ก่อนเข้ามหาลัยเราไม่ใช่คนดูหนังบ่อยมากนัก อย่างมากก็ดูแบบปีละเรื่อง แต่หลังเข้ามาเรียนรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือที่คนมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ภาคไออาร์” เรากลายเป็นคนชอบดูหนังมากขึ้น ทั้งเพราะอาจารย์แนะนำให้ไปดู และเพราะการเรียนเกี่ยวกับการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้เราเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อภาพยนตร์ชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้การดูหนังสนุกมากยิ่งขึ้นไปในตัว
หลังเข้ามาเรียนที่คณะตอนปี 2 เทอม 1 จะมีวิชาบังคับวิชาหนึ่งชื่อ Intro IR หรือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตอนนั้นอาจารย์ประจำเซคที่เราลงเรียนแนะนำให้ทุกคนไปดูหนังชื่อ Black Panther เนื่องจากธีมการเรียนการสอนในปีของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Race ซึ่งก็จะโยงไปถึง Racism, Colonialism, Postcolonialism, etc. นั่นเลยเป็นครั้งแรกที่เราได้ดูหนังเรื่อง Black Panther
ตอนนี้เรากำลังเรียนปี 4 เทอม 1 เวลาผ่านไปแล้วสองปีหลังจากที่ได้รู้จักว่าวากานด้า ไวเบรเนียมที่คนพูด ๆ กันมันคืออะไร ประจวบเหมาะกับที่ Black Panther: Wakanda Forever เข้าฉายในโรงพอดี เรากับเพื่อน (ที่เรียนไออาร์เหมือนกัน) เลยรีบลากกันไปดูในโรง และรีแอคชันแรกของเรากับเพื่อนหลังหนังจบคือ “เด็กไออาร์ควรมาดู” และเนื่องจากประเด็นมันเยอะมากมายอยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ เราเลยอยากมาเขียนวิเคราะห์หนัง Black Panther: Wakanda Forever เวอร์ชันเด็กไออาร์
ทั้งนี้ อาจขาดตกบกพร่องบางประเด็นไปเพราะเราไม่ได้ตั้งใจเข้าไปจดประเด็นกับรายละเอียด บทความนี้เขียนขึ้นจากความจำ (ที่ความจุเริ่มใกล้เต็ม) ล้วน ๆ และขอออกตัวก่อนว่าเราเองก็ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้มาร์เวล มุมมองที่จะเขียนดังต่อไปนี้ไม่ใช่มุมมองของคอหนังมาร์เวล แต่เป็นมุมมองของเด็กไออาร์คนหนึ่ง (และแน่นอนว่าเด็กไออาร์คนอื่น ๆ ก็คิดไม่เหมือนกับเรา) ดังนั้นถ้าสิ่งที่วิเคราะห์ในบทความนี้ไม่ได้สอดคล้องตามข้อมูลในจักรวาลมาร์เวลก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ที่สำคัญ บทความนี้ไม่ใช่บทความวิชาการ (ขายของ ขายแล้วขายอีก ถ้าใครอยากอ่านฟีลวิชาการ เชิญไปอ่านบทวิเคราะห์หนัง Train to Busan ของเราได้ [*]) ไม่ได้เขียนเพื่อส่งอาจารย์ ฉะนั้นความทางการมันจะลดลงอย่างมาก เน้นเขียนแบบปล่อยใจจอย ๆ ตามใจคนเขียน เพราะเขียนเท่าที่จำได้
และขอย้ำอีกทีเป็นรอบสุดท้าย บทความนี้มีการสปอยเนื้อหา เนื่องจากเราจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังเพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อว่าเหตุการณ์เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นอะไร เพราะครั้นจะให้วิเคราะห์แบบลอย ๆ ไม่เล่าเรื่องเท้าความก่อนเลยมันก็ทำไม่ได้ ดังนั้นถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังแล้วอ่านมาถึงจุดนี้แล้วไม่อยากโดนสปอย วอนให้กลับมาอ่านบทความนี้หลังดูหนังเสร็จ
แต่ถึงไม่ใช่งานวิชาการ แน่นอนว่าเรายังคงมีข้อโต้แย้งหลักของบทความ (หรือที่เด็กไออาร์ชอบเรียกกันว่าอากิวเม้น) อยู่เช่นเคย โดยบทความชิ้นนี้มีจุดยืนว่า หัวใจสำคัญของ Black Panther: Wakanda Forever คือการท้าทายหรือตั้งคำถามกับอดีต ตลอดจนสิ่งเก่า ๆ ที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมประเพณี หรือความเชื่อ
แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของบทความ เราอยากถามคำถามแรกกับทุกคนก่อน ใครคือตัวร้ายของ Black Panther: Wakanda Forever?
