ยากิ ซึ่งจัดขึ้นในคืนอุราบ้ง (หรือวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี) ในช่วงเทศกาลนี้จะมีการจุดคบไฟขึ้นจำนวนมากบนภูเขาทั้ง 5 ลูกที่ล้อมรอบเกียวโต และชาวเมืองจะนำคบไฟทั้งหมดไปวางเรียงเป็นตัวอักษรอย่างสวยงาม
ด้วยความที่เป็นเมืองหลวงมาอย่างยาวนาน จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าที่เที่ยวเกียวโตนั้นมีเพียบ! แถมมีสถานที่ที่สวยเป็นพิเศษในแต่ละฤดูกาลอย่างครบครัน ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปดูว่าที่ไหนน่าไปโดน และของกินอะไรบ้างที่พลาดไม่ได้
จังหวัดเกียวโต ตั้งอยู่บริเวณเกือบกึ่งกลางของเกาะฮอนชู มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับหุบเขา ทิศเหนือติดกับทะเลญี่ปุ่น ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเฮียวโกะ ทิศใต้ติดกับจังหวัดโอซาก้าและจังหวัดนารา ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดฟุกุอิ และมีภูเขาทัมบะพาดผ่านบริเวณกึ่งกลางของจังหวัด จึงทำให้ตอนเหนือกับตอนใต้ของจังหวัดเกียวโตมีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันมาก
ผู้คนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดหรือบริเวณคาบสมุทรทังโกะนิยมประกอบอาชีพด้านการประมงหรือการขนส่งทางน้ำ ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่ตอนกลางของจังหวัดมักนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้จังหวัดเกียวโตยังมีโบราณวัตถุมากมาย ชื่อเสียงด้านการทำผ้าไหมและผ้าแพรก็เป็นที่เลื่องลือเช่นกัน อีกทั้งยังโด่งดังเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวด้วย
เกียวโตเป็นจังหวัดที่เดินทางไปได้อย่างสะดวก หากโดยสารรถไฟชินคันเซ็นจะใช้เวลาเดินทางดังนี้
ส่วนใครที่มาจากโอซาก้า ถ้าเป็นรถไฟธรรมดาจะใช้เวลา 42 นาที ส่วนชินคันเซ็นใช้เวลาเพียง 13 นาที! สำหรับการเดินทางในตัวเมืองเกียวโต ขอแนะนำตั๋วรถบัสรายวัน 600 เยน ที่สามารถนั่งกี่รอบก็ได้
ต่อจากนี้เราจะเริ่มแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งชอปปิ้งในเกียวโตกันเลย
วัดคินคะคุจิ (Kinkakuji Temple) หรือวัดทองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี 1994
เดิมทีวัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่พำนักของโชกุนอาชิคากะ โยชิมิสุ (Ashikaga Yoshimitsu) และจะใช้รับรองแขกคนสำคัญเท่านั้น ก่อนที่โชกุนคนดังกล่าวจะถึงแก่กรรมไป ได้มีการยกที่พักแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนาพุทธนิกายเซน จนกลายเป็นวัดคินคะคุจิจนถึงปัจจุบัน
ด้วยสีทองเหลืองอร่ามของตัวอาคารหลักและความงดงามตระการตาของวัดคินคะคุจิ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นต้นแบบของวัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple) หรือวัดเงินในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังเป็นวัดในการ์ตูนเรื่องอิคิวซังด้วยนะ
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
วัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple) หรือวัดเงินเป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในนิกายเซนที่โชกุนอาชิคากะ โยชิมาสะ (Ashikaga Yoshimasa) เป็นผู้สร้างขึ้น นอกจากวัดแห่งนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเกียวโตแล้ว ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 1994 จากองค์การยูเนสโกอีกด้วย
ส่วนชื่อที่เรียกกันว่าวัดเงินนั้น เป็นการตั้งให้พ้องไปกับวัดทองหรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า 'วัดคินคะคุจิ (Kinkakuji Temple)' โดยวัดทองเป็นต้นแบบในการสร้างวัดแห่งนี้ (ดูจากหน้าตาก็คงจะเดาได้ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะเหมือนเป๊ะซะขนาดนี้)
เดิมทีจุดประสงค์ของการสร้างวัดแห่งนี้คือ ใช้เป็นที่พำนักหลังเกษียณอายุของอาชิคากะ โยชิมาสะ แต่หลังจากที่โชกุนเสียชีวิตลง สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นวัดกินคะคุจิหรือวัดเงินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
แต่ทุกคนคงเห็นจากรูปว่านี่มันวัดไม้ชัดๆ ไม่เห็นจะมีส่วนไหนที่เป็นเงินเลย
