เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
YAKYUU STORIESheathers
2 ลีก 12 ทีม ร้อยล้านมาสคอต (ล้อเล่นไม่ถึงหรอก)
  • เรื่องราวต่อไปนี้เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์การดูเบสบอลแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
    เล่าแบบย่อๆ ใช้ภาษาบ้านๆ ข้ามศัพท์เทคนิค ข้ามกติกาพันหมื่นข้อ
    คัดมาเฉพาะเรื่องสุดเบสิค เรื่องเหี้ยมๆ (และเรื่องคิ้วท์ๆ) ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเบสบอลญี่ปุ่นจ้ะ


    NPB Official Logo


    NPB ย่อมาจาก Nippon Professional Baseball หรือลีกเบสบอลสูงสุดของญี่ปุ่น เทียบกับอเมริกาก็คือ MLB หรือ Major League Baseball นั่นเอง

    เนื่องจากเบสบอลเป็นกีฬายอดฮิตในญี่ปุ่น ‘NPB’ จึงเป็นที่สุดของเบสบอลอีกที ในบรรดาเด็กหนุ่มม.ปลายหัวเกรียนที่ฝันอยากไปโคชิเอ็ง เหล่าตัวท็อปจากแต่ละโรงเรียนก็มีความฝันต่อไปอีกสเต็ป นั่นคือการเทิร์นโปรมาเล่นอาชีพใน NPB (ซึ่งใช้ระบบดราฟคล้ายเมเจอร์ลีก)


    ⚾︎


    NPB มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีการปรับเปลี่ยนระบบ กฎกติกา และทีมในลีกเรื่อยมา ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ลีก คือ Central League และ Pacific League



    ( Left ) Central League Logo / ( Right ) Pacific League Logo



    เล่าแบบง่ายๆคือ Central League (ต่อไปจะเรียกว่า CL) ประกอบด้วย 6 ทีม โดยเกือบทั้งหมดกระจุกตัวอยู่กลางประเทศ ( โตเกียวx2, คานากาว่า, นาโกย่า, โอซาก้า, ฮิโรชิม่า ) สนามประจำทีมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโซนคันโต เป็นลีกที่ไม่ใช่ DH (Designated Hitter) นั่นคือพอถึงรอบทีมตัวเองบุก พิชเชอร์ต้องมาตีเอง แบบเดียวกับ AL (American League) ของ MLB

    ส่วน Pacific League (ต่อไปจะเรียกว่า PL) ประกอบไปด้วย 6 ทีมที่กระจายอยู่ในโซนรอบๆประเทศมากกว่า ( ฮอกไกโด, มิยางิ, ไซตามะ, ชิบะ, โอซาก้า, ฟุกุโอกะ ) พิชเชอร์ไม่ต้องมาต่อคิวตีในไลน์อัพ แต่จะมีตำแหน่ง DH มาตีแทน

    นอกจากนี้ทั้ง 2 ลีกยังบริหารต่างกันด้วย ถ้าให้พูดแบบเม้าท์ๆ เราว่า PL ดูทันสมัยกว่า มีช่องทางประชาสัมพันธ์หลากหลาย มี PL TV สำหรับดูถ่ายทอดสดออนไลน์โดยจ่ายเป็นรายเดือน มีคลิปไฮไลท์ของทุกเกม ตัดเพลย์เจ๋งๆของผู้เล่นแต่ละคนมาโปรโมทเรื่อยๆ ใครสนใจลองเสิร์ชคำว่า ‘Pacific League TV’ จะเจอทั้ง Twitter, Facebook, YouTube และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งบางทีเขาก็โพสเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะเออ


    ความจริงแล้ว NPB ถือว่าเป็นลีกที่เข้มข้นและเป็นที่หมายตาของทั้งนักกีฬาและแฟนเบสบอลรองจาก MLB เลยทีเดียว นอกจากนักกีฬาญี่ปุ่นแล้ว ยังมีนักกีฬาต่างชาติมากมายเล่นให้กับทั้ง 12 ทีม อย่างเมื่อฤดูกาล 2016 ที่ผ่านมา Kris Johnson พิชเชอร์ชาวอเมริกัน จาก Hiroshima Carp (แชมป์ CL ปีที่แล้ว) ก็เพิ่งได้รับรางวัล Sawamura Award รางวัลที่มอบให้กับ Starting Pitcher ผู้ทรงคุณค่าประจำฤดูกาล ซึ่งเป็นรางวัลที่ผู้เล่นต่างชาติไม่ได้รับบ่อยนัก


    ⚾︎


    เสน่ห์ของเบสบอลญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนเมเจอร์ลีกคืออะไร แน่นอนว่าต้องเป็นบรรยากาศ กองเชียร์ครื้นเครงคล้ายแฟนบอลอังกฤษ ทุกคนมาพร้อมอุปกรณ์ประกอบการเชียร์มากมาย ทั้งป้ายที่แฟนๆทำมาจากบ้าน และสารพัดสินค้า Official ที่ทางทีมขายเอง ซึ่งมีเยอะแยะมากมายแบบสุดๆไปเลยจ้ะ ทีมใน NPB ชอบออกสินค้า limited ในวาระสำคัญ ซึ่งมีหลายสิบวาระใน 1 ฤดูกาล คุณพี่คนนี้ตีโฮมรันครบแล้วกี่ครั้ง คุณน้องคนนั้นขโมยเบสไปแล้วกี่หน ไหนจะเด็กใหม่ได้ 1st Win ฯลฯ




    เรื่องสนุกอีกอย่างคือ กองเชียร์แต่ละฝั่งจะร้องเพลงเชียร์ในรอบบุกของทีมตัวเอง ผู้เล่นทุกคนมีเพลงเชียร์ประจำตัว!! และเพลงของแต่ละคนไม่ซ้ำกัน!!! มีการตีกลอง เป่าแตร โบกธง เรียกได้ว่าร้องรำทำเพลงกันอย่างจริงจังประมาณหนึ่งเลยทีเดียว และแน่นอนค่ะ ที่นี่ประเทศญี่ปุ่น จะดำเนินการทำสิ่งใด สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือมาสคอต!

    NPB เองก็เช่นกัน ทั้ง 12 ทีมมีมาสคอตเป็นของตัวเอง และ(เกือบ)ทุกทีมมีมาสคอตอย่างน้อย 3 ตัว!!! รวมทั้งลีกมีเท่าไหร่ก็คูณกันไป แถมบางครั้งยังมีมาสคอตตัวพิเศษที่เพิ่มๆลดๆไปเรื่อยตามฤดูกาลอีกต่างหาก สีสันอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของ NPB จึงเป็นบรรดามาสคอตที่มักจะออกมาทักทายแฟนๆตอนก่อนเริ่มและหลังจบเกม มาสคอตทุกตัวมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง บางตัวน่ารักอ่อนหวาน บางตัวก็ร้าย บางตัวกวนตีน และส่วนใหญ่กระโดดตีลังกาได้อลังการสุดๆนะจ๊ะ แม้กระทั่งมาสคอตที่ดูอ้วนๆลงพุงก็ตีลังกาสี่ห้าตลบโชว์มาแล้ว

    มาสคอตตัวใหม่ที่เป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงนี้ คือเจ้าปลาหน้าตาประหลาด หรือ The Mystery Fish ของทีม Chiba Lotte Marines


    นางมี 2 ร่าง คือร่างสวมหัวปลา และร่างถอดก้างอย่างที่เห็นในภาพ

    ⚾︎


    ฤดูกาลของ NPB จะเริ่มต้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปลายมีนาคมเปิดฤดูกาล เล่นยาวไปจนถึงต้นตุลาคม โดยทั้ง 6 ทีมจะแข่งกันในลีกของตัวเอง ยกเว้นเดือนมิถุนายนหรือช่วง Interlegue ที่จะสลับไปเล่นกับ 6 ทีมจากอีกลีกแทน ผลแพ้ชนะนับรวมในตาราง

    ส่วนกลางเดือนกรกฎาคมมี All-Star Series เล่นกัน 2 เกม แบ่งเป็น CL Team และ PL Team คัดเฉพาะผู้เล่นที่ได้รับผลโหวตสูงสุดจากแฟนๆ ผู้เล่นด้วยกันเอง สต๊าฟโค้ช และผู้จัดการทีม


    ช่วงนี้ทางฝั่งเบสบอลม.ปลาย ก็เป็นโค้งสุดท้ายก่อนโคชิเอ็งฤดูร้อนในเดือนหน้า เป็นรอบท้ายๆของการแข่งชิงแชมป์ระดับจังหวัด แม้จะไม่ได้ติดตามมากนัก แต่บางครั้งในสกู๊ปข่าว เราจะเห็น scout จาก NPB ไปอยู่ตามสนามระดับเยาวชนอยู่บ่อยๆ เขาไปด้อมๆมองๆเพื่อเก็บข้อมูลเด็กปี 3 ตัวท็อปที่มีแววจะได้เทิร์นโปรตอนปลายปีนั่นเอง



    ภาพบรรยากาศงาน Draft เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา
    ( Top ) การจับฉลากดราฟรอบแรกสำหรับทีมที่เลือกผู้เล่นซ้ำกัน
    ( Bottom ) ช้อยส์แรกของทั้ง 12 ทีมเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่ามีชื่อหนึ่งถูกเลือกซ้ำจากทีมถึง 5 ทีม
    คือ 田中 正義 หรือ Tanaka Seiki พิชเชอร์มือขวาจากมหา'ลัยโซกะ ทีมที่ได้ไปคือ Fukuoka Softbank Hawks



    ตอนนี้จะหมดเดือนกรกฎาคมแล้ว เรียกได้ว่าผ่านฤดูกาล 2017 มาแล้วค่อนทาง เริ่มเห็นว่าทีมไหนลุ้นได้ถึงแชมป์ ทีมไหนลุ้นแค่ขอไปเพลย์ออฟ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอเพราะนี่คือเบสบอล การนำอยู่ 7 รันในอินนิ่งที่ 9 แล้วดันแพ้ไม่ใช่เรื่องแปลก (แต่เป็นเรื่องเซ็ง) แต่ก็นี่แหละคือเสน่ห์ของเบสบอล



    ถ้าว่างอีกเมื่อไหร่ ต่อไปจะมาเล่าถึงทั้ง 12 ทีมแบบย่อๆ ( และไม่เป็นกลาง ٩◔‿◔۶ ) ให้อ่านกันจ้ะ ⚾︎

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in