เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Go to school in New YorkLeelawadee Tuey
Start in the Kitchen (1)
  • เราเป็นผู้หญิง
    อายุปลายๆ 20 ปลายสุดเลยนะ
    ผิวขาวเหลือง รูปพรรณสัณฐานไม่ใช้เป้าหมายฝรั่ง 
    เพื่อนต่างชาติมักทักว่าเป็นคนเวียดนาม
    คุยไม่เก่งเท่าไหร่ ชอบชีวิตที่สงบ บ้านๆ และธรรมชาติเขียวๆ
    ไม่ชอบความเป็น city หรือ Night life 
    เกลียดการไปเที่ยวกลางคืน
    และไม่นิยมงาน Party แอลกอฮอลล์
    และนี่คือเรา
    แต่พอไปอยู่นิวยอร์ค ก็ได้เรียนรู้ว่า อะไรที่ไม่ชอบ แม่งมาหมด.....


               เรามีความเชื่อส่วนตัวว่า คนที่มีความเชื่อมั่นและตัดสินใจก้าวเข้ามาสู่เมืองนี้ บินข้ามน้ำข้ามทะเลมา ล้วนแล้วแต่มี passion ที่แรงกล้า มีความเก่งอยู่ในตัวเองกันในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยคุณก็กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ก้าวออกจาก Comfort Zone มาเริ่มต้นใหม่ในที่ที่ไม่ใช่บ้าน ในที่ที่เป็นยังไงก็ไม่มีใครรู้ นอกจากการมาเผชิญด้วยตัวเอง 

               วันแรกที่เรามาเหยียบแผ่นดินอเมริกา มันทำให้เราตื่นตาตื่นใจมาก เพราะเรามาถึงตอนเย็น เริ่มมีหิมะตกเบาๆ หนาวชะมัด เสื้อหนาวที่ใส่มาจากเมืองไทยไม่กันอะไรเลย เสื้อกันหนาวของพี่สาว ที่เคยฮิตเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนนี้เชยมากกกก บอกตง แถมยังใส่กางเกงยีนขาดๆ ความหนาวทะลุแทงหัวเข่า เจ็บผิวหนังจริงๆ ณ จุดนี้ พีคมาก...เพื่อนของพี่สาว ขับรถมารับเราที่สนามบิน JFK และพาเรานั่ง Subway เพื่อมาทานมื้อเย็นในแมนฮัตตัน วินาทีที่กำลังจะโผล่ออกมาจากหลุม Subway ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Begin again จะนึกภาพพวกนี้ออก ซึ่งเราจำได้ติดตามาก ว่าโผล่ขึ้นมาแล้วจะเห็นอะไรบ้าง และนี่ก็คือภาพที่เราเห็นแมนฮัตตันเป็นครั้งแรก

    Taxi เหลือง และตึกสูง คือ Concept ของเมืองนี้ (4 มิถุนายน 2015)
               เป้าหมายของการมาเยือนที่นี่ของเรา แน่นอน มันไม่ใช่แค่การมาทำงานร้านอาหารแล้วเก็บเงินก้อนโตกลับเมืองไทย ชีวิตหลังการเรียนจบ ป โท ของเราที่ผ่านมาก็คือการทำงานราชการมาโดยตลอด  เราสนุกและภูมิใจเสมอ แต่เมื่อถึงเวลาของมันก็อยากเปลี่ยนบรรยากาศให้ชีวิตบ้าง เป้าหมายลึกๆ อย่างน้อยที่สุด จะต้องเอาชนะภาษาอังกฤษ และถ้ามีโอกาสมากกว่านั้น ก็อยากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร แต่การที่จะไปถึงจุดหมายก็ต้องเริ่มจากก้าวแรกเสมอ สำหรับเราแล้ว เรามีเงินติดตัวมาจากเมืองไทย 5,000 เหรียญ แน่นอนว่าต้องรีบมองหางานทำก่อนอันดับแรก เพราะเงินจำนวนนี้หากหักค่า Fix cost รายเดือน คงอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ก้าวแรกของเรา จึงเริ่มต้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในแมนฮัตตัน

               จริงๆแล้ว เราเองก็พยายามมองหางานหลายแบบ ที่สถานะอย่างเราจะไปสมัครได้ ภาษาเราไม่ดี จัดว่าแย่ จัดว่าพูดเป็นประโยคยาวๆยากๆไม่ได้เลยนะ และพอมาเจอศัพท์ที่ Native speaker เค้าใช้กันแล้วละก็ เหมือนทุกอย่างเริ่มเรียนรู้ใหม่หมดเลย ยกตัวอย่างเช่น Hi, guy. How are you doing? ความหมายเดียวกันกับ How are you คือ เป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม หรือเช่น จะบอกคนขับ Uber ว่าจอดตรงนี้ คนที่นี่ก็จะพูดว่า Park me right here (ส่วนเราก็จะบอกเฮีย เฮีย แค่นั้นอะ) และอีกประโยคหนึ่งที่ทำให้เรามึนตอนฟังครั้งแรกเลยคือ How do you get to school? คุณมาโรงเรียนยังไง สุดท้าย ด้วยข้อจำกัดด้านภาษา ทำให้งานที่ได้ไวที่สุด ก็คืองานร้านอาหารนั่นเอง

               ในเช้าวันที่หิมะโปรยปรายลงมาเบาๆ อากาศเย็นจับใจ ด้วยความไม่เคยชินกับอากาศหนาวแบบนี้ มันทำให้เราหนาวสั่นตลอดเวลา ชีวิตในเมืองยามเช้า ผู้คนเร่งรีบ แย่งชิงกันขึ้นรถไฟ ก็เริ่มต้นขึ้น สิ่งที่เราจะได้เห็นเป็นประจำในทุกๆเช้าคือ ผู้คนต่างเชื้อชาติเดินกันเร่งรีบ ใส่เสื้อกันหนาวหนาๆ มือมุดแอบอยู่ในกระเป๋าเสื้อ ลมหายใจควันออกปาก บางคนแวะซื้อกาแฟ บางคนกางร่มกันหิมะ แล้วเร่งรีบเดินมุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟ หรือยืนรอต่อแถวยาวเหยียดกันที่ป้ายรถเมล์

    ช่วง 2 อาทิตย์แรกในนิวยอร์คที่เจอหิมะทุกวัน (New York, 2015)
                เชื่อไหมว่า ย่านที่เราไปเช่าบ้านอยู่ มีผู้คนหลากหลายมาก มากซะจนเราตกใจและรู้สึกฉงนว่านี่หรืออเมริกา ความรู้เดิมๆที่มีอยู่ในหัว ช่างแตกต่างกันลิบลับกับความเป็นจริง (นี่สินะที่เค้าเรียกว่าประสบการณ์ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  หากเราไม่ได้มาเผชิญเองก็คงจะไม่มีเขียนอยู่ในหนังสือเล่มไหน) หากอยู่นิวยอร์กไปนานๆ จะเริ่มแยกกลุ่มผู้คนได้ จากสีผิว ลักษณะใบหน้า ดวงตา ความสูง เสื้อผ้าที่สวมใส่ และสุดท้ายภาษา ผู้คนที่เรามักจะเห็นเดินกันควักไขว่ยามเช้า ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีน และทางฝั่งอเมริกาใต้ พวกเม็กซิกัน โคลอมเบีย โดมินิกัน รองลงมาคืออินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม พี่มืด เป็นต้น จะเห็นว่าที่กล่าวมานี้ ไหนค่ะ คนอเมริกัน ? คำตอบก็คือ คนพวกนี้แหละค่ะ สัญชาติอเมริกันหมดเลย (บางส่วนที่ไม่มี Visa) คนหลากหลายเชื้อชาติเหล่านี้อยู่กันมานานหลายรุ่น จนปัจจุบันเกิดเป็นชุมชนเล็กๆของเชื้อชาติตัวเอง มีร้านอาหาร มีวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมและมีแฟชั่นเป็นของตนเอง รวมทั้งการพูดภาษาตัวเอง โดยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล ที่ทุกคนก็พูดได้เช่นกัน
     ชีวิตใน Subway เสียงดัง ทุกคนเป็นอิสระ อยากทำอะไรก็ทำ อยากกินอะไรก็กิน (New York, 2015)
                 ผู้คนแตกต่าง ทั้งเชื้อชาติ ภาษา แฟชั่น สีผิว (New York, 2015)
      แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ 
    การ Welcome หากจะถามทางหรือพูดคุย (New York, 2015)
                       วันแรกของการทำงานร้านอาหาร (ร้านแรก) พี่สาวบอกว่า เราโชคดีมาก เพราะไม่ต้องเดินหางาน ก็อาจจะจริง ที่เราได้งานแรกเพราะว่าเจ้าของร้านอยู่บ้านเดียวกัน แล้วเค้าเห็นว่าเรากำลังมองหางาน เค้าก็เลยชวน พูดคุยตกลงกันนิดหน่อย หลังจากไปถึง 1 อาทิตย์เราก็เริ่มงานเลย งานนี้หน้าที่คือ คนรับออเดอร์ รับโทรศัพท์ แคชเชีย เด็กเสริฟ ต้มชาเย็น  แล้วก็คนเด็ดใบโหระภา และร้านนี้มีพนักงานต้อนรับอยู่คนเดียว ก็คือ เรา....
     ร้านในตำนานร้านแรก (New York, 2015)
                ความยากที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่ใจ อย่างแรกเลยคือการรับโทรศัพท์ อย่างที่รู้กัน คือ ภาษาจัดว่าแย่ และที่ไม่ถนัดที่สุดเลยก็คือ การฟังนี่แหละ แล้วการรับโทรศัพท์ เสียงก็เบา บางคนก็พูดไม่ชัด ไม่สามารถเห็นริมฝีปากขยับ เดาอะไรไม่ได้เลยยยย และที่ยากที่สุดก็คือการฟังที่อยู่ให้ไปส่ง delivery ชื่อซอย ชื่อย่าน ชื่อถนนถ้าคนที่ไม่คุ้นเคยหรือเพิ่งไปเยือนนิวยอร์กใหม่ๆอย่างอิชั้นน่ะ งงมาก เช่น ถนน Sullivan, Laight, Moore, Duane st. โดยเฉพาะพี่มืด แค่คำว่า Manhattan นางยังออกเสียงว่า

    "แมนแฮตตตตตตตตตตตต ทั่น" ลากเสียงแฮตตตตยาว 3 วิ

                  บางคำออกเสียงแปลกๆ และถ้าหากเราจดที่อยู่ผิด คนส่งของเค้าก็จะไปส่งไม่ถูก ถ้าอาหารตีกลับมาเพราะหาที่อยู่ไม่เจอ ซวยแน่นอน ถ้าคำไหนที่ฟังไม่ออกจริงๆ ก็จะถามซ้ำๆอยู่อย่างนั้น จนบางครั้ง เราต้องเรียกให้เจ้าของร้าน ซึ่งเป็นเชฟอยู่ในครัว ให้มาช่วยฟัง ช่วงแรกๆ ก็จะมีประมาณ 2 ครั้งต่อวัน แต่พออยู่ไปสักพักก็จะเริ่มดีขึ้น และมีบางครั้งที่ลูกค้าโมโห เพราะเราฟังไม่ออก ถึงกับตัดสายทิ้งไปเลยก็มี และแน่นอนว่า มันทำให้เรารู้สึกไม่ดีไปทั้งวัน และกลัวการรับโทรศัพท์มาก 

                    แต่เรายืนอยู่ในจุดที่ถอยไม่ได้ เราต้องสู้ เราต้องหันหน้าชน              คิดแค่ว่า เอาสิ ถ้าได้รับสายสัก 100 สาย ดูสิมันจะฟังเข้าใจขึ้นไหม              แล้ววันที่ยาก วันที่ท้อ มันก็ผ่านไป จนในที่สุดก็ถึงวันที่เรารับสายได้อย่าง                                        สบายใจ 

                  นอกจากการรับโทรศัพท์แล้ว การจดชื่อเมนูอาหารส่งเข้าครัว ก็ทำเรามึนตึบเอามากๆเลยเพราะทุกอย่างต้องแข่งกับเวลา เช่น ที่ร้านใช้วิธีจดใส่กระดาษ เพราะเป็นร้านทูโกเล็กๆ ชื่อรายการอาหารในเมนูก็จะไม่ตรงกับ ชื่อที่ให้จดใส่กระดาษตอนส่งเข้าครัว เพราะคนในครัวต้องการให้เราจดเหมือนๆกับพนักงานคนเก่า เพราะใช้กันมาดั้งเดิมหลายสิบปี ตัวอย่างเช่น
                                                              ข้าวผัดไก่ = FR ไก่
                                                       แกงเขียวหวานหมู = G หมู
                                                         RAMA ผักรวม= ราม Vegi 
                    แล้วเวลารีบๆนะ เขียนผิดเขียนถูก คนในครัวก็บอกเราให้พยายามเขียนเป็นรหัสให้หน่อย เพราะพวกเค้าอายุเยอะแล้ว เวลารีบก็มองไม่ค่อยจะเห็นตัวหนังสือ เราก็เลยต้องพยายามจำให้ได้ ซึ่งเป็นอะไรที่มึนตึบเอามากๆ เพราะถ้าพลาดเมื่อไหร่ นั่นหมายความว่า เราต้องกินอันนั้นเป็นมื้อกลางวัน และจำได้ว่าเคยพลาด 2 ครั้ง ก็ยังโอเครอยู่ ฮ่าๆ หลังจากทำร้านนี้ได้เพียง 2 เดือน ก็มีเหตุให้ต้องออก เพราะน้องสาวของเจ้าของร้านบินมาจากไทยเพื่อมาทำตำแหน่งเรา เราเลยต้องเริ่มหางานที่ใหม่...จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร้านนี้ ช่วยให้เราเก่งขึ้นมาก ด้วยความที่เป็นร้านเล็กมาก ไม่ใช่ระบบคอมพิวเตอร์ เราต้องจดออเดอร์ใส่กระดาษ ตะโกนบอกบ้าง ความไวต้องมา ความถูกต้องก็ต้องมี พลาดไม่ได้ และร้านนี้ busy ใช้ได้ มันก็ทำให้เราได้ฝึกความเร็วไปด้วย
                    สิ่งหนึ่งที่รู้สึกสนุกทุกครั้งที่นึกถึง คือ วิธีการจำหน้าตาลูกค้า คุณลองนึกภาพตาม ถ้ามีลูกค้า 20 คน เข้ามาพร้อมๆกันตอนพักเที่ยง ร้านนี้ไม่มีบัตรคิว เพราะฉะนั้นอาหารที่ออกมาจากในครัว เราต้องจำให้ได้ว่า ใครสั่งว้าา?  

         การจดจำเป็นภาพ ช่วยเราได้มาก เช่น หน้าหนวด/หัวทองหยิก/หนวดยาวถึงนม/ปากบานมาก/โคตรดำ/หรือจำสีเสื้อ/หรือสิ่งที่เค้าหิ้วติดตัวมา เป็นต้น

                      Next Chapter<Start in the Kitchen2> การเริ่มหางานใหม่ และประสบการเทรนงานสุดพีคคคคในร้านอาหารญี่ปุ่น ไปอ่านกันค่ะ ว่าจะพีคเบอร์ไหน 



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in