ขอตอบให้เลยละกันว่าความจริงแล้วโชกุนตั้งใจจะหุ้มวัดนี้ด้วยเงินเหมือนกัน แต่โชกุนกลับมาเสียชีวิตไปซะก่อน วัดกินคะคุจิจึงเป็นวัดไม้อย่างที่เห็น แต่เมื่อแสงจันทร์ยามค่ำคืนตกกระทบกับตัววัด เราก็จะเห็นวัดกินคะคุจิเป็นสีเงิน ดูสง่างามแม้ไม่ต้องหุ้มด้วยเงินเลยทีเดียว
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
วัดโทฟุคุจิ (Tofukuji Temple) สร้างขึ้นในปี 1236 เป็นวัดนิกายเซนขนาดใหญ่ใน 'จังหวัดเกียวโต' ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในแง่ของจุดชมใบไม้เปลี่ยนสี
ที่มาของชื่อวัดแห่งนี้มาจากการนำชื่อของวัด Todaiji และวัด Kofukuji ที่จังหวัดนารามารวมกัน โดยนำตัวอักษร '東' (อ่านว่าโท แปลว่าตะวันออก) ของวัดโทไดจิ (東大寺 / Todaiji) และ '福' (อ่านว่าฟุคุ แปลว่าโชคลาภ) ของวัดโคฟุคุจิ (興福寺 / Kofukuji) มารวมกัน
แต่เดิมวัดโทฟุคุจิก่อตั้งขึ้นจากการเปิดสำนักสงฆ์โดยพระภิกษุเอ็นนิ เบ็นเอ็น (円爾弁円 / ENNI Ben-en) โดยคำสั่งของตระกูลฟูจิวาระ และมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเป็นวัดประจำตระกูลคุโจ (九條) โดยคุโจ มิจิอิเอะ (九條道家 / KUJO Michiei) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลานั้น
สำหรับจุดถ่ายรูปที่สวยที่สุด เห็นจะเป็นที่สะพานซึเทนเคียว (Tsutenkyo Bridge) เพราะมีใบไม้สีแดงสลับเหลืองของต้นเมเปิลปกคลุมไปถึง 100 เมตรตามความยาวของสะพาน เรียกได้ว่าเหมือนได้อยู่ในทะเลของใบเมเปิลเลยทีเดียว
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
วัดเอคังโด (永観堂 : Eikando Temple) หรือชื่อเต็มคือ 'วัดเอคังโด เซ็นรินจิ' (Eikando Zenrin-Ji Temple) เป็นวัดพุทธมหายานนิกายโจโดที่มีชื่อเสียงอย่างมากในแง่ของจุดชมใบไม้เปลี่ยนสี
ในปี 853 ซึ่งตรงกับยุคเฮอัน ได้มีการสร้างสถานปฏิบัติธรรม ณ ตำแหน่งเดียวกันกับวัดเอคังโดในปัจจุบัน ต่อมาจักรพรรดิเซวะ (Emperor Seiwa) ได้อนุญาตให้ก่อตั้งวัดเซ็นรินจิ (Zenrin-ji) ขึ้น โดยวัดแห่งนี้เป็นวัดในพุทธนิกายชินกอน เมื่อเวลาผ่านไปได้มีเจ้าอาวาสท่านหนึ่งที่ได้รับการเลื่อมใสจากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก นามว่าเอคัง (Eikan) ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมาก็มีการเรียกชื่อวัดนี้ว่าวัดเอคังโด (Eikando)
และในช่วงศตวรรษที่ 13 เจ้าอาวาสก็ได้เปลี่ยนวัดนี้จากพุทธนิกายชินกอนเป็นวัดพุทธนิกายโจโด
ในช่วงปี 1467 - 1469 ได้เกิดสงครามโอนินขึ้น ผลกระทบจากสงครามครั้งนี้คือตัวอาคารวัดเกิดความเสียหายอย่างมาก เมื่อสงครามสิ้นสุดลง จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมและสร้างอาคารต่างๆในวัดขึ้นมากมายดังที่เห็นในปัจจุบัน
สำหรับจุดที่สวยที่สุดของวัดเอคังโดคือ เจดีย์ทาโฮโต (Tahoto Pagoda) ที่สร้างขึ้นในปี 1928 มีลักษณะเป็นเจดีย์ 2 ชั้น ตั้งอยู่บนเนินเขาและเป็นจุดที่ตั้งอยู่บริเวณสูงสุดของวัด นอกจากเจดีย์นี้จะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของวัดแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถขึ้นไปยังเจดีย์เพื่อชมทัศนียภาพของเมืองเกียวโตในมุมสูงได้ด้วย
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
วัดคิโยมิสึ หรือที่เรียกติดปากกันว่า 'วัดน้ำใส' (และชื่อวัดก็แปลแบบนี้เลย) เป็นวัดพุทธสายฮตโซที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และน่าจะเป็นวัดที่ดังที่สุดในญี่ปุ่นแล้วล่ะ! วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 780
ที่มาของชื่อวัดมาจากบริเวณวัดที่สร้างขึ้นตรงน้ำตกโอโตวะหรือน้ำตกศักดิ์สิทธิ์ที่มีน้ำบริสุทธิ์ ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นนั้น ว่ากันว่าหากได้ดื่มน้ำจากน้ำตกโอโตวะแล้วจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต 3 เรื่อง คือ ความรัก การเรียน และการมีชีวิตยืนยาว
จุดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น 'อาคารหลักของวัดที่ตั้งอยู่เหนือแนวต้นไม้' และที่เราเห็นเหมือนกับว่าตัวอาคารลอยอยู่บนอากาศ เพราะอาคารนี้สร้างแบบญี่ปุ่นโบราณ กล่าวคือเป็นวิธีสร้างอาคารที่อาศัยการล็อกข้อต่อไม้ และจะไม่มีการใช้ตะปูในโครงสร้างอาคารเลย
สำหรับสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างแบบญี่ปุ่นโบราณนั้น นอกจากวัดน้ำใสแล้วก็ยังมี 'ศาลเจ้าอิเสะ' อีกที่หนึ่งด้วย
อ่านเรื่องของศาลเจ้าอิเสะได้ที่นี่ > ศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingu) ที่สถิตของสุริยเทวีอามาเทราสึ
ส่วนความสวยงามอลังการของสถานที่แห่งนี้นั้น แม้ไม่บรรยายทุกคนก็คงจะรับรู้กันดีแล้ว แต่อยากแนะนำให้ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวตอนกลางคืนดูบ้าง เพราะสวยงามไม่แพ้กับตอนกลางวันเลยทีเดียว
และโซนย่อยอีกโซนหนึ่งที่ต้องไปในวัดน้ำใสก็คือ ศาลเจ้าจิชู ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพโอคุนินูชิ หรือ เทพเจ้าแห่งสายสัมพันธ์และความรักของศาสนาชินโต ทำให้ศาลเจ้าจิชูเป็นที่นิยมของผู้ที่มาสักการะเพื่อขอให้มีความรักและความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่แค่ความรักของคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ในเชิงมิตรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรากับเหล่าผองเพื่อน หรือเจ้านายกับลูกน้อง
ที่พลาดไม่ได้อย่างแรงคือ หินเสี่ยงทายรัก ที่มีเสียงเล่าลือมาตั้งแต่สมัยเอโดะว่าใครก็ตามที่มาเสี่ยงทายความรักกับหิน 2 ก้อนนี้ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง จะประสบกับความรักที่สมหวัง
ส่วนวิธีการที่ว่าก็ไม่มีอะไรมาก เราแค่ต้องหลับตาเดินจากก้อนหินฝั่งเริ่มต้นไปจนถึงหินก้อนที่อยู่ปลายทาง ขอย้ำเลยว่าห้ามแอบปรือตามองทางเด็ดขาดเลยนะ เดี๋ยวไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้วจะพาพรไม่สมหวังเอา
ทั้งนี้เราสามารถให้เพื่อนช่วยบอกทางได้ แต่จะมีผลต่อคำทำนายคือ ถ้าเราเดินไปถึงหินปลายทางได้ในครั้งแรกครั้งเดียว ความรักของเราจะไม่มีอุปสรรคและสมหวังได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเราต้องให้เพื่อนช่วยบอกทาง ความรักของเราก็สมหวังแหละ แต่ต้องให้เพื่อนเป็นคนชง และถ้าเราต้องเดินหลายครั้งแต่สุดท้ายก็เดินถึงหินปลายทาง แสดงว่าความรักครั้งนี้จะสมหวังเมื่อเราพยายาม และถ้าเดินยังไงก็ไปไม่ถึงสักที อันนี้อาจจะต้องตัดใจแล้วล่ะ ถ้าไม่อยากยอมแพ้ก็ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เยอะหน่อยนะ
อ่านข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับวัดคิโยมิสึได้ที่นี่ > Must See Place! ชมวัดน้ำใส Kiyomizu และพื้นที่โดยรอบ
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ศาลเจ้าคิตาโนะเทนมังกุ เป็นศาลเจ้าสายเทนมังกุที่สำคัญเคียงคู่กับดาไซฟุเทนมังกุของฟุกุโอกะ และยังเป็น 1 ใน 3 ศาลเจ้าใหญ่ของเกียวโต ร่วมกับศาลเจ้าฟูชิมิอินาริและศาลเจ้ายาซากะ
แต่เดิมศาลเจ้านี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ดวงวิญญาณของ 'สุกาวาระ มิจิซาเนะ' นักการเมืองและนักปราชญ์ที่มีความสามารถ แต่กลับโดนกลั่นแกล้งทางการเมืองจนถูกเนรเทศไปอยู่ดาไซฟุ สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจจบชีวิตลงที่นั่น และหลังจากที่มิจิซาเนะสิ้นชีพไป ก็ได้เกิดมหาภัยพิบัติและโรคระบาดต่างๆขึ้นมากมาย ทำให้ผู้คนเชื่อกันว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความโกรธแค้นของดวงวิญญาณมิจิซาเนะ
ต่อมาในปี 947 จึงได้มีการสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อให้ดวงวิญญาณมิจิซาเนะสงบลง
เพราะในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ มิจิซาเนะเป็นนักปราชญ์ที่เก่งกาจ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งการศึกษา (เทนจิน) ด้วยเหตุนี้ศาลเจ้าคิตาโนะเทนมังกุจึงกลายเป็นศาลเจ้าแห่งการเรียนนั่นเอง
และนอกจากจะเป็น power spot ชื่อดังด้านการเรียนแล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงมากเรื่องธรรมชาติที่สวยงามในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ดอกบ๊วยบานสะพรั่ง
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ถนนสายนักปราชญ์ (Philosopher’s Path) สร้างขึ้นในปี 1890 สถานที่แห่งนี้เป็นทางเดินเท้าเล็กๆยาว 2 กิโลเมตร ยาวเลียบไปตามคลองส่งน้ำบิวะที่ส่งน้ำมาจากทะเลสาบบิวาโกะ
ถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณหน้าวัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple) ไปจนถึงหน้าวัดนันเซ็นจิ ส่วนที่มาของชื่อ 'ถนนสายนักปราชญ์' นั้นได้มาจากในอดีตที่ 'นิชิดะ คิตาโระ' (Nishida Kitaro) นักปราชญ์ชื่อดังในยุคเมจิ - ยุคโชวะมักจะมาเดินที่นี่เพื่อให้ตนมีสมาธิและสงบจิตใจไปในเวลาเดียวกัน พอชาวบ้านละแวกนี้เห็นว่าคิตาโระเดินผ่านอยู่เป็นประจำ สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นถนนสายนักปราชญ์จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ถนนสายนักปราญช์ยังเป็นอีกหนึ่งจุดชมดอกซากุระที่สวยงามมากๆในจังหวัดเกียวโต
อ่านเรื่องถนนสายนักปราชญ์เพิ่มเติมได้ที่นี่ > ตามรอยนักปราชญ์ชมซากุระที่ถนนสายนักปราชญ์
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
ศาลเจ้าเฮอัน (Heian Shrine) เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบปี 1,100 ของเมืองเกียวโต และเพื่อระลึกถึงจักรพรรดิคามมุ (Emperor Kammu) และจักรพรรดิโคเมอิ (Emperor Komei) ซึ่งทั้งสองเป็นจักรพรรดิคนแรกและคนสุดท้ายของเกียวโต
แน่นอนว่าจุดเด่นของสถานที่แห่งนี้คือประตูโทริอิยักษ์สีแดงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด นอกจากนี้ศาลเจ้าเฮอันยังสร้างขึ้นโดยใช้แบบจำลองของพระราชวังในสมัยเฮอัน โดยมีขนาดย่อส่วน 5:8 จากของจริง
นอกจากนี้สีแดงสดของเสาที่ตัดกับหลังคาสีเขียวมรกตเข้มยังให้ความสดใสแก่ผู้ที่พบเห็นอีกด้วย
หากมายังสถานที่แห่งนี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เราอยากให้ทุกคนได้เดินไปทางสวนด้านหลังศาลเจ้า เพราะนั่นเป็นจุดชมดอกซากุระที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของเกียวโตเลยทีเดียว
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ศาลเจ้าคิฟุเนะ เป็นศาลเจ้าที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ความรักและการแต่งงาน สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาทางตอนเหนือของจังหวัดเกียวโต และเป็นศาลเจ้าชินโตที่มีอายุถึง 1,300 ปี !
ชื่อเสียงของศาลเจ้านี้มาจากตำนานที่เล่าต่อๆกันมาว่า มีกวีเอกหญิงในยุคเฮอันคนหนึ่งนามว่าอิสุมิ ชิคิบุได้เดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ นอกจากนั้นเธอยังขอพรในเรื่องความรักกับศาลเจ้าคิฟุเนะอีกด้วย (แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสมหวังหรือเปล่า แต่นี่ว่าคงสมหวังเพราะสุดท้ายศาลเจ้าคิฟุเนะก็ดังขึ้นมาไง 555)
นอกจากตำนานความศักด์สิทธิ์ต่างๆแล้ว ศาลเจ้าคิฟุเนะยังมีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงามของบันไดโคมไฟที่เปิดในช่วงกลางคืน ซึ่งแต่ละฤดูกาลก็จะมีความงามที่แตกต่างกันไป
ส่วนเรื่องความสวยงามนั้น บอกได้เลยว่าศาลเจ้าคิฟุเนะก็ไม่เป็นสองรองใคร พอเข้าสู่ช่วงกลางคืนเราจะได้ชมความงามของบันไดโคมไฟ ซึ่งแต่ละฤดูกาลจะมีความสวยงามแตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถเพลิดเพลินกับอาหารท้องถิ่นแสนอร่อยท่ามกลางสายลมที่พัดเอื่อยๆได้ด้วยนะ
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ เป็น 1 ใน 3 ศาลเจ้าใหญ่ของเกียวโต ร่วมกับศาลคิตาโนะเทนมังกุและศาลเจ้ายาซากะ อีกทั้งยังเป็นศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาศาลเจ้าสายอินาริ หรือศาลที่มีไว้เพื่อบูชาเทพอินาริซึ่งเป็นเทพแห่งการเกษตร ที่สำคัญคือศาลเจ้าฟูชิมิอินาริมีมาตั้งแต่เกียวโตยังเป็นวุ้นอยู่เลย เพราะสร้างเสร็จในปี 794 ที่นี่จึงถือว่าเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของเกียวโต
ผู้คนส่วนมากที่มาสักการะศาลเจ้าแห่งนี้ นอกจากจะมาขอพรเรื่องการเงินแล้ว ก็ยังมาเพราะเสาประตูโทริอิสีแดงสดที่ตั้งเรียงรายตามทางขึ้นศาลเจ้าเป็นพันเสา! ชาวญี่ปุ่นเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า 'เซ็มบงโทริอิ' (Senbon Torii) หรือประตูโทริอิพันเสา (thousands of torii gates)
สาเหตุที่มีประตูโทริอิมากมายขนาดนี้เป็นเพราะว่ามีบุคคลหรือองค์กรต่างๆร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้าง โดยนามของผู้บริจาคและวันที่บริจาคจะถูกสลักลงไว้ที่ด้านหลังของเสาแต่ละต้น สำหรับรายละเอียดในการบริจาคนั้นก็จะมีตั้งแต่เสาต้นเล็กที่มีมูลค่าสี่แสนเยน ไปจนถึงเสาต้นใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่าล้านเยนเลยทีเดียว