มองผ่าน ๆ ก็คงจะนามอร์ไหม? ผู้ปกครองของทาโลคานที่สู้กับวากานด้าจนชูรีต้องหาทางทำให้ Black Panther กลับมา สู้กันแบบเมืองหลวงน้ำท่วม ต้องอพยพผู้คน มีตัวละครตาย เรือยักษ์เกือบล่ม ใด ๆ คำตอบคือไม่ใช่ ตัวร้ายที่แท้จริงคือลัทธิล่าอาณานิคมเสียต่างหาก
วายร้ายหน้าเดิม และการขูดรีดทรัพยากรแบบเดิม ๆ
ฉากแรก ๆ ที่เราเห็นในหนังคือฉากที่ราชินีรามอนดาไปปรากฏตัวที่สหประชาชาติ (UN) เพื่อตอบคำถามเกี่ยวเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาของวากานด้าที่จะแบ่งปันทรัพยากร (แร่ไวเบรเนียม) โดยตัวแทนจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ออกความเห็นว่า แร่ไวเบรเนียมอาจกลายเป็นอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction: WMD) เพราะไม่สามารถถูกตรวจจับได้โดยเครื่องตรวจจับโลหะทั่วไป และวากานด้าควรแบ่งปันแร่ไวเบรเนียมเพื่อความมั่นคงของโลก แต่หลังจากนั้นเราก็ได้เรียนรู้ว่าหนึ่งใน outpost ที่เก็บไวเบรเนียมของวากานด้าถูกโจมตีโดยผู้ไม่หวังดีที่วางแผนจะมาขโมยแร่ไวเบรเนียมไป และเราก็ได้รู้ว่ากลุ่มคนที่เข้ามาขโมยนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่กลับเป็นกองกำลังของฝรั่งเศสเสียเอง
หลังจากนั้น เราก็เห็นฉากที่ CIA ของสหรัฐฯ ใช้เครื่องตรวจจับไวเบรเนียมไปตามหาแร่ไวเบรเนียมในมหาสมุทรและดันพบเข้าจริง ๆ ซึ่งข้อมูลนี้ทำให้เรารู้ว่าแร่ไวเบรเนียมไม่ได้พบที่วากานด้าเพียงแห่งเดียวบนโลก แต่ยังพบใต้มหาสมุทร ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาณาจักรทาโลคาน ตัวละครกลุ่มใหม่ในหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยนามอร์ ผู้ปกครองทาโลคาน ต้องการตามหาตัวนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นเครื่องตรวจจับนี้ เพราะมันจะทำให้อาณาจักรของเขาที่หลบซ่อนจากชาวโลกมาอย่างยาวนานถูกเปิดเผยและอาจก่อให้เกิดภัยต่อประชาชนของเขาได้ ซึ่งเราก็ได้มารู้ทีหลังว่านักวิทยาศาสตร์ที่ว่า คือเด็ก MIT ที่สร้างเครื่องตรวจจับไวเบรเนียมเพื่อเป็นแค่โปรเจ็คส่งงานอาจารย์เพียงเท่านั้น แต่ CIA ดันนำไปใช้เพื่อหาแร่นี่โดยแม้แต่เจ้าตัวคนคิดก็ยังไม่รู้ ปิดท้ายด้วยบทสนทนาระหว่างผู้อำนวยการ CIA วาเลนตินา "วาล" เดอ ฟอนเทน (อดีตภรรยาของเอเวอร์เร็ต รอสส์) กับรอสส์เองว่า
รอสส์: “ชาววากานด้าช่วยชีวิตผม พวกเขาเป็นคนดี คุณเคยคิดสักวินาทีไหมว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่? เคยคิดไหมว่าพวกเขาจะเป็นอย่างไรหากสหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวบนโลกที่มีไวเบรเนียม?”
