ทำไมต้องข้ามเพศ
อยู่เฉยๆไม่ได้รึไง
เป็นเด็กปกติแบบคนอื่นเขาได้มั้ย
ทำไมเป็นแบบเด็กคนอื่นไม่ได้
ทำไมต้องทำเรื่องให้ยุ่งยาก
ทำไมไม่เป็นเด็กธรรมดา
ทำไม
ทำไม
ทำไม
คำถามที่เกิดขึ้นในใจเราเสมอ
มันก็แปลกดีที่ไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ตั้งคำถามกับตัวเอง แต่คนอื่นก็ตั้งคำถามแบนั้นกับเราเหมือนกัน
ซึ่งเราก็คงได้แต่สงสัยว่าสิ่งที่เราเป็นมัน "แปลก" มัน "ไม่ปกติ" ยังไง
ทำไมเราต้องข้ามเพศ ทำไมเราถึงเป็นเพศเดิมไม่ได้
นั่นสินะ เรื่องมันก็เกิดขึ้นนานพอตัวเลย
เราไม่ได้เกิดมาชื่อ "อีแวน" แต่เราเกิดมาเป็นคนที่คู่กับอดัม
แน่นอน เราเกลียดชื่อนั้นสุดๆไปเลย เพราะมันไม่เคยเข้ากับเราเลยสักนิด เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเริ่มเกลียดมันตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พอจำความได้ เราก็คิดอยากเปลี่ยนชื่อมาโดยตลอด
เราเลือกชื่อ "อีแวน" เพราะเสียงมันไม่ต่างจากชื่อเดิมมากเท่าไหร่ ทีแรกๆเราตั้งใจจะใช้ชื่อ "Elvin" เพราะเราเป็นคนบ้า The Lord of the Rings มาก เราเลยอยากเป็นเพื่อนกับเอลฟ์ 5555555 แต่เราคิดว่ามันอาจจะออกเสียงยากเกินไปสำหรับคนไทย (ปรากฏว่า อีแวนยากกว่าอีก เขียนยากด้วย)
นั่นแหละ เด็กน้อยอีแวนเลยเกิดขึ้นมาตอนนั้น เราคิดว่าเราน่าจะเริ่มคิดชื่อใหม่ตอนประมาณม. 5 ได้
แต่ตอนนั้นเราไม่ได้บอกที่บ้านหรอกนะ เราไม่รู้จะบอกเค้ายังไง เรารู้ว่าเค้าไม่ต่อต้านอะไรหรอก แต่มันไม่รู้จะอธิบายยังไงให้เค้าเข้าใจ เราเป็นคนที่พูดต่อหน้าไม่เก่งเท่าไหร่นะ
นั่นแหละ เราเริ่มใช้ชื่อ อีแวน ในโซเชียลมีเดียอย่าง instagram ก่อนเป็นที่แรก ซึ่งเราว่าผลตอบรับมันก็ดีนะ
เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้ชาย ... ไม่สิ เราไม่ได้เกิดมาเป็นเพศชายตามสูติบัตรน่ะนะ
เรารู้ตัวตอนไหนว่าเราไม่ใช่เด็กหญิงน่ะเหรอ?
เราคิดว่าเรื่องนี้มันคงเริ่มต้นตั้งแต่สมัยอนุบาลล่ะมั้ง เรารู้สึกว่าเราเล่นกับเพื่อนผู้หญิงไม่สนุกเลย เราชอบออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนผู้ชายมากกว่า ตอนนั้นมีเรากับเด็กผู้หญิงอีกคนนึงมั้งที่ไว้ผมสั้น เราไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เพื่อนคนนั้นเป็นยังไงบ้าง เพราะเราสนิทกันแค่อาทิตย์แรกๆ แล้วเค้าก็เลิกยุ่งกับเราไปเลย เรียกว่าเป็นแผลในใจตั้งแต่วัยเด็กเลยล่ะมั้ง
แต่ตอนอนุบาลน่ะ gender role มันยังไม่รุนแรงอะไรมากมาย
พอเข้าประถมนี่สิ... แบ่งแยกชายหญิงกันชัดเจนเหลือเกินจนเรารู้สึกอึดอัดมากๆในทุกๆเวลาที่เราต้องอยู่กับ "ผู้หญิง" คนอื่น มันไม่ใช่ที่ว่าเราอึดอัดที่ต้องอยู่กับพวกเขา แต่เราอึดอัดที่ต้อง "เป็นส่วนหนึ่ง" ของพวกเขา เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนเขาต่างหาก
เรารู้สึกว่าเราอยากอยู่อีกฝั่ง ฝั่งสีฟ้า ... ฝั่งของ "ผู้ชาย" เราคิดว่าเราเหมือนพวกเขามากกว่าสีชมพู ใช่ เราเห็นตัวเองมีสีฟ้ามากกว่าสีชมพูมาตลอด
ในมุมมองของเด็กประถม มันก็มีแค่สีฟ้ากับสีชมพูนั่นแหละ แต่ในตัวเรามันยังมีสีอื่นอีกนะ สีอะไรก็ไม่รู้ที่ตอนนั้นเราไม่รู้จัก แต่สีนั้นมันเพิ่มมากขึ้นในตัวเราเรื่อยๆเลยล่ะ