อ่านเรื่องศาลเจ้าฟูชิมิอินาริเพิ่มเติม > ไหว้ท่านเทพจิ้งจอก&เทพแห่งน้ำที่ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ ศาลเจ้าชิโมกาโมะ และศาลเจ้าคามิกาโมะ
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ศาลเจ้าชิโมกาโมะเป็นศาลเจ้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในลัทธิชินโต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเกียวโต นอกจากจะเป็นหนึ่งในศาลเจ้าพี่น้องกับศาลเจ้าคามิกาโมะแล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้ก็เป็น 1 ใน 17 แหล่งมรดกโลกของเกียวโตอีกด้วย
คำว่า 'ชิโมกาโมะ' หมายถึง 'คาโมะเบื้องล่าง' เป็นชื่อที่เรียกตามสถานที่ตั้งของศาลเจ้าแห่งนี้ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของจุดที่ไหลมาบรรจบกันของแม่นํ้าทาคาโนะและแม่น้ำคาโมะ
สำหรับความเป็นมาของศาลเจ้าชิโมกาโมะนั้น ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเทมมู หรือช่วงปี 675 - 686 เพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือเทพยาตะการาสุ (Kamo Taketsunuminomikoto) เทพทามะโยริฮิเมะ (Tamayori-hime) และเทพคามิมุสึบิ (Kamimusubi)
เนื่องจากสถานที่แห่งนี้บูชาเทพเจ้าแห่งความรักถึง 2 องค์ด้วยกันคือ เทพทามะโยริฮิเมะ (Tamayori-hime) กับเทพคามิมุสึบิ (Kamimusubi) ที่นี่จึงมีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะ power spot ด้านความรัก
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ศาลเจ้าคามิกาโมะเป็นศาลเจ้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในลัทธิชินโต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเกียวโต นอกจากจะเป็นหนึ่งในศาลเจ้าพี่น้องกับศาลเจ้าชิโมะกาโมะแล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้ก็เป็น 1 ใน 17 แหล่งมรดกโลกของเกียวโตอีกด้วย
คามิกาโมะ หมายถึง 'คาโมะเบื้องบน' เป็นชื่อที่เรียกตามสถานที่ตั้งของศาลเจ้าแห่งนี้ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของจุดที่ไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำคาโมะ
เชื่อกันว่าศาลเจ้าคามิกาโมะสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเทมมูช่วงปี 675 - 686 เพื่อบูชาแด่เทพคาโมะวาเกะ อิกะสึจิ (Kamo Wake-Ikazuchi) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งไฟและเทพชัยชนะ เพราะชาวญี่ปุ่นเองมีความเชื่อมาแต่โบราณกาลว่าแม่น้ำคาโมะที่ไหลมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเปรียบเสมือนการนำเหล่าปีศาจเข้าสู่เมือง และเทพคาโมะวาเกะ อิกะสึจินี่แหละที่เป็นผู้ปัดเป่าความชั่วร้ายและปกป้องประชาชนจากปีศาจทั้งปวง
ในปัจจุบัน ผู้คนที่นิยมมาสักการะที่ศาลเจ้าแห่งนี้จึงมักจะมาขอพรให้ชนะอุปสรรคต่างๆ หรือมาแก้ชงกันนั่นเอง
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ศาลเจ้ายาซากะ หรือที่รู้จักกันในชื่อหนึ่งว่า 'ศาลเจ้ากิอง' ตั้งอยู่ระหว่างย่านกิองกับย่านฮิกาชิยามะ นับเป็นศาลเจ้าเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเกียวโต และเป็น 1 ใน 3 ศาลเจ้าใหญ่ในเกียวโต ร่วมกับศาลเจ้าคิตาโนะเทนมังกุและศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ
นอกจากจะสวยเด่นเป็นศรีเกียวโตแล้ว ความขลังของศาลเจ้ากิองแห่งนี้ก็ไม่แพ้ศาลเจ้าใดๆในญี่ปุ่น เพราะที่นี่เป็น power spot แบบสารพัดนึก สามารถขอพรได้ทุกเรื่อง อยากขออะไรก็ขอโลดเด้อ
อ่านเรื่องศาลเจ้ายาซากะเพิ่มเติมได้ที่ > สัมผัสเสน่ห์เมืองเก่าย่านกิอง ถ่ายรูปไม่ได้ไม่เป็นไร ทัวร์ศาลเจ้าสุดยิ่งใหญ่ในเกียวโตแทนก็ได้
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
วัดเคนนินจิ เป็นวัดพุทธนิกายเซนสายรินไซที่เก่าแก่ที่สุดในเกียวโต ก่อตั้งขึ้นโดยหลวงพ่อเอไซในปี 1202
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของวัดนี้เห็นจะเป็นงานศิลปะภาพวาดมังกรที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ต้องเจอ โดยเฉพาะเพดานของโถงหลัก
