เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
DESERT ISLAND ROMANCEpronua
ตลาดโจรที่ถนนซุนเก
  • เมื่อวันที่สิบกรกฎาคมที่ผ่านมาตลาดนัดที่ถนนซุนเกได้ถูกปิดลงโดยถาวรแล้ว เป็นครั้งที่สองที่ฉันได้ไปที่นั่น ครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี การค้าขายไม่ค่อยครึกครื้นในวันนั้น แผ่นป้ายประกาศว่าสถานที่แห่งนี้จะถูกยกเลิกแปะอยู่ทั่วไป ส่วนครั้งที่สองที่ฉันไปนั้นมีเพียงภาพของรั้วสังกะสีกับรถเครนขนาดเล็กและไซต์ก่อสร้าง


    คุณคงคิดว่ามันดูไม่สำหลักสำคัญอะไรนักกับแค่การรื้อตลาดสักที่ในประเทศไทย  แต่เอาจริงๆมันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและนำไปสู่คำถามหลายๆอย่างที่เชื่อมไปได้ถึงความหมายของศีลธรรมและความถูกต้องเลยทีเดียว โดยเฉพาะในเกาะที่แข็งกระด้างแห่งนี้


    ตลาดนัดซุนเก(Sungei Road Flea Market) หรือตลาดเจลันเบซาร์ (Jelan Bear Market) หรือตลาดโจร (Theives’ Market) คือสถานที่เดียวกันที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองแถวๆย่านบูกิสเลียบแม่น้ำโรเชอร์บนเกาะทะเลทรายอันมีราคาที่ดินแพงยิ่งกว่าทอง ตลาดโจรนี้เป็นตลาดขายของมือสองแบกับดินที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะ โดยสินค้านั้นมีตั้งแต่เสื้อผ้ามือสอง กระเป๋า กล้อง นาฬิกา ซีดีเถื่อน พระเครื่อง เตารีดแบบใช้ถ่าน มือถือรุ่นที่ขนาดยังใหญ่กว่ากระติกน้ำ ฯลฯ โดยร้านค้าจะตั้งเป็นเพิงเล็กๆที่ไม่มีการตระเตรียมจับจองพื้นที่อะไรทั้งนั้น (มาก่อนสนุกก่อน) ขนาดประมาณ 1.5X1.5 เมตร ตั้งเรียงแถวกันไปตามแนวถนน โดยการค้าขายจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายเป็นต้นไปจนถึงราวๆหนึ่งทุ่ม (คิดว่าเพราะไม่มีไฟฟ้า และเป็นช่วงเริ่มมืด) คาดว่าน่าจะมีร้านค้ามากกว่าสามร้อยถึงสี่ร้อยร้านในพื้นที่ ถึงแม้จะดูก๊อกก๋อยแต่ก็ว่ากันว่ามีเงินหมุนสะพัดอยู่ในตลาดนี้ไม่น้อย อย่างไรก็ตามถ้าคุณดูภาพประกอบแล้วคุณคงรู้สึกเหมือนกันว่ามันไม่ใช่ภาพที่สวยงามนักประกอบกับชื่อเล่นที่ดูจะสะท้อนถึงกิจกรรมอันไม่ค่อยจะสู้ดีที่เกิดขึ้นที่นี่ หน่วยงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency) จึงได้โยนมติรื้อตลาดทิ้งเอาเมื่อปี 2011 ทั้งที่ตัวมันเองเป็นผู้มาก่อนการก่อตั้งรัฐชาติเสียอีกเมื่อแปดสิบปีก่อน


    รูปจาก The Straits Times 
    (อันนี้น่าจะหลัง 2011 ที่โดนลดขนาดหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ก็ตั้งล้อมสนามหญ้ากันดื้อๆแบบนี้)

    ของขายก็ประมาณนี้

    การรื้อตลาดแห่งนี้เหมือนเป็นการโยนระเบิดลูกย่อมๆลงไปใจกลางวัฒนธรรมและรากเหง้าอันเบาบางของชาวเกาะ (เผื่อใครยังไม่ทราบ เกาะแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นเป็นประเทศมาได้ราว 52 ปีเท่านั้นเอง) แต่แล้วอย่างไรเล่า ในเมื่อเจ้าตลาดเจ้ากรรมนอกจากจะมีบุคลิกลักษณะไม่ค่อยพึงประสงค์แล้วยังดันมาตั้งอยู่ใจกลางเมือง ผู้ค้าขายหารายได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าที่หรือจ่ายภาษี วันดีคืนดีรัฐจึงได้นึกอยากสร้างสถานีรถไฟใต้ดินโดยปักหมุดลงมากลางตลาดเอาเสียได้ คำถามอยู่ที่ว่าอะไรคือผลดีผลเสียของการยกเลิกตลาดในครั้งนี้ อะไรคือกฏเกณฑ์ที่รัฐใช้ตัดสินและใครบ้างที่ออกมาต่อต้านหรือสนับสนุน คนได้เสียผลประโยชน์หรือคนนอก และผลประโยชน์นั้นเป็นผลประโยชน์ของตนหรือของชาติ มาดูข้อเท็จจริงกันก่อนเท่าที่ฉันพอจะสืบเรื่องราวได้จากอินเตอร์เนต


