นาวิน ต้าร์ หนุ่มเพอร์เฟกต์ นักไตรกีฬา ผู้รู้ดีว่ารสชาติของชัยชนะขึ้นอยู่กับอุปสรรคระหว่างทาง

อดีตนักร้องวัยรุ่นชื่อดัง, จบปริญญาตรีด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง, ได้รับทุนอานันทมหิดลให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ณ สหรัฐอเมริกาในมหาวิทยาลัย Ranking อันดับต้นๆ ในสาขา Agricultural and Resources Economics ที่เขาเลือกเรียนอย่าง Oregon State University และ University of California, Davis, ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ่วงด้วยการรับงานบันเทิงในฐานะดารา-นักแสดง แถมล่าสุดยังหันไปมุ่งมั่นเอาดีกับ 'ไตรกีฬา' อย่างเอาจริงเอาจัง และที่สำคัญดูเหมือนจะมีคนรักที่เข้าอกเข้าใจอย่างแท้จริง



ฟังดูเผินๆ ชีวิตของ นาวิน ต้าร์ หรือ นาวิน เยาวพลกุล ดูราวกับเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมชวนให้อิจฉาไปแทบทุกเรื่อง
แต่มาดูด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบของหนุ่มหล่อคนนี้กันสักหน่อยดีไหม...
เริ่มต้นด้วย ขณะที่กำลังเป็นวัยรุ่น ก่อนจะกลายมาเป็นนักเรียนเรียนดีที่วัยรุ่นยุคหลังสามารถยึดเป็นแบบอย่าง นาวิน ต้าร์ เคยถูกไล่ออกจากโรงเรียนมาแล้วถึง 2 ครั้ง ใช่! นาวิน ต้าร์เคยเป็นเด็กอารมณ์ร้อน มีเรื่องชกต่อยไม่เว้นว่าง ห้าวเป้งถึงขนาดที่เคยเป็นหัวโจกนำกลุ่มเพื่อนใช้พลุกระจับระเบิดกำแพงโรงเรียน ไม่รีรอที่จะพิสูจน์กับข้อสงสัยต่างๆ ที่คันอยู่ในหัวอกของคนวัยหนุ่มสาว "ทำอะไรแล้วผมมักจะทำไปจนสุดทาง" นาวิน ต้าร์บอกแบบนั้น แม้จะยอมรับในภายหลังว่านั่นคือ ก้าวที่พลาด
ไม่เพียงเท่านั้น แม้ภายหลังเขาจะกลายมาเป็นนักเรียนทุน แต่การคร่ำเคร่งกับการเรียนปริญญาเอกที่มีความกดดันสูง ทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเมืองไทยกับการใช้เวลาเรียนหมดไปมากกว่าเจ็ดปี บวกรวมกับสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยยอดมนุษย์อัจฉริยะ และความสงสัยต่อตัวเองที่ว่า แท้จริงแล้วตนดีพอกับโอกาสที่ได้รับหรือไม่ ก็ทำให้เขาก้าวพลาดอีกครั้ง นาวิน ต้าร์ ในเวลานั้นจมดิ่งลงไปสุดกู่ งานวิจัยที่ทำมายาวนานไม่คืบหน้า และแทบจะเรียกได้ว่า ก้าวเข้าสู่พรมแดนของ 'ภาวะซึมเศร้า' อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ชีวิตบางครั้งก็คงไม่ต่างอะไรกับเกมกีฬาที่เขาเลือกเล่นในภายหลังอย่าง 'ไตรกีฬา' เพราะชัยชนะของกีฬาชนิดนี้ไม่เคยมาเพราะโชคช่วย
ก่อนจะกลายมาเป็นคนที่มีชีวิตน่าอิจฉา ไม่มากก็น้อยใครคนนั้นย่อมต้องเจออุปสรรค ต้องต่อสู้ทั้งสิ่งที่ถาโถมเข้ามาจากภายนอก ต่อสู้กับความสิ้นหวังที่ก่อตัวขึ้นจากภายใน เพียงแค่ในวันที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ คนที่มองมาด้วยสายตาคนนอก ก็มักมองไม่เห็นความผิดพลาดที่กองเรี่ยรายอยู่เบื้องล่างเท่านั้น
และวันนี้ หากเปรียบภาพชีวิตของตัวเองกับการปีนป่ายเพื่อไปให้ถึงยอดเขา นาวิน ต้าร์ก็บอกว่า ถ้าเลือกได้ เขาก็จะเลือกหนทางที่ลำบากกว่าเหมือนเดิม จะไม่มีวันขึ้นฮิลิคอปเตอร์ แล้วหย่อนตัวเองลงสู่จุดหมายอย่างสะดวกสบาย แต่พร้อมจะปีนป่าย เพื่อที่ระหว่างทางจะได้พานพบกับอุปสรรคนานา 
นั่นก็เพราะ เขาตระหนักแล้วว่า รสชาติของชัยชนะจะหอมหวานแค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่ที่ว่าระหว่างทางเราผ่านอะไรมาบ้าง

ดูเหมือนคุณจะทำอะไรได้เยอะและก็ทำแต่ละอย่างได้ดี ตอนนี้คุณนิยามตัวเองเป็นคนทำงานด้านไหน
ไม่นิยามเลยครับ คืออาจจะเห็นเราทำงานได้หลายอย่างและเยอะมาก แต่ถ้าถามว่านิยามตัวเองเป็นคนประเภทไหนผมก็นิยามไม่ถูกเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วเรามักเลือกทำในสิ่งที่รู้สึกว่า เมื่อไปอยู่ตรงนั้นแล้วเรามีค่าพอและเหมาะที่สุดที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานให้ออกมาดี ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์แหละ ที่คนเราเมื่อได้อยู่ที่ไหน แล้วรู้สึกว่ามีความภูมิใจในตัวเอง (self-esteems) เราก็จะเลือกเดินไปทางนั้น 

แต่ก็ต้องเป็นคนที่มีพลังงานสูงพอสมควรหรือเปล่า ถึงจะทำอะไรได้เยอะขนาดนั้น
ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่กับที่ ไม่ใช่คน Slowlife (หัวเราะ) เห็นช่วงนี้คนฮิตกันมาก แต่ถามว่า คุณต้องปฏิเสธงานไปเยอะขนาดไหนเพื่อที่จะ Slowlife ได้ แต่ถ้าคุณไม่ได้ปฏิเสธอะไรอยู่แล้ว แล้วชีวิตมันจะ Slowlife ก็ดีแล้วครับ ถ้าไม่มีใครต้องมาพะวงกับวีถีชีวิตของเรา การ Calm down แล้วสร้างคุณค่ากับเรื่องเล็กๆ รอบตัวก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ผมจะชอบไปข้างหน้า อยากก้าวไปเรื่อยๆ มากกว่า เป็นคนชอบทำอะไรอยู่ตลอดเวลา เลยจะเห็นว่าทำอะไรเยอะไปหมด ซึ่งก็ทำเยอะจริงๆ (หัวเราะ) คือผมไม่ชอบความรู้สึกของการไม่ทำอะไรเลย จะทนไม่ได้กับภาวะแบบนั้น ต้องลุกขึ้นไปทำอะไรสักอย่าง มักมีไอเดียที่จะทำอะไรสักอย่างเสมอ แล้วดูเหมือนทุกอย่างมันก็ถาโถมเข้ามาอยู่แล้ว ทำให้บางทีรู้สึกว่า เราก็ไม่มีทางเลือกเหมือนกันนะ ซึ่งจริงๆ เราก็เลือกที่จะทำมากกว่าปฏิเสธอยู่แล้วแหละ ผมมักจะบอกกับตัวเองเสมอว่า เดี๋ยวผมค่อยไปนอนตอนตายทีเดียวก็พอ คือทำไปเถอะ ถ้ายังมีแรงก็ทำไป