นอกจากนี้วัดเคนนินจิยังมีสวนหินแบบเซนที่ใหญ่และสวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งอีกด้วย
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ปราสาทนิโจ (二条城, Nijo-Jo) สร้างขึ้นในปี 1603 เพื่อเป็นที่พักของโชกุน 'โทคุกาวะ อิเอยาสึ' (Tokugawa Ieyasu) ต่อมาอิเอมิตสึ (Iemitsu) ผู้เป็นหลานได้สานต่อการสร้างปราสาทจนแล้วเสร็จในอีก 23 ปีให้หลัง นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ก่อสร้างเพิ่มเติมคือหอปราสาทห้าชั้น
หลังจากการล่มสลายของโชกุนและเข้าสู่ช่วงปฏิรูปเมจิในปี 1867 ปราสาทนิโจกลายเป็นพระราชวังของจักรพรรดิและราชวงศ์อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ภายหลังได้อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลเมือง เพราะจักรพรรดิได้ย้ายไปประทับที่เอโดะแทน
นอกจากจะเปิดเป็นสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ให้ประชาชนเข้าชมแล้ว ตัวอาคารของวังในปราสาทนิโจก็นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสถาปัตยกรรมปราสาทในยุคศักดินาของญี่ปุ่นที่ยังคงหลงเหลือในปัจจุบัน และในปี 1994 ปราสาทนิโจก็ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกที่สำคัญยิ่งจากยูเนสโก
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
อาราชิยามะ (Arashiyama) หรือภูเขาพายุ ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองฝั่งทิศตะวันตกของจังหวัดเกียวโต โดยห่างจากตัวเมืองหลักไปประมาณ 30 นาที
พื้นที่แห่งนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุสรณ์สถานของประเทศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวมากมาย เพราะอันที่จริงแล้วอาราชิยามะนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 9 ด้วยธรรมชาติที่สวยงามและความร่มรื่นของสถานที่แห่งนี้ทำให้เหล่าขุนนางมักจะมาพักผ่อนหย่อนใจที่นี่ และความนิยมนี้ก็พุ่งทะยานผ่านกาลเวลายาวนานยันปัจจุบันเลยทีเดียว
สำหรับจุดที่น่าไปเมื่อได้มาเยือน ณ อาราชิยามะแห่งนี้ คือการชมวิวของหุบเขาบนสะพานโทเก็ทสึเคียวที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเฮอัน สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดเท็นริวจิ หรือจะไปปั่นจักรยานในป่าไผ่ก็ดีนะ
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
อามาโนะฮาชิดาเตะ (天橋立 / Amanohashidate) เป็นหนึ่งในจุดชมวิวที่สวยที่สุดในญี่ปุ่น (日本三景 / Nihon Sankei) ร่วมกับมิยาจิมะ (Miyajima) ในจังหวัดฮิโรชิม่า และมัตสึชิมะ (Matsushima) ในจังหวัดมิยากิ
อ่านเรื่องของเกาะมิยาจิมะได้ที่นี่ > ชมหนึ่งในสามวิวที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นที่ ‘เกาะมิยาจิมะ’
อ่านเรื่องของมัตสึชิมะได้ที่นี่ > นั่งเรือชมอ่าวมัตสึชิมะ 1 ใน 3 วิวที่สวยที่สุดของญี่ปุ่น & เดินเล่นบนเกาะโดยรอบ
คำว่า 'อามาโนะฮาชิดาเตะ' แปลว่า 'สะพานสู่แดนสวรรค์' เพราะสะพานแห่งนี้สร้างจากธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยเกิดจากแนวสันทรายที่ทอดตัวอยู่กลางอ่าวมิยาซุเป็นแนวยาว 3.6 กิโลเมตร เชื่อมแผ่นดินของเกาะทั้งสองไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่ากันว่า มีเทวดาแห่งดินแดนสรวงสรรค์ได้หลงรักเทพธิดาองค์หนึ่งที่อาศัยในโลกมนุษย์ จึงสร้างสะพานที่ทอดตัวยาวลงมายังโลกมนุษย์เพื่อจะมาพบกับเทพธิดา แต่สะพานที่ว่ากลับพังลงมากลายเป็นหาดทรายสีขาวสะอาดพาดผ่านทะเล ซึ่งก็คืออามาโนะฮาชิดาเตะนั่นเอง
เมื่อเราไปยังจุดชมวิวก็จะเห็นความสวยงามของอามาโนะฮาชิดาเตะที่ราวกับเป็นสะพานสู่ดินแดนสวรรค์จริงๆ
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
หมู่บ้านอิเนะ เป็นเมืองเล็กๆที่เรียงรายไปด้วยบ้านเรือนของชาวท้องถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น หมู่บ้านนี้ทอดตัวไปตามแนวยาวของอ่าวอิเนะ (Ine Bay) และตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ 'จังหวัดเกียวโต'
