เมื่อมลพิษมากนัก อินเดียจึงสั่งห้ามรถยนต์ออกมาวิ่งซะเลย

แม้ชาวมินิมอร์ในกรุงเทพฯ จะต้องเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอยู่ทุกวี่วัน แต่เชื่อเถอะว่าถ้ามีโอกาสได้สัมผัสฝุ่นละอองที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย แล้วจะต้องขอกลับบางกอกแทบไม่ทัน เพราะที่นิวส์เดลีเป็นเมืองที่องค์การอนามัยโลกจัดอันดับให้เป็นเพืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก (ไม่น่าเชื่อว่ามีมลพิษมากกว่ากรุงปักกิ่งของจีนเสียอีก) รัฐบาลเขาก็เลยออกมาตรการห้ามใช้รถยนต์เพื่อลดมลภาวะทางอากาศซะเลย


telegraph.co.uk

มาตรการห้ามใช้รถยนต์เพื่อลดมลภาวะทางอากาศเริ่มต้นเมื่อวานนี้เอง (1 มกราคม) โดยขั้นแรกจะทำการทดลองไปถึงวันที่ 15 มกราคม เพื่อดูว่าวิธีนี้ช่วยลดมลพิษได้จริงหรือไม่ แต่ก็ไม่ต้องห่วงเพราะเขาไม่ได้ห้ามเด็ดขาด แต่ใช้วิธีห้ามรถยนต์วิ่งตามเลขวันที่ และตามเลขคู่-เลขคี่ของป้ายทะเบียน (ถ้าทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ก็วิ่งวันเลขคู่ ถ้าป้ายทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคี่ก็วิ่งวันเลขคี่กันไป) ซึ่งมาตรการนี้จะใช้ในช่วงเวลา8โมงเช้าถึงสองทุ่ม แถมโรงเรียนก็จะหยุดเป็นเวลา 15 วัน (สบายไปเลยนะเด็กๆ) เพื่อนำรถโรงเรียนมาใช้วิ่งเป็นรถขนส่งมวลชนแทน (เอ๊ะ มันจะดีเหรอเนี่ย)


telegraph.co.uk

แต่ก็ใช่ว่าอยู่ ๆ ห้ามรถวิ่งแล้วปัญหาจะจบ เพราะตั้งแต่เริ่มมาตรการนี้ บรรดาธุรกิจทำป้ายทะเบียนปลอมก็ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด (ถ้ามีป้ายทะเบียนทั้งเลขคู่และเลขคี่ไว้คอยสลับก็วิ่งได้ตลอดเวลาสินะ แหม หัวหมอดีจังชาวอินเดีย!) ไม่เพียงเท่านั้นเพราะเหล่าเศรษฐีทั้งหลาย ก็แห่ไปซื้อรถคันที่ 2 เพิ่มเพื่อให้ตัวเองมีรถใช้ได้ตลอดเวลา (โห รวยกันขนาดนั้นเลยหรอเนี่ย) ในขณะที่รถของบางคนก็จะได้รับการยกเว้นให้สามารถวิ่งได้ตลอดเวลา เช่น รถของนักการเมือง รถของผู้ป่วยฉุกเฉิน รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


telegraph.co.uk

ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาวจะเป็นช่วงที่ปัญหาหมอกควันทวีความรุนแรงเพราะต้องจุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น จนค่าฝุ่นละอองในอากาศเกินระดับมาตรฐานความปลอดภัยไปหลายครั้ง โดยหมอกควันเหล่านี้ไม่เพียงทำลายทัศนวิสัยในการขับขี่ แต่ยังเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ ที่ทำให้คนในกรุงนิวส์เดลีต้องเสียชีวิตมากกว่าปีละ 600,000 ราย (น่ากลัวเหมือนกันแฮะ)


telegraph.co.uk

แม้รถยนต์จะไม่ใช่ต้นเหตุเดียวที่ทำให้ปัญหามลภาวะรุนแรงขึ้น แต่ประชากรโลกไม่ว่าอยู่ที่ใดถ้าลดปริมาณการใช้รถยนต์แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้นก็คงดีไม่น้อย พอ ๆ กับที่รัฐบาลแต่ละประเทศก็ควรให้ความสำคัญเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน น่าจะดีกว่าการมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเนอะว่าไหม


ที่มา