ประถมมันก็ยังไม่เลวร้ายมากมาย เพราะอย่างน้อยเราก็ยังสามารถตัดผมทรงอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ เราสามารถหลีกเลี่ยงการใส่กระโปรงด้วยการใส่ชุดพละกี่วันก็ได้ ไม่มีใครมาว่า
ฝันร้ายของจริงมันคงเป็นวัยมัธยม
ก็รู้ๆกันอยู่ว่าโรงเรียนมัธยมมันบัดซบ และร้ายกาจต่อ LGBTQ+ มากขนาดไหน
สังคมที่แบ่งแยกชายหญิงชัดเจนด้วยคำว่า "กฎ" สังคมที่อาจารย์ไม่สนใจว่าใครจะอยู่ตรงกลาง ต้องพยายามต้อนให้ทุกคนเข้า "กรอบที่ถูกต้อง" เสมอ สังคมที่มองว่าความแปลกแยกเป็นเรื่องผิด
ใช่สินะ... ความแปลกแยกของเรามันผิดตั้งแต่ตอนเข้ามัธยม
เมื่อเราอยู่ในโรงเรียนมัธยม เรามีกฎมากมายที่ครอบเราเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การกระทำต่างๆ แม้กระทั่งแค่ใส่ถุงเท้าผิดแบบ เขาก็หาว่าเป็นลักเพศแล้ว
เราคิดว่าทรานส์แมนอย่างเรายังไม่ลำบากเท่า ทรานส์วูแมน หรือ กะเทย หรอกนะ
แต่ก็ไม่รู้สิ การที่ไร้ตัวตนแบบนี้มันก็คงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
เราเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับ LGBTQ+ ตั้งแต่สมัยม. 4 เพราะเราอยากหาคำตอบให้ตัวเองว่าเราเป็นอะไรกันแน่ และคำตอบที่เราต้องการ มันไม่เคยมาถึงจนกระทั่งเราเข้ามหาวิทยาลัยนั่นแหละ
เราคิดว่าเราโชคดีนะที่เรายังได้อยู่มหาวิทยาลัยที่ไม่สนใจเรื่องเพศมากมายนัก อย่างน้อยเขาก็ไม่บังคับให้ใส่เครื่องแบบละกัน ก็ถือว่าทำให้เราสบายใจได้ จะใส่ชุดนศ.ชายก็ไม่มีใครว่า
สุดท้ายเราก็รู้ว่านอกจากสีฟ้าและสีชมพูที่เราเห็นมันคือสีอะไรเพิ่มเข้ามาในตัวเรา มันคือสีม่วงและเขียว
เราค้นพบว่าสุดท้าย เราไม่ได้เป็นผู้ชายที่แมนมากมายอะไร เรายังมีความเป็นสีชมพูอยู่เล็กน้อย ซึ่งเราก็มีความสุขกับสีชมพูน้อยๆตรงนั้นนะ
เราค้นพบว่าสุดท้าย เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเพียงสีชมพูกับสีฟ้า สีม่วงกับสีเขียวก็เป็นสีที่ดีทีเดียวที่จะมีในตัว มันทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระจากกรอบความคิดต่างๆ
เราพบว่าการที่เราไม่ได้เป็นสีฟ้ามากมาย หรือสีชมพูแบบสุดขีด สีม่วงทั้งตัว หรือสีเขียวไปหมด มันทำให้เราไปเยี่ยมเยียนสีอื่นๆที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ และเราสามารถเพิ่มสีสันใหม่ๆให้ตัวเองได้เรื่อยๆเช่นกัน
สุดท้ายความเป็นตัวเรา มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเป็นสีอะไร หรือมีกี่สี
มันอยู่ที่เรามีความสุขกับสีที่เป็นเรารึเปล่า
ถ้าเราไม่รู้สึกว่าสีที่เรามีนั้นมันใช่สำหรับเรา เราก็เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะเจอสีที่ใช่ก็ได้นี่
ไม่มีใครกำหนดว่าเราต้องย่ำอยู่ที่สีเดิมซ้ำไปซ้ำมาแล้วทนอึดอัดกับมัน
เราสามารถเดินออกจากกองสีเดิมแล้วไปหากองสีใหม่
เพื่อค้นหาตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้
ซึ่งตอนนี้ เราเองก็ยังไม่หยุดที่จะมองหาสีใหม่ๆไปเรื่อยๆหรอกนะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in