ลักษณะของบ้านแต่หลังจะมีชั้นล่างเป็นอู่เก็บเรือ ส่วนชั้นบนเป็นห้องรับรองอเนกประสงค์ ลักษณะของการสร้างบ้านที่เป็นเอกลักษณ์แบบนี้เรียกว่า 'ฟุนายะ' หรือสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่ออกแบบมาเพื่อความสะดวกต่อการนำเรือออกไปหาปลา ด้วยเหตุนี้เอง อิเนะจึงเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองในด้านอุตสาหกรรมประมงมาตั้งแต่อดีต
ส่วนบ้านที่ผู้คนใช้อาศัยจริงๆ จะอยู่สร้างบนบกโดยมีถนนสายเล็กทอดตัวผ่านบ้านที่มีมากกว่า 200 หลังคา และแน่นอนว่าบ้านแต่ละหลังก็คงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ว่ากันว่าเพียงมายังสถานที่แห่งนี้ในฤดูกาลที่แตกต่าง ก็จะได้เห็นเสน่ห์ที่แตกต่างของหมู่บ้านอิเนะด้วย
นักท่องเที่ยวที่มาพักแรมที่นี่ไม่เพียงแต่จะได้สัมผัสกับบรรยากาศของการพักในฟุนายะเท่านั้น แต่จะได้เพลิดเพลินกับอาหารทะเลสดๆจากอ่าวอิเนะอีกด้วย
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
วัดเบียวโดอินเป็นวัดพุทธที่ตั้งอยู่ในเมืองอุจิ จังหวัดเกียวโต ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก แรกเริ่มเดิมทีสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่วัด แต่เป็นที่พักตากอากาศของตระกูลฟูจิวาระที่สร้างขึ้นในปี 998
สถานที่แห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นวัดในปี 1053 และในปีเดียวกันนี้ได้มีการก่อสร้างอาคารนกฟีนิกซ์ขึ้น ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นสถาปัตยกรรมหนึ่งเดียวที่เหลือรอดจากภัยธรรมชาติและสงครามในตอนนั้น วัดเบียวโดอินจึงคงความเป็นเอกลักษณ์และความดั้งเดิมนี้ไว้จนถึงปัจจุบัน
สาเหตุที่เรียกว่า 'อาคารนกฟีนิกซ์' เป็นเพราะโทนสีอบอุ่นของตัววัด และรูปทรงอาคารที่สง่างาม ทำให้เราเห็นว่าอาคารมีลักษณะคล้ายนกที่กำลังกางปีก เมื่อได้เห็นเงาของตัวอาคารที่ปรากฏบนผิวน้ำในสระขนาดใหญ่ ก็เหมือนกับเราได้เห็นนกฟินิกซ์ยักษ์โผบินสู่ฟากฟ้า
นอกจากนี้วัดเบียวโดอินยังปรากฏอยู่บนเหรียญ 10 เยนด้วยนะ ไม่เชื่อก็ลองหยิบเหรียญขึ้นมาดูสิ!
อ่านข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับวัดเบียวโดอินและเมืองอุจิได้ที่นี่ > เยือนแดนชาเขียว เมืองอุจิ
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
ย่านกิอง (Gion) ในเมืองเกียวโต (Kyoto) เป็นย่านที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของบ้านเรือนเก่าแก่สไตล์ญี่ปุ่นโบราณ และเป็นย่านที่หลายๆคนอยากมาเยือนเพื่อชมความสวยงามของเกอิชา (Geisha) ในชุดกิโมโนดั้งเดิมที่มีความประณีต
เกอิชาเป็นหญิงสาวที่มีความชำนาญในงานศิลปะและทำหน้าที่ดูแลแขกในร้านน้ำชา นอกจากนี้เกอิชายังเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ (ปัจจุบันมีกฎห้ามถ่ายรูปภายในบริเวณย่านนี้)
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
ถนน Kiyomizu-Zaka Street คือถนนที่มุ่งตรงสู่วัดคิโยมิสึ ซึ่งมีร้านรวงแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมตลอดเส้นทาง ถ้านับจากวัดคิโยมิสึไปจนถึงศาลเจ้ายาซากะ ถนนเส้นนี้จะมีระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร จึงใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นในการเดินให้ทั่ว
ตลอดทางเราจะเห็นร้านค้าต่างๆตั้งเรียงรายไปตามแนวถนน ด้วยบรรยากาศแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม รวมถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบ้านเรือนใน 'จังหวัดเกียวโต' อีกทั้งยังมีอาหารพื้นเมืองและขนมท้องถิ่นหลากหลายชนิดให้ได้ลองลิ้มชิมรสอยู่เป็นระยะๆ ถนนสายนี้จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไม่น้อยเลย
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
ตลาดนิชิกิ (Nishiki Market : 錦市場) เป็นตลาดเก่าแก่ของ 'จังหวัดเกียวโต' มีอายุหลายร้อยปี เพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เดิมที่นี่เป็นตลาดขายส่งปลา ต่อมามีสินค้าปลีกอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากที่จำหน่ายในตลาดแห่งนี้
ตลาดนิชิกินั้นเรียกว่าเป็นเหมือนครัวของ 'จังหวัดเกียวโต เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะมีอาหารสด อาหารทะเล และผลไม้สดหลากชนิดแล้ว ตลอดแห่งนี้ยังมีของกินอื่นๆอีกเยอะแยะเต็มไปหมดเลยล่ะ ช่างเป็นตลาดที่อุดมสมบูรณ์จริงๆนะ!
วิธีเดินทาง
ที่อยู่
เวลาทำการ
ค่าเข้าชม
เว็บไซต์
อุตส่าห์มาถึง 'จังหวัดเกียวโต' เมืองแห่งชาเขียวทั้งที ของกินที่พลาดไม่ได้คงต้องเป็นชาเขียวนี่ล่ะ
ว่าแต่มีเมนูอะไรที่ควรลองบ้างนะ?
ของอย่างแรกที่จะแนะนำเป็นของหวาน เมนูที่ทางร้านแนะนำมาก็จะเป็น Gion Tsujiri
ไปต่อที่ของคาวกันบ้าง โซบะชาเขียวของร้าน Shofukutei ก็เป็นตัวเลือกที่ดีนะ
อยากแหวกแนวให้สุดต้องราเมนชาเขียว! จากร้านราเมนทานากะคิวโช (ラーメン田中九商店) ซึ่งอยู่ในละแวกอุจิ ใกล้กับวัดเบียวโดอินนั่นเอง
อ่านบทความเจาะลึกเรื่องชาเขียวในย่านอุจิ > Uji ย่านสีเขียวของเกียวโตที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่และของอร่อย -Part II เมืองแห่งชาเขียว
นิชินโซบะ (Nishin Soba) เป็นคาเคะโซบะหน้าปลานิชินแห้งต้มน้ำตาล หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่าปลานิชิน แต่ถ้าพูดว่าปลาแฮร์ริงก็คงจะถึงบางอ้อกันเลยทีเดียว
นิชินโซบะเป็นอีกเมนูหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในเกียวโตเพราะนอกจากปลานิชินจะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายจากสถานที่แห่งนี้แล้ว ทั้งเส้นโซบะและปลาแห้งก็ยังสามารถเก็บไว้ได้นานอีกด้วย จึงไม่แปลกที่นอกจากที่ 'จังหวัดเกียวโต' แล้ว นิชินโซบะก็เป็นเมนูที่ฮอตฮิตในฮอกไกโดด้วย
ส่วนเรื่องรสชาติคงไม่ต้องบรรยายกันให้มากความ เพราะนอกจากจะไม่คาวแล้ว เนื้อปลานิชินยังมีรสออกหวานเค็มตัดกับน้ำซุปที่มีความกลมกล่อม ลงตัวอย่างพอดิบพอดีกับเส้นโซบะนุ่มลื่นปรึ๊ดเคี้ยวเพลิน อร่อยฟินอย่าบอกใครเชียว!
ยัทสึฮาชิ (Yatsuhashi) เป็นขนมกล่องเล็กๆที่มีส่วนผสมของข้าว น้ำตาล และอบเชย นอกจากจะเป็นของฝากขึ้นชื่อของ 'จังหวัดเกียวโต' แล้ว ยัทสีฮาชิยังมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอีกด้วย
ว่ากันว่าคนที่ให้กำเนิดขนมยัทสึฮาชิคือพระภิกษุตาบอดรูปหนึ่งนามว่า ยัทสึฮาชิ เค็งเกียว (Yatsuhashi Kengyo) ถึงแม้ว่าท่านจะพิการ แต่ก็มีความสามารถทางด้านการประพันธ์เพลงและดนตรี นอกจากนี้ท่านยังชื่นชอบการเล่นเครื่องดนตรีประเภทสายอย่างโกโตะด้วย (Koto)
แต่สิ่งที่น่านับถือยิ่งกว่าความสามารถของยัทสึฮาชิ เค็งเกียวก็คืออุปนิสัยที่ถ่อมตน เรียบง่าย และสมถะ เมื่อถึงเวลาฉันอาหาร ท่านก็จะพิถีพิถันในการฉันโดยไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้งหรือเสียเปล่า หากวันไหนมีข้าวเหลือติดก้นหม้อก็จะนำมาทำเป็นของว่าง และขนมยัทสึฮาชิก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการนำเศษข้าวติดก้นหม้อมาผสมกับน้ำตาลและอบเชยนั่นเอง
ก่อนที่ยัทสึฮาชิจะมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมสอดไส้ต่างๆและให้รสสัมผัสนุ่มนิ่มเหมือนในปัจจุบัน มันเคยมีรูปร่างโค้งเหมือนโกโตะ และให้สัมผัสกรุบกรอบคล้ายเซ็มเบด้วย เพียงแต่จะแข็งกว่าและบางกว่าด้วยกรรมวิธีอบ เพราะการทำยัทสึฮาชิสมัยก่อนจะต้องคำนึงถึงการเก็บรักษา นอกจากนี้รูปร่างที่เหมือนโกโตะนั้นยังเป็นการสร้างเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ให้กำเนิดของว่างชื่อดังอย่างยัทสึฮาชิ เค็งเกียว
สำหรับวิธีการรับประทานยัทสึฮาชิ คนเกียวโตนิยมทานคู่กับชาเขียวร้อน หรือกินเล่นเปล่าๆก็อร่อยนะ
ที่มา: รวมสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องไปโดนให้ได้สักครั้งใน ‘จังหวัดเกียวโต’
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจได้ที่: fromJapan.info
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in