เปิดแผ่นเสียงฟังสำเนียงหมอลำที่ถูกนำมาปัดฝุ่นด้วยมือของผู้ให้กำเนิด The Paradise Bangkok Molam International Band


 

        ดีเจมาฟท์ไซ (Maft Sai) หรือ ณัฐ—ณัฐพล เสียงสุคนธ์ นอกจากจะเป็นดีเจและผู้ก่อตั้ง The Paradise Bangkok Molam International Band แล้ว ยังเป็นเจ้าของร้านแผ่นเสียงสุดแรงม้า ทำค่ายเพลง The Paradise Bangkok และบาร์ชื่อ Studio Lam ที่เปิดโอกาสให้นักเล่นดนตรีสายทดลองมาใช้พื้นที่ในการแสดงสด ซึ่งธุรกิจทั้งหมดเป็นงานที่เกี่ยวกับเสียงดนตรีและแผ่นเสียงอย่างที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก “ถ้าเทียบตัวเองตอนนี้กับเพลง เราก็คงเป็นเหมือน ambient electronic หรือ special jazz ที่มีเสียงลอยๆ มีจังหวะช้าๆ ไปจนถึงเพลง reggae เพราะช่วงนี้อยากใช้ชีวิตช้าๆ บ้างแต่งานที่มีไม่ค่อยอำนวยสักเท่าไหร่”




        ณัฐเล่าว่าการย้ายไปอยู่ออสเตรเลียเมื่อตอน 11 ขวบ ในยุคที่แผ่นซีดียังไม่แพร่หลาย อินเตอร์เน็ตยังเข้าถึงไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ ทำให้การฟังเพลงต้องพึ่งพาแผ่นเสียงเป็นส่วนใหญ่ ที่นั่นเพื่อนๆ วัยเดียวกันของเขาสะสมแผ่นเสียง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มซื้อหาแผ่นเสียงมาฟังบ้าง จนกระทั่งย้ายไปใช้ชีวิตที่อังกฤษ การซื้อแผ่นเสียงจึงเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในฐานะนักสะสม “ช่วงนั้นร้านแผ่นเสียงรุ่งเรืองมาก เดินไปบนถนนหนึ่งสาย จะเจอร้านแผ่นเสียงอย่างน้อย 4-5 ร้าน ตลาดแผ่นเสียงในอังกฤษมีขนาดใหญ่และหลากหลายมาก”

        แผ่นเสียงที่ณัฐเลือกเก็บมีตั้งแต่แนวโซล ฟังก์ แจ๊ซ ดิสโก้ไปถึงอิเล็กทรอนิก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็เริ่มขุดลึกลงไปยังแนวเพลงที่เป็นพื้นฐานและมีอิทธิพลต่อแนวเพลงต่างๆ มากขึ้น เช่น เมื่อรู้ว่า deep house ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีแอฟริกัน เขาจึงเลือกเจาะลึกลงไปในแต่ละพื้นที่ของแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นเพลงจากไนจีเรีย จาเมก้า หรือเอธิโอเปียที่มีเอกลักษณ์และมีความสนุกสนาน เช่นเดียวกับแนวเพลงอันคุ้นเคยอย่างเรกเก้ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก             

        จนปี 2007 ณัฐกลับมาใช้ชีวิตในไทย และเมื่อเริ่มเก็บแผ่นเสียงในไทยอย่างจริงจัง เขาจึงพบซาวด์เพลงลูกทุ่งหมอลำที่ทำให้รู้สึกว่า ดนตรีเหล่านี้มีกระบวนการคล้ายคลึงกับแนวดนตรีที่เขาสนใจ ทำให้เขาเริ่มหันมาเก็บสะสมแผ่นเพลงลูกทุ่งหมอลำมากขึ้น แต่กว่าจะได้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องไปควานหาถึงถิ่น ตระเวนตามตลาดนัดขายของมือสองทั่วไทย เพราะแผ่นเพลงเหล่านี้อยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่มีแหล่งรวบรวมที่ชัดเจน



ภาพจาก : Paradisebangkok

        จากแผ่นเสียงเหล่านั้นจึงพัฒนามาเป็นโปรเจกต์ The Paradise Bangkok ในปี 2009 ซึ่งเป็นอีเวนต์เปิดแผ่นเพลงลูกทุ่งหมอลำควบกับเพลงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงตะวันออกกลาง



THE PARADISE BANGKOK MOLAM INTERNATIONAL BAND
LIVE AT OFF FESTIVAL, KATOWICE - POLAND 2013


        ก่อนขยับขยายไปสู่การแสดงดนตรีสดจากศิลปินหมอลำตัวจริง ที่ไม่ใช่แค่นึกอยากตั้งวงก็ชักชวนกันมาก็เล่นได้เลย เนื่องจากนักดนตรีหลายท่านแขวนแคน ทิ้งพิณไปทำงานอื่นเลี้ยงชีพมานาน รวมถึงสไตล์การเล่นที่แตกต่างกันของแต่ละวง จึงต้องใช้เวลากว่า 6 เดือนในการปรับจูนนักดนตรีและฟอร์มวง The Paradise Bangkok  Molam International Band ขึ้นมา และที่ยากไปกว่านั้นคือ หลังจากปล่อยแผ่นออกมาขายในเมืองไทยเป็นเวลาหนึ่งปี ณัฐกลับพบว่า ผลงานที่เขาหลงใหลกลับมียอดขายไม่ถึง 15 แผ่น

        นี่เองที่ทำให้เขาตัดสินใจส่งThe Paradise Bangkok  Molam International ไปโปรโมตยังต่างประเทศ ก่อนจะได้รับความนิยมเป็นวงกว้างภายในเวลาเพียง 2-3 เดือน ทำยอดขายในฝั่งยุโรปถึง 500 แผ่น และผลตอบรับที่ยอดเยี่ยมในต่างประเทศเช่นนี้เอง ที่ส่งให้ The Paradise Bangkok Molam International Band มีโอกาสได้ไปแสดงในเทศกาลดนตรีต่างๆ ในยุโรป จนเริ่มมีแฟนเพลงตามไปเซิ้งตามงานแสดงสดมากขึ้นเรื่อยๆ

        “เราไม่ได้ตั้งใจว่าต้องโกอินเตอร์ก่อนหรืออะไร เราเพียงแค่เห็นว่าตรงไหนที่ให้ความสนใจในสิ่งที่เราทำ เราก็ไปที่นั่นเท่านั้นเอง”




        ณ เวลานี้ The Paradise Bangkok เริ่มได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากกระแสดนตรีอินดี้ที่มีบทบาทในวงกว้างกว่าแต่ก่อน ทำให้กลุ่มวัยรุ่นให้ความสนใจฟังและเปิดรับดนตรีแนวใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น จากที่มีคนไทยฟังเพียง 10% ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึงราว 60% นี่จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการดนตรีในเมืองไทย เพราะหลังจากนี้เราน่าจะได้เห็นวงดนตรีหน้าใหม่ที่หลากหลาย สร้างสีสันให้แก่วงการเพลงไทยทั้งในกระแสหลักและกระแสรองอย่างแน่นอน

        และเมื่อถึงวันนั้น คนแรกๆ ที่จะดีใจก็คงหนีไม่พ้นดีเจมาฟท์ไซคนนี้ ผู้ที่แม้จะมีโปรเจ็กต์หลากหลาย แต่เขาก็หวังจะพัฒนาคุณภาพของทุกงานที่ตนทำ เพื่อเป้าหมายเดียว นั่นคือทำให้แนวดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีลูกทุ่งหมอลำของไทยมีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น

 

zudrangmarecords.com


 จากคอลัมน์ Face of : giraffe Magazine 37— Color Issue

อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe