ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีเพลงเต้นตามฉบับหนังอินเดียทั่วไป ไม่มีเพลงรักซึ้งๆหรือเพลงรักหวานแหววชุ่มชื่นใจ แต่เป็นภาพนตร์ประเภทเดียวกับ
The Lunchbox(2013) ที่การดำเนินเรื่องเนิบๆ ไม่หวือหวาแต่ชวนจมดิ่ง ยิ่งดูยิ่งเห็นช่องว่างความแตกต่างระหว่างชนชั้นของคนในมุมไบที่เหมือนตะแกรงที่ถ่างออกเรื่อยๆ อีกทั้งยังนำเสนออีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ยกตัวอย่าง เช่น ภาพยนตร์เรื่องนี้มีวิธีการนำเสนอศิลปะ ผ่านจิตรกรอย่างอรุณที่ไม่ได้ดูเทปของยาสมินในคราวเดียว แต่ค่อยๆดู ค่อยๆซึมลึกและรับรู้ัปัญหาของเธอ ขณะเดียวก็เสนอปัญหาสังคม - ความสัมพันธ์โรแมนติกที่เป็นไปได้ระหว่างชนชั้นที่แตกต่างกันในอินเดีย การรุกเข้ามาในชีวิตของแก๊งค์มาเฟีย, ความแตกต่างทางเพศในสังคม และเรื่องของความเป็นจริงในมุมไบที่เป็นเมืองใหญ่ โดยมุมไบเป็นเมืองท่าสําคัญของอินเดีย มีขนาดใหญ่ไม่แพ้เมืองหลวงอย่างนิวเดลี และยังเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่า ‘ใจกลางของวงการหนังบอลลีวูด’
หนังเรื่องนี้ก็ถ่ายทอดชีวิตในมุมไบได้อย่างเเนบเนียน อย่างแรกคือ ใช้วีดีโอที่ผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อ ‘ยาสมิน นัวร์’ ถ่ายส่งให้น้องชายดู ยาสมินเป็นภาพแทนของหญิงบ้านนอกที่แต่งงานตามสามีมาอยู่ในเมืองใหญ่ สุดท้ายวีดีโอนั้นก็ตกไปอยู่ในมือของ ‘อรุณ(Aamir khan)ʼ ที่วันหนึ่งอรุณรื้อทาสีอพาร์ตเมนท์ใหม่แล้วเจอพอดี อรุณเป็นจิตรกรหนุ่มชนชั้นกลาง สถานะหย่าภรรยาแล้ว วันๆอรุณเอาแต่ดูวีดีโอของยาสมิน ทว่าภายในวีดีโอก็สะท้อนภาพชีวิตคนในมุมไบได้ดี ตั้งแต่ชีวิตผู้หญิงที่มีสถานะแม่และเมียในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านต้องทํางานแข่งกับเวลาในตอนเช้า เพื่อเตรียมอาหารให้ลูกและสามี ยาสมิน ซึ่งเป็นหญิงมุสลิมในสังคมอินเดียแสดงความเห็นถึงแนวคิดการแต่งงานว่า
“ทําไมเราจะต้องให้ความสําคัญกับการแต่งงานนะ ฉันไม่น่าแต่งงานเลย ไม่มีใครฟังที่ฉันพูด ฉันเคยมีความสุขดี บอกอะไรให้ไหม เขามีผู้หญิงอื่น”
