เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
POPROCK ON BOOKPOPROCK
หยุดโลกข้ามเวลา , การผจญภัยสุดคาดคิด และ ชีวิตอัศจรรย์ของ พาย พาเทล
  • repost
    12.02.2012

    - ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ -



    ตอนที่ David Mittchell เขียน Cloud Atlas เขาไม่คิดว่าจะมีใคร"สามารถเอาหนังสือเล่มนี้ไปทำเป็นหนัง" ได้และเขาก็ยังคงเถียงหัวชนฝาตอนที่หนังสือได้รางวัล และมีคนสนใจหยิบมันมาทำเป็นหนัง

    "ผมคิดไม่ออกเลย ว่าคุณจะทำมันเป็นหนังได้ยังไง"

    จนกระทั่งเหลือเพียงลูกตื๊อของ 2 พี่น้องตระกูล Wachocski ทั้ง Lana และ Andy ผู้ถนัดการทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องยาก(กว่าเก่า) และยังหลงรักหนังสือเล่มนี้จนถอนตัวไม่ขึ้น กระทั่ง David ใจอ่อนยอมตกล่องปล่องชิ้นปล่อยให้ CloudAtlas ถูกสร้างเป็นภาพยนต์ในที่สุด

     ...

    วันหนึ่งขณะทีศาสตราจารย์ John Ronald Reuel Tolkien กำลังจะเตรียมตัวสอนหนังสือในชั้นเรียนช่วงบ่าย ขณะที่เขากำลังเก็บรวบรวมผลงานนักศึกษา อยู่ดีๆก็มีคำคำหนึ่งผุดขึ้นมาในหัว เขาเขียนคำคำนั้นลงบนขอบบนกระดาษ เป็นคำสั้นๆที่ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ นั่นคือคำว่า" Hobbit" ภาพของเผ่าพันธ์คล้ายมนุษย์ตัวเล็กๆผุดขึ้นในหัว พวกเขาตัวไม่สูงใหญ่เท้าใหญ่โต มีขนปุกปุยที่เท้า และพวกเขาอาศัยอยู่ในกระท่อมที่ฝังตัวอยู่ในเนินเตี้ยๆ... ก่อนจะนำมาสู่ ภาพยนต์ไตรภาคที่กลายเป็นตำนานหนังสงครามช่วงชิงแหวน ที่ครองใจผู้คนทั่วโลกอย่าง The Lord Of The Ring..

    ...

    Yann Martel เริ่มต้นชีวิตนักเขียนตอนอายุ 27 เขาไม่ใช่นักเขียนชื่อดัง นิยาย 2 เล่มแรกของเขาถูกวางในชั้นลึกๆ ซึ่งในที่สุดคนก็ลืม เขาเกิดอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โปรตุเกส และเมื่อได้ทุนจากสถาบัันนักเขียน เขาเดินทางไปหาบรรยากาศดีๆในอินเดียเพื่อเขียนเรื่อง และเรื่องราวและผู้คนที่นั่นก็เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล เมื่อเขาได้พบกับตัวละครที่มีชื่อว่า Piscine Molitor Patel ผู้เปลี่ยนนักเขียนโนเนมให้กลายเป็นนักเขียนชื่อก้องโลกในชั่วข้ามคืน...


     


  • Cloud atlas / 2004 / 2012


    ไม่มีใครเชื่อว่าพวกเขาจะเอาหนังสือเล่มนั้นมาทำเป็นหนังได้ ฉบับหนังสือนั้น เล่าเรื่องราวที่ไม่ประติดประต่อ และตัดสลับไปมาตลอดเวลา ในภาควรรณกรรมลีลาการเขียนเช่นนั้นถือว่าไม่แปลกอะไรนัก แต่การที่จะเอามันมาทำเป็นหนังนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ ... แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเสียทีเดียว


    ลานา วาชอฟสกี , แอนดี้ วาชอฟสกี้ และ ทอม ไทก์เวอร์ ผู้เคยผ่านความท้าทายของการเล่าเรื่องนอกเหนือระบบคิดของความจริงแท้มาแล้วกับ The Matrix Trilogy พบความท้าทายใหม่ในการทำ Cloud Atlas วรรณกรรมที่ร้อยเรียงเรื่องราวของ 6 ยุคสมัยผ่านตัวละครให้กลายเป็นเส้นเวลาเดียวกัน


    การพัฒนาบทเป็นไปด้วยความยากลำบาก จะทำอย่างไรกับ การเกิดใหม่ ภพชาติ และ การเวียนว่ายตายเกิด ควรเลือกตัวละครใหม่หมดในแต่ละภพชาติ หรือ จะใช้ตัวละครเดิม และพึ่งพาเทคนิคการแต่งหน้า กระทั่งการเล่าเรื่อง ควรเล่าเรื่องแบบตัดสลับ ไม่ปะติดปะต่อ แบบในหนังสือ หรือเรียงเรื่องราวจากอดีต สู่อนาคต เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ควรเลือกแบบไหน


    โจทย์ยิ่งยาก การทำงานยิ่งท้าทาย


    ที่สุด จึงได้ภาพยนต์ความยาวกว่า 3 ชั่วโมงที่ถูกใจคอหนังสือพอสมควร (และยังคงตามมาด้วยความเห็นแบบเดิมๆที่ว่า หนังสือสนุกกว่า ก็แน่ล่ะ!) และยังถูกจัดเข้ากลุ่มหนังสองทางเลือก "ถ้าชอบก็รักเลย ถ้าไม่ชอบก็เกลียดเลย"


    Cload atlas แปลเป็นไทยว่า "เมฆาสัญจร" ในฉบับหนังสือ แต่มีอีกชื่อคือ "หยุดโลก ข้ามเวลา" ในฉบับภาพยนต์ ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้งสองชื่อ  สื่อความหมายได้ตรงเนื้อหาทั้งคู่


    เล่าเรื่องของ กลุ่มคนที่ชะตาเกี่ยวข้องผูกพันธ์กัน ทำให้พวกเขากลับมาพบกันในทุกชาติภพ  การกระทำในแต่ละภพชาติ ทักทอพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน จนต้องมาพบกันเพื่อชำระ ไ่ถ่ถอนสิ่งที่เคยทำไว้ โดยมีฉากหลังเป็นโลกในยุคล่าอนานิคม ไปจนถึง อนาคตที่เผ่าพันธ์มนุษย์สิ้นสูญ จนเกิดยุค "เกิดใหม่"


    ด้วยความหนาของฉบับหนังสือ ทำให้หลายคนเห็นแล้วทดท้อ แต่คอหนังสือจำนวนมากที่ได้อ่านแล้วต่างยอมรับในความสุดยอดของการเล่าเรื่อง ของ เดวิด มิตเชลล์ ที่แม้การตัดสลับเรื่องราวไปมา อาจทำให้สับสนอยู่บ้าง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การตัดสลับเป็นเพียงอุปสรรค์เล็กๆไปเลย เมื่อเทียบกับ ปรัชญา และความเชื่อทางจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง..


    หนังไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในอเมริกา นั่นทำให้นอกประเทศก็ไม่กระเตื้องตามไปด้วย มีคนตั้งข้อสังเกตุว่า หนังเกี่ยวพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาพุทธ เรื่องภพชาติ และการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้ผู้คนที่นับถือศาสนาอื่นไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมกับหนังเท่าไรนัก และอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหนังที่ "ชวนงง" อีกเรื่อง (เพราะการเล่าเรื่องแบบตัดสลับ) แต่หากพิจรณาดีๆแล้ว เป็นหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือได้ดีมากๆอีกเรื่องหนึ่ง แทบไม่มีประเด็นอะไรตกหล่น แต่ดูเหมือน ไม่ค่อยเข้าตาเข้าใจผู้ชมทั่วไปเท่าไรนัก เพราะหนังก็ไม่ได้บันเทิงเท่าที่ควร และยังไม่ได้อธิบายอะไรมากนัก (นี่ขนาดไม่ได้อธิบายอะไรก็ล่อเข้าไป 3 ชั่วโมงแล้ว)

