เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อยากให้บล็อกนี้ไม่มีโชคร้ายcelestophia
Let's Talk 'V.F.D.' #2 - There Is No Wrong Side of the Schism
  • หลังจากที่พวกเราได้พูดถึงฮาวทูเข้าร่วมองค์กรลับ (ที่น่าจะติดอันดับองค์กรลับที่ไม่น่าเข้าร่วมที่สุด) ไปแล้วในบทความก่อนหน้า วันนี้เราก็จะมาคุยกันต่อเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ไม่เหมือนเดิมไปตลอดกาลกันค่ะ

    อย่างที่ทุกคนน่าจะเดากันได้จากชื่อเรื่อง ใช่แล้ว จุดเปลี่ยนที่ว่าก็คือ "การแตกแยกครั้งใหญ่" ของ V.F.D. นั่นเอง

    ถามว่าเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ขนาดไหน โอ้ ก็ใหญ่ขนาดที่ว่าถ้าเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้น เด็ก ๆ โบดแลร์อาจจะไม่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า โอลาฟอาจจะกำลังดับไฟแทนที่จะเผาบ้านอาสาสมัครคนอื่น และเลโมนีอาจจะไม่ต้องวุ่นวายกับการหนีคดีที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

    ...เอ๊ะ ที่จริงก็เป็นไปได้ว่าเด็ก ๆ โบดแลร์อาจจะไม่ได้เกิดมาด้วยซ้ำ เพราะถ้าอาสาสมัครไม่ตีกันเอง ความรักของเลโมนีกับเบียทริซก็ไม่น่าจะจะไม่จบลงด้วยความผิดหวังเช่นนี้เหมือนกัน

    แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

    ประเด็นก็คือถึงแม้การแตกแยกที่ว่านี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มาก อาสาสมัครแทบทุกคนพูดถึงมันตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็เหมือนกับองค์กรลับของพวกเรานั่นแหละ คือถึงจะเป็นตัวขับเคลื่อนพล็อตที่สำคัญ แต่กลับไม่มีใครพูดถึงมันแบบตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมเลยสักคน

    ดังนั้น วันนี้เราจะกลับมาย้อนดูและถอดรหัสเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของ V.F.D. เหตุการณ์นี้ไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ

    ฟิโอน่าและเฟอร์นัลด์ สองพี่น้องที่ต้องพลัดพรากเพราะการแตกแยกเช่นกัน

    The Schism

    สำหรับเรื่องการแตกแยก คำถามแรกที่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยก็คือ ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่องค์กรแตกออกเป็นสองฝ่ายแบบนี้

    แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ เพราะคำถามนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่คำถามที่มีคำตอบให้เราแบบชัด ๆ ตรง ๆ อยู่ในเรื่อง

    หรืออย่างน้อยก็ชัดที่สุดแล้ว ถ้าเทียบกับคำถามอื่นที่กำลังจะพูดถึงต่อจากนี้

    "ตอนที่เริ่มเกิดการแตกแยก ฉันอายุแค่สี่ขวบ ฉันแทบสูงไม่พอที่จะเอื้อมถึงชั้นหนังสือซึ่งฉันชอบที่สุดในห้องสมุดครอบครัว หมวด 020 น่ะ แต่คืนหนึ่งตอนที่พ่อแม่ของเรากำลังแขวนลูกโป่งสำหรับงานวันเกิดอายุห้าขวบ พี่ชายกับฉันก็ถูกพาตัวไป"

    - Dewey Denouement, The Penultimate Peril, Chapter 8

    ***

    "ฉันอายุได้สี่ขวบตอนที่ทุกอย่างเปลี่ยนไป องค์กรของเราแตกสลาย แล้วมันก็เหมือนกับโลกได้แตกสลายไปด้วย สถานที่ปลอดภัยถูกทำลายไปทีละแห่ง ๆ..."

    - Kit Snicket, The Penultimate Peril, Chapter 2

    สำหรับคำถามแรก ทั้งดิวอี้และคิท สนิกเก็ตต่างก็ยืนยันว่าการแตกแยกเกิดขึ้นตอนที่ตัวเองอายุสี่ขวบ ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ดิวอี้บอกกับพวกเราว่าเขาถูกลักพาตัวมาตอนอายุห้าขวบ ในเมื่อคิทกับดิวอี้ฝึกมาในรุ่นเดียวกัน จึงคาดว่าทั้งสองคนน่าจะเข้าร่วมองค์กรในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และก็น่าจะเป็นรุ่นเดียวกับอาสาสมัครส่วนใหญ่ในเรื่องด้วยเช่นกัน

    ซึ่งก็แปลว่าอาสาสมัครรุ่นที่กำลังแอคทีฟที่สุดในช่วงเวลาของเด็ก ๆ โบดแลร์ แทบไม่มีใครเข้าองค์กรได้ทันยุคก่อนการแตกแยกเลย

    มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะค้านว่า อ้าว แต่ทั้งคิททั้งโอลาฟก็ยังมีรอยสักที่ข้อเท้าไม่ใช่เหรอ ถามว่าเรื่องนี้สำคัญยังไง ก็สำคัญตรงที่ว่าประเพณีการสักที่ข้อเท้าถูกยกเลิกไปหลังจากที่การแตกแยกเริ่มขึ้นแล้วน่ะสิ

    3. ผมต้องสักหรือไม่

    ไม่ต้องสักอีกต่อไปแล้ว นับตั้งแต่เกิดการแตกแยก เราก็ตระหนักได้ว่าการทำเครื่องหมายตนเองเป็นสัญลักษณ์ไว้อย่างถาวรนั้นไม่ฉลาดเลย เพราะความหมายของสัญลักษณ์นั้นอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ก็ได้

    -Unathorized Autobiography, page 191

    (และสำหรับคนที่สงสัย ใช่ค่ะ เลโมนีเองก็มีรอยสักเช่นกัน ซึ่งเจ้าตัวก็เปิดให้เพื่อน ๆ ดูในเรื่อง Shouldn't You Be in School? พร้อมกับบ่นว่าการสักอะไรถาวรที่ข้อเท้าเนี่ยเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย)

    ส่วนตัวเรามองว่าอาสาสมัครรุ่นนี้น่าจะเป็นรุ่นท้าย ๆ แล้วล่ะค่ะที่มีการสักที่ข้อเท้า และน่าจะเป็นรุ่นที่การแตกแยกยังไม่ใหญ่โตเช่นทุกวันนี้ อย่างในชุด All the Wrong Questions ที่เล่าถึงเลโมนีในวัย 13 ปีก็ไม่ได้พูดถึงการแตกแยกสักนิด แถมความจริงแล้ว เลโมนีกับโอลาฟก็ยังเคยฝึกด้วยกันเลยด้วยซ้ำ

    "The only other student I know in this class is O., who is nothing but an annoyance [...] I think it's better to spend my time inside 'My Silence Knot' whenever that nitwit raises his ugly, one-eyebrowed head"

    - Lemony Snicket, The Beatrice Letters, LS to BB#2

    [นักเรียนคนอื่นที่ฉันรู้จักก็มีแค่ O. ซึ่งก็น่ารำคาญเกินทน ฉันคิดว่าคงจะดีกว่าถ้าจะใช้เวลาไปกับการอ่าน My Silince Knot (ชื่อบทกวี) เมื่อไหร่ก็ตามที่เจ้างั่งคิ้วเดียวนั่นเงยหน้าขึ้นมา]

    อย่างที่อาสาสมัครหลายคนพูด การแตกแยกครั้งนี้ยิ่งลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละรุ่นที่ผ่านไป เพื่อนฝูงกลับกลายเป็นศัตรู พี่น้องกลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม ในช่วงแรกไม่มีใครบอกได้อีกต่อไปว่าอาสาสมัครตรงหน้าคือมิตรหรือศัตรู เพื่อนร่วมองค์กรคนไหนกันแน่ที่น่าไว้วางใจ แบบที่โอลิเวีย คาลิบัน (หรือที่รู้จักกันในชื่อมาดามลูลู่มากกว่า) ได้บรรยายไว้ว่า

    "[การแตกแยก] ซับซ้อนแล้วก็สับสนน่ะ" โอลิเวียอธิบาย "ว่ากันว่าสมัยก่อนมันง่ายและเงียบสงบกว่านี้ แต่อาจจะเป็นแค่ตำนานก็ได้ เกิดการแตกแยกใน V.F.D. มีการต่อสู้กันครั้งใหญ่ระหว่างสมาชิกจำนวนมาก แล้วตั้งแต่นั้น ฉันก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร"

    - The Carnivorous Carnival, Chapter 7

    สถานที่ปลอดภัยที่เคยใช้เก็บข้อมูลและแลกเปลี่ยนข่าวสารของอาสาสมัครก็ถูกทำลายลงทีละแห่ง อย่างที่คิทเล่าว่า

    "[...] สถานที่ปลอดภัยถูกทำลายไปทีละแห่ง ๆ เคยมีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ แต่อาสาสมัครที่เป็นเจ้าของห้องทดลองนั้นถูกฆาตกรรม มีถ้ำขนาดใหญ่ แต่กลุ่มนายหน้าซื้อขายที่ดินเจ้าเล่ห์กลับอ้างว่าเป็นของพวกเขา แล้วก็มีสำนักงานใหญ่ขนาดยักษ์อยู่บนเทือกเขาเงาอดีต แต่..."

    "ถูกทำลายไปแล้ว" เคลาส์พูดเบา ๆ "พวกเราไปอยู่ที่นั่นช่วงสั้น ๆ หลังจากไฟไหม้"

    "ใช่แล้ว" คิทพูด "ฉันลืมไป สำนักงานใหญ่เป็นที่ปลอดภัยก่อนสุดท้าย"

    - The Penultimate Peril, Chapter 2

    จนกระทั่งเหลือสถานที่ปลอดภัยแห่งสุดท้าย นั่นคือโรงแรมอวสาน

    ซึ่งตอนนี้ก็ล่มสลายไปแล้วเช่นกัน...

    การแตกแยกครั้งนี้ทำให้อาสาสมัครถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ซึ่งหลังจากนี้จะขอเรียกว่าฝ่ายดับไฟ และฝ่ายจุดไฟ ถ้าดูจากวีรกรรมของแต่ละฝ่ายแล้ว ก็แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าทั้งสองฝ่ายจะเคยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเดียวกันมาก่อน 

    เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา (และไม่ยิ่งเปลืองหน้ากระดาษไปมากกว่านี้--) เราไปทำความรู้จักกับฝ่ายดับไฟกันเลยดีกว่าค่ะ

    The Fire-Fighting Side

    - The world is quiet here
    รูปรวมของอาสาสมัครจากฉบับซีรีส์ ซึ่งก็อาจไม่ได้เป็นอาสาสมัครในหนังสือ, จากซ้ายไปขวา: จอร์จินา ออร์เวลล์, มอนต์โกเมอรี มอนต์โกเมอรี, มิสเตอร์และมิสซิสควากไมร์, มิสเตอร์และมิสซิสโบดแลร์, ไอค์ แอนวิสเซิล, โจเซฟีน แอนวิสเซิล, เลโมนี สนิกเก็ต
    สำหรับฝ่ายแรก น่าจะเป็นฝ่ายที่พวกเราคุ้นหน้าคุ้นตา (และเอาใจช่วย) กันมากที่สุดในเรื่อง กลุ่มคนที่ยังเรียกตัวเองว่า "อาสาสมัคร" ในตอนนี้ก็คือสมาชิกของฝ่ายนี้นี่เอง คนที่อยู่ฝ่ายนี้ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ขององค์กรอย่างเหนียวแน่น  และเชื่อว่าความสงบของโลกใบนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนอ่านหนังสือเยอะ ๆ อย่างที่เลโมนีบรรยายไว้ว่า

    "ถ้าคุณรู้สึกว่าคนที่อ่านหนังสือมาก ๆ จะไม่ค่อยเป็นคนเลว และโลกที่เต็มไปด้วยคนนั่งเงียบ ๆ โดยมีหนังสืออยู่ในมือนั้นน่าอยู่กว่าโลกที่เต็มไปด้วยการแตกแยก เสียงไซเรน และสิ่งรบกวนเสียงดังอื่น ๆ คุณอาจจะพูดกับตัวเองว่า 'โลกที่นี่เงียบ' เหมือนคำปฏิญาณว่าควรจะอ่านหนังสือเพื่อสิ่งที่ดีกว่า"

    - The Slipper Slope, Chapter 13

    ซึ่งก็อย่างที่เราเห็นตลอดทั้งเรื่องค่ะ อาสาสมัครของฝ่ายนี้ยึดมั่นกับการอ่านมาก และเชื่อด้วยนะว่าคนที่อ่านหนังสือไม่มีทางจะเป็นคนเลวไปได้ อย่างที่ควิกลีย์บอกกับพี่น้องโบดแลร์ในตอนที่เจอกันครั้งแรกว่า "จากประสบการณ์ของฉัน คนที่อ่านหนังสือเยอะ ๆ ก็ไม่ค่อยจะเป็นคนเลวหรอก"

    ห้องสมุดมากมายถูกสร้างขึ้นโดยเหล่าอาสาสมัครกลุ่มนี้และกระจัดกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าจะเป็นช่วงหลังการแตกแยกก็ตาม อย่างที่พวกเราเห็นในหนังสือทุกเล่ม ไม่ว่าพี่น้องโบดแลร์จะไปที่ไหน เป็นอันต้องได้เจอกับห้องสมุดทุกที่ไป

    หลังจากที่องค์กรแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่ได้รับผลรุนแรงมากกว่าน่าจะเป็นคนของฝ่ายนี้นี่ล่ะค่ะ ที่ต้องวิ่งหนีหลบหลีกการไล่ล่าของฝ่ายจุดไฟตลอดเวลา สถานที่ปลอดภัยที่เคยมีก็ถูกฝ่ายนู้นเผา อาสาสมัครเองไม่ถูกใส่ร้ายก็ถูกฆ่า จะสื่อสารกันด้วยวิธีเดิมก็ไม่ได้ ในเมื่ออีกฝ่ายก็รู้รหัสเหมือนกัน ก็เล่นนั่งเรียนมาด้วยกันขนาดนี้

    ชีวิตของอาสาสมัครกลุ่มนี้จึงซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ สถานที่ปลอดภัยถูกย้าย รหัสใหม่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้สื่อสารระหว่างอาสาสมัครด้วยกันโดยไม่ให้อีกฝ่ายรู้ อย่างรหัสซีบอลด์ หรือ วจีพ้นไฟโดยอยู่ในตู้เย็น (verbal fridge dialogue) เองก็ดูเหมือนว่าเกิดขึ้นหลังจากการแตกแยกแล้วเช่นกัน

    (จะว่าไป เรื่องรหัสก็น่าเขียนถึงเหมือนกันนะคะเนี่ย--)

    สำหรับสมาชิกในฝ่ายดับไฟ ว่าง่าย ๆ ก็คือแทบทุกคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องโบดแลร์ตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครเก่าที่ยังแอคทีฟอยู่ อย่างลุงมอนตี้และพี่น้องสนิกเก็ต อาสาสมัครหน้าใหม่อย่างแฝดสามควากไมร์ เจอโรม สควาเลอร์ หรือผู้พิพากษาสเตราส์ หรืออาสาสมัครเก่าที่ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับองค์กรแล้ว อย่างป้าโจเซฟีนเองก็เคยเป็นคนของฝ่ายนี้เช่นกัน

    ถ้าดูตามเนื้อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉบับหนังสือหรือซีรีส์ ฝ่ายนี้ก็ดูจะเป็นฝ่ายของคนดี ไม่เผาบ้าน ไม่ฆ่าคน ไม่ปล้นใคร ไม่เรียกค่าไถ่ เป็นฝ่ายรักสงบที่ปล่อยให้อีกฝั่งทำลายสถานที่ปลอดภัยของตัวเองไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าถามว่าเหล่าอาสาสมัครไร้เขี้ยวเล็บขนาดนั้นเชียวหรือ

    คำตอบก็คือ ไม่ค่ะ

    ฝ่ายดับไฟเองไม่ใช่แค่ฝ่ายหนีที่ไร้ทางสู้ และอาจจะไม่ใช่ฝ่ายที่ประเสริฐมากกว่าเลยด้วยซ้ำ อาวุธหนึ่งของฝ่ายดับไฟ -- นอกจากหนังสือและข้อมูลนับล้าน -- ที่เราเห็นกันชัด ๆ ก็คือเชื้อรามรณะที่มีชื่อว่า เมดูซอยด์ ไมซีเลียม

    "แค่สปอร์เดียวก็มีพิษร้ายกาจ
    จนเราอาจตายได้ภายในหนึ่งชั่วโมง"

    เจ้าเชื้อราที่ว่านี้ปรากฏตัวให้พวกเราเห็นครั้งแรกใน The Grim Grotto ในฐานะอาวุธที่เกรกอร์ แอนวิสเซิล หนึ่งในอาสาสมัครฝ่ายดับไฟเพาะไว้เพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเหล่าอาสาสมัครคนอื่น ๆ 

    และในท้ายที่สุดแล้ว ชะตากรรมของสถาบันวิจัยเห็ดราแห่งนี้ หรือที่รู้จักกันในนามแอนวิสเซิล อควาติกส์ก็จบลงในกองเพลิง โดยมือเพลิงที่เดอะเดลี่พังค์ทิลิโอรายงานก็คือเฟอร์นัลด์ อดีตผู้ช่วยของเกรกอร์ ซึ่งย้ายไปเข้าร่วมกับฝ่ายจุดไฟเพราะไม่เห็นด้วยกับเกรกอร์นั่นเอง

    สำหรับคนที่กำลังค้านในใจว่า อ้าว ก็แค่เพาะเห็ดไว้ป้องกันตัวเฉย ๆ เอง สุดท้ายอาวุธนั้นก็ยังไม่ได้เอาไปใช้จริงนี่นา อาสาสมัครยังไม่ได้ไปฆ่าใครตายสักหน่อย

    เรื่องที่ว่ายังไม่มีใครตายเพราะเห็ดก็อาจใช่ แต่ยังจำกันได้ไหมคะ ว่าเคาต์โอลาฟเองก็เป็นเด็กกำพร้า...

    และยังจำได้อยู่ไหมคะ ว่าพ่อแม่ของโอลาฟตายเพราะอะไร

    "ฉันยังจำเย็นวันนั้นได้ดีเลยล่ะ" คิทพูดพลางยิ้มเล็กน้อย "โอเปร่าเรื่อง ลา ฟอร์ซา เดล เดสทิโน แม่ของเธอคลุมผ้าคุลมไหล่สีแดง ริมผ้ามีขนนกยาว ช่วงพักการแสดง ฉันตามพ่อแม่พวกเธอไปที่บาร์ของว่าง
    แล้วรีบเอากล่องลูกดอกอาบยาพิษให้พวกเขา
    ก่อนที่เอสเม่ สควาเลอร์จะจับฉันได้"

    - The Penultimate Peril, Chapter 1

    ***

    "รองของรองบรรณารักษ์คงยังไม่ได้บอกเรื่องพ่อแม่ของพวกเธอสินะ" โอลาฟเยาะ "ไหนจะเรื่องกล่องใส่ลูกดอกอาบยาพิษอีก ทำไมไม่ถามเขาล่ะ เด็กกำพร้า ทำไมไม่ถามบรรณารักษ์ผู้เป็นตำนานเรื่องเย็นวันแห่งชะตากรรมที่การแสดงโอเปร่าล่ะ"

    - The Penultimate Peril, Chapter 9

    ซึ่งก็แน่นอนว่ากล่องลูกดอกอาบยาพิษที่คิทมอบให้พ่อแม่โบดแลร์ ก็คือกล่องเดียวกับที่ใช้สังหารพ่อแม่ของโอลาฟนั่นเอง

    "บอกผมมาว่าอาวุธที่ทำให้คุณเป็นกำพร้าคืออะไร แล้วผมจะพิมพ์ให้เอง"

    "เคาต์โอลาฟยิ้มให้เคลาส์อย่างช้า ๆ ซึ่งทำให้เด็ก ๆ โบดแลร์ตัวสั่น "ฉันจะบอกให้" เขาพูด 
    "ลูกดอกอาบยาพิษ"

    - The Penultimate Peril, Chapter 12

    ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้อาจจะทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่าสิ่งที่ฝ่ายดับไฟได้ทำไป แม้ว่าจะมีเหตุผลอันประเสริฐ แต่นั่นทำให้พวกเขาเป็นคนดีมากกว่าอีกฝ่ายจริงหรือ

    เอาล่ะค่ะ ตอนนี้พวกเราก็น่าจะได้รู้จักกับฝ่ายดับไฟกันพอสมควรแล้ว ทีนี้เราจะขอพูดถึงฝ่ายตรงข้ามของพวกเขากันบ้าง ขอเชิญพบกับฝ่ายจุดไฟค่ะ
  • The Fire-Starting Side

    - Fight fire with Fire

    สำหรับฝ่ายนี้ น่าจะเป็นฝ่ายที่หลายคนก่นด่าสาปแช่งกันมาตลอดทั้งเรื่อง ต้นเหตุของความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงของเหล่าอาสาสมัคร ฝ่ายที่ประกาศก้องว่าการอ่านหนังสือน่ะไร้สาระ! ต้องใช้ไฟสู้กับไฟสิถึงจะสมเหตุสมผล อย่างที่เลโมนีเองก็บรรยายไว้ว่า

    "ถ้าคุณรู้สึกว่าคนที่อ่านหนังสือมาก ๆ ควรจะถูกวางเพลิงบ้านและฮุบสมบัติเสีย คุณก็อาจจะเอาคำพูดที่ว่า 'ใช้ไฟต่อสู้กับไฟ!' มาเป็นคำปฏิญาณของคุณเวลาออกคำสั่งกับลูกสมุน"

    - The Slippery Slope, Chapter 13

    ถ้าฝ่ายดับไฟเชื่อว่าสิ่งที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นได้จากการอ่านหนังสือเยอะ ๆ ความเชื่อของฝ่ายนี้ก็คงจะเป็นขั้วตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะสำหรับสมาชิกฝ่ายนี้แล้ว สิ่งที่ดีกว่าจะมาจากอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากเงิน

    สำหรับสมาชิกของฝ่ายจุดไฟเองก็มีทั้งอาสาสมัครเก่าอย่างโอลาฟ ซึ่งผ่านการฝึกมาพร้อม ๆ กับฝ่ายดับไฟ หรือเอสเม่ สควาเลอร์ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะเคยเข้าฝึกมาก่อนเช่นกัน ถึงจะเห็นได้ชัดว่าไม่จบหลักสูตรแน่ ๆ อย่างที่ตัวเธอเองเล่าว่า

    "ในโลกใบนี้น่ะ การอ่านหนังสือเยอะช่วยอะไรไม่ได้หรอก ฉันควรจะต้องเสียเวลาตลอดหน้าร้อนเพื่ออ่านเรื่องแอนนา คาเรนิน่า แต่ฉันรู้ว่าหนังสือไร้สาระเล่มนั่นคงไม่มีทางช่วยอะไรฉันได้หรอก ฉันก็เลยโยนมันเข้าเตาผิง"

    - The Slippery Slope, Chapter 12

    หรืออย่างเฟอร์นัลด์ ชายมือตะขอเองก็น่าจะได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่างมาจากกัปตันวิดเดอร์ชินส์ พ่อเลี้ยงของตนก่อนจะย้ายฝ่ายเช่นกัน

    "ก่อนที่ฉันจะเข้าร่วมกับโอลาฟ ฉันเรียนรู้เรื่องบทกวีกับพ่อเลี้ยงของฉัน เราเคยอ่านบทกวีให้กันฟังในห้องโถงใหญ่ของเรือควีเคว็ก แต่ตอนนี้มันสายเกินไปแล้ว ฉันกลับไปหาชีวิตแบบเดิมไม่ได้อีกแล้วล่ะ"

    - The Grim Grotto, Chapter 10

    ส่วนสมาชิกใหม่เองก็มีค่ะ แต่จริง ๆ จะเรียกว่าสมาชิกก็กระดากปาก เรียกว่าตัวประกันจะดีกว่า เพราะแทบไม่มีใครเข้าร่วมกับฝ่ายนี้อย่างสมัครใจเลย แม้แต่อดีตมนุษย์ประหลาดจากเทศกาลคาลิการิที่ดูเหมือนจะเต็มใจ แท้จริงแล้วก็เข้าร่วมเพราะกลัวว่าจะไม่มีที่ไปหลังจากที่เทศกาลถูกทำลายลง

    นอกจากสมาชิกของฝ่ายเองแล้ว ฝ่ายนี้ก็ยังมีคนนอกที่บังเอิญยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังช่วยฝ่ายจุดไฟอยู่ (และก็น่าแปลกที่จำนวนคนนอกที่ช่วยฝ่ายจุดไฟ กลับมีมากกว่าคนนอกที่ช่วยฝ่ายดับไฟเป็นไหน ๆ)

    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับเรื่องนี้ก็คือเอเลนอร่า โพ และเจอรัลดีน จูเลียน บรรณาธิการและนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ เดอะเดลี่พังค์ทิลิโอ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับหนังสือพิมพ์ในวรรณกรรมเรื่องอื่น (/ มองเดลี่พรอเฟ็ต) นั่นคือหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แทบไม่เคยนำเสนอข่าวสารที่เป็นจริงเลย บทความแทบทุกชิ้นต้องมีจุดที่ผิดพลาดหรือถูกบิดเบือนเสมอ ซึ่งส่วนมากแล้วก็จะทำให้ฝ่ายดับไฟทำงานได้ยากขึ้นกว่าเดิม

    และแหล่งข่าวของหนังสือพิมพ์นี้ก็มักไม่ใช่คนอื่นคนไกล หากแต่เป็นสมาชิกของฝ่ายจุดไฟนั่นเอง

    ภายหลังการแตกแยก ทรัพยากรที่เคยเป็นขององค์กร (และยังไม่ถูกเผา) ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน รวมไปถึงบรรดาสัตว์ฝึกทั้งหลายก็ถูกแบ่งด้วยเช่นกัน ฝั่งอาสาสมัครได้กาขนส่ง (อย่างที่เห็นในหมู่บ้านวิหคเฟื่องฟุ้งเด่นดี) กับสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายไป ส่วนทางฝั่งนักวางเพลิงน่ะหรือ...

    "อย่าขัดจังหวะ" หญิงคนร้ายน่ากลัวขัดจังหวะ "พวกเธออาจจะได้กาขนส่งไป แต่เรามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกสองชนิดที่จะทำตามคำสั่งของเรา สิงโตกับนกอินทรีไง!"

    - The Slippery Slope, Chapter 13

    ใช่แล้วค่ะ สิ่งที่ฝ่ายนี้ได้ไปคือสิงโตกับนกอินทรี แม้ว่าความจริงแล้วนกอินทรีจะเป็นสัตว์ปีกก็ตาม

    มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าขนาดฝ่ายดับไฟยังทำเรื่องเลวร้ายได้ แล้วฝ่ายจุดไฟล่ะ จะเคยทำเรื่องประเสริฐบ้างหรือเปล่า

    ส่วนตัวเรามองว่าเท่าที่อ่านมาจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการกระทำไหนที่เรียกได้เต็มปากว่าประเสริฐตามนิยามของฝ่ายดับไฟเลยค่ะ (ซึ่งพวกเราก็อาจจะต้องทบทวนนิยามที่ว่ากันอีกที) จะมีก็แต่คำพูดของเฟอร์นัลด์ที่ว่า "คนอย่างฌาค สนิกเก็ตทำเรื่องเลวร้ายได้ คนอย่างเคาต์โอลาฟก็ทำเรื่องประเสริฐได้เช่นกัน"

    ฉากที่ใกล้เคียงที่สุดก็เห็นจะเป็นตอนที่โอลาฟเข้าไปช่วยคิท สนิกเก็ตที่กำลังจะคลอด ในตอนท้ายของ The End นั่นเอง

    แต่ก็อย่าลืมค่ะว่าเรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของสนิกเก็ตเป็นหลัก พวกเราเองไม่มีทางรู้ว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดถูกบิดเบือนไปมากขนาดไหน และท้ายที่สุดแล้ว คงไม่มีใครที่เป็นคนประเสริฐหรือเลวร้ายเพียงอย่างเดียว แบบที่เฟอร์นัลด์พูดไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

    "คนเราไม่ได้เลวร้ายหรือประเสริฐเพียงอย่างเดียวหรอก คนเราก็เหมือนสลัดของพ่อครัวนั่นแหละ เอาทั้งสิ่งดีและไม่ดีมาสับ แล้วก็ผสมกันในน้ำส้มแห่งความสับสนและขัดแย้ง"

    - The Grim Grotto, Chapter 10
  • What is the cause of the Schism?

    ถึงตรงนี้ คำถามที่สำคัญที่สุดและเชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะสงสัยก็คือ สรุปแล้ว การแตกแยกครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่

    เหตุผลแบบไหนกันเชียวที่ทำให้อดีตเพื่อนร่วมองค์กรหันมาเข่นฆ่ากันเองได้อย่างเลือดเย็นเช่นนี้

    สำหรับคำตอบของคำถามนี้ (ซึ่งจงใจเอามาใส่เป็นหัวข้อสุดท้าย) เราจะขอข้ามกลับไปที่จักรวาลซีรีส์ก่อนนะคะ เพราะสำหรับประเด็นใหญ่ ๆ หนัก ๆ ในเรื่องเนี่ย ทางฝั่งซีรีส์ตอบได้เคลียร์กว่าหนังสือเป็นไหน ๆ

    สำหรับคนที่ดูซีรีส์แล้ว (ถ้ายังไม่ดูก็แนะนำนะคะ!) คงจะยังพอจำฉากหนึ่งในตอนที่ 12 พาร์ท 2 ที่เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ในวันแห่งชะตากรรมที่โรงละครโอเปร่ากันได้ ในสมัยที่องค์กรยังไม่แตกออกเป็นสองฝ่าย ในสมัยที่โอลาฟยังคงอยู่ฝ่ายเดียวกับทุกคน

    ค่ำคืนแห่งชะตากรรมที่การแสดงโอเปร่าเรื่อง La Forza del Destino, จากซ้ายไปขวา: เลโมนี สนิกเก็ต, เอสเม่ สควาเลอร์, คิท สนิกเก็ต, เคาต์โอลาฟ

    (ถ้าสังเกตดี ๆ ในซีรีส์จะมีฉากที่โอลาฟใช้มือดับไฟที่บังเอิญลุกติดผ้าม่านโรงละครเข้า เขาเคยดับไฟมาก่อนนะคะ! เขา เคย ดับ ไฟ!)

    น่าเศร้าที่สุดท้ายองค์กรก็กลับแตกแยกในเย็นวันนั้นเอง โดยที่ผู้จุดชนวนสุดท้ายก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นฝ่ายดับไฟของเรานี่เอง ในวันนั้น เลโมนีและเบียทริซลงมือขโมยกระปุกใส่น้ำตาลของเอสเม่ และสังหารพ่อของโอลาฟด้วยลูกดอกอาบยาพิษ ซึ่งเลโมนีให้เหตุผลว่า "เป็นการกระทำอันเลวร้าย ทว่าทำไปด้วยเหตุผลอันประเสริฐ"

    นับตั้งแต่วันนั้น องค์กรก็ไม่อาจหวนคืนสู่สภาพเดิมได้อีกเลย

    แล้วทางฝั่งจักรวาลหนังสือล่ะ...

    สำหรับฝั่งหนังสือ คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วยที่แทบไม่มีสาเหตุของการแตกแยกระบุเอาไว้เลยค่ะ ดังนั้นทุกสาเหตุที่จะพูดถึงหลังจากนี้จึงเป็นเพียงทฤษฎี (และทฤษเดา) ของเหล่านักอ่านเท่านั้น ซึ่งเราจะขอยกมาแค่บางส่วนนะคะ เพราะทฤษฎีทั้งหมดมีเยอะมาก และยังเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงตอนนี้ค่ะ

    การสังหารพ่อแม่โอลาฟ

    สำหรับสาเหตุนี้ที่ทางซีรีส์ยกไปเล่น แฟน ๆ หนังสือเองก็นึกถึงมาแล้วเช่นกันค่ะ แต่ถ้าดูจากไทม์ไลน์จะเห็นว่ามีจุดที่ไม่สมเหตุสมผลหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คิทกับดิวอี้ยืนยันว่าองค์กรแตกแยกตั้งแต่ทั้งสองคนยังเด็ก ไปจนถึงความจริงที่ว่าพ่อแม่ของโอลาฟถูกสังหารโดยพ่อแม่โบดแลร์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการแตกแยกไปนานมาก ๆ ถ้าคิดว่าทุกคนพูดความจริง ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลยค่ะที่จะแตกแยกจากสาเหตุนี้

    การที่เบียทริซขโมยกระปุกน้ำตาลจากเอสเม่

    ต้นคิดทฤษฎีนี้น่าจะมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายล้วนหมกมุ่นกับการตามหากระปุกน้ำตาล ถึงแม้ว่าตลอดทั้งเรื่องจะไม่มีใครบอกเราสักคนว่าข้างในนั้นมีอะไรก็ตาม แต่ก็ด้วยเหตุผลเดียวกับทฤษฎีด้านบนค่ะ คือไทม์ไลน์มันไปกันไม่ได้ เบียทริซขโมยกระปุกน้ำตาลจากเอสเม่หลังจากที่เป็นอาสาสมัครแล้ว ทำให้ทฤษฎีนี้กลับไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน

    อุดมการณ์ไม่ตรงกัน

    ในที่นี้หมายถึงอุดมการณ์ในการต่อสู้กับไฟตั้งแต่ต้น อย่างที่พวกเราเห็น ฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะดับไฟอย่างสงบ ส่วนอีกฝั่งเลือกที่จะใช้ไฟสู้กับไฟ ก็เป็นไปได้ว่าความแตกต่างของอุดมการณ์นี้จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเลิกสู้กับไฟภายนอก และหันมาสู้กันเองแทนจนนำไปสู่การแตกแยกในที่สุด

    ทฤษฎีนี้ก็มีหลายคนพูดถึงค่ะ ด้วยความที่ค่อนข้างเข้าใจง่ายและตรงไปตรงมา แต่ก็มีฝ่ายที่แย้งเหมือนกันว่าออกจะเรียบง่ายเกินไปหรือเปล่านะ เหตุการณ์ที่จุดชนวนได้จริง ๆ น่าจะซับซ้อนมากกว่านี้สิ

    เงิน!

    เป็นอีกสาเหตุที่น่าสนใจค่ะ และมีเหตุผลซัพพอร์ตหลายอย่างเหมือนกัน อย่างที่เราคุยกันไปในบทความที่แล้ว ว่าแหล่งเงินทุนสำคัญขององค์กรก็คือมรดกของเด็กที่ถูกลักพาตัวมาเป็นอาสาสมัครนั่นแหละ ก็เป็นไปได้เหมือนกันที่จะมีฝ่ายหนึ่งไม่อยากหาเงินด้วยวิธีการนี้อีกต่อไปแล้ว แต่ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ เงินทุนก็อาจจะไม่พอสำหรับการซัพพอร์ตองค์กรเช่นกัน จนสุดท้ายก็นำไปสู่การขัดแย้งและแตกแยกในที่สุด

    สาเหตุนี้เองก็เป็นไปได้ค่ะ เห็นได้ชัดว่าตลอดทั้งเรื่ิอง ฝ่ายจุดไฟดูจะหมกมุ่นกับเรื่องเงินมาก อย่างที่ประกาศก้องว่าทำทุกอย่างก็เพื่อเงิน แต่จุดขัดแย้งเองก็มีเช่นกัน อย่างเรื่องที่ไม่ใช่อาสาสมัครทุกคนที่จะถูกเผาบ้าน เช่นโอลาฟ ซึ่งพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงหลังการแตกแยก

    และจากบันทึกการประชุมของอาสาสมัครในบทที่แล้ว จะเห็นว่าฝ่ายดับไฟยอมรับว่าตัวเองลักพาตัวเด็กได้หน้าตาเฉย ซึ่งถ้าเรื่องนี้เป็นปัญหาจริง ก็น่าจะยกเลิกประเพณีนี้ไปเลย ไม่ก็ดูต่อต้านการกระทำนี้บ้าง แต่เราก็ไม่เห็นท่าทางทั้งสองอย่างที่ว่ามา ซึ่งจุดนี้เป็นอีกจุดที่อาจจะดูขัดแย้งกับทฤษฎีนี้เช่นกัน

    ไม่มีใครรู้

    ไม่แน่ใจว่าจะนับเป็นทฤษฎีได้ไหมนะคะ แต่อ่านแล้วคิดว่าน่าสนใจดีเลยขอแชร์ด้วย คืออย่างนี้ค่ะ หลายคนเชื่อว่าที่ไม่มีสาเหตุของการแตกแยกระบุไว้ในเรื่องเลย ก็เพราะความจริงแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าตกลงองค์กรแตกแยกเพราะอะไรกันแน่

    ฟังดูกำปั้นทุบดินมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ค่ะ เพราะดูจากอายุของอาสาสมัครที่ยังแอคทีฟกันอยู่ตอนนี้ ไม่น่าจะมีใครเข้าองค์กรมาทันช่วงก่อนการแตกแยกเลยสักคนเดียว

    และถ้าเป็นสาเหตุนี้จริง ก็ออกจะเข้ากับธีมเรื่องดีด้วยไม่ใช่เหรอคะ หนังสือทั้งชุดที่ว่าด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์ที่เดินซ้ำรอยเดิมตลอดเวลา การแตกแยกเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งสองฝ่ายเกลียดกันเพราะอาสาสมัครรุ่นก่อนหน้าสอนมาว่าให้เกลียด สู้กันเพราะคนรุ่นก่อนสอนมาว่าให้สู้ แม้ว่าคนรุ่นก่อนหน้าจะจากไปแล้ว แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังกลับหยั่งรากลึกเสียจนไม่อาจกำจัดได้

    ว่าไปแล้ว ก็ออกจะคล้ายกับกลอนบทสุดท้ายที่โอลาฟเอ่ยก่อนจะจากไป...

    ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยข้อมูลเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ ก็ยากที่จะบอกได้ว่าการแตกแยกที่ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราบอกได้ก็คือ ความโชคร้ายของทุกคนในเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกของการแตกแยกแล้วล่ะค่ะ

    สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับการแตกแยก เราคงขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ค่ะ (นี่ก็ยาวมากแล้วนะ!) ขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคะ และถ้าใครสนใจจะพูดคุยกันต่อ หรืออยากเพิ่มเติมในจุดที่เราอาจจะตกหล่นไป ก็ยินดีมาก ๆ เช่นกันค่ะ! / ผายมือไปทางช่องคอมเมนต์

    สำหรับซีรีส์นี้ก็น่าจะยังไม่จบค่ะ ยังมีอีกหลายเรื่องที่คิดว่าน่าเขียนอยู่เหมือนกัน หรือถ้ามีคำถามไหนอยากรู้ คาใจมาก อ่านจบแล้วไม่เห็นเฉลยสักที อยากจะพูดคุยกันก็เชิญได้ทั้งในนี้และในทวิตเตอร์นะคะ

    สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน ขอให้โลกที่นี่เงียบสงบค่ะ :)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in