เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
HINTSpatikal
MOTEL MIST: นั่งดูจากต่างดาว
  • ระหว่างดู MOTEL MIST โรงแรมต่างดาว ผมนึกถึงอะไรหลายอย่าง

    หนึ่ง—ผมนึกถึง ปราบดา หยุ่น

    แน่นอนว่าผมต้องนึกถึงปราบดา เพราะนี่คือหนังยาวเรื่องแรกของนักเขียนผู้นี้ มันเป็นหนังว่าด้วยเสี่ยวัยกลางคนพาเด็กสาวไปโรงแรมม่านรูด ที่นอกจากจะเป็นสถานที่เริงรมย์ของเสี่ยแล้ว ในวันนี้มันยังเป็นที่ที่อดีตดาราเด็กชื่อดังพาตัวเองมาหลบลี้จากที่บ้าน และใช้เป็นที่สื่อสารกับสิ่งที่คลับคล้ายจะเป็นมนุษย์ต่างดาว

    ทันทีที่หนังดำเนินเรื่อง ผมก็เริ่มนึกถึงปราบดา หยุ่น

    ก่อนหน้านี้ ผมรู้จักปราบดาแค่ในบทบาทของนักเขียนและนักออกแบบ ผมตามอ่านหนังสือของเขาหลายต่อหลายเล่ม และชื่นชมงานออกแบบที่ถูกกลั่นโดยเขามานักต่อนัก

    ซึ่งผมชอบปราบดาในฐานะนักเขียนมากกว่านิดหน่อย

    ตลอดเวลาที่อ่านงานของปราบดา ผมมักจำลองภาพตัวหนังสือของเขาเป็นภาพในหัว หลายครั้งผมคิดว่าควรมีคนเอานวนิยายหรือเรื่องสั้นของเขาไปทำเป็นหนังได้แล้ว หลายต่อหลายเรื่อง ฉากและบรรยากาศมันแจ่มชัดจนถ้ามีใครเอาไปสานต่อ น่าจะเป็นงานที่ไม่ยากจนเกินไป

    ด้วยเหตุนี้ ตอนที่รู้ว่าเขากำลังจะมีหนังยาวเรื่องแรกเป็นของตัวเอง ผมจึงตั้งตารอชม—ตามประสาติ่งที่ดี

    หนังเริ่มเรื่องด้วยเสียงบรรยาย หน้าจอส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความมืดมิด สิ่งเดียวที่ปรากฏอยู่คือตัวบรรยายภาษาอังกฤษที่ขึ้นอย่างเร็วไวตามคำพูดที่ถูกส่งผ่านลำโพง

    ผมคิดไปเอง ว่านี่คือการพาคนที่เคยสัมผัสแต่ตัวหนังสือของปราบดา เข้าสู่โลกของภาพเคลื่อนไหว

    โลกที่เราจะได้รู้แล้วว่า ปราบดามองและเห็นสิ่งต่างๆ อย่างไร

    สอง—ผมนึกถึงหนังสือของ ปราบดา หยุ่น

    การอ่านหนังสือ (ในที่นี้ขอนับเฉพาะแค่เรื่องแต่ง) ของปราบดา มีทั้งความรื่นรมย์และไม่รื่นรมย์

    รื่นรมย์ เพราะหลายต่อหลายเรื่องของเขา หากเสพแค่เพียงเนื้อเรื่องก็ได้ความบันเทิง (ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงสนุกเสมอไป) แต่ก็หลายต่อหลายเรื่องอีกเช่นกันที่หากตั้งใจถอดความระหว่างบรรทัด ก็อาจทำให้พบกับความไม่รื่นรมย์ไปได้

    เพราะนอกจากเรื่องราวของเขาจะเต็มไปด้วยพื้นที่ว่างให้ผู้อ่านนำความคิดมาใช้งานเล่น หลายต่อหลายเรื่องยังมีความพร่าเลือนเกินไป

    การอ่านเรื่องแต่งเรื่องเดียวกัน จึงอาจได้รับสารไม่เหมือนกันก็เป็นได้

    แต่บนจอภาพยนตร์นั้น เมื่อการกระทำของเสี่ยที่ในตอนแรกยังไม่แสดงออกถึงความต้องการมากนักเริ่มชัดขึ้น ท่าทีของเด็กสาวที่คลุมเครือมาตลอดเริ่มคลี่คลาย ผมก็รู้สึกว่าเสน่ห์ที่เคยหลงใหลในงานของปราบดาได้หายไป

    นอกจากหลงรักด้านการใช้คำแล้ว ผมยังชอบในความคลุมเครือ และบรรยากาศที่ห่มคลุมอยู่ในงานเขียนของปราบดา

    ซัคเซนเซจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรก็ได้, ฝนตกตลอดเวลา จะมีบรรยากาศอย่างไร, สภาพสังคมใน ชิทแตก จะรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรมขนาดไหน ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพในการจินตนาการของเรา

    ขณะที่ใน MOTEL MIST เราได้เห็นว่าตัวละครของเขาหน้าตาแบบไหน โรงแรมมีหน้าตาอย่างไร ทุกการกระทำถูกกำกับและถ่ายทอดออกมาให้เห็นเต็มสองตา

    จริงอยู่ว่าหนังยังมีพื้นที่ให้ได้ใช้จินตนาการอยู่ แต่เมื่อการกระทำหลายอย่างมัน ‘ชัด’ จนเกินไป พยายามสื่อ ‘สาร’ จนเกินไป

    ผมเลยเสียดายที่บรรยากาศของปราบดาในแบบภาพเคลื่อนไหว ไม่มีอานุภาพเท่าบรรยากาศในหน้ากระดาษ

    สาม—ผมนึกถึง ธีรดนัย สุวรรณหอม และ ปริญญา งามวงศ์วาน

    ธีรดนัย สุวรรณหอม และ ปริญญา งามวงศ์วาน คือสองนักแสดงนำจาก Goal Club เกมล้มโต๊ะ หนังว่าด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่ไปพัวพันกับการพนันฟุตบอลที่เข้าฉายตั้งแต่ปี 2544

    เอาเข้าจริง ทั้งสองคนนี้ไม่ใช่นักแสดงงานชุก (หรืออาจชุก แต่ผมได้ชมน้อยเอง) ผมได้เห็นธีรดนัยบนจอครั้งสุดท้ายจาก ฝนตกขึ้นฟ้า ส่วนปริญญานั้น ผมเห็นเขาในมิวสิกวิดีโอ เพียงหนึ่งครั้ง ของวง The Yers

    MOTEL MIST ไม่มีอะไรเกี่ยวกับสองคนนี้แม้แต่น้อย บทบาทของตัวละครอื่นๆ ไม่มีใครที่มีท่าทางกวนโอ๊ยในแบบตัวละครที่ธีรดนัยหรือปริญญาชอบได้รับ

    แต่เมื่ออดีตดาราเด็กชื่อดังมาเจอกับเด็กประจำโรงแรมม่านรูด ผมก็นึกถึงธีรดนัยและปริญญา

    อดีตดาราเด็กชื่อดังที่หลบหนีออกจากบ้าน แสดงโดย วสุพล เกรียงประภากิจ

    เด็กประจำโรงแรมม่านรูด แสดงโดย วิษณุ ลิขิตสถาพร

    ตัวละครของทั้งคู่ต่างมีวิถีชีวิตของตนเอง หากต่างต้องพัวพันกันไปมาตามประสาของคนร่วมชายคาโรงแรม

    ห้องหมายเลข 5, 6, 7 ถูกจับจองโดยอดีตดาราเด็ก เด็กประจำโรงแรม เสี่ยและเด็กสาว

    ในขณะที่เสี่ยกำลังเพลิดเพลินกับการเลือกดิลโด้และเลือกชุดประกอบกิจ อดีตดาราเด็กกำลังสื่อสารกับอะไรบางอย่าง ส่วนเด็กประจำโรงแรมก็กำลังตั้งกล้องแอบถ่ายให้เสี่ย

    น่าเสียดายที่เราได้เห็นชีวิตของอดีตดาราเด็กและเด็กประจำโรงแรมไม่เท่าเสี่ยและเด็กสาว

    และน่าเสียดายที่วสุพลกับวิษณุไม่ใช่ดาราประเภทขโมยซีนอย่างเช่นธีรดนัยหรือปริญญา ต่อให้มีฉากที่น่าจดจำอยู่บ้าง แต่ด้วยการรับรู้ที่มาเป็นพักๆ บวกกับการแสดงที่ชวนจดจำกว่าของ ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ (หรือ ไลลา ในเรื่อง)

    ผมจึงนั่งดูวสุพลและวิษณุแล้วนึกถึงธีรดนัยกับปริญญา

    สี่—ผมนึกถึงผู้หลักผู้ใหญ่

    MOTEL MIST ได้เรต 18+ อันหมายถึงภาพยนตร์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
    ด้วยสถานที่เกิดเหตุเป็นโรงแรมม่านรูด ด้วยตัวเรื่องที่พัวพันกับเสี่ยและเด็กสาว ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังเกรดบี ทำให้ MOTEL MIST กลายเป็นหนังวาบหวิวอย่างเสียไม่ได้

    เราจะเห็นอะไร?

    ดิลโด้จำนวนมาก,​ เครื่องนุ่งห่มที่มีไว้เพื่อปลุกใจ, หนังเอวีเพื่อเรียกน้ำย่อย—ทั้งหมดนี้มีให้เราเห็นแบบเต็มสองตา ดิลโด้เป็นดิลโด้ ชุดเป็นชุด ส่วนหนังเอวี ก็ไม่ต่างอะไรกับเวลาเราแอบเปิดดูมันในห้องส่วนตัว

    ชัดๆ เน้นๆ

    เมื่อภาพในหนังเอวีที่เห็นอยู่ตรงหน้าปรากฏขึ้นบนจอหนัง ผมก็นึกถึงเหตุการณ์หลังรอบปฐมทัศน์ของ MOTEL MIST

    มีข่าวออกมาว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ชอบใจหนัง อาจด้วยช่วงเวลาไม่เหมาะสม และอาจด้วยเพราะมันนำสิ่งที่ควรอยู่แต่ในที่รโหฐานมาไว้ในที่แจ้ง

    เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ คนนอกอย่างเราไม่ควรข้องเกี่ยว

    แต่เมื่อดูด้วยสองตาของตัวเอง ผมรู้สึกว่าปราบดามีความหนักมือในการใช้งานหนังโป๊มากไปนิด จริงอยู่ว่ามันเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในเรื่อง แต่จำเป็นหรือที่ต้องมีอยู่ขนาดนั้น

    และเมื่อหนักมือไปแล้ว ผมก็รู้สึกว่าปราบดายั้งมือเกินไปหน่อย

    ขณะที่หนังเอวีเล่นไปอย่างเข้าด้ายเข้าเข็ม เสี่ยกลับใช้เวลาไปกับการโอ้โลม สนทนา หยั่งเชิงกับเด็กสาว ซึ่งในทางหนึ่ง ผมก็อึดอัดไปกับการกระทำของเสี่ย และในทางหนึ่งผมก็อึดอัดที่หนังทำทีเหมือนจะเผย/ไม่เผยเนื้อหนังมังสาของเด็กสาว

    เหมือนว่าการกล้าเปิดเผยถูกใช้ไปกับหนังเอวีเหล่านั้นหมดแล้ว

    หลังจากโรงภาพยนตร์เปิดไฟสว่าง ผู้ชมทยอยเดินออกไป ผมเห็นหญิงสาวมีอายุกับเด็กคนหนึ่งที่ดูแล้วมีอายุไม่น่าเกิน 12 ขวบลุกจากที่นั่ง ผมอยากเข้าไปถามเด็กคนนั้นว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร หนังมีฉากวาบหวิวมากเกินจำเป็นมั้ย หรือมันควรมีฉากวาบหวิวมากกว่านี้หรือเปล่า

    แต่ผมก็ได้แค่นั่งมองอยู่เฉยๆ พร้อมกับคิดไปถึงผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่ง

    ผู้ใหญ่ที่กระชำเราอะไรบางอย่างมานานแรมปี

    ห้า—ผมคิดถึงข้อความในเรื่องสั้นของ ปราบดา หยุ่น

    เป็นเรื่องไม่บังเอิญที่ก่อนจะไปชม MOTEL MIST ผมหยิบรวมเรื่องสั้น กลับบ้านก่อนค่ำ และสระว่ายน้ำหลังเที่ยงคืน ที่ปราบดาเขียนร่วมกับ เคอิ มิยามะ มาอ่าน

    แต่เป็นเรื่องบังเอิญที่หนึ่งในบรรดาเรื่องสั้นเหล่านั้น มีเรื่อง บ้านสีส้มอมน้ำตาล อยู่

    เรื่องสั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับผู้กำกับหนังคนหนึ่งที่ได้กลับไปบ้านเก่าของตัวเองในขณะกำลังตระเวนหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้กำกับคนนี้ทำหนังที่เรียกได้ว่าอาร์ต และเขาก็มีความคิดอยู่ว่า

    “...ผมยอมรับว่าพวกนักวิจารณ์ให้ความใส่ใจผมเป็นพิเศษ แต่ผมไม่แคร์พวกเขาหรอก พวกที่ชอบหนังอาร์ตอย่างไรเสียก็ต้องชอบหนังอาร์ตๆ การทำให้คนกลุ่มนั้นนิยมเป็นเรื่องง่ายดายเกินไป…”

    ...

    ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ MOTEL MIST กำลังเข้าโรงฉายเป็นสัปดาห์ที่สอง ด้วยปริมาณรอบฉายที่จำกัดและด้วยปริมาณโรงฉายที่จำเขี่ย

    ชื่อของปราบดา หยุ่น อาจทำให้ใครคิดไปล่วงหน้าว่า MOTEL MIST ต้องเป็นหนังอาร์ต ดูยาก

    ในฐานะของคนที่ไม่่ได้ชอบหนังอาร์ตทุกเรื่องที่ได้ดู ผมคิดว่า MOTEL MIST เป็นหนังที่อยู่กึ่งกลาง

    กึ่งกลางของการเล่าเรื่องและไม่เล่าเรื่อง

    กึ่งกลางของความวาบหวิวและไม่เปิดเผย

    กึ่งกลางของการท้าทายและปิดปากเงียบ

    กึ่งกลางของการดูสนุกและไม่สนุก

    ...

    เมื่อเอนด์เครดิตสิ้นสุดลง ผมก็นึกถึงผู้กำกับใน บ้านสีส้มอมน้ำตาล 

    ผมอยากรู้ว่าเขาจะมาดู MOTEL MIST มั้ย, หนังแบบนี้อาร์ตสำหรับเขาหรือเปล่า

    ผมเก็บความคิดนี้ลง ลุกขึ้น และเดินออกจากโรง

    แว่วเสียงบางอย่างที่ฟังไม่ได้ความ





    MOTEL MIST โรงแรมต่างดาง (2559)
    กำกับ: ปราบดา หยุ่น

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in