อย่างที่สอง ภาพของวีถีชีวิตคนอินเดียมุมไบถูกมองผ่านเลนส์อีลิทอย่าง ‘ไช’ นางเอกของเรื่อง ที่เธอถูกเสนอว่าเป็นผู้มีการศึกษา เป็นอเมริกัน(ที่เราก็แอบคิดว่าการยกยอว่าเธอเป็นอเมริกันเสมือนการยกระดับสถานะให้สูงกว่าคนอินเดียทั่วไป) ไช ลาพักร้อนจากการทํางาน กลับมาอินเดีย งานอดิเรกคือการถ่ายภาพชีวิตคนในชุมชน ระหว่างการดําเนินเรื่องเราจะเห็นคนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งการทําน้ำหอมด้วยมือ อาชีพซักผ้า คนขายปลา พ่อค้าแม่ค้าในชุมชนโดยรอบ พนักงานก่อสร้าง เป็นต้น โดยที่โซเฮ็บ ชายหนุ่มจากสลัมถามเธอด้วยความสงสัยผ่านบทสนทนาว่า
โซเฮ็บ : ทําไมต้องทําอะไรแบบนี้ ด้วย
ไช : เพื่อจะได้เห็น เพื่อเข้าใจ
โซเฮ็บ : เพื่อมาเห็นที่สกปรกแบบนี้น่ะหรือ ถนนในอเมริกา สะอาดเกินไปสําหรับคุณหรือไง
จริงๆแล้วไชก็คืออีลีทที่สนุกกับชีวิตที่ตัวเองไม่เคยประสบพบเจอ ทุกอย่างดูแปลกใหม่ สนุกสนานสําหรับเธอ เป็นเหมือนกิจกรรมยามว่างเพื่อผ่อนคลายเท่านั้น ดูแล้วก็คล้ายกับการโหยหาอดีตอันแสนหวาน(nostalgia) ที่ชนชั้นกลางในกรุงเทพชอบแห่กันไปคาเฟ่ที่มีทุ่งนา ทุ่งหญ้าเขียวๆ ไปเพลินวานเพื่ออาหารที่ปักป้ายว่า
“โบราณ” หลีกหนีชีวิตแสนวุ่นวายในเมืองหลวง แต่ถามว่าหลงใหลนักหนาทําไมไม่อยู่เสียเลยล่ะ ... ก็ปฏิเสธหมด ถือเป็นกิจกรรมยามว่างเพื่อผ่อนคลายและสนุกสนานเท่านั้นเอง
มาที่ตัวละครในเรื่อง 3 คนหลัก
อรุณ — เป็นศิลปินชนชั้นกลางที่รักสันโดษ หย่าเมีย ภายหลังย้ายมาอพาร์ตเมนต์เเห่งใหม่ เขาพบวีดีโอของยาสมิน นัวร์ หญิงสาวบ้านนอกที่แต่งงานตามสามีมาอยู่ในเมืองใหญ่ ยาสมิน นัวร์เองก็เคยอยู่อพาร์ตเมนต์นี้มาก่อน อรุณเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงที่ไม่ต้องพะว้าพะวงว่าพรุ่งนี้จะมีกินไหม หรือ แสดงออกว่าเดือดร้อนเรื่องเงินแต่อย่างใด งานหลักของอรุณในภาพยนตร์นอกจากจะเป็นศิลปิน/ จิตรกรแล้ว ยังเป็นคนตามติดวีดีโอยาสมินอีกด้วย อรุณเฝ้าติดตามชีวิตของยาสมินในมุมไบผ่านวีดีโอที่อัดทิ้งไว้ทุกวัน จนกระทั่งมาถึงม้วนสุดท้ายที่เธอกล่าวลาโลกใบนี้ อรุณเสมือนคนแชร์ความรู้สึกร่วมกับยาสมินในวันที่เธออ้างว้าง ทั้งยามเธอเศร้า ยามเธอหัวเราะ จนกระทั่งชีวิตของยาสมินในตอนโดนสามีนอกใจ
ไช — หญิงสาวชนชั้นสูง เป็นตัวแทนของอีลีทในสังคมอินเดีย ที่หนังก็ขยันเสนอภาพให้ดูเหลือเกินว่า พวกแกดูสิ ชีวิตนังไชมันสุขสบายแค่ไหน พ่อเป็นมหาเศรษฐี ส่วนชีวิตการทํางานก็เป็นพนักงานแบงค์ของธนาคารในอเมริกา เธอเป็นอินเดียน-อเมริกันแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว พูดภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อ ภาพของเธอถูกเสนอผ่านไลฟ์สไตล์หรูหราของคนมีอันจะกิน มีคอนโดติดทะเล มีคนรถรับ- ส่งระหว่างวัน ระหว่างทานอาหารกับโซเฮ็บ เด็กหนุ่มจากสลัมที่มีอาชีพซักเสื้อ โซเฮ็บใช้มื้อหยิบข้าวตามวิถีคนอินเดีย เธอที่นั่งตรงข้ามก็สะดวกใจที่จะใช้ช้อนกับส้อมและกินเบอร์เกอมากกว่า
โซเฮ็บ — ชายหนุ่มที่เป็นภาพแทนของชนชั้นล่างสุดของสังคม อาชีพหลักของโซเฮ็บคือรับจ้างซักผ้า รีดผ้า ส่งตามบ้าน ง่ายๆก็คือการรับซักรีดให้คนมีอันจะกินนั่นล่ะ แต่อีกอาชีพหนึ่งคือการรับจ้างฆ่าหนู กล่าวคือฆ่าหนูตามทาง/ตาม ที่แออัดและสกปรกซึ่งสถานที่ดังกล่าวย่อมไม่ใช่เขตที่ชนชั้นสูงอยู่อาศัย แต่เป็นชนชั้นกลาง- กลางล่างที่พอจะมีอันจะกินหน่อย บ้านโซเฮ็บคือสลัมข้างทางรถไฟ ขณะที่ฝนตกโซเฮ็บต้องหากระป๋องและผ้ากันสาดมาบังฝนให้กับเพิงที่ซุกหัวนอน แน่นอนว่าเมื่อโซเฮ็บเป็นภาพแทนของชนชั้นล่างแล้ว ความฝันก็ย่อมต้องฉีกกฎ ดูเกินตัว ดูเพ้อฝัน โซเฮ็บใฝ่ฝันอยากเป็นส่วนหนึ่งของวงการบอลลีวูด
เป็นที่รู้กันดีว่านักแสดงบอลลีวูดเป็นอาชีพสําคัญในอินเดีย เป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอาชีพหนึ่ง นักแสดงบอลลีวูดบางครั้งก็เปรียบเหมือนพระเจ้า หรือ นักการเมืองแสนดีในสายตาประชาชน คนอินเดียมากมายมีงานอดิเรกอย่างหนึ่งคือไปยืนดูประตูบ้านของนักแสดงบอลลีวูดชื่อดังอย่างชารุค ข่าน (ชรข./ SRK) สามข่านผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย หรือแม้แต่หน้าบ้านดาราดังๆเองก็เช่นกัน ซึ่งรายการหนังพาไปก็เคยไปตามรอยหน้าบ้านชารุค ข่านด้วย จะเห็นว่ามีคนมายืนรอชม "หน้าบ้าน" ชารุค ข่านกันเป็นงานอดิเรก
ครั้งหนึ่งนักแสดงบอลลีวูดก็เคยถูกประชาชนเชียร์ให้ลงสมัครเลือกตั้ง เพราะประชาชนชื่นชอบบทบาทวีรบุรุษ ปราบปรามคนชั่วในภาพยนตร์ของเขา เห็นไหมล่ะ อาชีพนักแสดงบอลลีวูดเปรียบเสมือนใบเบิกทางให้กับชีวิตดีๆในสายตาโซเฮ็บ เป็นอาชีพที่จะทําให้เลื่อนสถานะทางสังคมได้สูงขึ้นได้ไวอาชีพหนึ่ง แต่โชคร้ายที่ชีวิตไม่เป็นใจนอกจากจะเรียนไม่สูง โซเฮ็บจะหาคอนเนคชั่นมาจากไหนอีกล่ะ ลำพังเอาชีวิตให้รอดพ้นจากความหิวโหยก็ยากแล้ว
อย่างไรก็ตาม โซเฮ็บกล้าที่จะฝันถึงอาชีพที่เป็นที่นับหน้าถือตาอย่างนักแสดง แต่โซเฮ็บกลับไม่กล้าที่ฝันถึง “ความรัก” โซเฮ็บช่างเป็นชายหนุ่มที่เจียมเนื้อเจียมตัว แม้แต่จะจับมือก็ยังไม่กล้าพอเพราะความไม่คู่ควรค้ำคอ ใครจะว่าความรักไม่ควรตัดสินด้วยคําว่าคู่ควร/ ไม่คู่ควรก็ช่างเถอะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตจริง ความเหมาะสมของหน้าที่การงาน สถานะทางสังคมถือเป็นเรื่องสําคัญของผู้มีหน้าตาทางสังคม โดยเฉพาะคนที่โซเฮ็บตกหลุมรัก “อย่าลืมกําพืดเธอสิ” นายจ้างผู้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับโซเฮ็บกล่าวด้วยน้ำเสียงดูถูกเมื่อรู้ว่าโซเฮ็บตกหลุมรักไช นอกจากนี้หนังยังเพิ่มการตอกย้ำให้โซเฮ็บอีก เมื่อแม่บ้านของไชกล่าวกับ เธอว่า
“คุณหนูไชอยู่ให้ห่างจากไอ้หนุ่มซักผ้านั้นไว้นะ เขาแค่ฉลาด แต่ไม่มีการศึกษา (เขา)ไร้ค่าเป็นที่สุด”
เป็นการตอกย้ำว่าสถานะทางสังคมไม่เพียงเป็นข้อจํากัดหนึ่งของความรัก ยังเป็นปัจจัยในการตัดสินว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอีกด้วย
อย่างไรก็ตามตอนจบเป็นการจบแบบปลายเปิด ปล่อยให้คนดูไปลุ้น อรุณหลังจากดูวีดีโอสุดท้ายของยาสมินและพบว่าเธอผูกคอตายตรงขื่อที่อรุณมองอยู่ อรุณไม่ได้ตกใจกลัวแต่กลับเวทนาในชะตาชีวิตเธอ ท้ายที่สุดก็ย้ายออกจากอพาร์ตเมนต์นั้นไป ในขณะที่โซเฮ็บเมื่อรู้ตัวว่าหลงรักไชแต่ความรู้สึกไม่คู่ควรและสถานะทางสังคมที่ไม่อาจเลื่อนชนชั้นให้เท่าเทียมเธอได้ก็ยอมจํานน ความรักโรแมนติกที่หญิงสาวคนหนึ่งจะเสียสละตัวเองลงมาไม่เกิดขึ้นจริงในภาพยนตร์เรื่องนี้
ขณะเดียวกันไชก็พยายามตามจีบอรุณชายหนุ่มที่เธอตกหลุมรักอย่างไม่ย่อท้อ เป็นที่น่าสนใจว่าชนชั้นกลางมีเวลามาวิ่งเล่นกับความรักมากกว่าชนชั้นล่างที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเพื่อให้ตัวเอง ปากท้องมากก่อนความรักว่างั้นเถอะ
อนึ่ง Long take ตอนจบที่ชอบที่สุดคือฉากที่โซเฮ็บวิ่งตามรถยนต์ของไชบนถนนในมุมไบ ไม่ใช่เพื่อสารภาพรักต่อเธอ แต่โซเฮ็บกลับยื่นบ้านเลขที่ใหม่ของอรุณ ชายหนุ่มที่ไชตกหลุมรัก ไม่ว่าโซเฮ็บจะหวังดีต่อเธอ หรือยอมจำนนในสถานะก็ตาม ทว่าจุดนี้ทำให้เราอุทานออกมาว่า “เชี่ย” … นี่คือผลของการมีอารมณ์ร่วมและชมชอบรักโรแมนติกสินะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in