    และโจทย์ของ Cloud Atlas นั้นก็ยากมาก เพราะไม่สามารถแบ่งออกเป็นหลายภาคได้ (แบบที่เคยคิดว่าจะทำให้ตอนพัฒนาบทร่างแรกๆ) เพราะจะขาดความต่อเนื่อง พาลให้หนังดูไม่รู้เรื่องขึ้นไปอีก หนังเลยเลือกการใช้การสื่อสัญลักษณ์ต่างๆในหนัง เช่น "ดาวตก" บนตัวละครมาเป็น "กุญแจ" ให้คนดูจับจุดได้ง่ายขึ้นและการตัดสลับเล่าเรื่องอย่างรวดเร็ว

    รวมถึงการเริ่มต้นด้วยยุคสุดท้ายของหนัง แล้วไล่จากอดีตมาจนถึงยุคสุดท้ายอีกครั้ง ทำให้หนังมี "เส้นเวลา" ชัดเจน


    สำหรับคอหนังสือหนังอาจ "ดีพอ" แล้วแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังยังทำได้ "ไม่ดีพอ" สำหรับคนดูทั่วไป อาจเพราะหนังเลือกที่จะใส่ตัวละครทุกตัวเข้ามาในหนังหมด (คิดว่าเมื่อหนังที่ถูกดัดแปลงเป็นบทภาพยนต์แล้วหากมีการตัดทอนรายละเอียด ตัวละครอื่นๆที่ไม่สำคัญนักออกก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงอะไร) ทำให้เหล่าบรรดาตัวละคร มากมายหลายหลากประดังประเดเข้ามาในหนัง (นอกเหนือจากตัวละครหลัก) ที่อาจทำให้แฟนหนังสือกรี๊ดกร๊าดดีใจ แต่คนดูหนังทั่วไป อาจคิดว่ามันเยอะจนจำไม่ทัน ทำให้คนดูบางส่วนถอดใจไม่ดู


    ส่วนหนึ่งเพราะหน้าหนังขายพลอตสุดบรรเจิดและฉากไซไฟสุดตระการตา เลยอาจพาให้หลายคนเข้าใจไปว่า นี่คงเป็นหนังไซไฟแห่งยุคอีกเรื่อง ซึ่งพอได้เข้าไปดูแล้วอาจผิดหวัง เพราะหนังเต็มไปด้วย ปรัชญา ความเชื่อ และ การเล่าเรื่องแบบซับซ้อนวกวน ผิดกับหนังฟอร์มใหญ่เรื่องอื่นๆ จนพาลพาให้ต้องแสดงความเห็นออกมาดังๆว่า "หนังห่ะอะไรดูไม่รู้เรื่องเลย"



    Cloud Atlas ในฉบับภาพยนต์จึงถือเป็น หนังทางเลือกบน Box office ที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความเป็นหนัง Block Buster เพราะอุดมไปด้วยดาราดังแถวหน้าของฮอลลีวูดและทุนสร้างมหาศาล กับหนังเชิงปรัชญาที่เสพย์ง่ายอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉบับภาพยนต์นั้นย่อยเรื่องดิบๆในหนังสือให้เคี้ยวง่าย กลืนสะดวกจนหมดแล้ว


    ถือว่าไม่เสียดายที่ได้ดู


    4.3/5



  • The Hobbit or There Back Again / 1937 / 2012


    ตอนสมัยเรียนมัธยมต้น การที่จะซื้อหนังสือวรรณกรรมเล่มละ 200-300 ถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสและเกินเอื้อมสำหรับเด็กบ้านนอกแบบเรา แต่ถึงอย่างนั้น เด็กแบบเราก็ไปขวนขวายไปหามาอ่านจนได้


    เมื่อนักเขียนสาวนาม J.K. Rowling ได้จุดประกายรักการอ่านให้กับเด็กๆทั่วโลก ด้วยการส่งเด็กแว่นหัวดำนาม "แฮรี่ พอตเตอร์" เข้ามาครองใจเด็กๆ จากที่ตอนพักเที่ยงเคยต้องไปวิ่งเล่นกับเพื่อนหน้าห้อง หรือต้องออกไปเดินเตรดเตร่ทั่วโรงเรียน เลยได้เห็นภาพการนั่งอ่านหนังสือวรรณกรรมเล่มโต และมีเพื่อนๆมุงรอออ่านต่อ.. การอ่านกวรรณกรรมเยาวชนกลายเป็นเรื่องยอดฮิต เพื่อนๆเอาหนังสือวรรณกรรมมาแชร์กันที่โรงเรียน นับเป็นช่วงเวลาการอ่านที่สนุกสนาน จนกระทั่ง หนังเรื่อง The Lord Of The Ring (2001) โด่งดัง ...


    นั่นทำให้ฉันได้พบกับหนังสือเรื่อง The Lord Of The Ring วรรณกรรมที่ไม่ค่อยจะเข้าข่าย "เพื่อเยาวชน" สักเท่าไรนักในตอนนั้น มันเล่มหนากว่า วรรณกรรมเยาวชนเรื่องอื่นที่เคยอ่าน และพบว่า ภาษายังไม่ชวนอ่านอีกด้วย เพราะมันช่างดู อืดอาดยืดยาดเนิบนาบ เหลือเกินในตอนนั้น (และในตอนนี้ด้วย ฮ่าๆ)


    กระทั่ง The Two towers (2002) เริ่มจะเข้าฉาย ก็ได้พบว่าเพื่อนคนหนึ่งกำลังอ่านหนังสือ "The Hobbit"


    เมื่อถามคนที่อ่าน Hobbit ว่า "สนุกกว่า เดอะ ลอร์ด ไหม"

    หลายๆครั้ง มักได้ยินคำตอบทำนองว่า "สนุกกว่ามาก"

    ตอนนั้น เรื่องราวของ สม็อก และ บิลโบ กลายเป็นเรื่องตลก

    เมื่อได้เห็นว่า ตัวละครบิลโบ ดู "ไม่เจ๋ง" เพียงใดใน The Lord Of The Ring และยิ่งไม่เข้าใจว่า

    คนอย่าง บิลโบ แบ๊กกินส์ ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ใครๆถึงรู้จักโฟรโด ในฐานะของ หลาน ของ "แบ๊กกินส์หัวขโมย"

    ทั้ง 3 ภาคของ The Lord Of The Ring ชื่อของบิลโบ แบ๊กกินส์ จึงเป็นเพียง ตำแหน่งลอยๆ ไร้ความสลักสำคัญ..


    กระทั่ง Peter Jackson คิดทำ Hobbit แม้โปรเจคจะอุปสรรคเยอะเหลือคณา แต่กระแสของหนังก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย เพราะ TLOR สร้างฐานแฟนไว้เป็นจำนวนมหาศาล ทำให้หนังภาค "ประวัติความเป็นมาของ The Lord Of The Ring" จึงยิ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น..


    ถึงเวลาที่ต้องอ่าน The Hobbit สักทีกระมัง...


    หลังอ่านจบ ประโยคและสีหน้าท่าทางของเพื่อนคนนั้น ตอนที่เราอยู่ ม.ต้นลอยขึ้นมาทันที

    "สนุกกว่า เดอะ ลอร์ด เยอะ!"

    ใช่! มันเป็นเช่นนั้น ... เพราะอะไรน่ะหรือ!


    ฉบับหนังสือ The Hobbit เป็นวรรณกรรมเยาวชนเล่มเล็กที่ใช้ภาษาง่ายๆ เล่าเรื่องการผจญภัย "สุดคาดคิด" ของฮอบบิท เผ่าพันธ์ที่รักความสงบ แต่กลับต้องไปร่วมทริป "ล่ามังกร" กับเหล่าคนแคระไร้บ้าน ที่ต้องการทวงบ้านคืน หนังสือเล่าเรื่องง่ายๆ แทรกมุขตลกเป็นระยะ เรื่องราวดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ที่สำคัญ ตัวละครบิลโบ เมื่อเทียบกับ โฟรโดแล้ว เรียกว่า "คนละชั้น" บิลโบ คงเข้าทำนอง "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" บิลโบมีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และ ที่สำคัญ ตลก! นั่นทำให้อดเอาไปเทียบกับ โฟรโด ไม่ได้


    ส่วนหนึ่งเพราะ The Hobbit เล่าเรื่องเรื่องเดียว คือทริปคนแคระล่ามังกร ทำให้อ่านแล้วเพลิดเพลิน และอ่านจบในเวลาอันรวดเร็ว ผิดกับ TLOR ฉบับหนังสือหนาๆ 3 เล่ม ที่รายละเอียดงดงาม แต่ก็เนิบนาบตามสไตล์โทลคีนจริงๆ ฉะนั้นแล้ว ฉบับหนังสือ ให้ The Hobbit ในแง่ความบันเทิง และ TLOR ในแง่ความงดงามของจินตนาการ


    ฉบับหนังที่พึ่งเข้าฉายไปนั้น เซงแซ่ไปด้วยเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่า "อู้ววว จะเทียบ TLOR ได้หรือนี่" อนึ่ง เพราะคนดูจำนวนมากต่างเป็นแฟนหนัง TLOR ความแตกต่างของ หนังทั้ง 2 เรื่องคือ "ความจริงจัง" ของเหตุการณ์


    โฟรโด เอาแหวนไปทำลายในหุบเขาไฟประลัยกัลป์ อารากอนทวงคืนบัลลังก์ เหล่าพันธมิตรร่วมมือกันปกป้องมิดเดิ้ลเอิร์ธ

    บิลโบ ช่วยแก๊งคนแคระปราบมังกร ขโมยแหวนมาจากสัตว์ประหลาดกอลลัม


    หลายคนมองว่า The Hobbit ภาคปฐมบทนั้นดูจืดชืดไปหน่อย ตอนเริ่มพาลจะหลับ ตัวละครเยอะแยะเกินไป และความสมเหตุสมผลยังน้อยเกินไป


    โอ้ว นี่มัน นิทานเด็กนะเพ่! ไม่ใช่ Skyfall ถึงจะได้มาจับผิดเรื่องเอ็มเปิดไฟฉายกันน่ะ!


    ฉบับหนังของ The Hobbit นั้นถูกยืดกลายเป็นไตรภาค (เพื่อให้มีดีกรีเทียบเท่ากับ TLOR และ...เพื่อเงิน ฮ่า!) จากที่ตอนแรกแค่ภาคแรกก็กลัวจะไม่ได้สร้าง จนตอนนี้ใครๆต่างก็รุมทึ้ง เลยทำให้หนังภาคปฐมบทมีเวลาเล่าเรื่องได้อย่างเต็มที่ ตัวหนังมีการดัดแปลงค่อนข้างมาก คือมีการเพิ่มปมประเด็นปัญหาต่างๆยิบย่อยระหว่างทางเข้ามา ซึ่งขอชื่นชมว่าทำออกมาได้สนุกมากแบบที่ไม่ทำร้ายจิตใจแฟนหนังสือเลย เพราะเรื่องราวลื่นไหล กลมกลืน ทั้งยังสนุกกว่าฉบับหนังสือที่เล่าบางเรื่องแบบผ่านๆ แต่ในฉบับหนังหยิบมาขยายความและเรียงลำดับการเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายขึ้น อีกด้วย แฟน TLOR อาจหลั่งน้ำตาด้วยความคิดถึง เมื่อได้เห็นฉากเมืองต่างๆ หรือกระทั่งบรรพบุรุษของเหล่าตัวละครที่ชอบ



    สิ่งเดียวที่แตกต่างและเราถือเป็นข้อด้อยของ The Hobbit ไม่ใช่การเล่าเรื่อง (ที่แม้หลายคนมองว่ายืดยาดเกินไปแต่เรามองว่า สนุกดี) แต่เป็นเรื่องของเทคนิคการถ่ายทำ ที่เรากลับชอบโทนสีแบบ TLOR มากกว่า กระทั่ง CG ง่อยๆของ TLOR ยังดูสมูธกว่าใน The Hobbit ที่บางฉากเห็นแล้วแอบเสียอารมณ์นิดๆ ที่วิจิตร(เกินไป) จนมองออกว่าอันไหน Green screen อันไหน Prop ในสตูดิโอ

    อาจเพราะยิ่งยุคสมัยที่เรารู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของการถ่ายทำมากขึ้น ทำให้จินตนาการเรายิ่งลดลง หนังหลอกเราได้ยากขึ้น


    ใน The Hobbit หนังมีโทนสีที่สุกสว่างสดใส ขณะที่ใน TLOR หนังเป็นโทนหม่นมัว

    นั่นคือ The Hobbit นั้นเป็นยุคที่ทุกอย่างยังสุขสงบ งดงาม หญ้าเป็นสีเขียวขจี ท้องฟ้าสดใส แดดทอประกายขณะที่ใน TLOR เป็นยุคสงคราม ทำให้สีของหนังทั้งเรื่องออกซีด (ไม่ใช่เพราะฟิล์มเก่านะ ฮ่าๆ) และทุกอย่างดูหม่นมัว เนินเขาเขียวแก่ ดูจืดชืดไร้ชีวิตชีวา


    แต่หากซื่อสัตย์กับความรู้สึกแรกหลังออกจากโรงแล้ว คงต้องบอกว่า "เฉยๆ" หากเทียบกับ Followships Of The Ring ที่ตอนได้ดูครั้งแรกก็หลงรักแบบที่ถอนตัวไม่ขึ้นจนทั้ง 3 ภาคกลายเป็นหนังที่ดูต่อกันแบบนันสต๊อปได้ไม่มีเบื่อ


    การแสดงของ Martin Freeman ทำให้ถึงกับกรี๊ด "นี่ล่ะ บิลโบ!" เป็นการคัดเลือกที่ลงตัว สมบูรณ์มาก


    ฉากแอคชั่นนันสต๊อปใน The Hobbit ทำได้สนุกและน่าติดตาม แม้จะโดนแฟนหนัง(ที่ไม่ใช่แฟนหนังสือ) ไถ่ถามกันมาอีกว่า "โอเวอร์เกินจริง" Mission Impossible มาก คงต้องย้ำกันอีกครั้งว่านี่คือ Fantasy Novel และ มันเป็นการผจญภัย "สุดคาดคิด" จริงๆ


    และนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหรอกนะ!


    4/5



  • Life Of Pi / 2001 / 2012


    ปีก่อนเขียนบทความ "ชวนอ่านวรรณกรรมแปลไทยที่กำลังจะกลายเป็นภาพยนต์" ทำให้ได้รู้จักกับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่แค่อ่านเรื่องย่อก็อยากรู้อยากเห็นเรื่องราวเต็มๆแล้ว ยิ่งเจอลูกยุของคนที่อ่านมาแล้วในพันทิพว่าเป็นหนังสือที่ "พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง" ยิ่งทำให้กระหายอยากจะได้มาครอบครอง


    หนังสือเล่มนั้นชื่อ Life Of Pi การเดินทางของ พาย พาเทล


    เด็กคนหนึ่งอาศัยอยู่บนเรือกับเสือตัวหนึ่งเป็นเวลา 227 วันโดยที่ยังรอดชีวิตมาได้

    เขาทำได้อย่างไร!


    แค่นี้ต่อมความอยากรู้อยากเห็นก็เต้นระริกแล้ว


    ทันทีที่อ่านจบด้วยคราบน้ำตาแห้งกรัง และความรู้สึกเหมือนได้โผล่ขึ้นพ้นจากน้ำ เพราะ Life Of Pi ได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

    แบบที่ตอนต้นของหนังสือกล่าวไว้ "ฉันมีเรื่องจะเล่า ... ฟังแล้วคุณจะศรัทธาในพระเจ้านะ"


    ยาน มาเทล นักเขียนไส้แห้งชาวแคนาดา หลังจากที่หนังสือวรรณกรรม 2 เล่มแรกในชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ เขาตัดสินใจจะเขียนเรื่องราวที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์โปรตุเกส หลังจากขอทุนจากสมาคมนักเขียนได้ เขาก็หลงเชื่อคำเพื่อนที่ว่า "อินเดียจะช่วยเปิดโลก" ยานเลยไปอินเดีย เพื่อเขียนนิยายเกี่ยวกับโปรตุเกส ที่นั่นเขาได้พบกับเรื่องราว ความเชื่อต่างๆมากมาย แล้ววันหนึ่ง เขาได้อ่านรีวิวหนังสือบราซิลเล่มหนึ่ง มันเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตกับสัตว์ป่าบนเรือ คำพูดของชายชาวอินเดีย เรื่องราวต่างๆของพวกเขา ทำให้ทุกอย่างพรั่งพรู...


    Life of Pi พาเราไปพบกับ "ความจริง" บางอย่างที่เราไม่เคยรู้เลยเกี่ยวกับ "สัตว์" หรือกระทั่งการตั้งคำถามทางศาสนา ที่ไม่มีศาสนาใดมีคำตอบ และแก่นสำคัญที่สุดของ Life Of Pi ไม่ใช่คือการที่ว่า พาย รอดมาได้อย่างไร แต่เป็นการที่ ที่สุดแล้ว มนุษย์มี "ความเชื่อ" ที่มั่นคงแค่ไหน..


    ตัวละคร พาย พาเทล ทำให้ ยาน มาเทล กลายเป็นนักเขียนที่โด่งดังข้ามคืน คว้ารางวัลมาแล้วทั่วโลก Life Of Pi กลายเป็นหนังสือที่อยู่ใน List หนังสือดีที่ควรอ่านก่อนตาย


    เคยมีคนถามว่า เรื่องราวของพาย พาเทล เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ยาน มาเทลบอกทุกคนว่า "ไม่มีศิลปะใดเป็นเรื่องลวง"


    คุณ "เชื่อเรื่องราวแบบไหน" กันล่ะ?


    ก่อนจะมาเป็น หนังชีวิตเด็กพาย ภายใต้ร่มเงาบารมีของผู้กำกับเจ้าของออสการ์อย่าง Ang Lee หนังเคยจะให้ ผู้กำกับอินเดียผู้คร่ำหวอดอย่าง M.Night Shyamalan มากำกับ แต่ด้วยความขัดข้องบางอย่าง หน้าที่ผู้กำกับจึงตกมาอยู่ในมือของอังลี่ ซึ่งนั่นทำให้แฟนหนังสือพอใจไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะเป็นที่รู้กันว่า อังลี่ มีงานละเมียดขนาดไหน


    บทวิจารณ์แรกๆของ Life Of Pi ล้วนเป็นไปในทางบวกแบบที่หลายสำนักยกขึ้นเทียบเคียงกับ Big Fish และ Forrest Gump เลยทีเดียว หนังฉายจริง 20 ธันวาคมแต่หนังได้รางวัลไปแล้วกว่า 10 รางวัลจากหลากหลายสำนัก ยังไม่นับที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง ลูกโลกทองคำ 3 รางวัล ทั้ง ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ภาพยนต์ยอดเยี่ยม และ เพลงประกอบยอดเยี่ยม อาจรวมไปถึงรางวัลเป้งๆในออสการ์ด้วย..


    ฉบับ ภาพยนต์เล่าเรื่องได้ค่อนข้างรวดเร็ว ตัดทอนเรื่องราวรายละเอียดของแง่มุมในชีวิตพายออกไปค่อนข้างมาก และกลับมาเน้นที่องก์สองคือ การกินอยู่ร่วมกับ ริชาร์ด พากเกอร์แทน ซึ่งนั่นหนังก็ได้โยนรายละเอียดต่างๆทีีคิดว่าถูกตัดทิ้งไปแล้วในทีแรกของ ชีวิตพายกลับเข้ามาอีก ด้วยการเล่าเรื่องผ่าน พาย ตอนโต


    ที่ต้องขอบคุณอีกอย่างคือหนัง ถูกผลิตในยุคที่เทคโนโลยีด้านงานภาพสูงส่ง เราเลยได้เห็นสิ่งที่เราจินตนาการไว้ในหัว ถูกถ่ายทอดอออกมาเป็นทิวทัศน์ธรรมชาติสุดงดงามอลังการที่หลายคนต้องร้อง "ขอบคุณพระเจ้าที่โลกนี้มีเทคโนโลยี 3D"


    สิ่งหนึ่งที่สำคัญจริงๆสำหรับหนังเรื่องนี้คือ การแสดงของนักแสดงอินเดีย Suraj Sharma และ Irrfran Khan ที่เบียดบี้กันไม่ลง อีกคนเอาอยู่ด้วยทักษะการแสดงอันสดใหม่ อีกคนเอาตายด้วยน้ำเสียงและลีลาท่าทาง และที่คาดไม่ได้ แม้จะไม่ได้มีบทบาทอะไรนัก คือ ยาน มาเทล ที่ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อคลี่คลายบทสรุปของเนื้อเรื่อง (ในหนังสือจะต่างออกไปเล็กน้อย)


    ก่อนดูยังไม่เข้าใจว่า ทำไม Life Of Pi ของ Ang Lee จึงได้รับคำชมว่า เป็นภาพยนต์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมมากอีกเรื่องหนึ่ง พอดูจบจึงเข้าใจคำว่า "ดัดแปลง" อย่างแท้จริง แม้ไม่ได้นำเสนอทุกอย่างโดยละเอียดตามหนังสือเป๊ะๆ แต่บทสรุปของหนังก็เป็นบทเดียวกันกับตอนจบในหนังสือ น่าอัศจรรย์ตรงที่อังลี เพิ่มทางเลือกให้เรามากกว่าในหนังสือเสียอีก...


    หากมีใครกำลังสงสัยว่ามันคือหนังเกี่ยวกับ ศาสนาและพระเจ้า อีกแล้วหรือ?

    ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า "ไม่ใช่"

    ทั้งในหนังสือและตัวหนังไม่ได้โน้มน้าวเราให้เริ่มเชื่อในพระเจ้า หรือ ศาสนาใด แต่หนังกำลังตั้งคำถามกับ ศรัทธา ที่อยู่ในตัวเราว่ามันมีมากพอจนสามารถเชื่อเรื่องราวมหัศจรรย์เหนือจริง ได้แค่ไหน..


    คุณเลือกจะเชื่อเรื่องราวแบบไหนกันล่ะ?


    4.98/5

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in