เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
แนวคิดและทฤษฎีจาก Arrival : เมื่อภาษาศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาบรรจบกัน
  • Director : Denis Villeneuve
    Screenplay : Eric Heisserer
    Based on short story written by : Ted Chiang

     

              บทความนี้เขียนตั้งแต่เราได้อ่านสกรีนเพลย์ Arrival เมื่อสิ้นปี 2016 หลังอ่านจบก็รู้เลยว่าเราต้องตกหลุมรักหนังเรื่องนี้แน่นอน ด้วยความที่หนังยังไม่เข้าโรงและยังไม่หายอยาก เราเลยตามอ่านไปถึงต้นฉบับของหนัง นั่นก็คือ "Story of Your Life" ที่เป็นเรื่องสั้นปี 1998 ของ Ted Chiang ปรากฏว่ายิ่งอ่าน ยิ่งประทับใจเข้าไปอีก งานเขียนเขาละเอียดและทุ่มเทมาก รู้เลยว่าทำการบ้านมาดีแค่ไหน ข้อมูลทุกอย่างเพียบพร้อมจริงๆ ไม่ใช่แค่ในส่วนของทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และภาษาศาสตร์เพียงเท่านั้น แต่ทุกรายละเอียดที่แฝงในเรื่อง ประกอบกับการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิงและกระตุ้นอารมณ์ของเท็ดยิ่งเสริมให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

            

    **ต่อจากนี้มี SPOILERS**


    เรื่องย่อ

              เมื่อยานอวกาศ 12 ลำลงจอดทั่วโลก นักภาษาศาสตร์ ดร.หลุยส์ แบงค์ส และนักฟิสิกส์ เอียนดอนเนลลี่ ถูกเรียกตัวมาร่วมกับกองทัพเพื่อสืบหาจุดประสงค์ของการมาเยือนโลกของสิ่งมีชีวิตแปลกหน้าเหล่านี้

     

    ความแตกต่างระหว่างหนังและเรื่องสั้น


    - ในฉบับหนัง พระเอกของเราชื่อ "Ian Donnelly" แต่ในเรื่องของ Ted Chiang เขามีชื่อว่า "Gary Donnelly"

    - Heptapod สองตัวในหนังชื่อ Abbott กับ Costello แต่ในเรื่องของ Ted Chiang ชื่อ Flapper กับ Raspberry

    - ในเรื่องสั้น Hannah ตายจากการปีนเขา แต่ในหนังตายเพราะเป็นโรคร้าย (คาดว่ามะเร็ง เพราะหลุยส์กับเอียนได้รับรังสี)

    - เท็ดอธิบายเรื่องทางฟิสิกส์ไว้ในเรื่องสั้นละเอียดกว่าฉบับหนัง (เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อไป)

    - ในเรื่องของเท็ดไม่มีภาวะตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ

    - ตอนสุดท้ายไม่ใช่ฉากโทรศัพท์หาผู้นำจีน แต่เป็นการจากไปของยานอวกาศทั้ง 12 ลำโดยไม่ทราบสาเหตุ


    Sapir-Whorf hypothesis (สมมติฐานของซาเพียร์และวอร์ฟ)



              มีการถกเถียงกันว่าภาษามีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของคนเราจริงหรือเปล่า ซาเพียร์ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันได้กล่าวว่า "มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างอิสระแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของภาษา โลกที่ใช้ภาษาแตกต่างกันก็เป็นโลกคนละใบ ไม่ใช่โลกใบเดียวกันที่ตีตราต่างกัน เรามองเห็นและได้ยินอย่างที่เป็นเพราะภาษาเป็นตัวกำหนดทางเลือกให้แก่เรา" ต่อมาวอร์ฟ นักศึกษาวิศวกรเคมีที่ MIT ผู้มีความสนใจด้านภาษาและนับเป็นลูกศิษย์ของซาเพียร์ก็ได้ออกมาเสริมรายละเอียดมากขึ้น

     

    สมมติฐานของซาเพียร์และวอร์ฟ พูดถึง 2 หลักการด้วยกัน

                 1.   Linguistic determinism (strong hypothesis) กล่าวว่า ภาษาเป็นตัวกำหนดความคิดและการมองโลก

                 2.   Linguistic relativity (weak hypothesis) กล่าวว่า คนสองคนที่ใช้ภาษาต่างกันจะคิดและมองโลกต่างกันเนื่องจากมีคำและไวยากรณ์ที่ต่างกัน

     

    แนวคิดแรกเป็นที่โต้เถียงกันมาก เพราะหลายคนไม่เชื่อว่าภาษาเพียงอย่างเดียวจะเป็นตัวกำหนดความคิดทั้งหมดของมนุษย์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าภาษามีอิทธิพลต่อความคิดคนเราไม่มากก็น้อย วอล์ฟได้ยกตัวอย่างตอนที่เขาทำงานที่บริษัทประกันอัคคีภัย ซึ่งเขามีหน้าที่วิเคราะห์สาเหตุของไฟไหม้ที่เกิดขึ้น เขาพบว่ามีคำศัพท์หลายคำที่สร้างความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดตามมา เช่น ในกรณี "Empty gasoline drums" เหตุระเบิดและไฟไหม้จากการที่มีคนสูบบุหรี่เพราะคิดว่าถังแก๊สไม่มีแก๊สแล้ว แต่ที่จริง Empty gasoline drums ในที่นี้ แม้ถังแก๊สจะ empty ซึ่งแปลได้ในความหมายที่หนึ่งว่า "ไม่มีอะไรบรรจุอยู่" แต่คนได้ตีความไปยังความหมายที่สองว่า "ว่างเปล่า" ทว่าในความเป็นจริงไม่ได้แปลว่าไม่มีแก๊ส แต่ยังหลงเหลือเป็นสารที่มองไม่เห็นอยู่ต่างหาก ในที่นี้เรากำลังพูดถึง Lexical analogy คือการเปรียบเทียบคำกับความหมาย 2 ความหมาย


     

    วอล์ฟได้อธิบายเพิ่มเติมถึง Lexical analogy และชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่ว่า

    1.  ความหมายทั้งสองความหมายมีอิทธิพลต่อกัน โดยความหมายที่ชัดเจนกว่า (concrete) จะไปมีอิทธิพลต่อความหมายที่มองเห็นไม่ชัดเจนหรือเป็นนามธรรมกว่า (abstract) ซึ่งในที่นี้เราตีความจาก "ไม่มีอะไรบรรจุอยู่" ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่า ไปสู่ "ว่างเปล่า" ที่เป็นนามธรรมกว่า

    2.  เป็นสะพานเชื่อมสองความหมายเข้าด้วยกัน ทำให้คนโยงจากความหมายที่หนึ่งไปความหมายที่สองและเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ เป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้ตามมาดังที่กล่าวไป

     


              นอกจากเรื่อง Lexical analogy ที่อธิบายเรื่องคำแล้วก็มี Grammatical analogy ที่อธิบายถึงไวยากรณ์ ซึ่งมีผลต่อความคิดพื้นฐาน ทั้งเรื่องเวลา พื้นที่ สสาร วอล์ฟได้เปรียบเทียบภาษากลุ่มยุโรปกับภาษาอเมริกันอินเดียน (Hopi)  เอาไว้ ตัวอย่างเช่น การนับจำนวน ถ้าเป็นภาษาแถบยุโรปจะใช้ไวยากรณ์ "ตัวเลข+คำนามพหูพจน์ทั้งที่นับได้และนับไม่ได้" เช่น two women, four apples, ten days แต่ในภาษา Hopi จะเป็น "ลำดับ+คำนามเอกพจน์" ดังนั้น "ten days" ในภาษา Hopi จะใช้คำว่า "until the eleventh day" ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายไม่ต่างกัน แต่ส่งผลต่อความคิดที่แตกต่างกัน

             

    อิทธิพลของภาษาต่อความคิด

              วอล์ฟอธิบายว่าที่เราใช้ "ten men" เพราะคนมีตัวตน แต่เราพูด "ten days" กับสิ่งที่ไม่มีตัวตน ดังนั้นเราจึงไป objectify สิ่งที่นับไม่ได้แทน  ทีนี้มันส่งผลกับความคิดคนเรายังไงบ้าง มาดูกัน


    1.    เวลาเป็นช่วงสั้นๆ ที่ต่อเนื่องกัน

                เรามองเวลาเป็น discrete units ที่ต่อเนื่องกัน อย่างที่บางภาษาได้มีการแบ่งไวยากรณ์เป็น 3 tense เพื่อมองเหตุการณ์ใน 3 ช่วง คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราจึงไป objectify ทำให้เวลากลายเป็นวัตถุ ความคิดแบบนั้นทำให้เรามีการจดบันทึกไดอารี่ สนใจในช่วงเวลา เช่น ปฏิทิน นาฬิกา การนัดหมาย รวมไปถึงการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ เอาไว้

    2.    เวลาเท่ากับเงิน

                เพราะเรามองเวลาเป็นช่วงที่ตัดแบ่งเป็นช่องเท่าๆ กัน เราเลยมองว่าแต่ละช่องมีคุณค่าเท่ากันด้วย อะไรก็ตามที่ใช้ไปกับช่องนี้จะถูกคิดเป็นเงิน เช่น เงินค่าเช่าบ้านที่จ่ายทุกเดือน ดอกเบี้ย หรือภาษีประจำปี เป็นต้น

    3.    การวางแผนล่วงหน้า

                จากการที่มองเวลาเป็นช่องๆ เราสามารถวางแผนจัดตารางเวลาได้ วอล์ฟบอกว่าเราได้มองเวลาเป็น monotonous และทำให้มันกลายเป็นระเบียบแบบแผนขึ้นมา ทว่ามันกลับทำให้เกิด false sense of security ทำทุกอย่างไปวันๆ เป็นประจำวันเหมือนที่เคยทำวันก่อน คนเราจึงประมาททำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้บ่อยครั้ง

     

    ในขณะที่ภาษา Hopi เวลาไม่ได้ถูกทำให้เป็นวัตถุแต่มองเป็น "repeated visits of the same man" คือเป็นช่วงเวลาเดิมที่ย้อนกลับมาใหม่ Hopi เลยไม่มีอดีต จึงไม่มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์และเน้นที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่อที่เมื่อเวลาได้ย้อนกลับมาใหม่ พวกเขาจะได้รู้สึกประทับใจ สังคมของ Hopi จึงให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวรับทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้น

     

    สาธยายมาเสียยืดยาว กลับมาที่ Arrival กันบ้าง อย่างที่รู้ว่ามนุษย์มีภาษาที่มีขอบเขตจำกัด เราเลยเข้าใจแค่ที่เป็นอยู่ แต่ภาษาของพวกเอเลี่ยนหรือที่เรียกในหนังว่า heptapods นั้นแตกต่างออกไป พวกเขามีความรู้เรื่องเวลาแบบ nonlinear จากความรู้ในระดับสูงกว่าภาษามนุษย์ พวกเขาจึงมายังโลกเพื่อมอบสิ่งนั้นเป็นของขวัญให้กับพวกเรา ดังนั้นหากสามารถเรียนรู้ภาษา heptapods มนุษย์จะสามารถใช้ประโยชน์จาก linguistic relativity หรือภาษาสัมพัทธ์นี้ มาทำให้มนุษย์รับรู้เวลาในรูปแบบของพวกเขาได้ตาม Sapir-Whorf hypothesis 

     

    Fermat's principle of least time

              ในหนังอาจไม่ได้เอ่ยถึงแง่ฟิสิกส์เยอะนัก แต่ในเรื่องสั้นของเท็ดได้อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดและเข้าใจง่าย เรามาทำความเข้าใจหลักการนี้กันก่อน

             จากรูป เท็ดอธิบายว่า ถ้าแสงเดินทางในอากาศ มันจะเดินทางเป็นเส้นตรง จนกระทั่งกระทบกับผิวน้ำ จึงจะเริ่มมีการหักเห เพราะทั้งสองตัวกลางมีดัชนีหักเหไม่เท่ากัน

              แล้วถ้าแสงเดินทางผ่านเส้นประที่ลากมาใหม่นี้ล่ะ ดูเหมือนจะใช้ระยะเวลาน้อยกว่า ทว่าเส้นทางนี้ ระยะทางส่วนใหญ่จะอยู่ใต้น้ำ และด้วยเหตุผลที่ว่าแสงเดินทางผ่านน้ำได้ช้ากว่าอากาศ ผลสุดท้ายจึงใช้ระยะเวลาในการเดินทางนานกว่า

              เราลองเปลี่ยนทิศมาทางนี้ดูบ้าง จะเห็นว่าแสงเดินทางในอากาศมากกว่าก็จริง แต่ระยะทางโดยรวมแล้วมากกว่า ดังนั้นมันจะใช้เวลายาวกว่าที่ควรจะเป็น

              ท้ายที่สุดท้ายแล้ว แสงก็จะเดินทางโดยใช้เส้นทางเดิม ดังนั้น Fermat's principle of least time จึงอธิบายได้ว่า "แสงจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยใช้เส้นทางที่สั้นที่สุด" แต่คำจำกัดความนั้นมันก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะในบางสถานการณ์ แสงก็เดินทางในเส้นทางที่สั้นและยาวกว่า มันเลยกลายเป็นหลักการแปรผัน (variational principle) เสียมากกว่า

              แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง?

              การจะเดินทางไปยังจุดหมายและคำนวณได้ว่าเส้นทางไหนสั้นที่สุด เราจำเป็นต้องรู้ "จุดหมายปลายทาง" และจากภาษาเขียนของ heptapods พวกเขาต้องรู้ทั้งประโยคก่อนจะเริ่มต้นเขียนได้ ผลลัพธ์ของเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการรับรู้เวลาที่ไม่เป็นเส้นตรง หรือ nonlinear นั่นเอง

              ทีนี้ถ้ารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะพูดหรือได้ยินอะไรต่อไปแล้วจะสื่อสารโดนใช้ภาษาทำไมกัน?

              หลุยส์ในเรื่องสั้นของเท็ดได้อธิบายว่า ภาษาไม่ได้ใช้ในการสื่อสารเพียงอย่างเดียว ภาษายังเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระทำด้วย ตามที่กล่าวในทฤษฎีวัจนกรรม (Speech Act Theory) เช่น การพูดว่า "คุณอยู่ภายใต้การจับกุม" หรือ "ฉันสัญญา" ก็ล้วนเป็นการแสดงออก (performative) ทั้งสิ้น ผู้สื่อสารสามารถแสดงการกระทำเพียงแค่ใช้คำพูด และด้วยเหตุนั้น การรู้ว่าจะพูดอะไรก็ไม่ทำให้มันเปลี่ยนไป ทุกคนในงานแต่งงานล้วนเฝ้ารอคำว่า "I now pronounce you husband and wife." ทั้งคู่จะยังไม่เป็นสามีภรรยากันจนกว่าจะมีการประกาศขึ้น เพราะฉะนั้นใน performative language การพูดจึงเท่ากับการกระทำ

              เช่นเดียวกันกับพวก heptapods ภาษาของพวกเขาเป็นการแสดงออก แทนที่จะใช้ในการให้ข้อมูล พวกเขาใช้ภาษาเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นจริง แน่นอนพวกเขารู้ว่าจะได้พบกับบทสนทนาแบบไหน แต่การจะทำให้มันเป็นจริงได้ ต้องมีการสนทนาเกิดขึ้น

    Symbols

    Palindrome

              Palindrome คือ คำที่อ่านจากหน้าหรือหลังก็ได้คำเดียวกัน ตัวอย่างเช่น madam หรือ kayak เช่นเดียวกับชื่อ Hannah ลูกของหลุยส์ ที่ไม่ว่าจะอ่านจากหน้าหรือหลังก็ยังเป็น Hannah เหมือนเดิม เป็นการบอกใบ้ว่าเรื่องที่หลุยส์เล่าเป็นทั้ง flashback และ flashforward เท่านี้ยังไม่พอ ถ้ามองวันที่ที่หนังเข้าฉายในต่างประเทศ คือ 11 พฤศจิกายน ก็จะเห็นเป็น 11.11 ซึ่งดูแล้วก็เป็น palindrome เหมือนกัน

    Ouroboros

              ถ้าดูจากรูป ภาษาที่ heptapods เขียนนั้นอาจจะเป็นแค่วงกลมธรรมดาๆ วงหนึ่ง แต่ถ้าใครเคยเห็นสัญลักษณ์ Ouroboros ก็อาจจะเอะใจขึ้นมา

              Ouroboros เป็นสัญลักษณ์ที่มีชื่อมาจากภาษากรีก แสดงรูปงูไล่งับหางตัวเอง มีความหมายว่า infinity ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นวงกลมไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเหมือนกับเวลาที่ไม่มีวันสูญสิ้น และมันก็เมคเซ็นส์มากขึ้นเมื่อตอนจบของหนังย้อนกลับไปบรรจบกับฉากเปิดของหนังพอดิบพอดี


    On the Nature of Daylight 


              เพลงประกอบของ Max Richter ในหนังเรื่องนี้ ใช้หลักการทางดนตรีที่เรียกว่า "Circle of Fifth"  คือ การเอาโน้ตที่ต่างกัน 5 ขั้นมาเรียงต่อกันไปเรื่อยๆ เคลื่อนที่ไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกาถือว่าเป็นขาขึ้น (ascending) เคลื่อนที่ทวนเข็มนาฬิกาถือว่าเป็นขาลง (descending) สมมติลองกำหนดจุดเริ่มต้นบนแผนภาพ ณ จุดใดจุดหนึ่ง แล้วเริ่มเคลื่อนที่ในระยะขั้นคู่ 5 ติดต่อกันไป 12 ครั้ง ก็จะวนกลับมา ณ จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เราใช้หลักการนี้เพื่อแสดงการเคลื่อนที่ของระดับเสียงโครมาติกในดนตรี (Chromatic Pitches)

              การวนย้อนกลับมาเป็นวงกลมนี้ ก็สื่อถึง infinity คล้ายกันกับ Ouroboros

    (source: Jirawat Koatsombat)


    นกในกรง

              ในภาษาอังกฤษมี idiom ที่ว่า "canary in a coal mine" ซึ่งหมายถึง ใครหรืออะไรบางอย่างที่สามารถบอกอันตรายล่วงหน้าได้ สมัยก่อนตอนที่จะลงไปขุดเหมือง นักขุดเหมืองจะเอานกคีรีบูนใส่กรงลงไปด้วย เพราะนกคีรีบูนไวต่อก๊าซมีเทน ถ้าเกิดว่ามีก๊าซรั่วออกมา นกคีรีบูนจะตายก่อน และเป็นสัญญาณเตือนภัยบอกนักขุดเหมืองว่ามีอันตราย คล้ายกับในกรณี Arrival ที่เอานกขึ้นไปด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ที่อากาศในนั้นจะเป็นพิษต่อมนุษย์

    Arrival 

              พูดถึงชื่อเรื่อง การมาเยือนในที่นี้อาจแปลได้ 2 ความหมาย ที่เป็นการต้อนรับ/การมาเยือน คือ

              1. การมาเยือนของมนุษย์ต่างดาว

              2. การที่ Hannah เกิดมาบนโลกของหลุยส์

              ชื่อเรื่องสั้นของเท็ดเอง "Story of Your Life" ก็อาจจะตีความได้ว่าเป็นเรื่องราวชีวิตของ Hannah หรือชีวิตของมนุษย์อย่างพวกเราก็ได้เหมือนกัน


    Free Will


    “If you could see your whole life laid out in front of you, would you change things?”

    ถ้าคุณรู้ว่าชีวิตเบื้องหน้าจะเป็นอย่างไร คุณจะเปลี่ยนมันหรือเปล่า


             มีคำถามที่ว่า ถ้าคุณรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแล้ว คุณจำเป็นต้องเดินตามทางที่ปูไว้ไหม แล้วคุณจะเปลี่ยนมันได้ไหม 

             ในกรณีของ heptapods หลุยส์อธิบายในเรื่องสั้นว่า "พวกเขาไม่ได้เป็นอิสระหรือถูกผูกมัดอย่างที่เราเข้าใจ พวกเขาไม่ได้กระทำตามเจตจำนงหรือเป็นสมองกลไร้ความคิด สิ่งที่ทำให้การรับรู้ของพวกเขาต่างออกไปไม่ใช่แค่เพียงการกระทำของพวกเขาประจวบเหมาะกับประวัติศาสตร์พอดี แต่แรงจูงใจหรือจุดหมายของพวกเขาก็เกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายของประวัติศาสตร์ด้วย พวกเขาลงมือทำเพื่อสร้างอนาคต เพื่อสร้างลำดับเหตุการณ์"

             ในเรื่อง Arrival เจตจำนงเสรีอยู่ในรูปแบบของการเดินตามทางเลือกที่คุณรู้ว่าจะเลือก และการเลือกที่จะไม่เปลี่ยนอนาคตนั่นแหละคือการสร้างและยอมรับมัน

              แม้ว่าหลุยส์จะรู้ว่าสุดท้ายตัวเองจะต้องเสียลูกและสามีไป แต่ก็ยังตัดสินใจแบบนั้น หลุยส์ยังแสดงให้เห็นว่าปลายทางไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ระหว่างทางต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ 


              "From the beginning I knew my destination, and I chose my route accordingly. But am I working toward an extreme of joy, or of pain? Will I achieve a minimum, or a maximum?" 


              เหมือนที่ Friedrich Nietzsche ได้กล่าวไว้ว่า "Amor fati" ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่า "Love of fate" หรือ "จงรักในชะตาชีวิต" ถึงแม้เราจะรู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร ต้องประสบกับความเจ็บปวดและการสูญเสีย แต่มันสำคัญต่อชีวิตและความจริงที่ว่าคุณมีตัวตนอยู่ มันจำเป็นต้องเกิดขึ้นไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นเราต้องยินยอมรับมัน


              "My formula for greatness in a human being is amor fati: that one wants nothing to be different, not forward, not backward, not in all eternity. Not merely bear what is necessary, still less conceal it—all idealism is mendacity in the face of what is necessary—but love it."
     - Ecce Homo, F. Nietzsche, 1908


              เรื่องนี้ไม่ใช่หนังไซไฟทั่วไป แต่เป็นหนังที่เกี่ยวกับการยอมรับและการตัดสินใจทางเลือกในชีวิตทำให้ฉุกคิดและเข้าใจระหว่างความเป็นและความตาย การมาเยือนและการลาจาก


    เราสรุปมาแบบย่อๆ นะ (นี่ย่อแล้ว) ถ้าใครอยากพูดคุย/ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมประเด็นไหน/แก้ไขข้อผิดตรงไหน สามารถไปคุยกันได้ที่นี่เลย → @PuRoii


    References

    1. Arrival Screenplay, Eric Heisserer
    2. Story of Your Life, Ted Chiang
    3. ภาษามีอิทธิพลต่อความคิดของคนเราได้จริงหรือ, วิภากร วงศ์ไทย
    4. Here's The Physics That Got Left Out Of 'Arrival', Chad Orzel
    5. The Circle of Fifths made clear

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Moody Blue (@nangchair)
AWESOME !!!
สิบหก (@archixyz)
เขียนดีมากเลย มีRef.ด้วย ขอบคุณมากๆเลย กำลังสนใจทฤษฏีเรื่องนี้อยู่ทีเดียว
K. (@KTHEFIRSTLETTER)
เขียนละเอียดมากเลยค่ะ ขอแชร์ในเฟสบุ๊คได้ไหมคะ ไม่ได้ไม่เป็นไรนะคะ