"ถ้าเราเป็นของจริง เราจะไม่มีวันยึดติดอะไรเลย ความสำเร็จมันก็แค่นั้นน่ะครับ มาแล้วก็ไป แต่ถ้าเราเป็นของจริง ยังไงเดี๋ยวมันก็จะมาอีก คือวันหนึ่ง ถ้าเราทำอะไรสำเร็จ แล้วยึดไว้กับตัว โดยที่คิดว่า ฉันจะไม่ปล่อยเด็ดขาด คุณจะไม่มีวันพัฒนาไปข้างหน้าได้เลย"

มองด้วยสายตาคนนอก ดร.นาวิน ต้าร์ ดูเป็นคนที่เพอร์เฟคมาก จริงๆ แล้วคุณอย่างภาพที่เราเห็นไหม
คือผมก็มีเรื่องไม่ดีเยอะนะ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างทำได้ดีไปหมด เพราะในหลายๆ เรื่องก็ทำได้แย่มาก คือทำได้ไม่ดีเลยก็มี ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้คนจะมองว่า ผมดูเป็นนักกีฬาจังเลย ซึ่งจริงๆ แล้วเพิ่งมาดูเป็นนักกีฬาช่วง 4-5 ปีให้หลังนี้เอง แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นคนเล่นกีฬาเก่งเลยนะ ตั้งแต่เด็ก ถ้าให้ไปตีเทนนิส ก็ตีไม่เคยโดนลูกเลย หรือให้ไปตีปิงปองก็ทำไม่ได้ สู้คนอื่นไม่ได้ ไม่ได้เล่นกีฬาเก่ง แต่กลายเป็นว่าที่เราดูเป็นคนเก่งกีฬา เพราะเราเริ่มต้นจากการวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้อยู่แล้ว—ต้าร์รู้ตัวว่า ไม่สามารถที่จะเล่นกีฬาบางประเภทได้ แต่พอเราเจอกับสิ่งที่รู้สึกว่าเราจะทำมันได้ดี เราก็จะทำมันไปให้สุดทาง อย่างวิ่งมันไม่ได้ใช้ความชำนาญด้านไหนเลย ทุกคนวิ่งได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะมาวัดกันคือ เรื่องของความอดทน เรื่องของใจ และการมีวินัยในการซ้อม คุณต้องมีความคงเส้นคงวาและแน่วแน่มากๆ ที่จะทำสิ่งนี้ย้ำๆ หลอมทุกอย่างให้แข็งแรงที่สุดเพื่อที่เวลาไปแข่งขันจะสามารถทำได้ดี—ในตอนที่คนอื่นเขากำลังขี้เกียจ กินเหล้าเมามาย ซึ่งจริงๆ ต้าร์ไม่ใช่คนไม่ดื่มนะครับ ก็ชอบ (หัวเราะ) แต่เราก็จะพยายามตื่นเช้าในขณะที่คนอื่นกำลังหลับอยู่ เพื่อที่จะมาฉกฉวยสิ่งที่มันต้องใช้เวลา ใช้ความพยายาม แล้วผลักตัวเองไปข้างหน้า เพื่อสร้างร่างกายที่แข็งแรงมากๆ เอาไว้ใช้ในการแข่งขัน จะบอกตัวเองประมาณว่า เดี๋ยวรอดูละกัน แล้วจะรู้ (หัวเราะ)

แสดงว่าเป็นคนชอบเอาชนะพอสมควร
ชอบสู้ครับ เป็นคนชอบสู้ แต่การเอาชนะในการแข่งวิ่งหรือแข่งไตรกีฬาเนี่ย จริงๆ แล้วมันไม่ได้เอาชนะใครเลยนะ มันคือการเอาชนะใจตัวเอง ในทางกลับกัน ทุกครั้งที่เราแพ้ นั่นก็คือแพ้ตัวเองเหมือนกัน ทุกคนที่เล่นกีฬาประเภทนี้จะรู้ว่า เวลาแข่งน่ะ มันคือการแข่งกับตัวเอง มันคือการฝึกฝน และจิตวิญญาณของการฝึกฝน คือการที่เราเอาชนะตัวเองในเมื่อวาน ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวานหรือเปล่าแค่นั้นเอง บรีฟตัวเองให้ต้องฆ่าตัวเราคนเมื่อวานให้ตายไปในแต่ละวัน คือเรื่องของชัยชนะที่เกิดขึ้นจากการซ้อมมันเป็นแผนระยะยาวนะครับ กว่าที่เราจะรู้ว่าจะแพ้หรือชนะ เราเป็นครึ่งหนึ่งของการแข่งขันไปแล้ว ดังนั้น เราจะโทษใครใครนอกจากตัวเองไม่ได้ คือจะรู้ผลว่า หมู่หรือจ่าเนี่ย ก็ตอนจะเข้าเส้นชัยแล้ว เพราะฉะนั้นที่ทำมาทั้งหมดมันไม่ใช่ trick ที่จะสามารถเอาชนะกันได้ง่ายๆ เพราะคนที่ชนะเราในวันนี้ เขาฝึกมานานกว่าเรา อยู่ตรงนั้นมานานกว่าเรา เขาเลยทำได้ดีกว่าเรา ดังนั้นมันเลยไม่มีการพ่ายแพ้อย่างแท้จริงน่ะ เมื่อเราแพ้ เราจะรู้สึกว่าเคารพคนที่ชนะ ยินดีกับชัยชนะของเขา ไตรกีฬาเป็นกีฬาที่อยู่บนพื้นฐานแบบนี้ 

ชีวิตของชายที่ชื่อว่า นาวิน ต้าร์ ดูเหมือนจะมีสองช่วงคือ หนึ่ง—ช่วงที่เป็นนักร้องวัยรุ่น แต่งชุดเป็นสีๆ เต้นแร้งเต้นกา  กับสอง—ช่วงนี้เป็นภาพของ ดร.นาวิน ต้าร์ ผู้ชื่อชอบการเล่นไตรกีฬา อยากรู้ว่า เวลามองย้อนกลับไปตอนเป็นนักร้องในช่วงวัยรุ่นเขินบ้างไหม
เขินครับ แต่ตอนเด็กๆ ทุกคนก็มีเรื่องพลาดกันบ้างแหละ เรามาดูรูปเก่าๆ ก็รู้สึกอายเหมือนกันที่ใส่เสื้อหรือเต้นแบบนั้น แต่ถ้าถามว่าเสียใจหรือเปล่า ไม่เสียใจเลยครับ มันแค่เป็นช่วงชีวิตหนึ่งของเราเท่านั้นเอง ต้าร์จะรู้สึกเป็นเกียรติมากกว่าที่คนไทยมีส่วนร่วมอยู่ในชีวิตเรามากขนาดนี้  ซึ่งถ้าเอามาล้อ เราก็ได้แค่ขำ เพื่อนก็ยังเอามาล้อกันนะ แต่ในตอนนั้น เราแค่สนุก เราแค่ Have a good timeเราอยู่ในแกรมมี่ ก็มีพี่ๆ ทีมงานที่เขาสนุกกับงาน โมเม้นท์นั้นมันดีด้วยตัวของมันเอง 

แสดงว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ ก็เลือกจะทำมันอยู่ดี
ใช่ครับ ไม่เคยเสียใจเลย ตอนที่ต้าร์ไปเรียนต่อต่างประเทศ เราไปในขณะที่กำลังอยู่ในจุดพีคของการร้องเพลงเลยนะ เพิ่งออกอัลบั้มชุดที่ 5 แล้วตอนที่ไปสนามบินเพื่อเดินทางไปเรียนต่อ คนมาส่งเต็มสนามบินเลย เด็กบางคนร้องไห้ก็มี ทำคนเสียใจเพียบ (หัวเราะ)



ทำไมถึงไม่คิดจะอยู่ตักตวงความรุ่งโรจน์ตรงนั้นต่อ 
เพราะว่าถ้าเราเป็นของจริง เราจะไม่มีวันยึดติดอะไรเลย ความสำเร็จมันก็แค่นั้นน่ะครับ มาแล้วก็ไป แต่ถ้าเราเป็นของจริง ยังไงเดี๋ยวมันก็จะมาอีก คือวันหนึ่ง ถ้าเราทำอะไรสำเร็จ แล้วยึดไว้กับตัว โดยที่คิดว่า ฉันจะไม่ปล่อยเด็ดขาด คุณจะไม่มีวันพัฒนาไปข้างหน้าได้เลย ผมเชื่อแบบนั้นนะ ปล่อยมันไป เริ่มจากศูนย์ใหม่ แล้วเดี๋ยวจะทำให้ดูอีกรอบหนึ่ง (หัวเราะ) คนเรามันต้องก้าวต่อไป คือการอยู่กับสิ่งที่สำเร็จไปแล้วได้นานเท่าไหร่ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเอ็นจอยกับมันไหม หรืออยากได้เงินไหม ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องเงินเลย ถามว่าเราเอ็นจอยไหมดีกว่า ...คือถ้าในยุคนี้ เราคงไม่ไปเป็นดารา เราจะไม่สมัครเดอะสตาร์ หรือเอเอฟเด็ดขาด เพราะดาวดวงนั้นมันไม่ใช่ที่ที่เราอยากไป คืออย่างตอนนั้น เราก็เป็นของเราแบบนี้ แล้วอยู่ๆ มันก็มาเอง แต่ถ้าจะให้ไปพยายาม ไม่มีทางครับ ถ้าคุณอยากจะรู้จักเรา เราคงไม่ว่าอะไร ตอนนั้นการเป็นศิลปินมันเหมือนการถูกเลือกมาน่ะ เราถูกเลือกมาให้มาเป็นที่สนใจ ถ้านาวิน ต้าร์เกิดมาในสมัยนี้ก็คงไม่มีนาวิน ต้าร์

จากนาวิน ต้าร์ที่เป็นนักร้อง จนกลายเป็น ดร.นาวิน ต้าร์ในทุกวันนี้ มุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
ก็คงมีหลายเรื่องครับ อย่างตอนเด็กๆ มุมมองของเรามันอาจไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่จะมีคนมองให้ มีคนสนับสนุนเยอะไปหมด สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ ทำสิ่งที่เราได้รับมาให้ดีที่สุด จนไปเรียนต่อปริญญาเอก จบกลับมาก็ยังไม่เข้าใจตัวเองนะว่า เราคืออะไร เราเก่งทางนี้จริงหรือเปล่า เราควรไปด้านไหน เราก็ทำงานในวงการบันเทิงนะ แต่เราก็เรียนหนังสือด้วย เราจะสอนหนังสืออย่างเดียวหรือเปล่า หรือจะกลับไปวงการบันเทิงดี แต่สุดท้าย ผมพบว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างบาลานซ์ให้ชีวิต ตัวต้าร์รู้สึกว่า ไม่ว่าหน้าที่ไหน ถ้าเราซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบและเคารพในหน้าที่ของเรา ไม่ว่าสิ่งไหนก็ดีทั้งนั้น ตัวผมเนี่ยอยู่ในที่ที่สามารถถูกวิจารณ์ได้เสมอนะครับ เพราะว่าถ้าอยู่ในตำแหน่งอาจารย์ที่ทำงานบันเทิงไปด้วย เราก็จะถูกเพ่งเล็งว่า คุณทำหน้าที่ได้ดีหรือเปล่า สอนนิสิตได้มีประสิทธิภาพไหม ซึ่งเรารู้สึกว่าเราทำได้จริงๆ เพราะเราซื่อสัตย์กับหน้าที่ ไม่ใช่ว่าฉันจะทำทุกอย่างที่ตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ได้เข้าไปเพื่อเก็บเกี่ยว แต่เราไปเพื่อแบ่งปัน ในขณะคนในวงการบันเทิงเอง ก็จะไม่เก็ตนะครับว่า อาจารย์คืออะไร บางทีเราก็คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เหมือนคลื่นความถี่ไม่ตรงกัน ซึ่งสิ่งสำคัญเมื่อเรายืนอยู่ในจุดนี้คือความสมดุล
    เราจะอยู่ได้ต่อเมื่อเราเคารพในสิ่งที่เราทำอย่างเต็มที่ ต้าร์รู้สึกว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที มันต้องพยายามให้มากที่สุด ตั้งใจให้มากที่สุด อยู่กับสิ่งนั้น เคารพสิ่งนั้น แล้วก็อย่าทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เราจะรู้สึกว่า อาชีพไหนจะสำเร็จได้ต้องใช้ความพยายามทั้งนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า บางครั้งถึงพยายามแล้ว ก็ใช่ว่าจะสำเร็จได้ทุกอย่าง พยายามแล้วไม่สำเร็จก็มีเยอะแยะไป แต่เราต้องรู้ว่า ความพยายามคือสิ่งเดียวที่จะทำให้เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนที่จะสำเร็จกับเขาได้บ้าง อย่าทำเล่นๆ

อย่างตอนที่ยังเป็นเด็กเกเร โดนไล่ออกจากโรงเรียน 2 ครั้ง ตอนนั้นเล่นๆ ไหม
ไม่เล่นนะครับ (หัวเราะ) นั่นก็สุดเหมือนกัน คนมองว่านาวิน ต้าร์เป็นเด็กเรียน เป็นหนอนหนังสือ แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ คือถ้ามองว่า เกเรก็คงใช่ แต่เราจะบอกว่า มันเป็นช่วงวัยหนึ่ง ที่เราอยากเช็คขีดจำกัดของสังคมที่เราอยู่ว่าคืออะไร เราจะไปได้ไกลแค่ไหน แม้แต่ตอนนี้เอง เราก็ยังรู้สึกว่า สิ่งที่เรามองเห็นน่ะ มันจริงหรือเปล่า อยากรู้ว่าเราเดินไปจนสุดขอบฟ้า แล้วจะมองเห็นแค่ฉากกั้นไหม สิ่งที่เราเป็นมาเสมอคือ ความอยากรู้ที่ว่า ขอบเขตของสิ่งต่างๆ อยู่ตรงไหน แล้วก็อยากไปให้สุด เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจริงๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ตอนนั้นต้าร์ไม่เคยเชื่อในกฎ เป็นคนท้าทายสิ่งนี้อยู่เสมอ แต่สุดท้าย ก็ไม่ได้โตมาเป็นคนประเภท outlaw นี่ครับ ไม่ได้เป็นคนที่ทำอะไรผิดกฎหมาย ทุกวันนี้ อย่างกฎจราจรเราก็โคตรเคารพเลยนะ 

เท่าที่ฟังดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีจุดเปลี่ยนใหญ่ๆ ที่ทำให้เปลี่ยนจากเด็กเกเรมาเป็นเด็กเรียน เพียงแค่ความสนใจมันเปลี่ยนไปตามช่วงวัย?
ใช่ครับ คือคนส่วนใหญ่มักถามว่า อะไรที่ทำให้เราเปลี่ยนจากเด็กเกเรเป็นเด็กเรียน แต่ความจริงคือ เราไม่เคยเปลี่ยนเลย เป็นคนเดิมเสมอ เพียงแค่ตอนนั้นมันยังไม่ตกตะกอนเท่านั้นเอง ตอนนี้รู้แล้วว่าสิ่งที่เราเป็นคือการเป็นคนที่ชอบท้าทายตัวเองอยู่เสมอ แล้วก็ไม่เคยปล่อยให้ตัวเองสบาย

