เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
I am what I readTup Peerapat
บันทึกหนังสือที่ได้อ่านในปี 2559
  • ภาษาไทย

    ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต (2556) โดย วีรพร นิติประภา นิยายรางวัลซีไรต์ปี 2558 น่าจะเป็นหนังสือนิยายไทยที่ได้รับคำชมจากรอบทิศรอบทางมากที่สุดในรอบหลายปี จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเรื่องภาษาที่แปลกไปจากวรรณกรรมร้อยแก้วทั่วไป แต่ภาษาสวยมาก เนื้อเรื่องไม่ได้ซับซ้อนหรือยิ่งใหญ่อะไรนัก ออกแนวน้ำเน่านิดๆ คาดเดาบทตอนต่อๆ ไปได้ไม่ยาก ความดีงามอยู่ที่พล็อตเรื่องย่อยๆ ที่แทรกอยู่ในภูมิหลังหรือชะตากรรมของตัวละคร ………. ถือว่าเป็นนิยายที่อ่านเพลิน ภาษาดีมากๆ แต่ไม่ถึงกับชอบมาก

    ความทรงจำถึงกะหรี่ที่แสนเศร้า (2558) ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์ แปลจาก  Memories of My Melancholy Whores (2005) by Gabriel García Márquez  หนังสือเล่มสุดท้ายของ Márquez ซึ่งก็ตีพิมพ์ก่อนเขาตายร่วมทศวรรษ งานไม่ได้เป็นมหากาพย์เหมือน 100 ปีฯ เป็นเรื่องราวของตาแก่นักข่าวคนหนึ่งที่หลงรักเด็กสาวที่เป็นโสเภณี ……….. สั้น อ่านง่าย ตัวละครไม่เยอะ มีความสัจนิยมมหัศจรรย์เล็กน้อย แต่ไม่สนุกเท่าไหร่ ไปอ่าน 100ปีฯ เลยดีกว่าครับ

    The Writer’s Secret (2557) โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ รวมสัมภาษณ์นักเขียนที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Writer ยกเว้นบทสัมภาษณ์บินหลาฯ ที่ตีพิมพ์นิตยสารอื่น วรพจน์ยังทำหน้าที่ได้ดีเหมือนเดิมในการดึงตัวตน ความคิดของผู้ถูกสัมภาษณ์ออกมาผ่านบทสนทนา ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการตีความของผู้สัมภาษณ์ที่ถอดความออกมา หรือเพราะเป็นตัวตนลึกๆ ของนักเขียนที่แทบทุกบทสัมภาษณ์จะสะท้อนถึงตัวตน ความเชื่อมั่นและอีโก้ (ไม่ใช่ในแง่ลบหรือบวก) ภาษาและการเรียบเรียงดีมากตามมาตรฐานวรพจน์………. คนที่ชอบอ่านงานของวรพจน์ก็คงซื้ออ่านไปแล้ว ส่วนใครที่ชอบอ่านบทสัมภาษณ์ดีๆ ก็ไม่ควรพลาด   

    หนีไปเสียจากบ้าน (2558) โดย โตมร ศุขปรีชา บันทึกการเดินทางไปเที่ยวยุโรปเหนือ ดูมีการแวะพักเขียนออกนอกเรื่องนอกทางค่อนข้างบ่อย ถึงขนาดมีเรื่องสั้นที่โตมรเขียนไว้นานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสตีพิมพ์เลยเอามาแทรกไว้ในเรื่องด้วย (อ่านแล้วก็โดดๆ พอสมควร) เล่มเล็กอ่านง่ายใช้เวลาไม่นานจบ แต่จบแล้วก็ไม่ค่อยมีอะไรให้คิดและจนจำหลังจากนั้น เหมือนกับจำได้แค่เรื่องสั้นที่มาแทรกนั่นแหละ……. อ่านก็ไม่เสียเวลา ไม่อ่านก็ไม่พลาดอะไร

    เซียวฮื้อยี้ โดย โกวเล้ง แปลโดย น.นพรัตน์ ว่าจะอ่านมาหลายปีแล้วเพิ่งมีโอกาสปีนี้ เป็นนิยายโกวเล้งที่ไม่เป็นโกวเล้งแต่เหมือนกิมย้ง!!! วางตัวละครได้โคตรดี น่าจดจำหลายตัว แต่จบดูห้วนๆ ไปหน่อย………. สำหรับแฟนนิยายกำลังภายในก็ไม่ควรพลาด แต่ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเคยอ่านกันไปหมดแล้วยกเว้นผมนี่แหละ

    บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ แปลโดย กรรณิกา จรรย์แสง บันทึกของมูโอต์น่าจะเป็นบันทึกการเดินทางมายังอุษาคเนย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดอันหนึ่งในโลกตะวันตกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อย่างน้อยสุนัขของมูโอต์ที่ชื่อ Tin Tin ก็กลายเป็นชื่อของการ์ตูนนักเดินทางชื่อดัง หนังสือบันทึกได้ดีตรงไปตรงมา แปลดี ทำให้ได้รู้เรื่องต่างๆ ของไทยในมุมมองจากคนนอกซึ่งมองคนแถบนี้ว่ายังไม่เจริญควรจะมีนักปกครองผู้สามารถจากค่ายทหาร เอ้ยยุโรปมานำพาภูมิภาคนี้ไปสู่ความเจริญ มีบันทึกชีวิตในบางกอก การเดินทางไปสระบุรี และส่วนที่เป็นไฮไลท์ของเล่มน่าจะเป็นเรื่องการไปเยือนนครวัดซึ่งมีภาพประกอบที่สวยมาก ช่วงท้ายที่ว่าด้วยการเดินทางไปอีสานและต่อเนื่องสู่เดินแดนตามลุ่มน้ำโขง มูโอต์ตายในปี 1861 ที่หลวงพระบาง และอีกไม่กี่ปีให้หลัง ฝรั่งเศสชาติบ้านเกิดของมูโอต์จะเข้ามาครอบครองดินแดนอินโดจีน ………… คนสนใจประวัติศาสตร์ช่วง ร.4 - ร.5 ไม่มีเหตุผลที่จะไม่อ่าน + แปลดี

    ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา (2558) โดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน หลายคนแปล  งานของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สันที่เผยแพร่ทั่วไปในโลกภาษาไทยก็น่าจะมีแค่ Imagined Community หนังสือเล่มนี้เป็นโอกาสดีที่จะนำงานอื่นๆ ของอาจารย์ปู่ของนักวิชาการสายรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ของไทยมาเผยแพร่โดยเป็นการรวมบทความที่ตีพิมพ์ในโลกภาษาอังกฤษมานานพอสมควรแล้ว แต่ยังมีประโยชน์ในการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองรอบๆ ตัวในปัจจุบัน ผมว่าบทความที่เป็นไฮไลท์ของเล่มคือบทความเรื่อง “บ้านเมืองเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” ที่เหมาะสมอย่างมากกับการทำความเข้าใจการล่าแม่มดในไทยในปัจจุบัน (แต่เฮ้ย บทความนี้เขียนถึงเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนะ) และอีกบทความที่ชอบมากคือ “การเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ……………….. เล่มนี้ดี แนะนำให้อ่าน และบทความส่วนใหญ่อ่านง่ายกว่า Imagined Community  

    ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน (2558) โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ที่ผมชอบอ่านงานที่สุดก็น่าจะประจักษ์นี่แหละ ภาษาดี การเล่าเรื่องเรียบเรียงของแต่ละบทความดูสอดคล้องกันจนทำให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการจะนำเสนอได้ง่าย บวกกับความเป็นนักค้นคว้าข้อมูลของประจักษ์ทำให้มีข้อมูลบางอย่าง รวมถึงหลักฐานชั้นต้นหรือชั้นสองบางอย่างที่ประจักษ์นำมาเสนอในบทความ จะสร้างความว้าวววว ให้กับคนอ่านได้ (ว้าวว่าหามาได้ไงวะ) บทความที่ชอบคือ “การสืบทอดอำนาจ : ว่าด้วยวงศาคนาญาติ ทายาท รัฐประหาร และการเลือกตั้ง”และบทความอีกสองสามอันที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการเลือกตั้ง ………………..ดีชอบ พวกที่นำมาจากปาฐกถาก็ดูมีรายละเอียดกว่าที่เคยอ่านสรุปตามเวบข่าวเยอะ  

    ประวัติศาสตร์ยุโรป (2558) โดยอนันตชัย จินดาวัฒน์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์ยิปซี รูปเล่มสวยงาม การเย็บการจัดทำปราณีตสวยงามจนดึงดูดใจให้มีคนซื้อหนังสือราคา 650 บาทเล่มนี้ไปจนมีการตีพิมพ์ซ้ำถึงสามครั้ง จนแอบสงสัยว่าคนชอบซื้อหนังสือสวยๆ มากกว่าชอบอ่านหนังสือดีๆ หรือเปล่า ผมอ่านเล่มนี้ไปได้สัก 500 กว่าหน้าจาก 713 หน้านับว่ามีความอดทนสูงมาก เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์กับเล่มนี้ (และหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใหญ่ๆ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์นี้) ไม่มีการวางโครงเล่มบางเรื่องก็ละเอียดสุดๆ บางเรื่องย่นย่อหรือข้ามไปเลย บางเรื่องอ่านไม่รู้เรื่อง ซึ่งต้องกด Wikipedia อ่านประกอบจนพบที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่าบางส่วนแปล Wiki มานี่เอง โครงสร้างประโยคในหลายส่วนเลยแปลกๆ ………….. อย่าซื้อ อย่าอ่านเสียดายเวลาเปล่าๆ เป็นหนังสือที่ “ห่วย” ที่สุดในรอบหลายปีที่ได้อ่าน หนังสือไม่ใช่เครื่องประดับบ้าน เอาเงินไปซื้อเล่มอื่นเถอะ   


    English

    The Great Gatsby (1922) by F. Scott Fitzgerald จะไปนิวยอร์กก็กดหาว่านิยายที่มีเมืองนิวยอร์คเป็นฉากหลังมีเรื่องอะไรบ้าง จริงๆ เรื่องแรกที่ขึ้นมาคือ The Thing ของ Stephen King !!! คือหนังยังดูไม่จบเลย คงไม่กล้าอ่านแน่ๆ เลยเอาเรื่องที่สองที่โผล่มาในลิสต์มาอ่าน หนังก็ยังไม่เคยดู พออ่านจบอ้าวเกิดที่ Long Island นี่หว่า นิยายเรื่องนี้ถือว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิคของอเมริกันในศตวรรษที่ 20 แถมเป็นวรรณกรรมโปรดของมูราคามิจนเจ้าตัวแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่นั่นแหละอ่านจบแล้วก็ยังไม่รู้สึกสนุกอะไรเท่าไหร่ แถมภาษาช่วงแรกๆ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย อันนี้โทษความอ่อนด้อยทางภาษาของตัวเอง ………… นิยายคลาสสิคไม่กี่เล่มที่สั้น ช่วงครึ่งหลังสนุกดี แต่อ่านแล้วไม่ค่อยชอบ   

    The Martian (2011) by  Andy Weir ยอมไม่ดูหนังเรื่องนี้ในโรงหนัง เพราะอยากอ่านก่อน เนื่องจากมีคนบอกว่าหนังสือสนุกมาก ซึ่งก็จริงไม่ผิดหวังหนังสือสนุก อ่านเพลิน แต่ช่วงหลังๆ ก็อ่านข้ามพวกรายละเอียดวิทยาศาสตร์ไปบ้างเหมือนกันเพราะเริ่มรู้สึกว่าล้นเกินแล้ว ตอนอ่านมีความรู้สึกว่าถ้าการมีชีวิตมันยากขนาดนี้ กูคงยอมตายไปตั้งแต่กลางเรื่องแล้ว ……. เป็นนิยายที่ดีสนุกมาก ทำเป็นหนังก็สนุกแถมมีเพลงให้ฟังตลอด

    All the Light We Cannot See (2014) by Anthony Doerr นิยายรางวัล Pulitzer ปี 2015 เรื่องเด็กหญิงตาบอดชาวฝรั่งเศส เด็กชายนักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน สถานีวิทยุลึกลับ และเพชรอาถรรพ์ที่ผู้ครอบครองจะเป็นอมตะ โดยมีฉากหลังเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง และเมืองริมทะเลหลังกำแพงใหญ่ (Saint-Malo) ดูเหมือนจะจัดเต็มองค์ประกอบยอดฮิตของนิยายมาเต็มไปหมด แต่เอามารวมกันได้กลมกล่อม เนื้อเรื่องคาดเดาไม่ยากว่าจะดำเนินไปทิศทางไหนแต่มีองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ให้ลุ้นเป็นระยะๆ แต่อ่านสนุกมากๆ ………. เป็นนิยายที่สนุกมากๆ เล่มหนึ่ง

    The Sympathizer (2015) by Viet Thanh Nguyen หนังสือเล่มสุดท้ายของปีและเป็นเล่มแรกของปี 2017 เพราะอ่านช่วงหยุดปีใหม่ เล่มนี้เป็นนิยายรางวัล Pulitzer ปี 2016 เรื่องของอดีตสายลับเวียดกง ในกองทัพเวียดนามใต้ที่อพยพมาอเมริกาหลังพ่ายแพ้สงคราม ความสับสนของเจ้าตัวเองที่เป็นสายลับสองหน้า บวกกับการปรับตัวเข้ากับสังคมอเมริกา (โดยที่เขาก็ยังทำหน้าที่สายลับอยู่แม้ว่าสงครามเวียดนามหรือสงครามเย็นจะยุติลงแล้ว) แล้วยังต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับการทำภาพยนต์ Hollywood เกี่ยวกับสงครามเวียดนามอีก แค่พล็อตเรื่องก็เก่งละที่คิดได้ เรื่องนี้จุดเด่นอยู่ที่การสะท้อนปัญหาของผู้อพยพที่ต้องปรับตัวเข้ากับประเทศใหม่ ผู้แต่งเองก็อพยพมาจากเวียดนามใต้หลังไซง่อนแตก มีการสอดแทรกการประชดประชันแนวความคิดแบบอเมริกันอยู่หลายช่วง โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อสงครามเวียดนามหรือคนเอเชีย……….. เขียนดีภาษาดี สนุกตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องจนจบ เนื้อเรื่องคาดเดายาก  

    The Great Wall of China and Other Stories (2007) by Franz Kafka ไม่ได้อ่านงาน Kafka มาหลายปี ที่สำคัญคือไม่เคยอ่านที่เป็นภาษาอังกฤษเลย เนื่องจากปีนี้มีโอกาสจะไปปราก เลยหามาอ่านเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้น  ตามสไตส์ Kafka คือเรื่องสั้นส่วนใหญ่จะสั้นมาก บางเรื่องแค่หน้าเดียว แต่บางเรื่องก็ยาวหน่อย  ส่วนอีกเล่มคือ A Country Doctor (2007) by Franz Kafka ไปบ้าน Kafka ที่ Golden Lane ซึ่งรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เขียนในช่วงที่ Kafka พักอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวซึ่งตอนนี้กลายเป็นร้านหนังสือไปแล้ว จึงซื้อเล่มนี้ติดมือมาเป็นที่ระลึก การไปเยือนอะไรแบบนี้ก็ทำให้เราอ่านหนังสือได้สนุกขึ้น การอ่านงานของ Kafka ระหว่างเที่ยวเชคก็จะทำให้เมืองที่ครึกครื่นไปด้วยนักท่องเที่ยวดูหม่นๆ ขึ้น ยิ่งยามเช้าที่เมืองยังเงียบสงบ นักท่องเที่ยวยังหลับไหลอยู่ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ หนังสือของ Kafka จะพาเราจินตนาการไปถึงกรุงปรากเมื่อร้อยปีก่อนได้ไม่ยาก ……… ใครไม่เคยอ่าน Kafka เลยก็น่าจะลองหามาอ่านดูสักเล่ม ภาษาไทยที่เคยอ่านก็แปลดี    

    The Tin Drum (1959) by Günter Grass เรื่องนิยายเรื่องนี้ติดตัวไประหว่างเที่ยวยุโรป ตั้งใจว่าจะอ่านให้จบก่อนไปถึง Gdansk หรือ Danzig ในชื่อเดิมอันเป็นฉากหลังของนิยายเรื่องแต่สุดท้ายก็จบไม่ทันเพราะนิยายหนาพอสมควรและอ่านไม่ง่ายเลย นิยายว่าด้วยเรื่องของ Oskar Matzerath ชายผู้หยุดการเติบโตไว้ที่ 3 ขวบที่พกกลองสังกะสีติดตัวอยู่ด้วยเสมอและมีความสามารถพิเศษในการใช้เสียงในการทำลายกระจก Oskar มีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชีวิตของเขาและคนรอบข้างจึงหนีไม่พ้นจะโดนกระทบจากมหาสงครามตลอดเวลา โดยหลายๆ เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ก็ถูกบรรจุอยู่ในเรื่องเช่นการต่อต้านนาซีที่ที่ทำการไปรษณีย์เมือง Gdansk ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของนาซีควบคู่กับลัทธิรังเกียจคนยิว เหตุการณ์ทิ้งระเบิดเมือง Dresden รวมถึงการเข้ามายึดครองเมือง Gdnask ของกองทัพแดง เหตุการณ์จริงตามประวัติศาสตร์ถูกบรรจุอยู่ตลอดเรื่อง นิยายเรื่องนี้ที่ทำให้ Grass (ชาวเมือง Gdansk) ได้รับรางวัลโนเบลไป แม้ว่าเรื่องราวจะดำเนินอยู่รอบคนๆ เดียว แต่ว่าโครงเรื่องได้โคตรดี …… ช่วงแรกๆ น่าเบื่อนิดหน่อย แถมสับสนกับการเล่าเรื่องของ Oskar ที่บางครั้งใช้ I บางครั้งก็ใช้ชื่อแทนตัวเอง เล่าแบบ Third Person ผ่านไปสัก 100-200 หน้าถึงจะเริ่มรู้สึกสนุก 

    Boomerang: Travels in the New Third World (2011) by Michael Lewis รวมบทความเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจของ Lewis โดยแต่ละบทความเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ โดย Lewis  ไม่ได้เน้นการนำเสนอเรื่องระดับมหภาคอย่างหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ แต่เลือกนำเสนอประเด็นย่อยที่สำคัญมากจนกลายเป็นสาเหตุสำคัญ หรือตัวเร่งสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเรื่องการที่ชาวประมงผู้ไม่รู้เรื่องการลงทุนในไอซ์แลนด์กลายเป็นนักเก็งกำไร เรื่องความเชื่อเรื่องลัทธิแปลกของคนกรีซ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกัน …………… หนังสือของ Lewis ดีแทบทุกเล่ม อ่านสนุก เล่มนี้ก็เช่นกัน  

    Steve Jobs (2011) by Walter Isaacson เจ้าตัวจากไปนานหลายชั่วอายุไอโฟนแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสอ่านหลังมีโอกาสไปดูหนังประวัติเขา จริงๆ เรื่องราวของ Jobs ส่วนใหญ่ก็จะโดนหยิบสื่อต่างๆ นำมาเผยแพร่หมดแล้วทั้งความเป็น Perfectionist Creativity จนไปถึงความเกรี้ยวกราดจนถึงขั้นน่ารังเกียจ แต่หนังสือก็ยังนำเสนอเรื่องเล็กที่ยังไม่ค่อยรู้ที่เหมือนค่อยขัดเกล่า Jobs ตั้งแต่เด็กๆ จนสู่จุดสุดยอดและล้มลงก่อนจะพุ่งขึ้นสู่ตำนานหลังจากนั้น ความดีความงามคงต้องยกให้ Isaacson ที่ฝรั่งยกให้เป็นนักเขียนชีวประวัติที่ดีที่สุด ดีจนคนหยิ่งยโสอย่าง Jobs ติดต่อขอให้ไปเขียนเรื่องของเขา คิดว่าปีต่อๆ ไปจะหาประวัติ Einstein ที่เขาเขียนมาอ่านบ้าง ……….. เป็นหนังสือชีวประวัติที่เขียนดีมากๆ บวกกับเจ้าของเรื่องก็เป็นบุคคลที่น่าสนใจที่สุดคนนึงของยุค ทำให้เล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมาก อ่านสนุกแม้ว่าคุณจะใช้แอปเปิ้ลหรือไม่ก็ตาม

    Deep Work: Rules for Focused Success in a Distracted World (2016) by Cal Newport หนังสือแนว How to เล่มเดียวที่ได้อ่าน เห็นเล่มนี้เข้ารอบสุดท้ายประเภท Non-fiction ใน Goodread รีวิวค่อนข้างดี เลยลองหยิบมาอ่านในช่วงที่รู้สึกว่าการทำงานไม่ค่อยมี Productivity ใจความหลักคือเรื่องการใช้ชีวิตแบบมีสมาธิกับเรื่องที่จะทำอย่างจดจ่อ เลิกทำแบบ Multi-Tasking แน่นอนว่าหนังสือแนวนี้จะมาพร้อมกับตัวอย่างของพวกยอกมนุษย์ว่าแต่ละคนมีวิธีการเข้าโหมด Deep Work ยังไงรวมถึงงานวิจัยสนับสนุน (งานวิจัยชี้ว่าคนเราใช้สมาธิได้สูงสุดประมาณ 4-5 ชม. ต่อวัน แต่จะเป็นช่วงที่สมองทำงานได้เต็มที่ที่สุด) สรุปวันหนึ่งๆ ทำงานไม่กี่ชั่วโมงแบบ Deep Work พอ งานวิจียในหนังสือเล่มนี้ตอกย้ำความเชื่อของผมว่าการอ่านหนังสือเล่มยังจำเป็นในยุคสมัยของการรับข้อมูลจำนวนมากอย่างละสั้นๆ เพราะการอ่านหนังสือเล่มมีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพของสมองผ่านสมาธิ ในหนังสือมีอธิบายถึงการทำงานระบบไฟฟ้า ประสาทอะไรสักอย่าง ………. อ่านสนุกดี แต่อ่านจบแล้วยังไม่รู้สึกว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่าไหร่  

    The Welfare State: A Very Short Introduction (2016) by David Garland ตามความตั้งใจว่าจะอ่าน VSI อย่างน้อยหนึ่งเล่ม (เห็นมิตรสหายคนหนึ่งอ่าน VSI ปีนึงหลักสิบเล่ม!!) ปีนี้อ่านเรื่อง Welfare State หรือรัฐสวัสดิการที่เป็นเหมือนปลายทางของหลายๆ คนในประเทศไทยทั้งรัฐบาลและภาคประชาสังคม แต่พอเหลือบดูชั้นหนังสือไทยก็พบว่าไม่ค่อยมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย หนังสือเล่มนี้เน้นไปที่ประวัติศาสตร์ของรัฐสวัสดิการตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ในเยอรมนี จนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ภาพของรัฐสวัสดิการกับรัฐคอมมิวนิสต์ดูซ้อนทับกันในบางส่วน จนถึงยุคปัจจุบันที่ผู้เขียนเรียกว่ารัฐสวัสดิการ 3.0 (ของไทยเราไป 4.0 แล้วววววว สงสัยจะเพิ่มสวัสดิการตายฟรี ติดคุกฟรี) ………… เป็น VSI ที่อ่านง่าย คนที่เคยอ่าน VSI บ่อยๆ น่าจะรู้ว่าบางเล่มมันเล็กแต่อ่านยากมาก เล่มนี้อ่านไม่ยากแต่ดี ได้รู้เรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของรัฐเพิ่มขึ้นเยอะ // อยากให้ Openwolrd แปลเล่มนี้ในอนาคต

    The Age of Extremes: A History of the World 1914-1991 (1995) by Eric Hobsbawm หนังสือเล่มนี้อยู่ใน Reading List มานาน จริงๆ คือทั้งชุด 4 เล่มของ Hobswarm เป็นหนังสือที่อยากอ่านมานานแล้วอยากรู้ว่าทำไมหนังสือชุดนี้ถึงเป็นหนึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องมากๆ สำหรับเล่มนี้เคยหยิบมาอ่านแล้วครั้งหนึ่งแต่อ่านได้นิดเดียวก็เลิกไป รอบนี้หยิบมาอ่านเพราะอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะสงครามโลกสองครั้งและช่วงสงครามเย็น อ่านเกือบครบเล่มมีบางบทที่ข้ามไปบ้าง …………. เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีมาก รายละเอียดเยอะ กว้างและครอบคลุม แบ่งตอนได้น่าสนใจทั้งในบทใหญ่ที่แบ่งตามปี และบทย่อยที่แบ่งตามประเด็น ภาษาอ่านไม่ง่าย บวกกับความเป็นหนังสือวิชาการกว่าจะจบแต่ละบทก็ใช้พลังงานไปไม่น้อย อนาคตยังอยากจะเก็บ The Age อีกสามเล่มที่เหลือ   

    The Tyranny of Experts: Economists, Dictators, and the Forgotten Rights of the Poor (2014) by William Easterly ผู้เขียนในฐานะหัวหอกของฝั่งต่อต้านการแก้ปํญหาความยากจนผ่านเงินบริจาคและองค์กรพัฒนาข้ามชาติ เพราะมองว่าเป็นต้นตอที่ทำให้คนจนติดอยู่ในกับดัก และไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบตลาดและการผลิต เล่มนี้เหมือนภาคต่อของ Whiteman’s Burden (2006) โดยมีการพูดถึงบทบาทของการเมืองมากขึ้น งานวิจัยสนับสนุนมากมาย หนังสือค่อนข้างวิชาการ ใครไม่คุ้นกับเศรษฐศาสตร์อาจจะอ่านยากหน่อย แค่เปิดมาช่วงแรกก็พูดถึง Debate ของ Gunnar Myrdal กับ F.V.Hayek ละซึ่งถ้าใครไม่ค่อยมีพื้นนี่อาจอ่านไม่รู้เรื่องเลย………… เป็นหนังสือสำหรับคนที่สนใจเรื่องการพัฒนาควรจะอ่าน เพื่อให้ประเทศเราไม่โดน Expert ลากลงเหว


    หนังสือที่ชอบที่สุดของปี

    In Europe: Travels Through the Twentieth Century (2004) by Geert Mak  Translated by Sam Garrett หนังสือเล่มนี้จริงๆ เขียนเป็นภาษาดัชท์ก่อนแปลเป็นอังกฤษภายหลัง Mak เป็นนักข่าวและนักเขียนชาวดัชท์ เล่มนี้เป็นการเดินทางในทวีปยุโรปช่วงปี 1999 โดยเป็นการเดินทางทบทวนเหตุการณ์ในศตวรรษที่ 20 โดยไล่ไปตามเหตุการณ์สำคัญๆ ในแต่ละปี เช่นเริ่มจากปารีสที่จัดงาน Expo 1900 ต่อด้วยไปลอนดอนเพื่อเชื่อมโยงถึงการสวรรคตของ Queen Victoria ในปี 1901 การเดินทางมีวนไปมาในเมืองซ้ำๆ บ้าง แต่หนังสือฉายภาพรวมของประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงศตวรรษแห่งความวุ่นวายได้ดีมากๆ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 การขึ้นมาของนาซี รวมถึงแนวความคิดแบบ Antisemitism สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องถึงช่วงสงครามเย็น และสงครามแบ่งแยกประเทศยูโกสลาเวีย ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นนักข่าว งานเขียนเลยไม่จืดชืดแบบงานวิชาการทั่วไป แต่หลักฐานอ้างอิงแน่นมาก อีกอย่างที่มีเยอะคือบทสัมภาษณ์ของผู้คนทั้งสัมภาษณ์เองและดังมาจากที่อื่น เหตุการณ์ที่หยิบมาเป็นโครงหลักในการเดินทางก็น่าสนใจ หนังสือหนาประมาณ 800 กว่าหน้า ดังนั้นจึงจัดเต็มข้อมูลมามากๆ …… สรุปคือทั้งปี 2559 หนังสือ In Europe เป็นเล่มที่ชอบที่สุดที่ได้อ่าน แต่อาจจะหาซื้อยากหน่อยเนื่องจากหนังสือค่อนข้างเก่า   

    อนาคตอาจจะมาเขียนรีวิวบางเล่มแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
nichised (@ksdholler)
มาช่วยยืนยันค่ะว่า All The Light We Cannot See ดีมากๆๆๆๆๆๆ