เดอ ฟอนเทน: “โอ ฉันเคยคิดฝันอย่างนั้นล่ะ [ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศเดียวบนโลกที่มีไวเบรเนียม]”
ถามว่าทั้งหมดที่เล่ามานี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไร? คำตอบคือ การขูดรีดทรัพยากรของลัทธิล่าอาณานิคม แน่นอนว่าบริบทโลกในหนัง Black Panther: Wakanda Forever ต่างจากโลกในความเป็นจริง แต่จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่มีแร่ไวเบรเนียมในหนังคือ วากานด้า ซึ่งเป็นชาวแอฟริกัน และทาโลคาน ซึ่งเป็นชาวเมโสอเมริกัน สองกลุ่มนี้ล้วนไม่ใช่ชาวตะวันตกผิวขาว แต่มีทรัพยากรซึ่งมีมูลค่ามหาศาลอย่างไวเบรเนียมในครอบครอง ส่วนประเทศที่ต้องการแร่นี้คือฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติตะวันตกและเป็นอดีตเจ้าอาณานิคม
ในอดีต ชาติตะวันตกเจ้าอาณานิคมเดินทางเข้าไปในดินแดนที่พวกเขามองว่าล้าหลังแล้วยึดเป็นอาณานิคมด้วยเหตุผลว่าจะเข้าไปช่วยทำให้คนเหล่านี้ศิวิไลซ์หรือมีอารยธรรมมากยิ่งขึ้น ดังแนวคิดภาระของคนขาว (White man’s burden) แต่แท้จริงแล้ว หนึ่งในแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังของลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกคือการขูดรีดทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของดินแดนเหล่านี้ เช่นเดียวกัน สิ่งที่ฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ ทำในหนังคือการเสาะแสวงหาและพยายามให้ได้มาซึ่งทรัพยากรไวเบรเนียมของวากานด้าและทาโลคานผ่านวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวทีระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติในการพยายามกดดันวากานด้าให้แบ่งแร่ไวเบรเนียมมาให้ตน ภายใต้คำกล่าวอ้างว่าเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคงของโลก” ตลอดจนการใช้ศัพท์แสงในทางระหว่างประเทศต่าง ๆ ไปจนถึงวิธีการที่แอบทำลับหลัง อย่างการส่งกองกำลังของตนเองไปบุก outpost ของวากานด้า หรือนำเครื่องตรวจจับมาใช้เพื่อพยายามตามหาแร่ไวเบรเนียมกลางทะเลลึก
สองอาณาจักรสู้กันเอง วายร้ายตัวจริงลอยนวล
ขอย้อนกลับมาพูดถึงที่มาที่ไปของอาณาจักรทาโลคานสักนิด นามอร์เล่าว่า เดิมทีแล้วบรรพบุรุษของเขานั้นอาศัยอยู่บนบก แต่หลังพวกนักสำรวจและทหารชาวสเปน (กองกิสตาดอร์) ค้นพบดินแดนในเมโสอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 และนำโรคฝีดาษมาแพร่ บรรพบุรุษ ซึ่งรวมถึงแม่ของนามอร์ ที่พยายามหลบหนีจากการรุกรานและโรคภัยของคนขาวเหล่านี้ก็ได้ดื่มสมุนไพรจากต้นไม้วิเศษที่เติบโตใต้น้ำและเรืองแสง แล้วค้นพบว่าต้นไม้วิเศษนี้ทำให้พวกเขาสามารถหายใจใต้น้ำได้ แต่กลับไม่สามารถหายใจบนบกได้อีกต่อไป บรรพบุรุษ และแม่ของเนเมอร์ที่กำลังตั้งท้องเขาอยู่ จึงต้องย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในมหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บรรพบุรุษของนามอร์ที่ย้ายลงไปอยู่ใต้มหาสมุทรได้สร้างอาณาจักรชื่อทาโลคานขึ้น อย่างไรก็ตาม แม่ของนามอร์ยังคงคิดถึงบนบกซึ่งเป็นบ้านที่เธอถูกบังคับให้จากมาเพราะคนขาวที่จะเข้ามาล่าอาณานิคมในดินแดนแถบเมโสอเมริกา เธอจึงหวังให้นามอร์นำร่างของเธอไปฝังไว้บนบกหลังเธอเสียชีวิต โดยหลังแม่ของเขาจากไป นามอร์ในวัยเด็กที่กลายเป็นผู้ปกครองของทาโลคานก็ได้ทำตามคำขอของแม่ แต่เมื่อกลับขึ้นไปบนบก เขากลับพบว่าบ้านที่แม่และบรรพบุรุษของเขาจากมานั้นได้เปลี่ยนไป เจ้าอาณานิคมคนขาวได้เข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และนำคนพื้นเมืองไปเป็นทาส เห็นดังนั้น นามอร์จึงเผาสิ่งปลูกสร้างและฆ่าพวกคนขาวทิ้ง ก่อนจะฝังร่างของแม่เขาและกลับลงทะเลตามเดิม
โดยในฐานะผู้ปกครองของทาโลคาน เป้าประสงค์ของนามอร์คือการเก็บการมีอยู่ของทาโลคานตลอดจนแร่ไวเบรเนียมไว้เป็นความลับจากโลกทั้งใบเพื่อปกป้องประชาชนของเขา เนื่องจากเขารู้ดีว่าหากโลกรู้ถึงการมีอยู่ของทาโลคานและแร่ไวเบรเนียมที่อาณาจักรของเขามีในครอบครองแล้ว อาณาจักรของเขาต้องถูกชาติอื่น ๆ รุกรานเป็นแน่ ยิ่งได้เห็นตัวอย่างจากวากานด้าที่ประกาศให้โลกรู้ถึงการมีแร่ไวเบรเนียมในครอบครองจนนานาชาติเล็งเป้ามาที่วากานด้าแล้ว นามอร์ยิ่งไม่ต้องการให้เรื่องเช่นนี้เกิดแก่อาณาจักรของเขา
ถามว่าวากานด้ากับทาโลคานเหมือนกันอย่างไร สองอาณาจักรนี้เหมือนกันในแง่ที่มีแร่ไวเบรเนียมในครอบครองทั้งคู่ เป็นอาณาจักรที่พัฒนาไปไกลกว่าชาติอื่น ๆ ในโลก แต่สิ่งที่ต่างคือ ในขณะที่วากานด้าเป็นภาพแทนของดินแดนที่ไม่เคยถูกยึดครองโดยเจ้าอาณานิคมตะวันตก ทาโลคานกลับเป็นภาพแทนของดินแดนที่ถูกรุกรานโดยเจ้าอาณานิคม จนทำให้บรรพบุรุษของพวกเขาต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนบนบกและไปอาศัยอยู่ใต้น้ำ
โดยเมื่อได้คุยกับชูรี เจ้าหญิงแห่งวากานด้า หลังชูรีถูกจับตัวไปอยู่ทาโลคาน นามอร์ก็ได้โน้มน้าวให้วากานด้าตกลงเป็นพันธมิตรกับทาโลคาน และประกาศสงครามต่อโลกเหนือน้ำ เพื่อปกป้องอาณาจักรของทั้งคู่จากชาติอื่น ๆ ในโลกที่จ้องจะครอบครองแร่ไวเบรเนียม โดยเฉพาะประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสและสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ชูรีไม่เห็นด้วย ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้นำไปสู่การต่อสู้ระหว่างวากานด้ากับทาโลคาน กล่าวคือ อาณาจักรที่ไม่เคยถูกครอบครองโดยลัทธิล่าอาณานิคม กับอาณาจักรที่เคยถูกลัทธิล่าอาณานิคมมาก่อนรุกรานมาก่อน ซึ่งทั้งคู่กำลังจะถูกมหาอำนาจที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคมขูดรีดทรัพยากรราวกับในยุคล่าอาณานิคมเหมือนกัน กลับหันปลายหอกมาสู้กันเอง แล้วปล่อยให้ชาติตะวันตกที่จ้องจะขโมยทรัพยากรของพวกเขาลอยนวลไปเสียอย่างนั้น