"มันไม่มีเหตุผลที่ต้องทรมานขนาดนั้นเลยนะ คือการไม่มีเหตุผลที่ว่า นั่นเพราะมันไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการที่เราต้องมีพลังและแรงจูงใจมากพอที่จะสามารถบอกได้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งดูไม่มีเหตุผลเนี่ย มันมีเหตุผลพอ"

แต่ด้วยตัวตนที่มักทำอะไรจนสุดทางแบบนี้ใช่ไหม ที่ทำให้ตอนเรียนปริญญาเอกคุณต้องกลายเป็นคนที่ตกอยู่ภาวะซึมเศร้า
ใช่ๆ เคยเป็นถึงขนาดนั้น แต่ก็โทษใครไม่ได้ เพราะเราต้องการทำสิ่งนั้นเอง คือทุกอย่างมันเริ่มมาจากมีแรงกระตุ้นของเราเอง แต่ตอนที่ depress เนี่ย นั่นเพราะว่า ทุกคนก็คงต้องมีช่วงเวลาที่ก้าวพลาดกันทั้งนั้น และนี่คือการพลาดครั้งที่สอง ครั้งแรกคือตอนโดนไล่ออกจนไม่มีที่เรียน
 


อาจจะพยายามไปให้สุดทางจน 'หลุดทาง' ไปหน่อย?
ใช่ แบบลองทำๆ  อาจด้วยความที่เรามีความมั่นใจสูงมากว่าฉันทำทุกอย่างได้ แล้วอยากไปให้สุดจริงๆ คือตอนอยู่ที่นู่นเดินอยู่ในมหาวิทยาลัย เราสามารถทักทายกับคนที่เป็นที่สุดของสิ่งที่เราเรียนได้  Nobel prize ก็มี มหาลัยที่ต้าร์เรียน UC-Davis เป็นมหาลัยที่เป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร แล้วพอเราเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น มันยากจริงๆ นะ เหมือนเราไปหลงอยู่ในนั้น เจอคนเก่งเต็มไปหมด แล้วเราก็คิดว่าเราเก่ง มันเลยกดดันมาก คือจำได้ว่าปริญญานิพนธ์ฉบับแรก เราเขียนอยู่ 50 หน้า มีสมการ 200 สมการ คือเขียนจนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเขียนอะไร เหมือนมันหลุดไปแล้ว อาจารย์มาอ่านแล้วบอกว่า เฮ้ย คุณ มันไม่ใช่แล้วนะ แล้วพอเรามอง เรายังไม่รู้เลยว่า เราเข้าใจหรือเปล่า ตอนนั้นเข้าสู่ปีที่ 7 ของการเรียน ในไทยก็มีคนเขียนข่าวดิสเครดิตว่า เราไม่ใช่ของจริง เราเองยังคิดเลยว่า สิ่งที่เราได้มา เพราะชื่อเสียงหรือว่าเราเก่งจริงๆ ว่ะ ซึ่งตอนนั้นพอมันหลุดแล้ว เราไม่อยากเจอใครเลย เกิด depression แล้วก็ไม่อยากอธิบายให้ใครฟังว่า เรากำลังแย่ อยู่ไม่ได้ คือเราอยากให้คนรู้ว่า เราแข็งแรงพอ ตอนนั้นจนมุมสุดๆ—ที่กลับมาได้เพราะครอบครัว กลับมาตั้งสติที่ไทย พอสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนทุกอย่างมันเปลี่ยน แต่ตอนที่เรามีปัญหามากๆ มีสื่อโทรหาขอสัมภาษณ์นะครับ จะสัมภาษณ์ตอนที่เราแย่ๆ แต่เราไม่อยากคุยนึกออกไหม ต้าร์อาจจะคุยนะ ถ้าอยากดัง แต่ไม่คุยอะ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าชีวิตจะเอายังไง แต่พอทุกอย่างคลี่คลาย คนก็ไม่อยากฟังแล้ว คนอยากฟังเรื่องความทุกข์ทรมานของเรา คนเขาอยากเก็บเกี่ยวความรู้สึกแย่ของเรามาเป็นวัตถุดิบเพื่อให้ตัวเขารู้สึกดี นี่คือสิ่งที่สอนเรานะ