    ตลาดโจรนี้อาจไม่ควรอยู่ที่นี้ ตรงนี้ อีกต่อไปแล้ว ณ ปี 2017 เนื่องด้วยการใช้สอยประโยชน์ที่ดิน (land use) ได้เปลี่ยนไป ในอดีตมันอาจเป็นเพียงพื้นที่ริมแม่น้ำแต่วันนี้เมืองโตล้อมมันเหมือนไข่แดง การเลือกก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าอาจเป็นหนึ่งในเหตุผล แต่ฉันเชื่อว่ามันถูกวางแผนมาแล้วอย่างดีว่าเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม ประกอบกับมันค่อนข้างกินพื้นที่แนวราบค่อนข้างเยอะ กิจกรรมเกิดขึ้นในทุกๆวันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเท่ากับพื้นที่นี้เสียให้กับกิจกรรมนี้โดยถาวร (permanent basis) แม้ว่าตัวมันเองจะไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง (permanent built environment)  ตลาดนัดขายของมือสองอาจไม่ใช่ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจบนที่ผืนนี้อีกต่อไป


    ในขณะเดียวกัน ตลาดซุนเกถูกก่อตั้งขึ้นในฐานะที่นัดพบค้าขายเล็กๆในปี 193X ก่อนจะขยายตัวอย่างยิ่งใหญ่มาตลอดเวลาแปดสิบกว่าปีในหมู่คนรากหญ้า คนอพยพ คนงาน สังคมที่เข้มข้นและเหนียวแน่นถูกพัฒนาขึ้นในสถานที่แห่งนี้ กว่า 80% ของผู้ค้าในตอนนี้อายุมากกว่า 60 ปี ภาพของสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาถูกสะท้อนอยู่ในลักษณะของผู้ขาย ผู้ซื้อ และสินค้า มันดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและเติมเต็มรากเหง้าของเกาะทะเลทราย อย่างไรก็ดี ความคุ้มค่าในเชิงวัฒนธรรมและสังคมนั้นยากเหลือเกินที่จะวัดได้เหมือนตัวเลข (หรือถ้าได้มันก็คงจะต้องใช้เวลาและประกอบด้วยตัวแปรมากมายเหลือเกิน)


    นี่รูปเมื่อกลางเดือนก่อน กลายเป็นไซต์ก่อสร้างไปแล้ว 

    มีการเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายสืบเนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สมาคมขายของมือสองนั้นเป็นคนแรกที่เดือดร้อน (the Association for the Recycling of Second Hand Goods) แม้ว่าอาจมีหลักฐานที่บ่งบอกว่าเจ้าประธานของสมาคมนี้มีส่วนแบ่งที่ผูกขาดร้านมากกว่าครึ่งในตลาด (ฉันเชื่อว่ามันคงมีระบบมาเฟียตลาดไม่ต่างจากทางเท้าบ้านเรา) พวกเขาออกมาแสดงความผิดหวัง และแม้ว่าจะมีการเสนอชื่อพื้นที่อื่นๆสำหรับการย้ายแต่กลับได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาล สุดท้ายแล้วการประนีประนอมครั้งนี้จบลงที่รัฐได้จัดหาที่เช่าแห่งใหม่ให้ผู้ค้ากระจายไปตามสถานที่ต่างๆในเกาะ แน่นอนว่าเสียค่าเช่า มีการเสนอความช่วยเหลือสำหรับการหางานใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าตัวตนของตลาดโจรได้สูญหายไปเรียบร้อยแล้วและโดยถาวร ฉันได้เข้าไปอ่านในกระทู้คนหัวร้อนที่ถบเถียงกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันในประเด็นนี้ หนึ่งในตัวอย่างที่อาจนำไปสู่การล่มสลายทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจบนเกาะนั้นก็คือการล่มสลายของไชน่าทาวน์  ซึ่งแม้ทุกวันนี้มันจะยังคงอยู่แต่ก็ได้ขาดจิตวิญญาณเดิมๆของมันไปเหมือนร่างกลวงเปล่า (ซึ่งถ้ามีเวลาและความรู้ที่มากพอฉันก็อยากจะเขียนถึงต่อไป) ดังนั้นแล้วเรื่องนี้มันจึงเป็นปัญหาปลายเปิดที่แม้ผลลัพธ์จะถูกตัดสินแล้วแต่ก็ยังมีคำถามอยู่มากมายอยู่ดี ด็อกเตอร์ฉัว (Chua Ai Lin) ประธานสมาคมมรดกแห่งเกาะ (Singapore Heritage Society) กล่าวว่าน่าเสียดายที่มันไม่มีทางออกทางอื่นแล้ว ตลาดเป็นตัวอย่างที่ดีของฟันเฟืองและระบบเศรษฐกิจสังคม มันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรุ่มรวยของเกาะและมิติที่หลากหลายของเมือง “นี่เป็นพื้นที่ตลาดที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าแห่งเดียวของเกาะ เรากำลังจะเสียเซนส์ของตลาดที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติไป ชุมชนนี้จะถูกกระจัดกระจายออกและเราจะจับกลุ่มกันไม่ได้อีกในฐานะผู้ขายของมือสอง ตลาดซุนเกเป็นองค์ประกอบสำคัญของทัศนียภาพของเราที่จะทำให้เกาะนี้เป็นอะไรที่มากกว่าห้างสรรพสินค้า”


    ฟังแล้วก็เจ็บปวดไม่เบาสำหรับเกาะ man made


    "This is the only free hawking zone in Singapore. We will be losing the sense of an organically formed flea market. A whole community will be dispersed and can no longer congregate as second-hand sellers.

    "The Sungei Road flea market is an important part of our landscape that makes Singapore more than just shopping malls."

    ป้ายนี้บอกว่าร้านจะโดนกระจายตัวไปอยู่ตรงไหนบ้าง ขอลุงแกถ่ายรูปแต่แกดันตอบเป็นภาษาจีน เลยไม่รู้ว่าแกให้ถ่ายป่ะ แต่ก็ถ่ายไปแล้วอ่ะ 


    ฉันเห็นด้วยว่าตลาดไม่ควรอยู่ตรงพื้นที่นี้อีกแล้ว แต่ฉันไม่อาจปักใจเชื่อว่าไม่มีทางออกที่ีดีกว่าหากรัฐอยากประนีประนอมขึ้นมาจริงๆ ในมุมมองของดีไซเนอร์เราให้ความสำคัญกับความงาม วัฒนธรรม และชุมชนเสมอ เราพยายามจะมองข้ามความงามในทางกายภาพไปถึงการมีอยู่ของสังคมและวัฒนธรรมด้วยซ้ำ ฉันเข้าใจว่าประเทศเกาะเป็นประเทศที่พัฒนาในสปีดอันน่าทึ่ง ความเป็นประเทศใหม่ที่ต้องปากกัดตีนถีบทำให้ชาวเกาะต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพชีวิตอันจับต้องได้มากกว่ารากเหง้า ศิลปะและวัฒนธรรม (ที่ถึงจะเป็นอย่างนั้นในเชิงงานอนุรักษ์เขาก็ทำดีกว่าบ้านเราอยู่หลายขุม) ไม่มีเกณฑ์ตายตัวอันใดที่จะใช้ตัดสินว่าสิ่งๆหนึ่งควรจะอยู่ต่อไปหรือควรจะจบสิ้นลง มันเป็นพื้นที่สีเทาของความถูกกฏหมาย ผิดกฎหมาย ความชอบธรรมและไม่ชอบธรรม แม้ว่าคนสองคนตัดสินใจทางเลือกเดียวกันแต่กระบวนการต่างหากที่จะสะท้อนและก่อประโยชน์ คนๆหนึ่งอาจคิดเยอะเพื่อมาถึงจุดๆหนึ่ง ในขณะที่บางคนอาจไม่คิดอะไรเลย ดังนั้นแล้วการจากไปของตลาดโจรนี้ฉันเชื่อว่ามันยังมีบทเรียนและข้อคิดมากมายที่ชาวเกาะจะได้จากมันไประหว่างทาง เกาะทะเลทรายแห่งนี้จะแห้งผากทางจิตวิญญาณยิ่งกว่าเดิมด้วยความคิดแบบนี้หรือไม่ก็คงต้องดูกันต่อไป




    กลับมาที่บ้านเราอันมีจิตวิญญาณอยู่อย่างเหลือเฟือแต่คุณภาพชีวิตติดลบ ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าวันหนึ่งมันจะทำให้เราแห้งผากยิ่งกว่าเกาะทะเลทรายหรือเปล่า

    ________________________________________________________________

    Ref.

    ข่าวจาก Straits Times

    http://www.straitstimes.com/singapore/decades-old-sungei-road-flea-market-to-shut-for-good-july-10-will-be-its-last-day


    มีสัมภาษณ์เหล่าพ่อค้าแม่ขายและหนังสารคดีด้วย จาก National Heritage Board นี่คงไม่ใช่เรื่องเล็กเท่าไหร่

    https://roots.sg/learn/resources/virtual-tours/sungei-road-flea-market


    ข่าวจาก TOC

    https://www.theonlinecitizen.com/2015/10/12/2016-the-death-knell-of-the-famous-sungei-rd-thieves-market/


    ปล. ถ้าคุณว่างพอก็สครอลลงไปดูตามคอมเมนท์ที่เค้าถกกัน ดุเดือดไม่เบา


    ปลล.เนื่องจากมีรูปที่ไปเซฟมาจากอินเตอร์เนต เพราะคงไปหาถ่ายเอาบรรยากาศเก่าๆไม่ทันแล้วก็ต้องขออภัยด้วย จะพยายามโพสเครดิตเท่าที่ทำได้นะคะ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in