กว่าชูรีจะยับยั้งความอยากแก้แค้นของตน กับนามอร์ตกลงยอมแพ้ได้ วากานด้าก็ถูกทำลายจนประชาชนต้องอพยพไปอาศัยอยู่กับเผ่าจาบารี ชูรีต้องเสียแม่ของตนไป สองอาณาจักรต่อสู้กันจนเกิดความเสียหายและเกิดการสูญชีวิตไปเสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากลัทธิล่าอาณานิคม นั่นคือ การที่อดีตเจ้าอาณานิคมหวังยึดครองไวเบรเนียมหลังรู้ถึงการมีอยู่ของมันแล้วพยายามทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะอย่างเปิดเผยหรือในที่ลับ เพื่อให้ได้มันมา แม้ความตั้งใจแรกเริ่มของทีชัลล่าที่ประกาศให้โลกรู้จักไวเบรเนียมนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่มนุษยชาติก็ตาม
ประเพณีและความเชื่อแต่โบราณ vs เทคโนโลยีและความ(ไม่)เชื่อของคนรุ่นใหม่
นอกเหนือจากเรื่องลัทธิล่าอาณานิคมที่เรารู้สึกว่าเป็นประเด็นหลักของหนังแล้ว เรารู้สึกว่าอีกประเด็นที่ Black Panther: Wakanda Forever พยายามสอดแทรกเข้ามาด้วยคือเรื่องความแตกต่างระหว่างคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ ซึ่งเห็นได้ตลอดสองชั่วโมงกว่าของการดูหนัง ทั้งการใช้หอกของโอโคเยกับอาเนกาในการต่อสู้ เรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของวากานด้า และพิธีกรรมลานบรรพชน และถ่ายทอดผ่านตัวละครหลักอย่างชูรี ซึ่งไม่เชื่อในทางปฏิบัติหรือความเชื่อแบบโบราณ แต่เชื่อในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เธอคุ้นเคยมากยิ่งกว่า
เรื่องแรกแม้เป็นเรื่องเล็กแต่ก็ยังพอสังเกตเห็นได้คือการใช้หอกของโอโคเยกับอาเนกา โดยในฉากที่กองทัพโดรา มิราเจต่อสู้กับกองกำลังฝรั่งเศสที่บุกเข้าไปใน outpost ของวากานด้าเพื่อหวังขโมยแร่ไวเบรเนียม โอโคเยถามอาเนกาว่าหอก (อันยาว ๆ ) ของเธอไปไหน แล้วอาเนกาตอบว่าชูรีให้กริชเรืองแสงที่ช็อตไฟฟ้าได้ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่มาให้เธอใช้ ซึ่งเธอชอบมันมากกว่าการใช้หอก แต่เมื่อได้ยินดังนั้น โอโคเยกลับไม่เห็นด้วย แล้วโอโคเยก็เล่าธรรมเนียมของการใช้หอกในการต่อสู้ของวากานด้าว่าที่ใช้หอกเพราะมัน "แม่นยำ สง่างาม และถึงตาย" และบอกอาเนกาว่าการเปลี่ยนการใช้อาวุธจะไม่เปลี่ยนแปลงในขณะที่เธอยังเป็นหัวหน้าของกองทัพโดรา มิราเจอยู่ โดยเมื่ออาเนกานำกริชไปคืนชูรี ชูรีก็บอกให้อาเนกาเก็บมันไว้เนื่องจากอาจได้ใช้อีกเร็ว ๆ นี้ (เพราะนามอร์จะบุกวากานด้า) แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าชูรี ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้สนใจความเห็นของโอโคเย ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นเก่า สักเท่าไรนักเกี่ยวกับอาวุธที่จะใช้ต่อสู้
