เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หนังสือที่ชอบๆmy-name-is
เถื่อนเจ็ด ความเถื่อนที่สะเทือนใจ
  • "When you see something you don't agree with in this world,

    if you can change it, then change it, then try to understand it.

    If you cannot understand it, then try to accept it,

    if you can't accept it, ask yourself... what else can you really do"

    -- เถื่อนเจ็ดวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

     

    เรารู้จักชื่อวรรณสิงห์ครั้งแรกจากหนังสือ โลกนี้มันช่างยีสต์ ที่เจ้าตัวไม่ได้เป็นคนเขียน

    ในหนังสือเล่มนั้นปรากฏชื่อของวรรณสิงห์อยู่หลายครั้งเพราะว่าคนเขียนคือ แทนไท พี่ชายแท้ๆของเขา ตอนที่เราจำได้แม่นที่สุดคือตอนที่แทนไทขอติดตามน้องชายไปออกค่ายอาสา ตอนนั้นวรรณสิงห์ยังเป็นนักศึกษา ส่วนแทนไทเป็นอาจารย์สอนชีววิทยาควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาเอก 

    นึกไม่ถึงว่าสุดท้ายเราจะได้อ่านงานเขียนของวรรณสิงห์เองจนได้


    "เถื่อนเจ็ด" โดดเด่นด้วยชื่อหนังสือตัวใหญ่ที่เตะตาไม่แพ้หน้าปกสีเหลืองสด ด้านล่างเขียนอธิบายเนื้อหาสั้นๆ ว่าเป็นเรื่องราวการเดินทางใน 7 เส้นทางที่น่าจะเถื่อนสมชื่อ แต่เมื่ออ่านจนจบหน้าสุดท้ายกลับค้นพบอะไรที่มากกว่าความดิบเถื่อน

    สำหรับเรา วรรณสิงห์โชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสได้ไปสถานที่แปลกๆแบบที่ไม่ได้เห็นคนรีวิวมากมายนักทั้งไปจับลูกจระเข้ด้วยมือเปล่าในแม่น้ำแอมะซอน พบกับคุณตาคุณยายที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์เชอร์โนบิล หรือถูกทหารเอาปืนจ่อหัวในอิหร่าน แต่ที่โคตรกระทบกระเทือนใจเราที่สุดคือ กระดูกของคนตายที่ประเทศรวันดา ในทวีปแอฟริกา


    ปี 1994 มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในประเทศรวันดา มีจำนวนคนตายหลักแสนจนถึงหลักล้านคนในระยะเวลาเพียงร้อยวัน และคนเหล่านั้นคือคนในประเทศเดียวกันเอง

    ความเกลียดชังของสองเผ่าที่ทับถมมายาวนาน กัดกร่อนความเป็นมนุษย์ให้ร่อยหรอลงทีละน้อยจนทำให้คนธรรมดาลุกขึ้นมาไล่ฆ่าคนธรรมดาอีกคนอย่างไม่รู้สึกผิด หลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จบลง สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าความตาย คือการอยู่ร่วมกันของคนเป็น ผู้หญิงบางคนที่เห็นสามีถูกฆ่าต่อหน้าต่อตาต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมสังคมกับคนที่ฆ่าสามีของตัวเอง

     

    ทุกครั้งที่เห็นข่าวคนฆ่ากัน นอกจากความรู้สึกหดหู่ใจแล้ว เรายังคิดอยู่บ่อยครั้งว่าต้องเกลียดกันขนาดไหนถึงจะฆ่ากันได้ลง ต้องโกรธแค้นขนาดไหนถึงจะอยากเห็นคนอื่นตายแล้วตัวเองมีความสุข

    เรายังคิดถึงตัวเองที่เป็นแบบนั้นไม่ออก และเราก็ไม่อยากเป็น

     

    เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ยากแท้ หยั่งถึง การหาความหมายของการเป็นมนุษย์นั้นก็ซับซ้อนไม่ต่างกัน

    วรรณสิงห์สอดแทรกการค้นหาความหมายของชีวิตลงใน "เถื่อนเจ็ด" อย่างเข้มข้น คำว่า บ้าน ของเขากับคำว่า บ้าน ของคนอื่นอาจไม่เหมือนกันเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว นิยามของการเดินทางหรือแม้กระทั่งความรัก 

    บางประโยคของวรรณสิงห์สะกิดใจจนเราต้องอ่านซ้ำเพื่อคิดตาม 

    และบางประโยคอ่านแล้วถึงกับสะอึกจนต้องถามตัวเองอย่างจริงจังว่า

    แล้วเราล่ะค้นพบความหมายของชีวิตแล้วหรือยัง


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in