เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
pO2: Oxygen-like Politicsthemoonograph
วิเคราะห์ Memories of Murder: ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงมากกว่าแค่คดีฆาตกรรม



  • Trigger Warning: Mentions of Murder, Rape, Violence
    + Spoiler Alert


    Memories of Murder: ภาพยนตร์ที่สร้าง
    จากเรื่องจริงมากกว่าแค่คดีฆาตกรรม 

              ใครที่ดูภาพยนตร์หรือซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนของเกาหลีใต้บ่อย ๆ อาจเคยได้เห็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่องหญิงสาวผ่านตากันมาบ้าง [*] คดีฆาตกรรมต่อเนื่องดังกล่าวเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริงในประเทศเกาหลีใต้ ช่วงค.ศ. 1986-1991 หรือตามที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ “คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง” คดีนี้เคยเป็นหนึ่งในคดีเย็น (Cold case) หรือคดีที่ไม่สามารถปิดลงได้ รวมถึงเป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่องคดีแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ (Jung, 2017; Jo, 2017) ก่อนคนร้ายจะยอมสารภาพในปีค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา (Seo & Hollingsworth, 2020) ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ซึ่งกำกับโดย บงจุนโฮ และเข้าฉายในปีค.ศ. 2003 (Cha, 2003) เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คดีนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงในเกาหลีใต้อีกครั้ง (Seo & Hollingsworth, 2020) แต่นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองผ่านจอยักษ์แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ยังสอดแทรกเนื้อหาและสะท้อนให้เห็นภาพของเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 อย่างชัดเจนด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตอันไร้ซึ่งความมั่นคงและปลอดภัยภายใต้รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยม การปราบปรามประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจราวกับเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังทิ้งท้ายเอาไว้ว่า แม้ในค.ศ. 2003 คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองจะผ่านมาแล้วหลายสิบปี เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่กลายมาเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ฆาตกรตัวจริงและอำนาจเผด็จการในอดีตก็อาจหลบซ่อนตัวอยู่โดยที่ไม่มีใครรู้
              ก่อนจะเข้าสู่ส่วนวิเคราะห์ ผู้เขียนต้องการเกริ่นก่อนว่าบทความชิ้นนี้ไม่ใช่บทความวิชาการที่เขียนขึ้นเพื่อส่งอาจารย์ในรายวิชาใด ๆ ก็ตาม (ตัวอย่างเช่นที่วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan สำหรับรายวิชา Global Politics through Film ในครั้งที่แล้ว) [**] แต่บทความนี้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ส่วนตัวที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder แล้วอยากนำสิ่งที่ตนเองสังเกตหรือวิเคราะห์ได้มาบอกเล่าต่อให้ผู้อื่นที่สนใจ ดังนั้นบทความชิ้นนี้จะไม่ได้เขียนตามรูปแบบบทความวิชาการอย่างเคร่งครัด (แต่มี Argument) ถึงกระนั้น ผู้เขียนก็ตั้งใจเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาประหนึ่งเป็นบทความวิชาการที่ต้องเขียนส่งอาจารย์ 


    เรื่องย่อภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder

              Memories of Murder เป็นภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนที่เล่าถึงเหตุการณ์ข่มขืนและฆาตกรรมหญิงสาวในชนบทเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1986 ศพแรกเป็นของหญิงสาวที่ถูกพบในท่อระบายน้ำ ตามมาด้วยศพสองของหญิงสูงอายุที่ถูกพบกลางทุ่งนา พัคดูมัน ตำรวจนักสืบประจำสถานีตำรวจในพื้นที่ไม่เคยเจอคดีฆาตกรรมเช่นนี้มาก่อน หลักฐานต่าง ๆ จึงไม่ได้ถูกจัดเก็บอย่างเรียบร้อย สถานที่เกิดเหตุก็ถูกทำลายโดยความไม่รอบคอบของตำรวจในพื้นที่ อีกทั้งยังไม่มีการสืบคดีตามหลักเหตุผล แต่เน้นการใช้กำลังและการอนุมานส่วนตัวเสียมากกว่า กวักซอลยอง คนรักของพัคดูมันบอกคนรักว่าได้ยินมาว่า แพ็คกวังโฮ ลูกชายผู้พิการทางสมองของเจ้าของร้านเนื้อ ตามเหยื่อออกไปในวันที่ถูกฆาตกรรมและมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นคนร้าย พัคดูมันกับ โจยงกู ตำรวจคู่หู จึงทุ่มเวลาไปกับการหว่านล้อมทางคำพูดและบังคับผ่านการใช้กำลังให้แพ็คกวังโฮยอมสารภาพความผิด 
              ซอแทยุน ตำรวจนักสืบจากกรุงโซลอาสามาช่วยสืบคดี เขามั่นใจว่าแพ็คกวังโฮไม่ใช่คนร้าย โดยแม้ว่าแทยุนไม่เคยเจอคดีฆาตกรรมเช่นนี้ที่โซลมาก่อน แต่สิ่งที่เขามีคือวิธีและขั้นตอนการสืบคดีที่เป็นไปตามหลักเหตุผล ผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างดีและมีความรอบคอบ ซึ่งต่างจากตำรวจในพื้นที่คนอื่น ๆ และพัคดูมันอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้พวกเขาทั้งสองคนมีความเห็นไม่ตรงกันและทะเลาะกันหลายครั้งระหว่างการตามสืบคดี 
              เมื่อพบศพมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาเริ่มสังเกตได้ว่าคนร้ายลงมือก่อเหตุทุกครั้งในคืนที่ฝนตก และเหยื่อทุกคนใส่เสื้อผ้าสีแดง เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง ควอนกวีอ๊ก ยังพบว่าทุกคืนที่เกิดเหตุ รายการวิทยุในพื้นที่ได้เปิดเพลง “จดหมายอันเศร้าโศก” (우울한 편지) ของนักร้องชื่อดังในตำนาน ยูแจฮา เพราะมีคนเขียนจดหมายไปขอเพลงนี้ พัคดูมัน โจยงกู และซอแทยุนย้อนกลับไปที่สถานที่เกิดเหตุล่าสุด โดยพวกเขาได้เจอกับ โจบย็องซุน ยืนสำเร็จความใคร่ใส่ชุดชั้นในของหญิงสาวอยู่ แต่หลังสอบสวนไปมา ทั้งพยายามหว่านล้อมและทำร้ายร่างกาย โจบย็องซุนก็บอกว่าเขาไม่ได้รู้เห็นอะไรเกี่ยวกับการฆาตกรรม เขาเป็นเพียงผู้บริสุทธิ์ที่หมกมุ่นในกาม 
              ซอแทยุนพบบ้านหลังหนึ่งบนเนินเขา โดยจากที่ถามมาพบว่าเจ้าของบ้านเป็นหญิงสาวผู้หนึ่ง เธอมักร้องไห้อยู่เสมอ และข้างนอกบ้านของเธอก็ตากผ้าที่มีเสื้อผ้าสีแดงด้วยเช่นเดียวกัน ซอแทยุนให้ตำรวจหญิงควอนกวีอ๊กมาพูดคุยกับเจ้าของบ้าน ก็พบว่าเธอถูกคนร้ายซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกันข่มขืนตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ถูกมัดด้วยวิธีการเดียวกันกับศพอื่น ๆ โดยเธอเป็นเหยื่อรายแรกและรายเดียวที่รอดชีวิตมาได้ แม้จะไม่เห็นใบหน้าของคนร้าย แต่เธอก็ให้ข้อมูลที่สำคัญกับตำรวจว่าคนร้ายเป็นคนที่มีฝ่ามือนุ่ม ประจวบเหมาะกับที่ทางตำรวจได้ชื่อและที่อยู่ของบุคคลที่ส่งจดหมายไปที่สถานีวิทยุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตามไปหา พัคแฮอิล ที่ทำงานและนำตัวมาสอบสวน เขามาทำงานที่เมืองนี้ตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีมือที่นุ่มตามที่เหยื่อบอก 
              แต่เนื่องจากเกาหลีใต้ในขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาก ซอแทยุนจึงต้องส่งน้ำกามที่พบบนตัวเหยื่อกับดีเอ็นเอของพัคแฮอิล ไปให้สถาบันที่สหรัฐอเมริกาตรวจสอบ และในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะคอยจับตาดูพัคแฮอิลเอาไว้ คืนหนึ่งฝนตกโปรยปราย ซอแทยุนคลาดกับพัคแฮอิลเลยตามไม่ทันว่าเขาเดินทางไปที่ไหน เช้าวันรุ่งขึ้นก็พบศพของเด็กนักเรียนหญิงที่ซอแทยุนเคยพูดคุยด้วย เป็นเหยื่อที่อายุน้อยที่สุดจากทั้งหมด ซอแทยุนตามไปหาพัคแฮอิลแล้วใช้กำลังเพื่อให้พัคแฮอิลยอมสารภาพว่าเป็นคนทำ แต่พัคดูมันตามมาห้ามเอาไว้พร้อมกับยื่นซองเอกสารจากสหรัฐอเมริกาให้ ผลออกมาว่าดีเอ็นเอของพัคแฮอิลไม่ตรงกับคนร้าย ซอแทยุนไม่ยอมเชื่อแล้วยกปืนขึ้นเพื่อจะยิง แต่พัคดูมันก็ห้ามเอาไว้อีกครั้ง แล้วปล่อยพัคแฮอิลไป 
              หลายสิบปีผ่านไป ในปีค.ศ. 2003 พัคดูมันลาออกจากการเป็นตำรวจนานแล้ว ตอนนี้เขามีลูกสองคนและขายเครื่องคั้นน้ำผลไม้ วันหนึ่งระหว่างที่นำสินค้าไปส่งแล้วขับผ่านจุดเกิดเหตุที่แรก เขาหยุดรถแล้วแวะลงไปเดินดูอีกครั้ง ในขณะที่เขากำลังก้มมองท่อน้ำที่เคยพบศพแรก ก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าเพิ่งมีคุณลุงคนหนึ่งมานั่งมองจุดเดียวกันกับพัคดูมัน เด็กผู้หญิงเล่าว่าเธอถามชายผู้นั้นว่าเขามานั่งทำอะไร ชายผู้นั้นตอบว่าเขากำลังนึกถึงสิ่งที่ตนเองเคยทำ ณ สถานที่ตรงนี้เมื่อนานมาแล้ว พัคดูมันจึงถามต่อว่าคน ๆ นั้นมีหน้าตาอย่างไร เด็กผู้หญิงตอบว่าเขาหน้าตาธรรมตาและพบได้ทั่วไป พัคดูมันได้ยินดังนั้นก็ตระหนักได้ว่าเด็กผู้หญิงได้พบเข้ากับฆาตกรที่ยังคงลอยนวลอยู่ พัคดูมันจึงมองตรงมาที่ผู้ชมราวกับกำลังตามหาฆาตกรที่แอบซ่อนตัวอยู่ หลังจากนั้นภาพยนตร์ก็จบลง 



    คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง 

              คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองอันเป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวในภาพยนตร์ Memories of Murder ก็มีรายละเอียดในส่วนของคดีที่คล้ายคลึงกับที่เห็นในเรื่อง โดยคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองในความเป็นจริง พบศพแรกเป็นศพของหญิงสูงอายุในเดือนกันยายน ค.ศ. 1986 ตามมาด้วยศพของหญิงสาวตรงท่อน้ำที่ลำธารเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1986 ซึ่งมีวันที่และสถานที่เกิดเหตุตรงกับศพแรกที่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ หลังจากนั้นก็พบอีก 8 ศพ ซึ่งศพสุดท้ายถูกพบในปีค.ศ. 1991 รวมระยะเวลาทั้งหมดราว 5 ปีกับเหยื่ออีก 10 ศพ โดยเหยื่อมีอายุตั้งแต่ 13 ปีไปจนถึง 71 ปี (Hollingsworth, Seo & Kwon, 2020) 
              สถานที่เกิดเหตุคือเมืองฮวาซอง จังหวัดคย็องกี ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากกรุงโซลมาก โดยในช่วงปีค.ศ. 1986 เมืองฮวาซองมีประชากรราว 226,000 คน และผู้คนต่างก็อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเนินเขาและทุ่งนา ก่อนหน้าที่จะเกิดคดีฆาตกรรมนี้ขึ้น เมืองฮวาซองไม่ใช่สถานที่ที่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นบ่อย คดีฆาตกรรมต่อเนื่องยิ่งไม่จำเป็นต้องพูดถึงเลยด้วยซ้ำ แต่หลังเดือนกันยายน ค.ศ. 1986 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เนื่องจากจุดที่พบศพหลาย ๆ ครั้งมักกระจายอยู่ตามตำบลแทอัน ซึ่งเป็นเพียงตำบลเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านต่างก็รู้จักกันทั้งหมด ผู้คนในพื้นที่จึงเริ่มหวาดระแวงและต้องระวังตัวเองอยู่เสมอ (Hollingsworth, Seo & Kwon, 2020) 
              ในขณะนั้น ถนนหนทางก็ไม่มีเสาไฟ เมื่อตกดึกจึงไม่มีแสงไฟแม้แต่น้อย ชาวบ้านในละแวกนั้นก็พยายามรวมกลุ่มแล้วเดินตรวจตราในยามกลางคืนด้วยกัน ผู้หญิงถูกบอกห้ามไม่ให้ออกนอกบ้านหลังพระอาทิตย์ตก และต้องเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าสีแดงเนื่องจากผู้คนพูดกันว่าเสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่ดึงดูดฆาตกร และในส่วนของผู้ชาย พวกเขาก็ต้องหยุดออกไปดื่มสุราในยามกลางคืนเพราะกลัวว่าตนอาจจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้ (Hollingsworth, Seo & Kwon, 2020) 
              เมื่อพบศพมากขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จึงต้องขอความช่วยเหลือจากเมืองใกล้เคียงในการตามสืบคดี พวกเขาได้ใช้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงใส่เสื้อสีแดงเพื่อล่อคนร้าย หรือการไปหาหมอดูที่บอกให้ตำรวจลองไปตามหาผู้ชายที่นิ้วมือขาดไปหนึ่งนิ้ว หรือแม้แต่การทำพิธีตามความเชื่อพื้นบ้านเกาหลีกับหุ่นไล่กา (Hollingsworth, Seo & Kwon, 2020) ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ด้วยเช่นกัน ในฉากที่มีหุ่นไล่กาสีขาวสวมเสื้อสีแดง พร้อมกับข้อความสาปแช่งว่า "ถ้าไม่ยอมมอบตัว ขอให้แขนขาเน่าตาย" นอกจากนี้ ตำรวจยังได้วาดภาพสเก็ตช์คนร้ายจากความทรงจำของคนขับและกระเป๋ารถเมล์ที่เห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งขึ้นรถมาหลังช่วงเวลาที่เกิดเหตุฆาตกรรมศพที่ 7 โดยลักษณะที่พยานทั้งสองคนเห็นนั้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่ผู้รอดชีวิตที่ถูกคุกคามทางเพศจากคนร้ายอธิบาย และหนึ่งในลักษณะของคนร้ายที่ถูกกล่าวถึงคือเขาเป็นคนที่มีมือนุ่ม (Hong, 2011) ซึ่งเป็นรายละเอียดเดียวกันกับที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่ถึงกระนั้น ทางตำรวจก็ไม่สามารถจับตัวฆาตกรได้ 
              แม้เจ้าหน้าที่บางส่วนจะยังไม่ย่อท้อและพยายามตามสืบคดีอยู่เรื่อย ๆ แต่ท้ายที่สุด คดีนี้ก็หมดอายุความในเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 (Nam, 2006) ในภาพรวม คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบคดีกว่า 2,000,000 นายต่อปี เก็บลายนิ้วมือของปัจเจกกว่า 40,000 คน สอบสวนผู้ต้องสงสัยและพยานรวมกันกว่า 20,000 คน และนำตัวอย่างดีเอ็นเอกว่า 500 ตัวอย่างและตัวอย่างผมกว่า 180 ตัวอย่างไปตรวจสอบเพื่อตามหาตัวคนร้าย (Nam, 2006) 
              ในปีค.ศ. 2019 ด้วยเทคโนโลยีทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น จึงสามารถตรวจสอบดีเอ็นเอของคนร้ายบนหลักฐานที่ยังคงถูกเก็บเอาไว้ได้ ทางตำรวจพบว่าคนร้ายตัวจริงคือ อีชุนแจ ที่ถูกจำคุกตลอดชีพเนื่องจากคดีฆาตกรรมน้องสาวของภรรยาในปีค.ศ. 1994 (Seo & Hollingsworth, 2020) ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานดีเอ็นเอและคำสารภาพของอีชุนแจแล้ว แต่เนื่องจากคดีหมดอายุความไปตั้งแต่หลายปีก่อนหน้า จึงไม่สามารถเอาผิดอีชุนแจในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองได้ (Seo & Hollingsworth, 2020) 

              “ผมไม่เข้าใจ [ว่าทำไมผมถึงไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย] คดีต่าง ๆ เกิดขึ้นรอบตัวผม และผมก็ไม่ได้พยายามอย่างหนักในการซ่อนสิ่งต่าง ๆ ผมเลยคิดว่าผมคงจะถูกจับกุมได้ง่าย ๆ ตอนนั้นมีกำลังตำรวจหลายร้อยนาย ผมเดินสวนกับตำรวจนักสืบตลอดเวลา แต่พวกเขาเอาแต่ถามผมเกี่ยวกับคนรอบตัวผม” 

              “ผมได้ยินว่ามีคนจำนวนมากถูกสอบสวนและต้องทุกข์ทรมานอย่างไม่ยุติธรรม ผมอยากขอโทษคนเหล่านั้น ผมมาให้ปากคำและอธิบายคดีด้วยความหวังว่า [เหยื่อและครอบครัวของพวกเขา] จะได้รับการปลอบประโลมหลังความจริงถูกเปิดเผย ผมจะใช้ชีวิตที่เหลือด้วยการสำนึกบาป” (Seo & Hollingsworth, 2020) 

              นอกจากนี้ ตอนที่อีชุนแจถูกนำตัวมาขึ้นศาลเพื่อเป็นพยานในการไต่สวนใหม่ (Retrial) สำหรับนาย ยุน (ไม่เปิดเผยนามเต็มตามกฎหมายเกาหลี) ที่ถูกจำคุกราว 20 ปีเนื่องจากถูกตำรวจบังคับให้ยอมรับสารภาพว่าได้กระทำการฆาตกรรมศพที่ 8 ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ (Hollingsworth, Seo & Kwon, 2020) อีชุนแจกล่าวว่าตนเองมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ตอนอยู่ในคุก (จากคดีฆาตกรรมน้องสาวของภรรยา) แล้วเมื่อทนายฝั่งนายยุนถามว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้าง อีชุนแจก็ตอบว่าเขาชมมันในฐานะภาพยนตร์ ไม่ได้มีความรู้สึกหรือรับรู้ได้ถึงความตื่นเต้นอะไร (“연쇄살인범,” 2020) 


    ถอดรหัสข้อความวิพากษ์สังคม 

              จะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ได้นำรายละเอียดหลายอย่างที่เกิดขึ้นในคดีจริง ๆ มาเล่าให้ผู้ชมได้รับรู้ผ่านจอภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่พบศพ เหยื่อ วิธีการประกอบอาชญากรรม (Modus Operandi: MO) ไปจนถึงวิธีการสืบคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ตามสืบคดีแบบปกติ ไปหาหมอดู หรือทำพิธีใส่หุ่นไล่กา จนสามารถเรียกได้ว่า Memories of Murder เปรียบเสมือนภาพยนตร์ที่ย้อนเวลากลับไปยังเกาหลีใต้ในช่วงปีค.ศ. 1986 เพื่อถ่ายทำเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงสูง อย่างไรก็ตาม หากสังเกตดี ๆ บงจุนโฮไม่ได้หยิบยกเพียงรายละเอียดต่าง ๆ ของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองมาใส่ แต่นำสภาพสังคมและการเมืองเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 มาผสม เสียดสี และร้อยเรียงให้เกิดภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน โดยสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นได้ มีดังนี้ 


    1) ประกาศเคอร์ฟิว การซ้อมปิดไฟยามวิกาล และรัฐบาลฆาตกร 

              สิ่งแรกที่ผู้เขียนสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงต้นของภาพยนตร์คือเสียงไซเรนยามกลางคืน เห็นได้จากฉากที่ซอแทยุนกำลังนั่งมองข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการฆาตกรรมครั้งที่ผ่าน ๆ มาในสถานีตำรวจแล้วมีเสียงไซเรนดังขึ้น และเมื่อพูดถึงเสียงไซเรนกับเกาหลีใต้ สิ่งที่ผู้เขียนนึกถึงคือ “เคอร์ฟิว” (통행금지령) และ “การซ้อมปิดไฟ” (등화관제 훈련) 
              ประเทศเกาหลีใต้มีการประกาศเคอร์ฟิวมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้วสหรัฐอเมริกาเข้ามาดูแลเกาหลีในส่วนที่อยู่ใต้เส้นขนานที่ 38 ชั่วคราว เมื่อเสียงไซเรนดังขึ้นจากสถานที่ราชการ ผู้คนต่างต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านจนกว่าจะถึงเวลาย่ำรุ่ง และหากใครออกมาข้างนอกในยามกลางคืนแล้วถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับได้ ก็อาจโดนคดีและติดคุก โดยเคอร์ฟิวนี้ก็ถูกใช้มาเรื่อย ๆ และได้ถูกขยายระยะเวลาและขยายพื้นที่จากกรุงโซลไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงสงครามเกาหลี ค.ศ. 1950-1953 จนเมื่อสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง ระยะเวลาเคอร์ฟิวก็ลดลงมาเหลือ 00.00 น. ถึง 04.00 น. แล้วถูกยกเลิกโดยประธานาธิบดีเผด็จการ ช็อนดูฮวัน ในปีค.ศ. 1982 รวมเวลาทั้งหมด 36 ปีที่เกาหลีใต้ประกาศเคอร์ฟิวยามวิกาล (Shin, 1982) 
              แต่แม้เคอร์ฟิวจะถูกยกเลิกไปในปีค.ศ. 1982 ก็ใช่ว่าชาวเกาหลีใต้จะสามารถออกมาใช้ชีวิตในยามกลางคืนภายใต้แสงไฟและแสงดาวได้อย่างเป็นอิสระ โดยในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลเกาหลีใต้มักประกาศการซ้อมปิดไฟยามกลางคืนอยู่บ่อย ๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม (Nam, 2018) เพราะแม้เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือจะหยุดรบกันในทางปฏิบัติตั้งแต่ค.ศ. 1953 หลังการลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิง (Armistice Treaty) แต่ในทางทฤษฎี สงครามเกาหลียังไม่สิ้นสุด จึงมีการเตรียมพร้อมประชาชนให้ซ้อมปิดไฟอยู่เสมอ เพราะหากเกิดสงครามขึ้นมาจริง ๆ คอมมิวนิสต์เกาหลีเหนืออาจส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่บ้านเมืองในยามกลางคืนได้หากเห็นแสงไฟจากบ้านเรือน 
              อย่างไรก็ตาม เสียงไซเรนที่ดังขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อเตือนให้ประชาชนปิดไฟและหลบตัวอยู่ในบ้านนั้น ในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นกลวิธีของรัฐบาลเผด็จการเกาหลีในการประโคมแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปราบปรามฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล และสร้างความหวาดระแวงภัยสงครามจากเกาหลีเหนือแก่ประชาชน (Nam, 2018) กล่าวโดยง่าย ประกาศต่าง ๆ ที่ห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในยามค่ำคืนเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและควบคุมประชาชนให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลในนามของความมั่นคง 
              ในภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder เมื่อตะวันลับขอบฟ้าและเสียงไซเรนดังขึ้น ผู้คนก็ทยอยกันเข้าบ้านและดับไฟทุกดวง แต่ในขณะที่ประชาชนส่วนมากปฏิบัติตนตามคำสั่งของรัฐบาลและเก็บตัวอยู่ในบ้านในเวลาซ้อมปิดไฟ นี่กลับเป็นการเปิดโอกาสอันดีให้ฆาตกรออกตามหาเหยื่อเคราะห์ร้ายในยามกลางคืน ที่ไม่มีทั้งแสงไฟและพยานที่อาจสาวตัวไปถึงเขาได้ และฆาตกรก็รู้ถึงโอกาสตรงนี้ดี ทำให้เขาเลือกที่จะลงมือก่อเหตุยามวิกาลในทุก ๆ ครั้ง ภาพยนตร์ Memories of Murder จึงเสียดสีให้เห็นว่า นอกจากฆาตกรตัวจริงที่ลงมือก่อเหตุแล้ว รัฐบาลเผด็จการเกาหลีใต้เองก็เป็นฆาตกรที่สร้างช่องโหว่และพรากชีวิตไปจากประชาชนในทางอ้อมด้วยเช่นเดียวกัน 


    2) ฆาตกรมีไม่จับ มัวแต่ปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย 

              กว่าเกาหลีใต้จะกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกอย่างที่เห็นในปัจจุบันได้ เกาหลีใต้เคยตกอยู่ภายใต้เผด็จการอำนาจนิยมอยู่นานหลายสิบปี และทศวรรษ 1980 ที่เกิดเหตุคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองเองก็เป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของเกาหลี [***]
              หลังการลอบสังหารและการอสัญกรรมของประธานาธิบดีเผด็จการ พัคจ็องฮี ในปีค.ศ. 1979 นายพลช็อนดูฮวันและนายพลโนแทอู ก็กระทำการรัฐประหาร แต่งตั้งพรรคพวกตนเองมาอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ แล้วนายพลช็อนดูฮวันก็ลาออกจากกองทัพเพื่อแต่งตั้งตนเองเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้ (KCIA) เพื่อใช้อำนาจกำจัดผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง เมื่อประชาชนรวมตัวกันออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย นายพลช็อนดูฮวันก็ได้ประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ซึ่งนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนในเมืองควังจูในวันถัดไป หรือที่รู้จักกันในนาม “การก่อการกำเริบควังจู” (Gwangju Uprising) ที่มีประชาชนกว่าหลายร้อยคนเสียชีวิต และอีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ (SpokeDark TV, 2020) 
              หลังจากนั้น นายพลช็อนดูฮวันก็ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของเกาหลีใต้ด้วยวิธีอันไม่โปร่งใสอย่างโจ่งแจ้ง แต่เชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ขึ้นแล้วก็ไม่สามารถดับลงได้ง่าย ๆ ตลอดทศวรรษ 1980 ก็มีประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และนักศึกษามหาวิทยาลัย ออกมาชุมนุมและเรียกร้องประชาธิปไตยกันเป็นจำนวนมากอย่างเป็น “ปึกแผ่น” นอกจากนี้ ในปีค.ศ. 1986 พรรคฝ่ายค้านยังสามารถล่ารายชื่อกว่า 10 ล้านชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย แต่เมื่อรัฐบาลเผด็จการเริ่มเห็นว่าควบคุมประชาชนเอาไว้ไม่อยู่ จึงเริ่มปราบปรามประชาชนและใช้กำลังสลายการชุมนุมอีกครั้ง (SpokeDark TV, 2020) โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1987 มีนักศึกษาชื่อ พัคจงช็อล ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1987 ก็มีนักศึกษาอีกหนึ่งคนชื่อ อีฮันย็อล ถูกแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ศีรษะจนเสียชีวิต ทำให้ประชาชนที่ต่างก็หมดความอดทนกับรัฐบาลเผด็จการออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลกันทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนมิถุนายน (June Struggle) โดยในตอนนั้นมีประชาชนออกมาชุมนุมกันกว่า 5 ล้านคน ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ (จักรกริช สังขมณี, 2020) 
              และแน่นอนว่า ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ก็ได้สอดแทรกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้เอาไว้ มีฉากสั้น ๆ ในช่วงครึ่งแรกของเรื่องที่เด็กนักเรียนผู้หญิงในเมืองฮวาซองแต่งชุดประจำชาติเกาหลี (ชุดฮันบก) แล้วมายืนโบกธงชาติเพื่อต้อนรับประธานาธิบดีช็อนดูฮวัน โดยถนนนั้นเปิดโล่ง ไม่มีตำรวจหรือทหารมายืนควบคุมอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ไม่กี่วินาทีถัดมา ภาพยนตร์ได้ตัดไปยังฉากของการชุมนุมประท้วง ประชาชนมีอาวุธในมือ บ้างก็ถือไม้ บ้างก็กำลังปาวัตถุติดไฟใส่กองกำลังตำรวจที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้เพื่อสลายการชุมนุม ท้ายที่สุด ตำรวจสามารถสลายการชุมนุมได้สำเร็จ มีประชาชนถูกควบคุมตัว บางส่วนก็ถูกตำรวจทุบตี อีกทั้งยังมีผู้หญิงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทืบด้วยเช่นเดียวกัน 
              นอกจากนี้ ในตอนที่ควอนกวีอ๊กพบว่ารายการวิทยุเปิดเพลงจดหมายอันเศร้าโศก ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสังเกตว่าคนร้ายลงมือก่อเหตุในทุกคืนที่ฝนตกแล้วรายการวิทยุเปิดเพลงนี้ หัวหน้าชินดงช็อลได้โทรศัพท์ไปบอกให้ทางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วส่งกองกำลังพิเศษสองกองมาสมทบ เนื่องจากพวกเขามั่นใจว่าคืนนี้ฆาตกรต้องก่อเหตุอีกครั้งอย่างแน่นอน 

              “หัวหน้าครับ กองกำลังเสริมจะมาไหมครับ” 
              “ตอนนี้ไม่ว่างแม้แต่กองเดียว ตอนนี้กองกำลังพิเศษทุกกองกำลังปราบจลาจลอยู่ที่ซูวอน” 

              แต่พวกเขาก็ได้คำตอบว่าไม่มีกองกำลังพิเศษไหนว่างมาช่วยพวกเขาตามจับฆาตกรเลยสักกอง เพราะกองกำลังพิเศษทั้งหมดกำลังปราบปรามประชาชานที่มาชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองซูวอน เมืองเอกของจังหวัดคย็องกีที่ตั้งอยู่ติดกับเมืองฮวาซอง และในเช้าวันถัดมา ก็มีคนพบศพหญิงสาวอีกหนึ่งราย ไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่พวกเขาคาดการณ์เอาไว้เลยแม้แต่น้อย 
              ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ฉายภาพของรัฐบาลเกาหลีใต้ในทศวรรษ 1980 ที่มุ่งแต่ใช้กำลังตำรวจทหารไปกับการปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุร้ายอย่างฆาตกรต่อเนื่องที่ยังคงลอยนวลอยู่และกำลังจะลงมือก่อเหตุอีก รัฐบาลกลับไม่สนใจ แล้วปล่อยให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สำหรับรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมแล้ว ประชาชนไม่ใช่กลุ่มคนที่รัฐบาลต้องปกป้องดูแล ไม่ใช่เจ้าของประเทศ ไม่ใช่ผู้เสียภาษี แต่กลับเป็นศัตรูตัวฉกาจของรัฐบาล เป็นผักปลาที่สามารถใช้กำลังปราบปรามได้โดยง่าย และเป็นชีวิตอันไร้ค่าที่แม้จะปล่อยให้ตกอยู่ในอันตรายและถูกฆาตกรรมโดยฆาตกรต่อเนื่องก็ไม่เป็นอะไร 


    3) ผู้พิทักษ์สันติราษฎรที่เอาแต่ทำร้ายและจับกุมผู้บริสุทธิ์ 

              สืบเนื่องจากในส่วนที่แล้ว จะเห็นได้ว่านอกจากจะมีรัฐบาลเผด็จการที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญของรัฐบาล ที่คอยปราบปรามประชาชนและทำให้รัฐบาลเผด็จการยังอยู่ในอำนาจต่อไปได้ และเกาหลีใต้ในทศวรรษ 1970-1980 เองก็เป็นช่วงที่มีการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Police brutality) เพื่อปราบปรามประชาชนอย่างกว้างขวาง (Park, 2020) ตััวอย่างเช่น นักศึกษาพัคจงช็อล ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ถูกจับกุมแล้วนำไปซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวน ท้ายที่สุด พัคจงช็อลถูกกรอกน้ำจนเสียชีวิตในปีค.ศ. 1987 (จักรกริช สังขมณี, 2020) 
              และเมื่อย้อนกลับมามองที่คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง ก็สามารถพบเห็นประเด็นการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ได้เกริ่นไปในข้างตนว่าศพที่ 8 มีผู้ต้องสงสัยชื่อนาย ยุน ถูกจับกุมตัวแล้วยอมสารภาพว่าตนเป็นฆาตกร ซึ่งศพที่ 8 นี้ถูกเรียกว่าเป็นคดีฆาตกรรมเลียนแบบ (Copycat Crime) และนายยุนยังไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่องฮวาซอง (Hollingsworth, Seo & Kwon, 2020) แต่ในความเป็นจริงแล้ว นายยุนไม่ได้ลงมือฆาตกรรมเหยื่อเคราะห์ร้ายคนที่ 8 หรือคนอื่น ๆ เลยด้วยซ้ำ เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังเดินกะเผลกตั้งแต่เล็กเนื่องจากเป็นโรคโปลิโอ แต่กลับต้องถูกจำคุกอยู่ราว 20 ปี เพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวนอยู่นานสามวันเพื่อบังคับให้เขาสารภาพเท็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจคย็องกีนัมบู แพยงจู ยอมรับว่าในปีค.ศ. 1989 เจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนั้นทำร้ายร่างกายนายยุนจริง และบังคับขู่เข็ญให้นายยุนสารภาพว่าตนเองเป็นฆาตกร (Hollingsworth, Seo & Kwon, 2020; Seo & Hollingsworth, 2020) 
              ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder เองก็เน้นย้ำถึงประเด็นการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดทั้งภาพยนตร์ โดยเฉพาะในขั้นตอนการสอบสวนผู้ต้องสงสัยทั้งสามคนในเรื่อง แพ็คกวังโฮที่เป็นผู้พิการทางสมอง โจบย็องซุนที่หมกมุ่นในกาม และพัคแฮอิลที่ส่งจดหมายไปขอเพลง ทั้งสามคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเตะ กระทืบ มัดไว้กับเพดานแล้วให้ห้อยหัว กักขังหน่วงเหนี่ยว ไปจนถึงใช้อาวุธข่มขู่ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจอยากพบตัวคนร้ายและปิดคดีให้มันเสร็จไปสักที แต่ในความเป็นจริง ผู้ต้องสงสัยทั้งสามคนต่างก็เป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีฆาตกรรม และยังเป็นเหยื่อให้กับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย 


    17 ปีผ่านไป แต่ทุกอย่างยังเด่นชัดในความทรงจำ 

              ในตอนจบของภาพยนตร์ ซึ่งอนุมานได้ว่าอยู่ในช่วงปีค.ศ. 2003 (ปีที่ภาพยนตร์เข้าฉาย) หรือราว 17 ปีหลังการพบศพแรกที่ท่อน้ำกลางทุ่งนา พัคดูมันลาออกจากการเป็นตำรวจและเปลี่ยนมาทำอาชีพเซลล์ขายเครื่องคั้นน้ำผลไม้ แต่เมื่อขับผ่านสถานที่เกิดเหตุจุดแรกสุด เขาก็ให้คนขับหยุดรถ แล้วลงมาเดินบนเส้นทางที่เขาเคยเลือกเดินเมื่อหลายสิบปีก่อน เขาก้มลงมองท่อน้ำที่ครั้งหนึ่งเคยมีศพถูกนำมาทิ้งเอาไว้ จู่ ๆ ก็มีเด็กผู้หญิงมาพูดคุยกับเขา เธอบอกว่ามีคุณลุงอีกคนเพิ่งมานั่งมองจุดเดียวกันแล้วบอกกับเธอว่าเขากำลังนึกถึงสิ่งที่เคยทำ ณ ที่ตรงนี้เมื่อนานมาแล้ว และคุณลุงคนนั้นมีใบหน้าที่ธรรมดาและทั่วไป พัคดูมันดูตกใจและตระหนักได้ถึงบางสิ่งบางอย่างหลังได้ยินดังนั้น เขามองตรงมาที่ผู้ชม ก่อนที่จอภาพยนตร์จะกลายเป็นสีดำ 
              ส่วนตัวผู้เขียนไม่ใช่คนดูภาพยนตร์เยอะ แต่ตอนจบของ Memories of Murder เป็นตอนจบที่ผู้เขียนชอบที่สุดตั้งแต่เคยดู ๆ มาเลยก็ว่าได้ ทันทีที่ภาพยนตร์จบลง สิ่งแรกที่ผู้เขียนตีความได้หลังชมตอนจบดังกล่าว คือพัคดูมันรู้ว่าฆาตกรยังคงลอยนวลอยู่ และฆาตกรก็ยังคงวนเวียนอยู่แถว ๆ นี้ ซึ่งการที่เขามองตรงมาที่ผู้ชมอาจตีความได้ว่า ฆาตกรตัวจริงอาจเป็นใครก็ได้ เป็นคนข้างบ้าน เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นคนที่เราเดินสวนตรงบันได เป็นคนที่หน้าตา “ธรรมดาและทั่วไป” และอาจกำลังนั่งชมภาพยนตร์นี้อยู่ในโรงเดียวกันก็เป็นได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนคิดว่าบงจุนโฮเลือกใช้ตอนจบเช่นนี้ เป็นเพราะว่าในปีค.ศ. 2003 ฆาตกรต่อเนื่องฮวาซองยังไม่ถูกจับได้ กว่าตำรวจจะย้อนกลับไปตรวจสอบหลักฐานและพบว่าอีชุนแจเป็นฆาตกรตัวจริงก็ปีค.ศ. 2019 แล้ว การให้พัคดูมันมองมาที่ผู้ชมราวกับว่ากำลังมองหาฆาตกรที่กำลังนั่งชมภาพยนตร์อยู่ (ซึ่งอีชุนแจก็เคยได้ดู Memories of Murder จริง ๆ) จึงเป็นการตัดจบได้อย่างเรียบง่ายแต่สร้างความประทับใจให้กับผู้เขียนมาก 
              แต่หากนำเนื้อหาวิพากษ์สังคมและการเมืองเกาหลีใต้มาผสม ผู้เขียนมองว่าสามารถตีความตอนจบไปได้อีกแบบ ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder เข้าฉายในปีค.ศ. 2003 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เพียงหนึ่งปี โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เกาหลีใต้ในขณะนั้นเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น หลังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมาเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งหากเทียบดูแล้ว ในปีค.ศ. 1986 ที่เกิดคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองขึ้นเป็นครั้งแรก ในขณะนั้นเกาหลีใต้ยังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ แต่ 17 ปีผ่านไป ในปีค.ศ. 2003 เกาหลีใต้สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการได้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นชัยชนะที่น่ายินดีของฝั่งประชาธิปไตย แต่ 17 ปีก็ไม่ใช่ระยะเวลาที่นานนัก ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ในตอนนั้นยังคงเยาว์วัย ความทรงจำของยุคเผด็จการในวันวานยังคงเด่นชัดในความทรงจำหลาย ๆ คน เช่นเดียวกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองเองที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน และความทรงจำเกี่ยวกับฆาตกรผู้นี้ก็ยังคงตามหลอกหลอนผู้คนจำนวนไม่น้อย ดังนั้น การที่พัคดูมันในปีค.ศ. 2003 มีสีหน้าที่ตกใจราวกับว่าเขาตระหนักได้ว่าฆาตกรตัวจริงยังคงวนเวียนอยู่แถว ๆ นี้ ก็สามารถเปรียบเทียบแบบคู่ขนานไปได้กับความวิตกกังวลว่าระบอบการปกครองแบบเผด็จการยังคงซุกซ่อนตัวอยู่ เมื่อใดที่ฝั่งประชาธิปไตยเพลี่ยงพล้ำ ความโหดร้ายและชีวิตที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพภายใต้ผู้นำเผด็จการก็อาจหวนคืนมาอีกครั้งก็เป็นได้ 

    Photo by Yohan Cho on Unsplash

    สรุป

              กล่าวโดยสรุป บทความชิ้นนี้ได้วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ผ่านจุดยืนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่นำเสนอเรื่องราวในส่วนที่เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง ซึ่งเป็นคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญตั้งแต่ค.ศ. 1986 ที่เพิ่งระบุตัวฆาตกรได้ในปีค.ศ. 2019 แต่ยังถ่ายทอดให้เห็นภาพของเกาหลีใต้ในยุคทศวรรษ 1980 อันเป็นช่วงเวลาที่เกิดการปะทะกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมกับขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย โดยภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ได้สะท้อนให้เห็นชีวิตอันเปราะบางของประชาชนเกาหลีใต้ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ที่ประกาศซ้อมปิดไฟยามวิกาลในนามความมั่นคงของประเทศ แต่กลับทำให้ชีวิตของประชาชนไม่มั่นคง นอกจากนี้ ยังเสียดสีรัฐบาลเผด็จการที่ทุ่มกองกำลังไปกับการปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะปกป้องชีวิตของประชาชนจากเงื้อมมือฆาตกร อีกทั้งยังเปิดโปงความโหดร้ายของวงการตำรวจที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และในตอนจบ ภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder ทิ้งท้ายด้วยแววตาอันหวาดหวั่นของตัวละคร ที่สะท้อนความตระหนักว่าฆาตกรต่อเนื่องยังคงลอยนวลและวนเวียนอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ซึ่งเปรียบได้กับความหวาดกลัวว่าดวงวิญญาณของอำนาจเผด็จการเกาหลีอาจฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังพ่ายแพ้ให้กับประชาธิปไตยเพียงไม่ถึงสองทศวรรษในปีค.ศ. 2003


    Reference List

    - Cha, S. (Producer), & Bong, J. (Director). (2003). Memories of Murder. South Korea: CJ Entertainment. 
    - Hollingsworth, J., Seo, Y. & Kwon, J. (2020, May 24). He Spent 20 Years in Prison for Murder. Then Someone Else Confessed to the Same Crime. Retrieved July 5, 2021, from https://edition.cnn.com/2020/05/23/asia/south-korea-hwaseong-murder-injustices-intl-hnk/index.html
    - Hong, H. (2011, May 8). 화성 연쇄 살인사건… 숨은 이야기 “살인자 모습 기억에 남아” [Hwaseong Serial Murder Case… The Hidden Story “I remember the murderer’s appearance”]. Retrieved July 6, 2021, from http://www.todaykorea.co.kr/news/articleView.html?idxno=142887
    - Jung, M. (2017, May 26). Cold Cases Unfrozen: Crimes Unsolved in the Past Could See Breakthrough from Advancing Technology. Retrieved July 5, 2021, from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170526000720
    - Jo, H. (2017, May 26). South Korea’s Most Notorious Serial Killers. Retrieved July 5, 2021, from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170526000742
    - Nam, D. (2018, February 27). 명화는 시대다: 80년대라는 어둡고 검은 터널의 기억 [Era of Excellent Film: Memories of the Dark and Black Tunnel of the 80s]. Retrieved July 7, 2021, from http://m.kukminusa.com/news/view.php?gisa_id=0923907824
    - Nam, K. (2006, April 1). Hwaseong Killings Still Baffle Police. Retrieved July 5, 2021, from https://www.donga.com/en/article/all/20060401/246760/1/Hwaseong-Killings-Still-Baffle-Police
    - Park, K. (2020, November 17). South Korea Struggles to Confront Its Own Racial Prejudices. Retrieved July 7, 2021, from https://foreignpolicy.com/2020/11/17/south-korea-racial-prejudices-black-lives-matter/
    - Seo, Y. & Hollingsworth, J. (2020, November 2). Man Who Confessed to Being One of South Korea’s Most Notorious Serial Killers Says He’s Surprised He Wasn’t Caught Sooner. Retrieved July 5, 2021, from https://edition.cnn.com/2020/11/02/asia/hwaseong-serial-killer-guilt-intl-hnk/index.html
    - Shin, P. (1982, January 6). South Korea Reports Peaceful End to 36-Year Curfew. Retrieved July 7, 2021, from https://www.upi.com/Archives/1982/01/06/South-Korea-reports-peaceful-end-to-36-year-curfew/2984379141200/
    - SpokeDark TV. (2020, April 20). เกาหลีใต้ เลิกเป็นเผด็จการได้อย่างไร? [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=4dRcCDf7S6g&t=509s
    - 연쇄살인범 이춘재가 “영화 ‘살인의 추억’ 봤지만 아무 느낌 없었다” 고 말했다 [Serial Killer Lee Chun-Jae Said “I Watched ‘Memories of Murder’ Movie, But I Felt Nothing”]. (2020, November 3). Retrieved July 6, 2021, from https://www.huffingtonpost.kr/entry/story-yi-choon-jae_kr_5fa0233cc5b6501b4ba679a3.  
    - จักรกริช สังขมณี. (25 มิถุนายน 2563). เมื่อวันนั้นมาถึง: สามัญชนกับกระบวนการประชาธิปไตย. เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน 2564 จาก https://www.the101.world/june-struggle/.


    — 


    [*] เช่น Memories of Murder (2003), Confession of Murder (2012), Gap-dong (2014), Signal (2016), Tunnel (2017), Criminal Minds (2017), Partners for Justice (2018), Flower of Evil (2020)

    [**] สำหรับผู้ใดที่สนใจ สามารถตามไปอ่านได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

    [***] ผู้เขียนเคยแปลเพลง IU - Sogyeokdong (소격동) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 ด้วยเช่นเดียวกัน หากสนใจ สามารถตามไปอ่านได้ที่ลิงก์ด้านล่าง


    โดย: จีรัชญ์ณา หงษาครประเสริฐ
    นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    (ที่สนใจเรื่องสืบสวนสอบสวนมากพอ ๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ)
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in