เรื่องที่สองคือประวัติศาสตร์ของวากานด้า โดยหลังตัวละครรับรู้ถึงการมีอยู่ของทาโลคานและแร่ไวเบรเนียมที่อาณาจักรใต้น้ำแห่งนี้มีในครอบครอง ก็พูดออกมาในทำนองว่า เป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของวากานด้าที่เคยมีมา เนื่องจากตั้งแต่เล็กจนโต พวกเขาถูกสอนมาโดยตลอดว่า วากานด้าเป็นที่แห่งเดียวบนโลกที่มีแร่ไวเบรเนียมเนื่องจากอุกกาบาตมาตกที่วากานด้าแห่งเดียว ที่อื่น ๆ จึงไม่สามารถมีแร่ไวเบรเนียมได้ ซึ่งเป็นประโยคที่ราชินีรามอนดากล่าวเมื่อรับรู้ถึงการมีอยู่ของทาโลคาน ในขณะเดียวกัน ชูรี ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อีกแล้ว ลองกลับมาทบทวนดูแล้วมองว่ามันมีความเป็นไปได้ที่บนโลกใบนี้อาจมีผู้อื่นนอกเหนือจากชาววากานด้าที่ครอบครองแร่ไวเบรเนียม หากคิดตามหลักวิทยาศาสตร์โดยไม่ได้ยึดติดกับเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมา
เรื่องสุดท้ายคือพิธีกรรมลานบรรพชนที่ตามธรรมเนียมแล้วผู้ที่ได้ดื่มสมุนไพรรูปหัวใจจะได้กลับไปเจอกับบรรพบุรุษ เพื่อรับคำแนะนำจากพวกเขา ก่อนจะกลายเป็น Black panther ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อชูรีดื่มสมุนไพรรูปหัวใจ (ที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เชื่อเรื่องการพบเจอบรรพบุรุษแม้แต่น้อย แต่ดื่มไปเพราะหวังอยากได้พลังเพื่อนำไปใช้ต่อสู้กับนามอร์) เธอกลับไปเจอคิลมองเกอร์แทนที่จะได้เจอบรรพบุรุษคนอื่น ๆ อย่างพ่อ แม่ หรือพี่ชายของเธอ ดังนั้น เมื่อตื่นขึ้นมา สิ่งที่ชูรีพูดคือ “ฉันทำไม่สำเร็จ” ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ชูรีมองว่าเธอไม่ได้กลับไปเจอบรรพบุรุษผู้จะให้คำแนะนำแก่เธอในการเป็น Black panther ได้ที่ลานบรรพชนตามที่ธรรมเนียมเล่าต่อกันมา แต่ดันเจอคิลมองเกอร์ที่พูดถึงแต่การแก้แค้นแทน โดยชูรีมองว่าเมื่อบรรพบุรุษไม่ได้มาช่วยเหลือเธอแล้ว เธอจึงไม่สามารถเป็น Black panther ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อชูรีต่อยชุดเกราะที่ตั้งอยู่ เธอกลับพบว่าเธอมีพละกำลังมหาศาลเหมือนกับ Black panther ฉากนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ความเชื่อเรื่องลานบรรพชนนั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อการเป็น Black panther ไม่ว่าหลังดื่มสมุนไพรรูปหัวใจไปแล้วจะมองเห็นใครก็ตาม แต่การจะเป็น Black panther ได้นั้นขึ้นอยู่กับแค่การได้ดื่มสมุนไพรรูปหัวใจเพียงเท่านั้น
ซึ่งจุดประสงค์ของธรรมเนียม ประเพณี หรือความเชื่อโบราณต่าง ๆ ของวากานด้านี้ อาจถูกสร้างเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น (สมมติ เดาเล่น ๆ) มีพิธีกรรมลานบรรพชนเพราะไม่ต้องการให้คนธรรมดานำสมุนไพรไปกินแล้วมีความสามารถพิเศษอย่าง Black panther แบบสุ่มสี่สุ่มห้า เป็นต้น
สรุป
กล่าวโดยสรุป เรามองว่า Black Panther: Wakanda Forever เป็นหนังที่ชวนให้ผู้ชมท้าทายหรือตั้งคำถามอดีตที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการล่าอาณานิคม หรือธรรมเนียมประเพณีความเชื่อแบบโบราณ ซึ่งเอาจริง ๆ สองอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยแม้แต่น้อย แต่เป็นประเด็นที่ถูกท้าทาย ตั้งคำถาม และมีการถกเถียงมาโดยตลอดอยู่แล้ว (และมีการนำมาพูดถึงมากยิ่งขึ้นด้วยในไม่กี่ปีให้หลังมานี้) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ Black Panther: Wakanda Forever สามารถนำประเด็นเหล่านี้มาผูกโยงเข้ากับเรื่องราวและตัวละครในจักรวาลมาร์เวลแล้วถ่ายทอดเรียบเรียงออกมาเป็นหนังได้เป็นอย่างดี เหลือเพียงว่าผู้ชมจะถอดบทเรียนจากหนังเรื่องนี้ไปได้มากน้อยขนาดไหน
สำหรับเรา บทเรียนที่ Black Panther: Wakanda Forever ต้องการจะส่งต่อ ไม่ใช่จะบอกให้ทุกคนเกลียดชังพวกคนขาว พวกมหาอำนาจตะวันตก หรือละทิ้งประเพณีอะไรเดิม ๆ ของตนเองหรอก แต่บทเรียนที่หนังเรื่องนี้ต้องการส่งต่อ คือการที่อยากให้ทุกคนหมั่นตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว อะไรที่เรามองว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ เป็นแนวปฏิบัติหรือความคิดความเชื่อที่ทำกันมาอย่างยาวนาน อาจไม่ใช่สิ่งที่จริงแท้หรือถูกต้องเสมอไป ลองมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวดูใหม่ ขนาดการแย่งเพื่อครอบครองแร่ไวเบรเนียมยังเป็นมรดกของลัทธิล่าอาณานิคมที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันเลย แล้วมันมีสิ่งอื่น ๆ อีกไหมที่เป็นมรดกของแนวคิดเช่นนี้อีก? ธรรมเนียม ประเพณี หรือความเชื่อต่าง ๆ ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานนี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไร? มันมีอย่างอื่นแอบแฝงอยู่ไหม? เป็นต้น
ท้ายที่สุดนี้ การวิเคราะห์ในบทความนี้เป็นความเห็นของเราเพียงคนเดียว ผู้ชมคนอื่น ๆ หรือแม้แต่เด็กไออาร์คนอื่น ๆ ที่มาดู Black Panther: Wakanda Forever ก็อาจตีความสารที่หนังเรื่องนี้ต้องการสื่อแตกต่างกันออกไป แต่นี่ก็เป็นเสน่ห์และความสนุกของการดูหนังแหละนะ อย่างไรก็ขอบคุณทุกคนที่กดเข้ามาอ่านบทความชิ้นนี้ หวังว่าทุกคนจะได้อะไรกลับไปไม่มากก็น้อยนะคะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in