อย่างช่วงนี้ที่หันมาเล่นไตรกีฬา ก็ดูเหมือนว่าคุณจะผลักตัวเองไปจนสุดทางเหมือนกัน อะไรคือเหตุผลที่คนเราต้องเอาร่างกายตัวเองออกไปทำอะไรทรหดขนาดนั้น 
มันไม่มีเหตุผลที่ต้องทรมานขนาดนั้นเลยนะ คือการไม่มีเหตุผลที่ว่า นั่นเพราะมันไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการที่เราต้องมีพลังและแรงจูงใจมากพอที่จะสามารถบอกได้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งดูไม่มีเหตุผลเนี่ย มันมีเหตุผลพอ เพราะเหตุผลที่จะหยุดมีเยอะไปหมดเลย ตอนลำบาก เราจะตั้งคำถามไปหมดเลยว่า เรามาทำอะไรที่นี่ เหนื่อยจะตาย มาทำบ้าอะไร แต่เวลาเราไปถึงเส้นชัย เรากลับพบว่านี้มันใช่ คือเรื่องอย่างนี้ถ้าไม่ได้สัมผัสจะไม่รู้ครับ นี้คือความหมายของชีวิตเลยนะ เพราะว่าเป้าหมาย มันจะไม่มีความหมายถ้าเราไม่มีอุปสรรค ถ้าคุณวิ่งมาราธอนสำเร็จโดยไม่ต้องทำอะไรเลย มันคงรู้สึกเฉยๆ แต่คุณจะภูมิใจก็ต่อเมื่อที่ผ่านมาคุณเหนื่อยกับมันมา ดังนั้น ถ้าถามว่าอะไรคือเหตุผลคงตอบลำบาก แต่สิ่งสำคัญคือ คุณต้องมีเหตุผลมากพอในการมาอยู่ที่นี่ เหตุผลต้องดีพอที่จะไม่หยุด นั้นคือเสน่ห์ของกีฬาประเภทนี้ที่ทำให้คนติดกันสุดๆ



ถ้ามองในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ อะไรที่ทำให้เกิดเทรนด์กิจกรรมต่างๆ ที่ใช้แรงกายในกลุ่มคนเมือง เช่น ออกไปวิ่ง ปั่นจักรยาน trekking ทั้งๆ ที่ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็รักความสะดวกสบาย 
ถ้าในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ก็จะมองว่า สังคมที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ คือสังคมที่เจริญในด้านของสวัสดิการต่างๆ ในระดับหนึ่ง จึงทำให้คนมีอาชีพที่มั่นคง ไม่ห่วงเรื่องการยังชีพเพียงอย่างเดียว สังคมที่เป็นแบบนี้จะการก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อคนไม่ห่วงเรื่องปากท้อง และมีร่างกายที่ดี ก็จะมีแรงมาทำงานเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ประเทศเราวัฒนธรรมแบบนี้เกิดขึ้นหลังชาติตะวันตกมากๆ นะครับ แต่ตอนนี้ มันเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นจริงด้วย ดังนั้น เราอาจกำลังจะก้าวไปสู่ความเจริญอีกขั้นหนึ่ง

ในแง่ของมนุษย์คนหนึ่ง ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร 
การได้แชร์ความสุขที่เรามีกับคนที่รักเรา คือความสุขที่มาจากสิ่งต่างๆ จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่มีคนให้เราแชร์ ดังนั้น ทุกวันนี้เป้าหมายของเราคือ ทำอะไรก็ตามแล้วคนมีคนภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ ซึ่งมัน simple มากๆ มันไม่ต้องไปไหนไกล และไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย